สรุปมติที่ประชุม กทช. 30/2551


มติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
ครั้งที่ 30/2551
วันพฤหัสบดีที่ 21  สิงหาคม  2551  เวลา  9.30  น.
ณ ห้องประชุมชั้น  12  อาคารอำนวยการ สำนักงาน กทช.
 
 
ระเบียบวาระที่    1     :   เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
1. ขอให้สำนักงาน กทช. ตรวจสอบการดำเนินงานตามแผนงาน/โครงการต่างๆ ที่ กทช. ได้อนุมัติไปแล้ว โดยเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จตามกรอบระยะเวลา ก่อนที่กรรมการชุดนี้จะพ้นจากวาระ
2. ขอให้สำนักงาน กทช. กำชับและเข้มงวดเรื่องการแต่งกายและ ความประพฤติของพนักงานสำนักงาน กทช. โดยเฉพาะหน่วยงานที่เน้นการให้บริการเป็นสำคัญ สำหรับกรณีความล่าช้าการดำเนินงาน  อาทิ การนำเข้าอุปกรณ์ในโครงการความร่วมมือระหว่าง กทช. กับ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยราชภัฏมหาสารคาม ขอให้เร่งรัดดำเนินการด้วย
มติที่ประชุม   รับทราบตามที่ประธานแจ้ง และมอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 
ระเบียบวาระที่    2      :   รับรองรายงานการประชุม กทช.
ระเบียบวาระที่    2.1   :   รับรองรายงานการประชุม กทช.

 - ไม่มี -
ระเบียบวาระที่    2.2    :   รับรองมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 29/2551  เมื่อวันพุธที่ 13 และ วันพฤหัสบดีที่ 14  สิงหาคม  2551
มติที่ประชุม  รับรองมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 29/2551 เมื่อวันพุธที่ 13 และวันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2551 ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ โดยมีข้อแก้ไขให้เพิ่มเติมข้อความ ของดออกเสียงในวาระนี้ เนื่องจาก ในวาระที่ 4.48  ข้อ 2 บรรทัดแรก ต่อท้ายข้อความ  “อนึ่ง ที่ประชุมเสียงข้างน้อย (กทช.เหรียญชัยฯ)” 
ระเบียบวาระที่   3    :   รายงานผลการดำเนินงาน  ตามมติ กทช.  ครั้งที่ 29/2551  เมื่อวันพุธที่ 13 และวันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2551
มติที่ประชุม   รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 29/2551  เมื่อวันพุธที่ 13 และวันพฤหัสบดีที่ 14 สิงหาคม 2551 ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่     4     :       เรื่องเพื่อพิจารณา
ระเบียบวาระที่    4.1 – 4.10  ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่    4.11  :       บมจ.ทีโอที ขอให้นำค่าความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัด ชายแดนภาคใต้ ปี 2549 ไปหักลดหย่อนกับค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่ 3 ปี 2549 : ผชช.ศศ., รทช.พิทยาพลฯ, ศฐ.

มติที่ประชุม                
1. เนื่องจากประกาศ กทช.เรื่อง ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมชั่วคราว ข้อ 7 กำหนดให้ กทช.พิจารณาลดหย่อน หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมให้แก่ผู้รับใบอนุญาตที่ประกอบกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะซึ่งมิได้แสวงหากำไรทางธุรกิจ ดังนั้น กรณีที่ บมจ.ทีโอทีขอนำค่าความเสียหายจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ปี 2549 จำนวน 49,276,893.18 บาท ไปหักลดหย่อนกับค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่ 3 จึงไม่เข้าข่ายตามประกาศดังกล่าว
2.  อย่างไรก็ดี ภัยจากความไม่สงบในพื้นที่ดังกล่าว บมจ.ทีโอที ไม่สามารถควบคุมได้ และก่อให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สิน และอุปกรณ์โทรคมนาคม  ดังนั้น กทช.จึงมีมติเห็นชอบให้ บมจ.ทีโอที นำค่าความเสียหายดังกล่าวไปหักลดหย่อนเป็นค่าใช้จ่ายจากการประกอบกิจการโทรคมนาคมก่อนการคิดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 ปี 2549 ซึ่งเงินค่าธรรมเนียมฯ ที่ บมจ.ทีโอที จะได้รับคืนจากการให้หักลดหย่อนเพิ่มเติมดังกล่าวคิดเป็นเงินรวมภาษีมูลค่าเพิ่มจำนวน 1,581,788.27 บาท นั้น ให้นำไปหักกับจำนวนเงินค่าธรรมเนียมฯ ส่วนเพิ่มเติม ปี 2550 ที่ บมจ.ทีโอที ต้องมาชำระ เนื่องจากการชำระค่าธรรมเนียมฯ ปี 2549 ได้เสร็จสิ้นแล้ว ทั้งนี้ ให้สำนักงาน กทช. มีหนังสือแจ้งมติที่ประชุมดังกล่าวข้างต้นให้ บมจ.ทีโอที ทราบต่อไป
3. มอบหมายให้สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปพิจารณาริเริ่มดำเนินการจัดทำโครงการพิเศษด้านบริการสังคม (Public Service Obligation) ขึ้น เพื่อช่วยเหลือประชาชน และสนับสนุนการปฏิบัติภารกิจของหน่วยงานต่างๆในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ 5 จังหวัด ได้แก่ ปัตตานี ยะลา นราธิวาสสตูล และสงขลา ทั้งนี้ โดยประสานการดำเนินงานร่วมกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในพื้นที่ เพื่อหารือแนวทางการดำเนินการ และการกำหนดพื้นที่เป้าหมายที่เหมาะสมและมีลำดับความสำคัญที่จำเป็นเร่งด่วนก่อน (Priority) รวมทั้งให้คำนึงถึงพื้นที่ที่สามารถเข้าไปดำเนินการ และมีโอกาสการใช้งานได้จริงเป็นสำคัญด้วย
ระเบียบวาระที่   4.12   :   ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่ 3 ประจำปี 2550 : รทช.พิทยาพลฯ, ศฐ. 
มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบให้ใช้หลักเกณฑ์การหักลดหย่อนเพื่อการคิดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 3 (ค่าธรรมเนียมฯ) ประจำปี 2550 ของ บมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ.ทีโอที เช่นเดียวกับหลักเกณฑ์การหักลดหย่อนฯ ที่ใช้ในปี 2549
2.  เห็นชอบจำนวนเงินค่าธรรมเนียมฯ ซึ่ง บมจ.กสท โทรคมนาคมจะต้องชำระประจำปี 2550 เพิ่มเติมจำนวน 127.43 ล้านบาท(รวม VAT)  ทั้งนี้ โดยใช้หลักเกณฑ์การหักลดหย่อนเช่นเดียวกับหลักเกณฑ์ที่ใช้ในการคิดค่าธรรมเนียมฯ ประจำปี 2549 ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่  4.13   :    ร่างประกาศ กทช. เรื่อง ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ต พ.ศ.... : ผชช.กม., ผชช.ศศ., รทช.พิทยาพลฯ, ศฐ.
มติที่ประชุม              
1. เนื่องจากมีความเห็นทางข้อกฎหมายที่แตกต่างกันอยู่โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับระยะเวลาของการมีผลใช้บังคับร่างประกาศฯ ฉบับนี้ ดังนั้น เพื่อให้การพิจารณาวาระนี้ เป็นไปด้วยความรอบคอบและถูกต้อง จึงมอบหมายให้ สำนักงาน กทช. นำเรื่องนี้เสนอที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่งเมื่อ กทช.สุธรรมฯ เข้าร่วมประชุม พร้อมทั้งให้เชิญผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย (รศ.ดร.กมลชัยฯ) เข้าร่วมชี้แจงความเห็นประกอบด้วย
2. มอบหมายให้สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็น และข้อสังเกตของที่ประชุมพิจารณาปรับปรุงเนื้อหาการ Presentation โดยเพิ่มเติมข้อมูล ในประเด็นต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณาของที่ประชุมได้อย่างชัดเจน และครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น อาทิ มติที่ประชุม กทช. ที่เกี่ยวข้อง การกำหนดอัตราและเงื่อนไขการชำระเงินค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ต และการเปรียบเทียบให้เห็นความแตกต่างระหว่างการคิดอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบเดิม กับ แบบที่เสนอใหม่ เป็นต้น
ระเบียบวาระที่   4.14 – 4.17  ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่   4.18    :       แนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการให้บริการ Private Number ซึ่งส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ : ผชช.กม., ผชช.เทคนิค., ผชช., เลขหมาย., สบท.


มติที่ประชุม              
1.  โดยที่เรื่อง Private Number มีผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนจำนวนมาก จึงเห็นชอบให้ สำนักงาน กทช. นำแนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการให้บริการ Private Number ตามที่คณะทำงานศึกษาแนวทางการคุ้มครองผู้ใช้บริการอันเกิดจากการให้บริการ Private Number เสนอ ไปจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ทั้งนี้ โดยให้รับข้อคิดเห็น และข้อสังเกตของที่ประชุม อาทิ เรื่องการโทรจากต่างประเทศผ่าน VoIP รวมทั้งข้อคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิคได้แก่ ดร.กิตตินฯ และ นายบุญเสริมฯ ที่ให้ไว้ ไปกำหนดเป็นประเด็นในการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะด้วย
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. พิจารณาแต่งตั้งคณะทำงานเพื่อจัดทำร่างหลักเกณฑ์สำหรับการให้บริการ CLIR (Calling Line Identification Restriction) และ CLIP  (Calling Line Identification Presentation) ตามข้อคิดเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านเทคนิค (นายบุญเสริมฯ) แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาต่อไป

ระเบียบวาระที่    4.19   :   แก้ไขข้อเสนอการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส  จำกัด (มหาชน) : ผชช.กม., สชท.
มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบร่างข้อเสนอการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของบริษัท
แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้มีการปรับปรุงแก้ไขให้สอดคล้องกับมติ กทช.เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2551 แล้ว และเป็นไปตามประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 28 (4) และชอบด้วยกฎหมายตามที่ สำนักงาน กทช. เสนอ
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. มีหนังสือแจ้ง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เพื่อทราบ และให้บริษัทฯดำเนินการประกาศเผยแพร่ข้อเสนอการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมดังกล่าวเป็นการทั่วไป ตามข้อ 33 แห่ง ประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ต่อไป
ระเบียบวาระที่    4.20   :   รายงานผลการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของสัญญาการใช้โครงข่ายโทรคมนาคม จำนวน 1 ฉบับ และสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม จำนวน 2 ฉบับ : คณะทำงานด้านกฎหมายเพื่อตรวจสอบข้อกำหนดของสัญญาการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม 
มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบรายงานผลการตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของข้อกำหนด และลักษณะของสัญญาการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม จำนวน 3 ฉบับ ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ ได้แก่
1.1 สัญญาการใช้โครงข่ายโทรคมนาคมของ บริษัท บีเอ็มซีแอล  เน็ทเวิร์ค จำกัด และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด  (มหาชน)
1.2 บันทึกต่อท้ายสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ระหว่างบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)
1.3 บันทึกต่อท้ายสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ครั้งที่ 1 ระหว่างบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)
2. เห็นชอบ และมอบหมายให้สำนักงาน กทช.และสถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (สชท.) ไปดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย ประกาศและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไปตามข้อเสนอของคณะทำงานฯ ได้แก่
2.1 มอบหมายให้สำนักงาน กทช. มีหนังสือแจ้งบริษัท บีเอ็มซีแอล เน็ทเวิร์ค จำกัด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เพื่อรับทราบผลการพิจารณาตามมติที่ประชุม ข้อ 1  และให้บริษัททั้งสามดำเนินการเปิดเผยสัญญาการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม เป็นการทั่วไปภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งจากสำนักงาน กทช. ตาม มาตรา 29 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ประกอบข้อ 43 ของประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549 โดยให้เปิดเผยด้วยวิธีการติดประกาศ ณ ที่ทำการและเผยแพร่ใน Website ของบริษัททั้งสามต่อไป ทั้งนี้ สำหรับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ขอให้ยึดถือปฏิบัติตามประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549 โดยเคร่งครัดด้วย 
2.2 มอบหมายให้ สชท.เป็นผู้ดำเนินการเปิดเผยสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมดังกล่าวลงใน Website ของสำนักงาน กทช.ต่อไป
3.  เนื่องจากปัจจุบันการพิจารณาตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของข้อกำหนดและลักษณะของสัญญาการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมตามประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549 สามารถดำเนินการได้อย่างชัดเจน เป็นระบบ และมีแนวทางปฏิบัติที่มีลักษณะเป็นงานประจำที่เป็นบรรทัดฐานเดียวกันแล้ว ดังนั้น เพื่อเป็นการลดภาระของ กทช. ในการพิจารณาเรื่องลักษณะนี้ให้น้อยลง จึงมอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุม ไปพิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์การพิจารณาตรวจสอบข้อเสนอ และสัญญาการใช้ และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่เป็นมาตรฐานในรูปแบบของการจัดทำ Check List โดยอาจกำหนดขั้นตอนให้สำนักงานฯ นำเสนอประธาน กทช. พิจารณาอนุมัติ แล้วนำเสนอที่ประชุมเพื่อทราบ เมื่อตรวจสอบความถูกต้องครบถ้วนแล้วเป็นไปตาม Check List หรือหากพบว่ามีประเด็นแตกต่าง ก็ให้นำเสนอ กทช.พิจารณาเป็นกรณีๆ ไป
     ทั้งนี้ ให้หารือผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย (พลเอกชูชาติฯ) ถึงความเหมาะสมของการกำหนดหลักเกณฑ์ดังกล่าวในทางกฎหมายด้วย เพื่อความรอบคอบก่อนนำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาต่อไป
ระเบียบวาระที่   4.21  :   ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่   4.22  :   เงื่อนไขในการอนุญาต ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สอง (บริษัท อินโฟเน็ท ประเทศไทย จำกัด) : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.

มติที่ประชุม              
1.  อนุมัติเงื่อนไขในการอนุญาตใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สอง ประเภทไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง บริการแพ็กเก็จสวิชท์ (Public Packet Switched Service) ในส่วนของ ภาคผนวก ก, ข, ค, ง, จ, ฉ  และ ช ของบริษัท อินโฟเน็ท (ประเทศไทย) จำกัด ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. มีหนังสือแจ้งบริษัท อินโฟเน็ท (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อรับทราบเงื่อนไขเฉพาะในการอนุญาตตามข้อ 1 ทั้งนี้ โดยให้สำนักงานฯ ติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของบริษัทฯต่อไปด้วย โดยเฉพาะในประเด็นการมีโครงข่ายเป็นของตนเองหรือไม่ ซึ่งในอนาคตหากมีการเปลี่ยนแปลงเข้าข่ายใบอนุญาตแบบที่สามแล้ว บริษัทฯ ต้องดำเนินการเสนอขออนุญาตตามประกาศกำหนดต่อไป
3.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปพิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์การกำหนดเงื่อนไขมาตรฐานกลาง โดยศึกษา และรวบรวมข้อมูลเพื่อพิจารณารายละเอียดของเงื่อนไขเฉพาะ และภาคผนวกที่สมควรนำมากำหนดไว้ในเงื่อนไขมาตรฐานกลาง แต่ทั้งนี้หากจะมีการพิจารณากำหนดเงื่อนไขใดเพิ่มเติมจากเดิมแล้ว จะต้องไม่เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการ แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาต่อไป
ระเบียบวาระที่   4.23   :   การขอเพิ่มบริการ Video Conference ภายใต้ขอบเขตใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สอง ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ของบริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.   
มติที่ประชุม              
1.  อนุมัติให้บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด เพิ่มบริการระบบการจัดประชุมทางไกลด้วยภาพและเสียง (Video Conference) เพื่อให้บริการโทรคมนาคมในลักษณะจุดต่อจุด (Point to Point และจุดต่อหลายจุด Point to Multipoint) ภายใต้ขอบเขตของใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สอง   ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองซึ่งบริษัทฯ ได้รับอนุญาตไปแล้ว ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
2. เห็นชอบเป็นหลักปฏิบัติกรณีผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สอง ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ยื่นเรื่องขออนุญาตบริการเพิ่มเติม ให้ผู้รับใบอนุญาตชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมในส่วนที่อนุญาตเพิ่มเติมให้เป็นไปตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สอง ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเองกำหนดในอัตรา 25,000 บาท 
หมายเหตุ   กทช.สุธรรมฯ มีบันทึกที่  1336  ลงวันที่  2  กันยายน  2551  แจ้งความเห็นต่อมติที่ประชุม กทช.  ครั้งที่  30/2551  วาระที่  4.23  รายละเอียดปรากฏตามเอกสารที่แนบ
ระเบียบวาระที่   4.24   :   บริษัท ทรู อินเทอร์เน็ต เกตเวย์ จำกัด ขออนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สอง ที่มีโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเอง เพื่อให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างประเทศ  : ผชช.ศศ., รทช.พิทยาพลฯ, รทช.ประเสริฐฯ, ปก.
มติที่ประชุม              
1. มอบหมายให้สำนักงาน กทช. ไปจัดทำรายละเอียดข้อมูลปฏิทินการดำเนินงาน (Time Frame) การเปิดเสรีการให้บริการ IPLC ให้ชัดเจนก่อน โดยเฉพาะขั้นตอนการเตรียมการ และการกำหนดเวลาเพื่อยุติการยื่นคำขอรับใบอนุญาตเพื่อให้บริการ  IPLC พร้อมสรุปรวบรวมผลการทดลองทดสอบที่ผ่านมา รวมถึงขั้นตอนการจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์การอนุญาตการให้บริการ IPLC แล้วนำเสนอ กทช.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับการพิจารณาวาระนี้
2. ในการจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์การอนุญาตการให้บริการ IPLC นั้น มอบหมายให้สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปดำเนินการ โดยเชิญ บมจ.กสท โทรคมนาคม มาหารือร่วมกัน พร้อมนำรายงานผลการทดลองทดสอบ มาประมวลวิเคราะห์เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการจัดทำ แล้วเร่งนำเสนอร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ที่ประชุมพิจารณาโดยเร็วต่อไป
ระเบียบวาระที่   4.25   :   ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่   4.26   :   การขอเพิ่มการให้บริการวงจรส่วนบุคคลระหว่างประเทศ (International Private Leased Circuit (IPLC)) เพื่อการให้บริการโครงข่ายโทรคมนาคมและบริการโทรคมนาคม ภายใต้ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สอง ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง: รทช.ประเสริฐฯ, ปก.

มติที่ประชุม              
1. มอบหมายให้สำนักงาน กทช. ไปจัดทำรายละเอียดข้อมูลปฏิทินการดำเนินงาน (Time Frame) การเปิดเสรีการให้บริการ IPLC ให้ชัดเจนก่อน โดยเฉพาะขั้นตอนการเตรียมการ และการกำหนดเวลาเพื่อยุติการยื่นคำขอรับใบอนุญาตเพื่อให้บริการ IPLC พร้อมสรุปรวบรวมผลการทดลองทดสอบที่ผ่านมา รวมถึงขั้นตอนการจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์การอนุญาตการให้บริการ IPLC แล้วนำเสนอ กทช.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง พร้อมกับการพิจารณาวาระนี้
2. ในการจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์การอนุญาตการให้บริการ IPLC นั้น มอบหมายให้สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปดำเนินการ โดยเชิญ บมจ.กสท โทรคมนาคม มาหารือร่วมกัน พร้อมนำรายงานผลการทดลองทดสอบ มาประมวลวิเคราะห์เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาในการจัดทำ แล้วเร่งนำเสนอร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวให้ที่ประชุมพิจารณาโดยเร็วต่อไป
ระเบียบวาระที่   4.27 - 4.28   : ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่   4.29   :          การดำเนินการเกี่ยวกับการอนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว (WiMAX) : รทช.ประเสริฐฯ, ปก. 

มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบให้ยุติการขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว สำหรับเทคโนโลยี (WiMAX) โดยให้มีผลทันที ทั้งนี้ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช.จัดทำประกาศแจ้งให้ผู้เกี่ยวข้องทราบอย่างเป็นการโดยด่วนในวันที่ 22 สิงหาคม 2551 ทาง Website ของสำนักงาน กทช.
2. เห็นชอบให้ผู้ที่ได้รับอนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อการทดลองหรือทดสอบเทคโนโลยี WiMAX รายใหม่ที่ได้รับอนุญาตตั้งแต่วันที่ 30 มิถุนายน 2551 ถึงวันที่ 1 สิงหาคม 2551 ให้ดำเนินการดังนี้
1)  หยุดการใช้คลื่นความถี่เพื่อการทดลองหรือทดสอบดังกล่าว  ภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2551
2)  ดำเนินการส่งรายงานผลการทดลองหรือทดสอบฉบับสมบูรณ์ให้แก่สำนักงาน กทช. ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ใบอนุญาตหมดอายุ
     ทั้งนี้ ให้สำนักงาน กทช.ปรับปฏิทินการดำเนินงานจัดสรรคลื่นความถี่ WiMAX ตามที่เสนอมาใหม่ให้สอดคล้องกับกำหนดเวลาตาม 1) ด้วย
3.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. นำผลการทดลองทดสอบที่ได้จากผู้รับใบอนุญาตจำนวน 14 รายที่ดำเนินการแล้ว และที่กำลังจะเริ่มดำเนินการไปจนสิ้นสุดในเดือนพฤศจิกายน 2551 ประมวลจัดทำเป็นรายงานสรุปผลการทดลอง ทดสอบการใช้เทคโนโลยี (WiMAX)  แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาในการจัดทำแผนความถี่ WiMAX ให้แล้วเสร็จในเดือนธันวาคม 2551 ต่อไป
ระเบียบวาระที่   4.30   :   การขอขยายรัศมีทดลองหรือทดสอบการให้บริการ WiMAX ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบริษัท สามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.
มติที่ประชุม  ไม่อนุญาตให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และบริษัทสามารถเทลคอม จำกัด (มหาชน) ใช้คลื่นความถี่เพื่อดำเนินการทดลองทดสอบบริการเครือข่ายความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยีบรอดแบนด์ไร้สาย (Broadband Wireless Access) หรือ WiMAX บนโครงข่ายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง (Optical Fiber Network) เพิ่มเติมจากเงื่อนไขเดิมที่ได้รับอนุญาตโดยการขยายรัศมีทดลองหรือทดสอบการให้บริการ WiMAX ที่มีระยะทางเกินกว่าที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่เพื่อการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว ตามข้อเสนอ และข้อวิเคราะห์ความเป็นไปได้ทางเทคนิคของสำนักงาน กทช.ทั้งนี้ เนื่องจาก การนำเทคโนโลยี WiMAX มาทดลองทดสอบในลักษณะการเชื่อมโยงแบบประจำที่ มีลักษณะเหมือนกับการใช้งานความถี่วิทยุในลักษณะระบบ Microwave ซึ่งผิดวัตถุประสงค์ของการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อให้บริการ BWA และอาจไม่เหมาะสมสำหรับการเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ในอนาคต เนื่องจากเป็นการสิ้นเปลืองทรัพยากรคลื่นความถี่ และทำให้พื้นที่ใช้งานในลักษณะดังกล่าวถูกจำกัดด้วยจำนวนของผู้ประกอบการรายเดียวได้
ระเบียบวาระที่   4.31  :   การขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการทดลองหรือทดสอบ WiMAX จำนวน 4 ราย : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.
  • บริษัท ไออีซี เทคโนโลยี จำกัด
  • บริษัท วิน วิน เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด
  • บริษัท มิลคอมซิสเต็มซ์ จำกัด
  • บริษัท อีซี ซิสเต็ม เทเลคอม จำกัด
มติที่ประชุม            
1.  อนุมัติโครงการทดลองทดสอบอุปกรณ์/ระบบบรอดแบนด์ ไร้สายความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยี WiMAX เป็นการชั่วคราวของผู้รับใบอนุญาตฯ จำนวน 4 ราย ตามที่ สำนักงาน กทช. เสนอ โดยมีระยะเวลาการอนุญาต 3 เดือนนับแต่วันที่ได้รับอนุญาต และเมื่อสิ้นสุดแล้วจะไม่มีการขยายเวลาเพื่อต่ออายุใบอนุญาตให้อีก ได้แก่
  • บริษัท ไออีซี เทคโนโลยี จำกัด
  • บริษัท วิน วิน เน็ต คอร์ปอเรชั่น จำกัด
  • บริษัท มิลคอมซิสเต็มซ์ จำกัด
  • บริษัท อีซี ซิสเต็ม เทเลคอม จำกัด
2.  ไม่อนุญาตให้บริษัท มิลคอมซิสเต็มซ์ จำกัด และบริษัท อีซี ซิสเต็มเทเลคอม จำกัด ใช้ความถี่วิทยุย่าน 3.3 GHz และ 3.5 GHz สำหรับการทดลอง/ทดสอบ โครงการ เนื่องจากไม่เป็นไปตามมติ หลักการของ กทช. เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2550 ในการจัดสรรช่วงความถี่สำหรับทดลองหรือทดสอบการให้บริการ Broadband Wireless Access เป็นการชั่วคราวสำหรับผู้ขอรับใบอนุญาต
3. มอบหมายให้สำนักงาน กทช. เชิญบริษัททั้ง 4 รายดังกล่าวมาหารือเพื่อยืนยันให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งว่า ยังประสงค์จะดำเนินโครงการทดลองทดสอบ WiMAX เป็นระยะเวลา 3 เดือนตามที่ได้รับอนุมัติต่อไปอีกหรือไม่ เนื่องจากมีผู้รับใบอนุญาตทดลองทดสอบในลักษณะเดียวกันนี้จำนวนหลายรายที่ได้ดำเนินการไปแล้วก่อนหน้านี้ และมีการจัดทำข้อมูลผลการทดลองทดสอบรายงานให้สำนักงานฯ ทราบทุกราย ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการศึกษาอ้างอิงได้โดยบริษัททั้ง 4 รายดังกล่าวไม่จำเป็นต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการทดลองทดสอบอีก
 
ระเบียบวาระที่   4.32 – 4.38  ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่   4.39    :       การพิจารณากำหนดเบี้ยประชุมของคณะกรรมการกำกับดูแลการสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุคมนาคมประจำเรือ : รทช.ประเสริฐฯ, ฉก.


มติที่ประชุม               เห็นชอบการพิจารณากำหนดเบี้ยประชุมของคณะกรรมการกำกับดูแลการสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุคมนาคมประจำเรือ และประเภทจำกัดเขตเดินเรือทะเล ซึ่งเป็นไปตามระเบียบ กทช. ว่าด้วยวิธีการประชุมของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการและค่าตอบแทน พ.ศ.2551 ข้อ 18, 20,  23 และ 25 ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ ดังนี้
1. กรรมการที่เป็นบุคคลภายนอก ประกอบด้วย พ.ต.อ.พีระ ฐิตตะคูโน และนายดฤษพงษ์ กองอังกาพ ให้ได้รับเบี้ยประชุมครั้งละ 3,000 บาท
2. กรรมการ เลขานุการ หรือผู้ช่วยเลขานุการ ที่เป็นพนักงานของสำนักงาน กทช. ให้ได้รับเบี้ยประชุมในอัตรา 1,000 บาท
3. ประธานกรรมการให้ได้รับเบี้ยประชุมเพิ่มขึ้นอีก 1 ใน 4 ของเบี้ยประชุมที่มีสิทธิได้รับ รวมเป็น 1,250 บาท
                                 ทั้งนี้ กรณีอัตราเบี้ยประชุมสำหรับกรรมการ เลขานุการหรือผู้ช่วยเลขานุการที่กำหนดไว้แล้วตามระเบียบเดิมก่อนวันที่ระเบียบ กทช. ว่าด้วยวิธีการประชุมของคณะกรรมการฯ พ.ศ.2551 ใช้บังคับให้ใช้อัตรานั้นต่อไปจนกว่าวาระของกรรมการจะสิ้นสุดลง เว้นแต่อัตราเบี้ยประชุมตามระเบียบ กทช. ว่าด้วยวิธีการประชุมของคณะกรรมการฯ พ.ศ.2551 สูงกว่า ให้ใช้อัตราเบี้ยประชุมตามระเบียบนี้แทน

ระเบียบวาระที่   4.40   :   ค่าตอบแทนคณะกรรมการประเมินผลการทดลองหรือทดสอบ WiMAX  : รทช.ทศพรฯ, วท.

มติที่ประชุม              
1.  อนุมัติค่าตอบแทนคณะกรรมการประเมินผลการทดลองหรือสอบ WiMAX 3 คณะ ในส่วนประธานกรรมการ และกรรมการ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ตามระเบียบ กทช. ว่าด้วยวิธีการประชุมของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการและค่าตอบแทน พ.ศ.2551 ข้อ 18 (1) (ค)  และข้อ 20 ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ ดังนี้
1.1 ในส่วนประธานกรรมการ ได้แก่ 1) ศจ.ดร.ถวิล พึ่งมา 2) รศ.ดร.วาทิต เบญจพลกุล และ 3) ผศ.ดร.สุภาวดี อร่ามวิทย์ ให้ได้รับเบี้ยประชุมครั้งละ 6,250 บาท
1.2 สำหรับกรรมการ ได้แก่ 1) ผศ.ดร.ทับทิม อ่างแก้ว 2) ผศ.ดร.จิตรเกษม งามนิล 3) รศ.ดร.อธิคม ฤกษบุตร 4) ผศ.ดร.สถาพร ลักษณะเจริญ และ 5) ดร.สถาพร พรหมวงศ์  ให้ได้รับเบี้ยประชุมครั้งละ 5,000 บาท
2.  อนุมัติค่าตอบแทนกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ซึ่งเป็นพนักงานสำนักงาน กทช. จำนวน 2 ราย ได้แก่ 1) น.ส.ศิริรักษ์  เสมาเงิน TRIDI  และ2) น.ส.วีณา  จ่างเจริญ  ส่วนงานเลขานุการ กทช. เหรียญชัยฯ ในอัตราครั้งละ 1,000 บาท ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อ 23 ของระเบียบ กทช. ว่าด้วยวิธีการประชุมของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการและค่าตอบแทน พ.ศ.2551
3.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ระเบียบ กทช. ว่าด้วยวิธีการประชุมของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการและค่าตอบแทน พ.ศ.2551 ข้อ 23 กรณีการได้รับเบี้ยประชุมของพนักงานสำนักงาน กทช. ที่จะต้องได้รับอนุมัติจาก กทช.เป็นกรณีๆไป นั้น สมควรแก้ไขให้เหมาะสม และมีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น โดยในการพิจารณาดังกล่าว ให้เป็นดุลพินิจของ ลทช.แทน ไม่จำเป็นต้อง ได้รับอนุมัติจาก กทช. ทั้งนี้ ให้นำร่างระเบียบ กทช. ว่าด้วยวิธีการประชุมของคณะกรรมการฯ ที่แก้ไขปรับปรุงในประเด็นดังกล่าวแล้วเสนอ กทช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ระเบียบวาระที่   4.41 – 4.42  ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่   4.43    :      ขอเปลี่ยนเลขานุการคณะอนุกรรมการศึกษาและจัดทำข้อมูลเพื่อประเมินสถานะการใช้คลื่นความถี่ : คณะกรรมการฯ จัดสรรคลื่นความถี่ใหม่, รทช.ทศพรฯ, อตว. 


มติที่ประชุม               เห็นชอบให้เปลี่ยนแปลงเลขานุการคณะอนุกรรมการศึกษาและจัดทำข้อมูลเพื่อประเมินสถานการณ์ใช้คลื่นความถี่ จากนางนุสรา ชูกุล เป็น นายนิรันดร์ ทับศรี ตามที่คณะกรรมการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่เสนอ
 
ระเบียบวาระที่   5     :   เรื่องเพื่อทราบ
ระเบียบวาระที่   5.1  :   ค่าใช้จ่ายในการจัดนิทรรศการ Thailand Pavilion ของงาน ITU Telecom Asia 2008 : รทช.ฐากรฯ, ปต.


มติที่ประชุม                รับทราบรายละเอียดการดำเนินงานจัดนิทรรศการ Thailand Pavilion งาน ITU Telecom Asia 2008 ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ ดังนี้
1.  ข้อมูลค่าใช้จ่ายในการเช่าพื้นที่จัดนิทรรศการ Thailand Pavilion 
2.  การแต่งตั้งคณะทำงานอำนวยการจัดนิทรรศการ Thailand Pavilion และคณะทำงานจัดทำขอบเขตและเนื้อหาสาระของการจัดนิทรรศการ Thailand Pavilion
3.  การจัดจ้างบริษัท โอเวชั่น สตูดิโอ จำกัด เป็นผู้จัดนิทรรศการ

ระเบียบวาระที่   5.2   :   ตรวจสอบระเบียบ ประกาศ กทช. ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หรือไม่ : รทช.พิทยาพลฯ, กม.

มติที่ประชุม                รับทราบผลการตรวจสอบระเบียบ ประกาศ กทช. ขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 หรือไม่ ซึ่งสำนักงาน กทช. ได้ดำเนินการตามมติที่ประชุม ครั้งที่ 19/2551 เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2551 พบว่าประกาศ กทช. ว่าด้วยการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และการให้ผู้อื่นร่วมใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2550 ไม่มีข้อความใดขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.3  :   การจัดส่งเรื่องขอให้ยุติการจับกุมวิทยุชุมชนของสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ : ลทช., กก.

มติที่ประชุม              
1.  รับทราบหนังสือข้อร้องเรียนของสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ (สววช.) ที่ขอให้ กทช. ยุติการจับกุมและดำเนินคดีกับประชาชนที่ดำเนินการสถานีวิทยุชุมชนทั่วประเทศฯ และคืนเครื่องส่งวิทยุพร้อมอุปกรณ์ รวมทั้งเร่งรัดการออกใบอนุญาตให้แก่ภาคประชาชนที่ดำเนินการวิทยุชุมชนในขณะนี้ ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ
2. รับทราบการดำเนินงานของสำนักงาน กทช. ซึ่งได้มีหนังสือแจ้งเรื่องร้องเรียนตามข้อ 1 ให้ประธานอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เพื่อพิจารณา และการแจ้งตอบสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.4   :   รายงานข้อมูลของสถานีวิทยุชุมชนประจำเดือนกรกฎาคม 2551 : รทช.ประเสริฐ, กท.

มติที่ประชุม                 รับทราบรายงานสรุปข้อมูลสถานะความเคลื่อนไหวของวิทยุชุมชน และข้อมูลสถิติ ระดับความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดจากวิทยุชุมชน ในกรณีที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อการรบกวนวิทยุการบิน ประจำเดือนกรกฎาคม 2551 ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.5   :   การประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเรื่องการค้าบริการและการลงทุนฝ่ายอาเซียนภายใต้กรอบ ASEAN-EU FTA : รทช.จิราพรฯ, รศ.

มติที่ประชุม                 รับทราบการส่งผู้แทนสำนักงาน กทช. เข้าร่วมการประชุมกลุ่มผู้เชี่ยวชาญเรื่องการค้าบริการและการลงทุนฝ่ายอาเซียนภายใต้  กรอบ ASEAN-EU FTA ระหว่างวันที่ 22 – 24 กันยายน 2551   ณ โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ กรุงเทพฯ ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.6   :   โครงการความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ความถี่วิทยุ : รทช.จิราพรฯ, ศฐ.

มติที่ประชุม                 รับทราบผลการศึกษาตามโครงการความร่วมมือทางวิชาการ เรื่อง การกำหนดค่าธรรมเนียมการใช้ความถี่วิทยุ ระยะที่ 2 ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ
 
ระเบียบวาระที่   6      :   เรื่องอื่นๆ (ถ้ามี)
ระเบียบวาระที่   6.1   :   โครงการสัมมนา 3G Applications Series 2 : เรื่อง “การให้บริการโทรทัศน์มือถือ” (Mobile TV) : กทช.ประสิทธิ์ฯ


มติที่ประชุม                อนุมัติในหลักการให้ดำเนินโครงการสัมมนา 3G Application Series 2 : เรื่อง “การให้บริการโทรศัพท์มือถือ” (Mobile TV) ในวันศุกร์ที่    3 ตุลาคม 2551 ณ อาคารหอประชุมสำนักงาน กทช. ภายใต้กรอบวงเงินค่าใช้จ่ายจำนวน 350,000 บาท ตามที่ กทช.ประสิทธิ์ฯ เสนอ ทั้งนี้ โดยให้รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมประกอบการพิจารณาดำเนินการให้เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป ดังนี้
1. เนื่องจากหัวข้อ และเนื้อหาของการสัมมนาดังกล่าว เป็นประเด็นที่อ่อนไหว (Sensitive) ต่อผู้เกี่ยวข้องที่อาจเข้าใจคาดเคลื่อนไปว่า กทช.กำลังก้าวล่วงการดำเนินการไปในด้าน Broadcasting จึงต้องระมัดระวัง ทั้งนี้ โดย
1.1 อาจพิจารณาปรับเปลี่ยนชื่อโครงการสัมมนาให้มีความเหมาะสมยิ่งขึ้น เป็นโครงการสัมมนา Mobile Broadband ที่เน้น Broadband Wireless Access Application ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเทคโนโลยี 3 G และพิจารณาเพิ่มเติมหัวข้อการบรรยาย ในเรื่องข้อดีข้อเสียของการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ต่อสังคมไทย (Social Impact) ให้น่าสนใจยิ่งขึ้น
1.2 หรือพิจารณาปรับเปลี่ยนเจ้าภาพการจัดสัมมนาเป็น คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดย กทช.เป็นผู้สนับสนุนแทน
2. Session การอภิปรายในภาคบ่าย ซึ่งกำหนดให้มีผู้ร่วมอภิปรายทั้งจากต่างประเทศ และคนไทย นั้น น่าจะพิจารณปรับเปลี่ยนให้เป็นคนไทยทั้งหมดจะเหมาะสม และสะดวกต่อการดำเนินการอภิปรายมากกว่า

ระเบียบวาระที่   6.2   :   ความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. .... (ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ)) : คณะกรรมการพิจารณาเสนอความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. .... (ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ))

มติที่ประชุม              
1.  รับทราบเบื้องต้นความเห็นของคณะกรรมการพิจารณาเสนอความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. .... (ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ)) ที่มีต่อร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. .... (ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ)) ตามที่คณะกรรมการพิจารณาเสนอความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. .... (ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ)) เสนอ ทั้งนี้ ขอให้ กทช.รับไปศึกษาในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม (ถ้ามี) โดยมอบหมายให้ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย(พลเอกชูชาติฯ) เป็นผู้ประสานงาน
2.  มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการฯ รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการต่อไป ดังนี้
2.1 ปรับปรุงเนื้อหาในบางประเด็นเพิ่มเติม รวมทั้งการใช้ถ้อยคำ(Terminology) ให้ชัดเจน และเหมาะสมยิ่งขึ้น อาทิ รายละเอียด เกี่ยวกับกองทุนที่จะจัดตั้งขึ้นใหม่แทนกองทุนเดิมตามที่ระบุไว้ในมาตรา 36 และความเหมาะสมของการใช้ถ้อยคำระหว่างคำว่า   “การประกอบกิจการกระจายเสียง และโทรทัศน์” กับ “การประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์” เป็นต้น
2.2 ภายหลังการรับข้อคิดเห็น กทช.(เพิ่มเติม) มาปรับปรุงแก้ไขร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. .... (ฉบับที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ)) แล้วเสร็จ ให้จัดประชุมเป็น Forum สำหรับ กทช.เพื่อนำเสนอประเด็นความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ดังกล่าวโดยเชิญผู้เกี่ยวข้อง และสื่อมวลชน มาร่วมรับฟัง และให้ข้อคิดเห็น เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการจัดทำรายงานความเห็นฉบับสมบูรณ์จัดส่งให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร คณะรัฐมนตรีและรัฐสภาพิจารณาต่อไป

ระเบียบวาระที่   6.3  :   ขอแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการศูนย์ทางไกลเพื่อพัฒนาการศึกษาและพัฒนาชนบทเฉลิมพระเกียรติในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : กทช.เศรษฐพรฯ, กจ., ทถ.

มติที่ประชุม                
1.  อนุมัติแต่งตั้งคณะกรรมการจำนวน 1 คณะได้แก่ คณะกรรมการดำเนินการโครงการศูนย์ทางไกลเพื่อพัฒนาการศึกษาและพัฒนาชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (Project Implementing Committee) เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ สำหรับคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ อีกคณะหนึ่งที่เสนอมาด้วยนั้น ไม่จำเป็นต้องแต่งตั้ง ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการดำเนินการโครงการฯ รายงานผลการดำเนินงาน และ/หรือเสนอเรื่องต่างๆ ต่อ กทช.ได้โดยตรง
2. มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการให้เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป ดังนี้
1)  ให้แก้ไขปรับปรุงองค์ประกอบคณะกรรมการดำเนินการโครงการฯ
  • ปรับเปลี่ยนประธานกรรมการ ใหม่ เป็น  รทช.นิศกรฯ
  • ปรับเปลี่ยนกรรมการและเลขานุการ (12) เป็นผู้อำนวยการสำนักการบริการอย่างทั่วถึง สำหรับกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ให้ รทช.นิศกร เป็นผู้พิจารณาตามความเหมาะสม 
  • แก้ไข (3) กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เป็น กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที หรือผู้แทน
2)  นำอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับดูแลโครงการฯ ที่เสนอมาด้วย นั้น มาพิจารณาปรับรวมเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการดำเนินการโครงการฯ ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น อาทิ การกำกับดูแลการดำเนินงานตามโครงการฯ การกำกับดูแลการบริหารและควบคุมงบประมาณโครงการ เป็นต้น
3)  โอนงานการดำเนินการโครงการนี้ให้สำนักการบริการอย่างทั่วถึง เป็นหน่วยงานรับผิดชอบหลักต่อไป

ระเบียบวาระที่   6.4  :   การขออนุญาตเลื่อนเวลาออกอากาศข่าวในพระราชสำนัก : ลทช. 

มติที่ประชุม                
1.  รับทราบเรื่อง กรมประชาสัมพันธ์แจ้งการขออนุญาตเลื่อนเวลาออกอากาศข่าวในพระราชสำนักวันที่ 8 และ 24 สิงหาคม 2551 ของ สถานีวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
2.  เห็นชอบ และมอบหมายให้สำนักงาน กทช.มีหนังสือแจ้งตอบกรมประชาสัมพันธ์ตามความเห็นที่เสนอได้ต่อไป ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า เนื่องจากเรื่องดังกล่าวหากเป็นการดำเนินการตามขอบเขตเดิมที่กรมประชาสัมพันธ์เคยได้รับอยู่ก่อน พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับ จึงเป็นเรื่องที่กรมประชาสัมพันธ์จะต้องดำเนินการโดยไม่เกินขอบเขตที่มีอยู่แต่เดิมต่อไป จนกว่าจะมีแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์บังคับใช้
 
ระเบียบวาระที่   6.5   :   ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ฯ วุฒิสภา : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.

มติที่ประชุม              
1.  รับทราบข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในประเด็นผลกระทบที่เกิดจากความล่าช้าในการออกใบอนุญาตประกอบกิจการสื่อสารไร้สาย (3G และ WiMAX) ของคณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. มีหนังสือแจ้งตอบ และชี้แจงให้คณะกรรมาธิการวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา ได้รับทราบในรายละเอียดผลการดำเนินงานเรื่อง 3G และ WiMAX ของสำนักงาน กทช. ตามข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในแต่ละประเด็นของคณะกรรมาธิการฯ ต่อไป

ระเบียบวาระที่   6.6  :   ขออนุมัติโครงการจัดซื้อระบบบริหารความถี่วิทยุอัตโนมัติ : รทช.ประเสริฐฯ, คณะทำงานเพื่อเตรียมการโครงการจัดซื้อระบบบริหารความถี่วิทยุ

มติที่ประชุม              
1. เห็นชอบโครงการจัดซื้อระบบบริหารความถี่วิทยุอัตโนมัติ โดยการจัดซื้อด้วยวิธีพิเศษกับเจ้าของผลิตภัณฑ์โดยตรง และเบิกจ่ายจากงบประมาณของสำนักงาน กทช.จำนวน 74.37 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วย งบประมาณ ประจำปี 2549 ซึ่งกันเหลื่อมปี จำนวน 51.147 ล้านบาท และงบประมาณประจำปี 2551 จำนวน 23.223 ล้านบาท ระยะเวลา 180 วัน รายละเอียดปรากฎตามเอกสารขอบเขตของงาน (Terms of Reference : TOR)  ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ
                                  ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวเป็นไปตามข้อ 19 (5) แห่งระเบียบ กทช. ว่าด้วยการพัสดุ พ.ศ.2548 และแก้ไขเพิ่มเติม, ระเบียบ กทช.ว่าด้วยการงบประมาณ พ.ศ.2548 และแก้ไขเพิ่มเติม รวมทั้งมติ กทช.ครั้งที่ 4/2551 เมื่อวันที่ 31 มกราคม 2551  โดยมอบหมายให้อยู่ในความรับผิดชอบของ ลทช. และคณะกรรมการบริหารโครงการฯ ตามคำสั่งสำนักงาน กทช. ที่ 58/2551 เพื่อดำเนินงานโครงการฯซึ่งเป็นเรื่องต่อเนื่องมาตั้งแต่กรมไปรษณีย์โทรเลข และประสบปัญหาล่าช้ามานานให้แล้วเสร็จได้เรียบร้อยต่อไป 
2. มอบหมายให้สำนักงาน กทช.รับข้อสังเกตของที่ประชุมไปดำเนินการเพื่อให้เกิดความรอบคอบมากยิ่งขึ้น โดยให้ดำเนินการบริหารสัญญาเดิมกับบริษัท ดาต้าแมทซ์ จำกัด (มหาชน) ด้วยความระมัดระวัง เพื่อมิให้เกิดผลกระทบ และสามารถรักษาสิทธิการเรียกร้องค่าเสียหายได้อย่างเหมาะสม และครบถ้วนถูกต้อง ทั้งนี้ ขอให้หารือผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย (พลเอกชูชาติฯ) ในรายละเอียดข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับประเด็นดังกล่าวด้วย

สร้างโดย  -   (21/3/2559 10:06:57)

Download

Page views: 99