สรุปมติที่ประชุม กทช. 26/2551

มติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
ครั้งที่ 26/2551
วันพฤหัสบดีที่ 24 กรกฎาคม  2551  เวลา  9.30  น.
ณ ห้องประชุมชั้น  12  อาคารอำนวยการ สำนักงาน กทช.
 
ระเบียบวาระที่   1  :  เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
1. เนื่องจากขณะนี้อยู่ในขั้นตอนกระบวนการสรรหา กทช. 3 ท่าน ซึ่งยังไม่แน่ใจว่า คณะกรรมการชุดนี้จะพ้นหน้าที่เมื่อใด จึงขอให้ กทช. และสำนักงาน กทช. ชะลอการริเริ่มโครงการใหม่ๆ หรืองานที่จะมีผลผูกพันต่อเนื่องไว้ก่อน แต่ขอให้สำนักงาน กทช. เร่งรัดการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการที่ได้รับอนุมัติไว้ให้แล้วเสร็จ ตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้
2. ขอให้ กทช. และ สำนักงาน กทช. มีความสามัคคีและประสานความร่วมมือในการดำเนินงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ภารกิจ และการปฏิบัติงานต่างๆ สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี 
มติที่ประชุม  รับทราบตามที่ประธานแจ้ง และมอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 
ระเบียบวาระที่   2  :   รับรองรายงานการประชุม กทช.
ระเบียบวาระที่   2.1  :   รับรองรายงานการประชุม กทช.

- ไม่มี -
ระเบียบวาระที่   2.2   :   รับรองมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 25/2551 วันจันทร์ที่   14 กรกฎาคม  2551
มติที่ประชุม              
1.  รับรองมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 25/2551 วันจันทร์ที่  14 กรกฎาคม 2551 ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานตามมติ กทช.ในวาระที่ 4.32 ข้อ 2  กรณีมีหนังสือถึงปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เพื่อทราบเรื่องการขออนุมัติออกอากาศรายการโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ของกรมประชาสัมพันธ์ รวมทั้งเรื่องการเร่งดำเนินการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการฯ แล้วรายงานให้ที่ประชุม กทช. ทราบต่อไป 
ระเบียบวาระที่    3     :   รายงานผลการดำเนินงาน  ตามมติ กทช. ครั้งที่ 24/2551 วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม 2551 และรายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 25/2551 วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม 2551  
มติที่ประชุม  รับทราบรายงานผลการดำเนินงาน  ตามมติ กทช. ครั้งที่ 24/2551 วันพฤหัสบดีที่ 10 กรกฎาคม 2551 และรายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 25/2551 วันจันทร์ที่ 14 กรกฎาคม 2551   ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ 
ระเบียบวาระที่    4     :    เรื่องเพื่อพิจารณา
ระเบียบวาระที่   4.1   :    ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่   4.2   :    ร่างระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยรถของสำนักงาน (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2551 : กทช.สุธรรมฯ

มติที่ประชุม  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปตรวจสอบ ในประเด็นสิทธิการเบิกจ่ายค่าน้ำมันเชื้อเพลิง กรณีรถประจำตำแหน่ง ว่าสามารถกระทำได้โดยถูกต้อง หรือมีกฎระเบียบใดของทางราชการรองรับหรือไม่ อย่างไร ให้ชัดเจนก่อน แล้วนำเสนอที่ประชุมพิจารณาเพื่อความรอบคอบอีกครั้งหนึ่ง
ระเบียบวาระที่   4.3   :    ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่   4.4   :   ประกาศหลักเกณฑ์เพื่อส่งเสริมการแข่งขัน : กทช.สุธรรมฯ

มติที่ประชุม  เห็นชอบ และมอบหมายให้สำนักงาน กทช. (สายงาน รทช.ประเสริฐฯ และ รทช.พิทยาพลฯ) ไปดำเนินการจัดทำประกาศหลักเกณฑ์เพื่อส่งเสริมการแข่งขัน รวม 6 เรื่อง ตามที่ กทช.สุธรรมฯ เสนอ ดังนี้
1  หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวกับการแยกส่วนวงจรท้องถิ่น (Local Loop Unbunding) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการแข่งขัน
2  หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเข้าใช้สื่อสัญญาณบรอดแบนด์ของผู้ให้บริการขายส่ง (Bit stream Access)
3  หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้สายหรือคลื่นความถี่ร่วมกัน (Line Sharing, Spectrum Sharing)
4  หลักเกณฑ์เกี่ยวกับบัญชีต้นทุน หรือการกำกับดูแลบัญชี (Cost Accounting/Regulatory Account)
5  หลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเยียวยาความเสียหาย (Remedy)
6  แนวทางการพิจารณาผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ (Guideline for Determining SMP)
     ทั้งนี้ ในส่วนของแนวทางการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวข้างต้น มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับไปจัดทำรายละเอียดที่ชัดเจน แล้วนำเสนอที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ที่สำคัญได้แก่
1)  กรอบระยะเวลา ขั้นตอนการดำเนินการ และแผนการดำเนินการที่ชัดเจน (Time line and action plan) 
2)  งบประมาณที่จำเป็นต้องใช้เพื่อการดำเนินการ 
3)  รายงานการประเมินผลกระทบการกำกับดูแลขั้นต้น ขั้นกลาง และขั้นสูง  (Regulatory  Impact Assessment)  
4)  โครงสร้างของร่างหลักเกณฑ์แต่ละฉบับ 
ระเบียบวาระที่   4.5 – 4.7  :  ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่   4.8   :   การจัดสัมมนาความร่วมมือทางวิชาการกับ Hans-Bredow Institute จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ German Friedrich-Ebert Foundation : กทช.สุธรรมฯ

มติที่ประชุม  อนุมัติการจัดสัมมนาความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง กทช. กับ  Hans-Bredow Institute จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ German Friedrich-Ebert Foundation เกี่ยวกับการออกแบบกฎเกณฑ์สำหรับการกำกับดูแลสื่อในอนาคต (New Media Regulation) เพื่อเป็นการเสริมสร้างความรู้ความสามารถให้แก่บุคลากรของสำนักงาน กทช. และให้มีความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในด้านการหลอมรวมทางด้านเทคโนโลยีที่เป็นประเด็นสำคัญทางด้านการกำกับดูแลในปัจจุบัน ทั้งนี้ โดยให้เบิกค่าใช้จ่ายในการดำเนินการจากงบประมาณประจำปี 2551 ของสำนักกิจการกรรมการ ตามที่ กทช.สุธรรมฯ เสนอ
ระเบียบวาระที่   4.9 – 4.11  :  ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่   4.12   :  คำขอเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมไปพลางก่อน ระหว่างบริษัท ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) :  สชท. 

มติที่ประชุม   มอบหมายให้องค์คณะในคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ตามข้อ  57(6) แห่งประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมฯ นำเรื่องคำขอเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมไปพลางก่อน ระหว่างบริษัท ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กลับไปดำเนินการ (Remand) ให้เป็นไปตามที่ที่ประชุม กทช. ได้เคยมีมติไว้แล้วเมื่อการประชุมครั้งที่ 21/2551 โดยให้จัดทำความเห็นในลักษณะสำนวนคดีกฎหมาย รวมทั้งระบุรายละเอียดของการวินิจฉัยอย่างมีเหตุมีผลที่ชัดเจน พร้อมมีหลักฐานเอกสารของเรื่อง รวมถึงคำร้องของคู่กรณีประกอบอย่างครบถ้วน ทั้งนี้ เพื่อให้ถูกต้องตามกระบวนการขั้นตอนของการดำเนินการตามมาตรา 26 วรรค 2 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ  และให้ใช้กระบวนวิธีพิจารณาให้เป็นไปตามประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมฯ โดยอนุโลม  แล้วจึงนำเสนอ กทช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
ระเบียบวาระที่   4.13   :   การเจรจาเพื่อทำสัญญาเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม :  รทช.พิทยาพลฯ, กม.
มติที่ประชุม  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. มีหนังสือแจ้งตอบข้อหารือของ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (TAC) ดังนี้
1. บมจ.ทีโอที จะต้องเจรจาเพื่อทำสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมกับ บมจ.TAC โดยครอบคลุมเลขหมายของ บมจ. TAC ทั้งหมดที่ได้รับการจัดสรรทั้งก่อน และหลังวันที่ 1 กันยายน 2549 ทั้งนี้ ตามข้อ 14 ของ ประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ในการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมชั่วคราว (ฉบับที่ 2) และข้อ 23 ของประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์ในการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมชั่วคราว (ฉบับที่2) โดยไม่สามารถแบ่งแยกการเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างเลขหมายเดิมและเลขหมายใหม่ได้
2.  สำหรับกรณีที่ บมจ.ทีโอที จะขอเจรจาเพื่อทำสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายกับ บมจ.TAC แทน บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.   ทีทีแอนด์ที นั้น เป็นกรณีที่อยู่นอกเหนือการปฏิบัติตามคำสั่งของ ลทช. ซึ่ง บมจ.ทีโอที และ บมจ.TAC จะต้องเจรจาตกลงกันเองตามข้อกฎหมาย หลักเกณฑ์ และวิธีการที่เกี่ยวข้องภายใต้หลักการที่ไม่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ผู้บริโภค รวมทั้งไม่เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการเกินสมควร และต้องไม่เป็นการกีดกันการแข่งขัน ทั้งนี้ โดย กทช. ในฐานะ Regulator จะไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง หรือมีส่วนร่วมใดๆ ซึ่งหากผลการเจรจาประสบข้อขัดข้องอย่างไรแล้ว จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์การระงับข้อพิพาทตามประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายฯ  ที่กำหนดกระบวนการ และขั้นตอนไว้ต่อไป 
ระเบียบวาระที่   4.14   :   ชี้ขาดข้อพิพาทในการเจรจาเพื่อทำสัญญาเชื่อมต่อโครงข่าย : รทช.พิทยาพล, กม., สชท. 
มติที่ประชุม                
1. เห็นชอบให้รับข้อพิพาทของ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (TAC) กรณีที่ร้องขอให้ กทช. ชี้ขาดข้อพิพาทในการเจรจาเพื่อทำสัญญาเชื่อมต่อโครงข่ายกับ บมจ. ทีโอที ตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ไว้พิจารณา เนื่องจากเป็นการใช้สิทธิต่อเนื่องมาโดยตลอด ตั้งแต่วันที่กฎหมายให้สิทธิ และหน้าที่ ตามประกาศ กทช. ว่าด้วย การใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549 แต่การเจรจาไม่อาจลุล่วง หรือตกลงกันได้ จึงต้องดำเนินการให้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และประกาศที่เกี่ยวข้อง โดยส่งเรื่องให้คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทพิจารณา และเสนอคำวินิจฉัยให้ กทช. พิจารณาชี้ขาดต่อไป
2. โดยที่ข้อเท็จจริงปรากฏว่า บมจ.ทีโอที ได้เข้าเจรจาเพื่อทำสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม กับ บมจ.TAC ตามคำสั่ง ลทช. แล้ว แต่ยังไม่อาจตกลงกันได้ กรณีนี้จึงยังมิได้ถือว่า บมจ. ทีโอที เพิกเฉยหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ลทช. จึงไม่มีเหตุผลอันสมควรที่จะใช้มาตรการบังคับทางปกครองให้ บมจ.ทีโอที ต้องชำระค่าปรับทางปกครองในระหว่างกระบวนการชี้ขาดข้อพิพาทตามกฎหมายจนกว่าจะมีการเจรจาเพื่อทำสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างกันแล้วเสร็จ 
3. ในประเด็นที่ บมจ.TAC ขอให้สั่ง บมจ.ทีโอที ยินยอมให้มีการเชื่อมต่อโครงข่าย ตามมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ นั้น โดยที่ศาลปกครองกลาง ได้มีคำสั่งในคดีปกครองหมายเลขดำที่ 88/2550 ให้ บมจ.ทีโอที จัดทำ Office Data และเปิด Translator ซึ่งเป็นการกำหนดมาตรการหรือวิธีการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวให้ บมจ.TAC และ บมจ.ทีโอที ได้ปฏิบัติแล้ว ดังนั้น เหตุแห่งความจำเป็นจึงสิ้นสุดลง จึงไม่อนุญาตตามคำขอ อันจะเป็นการใช้มาตรการบรรเทาทุกข์ชั่วคราวซ้ำซ้อน
ระเบียบวาระที่   4.15  :  การขอความเห็นชอบสัญญาอันเกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ทำกับรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศหรือบุคคลที่อยู่ในต่างประเทศ ระหว่าง บริษัท ทีโอที  จำกัด (มหาชน) และบริษัท เอทีแอนด์ที จำกัด : ผชช.กม. ,รทช.พิทยาพล, กม.
มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบร่างสัญญาข้อตกลง Global IP Call Termination ระหว่าง บมจ.ทีโอที และ บริษัท เอทีแอนด์ที จำกัด ทั้งนี้ โดยให้ บมจ.ทีโอที ไปเจรจากับคู่สัญญาโดยเพิ่มเติมข้อความในร่างสัญญาว่า   “การดำเนินการใดที่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคมไทย ได้บัญญัติไว้ให้อยู่ภายใต้กฎหมายไทย คู่สัญญาต้องถือปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวด้วย”
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. มีหนังสือแจ้ง บมจ.ทีโอที เพื่อดำเนินการตามข้อ 1 ทั้งนี้ โดยให้จัดส่งสำเนาสัญญาให้สำนักงาน กทช. ภายใน 30 วันนับแต่วันที่บริษัทฯ ทำสัญญาเรียบร้อย ตามมาตรา 54 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ประกอบข้อ 8 ของประกาศ กทช.เรื่อง การขอความเห็นชอบสัญญาอันเกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ทำกับรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ หรือบุคคลที่อยู่ในต่างประเทศ พ.ศ.2549
ระเบียบวาระที่   4.16    :   การขอยกเว้นค่าธรรมเนียมเพิ่มจากการฝ่าฝืนไม่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ส่วนเพิ่มเติม ปี 2549 ของ บมจ.ทีโอที : รทช.พิทยาพลฯ ,กม.
มติที่ประชุม              
1.  โดยที่ประกาศ กทช. เรื่อง ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมชั่วคราว และประกาศ กทช. เรื่อง ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมชั่วคราว (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2550 มิได้กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการสำหรับการลดหรือยกเว้นการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมไว้ ดังนั้น กทช. จึงไม่อาจใช้ดุลยพินิจในการยกเว้นค่าธรรมเนียมเพิ่มจากการฝ่าฝืนไม่ชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ส่วนเพิ่มเติม ปี 2549 ของ บมจ.ทีโอที ตามที่ร้องขอได้
2.  อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มดังกล่าว เกิดความเป็นธรรม และสมเหตุสมผลตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น จึง มอบหมายให้สำนักงาน กทช. ไปตรวจสอบ และวิเคราะห์ข้อมูลเพิ่มเติมตามข้อคิดเห็นของที่ประชุมเกี่ยวกับจำนวนระยะเวลาในช่วงระหว่างที่รอผลการพิจารณาของกระทรวงการคลังตามที่ กทช.มีมติมอบหมายให้สำนักงานฯ มีหนังสือถึงกระทรวงการคลัง จนถึงวันที่กระทรวงการคลังมีหนังสือแจ้งกลับมาว่าไม่มีอำนาจตามกฎหมายในการรับชำระค่าธรรมเนียมดังกล่าวได้ ให้ชัดเจน ซึ่งในห้วงเวลาดังกล่าว บมจ.ทีโอทีควรได้รับประโยชน์ โดยได้รับการพิจารณายกเว้นการคิดค่าธรรมเนียมเพิ่มให้ แล้วจึงนำเสนอรายละเอียดของข้อมูลดังกล่าว พร้อมการคิดคำนวณค่าธรรมเนียมส่วนเพิ่มเติมใหม่ตามแนวทางข้างต้นต่อที่ประชุม กทช.เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
ระเบียบวาระที่   4.17 – 4.23  :  ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่   4.24   :  การปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุ 800 MHz ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) : รทช.ประเสริฐฯ,  ปก.

มติที่ประชุม              
1. อนุมัติในหลักการการปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุ 800 MHz ของ บมจ.กสท โทรคมนาคม โดยเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 80 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ตามที่ บมจ.กสท โทรคมนาคมได้มีหนังสือยืนยันในรายละเอียดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องมาอย่างเป็นทางการ ซึ่งในชั้นนี้ กทช.พิจารณาแล้วสามารถยอมรับได้
2. อย่างไรก็ดี ยังมีบางประเด็นตามข้อคิดเห็นของที่ประชุมที่จำเป็นต้อง Clarify ให้ชัดเจน ดังนั้น เพื่อความรอบคอบจึงมอบหมายให้สำนักงาน กทช. ไปดำเนินการเพิ่มเติมอีกครั้งหนึ่ง  แล้วนำเสนอที่ประชุมต่อไป ดังนี้
2.1 ตรวจสอบความถูกต้องด้านเทคนิคเพื่อ Verify ให้ชัดเจนว่ากรณี บมจ.กสท โทรคมนาคม ให้ บมจ. ทรูมูฟ ใช้งานคลื่นความถี่ในย่านดังกล่าวเป็นการอนุญาตให้ร่วมใช้คลื่นความถี่ตามมาตรา 53 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และข้อ 33 แห่งประกาศ กทช. ว่าด้วยการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่และการให้ผู้อื่นร่วมใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2550 หรือไม่
2.2 ตรวจสอบ และยืนยันความถูกต้องของระยะเวลาสิ้นสุดสัญญาสัมปทานของ DTAC กับ บมจ.กสท โทรคมนาคม ให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง เนื่องจากข้อมูลที่ระบุตามเอกสารบันทึกข้อความของ บมจ.กสท โทรคมนาคม ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2551 ที่แนบมาเพื่อใช้อ้างอิง นั้น ขัดกันเองในประเด็นดังกล่าว โดยในหน้าแรก ข้อ 2 ระบุระยะเวลาวันที่สัญญาสัมปทานของ DTAC สิ้นสุดคือวันที่ 30 กันยายน 2561 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ในขณะที่ในหน้า 2 ข้อ 3.5 ระบุข้อความที่สื่อความหมายโดยสรุปได้ว่าระยะเวลาสัมปทานที่เหลือของ DTAC เท่ากับ 5 ปี
ระเบียบวาระที่   4.25   :   บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ขออนุญาตเพิ่มความกว้างแถบความถี่ (Bandwidth) ของความถี่วิทยุที่ได้รับการจัดสรรไปแล้ว และขออนุญาตใช้ความถี่เพื่อการทดสอบระบบ Trunked Radio ตามมาตรฐาน TETRA เป็นการชั่วคราว : รทช.ประเสริฐฯ, ฉก.
มติที่ประชุม  โดยที่การดำเนินโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานครเป็นกิจกรรมเพื่อประโยชน์สาธารณะ กอปรกับได้พิจารณาเหตุผลความจำเป็นและความเหมาะสมทางเทคนิค  ตลอดจนผลกระทบด้านต่าง ๆ แล้ว  มีความจำเป็นเพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะ  และความปลอดภัยในการขนส่งมวลชน  หากไม่ได้รับอนุมัติให้ดำเนินการก็จะเกิดความเสียหายต่อสาธารณะได้  รวมทั้งการอนุมัติจัดสรรความถี่ดังกล่าวเป็นไปตามข้อบังคับวิทยุของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1)   เรื่องเสร็จที่  386/2549  ได้มีคำวินิจฉัยไว้แล้วว่าในการปฏิบัติงาน ให้นำข้อบังคับวิทยุของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศมาใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติงานไปพลางก่อนได้ ที่ประชุมจึงได้มีมติดังนี้
1.  อนุญาตให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพิ่มความกว้างแถบความถี่ (Bandwidth) ของความถี่วิทยุที่ได้รับการจัดสรรไปแล้วจาก 8 kHz ในระบบ Analog เป็นไม่เกิน     25 kHz ในระบบ Digital ตามมาตรฐาน TETRA (Terrestrial Trunked Radio) ของความถี่วิทยุจำนวน  13  ความถี่  ได้แก่ 461.000/471.000, 461.175/471.175, 461.550/471.550, 461.700/471.700, 461.800/471.800, 461.850/471.850  และ  471.025/471.025  HMz  เพื่อใช้งานในโครงการระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพมหานคร (รถไฟฟ้า BTS)
2.  อนุมัติการจัดสรรความถี่วิทยุจำนวน  6 ความถี่  ได้แก่  459.025/469.025, 459.100/469.100  และ  461.400/471.400  MHz  ความกว้างแถบความถี่ไม่เกิน 25 kHz ให้บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เพื่อทำการทดสอบระบบ Digital ตามมาตรฐาน TETRA (Terrestrial Trunked Radio) เป็นการชั่วคราว กำหนดระยะเวลา 1 ปี โดยมีรายละเอียดของเงื่อนไขการอนุมัติตามที่สำนักงาน กทช.กำหนด
ระเบียบวาระที่   4.26 – 4.31  :  ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่   4.32   :    โครงการศึกษา สำรวจข้อมูลสาขาสื่อสารโทรคมนาคมของ   ประเทศไทย : คณะกรรมการดำเนินการจ้างที่ปรึกษา

มติที่ประชุม   มอบหมายให้สำนักงาน กทช.จัดทำรายละเอียดกระบวนการเกี่ยวกับการดำเนินการทั้งหมด เช่น ขอบเขตการทำงาน ประโยชน์ที่ได้รับ ตลอดจนการจัดซื้อจัดจ้าง แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช.เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
หมายเหตุ   ประชุมพิจารณาเฉพาะ กทช.
ระเบียบวาระที่    4.33    :    ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่    4.34    :    การจ่ายเงินค่าตอบแทนประจำปี 2550 : รทช.ฐากรฯ

มติที่ประชุม   มอบหมายให้สำนักงาน กทช.รับไปดำเนินการ ดังนี้
1. หาข้อมูลเกี่ยวกับฐานเงินเดือนพนักงานแต่ละระดับเพื่อประกอบการพิจารณา
2. หาข้อมูลของหน่วยงานที่จ่ายค่าตอบแทนประจำปี (เงินรางวัล) ในลักษณะเดียวกัน เช่น ธปท. และ กลต. เป็นต้น
3. จัดเป็นวาระพิเศษในช่วงบ่ายวันพฤหัสบดีของสัปดาห์ถัดไป เพื่อประชุมพิจารณาเรื่องนี้โดยเฉพาะ
หมายเหตุ  พิจารณาเฉพาะ กทช. 
ระเบียบวาระที่    4.35   :    ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่    4.36    :   ขอเชิญ ดร.ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ เป็นวิทยากรในการประชุมสัมมนาของเอเปค ณ กรุงลิมา ประเทศเปรู : ลทช.

มติที่ประชุม  รับทราบการเชิญ กทช.ประสิทธิ์ ประพิณมงคลการ เป็นวิทยากรในหัวข้อ “ Promotion of Investment in Telecommunication  - Experience from Thailand” ของการประชุมสัมมนาของเอเปค ณ กรุงลิมา ประเทศเปรู  ในระหว่างวันที่ 13-14 สิงหาคม 2551   ทั้งนี้ โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายประจำ กทช. (พลเอกชูชาติ สุขสงวน) เข้าร่วมการประชุมสัมมนาดังกล่าวด้วย 
ระเบียบวาระที่    5      :    เรื่องเพื่อทราบ
ระเบียบวาระที่    5.1   :    โครงการทดลองจัดตั้งศูนย์รับบริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อนักเรียนในชนบท : 
รทช.นิศกรฯ, ทถ.

มติที่ประชุม  รับทราบกำหนดการจัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลง (MoU) และพิธีเปิดโครงการทดลองจัดตั้งศูนย์รับบริจาคเครื่องคอมพิวเตอร์เพื่อนักเรียนในชนบท ในวันที่ 28 กรกฎาคม 2551 ณ หอประชุม สำนักงาน กทช. ตามที่ รทช.นิศกรฯ รายงานต่อที่ประชุมโดยมีรายละเอียดตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่   5.2   :   รายงานการเดินทางไปดูงานและศึกษาวิจัยพัฒนาด้าน Telehealth ณ ประเทศญี่ปุ่น : 
กทช.ประสิทธิ์ฯ
มติที่ประชุม  รับทราบรายงานการเดินทางของ กทช.ประสิทธิ์ฯ และคณะในการศึกษาดูงานและศึกษาวิจัยพัฒนาด้าน Telehealth เพื่อนำมาพัฒนาอุปกรณ์ Telehealth ที่ผลิตในประเทศไทยและพัฒนาซอฟท์แวร์ระบบในการเชื่อมข้อมูลทางการแพทย์ ณ เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 3 – 8 มีนาคม 2551 ตามเอกสารที่ กทช.ประสิทธิ์ฯ เสนอ
ระเบียบวาระที่   5.3  :  รายงานการเดินทางเข้าร่วมพิธีมอบเงินสนับสนุนมูลนิธิ โครงการหลวง : กทช.สุธรรมฯ 
มติที่ประชุม  รับทราบรายงานการเดินทางของประธาน กทช. และคณะในการเข้าร่วมพิธีมอบเงินสนับสนุนมูลนิธิโครงการหลวงในการพัฒนาการสื่อสารโทรคมนาคม เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2551 ณ โรงแรมแคนทารี ฮิลส์ จังหวัดเชียงใหม่ ตามเอกสารที่ กทช.สุธรรมฯ เสนอ
ระเบียบวาระที่  5.4  :  รายงานการดำเนินการทางคดีปกครองที่นายอายุทธ์  จิรชัยประวิตร ฟ้อง ลทช. พนักงาน สกทช. และผู้เกี่ยวข้อง : รทช.พิทยาพลฯ, กม.
มติที่ประชุม  รับทราบรายละเอียดของคดีปกครองที่นายอายุทธ์  จิรชัยประวิตร  ฟ้อง ลทช. พนักงาน สกทช. และผู้เกี่ยวข้อง ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ ทั้งนี้โดยมอบหมายให้ ลทช. ชี้แจงแสดงหลักฐานที่เกี่ยวข้อง  
ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมเอกสารต่าง ๆ เพื่อนำเสนอ กทช. ต่อไป 
ระเบียบวาระที่    5.5    :   การประชุมเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ รอบพิเศษ 
(Special AANZTNC) : รทช.จิราพรฯ, รศ.
มติที่ประชุม  รับทราบการส่งผู้แทนสำนักงาน กทช. เข้าร่วมการประชุมเจรจาจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลีย-นิวซีแลนด์ รอบพิเศษ (Special AANZTNC) ระหว่างวันที่ 21 – 25 กรกฎาคม 2551 ณ สิงคโปร์ ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่    5.6  :   รายงานผลการปฏิบัติงานแทน ลทช. : สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.)
มติที่ประชุม  รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานแทน ลทช. ของผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2551 ซึ่งได้ดำเนินการตามข้อ 8 ระเบียบ กทช. ว่าด้วยการมอบอำนาจของ ลทช. ให้ปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนในสถาบันเฉพาะทาง พ.ศ.2550 ตามเอกสารที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมเสนอ
ระเบียบวาระที่   5.7   :  รายงานสรุปการประชุมเพื่อศึกษาหาแนวทางความร่วมมือกับหน่วยงานด้านโทรคมนาคม ณ ประเทศญี่ปุ่น ในระหว่างวันที่  2 – 6 มิถุนายน 2551 : กทช.ประสิทธิ์ฯ
มติที่ประชุม  รับทราบรายงานสรุปการเดินทางของ กทช.ประสิทธิ์ฯ และคณะในการเข้าร่วมประชุมเพื่อศึกษาหาแนวทางความร่วมมือกับหน่วยงานด้านโทรคมนาคม ณ ประเทศญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 2 – 6 มิถุนายน 2551 ตามเอกสารที่ กทช.ประสิทธิ์ฯ เสนอ

สร้างโดย  -   (31/1/2559 14:33:05)

Download

Page views: 74