สรุปมติที่ประชุม กทช. 29/2551

มติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
ครั้งที่ 29/2551
วันพุธที่  13  และวันพฤหัสบดีที่  14  สิงหาคม  2551  เวลา  9.30  น.
ณ ห้องประชุมชั้น  12  อาคารอำนวยการ สำนักงาน กทช.

 
 
ระเบียบวาระที่  1     :   เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
                                   - ไม่มี -
 
ระเบียบวาระที่   2    :    รับรองรายงานการประชุม กทช.
ระเบียบวาระที่   2.1  :   รับรองรายงานการประชุม กทช.

                                     - ไม่มี -
ระเบียบวาระที่   2.2  :    รับรองมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 28/2551 วันพฤหัสบดีที่  7 สิงหาคม  2551

มติที่ประชุม            
1. รับรองมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 28/2551 วันพฤหัสบดีที่   7 สิงหาคม 2551 ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
2. เห็นชอบเป็นหลักการให้สำนักงาน กทช.ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติต่อไป โดยในการนำเสนอต่อที่ประชุมเพื่อรับรองมติ นั้น ให้สำนักงานฯ ดำเนินการโดยวิธีสอบถามต่อที่ประชุมว่าจะมีข้อแก้ไขประการใดหรือไม่ หากมีจะได้พิจารณาเฉพาะในประเด็นนั้นๆ หากไม่มีให้ถือว่าที่ประชุมมีมติรับรองได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องนำเสนอเป็นรายหน้า ทั้งนี้ เพื่อให้กระชับและประหยัดเวลาของการพิจารณาได้รวดเร็วขึ้น เนื่องจาก กทช.ได้พิจารณารายละเอียดมาก่อนแล้วตามที่สำนักงานฯได้จัดส่งให้เป็นการล่วงหน้า
 
ระเบียบวาระที่   3    :   รายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช.  ครั้งที่ 28/2551 วันพฤหัสบดีที่  7 สิงหาคม  2551

มติที่ประชุม              รับทราบรายงานผลการดำเนินงาน ตามมติ กทช. ครั้งที่ 28/2551  วันพฤหัสบดีที่ 7 สิงหาคม 2551 ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
 
ระเบียบวาระที่   4       :     เรื่องเพื่อพิจารณา
ระเบียบวาระที่   4.1 – 4.7  ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่   4.8    :     สรุปผลการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ.2551 : คณะทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้แผนเลขหมายโทรคมนาคม, กลุ่มภารกิจด้านบริหารเลขหมายฯ (วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2551)


มติที่ประชุม              เห็นชอบการปรับปรุงร่างประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ.2551 ซึ่งได้ประมวลวิเคราะห์จากข้อคิดเห็นที่ได้รับในการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2551 ตามที่ คณะทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการใช้แผนเลขหมายโทรคมนาคมเสนอ ทั้งนี้ โดยมอบหมายให้คณะทำงานฯ รับข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปพิจารณาปรับแก้ไขร่างประกาศดังกล่าวให้เหมาะสมยิ่งขึ้นอีกเล็กน้อยในบางประเด็น แล้วเผยแพร่ลงในเว็บไซต์ของสำนักงาน กทช.อีกครั้งหนึ่ง ก่อนดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอน และนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการโดยสมบูรณ์ต่อไป
ทั้งนี้ ประเด็นข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะดังกล่าว ได้แก่
1. ในประเด็นเรื่องการจัดตั้งสำนักบริหารและจัดการเลขหมายโทรคมนาคม ให้แยกรายละเอียดออกจากประกาศ กทช. ฉบับนี้ไว้ก่อน แล้วจึงไปพิจารณาออกเป็นระเบียบการจัดตั้งเป็นการเฉพาะให้เหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง โดยการยกระดับจากกลุ่มภารกิจด้านบริหารเลขหมายโทรคมนาคมขึ้นเป็น สำนักบริหารและจัดการเลขหมายโทรคมนาคมภายใต้สำนักงาน กทช. อย่างไรก็ดี ให้กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลให้ชัดเจนด้วยว่า ในระหว่างดำเนินการจัดตั้งสำนักบริหารและจัดการเลขหมายฯ นี้ ให้กลุ่มภารกิจด้านบริหารเลขหมายโทรคมนาคมทำหน้าที่ไปพลางก่อน 
2.  ในหัวข้อ 5.11 ของข้อเสนอเพื่อปรับปรุงร่างประกาศฯ ข้อ 70 (3) นั้น ให้เพิ่มเติมถ้อยคำต่อท้ายข้อความ “ ซึ่ง กทช. จะพิจารณาต่ออายุการอนุญาตให้ใช้เลขหมายโทรคมนาคมพิเศษโดยอัตโนมัติ” ให้เหมาะสม และรอบคอบยิ่งขึ้น โดยระบุให้ชัดเจนด้วยว่า “...โดยอัตโนมัติในกรณีที่ไม่กระทำความผิดเงื่อนไข กฎระเบียบ หรือข้อบังคับ”

ระเบียบวาระที่   4.9   :   บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ขอคืนเลขหมายโทรคมนาคมพิเศษ : รทช.ประเสริฐฯ, กบ. (วันพุธที่ 13 สิงหาคม 2551)

มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบการส่งคืนเลขหมายโทรคมนาคมพิเศษ ของบมจ.ทีโอที จำนวน 14 หมายเลขตามที่บมจ.ทีโอที มีหนังสือแจ้งความประสงค์มา ซึ่งเป็นไปตามข้อ 15 (1) ของประกาศ กทช.เรื่อง หลักเกณฑ์ในการจัดสรร และอนุญาตให้ใช้เลขหมายโทรคมนาคมพิเศษ ทั้งนี้ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 เป็นต้นไป ดังนี้
1.1  เลขหมายโทรคมนาคมพิเศษ 3 หลัก  จำนวน 8 หมายเลข ได้แก่ หมายเลข  101, 105, 141, 142, 143, 151, 152 และ 183 
1.2  เลขหมายโทรคมนาคมพิเศษ 4 หลัก จำนวน 6 หมายเลข ได้แก่ 1248, 1345, 1488, 1491, 1707 และ 1808
2.  สำหรับในประเด็นการพิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคมพิเศษ จำนวน 4 เลขหมาย ได้แก่ 183, 1248, 1488 และ 1491 ให้แก่ บมจ.ทีโอทีตามที่ร้องขอมานั้น มอบหมายให้สำนักงาน กทช. ไปตรวจสอบรายละเอียดของข้อมูลที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน และครบถ้วนเพียงพอต่อการพิจารณาตัดสินใจของ กทช. ได้อย่างถูกต้อง และรอบคอบมากยิ่งขึ้นก่อน แล้วจึงนำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะในประเด็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความชัดเจนของการใช้เลขหมายดังกล่าวว่า เป็นการใช้เพื่อประโยชน์ในเชิงพาณิชย์หรือไม่ อย่างไร

ระเบียบวาระที่   4.10   :   บมจ.ทีโอที ขอรับการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมเพิ่มเติม : รทช.ประเสริฐฯ, กบ. (วันพุธที่ 13 สิงหาคม 2551)

มติที่ประชุม              เห็นชอบการรับเรื่อง บมจ.ทีโอที ขอรับการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคม สำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพิ่มเติม ไว้พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช.ไปตรวจสอบข้อมูลโดยให้แจ้ง บมจ. ทีโอที เพื่อยืนยันเกี่ยวกับจำนวนการใช้งานเลขหมายโทรคมนาคมที่ขอเพิ่มเติมดังกล่าว รวมทั้งกำหนดระยะเวลาการเปิดให้บริการที่ชัดเจน เพื่อประกอบการพิจารณาของ กทช.ได้อย่างรอบคอบมากยิ่งขึ้น

ระเบียบวาระที่   4.11   :   กรุงเทพมหานครขอความอนุเคราะห์ให้ใช้เลขหมายพิเศษ  4 หลัก : รทช.ประเสริฐฯ, กบ. (วันพุธที่ 13 สิงหาคม 2551)

มติที่ประชุม  
1.  เพื่อให้การใช้ทรัพยากรเลขหมายโทรคมนาคมซึ่งมีอยู่อย่างจำกัด เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด ประกอบกับกรุงเทพมหานคร อาจนำเทคโนโลยีที่เหมาะสม หรือระบบตอบรับ (IVR) มาใช้งานร่วมด้วยโดยใช้เลขหมายโทรคมนาคมพิเศษที่มีอยู่เดิมก็จะสามารถตอบสนองความต้องการในการให้บริการสำหรับนักท่องเที่ยวของกรุงเทพมหานครได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ในชั้นนี้ ที่ประชุมจึงมีมติยังไม่เห็นควรจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมพิเศษ 4 หลักให้แก่กรุงเทพมหานครตามข้อเสนอของสำนักงาน กทช. ทั้งนี้ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช. มีหนังสือแจ้งกรุงเทพมหานคร เพื่อทราบมติที่ประชุมดังกล่าวต่อไป
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
2.1  จัดการประชุมสัมมนาหน่วยงานราชการ รัฐวิสาหกิจ องค์กรอิสระ องค์การมหาชน และหน่วยงานอื่นๆ เพื่อประชาสัมพันธ์เสริมสร้างความรู้ ความเข้าใจ รวมทั้งให้ทราบถึงผลกระทบ และข้อจำกัดที่เกิดขึ้นจากการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมพิเศษ ทั้งด้านเทคนิค เศรษฐกิจ สังคม รวมถึงข้อมูลในเชิงกฎหมายเกี่ยวกับระเบียบข้อบังคับต่างๆที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนให้ข้อเสนอแนะหรือทางออกในการบริหารจัดการเลขหมายโทรคมนาคมพิเศษของหน่วยงานต่างๆ ที่มีอยู่ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และคุ้มค่ามากที่สุด
2.2  พิจารณาจัดระบบการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมพิเศษสำหรับหน่วยงานภาครัฐทั้งหมด เพื่อให้การใช้งานเกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้อย่างแท้จริง โดยเฉพาะต้องมีการกำหนดหลักเกณฑ์หลักการและวิธีการจัดสรรที่ดี และเหมาะสม โดยพิจารณาถึงจำนวนเลขหมายที่สมควรจัดสรรให้ ทั้งในมิติเชิงพื้นที่ (Area Base) หน่วยงานรับผิดชอบ (Agency Base) และ/หรือ ในเชิงภารกิจ (Issue/Agenda Base) เช่น กรณีเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว หรือกรณีเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น

ระเบียบวาระที่   4.12  :   การขอรับการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมพิเศษของหน่วยงานภาครัฐ : รทช.ประเสริฐฯ, กบ. (วันพุธที่ 13 สิงหาคม 2551)

มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบการรับเรื่อง การขอรับการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมพิเศษของหน่วยงานภาครัฐ 3 แห่ง ได้แก่ 1) สำนักงานสภาพัฒนาการเมือง, สถาบันพระปกเกล้า 2) การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย และ3) กระทรวงพาณิชย์ ไว้พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปตรวจสอบ และจัดทำรายละเอียดข้อมูลในเรื่องดังกล่าวเพิ่มเติม แล้วนำเสนอที่ประชุมเพื่อประกอบการพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้
2.1  รายละเอียดข้อมูลการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมพิเศษ ให้แก่หน่วยงานภาครัฐต่างๆ โดยแยกเป็น องค์กรฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ ตลอดจนองค์กรอิสระ รัฐวิสาหกิจ และองค์การบริหารส่วนท้องถิ่น โดยแจกแจงข้อมูลจำนวนเลขหมายที่ได้รับการจัดสรรให้ชัดเจนทั้งที่ได้รับการจัดสรรจาก บมจ.ทีโอที (องค์การโทรศัพท์ฯเดิม) และ กทช.
2.2  ข้อมูลที่มา และสถานภาพของสำนักงานสภาพัฒนาการเมือง, สถาบันพระปกเกล้า ที่ชัดเจน
3. มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อสังเกตของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการ แล้วนำเสนอที่ประชุมต่อไป ดังนี้
3.1  พิจารณาทบทวนเรื่องการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมพิเศษของหน่วยงานภาครัฐ ใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นทั้งระบบโดยเชิญหน่วยงานต่างๆ มาหารือร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางหลักเกณฑ์ และวิธีการในการบริหารจัดการเลขหมายโทรคมนาคมพิเศษ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการใช้งานสูงสุด
3.2 เร่งรัดดำเนินการในเรื่อง Call Center 1200 ให้สามารถปฏิบัติงานอย่างได้ผลจริงจังโดยเร็ว

ระเบียบวาระที่   4.13  :   ขอต่ออายุการอนุญาตให้ใช้เลขหมายโทรคมนาคมพิเศษ : รทช.ประเสริฐฯ, กบ. (วันพุธที่ 13 สิงหาคม 2551)

มติที่ประชุม              
1.  อนุมัติให้ต่ออายุการอนุญาตให้ใช้เลขหมายโทรคมนาคมพิเศษแก่บริษัท แอลเอ็มจี ประกันภัย จำกัด ได้แก่ เลขหมาย 1790 และบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด ได้แก่ เลขหมาย 1755 อีก 1 ปี ซึ่งเป็นไปตามข้อ 10 แห่งประกาศ กทช.เรื่อง หลักเกณฑ์ในการจัดสรร และอนุญาตให้ใช้เลขหมายโทรคมนาคมพิเศษ ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. มีหนังสือแจ้ง บริษัท แอลเอ็มจี ประกันภัย จำกัด และบริษัท ผลิตภัณฑ์และวัตถุก่อสร้าง จำกัด เพื่อทราบมติที่ประชุมตามข้อ 1 ต่อไป รวมทั้งรับข้อสังเกตของที่ประชุมไปพิจารณาด้วยกรณีหากบริษัททั้งสองจะขอรับการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมพิเศษกับ กทช.โดยตรงได้หรือไม่

ระเบียบวาระที่   4.14   :   สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียขออนุญาตใช้ความถี่วิทยุ และนำเข้าอุปกรณ์สื่อสาร : รทช.ประเสริฐฯ, ฉก.(วันพุธที่ 13 สิงหาคม 2551)

มติที่ประชุม              
1. รับทราบรายงานผลการตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นกรณี สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรซาอุดิอาระเบียขออนุญาตใช้ความถี่วิทยุ และนำเข้าอุปกรณ์สื่อสาร ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
2. เนื่องจาก เป็นกรณีเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาเป็นไปด้วยความรอบคอบ จึงมอบหมายให้สำนักงาน กทช. มีหนังสือสอบถามไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้แก่ กระทรวงกลาโหม กระทรวงการต่างประเทศ และสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อรับทราบข้อมูลต่างๆในส่วนที่เกี่ยวข้อง และแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสมในเรื่องนี้ แล้วประมวลเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาต่อไป

ระเบียบวาระที่   4.15   :   ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่   4.16   :   การขออนุญาตใช้ความถี่และนำเข้าเครื่องวิทยุคมนาคมเพื่อการสาธิตในงาน ITU TELECOM ASIA 2008 : รทช.ประเสริฐฯ, ฉก. (วันพุธที่ 13 สิงหาคม 2551)


มติที่ประชุม                
1.  อนุญาตการใช้ความถี่วิทยุและนำเข้าเครื่องวิทยุคมนาคม เพื่อการสาธิต/ทดสอบ /ทดลอง เครื่องวิทยุคมนาคม โดยผู้เข้าร่วมจัดแสดงสินค้าในงาน ITU TELECOM ASIA 2008 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ระหว่างวันที่ 2-5 กันยายน 2551 ทั้งนี้ โดยให้ปฏิบัติตามรายละเอียดเงื่อนไขการอนุญาตที่สำนักงาน กทช. เสนอ
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปจัดทำร่างประกาศ กทช. เรื่อง การอนุญาตให้ใช้ความถี่วิทยุ และนำเข้าเครื่องวิทยุคมนาคม เพื่อการสาธิต/ทดสอบ/ทดลอง ในการจัดงานแสดงด้านโทรคมนาคมต่างๆ เพื่อใช้เป็นแนวทางปฏิบัติได้อย่างเหมาะสมเป็นการทั่วไป แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาต่อไป

ระเบียบวาระที่   4.17   :   การกำหนดสัญญาณเรียกขาน (Call Sign) ในกิจการวิทยุสมัครเล่น : รทช.ประเสริฐฯ, ฉก. (วันพุธที่ 13 สิงหาคม 2551)

มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบการกำหนดสัญญาณเรียกขานออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1)สัญญาณเรียกขานสำหรับสถานีประเภทสถานีควบคุมข่าย  2) สัญญาณเรียกขานสำหรับบุคคล และ3) สัญญาณเรียกขานสำหรับสถานีประเภทสถานีกิจกรรมพิเศษ ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
2.  อนุมัติในหลักการโดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช. กำหนดสัญญาเรียกขานให้แก่ผู้ได้รับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่น และสถานีวิทยุคมนาคมในกิจการวิทยุสมัครเล่นที่ได้รับอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคมเพื่อทดลอง การสาธิต การแข่งขัน เพื่อการศึกษาหรือกิจกรรม เพื่อสาธารณประโยชน์ ดังนี้
2.1  กำหนดสัญญาณเรียกขานประจำสถานีให้แก่สมาคมวิทยุสมัครเล่นเทพธาโร ว่า “E29AT”
2.2 กำหนดสัญญาณเรียกขานประจำสถานีให้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา ว่า “E20AM”
3.  สำหรับในประเด็นที่กรมอุตุนิยมวิทยาขอรับการสนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์สำหรับตั้งสถานีวิทยุสมัครเล่น เพื่อการแจ้งข่าวอากาศและการเตือนภัย ณ กรมอุตุนิยมวิทยา บางนา โดยใช้งบประมาณสนับสนุนของสำนักงาน กทช. นั้น มอบหมายให้สำนักงาน กทช. ไปตรวจสอบความถูกต้องและจัดทำรายละเอียดข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติมให้ชัดเจน อาทิ ระเบียบ/ประกาศ กทช. แผนยุทธศาสตร์กิจการวิทยุสมัครเล่น รวมถึงรายละเอียดของงบประมาณ แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ระเบียบวาระที่   4.18  :   กรณีขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง โดยไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตของบริษัท ซิมเบิลเน็ตเวอร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด : รทช.ประเสริฐฯ, ปก. (วันพุธที่ 13 สิงหาคม 2551)

มติที่ประชุม              
1.  อนุมัติการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง บริการบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ให้แก่ บริษัท ซิมเบิลเน็ตเวอร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. มีหนังสือตักเตือนให้บริษัท ซิมเบิลเน็ตเวอร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด ดำเนินการตามกฎหมายและประกาศ กทช./เงื่อนไขการอนุญาตอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งให้บริษัทฯ มีหนังสือยืนยันว่าจะเริ่มดำเนินการให้บริการภายในปี 2551 ด้วย

ระเบียบวาระที่   4.19  :   การขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง บริการบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ของ บริษัท โค้ดเทค จำกัด : รทช.ประเสริฐฯ, ปก. (วันพุธที่ 13 สิงหาคม 2551)

มติที่ประชุม               อนุมัติให้ บริษัท โค้ดเทค จำกัด ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง เพื่อให้บริการบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ (International Calling Card) ประเภทไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง    ทั้งนี้ โดยให้กำหนดเงื่อนไขของบริการดังกล่าวตามที่ กทช.ได้อนุมัติให้ในกรณีของผู้รับใบอนุญาตรายอื่นๆ ไปเช่นเดียวกันแล้ว ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่   4.20 – 4.28   ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่   4.29    :        แนวทางปฏิบัติในการดำเนินการต่ออายุใบอนุญาต : รทช.ประเสริฐฯ, ปก. (วันพุธที่ 13 สิงหาคม 2551)


มติที่ประชุม               อนุมัติเป็นหลักการให้สำนักงาน กทช.ดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง และการต่ออายุใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบที่หนึ่ง ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ ได้ต่อไป ดังนี้
1.  ให้สำนักงาน กทช. พิจารณาอนุโลมต่ออายุใบอนุญาตให้กับผู้รับใบอนุญาต โดยไม่ต้องนำเสนอเข้าที่ประชุม กทช.พิจารณาเป็นรายกรณี หรือให้ดำเนินการต่ออายุได้ตามกระบวนการ Automatic License โดยให้มีหนังสือแจ้งตักเตือนผู้รับใบอนญาตให้ปฏิบัติให้ถูกต้อง และจัดทำบัญชีการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขไว้ด้วย ใน 4 กรณี ดังต่อไปนี้
1.1  กรณีประกอบการแล้ว ใบอนุญาตยังไม่หมดอายุ แต่ไม่ยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตภายในกำหนด (น้อยกว่า 30 วันสำหรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง และน้อยกว่า 15 วัน สำหรับใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบที่หนึ่ง)
1.2  กรณีประกอบการแล้ว ใบอนุญาตหมดอายุ แต่ยื่นคำขอต่ออายุภายหลังจากที่ใบอนุญาตสิ้นอายุ
1.3  กรณียังไม่ประกอบกิจการ แต่ยื่นขอต่ออายุใบอนุญาตภายในกำหนด (30วัน/15วัน)
1.4  กรณียังไม่ประกอบกิจการ ใบอนุญาตยังไม่หมดอายุแต่ไม่ยื่นต่ออายุภายในกำหนด (30วัน/15วัน)
2.  กรณีที่จะต้องนำเสนอ กทช. พิจารณาเป็นรายกรณีไป
2.1 กรณียังไม่ประกอบกิจการและใบอนุญาตหมดอายุ

ระเบียบวาระที่   4.30 – 4.44    ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่   4.45    :         ขอให้พิจารณารับข้อบทโทรคมนาคม (Annex on Telecommunication Service) ภายใต้กรอบการเจรจาจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน-ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (ANNZFTA) และพิจารณากรอบระยะเวลาการบังคับใช้ (Transitional Arrangement) ของข้อบังคับดังกล่าว : คณะทำงานพิจารณารายละเอียดด้านโทรคมนาคมเพื่อการเจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรี (วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2551)


มติที่ประชุม              
1. เห็นชอบให้รับข้อบทโทรคมนาคม (Anne on Telecommunication Service) ภายใต้กรอบการเจรจาจัดทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน - ออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ (ANNZFTA) ตามที่คณะทำงานฯ เสนอ
2. เห็นชอบให้กำหนดกรอบระยะเวลาการบังคับใช้ (Transitional Arrangement) ของข้อบทโทรคมนาคมดังกล่าว (Annex on Telecommunication Service) ตามระยะเวลาคงเหลือของสัญญาร่วมการงานฉบับสุดท้ายต่อไป ตามที่คณะทำงานฯ เสนอ

ระเบียบวาระที่   4.46    :    การจ่ายเงินค่าตอบแทนประจำปี พ.ศ.2550 (วาระต่อเนื่อง) : รทช.ฐากรฯ, บค.(วันพุธที่ 13 และวันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2551)

มติที่ประชุม              
1.  รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานประจำปี 2550 และแผนการดำเนินงานปี 2551 ในแต่ละสายงานของสำนักงาน กทช.รวมถึง สชท.ตามที่ ลทช , รทช.ในฐานะหัวหน้าสายงาน และผอ.สชท.  เสนอ
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. (แต่ละสายงาน) และสชท.รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปปรับปรุงรายงานผลการปฏิบัติงานให้เหมาะสม ชัดเจนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้น แล้วนำเสนอที่ประชุมเพื่อประกอบการพิจารณาการจ่ายเงินค่าตอบแทนประจำปี 2550 อีกครั้งหนึ่ง

ระเบียบวาระที่   4.47   :    ขออนุญาตขยายข่ายสื่อสารโทรศัพท์เคลื่อนที่ในย่านความถี่ 900 MHz โดยใช้เทคโนโลยี HSPA จำนวน 400 สถานี และขอนำเข้าอุปกรณ์ : รทช.ประเสริฐฯ, ปก. (วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2551)

มติที่ประชุม                ที่ประชุมได้พิจารณารายละเอียดตามข้อเสนอของสำนักงาน กทช. แล้วเห็นว่า เพื่อเป็นการพัฒนากิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและบริการใหม่ ภายใต้นโยบายการแข่งขันเสรีและเป็นธรรมที่กำหนดในแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม รวมถึงหลักความเป็นกลางทางเทคโนโลยี และเพื่อให้ผู้บริโภคมีทางเลือกการใช้บริการ รวมทั้งได้รับบริการที่มีมาตรฐานคุณภาพที่สูงขึ้น ประกอบกับ บมจ.ทีโอที ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 โดยบริษัทเอกชนเป็นผู้รับสัญญาบริการจาก ทศท.(เดิม) ซึ่งไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่บริษัทเหนือคลื่นความถี่วิทยุที่ได้จัดสรรให้แก่ ทศท. (เดิม) ตามนัยมาตรา 80 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ในระหว่างที่สัญญาร่วมการงานยังมีผลใช้บังคับ ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติ
1.  อนุญาตให้ บมจ.ทีโอที ปรับปรุงโครงข่ายโดยใช้เทคโนโลยี High-Speed Packet Access (HSPA)ในระบบ GSM 900 MHz เพิ่มเติมในเขตพื้นที่ 9 จังหวัด จำนวน 400 สถานีฐาน ได้แก่  กรุงเทพฯ 98 แห่ง  เชียงราย 47 แห่ง  ขอนแก่น 25 แห่ง ประจวบคีรีขันธ์ 7 แห่ง สงขลา  10 แห่ง นครราชสีมา  30 แห่ง  ชลบุรี 29 แห่ง  ภูเก็ต 36 แห่ง เชียงใหม่ 118 แห่ง  และใช้เครื่องวิทยุคมนาคมในกิจการเคลื่อนที่ทางบก (Land Mobile Service) โดยใช้ความถี่วิทยุ 897.5-915.0 MHz   และ 942.5-960.0 MHz ความกว้างแถบความถี่ 5 MHz ทั้งนี้ โดยให้กำหนดรายละเอียดเงื่อนไขการอนุญาตเป็นไปตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ และให้จัดทำข้อเสนอโครงข่ายเปิด Open Wireless Access ประกอบด้วย
2.  อนุมัติให้ดำเนินการนำเข้าอุปกรณ์สถานีฐาน ตราอักษร HUAWEI รุ่น DBS3800 โดยบริษัท หัวเหว่ย เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ตราอักษร NEC รุ่น NB880 และ NB881 โดยบริษัท NEC (Thailand) Co.,Ltd. ตราอักษร Nokia Siemens รุ่น Flexi BTS โดยบริษัท Nokia Siemens (Thailand) Co.,Ltd. และตราอักษร Ericsson รุ่น RBS3518, RBS3206 และ RBS3106 โดยบริษัท Ericsson (Thailand) Co.,Ltd.  เป็นผู้นำเข้าอุปกรณ์ รวมทั้งสิ้น 400 ชุด เพื่อส่งมอบให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ให้เสร็จก่อนบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ใช้งานตามขอบเขตที่ได้รับอนุญาตจาก กทช. ต่อไป
                                  ทั้งนี้ ให้กำหนดเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)  จะต้องนำเสนอ กทช. พิจารณาปรับปรุงการใช้งานย่านความถี่ 900 MHz ที่ได้รับจัดสรรอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสัญญาร่วมการงานสิ้นผลลง หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกสัญญาร่วมการงาน เพื่อให้เหมาะสม และเป็นธรรม
3.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปพิจารณากำหนดให้มีกลไก หรือทีมงานเพื่อศึกษาและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ โดยให้ ลทช. พิจารณาความเหมาะสมขององค์ประกอบ แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ระเบียบวาระที่   4.48    :   บริษัท กสท โทรคมนาคม ขอปรับปรุงโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ย่าน 800 MHz โดยใช้เทคโนโลยี HSPA : รทช.ประเสริฐฯ, ปก. (วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2551)

มติที่ประชุม              
1.  ที่ประชุมได้พิจารณารายละเอียดตามข้อเสนอของสำนักงาน กทช. แล้วเห็นว่า ที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 26/2551 มีมติอนุมัติในหลักการการปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุ 800 MHz ของ บมจ.กสท โทรคมนาคม โดยเป็นการใช้สิทธิตามมาตรา 80 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ตามที่ บมจ.กสท โทรคมนาคม ได้มีหนังสือยืนยันในรายละเอียดทั้งหมดที่เกี่ยวข้องมาอย่างเป็นทางการแล้ว ประกอบกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ที่ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าว ตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 โดยบริษัทเอกชนเป็นผู้รับสัญญาบริการจาก กสท. (เดิม) ซึ่งไม่ก่อให้เกิดสิทธิแก่บริษัทเหนือคลื่นความถี่วิทยุที่ได้จัดสรรให้แก่ กสท.(เดิม) ตามนัยมาตรา 80 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ในระหว่างที่สัญญาร่วมการงานยังมีผลใช้บังคับ ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติ
1.1  อนุญาตให้ บมจ.กสท โทรคมนาคม ปรับปรุงโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้เทคโนโลยี HSPA ในย่านความถี่ 800 MHz ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต จำนวน 59 สถานี จังหวัดชลบุรี จำนวน 156 สถานี และกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 1,005 สถานี ความทั้งสิ้น 1,220 สถานี และใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ในกิจการเคลื่อนที่ทางบก (Land Mobile Service) โดยใช้ความถี่วิทยุ 839.0 ถึง 849.0 MHz คู่กับ 884.0 ถึง 894.0 MHz ความกว้างแถบความถี่ (Bandwidth) 5 MHz ทั้งนี้ โดยให้กำหนดรายละเอียดเงื่อนไขการอนุญาตเป็นไปตามที่ สำนักงาน กทช. เสนอ และให้จัดทำข้อเสนอโครงข่ายเปิด Open Wireless Access ประกอบด้วย
1.2  อนุญาตให้ บมจ.กสท โทรคมนาคม ปรับปรุงโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนย่าน 800 MHz โดยใช้เทคโนโลยี HSPA ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวน 543 สถานี จังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 22 สถานี จังหวัดชลบุรี จำนวน 42 สถานี จังหวัดภูเก็ต จำนวน 35 สถานี และจังหวัดมหาสารคาม จำนวน 14 สถานี รวมทั้งสิ้น 656 สถานี และใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ในกิจการเคลื่อนที่ทางบก (Land Mobile Service) โดยใช้ความถี่วิทยุ 834.2 ถึง 839.0 MHz คู่กับ 879.2 ถึง 884.0 MHz ความกว้างแถบความถี่ (Bandwidth) 4.8 MHz โดยกำหนดรายละเอียดของเงื่อนไขการอนุญาตเป็นไปตามที่สำนักงาน กทช. เสนอเช่นเดียวกับที่อนุญาต บมจ.ทีโอที
                                   ทั้งนี้ ให้กำหนดเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า บมจ.กสท โทรคมนาคม จะต้องนำเสนอ กทช. พิจารณาปรับปรุงการใช้งานย่านความถี่ 800 MHz ที่ได้รับจัดสรรอีกครั้งหนึ่ง เมื่อสัญญาร่วมการงานสิ้นผลลง หรือเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง หรือยกเลิกสัญญาร่วมการงานเพื่อให้เหมาะสม และเป็นธรรม
2.  อนึ่ง ที่ประชุมเสียงข้างน้อย (กทช.เหรียญชัยฯ) ของดออกเสียงในวาระนี้  เนื่องจากเห็นว่า การปรับปรุงการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุ 800 MHz ของ บมจ.กสท โทรคมนาคม เข้าข่ายเป็นการร่วมใช้ความถี่ตามมาตรา 53 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ซึ่งต้องดำเนินการตามนัยแห่งประกาศ กทช. ว่าด้วยการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และการให้ผู้อื่นร่วมใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2550
3. มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปพิจารณากำหนดให้มีกลไก หรือทีมงานเพื่อศึกษาและติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานในเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ โดยให้ ลทช. พิจารณาความเหมาะสมขององค์ประกอบ แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
 
ระเบียบวาระที่    5      :   เรื่องเพื่อทราบ
ระเบียบวาระที่   5.1    :   รายงานความคืบหน้ากรณีบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน)     ขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.


มติที่ประชุม                รับทราบความคืบหน้าของสถานการณ์ และรายงานการไต่สวนของศาลล้มละลายกลาง กรณีบริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) ขอฟื้นฟูกิจการต่อศาลล้มละลายกลาง ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่ 5.2: รายงานการประชุมสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียน (ATRC) ครั้งที่ 14 : รทช.จิราพรฯ, กร.

มติที่ประชุม                รับทราบรายงานการประชุมสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียน (ATRC) ครั้งที่ 14 ซึ่ง กทช.เศรษฐพรฯ  ทำหน้าที่หัวหน้าคณะผู้แทนไทย กทช.สุธรรมฯ รองหัวหน้าคณะผู้แทนไทย พร้อมคณะผู้แทนสำนักงาน กทช. ผู้แทนกระทรวงเทคโนโยลีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้แทน บมจ.กสท โทรคมนาคม ผู้แทน บมจ.ทีโอที ผู้แทนสถาบันคุ้มครองผู้บริโภค เข้าร่วมการประชุมดังกล่าว ระหว่างวันที่ 18 – 20 มิถุนายน 2551 ที่ประเทศสิงคโปร์ ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ 

ระเบียบวาระที่   5.3  :   การเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการของผู้ประกอบการ (รายการส่งเสริมการขายในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงเดือน สิงหาคม 2551) : รทช.จิราพรฯ, ศฐ.

มติที่ประชุม               รับทราบการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการของบริษัท ทรูมูฟ จำกัด และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ในช่วงเดือนกรกฎาคม ถึงเดือนสิงหาคม 2551 จำนวน 10 รายการ ซึ่งได้ดำเนินการตามข้อ 12 ของประกาศ กทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการและการเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.4  :   การเดินทางไปศึกษาดูงานในต่างประเทศ เกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม : ลทช.

มติที่ประชุม                รับทราบการเดินทางไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัยต่อสุขภาพของมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคมของ ลทช. และคณะ ณ ประเทศสหราชอาณาจักร ระหว่างวันที่ 17 – 20 สิงหาคม 2551 ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.5  :   รวบรวมข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับคดีซึ่ง กทช. สกทช. ลทช. คณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือพนักงาน สกทช. ถูกฟ้องต่อศาลปกครอง : รทช.พิทยาพลฯ, กม.

มติที่ประชุม               รับทราบสถานะคดีที่ กทช. สำนักงาน กทช. ลทช. คณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือพนักงาน สกทช. ถูกฟ้องต่อศาลปกครอง ประจำเดือนกรกฎาคม 2551 จำนวน 12 คดี  ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่    5.6   :   รายงานผลการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 : รทช.พิทยาพลฯ, กม.

มติที่ประชุม                รับทราบรายงานผลการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ประจำเดือนกรกฎาคม 2551  ซึ่งไม่มีเรื่องเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.7   :   รายงานการรับเรื่องร้องเรียนของเดือนกรกฎาคม 2551 : สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.)

มติที่ประชุม               รับทราบรายงานการรับเรื่องร้องเรียนจากผู้บริโภคประจำเดือนกรกฎาคม 2551 ซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนจำนวนทั้งสิ้น 30 ราย เป็นเรื่องที่ดำเนินการแก้ไขแล้วเสร็จจำนวน 5 เรื่อง และอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขของบริษัท จำนวน 25 ราย ตามเอกสารที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมเสนอ

ระเบียบวาระที่   5.8   :   รายงานการดำเนินการกรณีบริษัท ไทยอีเลคทริคคอร์ปอเรชั่น จำกัด ขอความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม : รทช.พิทยาพลฯ, สบท., กม. 

มติที่ประชุม               รับทราบรายงานการดำเนินการของสำนักงาน กทช.กรณีบริษัท ไทยอีเลคทริคคอร์ปอเรชั่น จำกัด ขอความคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.9   :    แนวทางสนับสนุนเพื่อช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตราคาน้ำมันแพง : สชท.

มติที่ประชุม                 รับทราบรายงานเรื่องกิจการโทรคมนาคมกับสภาพวิกฤตพลังงาน และข้อเสนอแนะแนวทางสนับสนุนเพื่อช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์วิกฤตราคาน้ำมันแพง ตามเอกสารที่สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเสนอ
 
ระเบียบวาระที่   6      :   เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)
ระเบียบวาระที่   6.1   :   คำวินิจฉัยข้อพิพาทที่ 4/2551 ระหว่างบริษัท ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด กับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) : กวพ., สชท. (วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2551)


มติที่ประชุม                 มอบหมายให้องค์คณะ กวพ. รับเรื่อง คำวินิจฉัยข้อพิพาทที่ 4/2551 ระหว่างบริษัท ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด กับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) ที่เสนอ กลับไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมในประเด็นหลักกฎหมาย และข้อเท็จจริงต่างๆที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน และครบถ้วน สมบูรณ์ ยิ่งขึ้นก่อน แล้วจึงนำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง อาทิ ประเด็นข้อเท็จจริงว่าเหตุใด บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น จึงถือว่าเป็นผู้รับอนุญาตภายใต้สัญญาสัมปทาน ตามมาตรา 80 วรรคสอง แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 และประเด็นการวินิจฉัยข้อเท็จจริงกรณีบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) มีหน้าที่ตามมาตรา 25 แห่งพ.ร.บ การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ในการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม เป็นต้น
  
ระเบียบวาระที่    6.2    :    คำวินิจฉัยข้อพิพาทที่ 1/2551 ระหว่าง บริษัท โทเทิ่ล แอ็สเซ็ส คอมมูนิเคชั่น  จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) : กวพ., สชท. (วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2551)

มติที่ประชุม                  
1. มอบหมายให้องค์คณะ กวพ. รับเรื่อง คำวินิจฉัยข้อพิพาทที่ 1/2551 ระหว่าง บริษัท โทเทิ่ล แอ็สเซ็ส คอมมูนิเคชั่น  จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่เสนอ กลับไปจัดทำรายละเอียดเพิ่มเติมในประเด็นหลักกฎหมาย และข้อเท็จจริงต่างๆที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน และครบถ้วน สมบูรณ์ ยิ่งขึ้นก่อนเช่นเดียวกับกรณีวาระที่ 6.1 เรื่อง คำวินิจฉัยข้อพิพาทที่ 4/2551 ระหว่างบริษัท ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด กับ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด(มหาชน) และวินิจฉัยประเด็นเกี่ยวกับคำขอของผู้ร้องให้ครบถ้วนทุกประเด็น แล้วจึงนำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
2. มอบหมายให้ สชท.รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปจัดทำบทสรุป ประเด็นคำวินิจฉัยข้อพิพาทที่ 1/2551 ดังกล่าวประกอบการพิจารณาของ กทช.ด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้ กทช.สามารถเข้าใจในประเด็นสำคัญ และพิจารณาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

ระเบียบวาระที่    6.3   :    การเข้าร่วมอบรมหลักสูตรด้านสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (Workshop on Broadcasting) ภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง กทช. กับ ComCom ณ สมาพันธ์รัฐสวิส : กทช.สุธรรมฯ (วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2551)

มติที่ประชุม                
1.  รับทราบการเข้าร่วมอบรมหลักสูตรด้านสื่อวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ (Workshop on Broadcasting) ภายใต้โครงการความร่วมมือทางวิชาการระหว่าง กทช. กับ ComCom  ของ กทช.สุธรรม พร้อมคณะเจ้าหน้าที่สำนักงาน กทช. ระหว่างวันที่   20 – 21 สิงหาคม 2551 ณ สมาพันธรัฐสวิส 
2.  อนุมัติให้บุคคลภายนอก 2 ราย ได้แก่ ผศ.ดร.พิรงรอง  รามสูต และ อาจารย์พรรษาสิริ  กุหลาบ เข้าร่วมเดินทางในฐานะ Resource Person เข้ารับการอบรม ตามข้อ 1 รวมทั้งเข้าร่วมประชุมกับผู้ปฏิบัติด้านการวางนโยบายการกำกับดูแลกิจการสื่อโทรทัศน์ วิทยุกระจายเสียงและวิทยุชุมชน ประจำ Federal Communication Commission ตามที่ กทช.สุธรรมฯ เสนอ
3.  อนุมัติค่าใช้จ่ายในการเดินทางสำหรับบุคคลภายนอก ตามข้อ 2 โดยให้เพิ่มเติมจากจำนวนที่เสนออีก 30,000 บาท รวมเป็นจำนวน 275,000 บาท เพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทางให้แก่ ผศ.ดร.พิรงรองฯ เนื่องจากมีข้อจำกัดด้านสุขภาพ ทั้งนี้ โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณโครงการเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับการกำกับดูแลวิทยุชุมชนในประเทศไทย ตามที่ กทช.สุธรรมฯ เสนอ

ระเบียบวาระที่ 6.4: ขออนุมัติการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ MOU กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ : สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (สพท.) (วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2551)

มติที่ประชุม                
1.  อนุมัติการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) ระหว่างสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม สำนักงาน กทช.  กับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ตามที่สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม(สพท.) เสนอ ทั้งนี้ โดยมอบหมายให้ผู้อำนวยการ สพท. เป็นผู้แทนลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าว
2. อนุมัติแต่งตั้ง ดร.พงษ์ศักดิ์ กีรติวินทกร ผู้แทนมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระ นครเหนือเป็นกรรมการในคณะกรรมการประสานงานการดำเนินงานตามข้อตกลงความร่วมมือทางวิชาการด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง ตามที่ สพท.เสนอ
3. เห็นชอบเป็นหลักการให้ สพท.ดำเนินโครงการร่วมมือกับสถาบันการศึกษาอื่นๆ เพิ่มเติมได้ในอนาคต โดยให้ผู้อำนวยการ สพท.เป็นผู้แทนลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ที่จะมีขึ้นต่อไปดังกล่าว ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จ ให้นำเสนอที่ประชุม กทช. ทราบ ตามที่ สพท.เสนอ

ระเบียบวาระที่    6.5   :    การจัดงาน ITU TELECOM ASIA 2008 : รทช.ฐากรฯ, สำนักกิจการกรรมการ (วันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2551)

มติที่ประชุม              
1.  รับทราบเรื่อง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แจ้งเชิญประธาน กทช. เฝ้ารับเสด็จฯ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ในพิธีเปิดงาน ITU TELECOM ASIA 2008 ในวันจันทร์ที่ 1 กันยายน 2551 ณ อาคารชาเลนเจอร์   ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี จังหวัดนนทบุรี ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ
2. มอบหมายให้สำนักงาน กทช. ไปตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม และยืนยันความถูกต้องให้ชัดเจนก่อนกรณีการเสด็จเป็นองค์ประธานในพิธีเปิดงานดังกล่าวของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี แล้วนำเสนอที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

สร้างโดย  -   (21/3/2559 10:31:23)

Download

Page views: 75