สรุปมติที่ประชุม กทช. 19/2553

มติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
  ครั้งที่ 19/2553
วันเสาร์ที่  3  กรกฎาคม  2553   เวลา  10.00  น.
    ณ ห้องประชุม ชั้น 12 อาคารอำนวยการ
สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
 

ผู้เข้าประชุม
คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

1.  ศาสตราจารย์ประสิทธิ์              ประพิณมงคลการ              ประธาน กทช.
2.  นายสุชาติ                             สุชาติเวชภูมิ                     กรรมการ  
3.  รองศาสตราจารย์สุธรรม           อยู่ในธรรม                       กรรมการ
4.  รองศาสตราจารย์พนา              ทองมีอาคม                      กรรมการ
5.  พันเอกนที                            ศุกลรัตน์                          กรรมการ 
6.  นายบัณฑูร                           สุภัควณิช                         กรรมการ
7.  นายฐากร                             ตัณฑสิทธิ์                        รองเลขาธิการรักษาการในตำแหน่ง ลทช.
 
ระเบียบวาระที่   1  :   เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
1.  ขอบคุณทุกท่านที่มาร่วมประชุมในวันนี้ ซึ่งเป็นวันหยุดที่ปกติจะใช้เวลาอยู่กับครอบครัว โดยจะเป็นการประชุมนัดพิเศษ เรื่อง IMT หรือ 3G and beyond อยู่ใน Roadmap ซึ่งที่ประชุม กทช. ได้มีการพิจารณามาหลายครั้งแล้ว เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และจะได้มีการนำเสนอที่ประชุม กทช. ต่อเนื่องในครั้งต่อๆ ไป เพื่อให้ กทช. ได้รับทราบและพิจารณาในประเด็นต่างๆ จนแล้วเสร็จ
2.  ผมได้มีโอกาสพบกับผู้ช่วยรัฐมนตรี (Mr.Akira Terasaki, Vice Minister, Minister of Internal Affairs and Communications : MIC) ซึ่งเป็นสายตรงขึ้นมาจาก Ministry of Post and Telecommunication และเป็นอธิบดีกรมยุทธศาสตร์โทรคมนาคมของประเทศญี่ปุ่น ที่มีความสนใจเรื่อง Broadcasting และสนใจมาบรรยายในระหว่างวันที่ 12 – 13 กรกฎาคม 2553 ซึ่งก็ได้เชิญ กทช.พนาฯ ทำหน้าที่เป็นประธาน Panel Discussion และ กทช.สุธรรมฯ ทำหน้าที่ Moderator รวมทั้งในวันที่ 12 กรกฎาคม จะมีการเลี้ยงอาหารค่ำวิทยากรไทย และวิทยากรต่างประเทศ จึงขอเชิญ กทช. ทุกท่านเข้าร่วมงานด้วย
3.  ในการจัดสัมมนา Digital Broadcasting นอกจากจะมีการบรรยาย Broadcasting แล้วยังมีเรื่องการกำกับดูแลการปรับเปลี่ยนจาก Analog TV เป็น Digital TV โดยวิทยากรจะถ่ายทอดประสบการณ์ ซึ่งก็เห็นว่าจะเป็นประโยชน์กับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ก็จะเชิญ Mr.Snith  Xaphakdy, Director General, Department of Planning and Cooperation, องค์การไปรษณีย์และโทรคมนาคมแห่งชาติ (National Authority of Posts and Telecommunications – NAPT) มาเข้าร่วม ซึ่งจะนำเสนอในวาระที่ 4.2 เพื่อขออนุมัติที่ประชุมเชิญ Mr.Snith โดยใช้งบประมาณในการจัดสัมมนาที่มีอยู่

หมายเหตุ                    ที่ประชุมได้มีการอภิปรายและแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ รวมทั้งได้หยิบยกประเด็นอื่นๆ ขึ้นหารือในระหว่างวาระนี้ สรุปได้คือ
4.  กทช.พนาฯ ได้เสนอข้อคิดเห็นว่าการจัดประชุม กทช. นัดพิเศษ เรื่อง IMT หรือ 3G and beyond ในวันเสาร์นี้ ได้มีการแจ้งให้ทราบล่วงหน้า ขอให้เป็นการประชุม กทช. ตามปกติ (การประชุม กทช. ครั้งที่ 19/2553) โดยไม่ต้องระบุว่าเป็นการประชุมนัดพิเศษ เพราะเรื่อง 3G เป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่อการพัฒนาเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคมของประเทศ กระตุ้นให้เกิดการลงทุนและการขยายตัวด้านการแข่งขัน และเกิดประโยชน์กับประชาชน กทช. จึงต้องเร่งดำเนินการเรื่อง 3G ให้สำเร็จลุล่วง
5.  กทช.บัณฑูรฯ ได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า การประชุม กทช. ในวันนี้มีเหตุผลเนื่องจากเป็นนโยบายสำคัญที่เป็นเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของ กทช. ชุดนี้ที่ตั้งไว้ ซึ่งได้มอบหมายให้ กทช.พันเอกนทีฯ เป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ และนำมาเสนอที่ประชุม กทช. เพื่อให้เกิดความรอบคอบ
6.  กทช.พนาฯ ได้รายงานผลการเข้าร่วมประชุม 18th ITS Biennial  Conference 2010 ณ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งได้รับฟังทัศนะและวิสัยทัศน์ในมุมมองของอนาคต นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง นอกจากนี้ ที่ประชุม 18th ITS Biennial Conference 2010 ได้เห็นชอบให้สำนักงาน กทช. เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนา ๑๙th ITS Biennial Conference 2010 ที่จังหวัดภูเก็ต ในอีก 2 ปีข้างหน้า (ปี 2012) ซึ่งสำนักงาน กทช. จะต้องเตรียมการเป็นอย่างดี เพราะจะเป็นภาพลักษณ์ และการแสดงผลงานที่โดดเด่น (Show Case) ของประเทศ

มติที่ประชุม              
1.  รับทราบเรื่องตามที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ และมอบหมายให้สำนักงาน กทช. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2.  เห็นชอบให้การประชุม กทช. ในวันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม 2553 เป็นการประชุม กทช. ครั้งที่ 19/2553 ตามปกติ ตามข้อคิดเห็นของ กทช.พนาฯ 
3.  รับทราบสรุปผลการเข้าร่วมประชุม 18th ITS Biennial Conference 2010 ซึ่งในที่ประชุมดังกล่าวข้างต้น ได้เห็นชอบให้สำนักงาน กทช. เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนา 19th ITS Biennial Conference 2012 ที่จังหวัดภูเก็ต ตามที่ กทช.พนาฯ ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบ
 
ระเบียบวาระที่   2     :  เรื่องรับรองรายงานการประชุม กทช.   
ระเบียบวาระที่  2.1   :  รับรองรายงานการประชุม กทช. ครั้งที่ 17/253 วันพุธที่ 23 มิถุนายน 2553


มติที่ประชุม            เห็นชอบให้นำระเบียบวาระที่ 2.1 รับรองรายงานการประชุม กทช. ครั้งที่ 17/2553 วันพุธที่ 23 มิถุนายน 2553 เสนอที่ประชุม กทช. พิจารณารับรองในการประชุมครั้งต่อไป (วันพุธที่ 14 กรกฎาคม 2553) เมื่อ กทช. เข้าประชุมครบ 7 คน

หมายเหตุ                   กทช.บัณฑูรฯ แจ้งขอแก้ไขข้อความในหน้า 4 ข้อ 8 บรรทัดที่ 2 ใหม่เป็น 

ดังนี้ “8. กทช.บัณฑูรฯ ได้เสนอแนวทางปฏิบัติกรณีที่ กทช.ทั้งคณะมีภารกิจที่จะต้องไปปฏิบัติงานนอกสถานที่บางครั้ง เห็นควรให้มีการหารือในรายละเอียด สำนักงาน กทช. ประสานงานข้อมูลในรายละเอียด.......”

ระเบียบวาระที่   2.2    :   การพิจารณารับรองรายงานการประชุม  กทช. ครั้งที่ 15/2553 เฉพาะระเบียบวาระที่ 4.2 ข้อ 1.3

มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบให้นำระเบียบวาระที่ 2.2 การพิจารณารับรองรายงานการประชุม กทช. ครั้งที่ 15/2553 เฉพาะระเบียบวาระที่ 4.2 ข้อ 1.3 เสนอที่ประชุม กทช. พิจารณารับรองในการประชุมครั้งต่อไป (วันพุธที่ 14 กรกฎาคม 2553) เมื่อ กทช. เข้าประชุมครบ 7 คน 
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. จัดทำ Chart แสดงข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณาของที่ประชุมให้ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วยว่า ประธาน กทช. จะต้องลงนามในหนังสือหรือเอกสารประเภทใดบ้าง
 
ระเบียบวาระที่   3   :    รายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 18/2553 วันพุธที่ 30 มิถุนายน 2553

มติที่ประชุม               เห็นชอบให้นำระเบียบวาระที่ 3 เรื่อง รายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 18/2553 วันพุธที่ 30 มิถุนายน 2553 เสนอที่ประชุม กทช. รับทราบในการประชุมครั้งต่อไป
 

ระเบียบวาระที่  4     :  เรื่องเพื่อพิจารณา   
ระเบียบวาระที่  4.1  :  หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz : กทช.พันเอกนทีฯ, คณะกรรมการเพื่อการอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT หรือ 3G and beyond


มติที่ประชุม              เห็นชอบรายงานผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz และร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz และข้อสรุปสารสนเทศ รวมทั้งแนวทางและระยะเวลาการดำเนินการตามที่ กทช.พันเอกนทีฯ และคณะกรรมการเพื่อการอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT หรือ 3G and beyond เสนอ พร้อมทั้งมอบหมายให้ กทช.พันเอกนทีฯ กทช.สุธรรมฯ และ กทช.บัณฑูรฯ ปรับแก้รายละเอียดในประเด็นต่างๆ ให้สอดคล้องตามข้อสังเกตของที่ประชุม ก่อนนำไปเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงาน กทช. ในวันที่  5 กรกฎาคม 2553 และดำเนินการตามกระบวนการที่เกี่ยวข้องต่อไป อาทิ
  • ในเรื่อง การกำหนดเงื่อนไขสำหรับผู้รับใบอนุญาต ควรยึดหลักการการใช้ทรัพยากรสื่อสารอย่างคุ้มค่า และเป็นธรรม โดยเมื่อผู้ประกอบกิจการที่มีความถี่อยู่เดิมแล้ว (Incumbents) เช่น 800 หรือ 900 MHz เมื่อประมูลได้คลื่นความถี่ใหม่ย่าน 2.1 GHz ไปแล้วต้องสละสิทธิการใช้หรือคืนคลื่นความถี่เดิม ซึ่งโดยวิธีนี้จะไม่กระทบต่อสัญญาสัมปทานที่มีอยู่เดิม (Revenue Sharing เหมือนเดิม รัฐบาล บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม ไม่เสียประโยชน์) และจะส่งผลให้เกิดผู้แข่งขันรายใหม่ โดยมีคลื่นความถี่สำหรับผู้ให้บริการรายอื่นๆ ได้ใช้งาน ทำให้เพิ่มการแข่งขันโดย Incumbents รายเดิมไม่เสียประโยชน์
  • ในเรื่องมาตรการบังคับ ข้อ 2) เรื่องการชำระค่าปรับ ควรระบุเป็นตัวเลขจำนวนเต็มตามอัตราที่กฎหมายปกครองกำหนดไว้ให้ชัดเจนได้
  • ในเรื่องการชำระเงินค่าประมูลความถี่ ควรพิจารณาในประเด็นข้อกฎหมายด้วยว่าหากล่าช้าหรือไม่สามารถจัดเก็บได้ จะเกิดผลกระทบอย่างไรตามมา 
  • ควรศึกษาพิจารณาถึงโครงสร้างตลาดในอนาคตว่าจะเป็นอย่างไร รวมทั้งกรณีของการให้บริการบนโครงข่าย 2G เดิมจะได้รับผลกระทบอย่างไร เป็นต้น และกรณีการให้บริการในย่านความถี่ 2.1 GHz นั้น นอกจากจะเป็นการให้บริการด้านสื่อสารโทรคมนาคมและสารสนเทศแล้ว การให้บริการในย่านความถี่ดังกล่าว ยังสามารถให้บริการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย (Mobile Internet Broadband) ได้อีกด้วย ประกอบกับได้มีมติ กทช. เห็นชอบให้ระบุเป็นเงื่อนไขห้ามให้บริการที่เกี่ยวข้องกับกิจการ Broadcasting ที่มีลักษณะเป็นกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ล่าสุด กทช. มีมติเมื่อวันที่ ๑๒ พฤษภาคม 2553 ให้บริษัท ไวฟาย เน็ตเทค ดอทคอม จำกัด ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่หนึ่ง ประเภทบริการขายต่อบริการอินเทอร์เน็ต (WiFi) โดยกำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า การอนุญาตดังกล่าวต้องไม่ใช่การให้บริการ Broadcasting ซึ่งอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับอื่นที่คณะกรรมการไม่มีอำนาจโดยตรงตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ ดังนั้น กรณีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz ควรให้สำนักงาน กทช. พิจารณานำเสนอเพื่อกำหนดเงื่อนไขในใบอนุญาตการให้บริการในย่านความถี่ 2.1 GHz ต่อไป
  • เมื่อศึกษาผลกระทบทางกำกับดูแลและความเห็นของผู้ตอบสนองต่อเว็บไซต์ของสำนักงาน กทช. แล้วให้นำเข้าที่ประชุม กทช. เพื่อพิจารณาต่อไป
  • ที่ประชุมให้ทำรายงานการประชุมรายละเอียดของ IMT ด้วย
ระเบียบวาระที่   4.2   :   ขอเชิญผู้แทนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเข้าร่วมการสัมมนา เรื่อง “Digital Broadcasting” วันที่ 12 – 13 กรกฎาคม 2553 : ประธาน กทช.

มติที่ประชุม                เห็นชอบให้เชิญผู้แทนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว Mr.Snith  Xaphakdy, Director General, Department of Planning and Cooperation, องค์การไปรษณีย์และโทรคมนาคมแห่งชาติ (National Authority of Posts and Telecommunications – NAPT) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือผู้แทน เข้าร่วมการสัมมนาเรื่อง “Digital Broadcasting” ในวันที่ 12 - 13 กรกฎาคม 2553 ณ อาคารหอประชุม ชั้น 2 สำนักงาน กทช. ทั้งนี้ โดยให้เบิกจ่ายค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมสัมมนาของผู้แทนจาก สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ภายในกรอบวงเงิน 49,000 บาท (สี่หมื่นเก้าพันบาทถ้วน) จากงบประมาณการสัมมนา “Digital Broadcasting” ตามที่ประธาน กทช. เสนอ
 
ระเบียบวาระที่   5      :  เรื่องเพื่อทราบ
ระเบียบวาระที่  5.1    :  สำนักนายกรัฐมนตรีขอรับการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมพิเศษ  4 หลัก : รทช.ประเสริฐฯ, กบ.


มติที่ประชุม               รับทราบการอนุมัติจัดสรรหมายเลขโทรคมนาคมพิเศษ 4 หลัก ให้แก่สำนักนายกรัฐมนตรี จำนวน 1 หมายเลข คือ หมายเลข 1878 โดยยกเว้นค่าธรรมเนียมพิจารณาคำขอและค่าธรรมเนียมเลขหมายรายเดือนตามข้อ 79 และข้อ 82(2) ของประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ.2551 ทั้งนี้ เพื่อใช้งานชั่วคราวในการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับความต้องการในการแก้ปัญหาและปฏิรูปประเทศ แล้วนำมาประมวลเป็นฐานข้อมูลในการกำหนดนโยบายเพื่อปฏิรูปประเทศต่อไป ซึ่งเป็นกรณีเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐที่ได้รับมอบหมายจากรัฐบาล โดยประธาน กทช. ได้พิจารณาอนุมัติเลขหมายดังกล่าวตามมติ กทช. ครั้งที่ 44/2548 เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2548 ที่เห็นชอบในหลักการให้ประธาน กทช. พิจารณาอนุมัติเลขหมายโทรคมนาคมพิเศษให้กับหน่วยงานภาครัฐได้กรณีมีเหตุจำเป็นเร่งด่วน หรือเพื่อความมั่นคงของประเทศ ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ
 
ระเบียบวาระที่   6     :   เรื่องอื่นๆ
ระเบียบวาระที่   6.1  :   คำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) จำนวน 3 ราย : กทช.พนาฯ,คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
  • สถานีวิทยุชุมชน Fab Radio อ.เมือง จ.ตรัง คลื่นความถี่ 102.50 MHz
  • สถานีวิทยุชุมชนคนด่านซ้าย อ.ด่านซ้าย จ.เลย คลื่นความถี่ 104.50 MHz
  • สถานีวิทยุชุมชนคนจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ คลื่นความถี่ 99.25 MHz

มติที่ประชุม                อนุมัติให้สถานีวิทยุชุมชน Fab Radio อ.เมือง จ.ตรัง คลื่นความถี่ 102.50 MHz  สถานีวิทยุชุมชนคนด่านซ้าย อ.ด่านซ้าย จ.เลย คลื่นความถี่ 104.50 MHz และสถานีวิทยุชุมชนคนจอมทอง อ.จอมทอง จ.เชียงใหม่ คลื่นความถี่ 99.25 MHz ทำการทดลองออกอากาศเป็นระยะเวลา 30 วัน เพื่อตรวจสอบสภาพปัญหาการรบกวน ตามข้อ 8(5) ของประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ทั้งนี้ หากไม่ปรากฏผลการรบกวนให้คณะอนุกรรมการฯ เสนอความเห็นต่อที่ประชุม กทช. เพื่อพิจารณาออกใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ให้แก่สถานีทั้ง 3 สถานีข้างต้นต่อไป ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ตามที่ กทช.พนาฯ เสนอ

ระเบียบวาระที่   6.2   :  บทวิเคราะห์คำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน จำนวน ๒ ราย : กทช.พนาฯ, คณะอนุกรรมการวิทยุกระจาย เสียงและวิทยุโทรทัศน์
  •  สถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนคลื่นความพอเพียงชุมชน ตำบล  หนองปล้อง อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร คลื่นความถี่ 96.00 MHz
  • สถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนคนเขาวงนาคู อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ คลื่นความถี่ 89.50 MHz
มติที่ประชุม                อนุมัติการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) จำนวน 2 ราย ได้แก่ สถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนคลื่นความพอเพียงชุมชน ตำบลหนองปล้อง         อ.วังทรายพูน จ.พิจิตร คลื่นความถี่ 96.00 MHz และสถานีวิทยุกระจาย เสียงชุมชนคนเขาวงนาคู อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ คลื่นความถี่ 89.50 MHz ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ตามที่ กทช.พนาฯ เสนอ

ระเบียบวาระที่   6.3   :  บทวิเคราะห์คำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ชั่วคราว (กิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก) จำนวน 3 ราย : กทช.พนาฯ, คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
  • ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็ม.ที.เคเบิลทีวี
  • บริษัท พี.ที.วี. แหลมฉบัง จำกัด
  • ห้างหุ้นส่วนจำกัด พนมมาศเคเบิลทีวี
มติที่ประชุม              อนุมัติการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ชั่วคราว (กิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก) จำนวน ๓ ราย ได้แก่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด เอ็ม.ที.เคเบิลทีวี  บริษัท พี.ที.วี. แหลมฉบัง จำกัด และห้างหุ้นส่วนจำกัดพนมมาศเคเบิลทีวี ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ตามที่ กทช.พนาฯ เสนอ

ระเบียบวาระที่   6.4   การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลการลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน (มติที่ประชุมครั้งที่ 9/2553 วาระที่ 4.44) : กทช.พนาฯ, คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

มติที่ประชุม                 รับทราบและเห็นชอบผลการพิจารณา เรื่อง การขอแก้ไขเปลี่ยนแปลงข้อมูลการลงทะเบียนแจ้งความประสงค์ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน ตามความเห็นของ กทช.พนาฯ ที่ได้รับมอบอำนาจจากที่ประชุม กทช. ตามมติ กทช. ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ซึ่งพิจารณาแล้วเห็นชอบตามที่คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เสนอ ดังนี้
1.  ห้ามมิให้มีการเปลี่ยนแปลงการแจ้งความประสงค์ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน คือ คลื่นความถี่ กำลังส่ง ความสูงเสา และชื่อสถานี
2.  การเปลี่ยนแปลงผู้แจ้งความประสงค์ประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน หากเป็นกรณีที่มีเหตุแห่งความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ หรือเหตุอย่างใดๆ ที่ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อมูลได้ ดังนี้
2.1  การเปลี่ยนแปลงผู้แทนผู้แจ้งความประสงค์ประเภทนิติบุคคลหรือกลุ่มคน
2.2  การเปลี่ยนแปลงผู้แจ้งความประสงค์ประเภทบุคคลธรรมดา ให้ทำได้ในกรณีเสียชีวิต หรือการย้ายถิ่นพำนักไปต่างประเทศ หรือเหตุอย่างใดๆ ซึ่งทำให้ผู้นั้นไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ ทั้งนี้ ให้คนชุมชนในเขตพื้นที่ที่สถานีตั้งอยู่ลงมติเพื่อคัดเลือกผู้แจ้งความประสงค์มาทดแทนได้
2.3  กรณีการเปลี่ยนแปลงที่ตั้งสถานีนอกเขตตำบลเดิมให้ดำเนินการได้ ดังนี้
(1) ไม่เกิน 3 กิโลเมตร กรณีสถานีดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตการปกครองท้องถิ่นระดับเทศบาลนครหรือเทียบเท่า
(2) ไม่เกิน 5 กิโลเมตร กรณีสถานีดังกล่าวตั้งอยู่ในเขตการปกครองท้องถิ่นระดับเทศบาลเมืองหรือเทียบเท่า 
(3) รัศมีไม่เกิน 15 กิโลเมตร นอกเขตการปกครองท้องถิ่นระดับเทศบาลนคร เทศบาลเมืองหรือเทียบเท่า 
                ทั้งนี้ มอบหมายให้คณะอนุกรรมการฯ หรือผู้ที่คณะอนุกรรมการมอบหมาย ดำเนินการเกี่ยวกับกรณีการปรับปรุงแก้ไขข้อมูลดังกล่าว และรายงานให้ กทช. ทราบทุกระยะ

ระเบียบวาระที่   6.5   :  การปรับปรุงร่างประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  เรื่อง “ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ชั่วคราว (กิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก)” ตามมติ กทช. : กทช.พนาฯ, คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

มติที่ประชุม                เห็นชอบการปรับปรุงร่างประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ  เรื่อง “ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตการประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ชั่วคราว (กิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก)” ตามมติ กทช. ครั้งที่ 5/2553 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2553 ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ซึ่งได้พิจารณาปรับปรุงแก้ไขตามมติ กทช. ครั้งที่ 5/2553 เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2553 รวมทั้งได้ผ่านการพิจารณาเห็นชอบจาก กทช.สุธรรมฯ เมื่อวันที่ ๒๓เมษายน 2553 แล้ว ตามที่ กทช.พนาฯ เสนอ ทั้งนี้ ให้นำร่างประกาศฯ เสนอประธาน กทช. ลงนามเพื่อนำลงในราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป

ระเบียบวาระที่   6.6   :   การร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำความผิดกรณีการเผยแพร่คลิปเสียงที่อ้างว่าเป็นเสียงของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี : กทช.พนาฯ, คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

มติที่ประชุม               ที่ประชุมเห็นว่า โดยที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้มีความเห็นเรื่อง การร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำความผิดกรณีการเผยแพร่คลิปเสียงที่อ้างว่าเป็นเสียงของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ว่านอกจากเข้าข่ายเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และ 328 แล้ว ยังเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิดมาตรา ๗ และมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 โดยได้ตีความว่า “คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ” เป็นผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ตามมาตรา 71 พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 และแจ้งให้ กทช. ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษในฐานะผู้เสียหาย ดังนั้น เพื่อปฏิบัติหน้าที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงมอบหมายให้คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ดำเนินการร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำความผิดกรณีการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงฯ และรายงานผลให้ที่ประชุม กทช. ทราบทุกระยะ ตามที่ กทช.พนาฯ เสนอ

ระเบียบวาระที่   6.7   :  แนวทางการร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 : กทช.พนาฯ, คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

มติที่ประชุม               เห็นชอบการกำหนดแนวทางการร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 กรณีสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชน ดังนี้
1.  กรณีที่เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 ให้สำนักงาน กทช. ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ จากมาตรการเบาไปหาหนัก 
2.  กรณีที่เป็นการกระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ให้ส่งเรื่องให้คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็น ก่อนนำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาต่อไป

ระเบียบวาระที่  6.8  :   แนวทางการคัดเลือกเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ : รทช.ฐากรฯ

มติที่ประชุม               มอบหมายให้สำนักงาน กทช. นำเรื่อง แนวทางการคัดเลือกเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เสนอที่ประชุม กทช.พิจารณาในการประชุมครั้งที่ 20/2553 วันพุธที่ 14 กรกฎาคม 2553 อีกครั้งหนึ่ง โดยให้เพิ่มเติมข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับกรอบระยะเวลาการดำเนินการแต่ละขั้นตอนในการคัดเลือก ลทช.เพื่อประกอบการพิจารณาของ กทช.ด้วย
 

สร้างโดย  -   (15/3/2559 17:15:57)

Download

Page views: 147