สรุปมติที่ประชุม กทช. 24/2553

มติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
  ครั้งที่ 24/2553
วันพุธที่ 11  สิงหาคม  2553   เวลา  09.30  น.
ณ ห้องประชุม ชั้น 12 อาคารอำนวยการ
สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
 

ผู้เข้าประชุม
คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

1.  ศาสตราจารย์ประสิทธิ์           ประพิณมงคลการ               ประธาน กทช.
2.  นายสุชาติ                          สุชาติเวชภูมิ                      กรรมการ  
3.  รองศาสตราจารย์สุธรรม        อยู่ในธรรม                        กรรมการ
4.  รองศาสตราจารย์พนา           ทองมีอาคม                       กรรมการ
5.  นายสุรนันท์                        วงศ์วิทยกำจร                    กรรมการ
6.  นายบัณฑูร                         สุภัควณิช                         กรรมการ
7.  นายฐากร                           ตัณฑสิทธิ์                        รองเลขาธิการรักษาการในตำแหน่ง ลทช.
8.  นายทศพร                          เกตุอดิศร                         รองเลขาธิการ

ระเบียบวาระที่ 1    :  เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ 
   
1.  ในช่วงวันจันทร์ที่ 16 และวันอังคารที่ 17 สิงหาคม 2553 นี้ จะมีการจัดสัมมนาเรื่อง Mobile NGN and SDP workshop ที่โรงแรม Pullman Bangkok King Power โดยจะมีวิทยากรมาบรรยายจากต่างประเทศ  ได้แก่  Prof.Dr.Thomas  Magedanze จาก Technical University of Berlin และ กทช. ได้อนุมัติงบประมาณเพื่อดำเนินการในเรื่องนี้ไปเรียบร้อยแล้ว เป็นห่วงอยู่ก็แต่เรื่องการประสานงานภายในของเรา เกรงว่าอาจจะแจ้งเวียนให้สำนักงาน กทช.รับทราบ (Circulate) กันไม่ทัน 
2.  พรุ่งนี้จะมีการถวายพระพรสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถ ในเวลา 15.00 น. ซึ่งจะมีรถออกจากสำนักงาน กทช. เวลา 14.00 น. 
3.  เมื่อเราเปิดการประมูลคลื่น 3G แล้ว และในช่วงระหว่างมีการประมูล นั้น ขอให้ กทช. อยู่ปฏิบัติงานที่สำนักงาน กทช.ด้วย เพื่อช่วยกันดูแลให้การประมูลดำเนินไปด้วยความเรียบร้อ
 
หมายเหตุ                  ที่ประชุมได้มีการแสดงความเห็นเพิ่มเติมในระหว่างวาระนี้ สรุปได้ดังนี้ 
4.  ในเรื่องการดำเนินการจัดการประมูล 3G ที่กำหนดจะมีขึ้นในเดือนกันยายน 2553 นี้ ที่ประชุมได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมสรุปได้ว่า ในการประชุมวันนี้ กทช.พันเอกนทีฯ จะนำเรื่องหลักปฏิบัติการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz และการรักษาความปลอดภัยสำหรับการประมูลเสนอต่อที่ประชุม นอกจากนี้ ประธาน กทช. ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กรณีการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G ของ OFTA  ครั้งแรกเมื่อประมาณเกือบ 10 ปีที่ผ่านมา จะให้ผู้ยื่นประมูลอยู่ในที่เดียวกัน โดยได้สอบถามและเน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ของสำนักงาน กทช. เรื่องความพร้อมของ Infrastructure โดยเฉพาะด้าน IT ในช่วงของการประมูล จะต้องไม่ล่มและมีความปลอดภัยสูง ตลอดจน กทช.  สุชาติฯ ได้ให้ข้อเสนอแนะว่า เนื่องจากการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G นั้นมีรายละเอียดมาก และอาจมีการปรับเปลี่ยนในเรื่องต่างๆ ให้เหมาะสมอยู่ตลอด จึงขอให้สำนักงาน กทช. สำเนาเรื่องการดำเนินงาน 3G ที่เกิดขึ้นให้ กทช. ทุกท่านได้รับทราบอย่างต่อเนื่องด้วยว่ามีกิจกรรมใดเกิดขึ้นบ้าง รวมทั้ง กทช.บัณฑูรฯ ได้กล่าวเสริมด้วยว่า เมื่อเรื่องการจัดประมูลคลื่นความถี่ ๓G กำลังเป็นที่สนใจโดยมีข่าวปรากฏอยู่บนหน้าหนังสือพิมพ์ หรือมีการออกข่าวทางสื่อวิทยุอยู่บ่อยครั้งในขณะนี้ ดังนั้น เรื่องการ Update ข้อมูลให้ กทช. ทราบจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะจะมีผู้สอบถามมาที่ กทช. ซึ่ง กทช.ก็ควรจะอธิบายความได้อย่างถูกต้อง ตรงกัน
5.  นอกจากนี้ กทช.บัณฑูรฯ ได้ให้ข้อคิดเห็นเกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในการพิจารณากรณีหน่วยงานต่างๆ ทำเรื่องขอรับงบประมาณสนับสนุนการบริจาค หรือการดำเนินกิจกรรมด้านต่างๆ เข้ามาเป็นจำนวนมากว่า ควรกำหนดเป็นหลักปฏิบัติในเรื่องนี้โดยสำนักงาน กทช. ต้องมีการวิเคราะห์รายละเอียดของเรื่องให้ชัดเจน รวมทั้งรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณและแหล่งที่มาของงบประมาณก่อนทุกครั้งที่จะเสนอคณะกรรมการพิจารณางบประมาณฯ และ กทช.พิจารณา เพื่อให้มีเอกสารหลักฐานรองรับที่ครบถ้วน สมบูรณ์ และสามารถตรวจสอบได้ในภายหลัง สำหรับงบประมาณรายการสำคัญๆ ที่มีความจำเป็นที่ กทช. เห็นชอบไว้แล้ว ก็ได้กันเงินไว้ให้เรียบร้อยแล้วเต็มตามจำนวน เช่น ในเรื่อง 3G และ MNP รวมทั้งกรณีโครงการโรงเรียน ตชด.บ้านแกแดะ ด้วย และสำหรับเรื่องใดที่เป็นกรณีเร่งด่วน จะได้ประสานงานกับคณะกรรมการพิจารณางบประมาณฯ เพื่อดำเนินการให้โดยด่วนต่อไป ทั้งนี้ ตนเองและ รทช.ฐากรฯ จะได้ประสานงานกับ กทช. แต่ละท่านเพื่อหารือเกี่ยวกับแนวโน้มความเป็นไปได้ในการใช้จ่ายงบประมาณในรายการต่างๆ ของ กทช. เพื่อเป็นการจัดเตรียมงบประมาณไว้ให้พร้อม กรณีต้องใช้จ่ายในเรื่องที่จำเป็นเร่งด่วนสำหรับช่วงระยะเวลาที่เหลืออยู่ภายใต้รายการ งบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็น โดยการโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป 
6.  กทช.พนาฯ ได้นำเรียนให้ที่ประชุมทราบเกี่ยวกับการจัดสัมมนา เรื่องการเตรียมความพร้อมระบบโทรทัศน์ดิจิทัลในประเทศไทย ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 18 – 19 สิงหาคม 2553 ณ อาคารหอประชุมชั้น 2 สำนักงาน กทช. โดยจัดร่วมกับทาง DVB และใช้งบประมาณสมทบส่วนหนึ่งด้วยสำหรับการจัดงานในครั้งนี้ ทั้งนี้ ได้มอบหมายให้สำนักกิจการกรรมการรับผิดชอบเตรียมการ และขอเรียนเชิญ กทช. ทุกท่านเข้าร่วมการสัมมนาครั้งนี้ด้วย นอกจากนี้ กทช.พนาฯ ได้เรียนที่ประชุมเพิ่มเติมอีกว่า ขณะนี้ได้เตรียมการเพื่อรองรับการดำเนินงานเรื่องต่างๆ ในรูปแบบของคณะกรรมการ อาทิ เรื่อง Digital TV  ซึ่งได้เริ่มทาบทามผู้ทรงคุณวุฒิที่จะมาเป็นกรรมการไว้แล้ว และจะได้นำเสนอประธาน กทช. เพื่อแต่งตั้งต่อไป
7.  ในท้ายสุด ประธาน กทช. ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงเรื่อง Migration Analog TV เปลี่ยนเป็น Digital TV ว่า ควรจะต้องมีการจัดทำแผนแม่บทในลักษณะกึ่งการศึกษาและวิจัย โดยเสนอคณะกรรมการพิจารณางบประมาณฯ เพื่อขอจัดตั้งงบประมาณรองรับการดำเนินการศึกษาเรื่องดังกล่าวได้ทันในปีหน้า
  
มติที่ประชุม            
1.  รับทราบเรื่องตามที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ และมอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 
2.  รับทราบกรณี กทช.พันเอกนทีฯ นำเรื่องหลักปฏิบัติการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz และการรักษาความปลอดภัยสำหรับการประมูลเข้าสู่ที่ประชุม กทช. พิจารณาในวันนี้ รวมทั้งรับทราบข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการดำเนินการเรื่องการจัดประมูลคลื่นความถี่ 3G ตามที่ประธาน กทช. และ กทช.  สุชาติฯ เสนอต่อที่ประชุม ทั้งนี้ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช. สำเนารายงานความคืบหน้าการดำเนินการประมูลคลื่น 3G ให้ กทช. ทุกท่านได้รับทราบเป็นระยะๆ ด้วยตามข้อเสนอแนะของ กทช.สุชาติฯ 
3.  รับทราบข้อมูลสถานการณ์กันเงินงบประมาณรายการสำคัญๆ ที่มีความจำเป็นตามที่ กทช. เห็นชอบไว้เป็นที่เรียบร้อยแล้วเต็มตามจำนวน ตามที่ กทช.บัณฑูรฯ แจ้งต่อที่ประชุม 
4.  เห็นชอบเป็นหลักการให้สำนักงาน กทช. ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติกรณีที่มีหน่วยงานต่างๆ ทำเรื่องขอรับงบประมาณสนับสนุนการบริจาค หรือการดำเนินกิจกรรมด้านต่างๆ นั้น สำนักงาน กทช. ต้องมีการวิเคราะห์รายละเอียดของเรื่องให้ชัดเจน รวมทั้งรายละเอียดการใช้จ่ายงบประมาณและแหล่งที่มาของงบประมาณก่อนทุกครั้งที่จะเสนอ คณะกรรมการพิจารณางบประมาณฯ และ กทช.พิจารณา เพื่อให้มีเอกสารหลักฐานรองรับที่ครบถ้วน สมบูรณ์ และสามารถตรวจสอบได้ในภายหลัง ตามข้อเสนอของ กทช.บัณฑูรฯ
5.  รับทราบการจัดสัมมนาร่วมกับทาง DVB เรื่อง การเตรียมความพร้อมระบบโทรทัศน์ดิจิทัลในประเทศไทย ซึ่งจะจัดขึ้นในระหว่างวันที่  18 – 19 สิงหาคม 2553 ณ อาคารหอประชุมชั้น ๒ และการเตรียมการเพื่อรองรับการดำเนินงานเรื่องต่างๆ ในรูปแบบของคณะกรรมการ อาทิ เรื่อง Digital TV ทั้งนี้ โดยจะได้นำเสนอประธาน กทช. เพื่อแต่งตั้งต่อไป ตามที่ กทช.พนาฯ รายงานให้ที่ประชุมทราบ

ระเบียบวาระที่   2    :   รับรองรายงานการประชุม กทช. ครั้งที่ 23/2553 วันพุธที่ 4  สิงหาคม  2553
 
มติที่ประชุม            รับรองรายงานการประชุม กทช. ครั้งที่ 23/2553 วันพุธที่ 4 สิงหาคม  2553 ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ โดยมีข้อแก้ไขตามที่ กทช. ขอแก้ไข ดังนี้ 
1.  วาระที่ 4.1 หน้า 7  ข้อ 2 ให้ตัดคำภาษาอังกฤษ คำว่า “Watch list” และ “Priority Watch list” ออก
2.  วาระที่ 4.11 ให้เพิ่มเติมมติอีก 1 ข้อ เป็น ข้อ 3  โดยมีข้อความดังนี้  
“3. เห็นชอบให้ สำนักงาน กทช. ยึดถือมติที่ประชุม กทช. ในเรื่องนี้เป็นแนวทางในการแจ้งตอบผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม ในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมีหนังสือขอหารือ หรือขอให้ กทช. พิจารณาทบทวนในประเด็นเดียวกัน”
3.  วาระที่ 6.3  ให้แก้ไขเพิ่มเติม และปรับปรุงเนื้อหาให้สมบูรณ์ พร้อมจัดเรียงลำดับหัวข้อใหม่ให้ถูกต้อง และเหมาะสมมากยิ่งขึ้น จากเดิมจำนวน 2 ข้อ เป็น 4 ข้อ ดังนี้ 
“1.  ที่ประชุม กทช.ได้พิจารณา เหตุผลที่ผู้ประกอบการอ้างถึงประเด็นเหตุสุดวิสัยและประเด็นปัญหาความไม่พร้อมด้านเทคนิคเพื่อขอขยายระยะเวลาการจัดให้มีบริการ MNP ออกไปอีก เห็นว่ากรณีเหตุภูเขาไฟระเบิดที่ประเทศไอซ์แลนด์ และเหตุการณ์ความไม่สงบช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ปี 2553 นั้น ไม่เข้าข่ายเป็นเหตุสุดวิสัย ประกอบกับปัญหาความไม่พร้อมด้านเทคนิคที่เกิดขึ้น ในทางปฏิบัติเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการเตรียมความพร้อมมานานแล้ว ดังนั้น เหตุผลที่ผู้ประกอบการกล่าวอ้างทั้งสองประเด็น จึงฟังไม่ขึ้น
2.  โดยที่การไม่ดำเนินการจัดให้มีบริการ MNP ของผู้ประกอบการ ทั้ง 5 ราย (บจ.ทรู มูฟ บมจ.กสท โทรคมนาคม  บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส  บจ.ดิจิตอลโฟน และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น) ตามระยะเวลาที่ประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ กำหนดไว้ นับตั้งแต่ประกาศฯ มีผลใช้บังคับจนถึงขณะนี้ นั้น ย่อมถือเป็นการกระทำผิดมาแล้วตั้งแต่เริ่มแรก ประกอบกับ กทช. ได้ออกคำบังคับทางปกครอง ตามมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 โดยสั่งให้ผู้ประกอบการจัดให้มีบริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ด้วยอีกครั้งหนึ่งแล้ว 
3.  จากการวินิจฉัยข้อเท็จจริงและเหตุผลทั้งหมดข้างต้น ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อมิให้ประชาชนผู้ใช้บริการเสียประโยชน์จากการได้รับบริการ MNP ต่อไปอีก จึงมีมติให้ผู้ประกอบการทั้ง 5 รายดังกล่าวต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ต่อไปโดยจัดให้มีบริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ทั้งนี้ โดยไม่มีการขยายเวลาออกไปอีก
4.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. หารือ กทช.สุธรรมฯ ในประเด็นการปรับปรุงแก้ไขประกาศ กทช.เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง 2 ประเด็น ให้สอดคล้องกับมติ กทช. ที่เห็นชอบแล้วในการประชุม กทช.ครั้งที่ 18/2553 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ได้แก่
1) ในเรื่องของระยะเวลาการดำเนินการโอนย้ายผู้ให้บริการในกรณีที่มีการยื่นคำขอจำนวนมากตั้งแต่ 25 ราย ขึ้นไปในคราวเดียวกันจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 20 วันทำการ และ
2) การกำหนดให้ Clearing House เป็นผู้มีหน้าที่ในการออกใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมการโอนย้ายผู้ให้บริการ ซึ่งจะมีผลให้ Clearing House เป็นผู้มีสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการโอนย้ายฯ ได้”
 
ระเบียบวาระที่  3    :   รายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 23/2553 วันพุธที่  4  สิงหาคม  2553
 
มติที่ประชุม              รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 23/2553 วันพุธที่ 4 สิงหาคม  2553 ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช.เสนอ
 
ระเบียบวาระที่  4    :  เรื่องเพื่อพิจารณา   
ระเบียบวาระที่  4.1 :  การบังคับชำระหนี้จากผลคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง : กทช.สุธรรมฯ 


มติที่ประชุม              
1. อนุมัติหลักการในการบังคับชำระหนี้ตามกฎหมายจาก บมจ.ทีโอที และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ในฐานะลูกหนี้ร่วม ตามที่ กทช.สุธรรมฯ เสนอ ซึ่งสรุปได้ว่า บมจ.ทีโอที เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และ บมจ.แอดวานซ์  อินโฟร์ เซอร์วิส เป็นผู้มีสิทธิประกอบกิจการโทรคมนาคมตามความในมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดในการประกอบกิจการโทรคมนาคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม รวมถึงการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและจัดสรรรายได้เพื่ออุดหนุนให้แก่กองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะตามอัตราและหลักเกณฑ์ที่ กทช. ประกาศกำหนด โดย บมจ.ทีโอที จะต้องนำเงินส่วนแบ่งรายได้ที่ได้รับจากผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีสิทธิในการประกอบกิจการโทรคมนาคมตามความในมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มารวมเป็นเงินรายได้จากการประกอบกิจการโทรคมนาคม เพื่อคำนวณค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม และจัดสรรรายได้เพื่ออุดหนุนให้แก่กองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ ดังนั้น บมจ.ทีโอที และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ซึ่งเป็นผู้มีสิทธิประกอบกิจการโทรคมนาคมตามความในมาตรา 80 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 จึงอยู่ในสถานะลูกหนี้ร่วมที่มีภาระหน้าที่ร่วมกันในการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและจัดสรรรายได้เพื่ออุดหนุนให้แก่กองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ 
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. ศึกษาวิเคราะห์รายละเอียดเพื่อประเมินค่าธรรมเนียมในส่วนที่เพิ่มขึ้นอันเนื่องมาจากการแก้ไขสัญญาทั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ USO Fee และ License Fee แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาภายใน 7 วัน เพื่อบังคับชำระหนี้ต่อไป ตามที่ กทช.สุธรรมฯ เสนอ
3.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. จัดทำหนังสือติดตามทวงถามหนี้จาก บมจ.ทีโอที และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ต่อไป ตามที่ กทช.   สุธรรมฯ เสนอ

ระเบียบวาระที่  4.2  :   ขอเสนอรายชื่อเพิ่มเติมเพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการวินิจฉัย ข้อพิพาท (กวพ.) ชุดใหม่ : กทช.สุธรรมฯ

มติที่ประชุม               โดยที่ กทช. ได้เสนอรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท (กวพ.) ชุดใหม่เพิ่มเติมในวาระนี้อีกจำนวน 4 ราย ซึ่งเมื่อรวมกับรายชื่อที่ กทช. ได้เสนอในการประชุม กทช.ครั้งที่ 18/2553 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ไว้แล้วจำนวน 5 ราย จึงรวมเป็น 9 ราย ครบตามจำนวนที่ประกาศกำหนด ประกอบกับรายชื่อที่เสนอมาทั้งหมดดังกล่าว ไม่มี กทช.ท่านใดในที่ประชุมคัดค้าน ที่ประชุมจึงมีมติ ดังนี้
1.  รับรองรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 ราย ตามที่ กทช. เสนอ เพื่อพิจารณากลั่นกรองและดำเนินการในขั้นตอนต่อไปก่อนแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท (กวพ.) ชุดใหม่ต่อไป ประกอบด้วย
1)  พลเอกชูชาติ สุขสงวน
2)  นายธวัช คงเดชา
3)  นายบดินทร์ เยี่ยมสมบัติ
4)  ดร.ประยงค์ เนตยารักษ์
5)  นางสาวลานนา  คำนวล
6)  พลโทวิรัตน์  บรรเลง
7)  นายปานชัย บวรรัตนปราณ
8)  พลเอกอนุสรณ์  เทพธาดา
9)  รศ.ดร.อธิคม ฤกษบุตร
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. โดยหารือร่วมกับ กทช.สุธรรมฯ เพื่อพิจารณากลั่นกรอง พร้อมตรวจสอบคุณสมบัติและประวัติของผู้ทรงคุณวุฒิตามข้อ 1 ให้ถูกต้อง และเหมาะสมตามที่ประกาศกำหนดไว้อีกครั้งหนึ่ง ก่อนมีคำสั่งแต่งตั้งต่อไป
3.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็นและข้อสังเกตของที่ประชุมเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย ดังนี้
3.1 ตรวจสอบ และรวบรวมรายละเอียดข้อมูลค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์ของคณะกรรมการฯ ที่ กทช.แต่งตั้ง และคณะกรรมการที่แต่งตั้งตามกฎหมายทั้งหมด แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช.พิจารณา เพื่อกำหนดแนวทางการคิดค่าตอบแทน และสิทธิประโยชน์ที่เหมาะสมและให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั้งระบบ อย่างไรก็ดี คณะกรรมการบางคณะที่มีความรับผิดชอบ และลักษณะการทำงานเฉพาะ หรือที่ได้รับมอบหมายภารกิจสำคัญ เช่น คณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของสำนักงาน กทช. และคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ซึ่งแตกต่างไปจากคณะกรรมการตามปกติทั่วไป ก็อาจต้องพิจารณากำหนดค่าตอบแทนที่แตกต่างกันไปได้ 
3.2 ตรวจสอบ และจัดทำข้อมูลกรณีแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจนในช่วงเปลี่ยนผ่านของคณะกรรมการ กวพ. ชุดเดิมว่าจะต้องมีขั้นตอนอย่างไร แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณา
  
ระเบียบวาระที่  4.3  :  สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัยขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้ในการติดตั้งระบบการศึกษาผ่านเครือข่ายโทรคมนาคมในอาคารวชิราวุธ 100 ปี : กทช.บัณฑูรฯ

มติที่ประชุม              
1.  อนุมัติให้การสนับสนุนงบประมาณแก่สมาคมนักเรียนเก่าวชิราวุธวิทยาลัย เพื่อใช้ในการติดตั้งระบบการศึกษาผ่านเครือข่ายโทรคมนาคมในอาคารวชิราวุธ 100 ปี ภายในกรอบวงเงิน 5 ล้านบาท โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 รายการค่าใช้จ่ายสนับสนุนการจัดกิจกรรมของ กทช. และสำนักงาน กทช. ทั้งนี้ โดยให้สำนักงาน กทช. นำเสนอขออนุมัติ กทช. เพื่อโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณจากรายการเงินงบกลาง ตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณางบประมาณและติดตามการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2553 ตามที่ กทช.บัณฑูรฯ เสนอ ทั้งนี้ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช. (สำนักการบริการอย่างทั่วถึง) ติดตามประเมินผลการดำเนินงานโครงการติดตั้งระบบการศึกษาผ่านเครือข่ายโทรคมนาคมในอาคารวชิราวุธ 100 ปี ดังกล่าว โดยให้เป็นส่วนหนึ่งของการติดตามผลการดำเนินการด้าน USO ด้วย
2.  เนื่องจากปัจจุบัน มีหน่วยงานภายนอกเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อใช้ในกิจกรรมต่างๆ เป็นจำนวนมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนเกินกว่าวงเงินที่ตั้งไว้ในรายการค่าใช้จ่ายสนับสนุนการจัดกิจกรรมของ กทช.และสำนักงาน กทช. ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการใช้จ่ายเงินตามแผนงบประมาณที่วางไว้เดิม ดังนั้น เพื่อให้การบริหารจัดการงบประมาณในส่วนนี้สามารถใช้จ่ายได้ภายในกรอบวงเงินที่กำหนด   ที่ประชุมจึงมีมติมอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณางบประมาณฯ ไปพิจารณาจัดทำรายละเอียดหลักเกณฑ์การพิจารณาการขอรับงบประมาณสนับสนุนจากหน่วยงานภายนอกให้ชัดเจน แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาต่อไป
3.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อสังเกตของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการต่อไป ดังนี้
3.1 รวบรวมข้อมูลตัวเลขภาพรวมสถานะการใช้จ่ายงบประมาณที่ผ่านมาทั้งหมดเพื่อสนับสนุนการจัดกิจกรรมให้แก่โรงเรียน และสถาบันการศึกษาต่างๆ ตามที่ร้องขอมา แล้วรายงานให้ กทช.ทราบ
3.2 นัดหมายให้คณะกรรมการพิจารณางบประมาณฯ ประชุมร่วมกับ กทช. เพื่อรายงานสรุปประเด็นปัญหาการดำเนินงานด้านงบประมาณให้ กทช.ได้รับทราบ และรับทราบนโยบายจาก กทช. เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม

ระเบียบวาระที่  4.4  :  ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. .... : กทช.พนาฯ, คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

มติที่ประชุม                เห็นชอบ และมอบหมายให้สำนักงาน กทช. (กลุ่มงานสำนักเลขานุการคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงฯ) ตอบความเห็นสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเกี่ยวกับร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยสำนักงานกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พ.ศ. .... ตามความเห็นของ กทช.พนาฯ ที่มีต่อร่างระเบียบดังกล่าว ดังนี้
1.  กสช. เป็นผู้มีพันธกิจในการจัดตั้งกองทุนเพื่อการพัฒนาสื่ออยู่แล้ว การที่ กทช. จะต้องแบ่งงบประมาณไปให้หน่วยงานฝ่ายบริหารทำงานอย่างเดียวกัน ไม่น่าจะชอบด้วยหลักการขององค์กรอิสระที่นโยบายการบริหารงานและการงบประมาณควรแยกจากกัน
2.  การปฏิบัติหน้าที่ของฝ่ายบริหารควรดำเนินการตามหลักงบประมาณผ่านสภาฯ แม้จะตั้งเป็นกองทุนก็เห็นสมควรว่าน่าจะควรประเดิมด้วยเงินที่เป็นงบประมาณผ่านจากสภาฯ ก่อน
3.  การที่จัดตั้งกรรมการตามระเบียบฯ โดยให้มีองค์ประกอบเป็นตัวแทนจากองค์กรอิสระน่าจะไม่ชอบด้วยหลักการขององค์กรอิสระ
        ทั้งนี้ ให้สำนักงานฯ นำร่างหนังสือแจ้งตอบเสนอ กทช.พนาฯ เพื่อพิจารณาความถูกต้อง และเหมาะสมของถ้อยคำด้วยอีกครั้งหนึ่งก่อนจัดส่งต่อไป

ระเบียบวาระที่  4.5   :  คำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว(วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ของสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนเรารักประเทศไทย (We love Thailand 89.50 MHz) : กทช.พนาฯ, คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ 

มติที่ประชุม              อนุญาตให้สถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนเรารักประเทศไทย (We love Thailand) 89.50 MHz จังหวัดนครสวรรค์ ทำการทดลองออกอากาศเป็นระยะเวลา 30 วัน เพื่อตรวจสอบปัญหาการรบกวนตามข้อ 8 (5) ของประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ต่อไป ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ตามที่ กทช.พนาฯ เสนอ
 
ระเบียบวาระที่   4.6  :  บทวิเคราะห์คำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ชั่วคราว (กิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก) : กทช.พนาฯ, คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์
 จำนวน 3 ราย (7 ใบอนุญาต) ดังนี้
  • บริษัท อินเตอร์ โมบาย ท๊อป เซอร์วิส จำกัด จำนวน 2 ใบอนุญาต
  • บริษัท โกลเด้น ซีทีวี จำกัด จำนวน 4 ใบอนุญาต  
  • ห้างหุ้นส่วนจำกัด เกาะโพธิ์ เคเบิล 2007 จำนวน 1 ใบอนุญาต

มติที่ประชุม              
1.  อนุมัติการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ชั่วคราว (กิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก) จำนวน 3 ราย (7 ใบอนุญาต) ตามความเห็นคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ตามที่ กทช.พนาฯ เสนอ ได้แก่
1.1  บริษัท อินเตอร์ โมบาย ท๊อป เซอร์วิส จำกัด จำนวน 2 ใบอนุญาต
1.2  บริษัท โกลเด้น ซีทีวี จำกัด จำนวน 4 ใบอนุญาต 
1.3  ห้างหุ้นส่วนจำกัด เกาะโพธิ์ เคเบิล 2007 จำนวน 1 ใบอนุญาต
2.  มอบหมายให้ สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการตรวจสอบการรบกวนในพื้นที่ต่างๆ โดยให้เริ่มจัดทำแผนปฏิบัติการฯในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นลำดับแรกก่อน แล้วนำเสนอ กทช. พิจารณา ทั้งนี้ ให้ประสานงานกับกลุ่มงานสำนักเลขานุการคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ด้วย

ระเบียบวาระที่  4.7  :  คำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ของสถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนเสียงชอนสมบูรณ์ จังหวัดลพบุรี (คลื่นความถี่ 96.75 MHz) : กทช.พนาฯ, คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

มติที่ประชุม              อนุญาตให้สถานีวิทยุกระจายเสียงชุมชนเสียงชอนสมบูรณ์ ตำบลชอนสมบูรณ์ อำเภอหนองม่วง จังหวัดลพบุรี (คลื่นความถี่ 96.75 MHz) ทำการทดลองออกอากาศเป็นระยะเวลา 30 วัน เพื่อตรวจสอบสภาพปัญหาการรบกวนตามข้อ 8 (5) ของประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ต่อไป ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ตามที่ กทช.พนาฯ เสนอ

ระเบียบวาระที่  4.8  :  การเพิ่มเติมรายชื่อผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงภายใต้มาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 : กรณีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ : กทช.พนาฯ, คณะอนุกรรมการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

มติที่ประชุม               อนุมัติการกำหนดเพิ่มเติมให้ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เป็นผู้ประกอบกิจการกระจายเสียงตาม มาตรา 74 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 และให้แจ้งมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และหน่วยงานที่มีรายชื่อเป็นผู้มีสิทธิประกอบกิจการกระจายเสียง ตามมาตรา 74 เพื่อทราบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ตามที่ กทช.พนาฯ เสนอ 
 
ระเบียบวาระที่  4.9  :  พิจารณาทบทวนร่างประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการแก่ผู้ได้รับใบอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญา จากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 และร่างประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ของผู้ประกอบกิจการที่ดำเนินการอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. .... : กทช.พนาฯ, คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

มติที่ประชุม             เห็นชอบร่างประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการออกใบอนุญาตประกอบกิจการแก่ผู้ได้รับใบอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญา จากส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 และร่างประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ของผู้ประกอบกิจการที่ดำเนินการอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 มีผลใช้บังคับ (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. .... และให้นำร่างประกาศทั้งสองฉบับดังกล่าวไปจัดประชุมเพื่อรับฟังความเห็นสาธารณะตามระเบียบต่อไป ตามที่ กทช.พนาฯ เสนอ ซึ่งได้พิจารณาความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และความเห็นของคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ประกอบแล้ว

ระเบียบวาระที่  4.10   :  การพิจารณาปรับปรุงร่างประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ชั่วคราว (กิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก) จากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ : กทช.พนาฯ, คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ 

มติที่ประชุม                เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ชั่วคราว (กิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก) ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ตามที่ กทช.พนาฯ เสนอ และให้ดำเนินการเผยแพร่ให้สาธารณะได้รับทราบผ่าน Website สำนักงาน กทช. ภายใน 15 วันตามขั้นตอน โดยหากไม่มีผู้ใดแสดงความคิดเห็นเพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติม ให้นำเสนอประธาน กทช.พิจารณาลงนามเพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป
 
ระเบียบวาระที่  4.11  :  การพิจารณาปรับปรุงร่างประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ภายหลังการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ : กทช.พนาฯ, คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ 

มติที่ประชุม                เห็นชอบร่างประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์การประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) ตามความเห็นของคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ตามที่ กทช.พนาฯ เสนอ และให้ดำเนินการเผยแพร่ให้สาธารณะได้รับทราบผ่าน Website สำนักงาน กทช. ภายใน 15 วัน โดยหากไม่มีผู้ใดแสดงความคิดเห็นเพื่อขอแก้ไขเพิ่มเติม ให้นำเสนอประธาน กทช.พิจารณาลงนามเพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป

ระเบียบวาระที่  4.12  :  สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ขอรับการสนับสนุนการจัดระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมสำหรับการแพทย์ฉุกเฉินในกรณี สาธารณภัย จำนวน 926,620 บาท (เก้าแสนสองหมื่นหกพันหกร้อยยี่สิบบาทถ้วน) : รทช.ทศพรฯ, บป.  

มติที่ประชุม               เนื่องจากปัจจุบันการดำเนินการเกี่ยวกับการช่วยเหลือสาธารณภัยกรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหวขั้นรุนแรงที่สาธารณรัฐเฮติได้เสร็จสิ้นผ่านพ้นไปแล้ว จึงไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาเรื่องนี้อีก ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติไม่พิจารณาเรื่อง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ขอรับการสนับสนุนการจัดระบบสื่อสารผ่านดาวเทียมสำหรับการแพทย์ฉุกเฉินในกรณีสาธารณภัย จำนวน 926,620 บาท ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ

ระเบียบวาระที่  4.51  :  การแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมชุดใหม่ : สบท.

มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการสรรหาสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม จำนวน 9 ราย ตามข้อ 6 ของระเบียบ กทช.   ว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2550 โดยให้มีวาระดำรงตำแหน่ง 3 ปีนับแต่วันที่มีคำสั่ง ตามที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมเสนอ ดังนี้
1.1  นายประหยัด  จตุพรพิทักษ์กุล  
1.2  นางสุนทรี  หัตถี เซ่งกิ่ง 
1.3  นายสุนทร  สุริโย  
1.4  นางสมจิต  ฟุ้งทศธรรม 
1.5  นางสาวกรรณิการ์  กิจติเวชกุล
1.6  นายสมชาย  กระจ่างแสง
1.7  นายวีรพงษ์  เกรียงสินยศ
1.8  นายทวี  กาญจนภู
1.9  นายกิติพงศ์  สุทธิ
                 ทั้งนี้  ให้ได้รับสิทธิค่าตอบแทนค่าเบี้ยประชุม ตามระเบียบ กทช. ว่าด้วยวิธีการประชุมของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และค่าตอบแทน พ.ศ. 2551 ข้อ 18 (1) (ค) ในอัตราครั้งละ 5,000 บาท
2.  โดยที่วาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (คบท.) ชุดเดิมจะหมดวาระในวันที่ 22 สิงหาคม 2553 ซึ่งกระบวนการสรรหา คบท. ยังมีขั้นตอนการดำเนินการซึ่งอาจทำให้ไม่สามารถแต่งตั้ง คบท. ชุดใหม่ได้ทันกำหนดวาระของ คบท. ชุดปัจจุบัน ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบให้ คบท. ชุดปัจจุบันยังปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีการแต่งตั้ง คบท. ชุดใหม่ 

ระเบียบวาระที่  4.61  :   การดำเนินการเกี่ยวกับที่ปรึกษาเพื่อการประมูลคลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (IMT หรือ 3G and beyond) : รทช.ประเสริฐฯ, คณะกรรมการตรวจและรับมอบงานจ้างที่ปรึกษาเพื่อประมูลคลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (IMT หรือ 3G and beyond) 

มติที่ประชุม            
1.  รับทราบความคืบหน้า และแนวทางการดำเนินการต่อไปของคณะกรรมการตรวจและรับมอบงานจ้างที่ปรึกษาโครงการเพื่อการประมูลคลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (IMT หรือ 3G and beyond) ตามที่คณะกรรมการตรวจและรับมอบงานจ้างที่ปรึกษาโครงการเพื่อการประมูลคลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (IMT หรือ 3G and beyond) เสนอ
2.  เนื่องจากมีการขยายเนื้องานการดำเนินการโครงการฯ ตามการปรับเปลี่ยนรูปแบบการอนุญาตเพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz จึงมีมติอนุมัติในหลักการให้เพิ่มเติมกรอบงบประมาณค่าจ้างที่ปรึกษาเพิ่มเติม สำหรับโครงการที่ปรึกษาโครงการเพื่อการประมูลคลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (IMT หรือ3G and beyond) ภายในวงเงินไม่เกิน 9 ล้านบาท ทั้งนี้ โดยให้ใช้จ่ายจากงบประมาณรายการค่าใช้จ่ายสำหรับการดำเนินการให้อนุญาตการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT หรือ 3G and beyond ที่ กทช.ได้อนุมัติวงเงินไว้แล้วจำนวน 50 ล้านบาท และดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

หมายเหตุ                 ระเบียบวาระเพื่อพิจารณาที่เหลือ ได้แก่ วาระที่ 4.13 – 4.50 วาระที่ 4.52 – 4.60 และวาระที่ 4.62 – 4.66 จะได้นำเสนอในการประชุม กทช. ครั้งต่อไป
 
ระเบียบวาระที่   5      :  เรื่องเพื่อทราบ
ระเบียบวาระที่   5.1   :  โครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และกรมประชาสัมพันธ์ ในการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว : กทช.บัณฑูรฯ


มติที่ประชุม                รับทราบผลการพิจารณาเรื่อง โครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และกรมประชาสัมพันธ์ ในการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ตามความเห็นคณะกรรมการพิจารณางบประมาณฯ ตามเอกสารที่ กทช.บัณฑูรฯ เสนอ สรุปได้ว่า การก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นโครงการที่ผูกพันงบประมาณ 2 ปี ในวงเงินทั้งสิ้น 280 ล้านบาท ซึ่งสูงมากเมื่อเทียบกับงบประมาณรายจ่ายประจำปี รายการค่าใช้จ่ายสนับสนุนการจัดกิจกรรมของ กทช. และสำนักงาน กทช. ที่ตั้งไว้ในแต่ละปีเป็นเงิน 50 ล้านบาท สถานะทางการเงินของรายการดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนได้ โดยจะเป็นภาระผูกพันงบประมาณปีต่อไป และโครงการเฉลิมพระเกียรตินี้ควรจะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโครงการเฉลิมพระเกียรติเสียก่อน   กอปรกับงบประมาณปี 2553 รายการค่าใช้จ่ายสนับสนุนการจัดกิจกรรมของ กทช. และสำนักงาน กทช.  ได้รับอนุมัติไปหมดแล้ว ดังนั้น จึงไม่สามารถที่จะสนับสนุนงบประมาณการก่อสร้างอาคารเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวดังกล่าวได้

ระเบียบวาระที่  5.2  :  ประมาณการรายรับ ประจำปี 2554 : รทช.ประเสริฐฯ, คง.

หมายเหตุ                   เนื่องจากในการประชุมมอบนโยบายของ กทช. ตามปฏิทินการจัดทำงบประมาณประจำปี 2554 ของสำนักงาน กทช. เมื่อวันศุกร์ที่ 6 สิงหาคม 2553  ที่โรงแรมรอยัลคลิฟ บีช รีสอร์ท พัทยา จังหวัดชลบุรี นั้น สำนักงาน กทช. ได้นำเรื่องประมาณการรายรับประจำปี 2554 เสนอให้ กทช.พิจารณา และที่ประชุมได้มีข้อคิดเห็นเพิ่มเติม และข้อสังเกตต่างๆ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับไปวิเคราะห์เพิ่มเติม แล้วจึงนำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งผลการพิจารณาของที่ประชุมที่พัทยาเห็นว่า โดยหลักการแล้วการประมาณการรายรับในปี 2554 ควรจะคิดจากอัตราการเจริญเติบโตของ Telecom Growth (Scenario 1) มากกว่าการคิดจาก GDP Growth (Scenario 2)

ระเบียบวาระที่  5.3  :  รายงานผลคุณภาพสัญญาณของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ประกอบการ ตามโครงการศึกษาสำรวจข้อมูลสาขาสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศไทย : รทช.ประเสริฐฯ, กท.

มติที่ประชุม                 รับทราบผลการวิเคราะห์สุ่มตรวจผลคุณภาพสัญญาณของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ประกอบการ 4 ราย (บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส  บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น  บจ.ทรูมูฟ และ บมจ.กสท โทรคมนาคม/ฮัทช์) ตามโครงการศึกษา สำรวจข้อมูลสาขาสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศไทย ซึ่งได้ดำเนินการตรวจสอบในจังหวัดที่มีประชากรหนาแน่นในพื้นที่ 73 จังหวัด (ไม่รวม 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้) ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่  5.4   :   รายงานข้อมูลของสถานีวิทยุชุมชนประจำเดือนมิถุนายน 2553 : รทช.ประเสริฐฯ, กท.

มติที่ประชุม              รับทราบรายงานสรุปข้อมูลสถานะความเคลื่อนไหวของวิทยุชุมชนและข้อมูลสถิติระดับความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดจากวิทยุชุมชน โดยเฉพาะในกรณีที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อการรบกวนวิทยุการบิน ประจำเดือนมิถุนายน 2553 ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.5  :  แผนการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุย่าน 850 MHz ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.

มติที่ประชุม               รับทราบแผนการใช้งานคลื่นความถี่วิทยุย่าน 850 MHz ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ช่วงความถี่ 834.2 – 839.0 MHz และ 879.2 – 884.0 MHz และรับทราบการดำเนินการของสำนักงาน กทช. ในการขอข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนการติดตั้งสถานีฐาน ขั้นตอนการดำเนินงาน รายละเอียดของเครื่องวิทยุคมนาคม และการกำหนดพื้นที่การให้บริการที่ชัดเจน และแผนการดำเนินการเกี่ยวกับสถานีฐานของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยใช้เทคโนโลยี HSPA เดิมที่ได้รับอนุญาตจาก บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่  5.6  :  รายงานการปฏิบัติการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ : สพท. 

มติที่ประชุม               รับทราบรายงานการปฏิบัติการของผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม แทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2553 ทั้งนี้ ตามระเบียบ กทช. ว่าด้วยการมอบอำนาจของ ลทช. ให้ปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนในสถาบันเฉพาะทาง พ.ศ.2550 ตามเอกสารที่สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเสนอ

ระเบียบวาระที่  5.7  :  การโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณการสนับสนุน “กองทุนแม่ของแผ่นดิน” ของมูลนิธิป้องกันและปราบปรามยาเสพติด : รทช.ทศพรฯ บป., กจ.

มติที่ประชุม                รับทราบการสนับสนุนกิจกรรม “กองทุนแม่ของแผ่นดิน” ของมูลนิธิป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ภายในกรอบวงเงิน 2 ล้านบาท โดยโอนเปลี่ยนแปลงงบประมาณจากหมวดรายจ่ายอื่น รายการค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมกับหน่วยงานภายนอกของสำนักกิจการกรรมการ มาสมทบเป็นรายการค่าใช้จ่ายในการสนับสนุนการจัดกิจกรรมของ กทช. และสำนักงาน กทช. ของสำนักบริหารทั่วไป ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช.เสนอ
 
ระเบียบวาระที่   6      :  เรื่องอื่นๆ
ระเบียบวาระที่   6.1   :  การจ่ายค่าตอบแทนประจำปี 2552 : รทช.ฐากรฯ, บค.


มติที่ประชุม             มอบหมายให้ สำนักงาน กทช. ไปดำเนินการจัดทำรายละเอียดข้อมูลเพื่อชี้แจง และยืนยันในประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนตามที่ กทช.สุธรรมฯ ได้เคย   ให้ความเห็นไว้ เพื่อให้เกิดความชัดเจนก่อนที่ กทช. จะพิจารณา และมีมติในเรื่องนี้ต่อไป ดังนี้
1.  ความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดทำ Corporate KPI สำนักงาน กทช. และ KPI รายบุคคลของพนักงานสำนักงาน กทช. แล้วเสร็จ
2.  ความชัดเจนเกี่ยวกับการคิดคำนวณค่าตอบแทนประจำปีที่ผ่านมา โดยใช้ฐานอัตราเงินเดือนที่ถูกต้องมาคิดคำนวณค่าตอบแทนของปีนั้นๆ
3.  ความชัดเจนเกี่ยวกับการจัดทำสัญญาการปฏิบัติงานของพนักงานสำนักงาน กทช. ที่มีระยะเวลากำหนด (Time Contract)

ระเบียบวาระที่   6.2   :   การเดินทางไปศึกษาดูงานเรื่องการบริการอย่างทั่วถึง (USO) และเข้าร่วมการประชุม ITS Asia-Pacific Regional Conference  ณ ประเทศนิวซีแลนด์ : กทช.สุรนันท์ฯ, รทช.ทศพรฯ, รศ.

มติที่ประชุม                  
1.  อนุมัติให้บุคคลภายนอก จำนวน 3 ราย (นายธานีรัตน์  ศิริปะชะนะ,  รศ.นรีวรรณ  จินตกานนท์ เก่งเรียน และนายชาญณรงค์  จันทรโชติ, กรรมการกำหนดนโยบายการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง และบริการเพื่อสังคม) ร่วมในคณะ กทช.สุรนันท์ฯ เพื่อศึกษาดูงานเรื่องการบริการอย่างทั่วถึง (USO) และเข้าร่วมการประชุม ITS Asia-Pacific Regional Conference ในหัวข้อ Telecommunications : Ubiquity and Equity in a Broadband Environment ณ Pipitea Campus มหาวิทยาลัย Victoria กรุงเวลลิงตัน ประเทศนิวซีแลนด์ ระหว่างวันที่ 23 – 29 สิงหาคม 2553 ตามข้อเสนอของ กทช.สุรนันท์ฯ และตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
2.  สำหรับงบประมาณ จำนวน 4,250,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ของ กทช.สุรนันท์ฯ และคณะในการศึกษาดูงานและ   เข้าร่วมการประชุมตามข้อ 1 โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณการดำเนินงานด้าน USO ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปศึกษาดูงานต่างประเทศซึ่ง กทช. ได้มีมติอนุมัติแล้ว

ระเบียบวาระที่   6.3   :   การประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่แนวคิดและกิจกรรมการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz หรือ 3G : กทช.พนาฯ

มติที่ประชุม            
1.  อนุมัติในหลักการโครงการการประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่แนวคิด  และกิจกรรมการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz หรือ 3G ภายในกรอบวงเงินงบประมาณเบื้องต้นจำนวน 20 ล้านบาท ตามข้อเสนอของ กทช.พนาฯ  โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณด้านประชาสัมพันธ์ของสำนักงาน กทช.ที่ได้ตั้งไว้ประจำปี 2553 ตามที่ได้รับอนุมัติกรอบวงเงินไว้แล้วจำนวน 120 ล้านบาท ทั้งนี้ โดยให้เร่งจัดทำรายละเอียดประมาณการค่าใช้จ่ายให้ชัดเจน เพื่อเสนอให้คณะกรรมการพิจารณางบประมาณฯ พิจารณาความเหมาะสมโดยเร็ว เนื่องจากเป็นเรื่องเร่งด่วน ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนของระเบียบเพื่อให้การเบิกจ่ายเป็นไปอย่างถูกต้องต่อไป 
2.  สำหรับการแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะกิจ เพื่อเป็นกลไกรับผิดชอบดำเนินงานโครงการตามข้อ 1 นั้น ให้เร่งนำเสนอ กทช. พิจารณาแต่งตั้งโดยเร็วต่อไป
 
ระเบียบวาระที่ 6.4   :   หลักปฏิบัติการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน  2.1 GHz และการรักษาความปลอดภัยสำหรับการประมูล : กทช. พันเอกนทีฯ, คณะกรรมการเพื่อการอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT หรือ 3G and beyond (คณะกรรมการ 3G)

มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบหลักปฏิบัติการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz ตามที่ กทช.พันเอกนทีฯ และคณะกรรมการเพื่อการอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT หรือ 3G and beyond  เสนอ ทั้งนี้ โดยให้รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมในประเด็นต่างๆ เพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการให้การประมูลใบอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT หรือ 3G and beyond เป็นไปด้วยความเรียบร้อยต่อไป อาทิ การจัดเตรียม Facilitate  และการอำนวยความสะดวกแก่ผู้ยื่นประมูลฯ เรื่องอาหาร การรักษาพยาบาลในกรณีเกิดการเจ็บป่วย ตลอดจนการกำหนดมาตรการเพื่อป้องกันการสมยอมราคาในกรณีที่มีผู้ยื่นประมูลน้อยราย เป็นต้น และหาก กทช.ท่านใดยังมีความเห็นเพิ่มเติม ขอให้แจ้งสำนักงาน กทช. เพื่อรับไปพิจารณาประกอบการดำเนินการในเรื่องนี้ได้ 
2.  เห็นชอบให้ศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย (ศรภ.) เป็นหน่วยรับผิดชอบภารกิจการรักษาความปลอดภัยสำหรับการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz ทั้งนี้ โดยสำนักงาน กทช.จะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย ตามที่ กทช.พันเอกนทีฯ และคณะกรรมการเพื่อการอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT หรือ 3G and beyond  เสนอ
3.  เห็นชอบการแต่งตั้งผู้แทน ศรภ. และ พันเอกอารมณ์  รอดรุ่งเรือง เพิ่มเติมในคณะอนุกรรมการเตรียมการประมูล ตามที่ กทช.พันเอกนทีฯ และคณะกรรมการเพื่อการอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT หรือ 3G and beyond เสนอ
4.  เห็นชอบร่างหนังสือยินยอมเพื่อการรักษาข้อมูลสารสนเทศที่ต้องห้ามเปิดเผย และป้องกันการแสวงประโยชน์โดยมิชอบ และแบบฟอร์มยินยอมในการไม่เปิดเผยข้อมูล (Non-Release Form) ตามที่ กทช.  สุธรรมฯ เสนอ โดยหาก กทช. ท่านใดมีความเห็นเพิ่มเติม ให้จัดส่งความเห็นให้ กทช.สุธรรมฯ เพื่อรับไปพิจารณาปรับปรุงให้เหมาะสมยิ่งขึ้นก่อนนำไปดำเนินการต่อไป
                          
หมายเหตุ                    รายละเอียดร่างหนังสือยินยอมเพื่อการรักษาข้อมูลสารสนเทศที่ต้องห้ามเปิดเผย และป้องกันการแสวงประโยชน์โดยมิชอบ และแบบฟอร์มยินยอมในการไม่เปิดเผยข้อมูล (Non-Release Form) เป็นเอกสารประกอบวาระที่แจกเพิ่มเติมในที่ประชุม    

ระเบียบวาระที่   6.5  :  ร่างประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน พ.ศ. .... : กทช.พันเอกนทีฯ

มติที่ประชุม                
1.  เห็นชอบร่างประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกัน พ.ศ. ....  ตามที่ กทช.พันเอกนทีฯ เสนอ และเพื่อความรอบคอบมากยิ่งขึ้น ขอให้นำร่างประกาศฯ ดังกล่าว ส่งให้ กทช.สุธรรมฯ พิจารณาความครบถ้วน และถูกต้องของถ้อยคำทางกฎหมายอีกครั้งหนึ่ง ก่อนเผยแพร่ลง Website ของสำนักงาน กทช.และจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ตามขั้นตอนต่อไป  
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช.จัดทำหนังสือแจ้งให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายเดิมเตรียมการจัดส่งข้อมูลโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมที่สามารถเปิดให้ใช้ร่วมกันได้ ตามที่กำหนดไว้ในข้อ 26 ของร่างประกาศดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่สามารถดำเนินการได้ทันตามกรอบระยะเวลาที่กำหนดไว้ในร่างประกาศฯ ต่อไป

สร้างโดย  -   (15/3/2559 11:59:59)

Download

Page views: 108