สรุปมติที่ประชุม กทช. 09/2549

สรุปมติที่ประชุม
คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
ครั้งที่ 9/2549
วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม 2549 เวลา 09.30 น.
และวันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2549 เวลา 09.30 น.
ณ ห้องประชุม ชั้น 12 อาคารอำนวยการ
สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

 
ระเบียบวาระที่  1    :    เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ 
ประธาน   ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบรวม 3 เรื่อง ดังนี้
1. บมจ.ทีโอที มาพบเรื่องปัญหาข้อพิพาทกับ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ซึ่งอนุญาโตตุลาการมีคำสั่งตัดสินไปแล้ว รวมทั้งแสดงความขอบคุณเรื่องการลดหย่อนค่าธรรมเนียม
2. ขณะนี้สังคมกำลังจับตามองการดำเนินงานของ กทช. โดยเฉพาะกรณีการขายหุ้นกลุ่มชินฯ ซึ่งสื่อมวลชนได้ลงข่าวในทำนอง กทช. ไม่สนใจที่จะดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ ขอให้สำนักงาน กทช. ถือเป็นแนวปฏิบัติเมื่อ กทช. ได้ดำเนินการในเรื่องสำคัญๆ และได้นำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ให้ส่งเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้สื่อมวลชนทราบด้วย
3. กรณีการขายหุ้นกลุ่มชินฯ ขอความร่วมมือ กทช. งดให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน หากเรื่องดังกล่าวยังไม่เป็นมติคณะกรรมการ กทช.
               นอกจากนี้ ที่ประชุมได้มีการหยิบยกประเด็นสื่อมวลชนลงข่าวในทางลบต่อการดำเนินงานของ กทช. ซึ่งที่ประชุมเห็นว่ากรณีสื่อมวลชนเขียนข่าวในคอลัมน์ประจำในทางลบต่อการดำเนินงานของ กทช. ให้สำนักงาน กทช. ประมวลสรุปและวิเคราะห์ความเห็นที่ไม่ถูกต้อง และทำหนังสือชี้แจง โดยจัดเตรียมข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องในแง่มุมกฎหมายและเทคนิคไว้ในลักษณะการทำงานเชิงรุก รวมทั้งให้จัดทำแผนประชาสัมพันธ์ให้ชัดเจนและเผยแพร่ผลงานและแนวคิดของ กทช. ที่ได้จากการประชุมสัมมนาออกสู่สาธารณชน
มติที่ประชุม                        ที่ประชุมรับทราบเรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ และสำนักงาน กทช. รับไป พิจารณาดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
ระเบียบวาระที่   2   :       รับรองรายงานการประชุม ครั้งที่ 3/2549 วันพุธที่ 18 มกราคม 2549 และวันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2549
มติที่ประชุม                  ที่ประชุมมีมติรับรองรายงานการประชุม ครั้งที่ 3/2549 วันพุธที่ 18 มกราคม 2549 และวันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2549 ซึ่งสำนักงาน กทช. ได้ดำเนินการแก้ไขตามที่ กทช. ขอแก้ไข
 
ระเบียบวาระที่  3    :   เรื่องเพื่อพิจารณา
ระเบียบวาระที่  3.1 :   แผนการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง สำหรับบริการอินเทอร์เน็ต (วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม 2549)

มติที่ประชุม               มอบหมายให้สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการปรับปรุงแก้ไขร่างแผนการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง สำหรับบริการอินเทอร์เน็ตให้มีความชัดเจนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แล้วนำเสนอที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะในประเด็นการพิจารณากำหนดเจตนารมณ์ของการกำกับดูแลที่ชัดเจน และมีลักษณะเป็นการให้คำปรึกษา เพื่อให้ได้รับความเป็นธรรม ทั้งนี้ ให้พิจารณาจัดทำเป็นกรณีศึกษา (Case Study) เพื่อให้เห็นผลได้ชัดเจน รวมทั้งศึกษาจัดทำแผนการกำกับดูแลการประกอบกิจการฯ แบบที่ 3 ต่อไปด้วย

ระเบียบวาระที่  3.2  :    สิทธิและอำนาจของ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)  และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม 2549)
มติที่ประชุม                 มอบหมายให้สำนักงาน กทช. ไปดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล ข้อเท็จจริง และหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนและชัดเจนก่อน โดยการประมวลรวบรวมข้อคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความเห็นเพิ่มเติมจากที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของ กทช. เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาตัดสินใจของที่ประชุมได้อย่างเหมาะสมและรอบคอบ ทั้งนี้ โดยดำเนินการวิเคราะห์แยกแยะประเด็นให้ชัดเจนระหว่างบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดขอบเขตและอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล และข้อผูกพันของสัญญาร่วมการงานที่ทำไว้เดิมโดยเฉพาะในส่วนของการใช้อำนาจรัฐ หรือการกระทำแทนรัฐ แล้วนำเสนอที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ระเบียบวาระที่  3.3    :      การเข้าดูงานสัญญาการเช่าบริการ NON-POTS (วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม 2549)
มติที่ประชุม                    เห็นชอบให้ดำเนินการเช่นเดียวกับวาระ 3.2 โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช. ไปดำเนินการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล ข้อเท็จจริง และหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วนและชัดเจนก่อน โดยการประมวลรวบรวมข้อคิดเห็นจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งความเห็นเพิ่มเติมจากที่ปรึกษาและผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายของ กทช. เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาตัดสินใจของที่ประชุมได้อย่างเหมาะสมและรอบคอบ ทั้งนี้ โดยดำเนินการวิเคราะห์แยกแยะประเด็นให้ชัดเจน ระหว่างบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่กำหนดขอบเขตและอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแล และข้อผูกพันของสัญญาร่วมการงานที่ทำไว้เดิม โดยเฉพาะในส่วนของการใช้อำนาจรัฐ หรือการกระทำแทนรัฐ แล้วนำเสนอที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ระเบียบวาระที่  3.4 : ร่างแผนความถี่วิทยุเพื่อการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว  (วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม 2549)
มติที่ประชุม       มอบหมายให้สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุม โดยเฉพาะในประเด็นองค์ประกอบด้านเทคนิค และเงื่อนไขการอนุญาตชั่วคราว ไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเพิ่มเติมให้มีความเหมาะสมและชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งดำเนินการตรวจสอบให้ชัดเจน ในประเด็นทางกฎหมายกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง แล้วนำเสนอที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
ระเบียบวาระที่ 3.5 : แผนเลขหมายโทรคมนาคม (วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2549)
              ลทช.    เนื่องจากท่านดิเรกฯ แจ้งขอให้เลื่อนวาระการประชุม วาระที่ 3.5 เรื่อง แผนเลขหมายโทรคมนาคม เสนอที่ประชุมเพื่อพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
มติที่ประชุม         อนุญาตให้สำนักงาน กทช. ถอนเรื่อง แผนเลขหมายโทรคมนาคม ซึ่งยังไม่พร้อมเสนอ ไปดำเนินการจัดทำรายละเอียดให้แล้วเสร็จสมบูรณ์ก่อนแล้วนำเสนอที่ประชุมต่อไปในคราวหน้า
ระเบียบวาระที่ 3.6 : การตรวจสอบสถานะและผลตามกฎหมายการอนุญาตและใช้คลื่น ความถี่ (วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม 2549)
มติที่ประชุม        1. เห็นชอบในหลักการการดำเนินการตรวจสอบสถานะ และผลตามกฎหมายการอนุญาตและใช้คลื่นความถี่ตามที่ กทช สุธรรมฯ เสนอ โดยในระยะแรกมอบหมายให้สำนักงาน กทช. เป็นผู้ดำเนินการตรวจสอบเบื้องต้นก่อน โดยอาจจัดตั้งคณะ กรรมการเฉพาะกิจขึ้นเพื่อดำเนินการ และพิจารณาให้ที่ปรึกษา กทช. ท่านใด ท่านหนึ่งเป็นประธาน ทั้งนี้ ให้ดำเนินการตรวจสอบนับแต่ปี พ.ศ. 2543 ที่ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มีผลบังคับใช้จนถึงมีการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง กทช.
                         2. มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย อาทิ การตรวจสอบการใช้ประโยชน์ความถี่ที่ได้รับจัดสรรไปมากน้อยเพียงใด และเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ขอหรือนำไปใช้ผิดประเภทหรือไม่ รวมทั้งในการตรวจสอบดังกล่าวให้ดำเนินการเฉพาะคลื่นความถี่ที่ใช้ในกิจการโทรคมนาคมเท่านั้น เนื่องจากกิจการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เป็นภารกิจของ กสช.
                         3. ในส่วนของข้อเสนอการจัดตั้งคณะกรรมการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาตและใช้คลื่นความถี่ นั้น ขอให้ กทช.      สุธรรมฯ รับข้อคิดเห็นของ ที่ประชุมเพื่อพิจารณาปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้น แล้วเสนอต่อที่ประชุมอีก ครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะในประเด็นการปรับเปลี่ยนองค์ประกอบที่เสนอในด้าน Broadcast ให้เป็นบุคลากรในสาขาโทรคมนาคมแทน และเพิ่มเติมผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการในด้าน Technical Audit ด้วย การกำหนดวัตถุประสงค์ในการดำเนินการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยไม่ใช่เป็นการทำ Legal Audit รวมทั้งการพิจารณากำหนดคุณสมบัติของคณะกรรมการให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น โดยเฉพาะคำว่า “เกี่ยวข้อง” ในข้อ (ก) นั้น ครอบคลุมขอบเขตแค่ไหน อย่างไร เป็นต้น
ระเบียบวาระที่ 3.7 : การจัดทำเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ของบริษัท บีเอ็มซีแอล เน็ทเวิร์ค จำกัด (วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม 2549)
มติที่ประชุม            เห็นชอบในหลักการการจัดทำเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมของ บริษัท บีเอ็มซีแอล เน็ทเวิร์ค จำกัด ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ ทั้งนี้ โดยมอบหมายให้สำนักงานฯ รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมเพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตฯให้ถูกต้อง สมบูรณ์และชัดเจนยิ่งขึ้น อาทิ การแก้ไขถ้อยคำในข้อ 3 วรรคหนึ่งจาก “บุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทย” เป็น “...คนต่างด้าว” และวรรคสองจาก “...มีลักษณะดังต่อไปนี้” เป็น “...มีลักษณะอย่างน้อย ดังต่อไปนี้” การเพิ่มเติมขอบเขตการอนุญาตในข้อ 4 ในประเด็นการให้บริการในลักษณะ Common Carrier ของผู้รับใบอนุญาตในกรณีปกติให้ชัดเจนยิ่งขึ้น รวมทั้งการเป็นผู้ให้บริการแทน Operators ได้ในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน โดยแจ้ง กทช.ทราบ ตลอดจนการกำหนดเงื่อนไขในเรื่องการทดสอบระบบอย่างสม่ำเสมอ (Periodical Testing) เพื่อความปลอดภัยของสาธารณะ (Public Safety) และการแก้ไขถ้อยคำในข้อ 24 ให้ถูกต้องจากคำว่า “Metering Accuracy” เป็น “Traffic Measurement” และคำว่า “Metering Equipment” เป็น “Traffic Analyzer” เป็นต้น แล้วเวียนให้ กทช. พิจารณาให้ความเห็นชอบอีกครั้งหนึ่งก่อนดำเนินการเพื่อออกใบอนุญาตให้กับ บริษัท บีเอ็มซีแอล เน็ทเวิร์ค จำกัด ตามขั้นตอนได้ต่อไป
ระเบียบวาระที่ 3.8 : การร้องเรียนของราษฎรบ้านป่าป๋อ ให้ระงับการก่อสร้างสถานีวิทยุ คมนาคมของ บริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด (วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม 2549)
มติที่ประชุม       มอบหมายให้สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณาของ กทช. ได้อย่างถูกต้องและรอบคอบอีกครั้งหนึ่ง รวมทั้งประสานงานกับ บริษัท ทีเอ ออเร้นจ์ จำกัด เพื่อหาแนวทางให้ได้ข้อยุติโดยเร็วและให้บริษัทฯ ถือปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้รับอนุญาต ดังนี้
                       1. ตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจนกรณีการก่อสร้างสถานีวิทยุคมนาคมของผู้ประกอบการรายอื่น เช่น บริษัท DTAC และ AIS ว่ามีปัญหาการร้องเรียนเช่นกรณีนี้ หรือไม่
                       2. ประสานงานกับบริษัท ที เอ ออเร้นจ์ จำกัด เป็นการภายในเพื่อหาข้อยุติปัญหาการร้องเรียนดังกล่าว โดยการย้ายสถานที่ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมของบริษัทฯ ออกไปตั้งในพื้นที่ที่เหมาะสมกว่า
                       3. ทำหนังสือแจ้งไปยัง บริษัท ที เอ ออเร้นจ์ จำกัด ผ่าน บมจ.กสท.โทรคมนาคม ให้ระงับการใช้สถานีวิทยุคมนาคมดังกล่าว เนื่องจากไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขในการอนุญาตที่ระบุว่าต้องให้ราษฎรยินยอมก่อนจึงจะสามารถดำเนินการได้
 
ระเบียบวาระที่ 4 : เรื่องเพื่อทราบ
ระเบียบวาระที่ 4.1 : บริษัทที่ทำหนังสือแจ้งความประสงค์ในการให้บริการเสียงผ่านการ ให้บริการอินเทอร์เน็ต (VoIP) (วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2549)
มติที่ประชุม            รับทราบ รายชื่อบริษัทที่ทำหนังสือแจ้งความประสงค์ในการให้บริการเสียงผ่านการให้บริการอินเทอร์เน็ต (VoIP) ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช.เสนอ
ระเบียบวาระที่ 4.2 : รายงานผลการตรวจเยี่ยมสถานีตรวจสอบการใช้ความถี่วิทยุ จังหวัดเชียงใหม่ (วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2549)
มติที่ประชุม       รับทราบ รายงานผลการตรวจเยี่ยมสถานีตรวจสอบการใช้ความถี่วิทยุจังหวัดเชียงใหม่ ตามเอกสารที่ กทช.เหรียญชัยฯ เสนอ
 
ระเบียบวาระที่ 5 : เรื่องอื่นๆ
ระเบียบวาระที่ 5.1 : บมจ. กสท โทรคมนาคม ขออุทธรณ์คำสั่งให้ชำระค่าธรรมเนียม เลขหมายโทรคมนาคม (วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2549)
มติที่ประชุม          เห็นชอบให้สำนักงาน กทช. มีหนังสือยืนยันให้ บมจ. กสท โทรคมนาคม ชำระค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม ตามที่เสนอ เพื่อให้เป็นไปตามที่ กทช. ได้เคยมีมติไว้แล้ว
ระเบียบวาระที่ 5.2 : แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมด้านโทรคมนาคม กรณีเกิด เหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ (วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2549)
มติที่ประชุม     รับทราบ การแต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมความพร้อมด้านโทรคมนาคมกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินหรือภัยพิบัติ ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่ 5.3 : การระดมความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญ เรื่อง “ยุทธศาสตร์และเป้าหมาย การส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดย กทช.”   (วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2549)
มติที่ประชุม         อนุมัติการจัดประชุมการระดมความคิดเห็นผู้เชี่ยวชาญ เรื่อง “ยุทธศาสตร์และเป้าหมายการส่งเสริมอุตสาหกรรมโทรคมนาคม โดย กทช.” และงบประมาณค่าใช้จ่าย ตามที่ กทช.ประสิทธิ์ฯ เสนอ
ระเบียบวาระที่ 5.4 : การขอจัดสรรความถี่วิทยุย่าน 2.4 GHz ของ บมจ. ทีโอที  (วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2549)
มติที่ประชุม           มอบหมายให้สำนักงาน กทช. มีหนังสือแจ้ง บมจ.ทีโอที จัดส่งเอกสารหลักฐานตามข้อ 6 ของประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การขอรับจัดสรรคลื่นความถี่ ให้สำนักงานพิจารณาเพิ่มเติม เนื่องจากถือว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีอย่างมีนัยสำคัญโดยใช้ความถี่เดิมตามที่ กบถ. ได้มีมติอนุมัติแล้ว แล้วดำเนินการวิเคราะห์ความเห็นภายในหนึ่งสัปดาห์เพื่อเสนอ กทช.พิจารณาต่อไป ทั้งนี้ โดยให้สำนักงานฯ รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปพิจารณาเพื่อประกอบการดำเนินการต่อไป อาทิ การวิเคราะห์ความเหมาะสมของเทคโนโลยีให้ชัดเจนเป็นหลัก รวมทั้งการวิเคราะห์ในเชิงของความคุ้มค่าการลงทุนทั้งในมิติของพื้นที่ให้บริการ และการเปรียบเทียบต้นทุนระหว่างเทคโนโลยี Angle กับ WiMAX ตลอดจนการวิเคราะห์ถึงประสิทธิภาพการใช้และผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจและบริการทางสังคมหรือ USO ด้วย เป็นต้น
ระเบียบวาระที่ 5.5 : ขออนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำ (ร่าง) ระเบียบ กทช. ว่าด้วย กองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ  (วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2549)
มติที่ประชุม          อนุมัติการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำ (ร่าง) ระเบียบ กทช. ว่าด้วยกองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ สำหรับค่าเบี้ยประชุมคณะกรรมการฯ นั้น ให้เป็นไปตามระเบียบ กทช. ว่าด้วยการปฏิบัติงานของคณะกรรมการฯ และเบี้ยประชุมกรรมการฯ พ.ศ. 2548 โดยให้มีเอกสารประวัติกรรมการประกอบไว้ด้วยให้ชัดเจนตามที่ระเบียบกำหนด
ระเบียบวาระที่ 5.6 : รายการส่งเสริมการขาย “Work” ของ DTAC  (วันพฤหัสบดีที่ 2 มีนาคม 2549)
มติที่ประชุม       มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับความเห็นของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการต่อไป แล้วรายงานให้ กทช. ทราบเป็นระยะๆ ดังนี้
                       1. ทำหนังสือถึงบริษัท DTAC โดยปรึกษาหารือร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้านโทรคมนาคม (คุณพิทยาพลฯ) เพื่อขอให้บริษัทฯ แจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งเสริมการขาย (Promotion) ของบริษัทฯแก่สำนักงานฯ เพื่อนำมาศึกษารวบรวมเป็นข้อมูลประกอบการวิเคราะห์หาแนวทางที่เหมาะสมในการกำกับดูแล อาทิ ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงด้านต้นทุน ด้านเทคโนโลยี และผลกระทบที่เกิดกับลูกค้า เป็นต้น ทั้งนี้ ขอให้เป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับสำนักงานฯ ในกรณีของผู้ประกอบการรายอื่นฯด้วยที่มีการทำรายการ Promotion ที่อาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่เกี่ยวข้อง อันจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันโดยเสรีเป็นธรรม
                       2. ศึกษารวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับรูปแบบ วิธีการและแนวทางปฏิบัติในการกำกับดูแลเรื่องดังกล่าวของต่างประเทศที่ใช้กันอยู่ในปัจจุบันในประเด็นต่างๆ อาทิ ประเภทกลุ่มลูกค้า การกำหนดพื้นที่ หรือการกำหนดระยะเวลาและช่วงเวลา เป็นต้น แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณา
                       3. ดำเนินการจัดหาผู้เชี่ยวชาญเพื่อมาศึกษาวิเคราะห์ และกำหนดแนวทางหลักเกณฑ์ที่เหมาะสมในการกำกับดูแลการส่งเสริมการขาย โดยเฉพาะการทำ Price Discrimination เป็นต้น
ระเบียบวาระที่ 5.7 : การเรียกเก็บค่าบริการสอบถามเลขหมายโทรศัพท์ ผ่านเลขหมาย โทรศัพท์ 1133 (วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2549)
มติที่ประชุม         1. ให้ บมจ.ทีโอที ระงับการเก็บค่าบริการสอบถามเลขหมายโทรศัพท์ผ่านเลขหมาย โทรศัพท์ 1133 เพราะมิได้มีการอนุญาตจากคณะรัฐมนตรี และ กทช.
                          2. มอบหมายให้สำนักงาน กทช. โดยหารือร่วมกับ กทช.สุธรรมฯ จัดทำหนังสือแจ้ง บมจ. ทีโอที ให้ระงับการเก็บค่าบริการสอบถามเลขหมายโทรศัพท์ผ่านเลขหมาย โทรศัพท์ 1133 ตามบทบัญญัติของกฎหมายและระเบียบ ว่าด้วยหลักเกณฑ์ และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการที่เกี่ยวข้อง โดยคำนึงถึงประโยชน์ของประชาชน ที่ได้รับบริการเดิมซึ่งได้รับผลกระทบอย่างมากจากการดำเนินการดังกล่าว รวมทั้ง แนวนโยบายในเรื่อง Free Service เพื่อให้บริการแก่สาธารณะ
ระเบียบวาระที่ 5.8 : รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กร
(วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2549)
             ลทช. เนื่องจากมีรายละเอียดที่จะเสนอให้ที่ประชุมได้พิจารณาได้อย่างรอบคอบ สำนักงาน กทช. จึงขออนุญาตเลื่อนวาระที่ 5.8 เรื่อง รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กร ไปพิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
มติที่ประชุม     เห็นชอบให้นำเรื่อง รายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงสร้างองค์กร เสนอที่ประชุม ในการประชุม กทช. ครั้งที่ 10/2549 วันอังคารที่ 7 มีนาคม 2549 ทั้งนี้ เพื่อให้ กทช.ได้มีเวลาศึกษาพิจารณารายละเอียดเนื้อหาสาระของเรื่องก่อน
ระเบียบวาระที่ 5.9 : การกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมต้อง กำหนดข้อห้ามในการป้องกันการครอบงำกิจการโดยบุคคลผู้ไม่มี สัญชาติไทย (วันศุกร์ที่ 3 มีนาคม 2549)
มติที่ประชุม          เห็นชอบแนวทางในการดำเนินการเพื่อการป้องกันการครอบงำกิจการโดยบุคคล ผู้ไม่มีสัญชาติไทยตามที่ กทช.สุธรรมฯ เสนอ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช. ออกหนังสือแจ้งเวียนให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตจาก กทช. ทุกราย ดำเนินการในลักษณะของการทำ Self Assessment เพื่อแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการถูกครอบงำการประกอบกิจการในลักษณะใดบ้างทั้งในเชิงพฤติกรรม กฎหมาย และการบริหารจัดการ ตลอดจนข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดข้อห้ามอื่นใดที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยบุคคลผู้ไม่มีสัญชาติไทยไว้หรือไม่ และเป็นประการใดบ้าง

สร้างโดย  -   (23/3/2559 15:37:54)

Download

Page views: 29