สรุปมติที่ประชุม กทช. 25/2553

มติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
  ครั้งที่ 25/2553
วันพุธที่  18  สิงหาคม  2553  เวลา  09.30  น.
ณ ห้องประชุม ชั้น 12 อาคารอำนวยการ
สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
 
ผู้เข้าประชุม
คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

1.  ศาสตราจารย์ประสิทธิ์                   ประพิณมงคลการ         ประธาน กทช.
2.  นายสุชาติ                                  สุชาติเวชภูมิ                กรรมการ
3.  รองศาสตราจารย์สุธรรม                อยู่ในธรรม                  กรรมการ
4.  นายสุรนันท์                                วงศ์วิทยกำจร              กรรมการ
5.  พันเอก นที                                 ศุกลรัตน์                    กรรมการ
6.  นายบัณฑูร                                 สุภัควณิช                   กรรมการ
7.  รองศาสตราจารย์พนา                   ทองมีอาคม                 กรรมการ 
8.  นายฐากร                                   ตัณฑสิทธิ์                  รองเลขาธิการ กทช.  รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ กทช.
 
ระเบียบวาระที่  1  :   เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ   
 
1.  สถานทูตญี่ปุ่นส่ง e-mail แจ้งว่า Vice Minister for International Affairs , Ministry of Internal Affairs and Communications : MIC หรือเท่ากับกระทรวง ICT ของไทยจะมาเยือนกรุงเทพฯ ในระหว่างวันที่ 23 – 25 สิงหาคม 2553 และในโอกาสนี้ จะขอมาเยี่ยมเยียน กทช. ซึ่งผู้ที่ได้แต่งตั้งเป็น Vice Minister ท่านใหม่ ชื่อ Mr. Tetsuo Yamakawa ซึ่งเคยเป็นอธิบดีกรมวิทยุโทรทัศน์ของ MIC เข้าใจว่าช่วงที่ กทช.พนาฯ ไปคงเคยเจอรัฐมนตรี Tetsuoฯ ในการนี้ ได้ตรวจสอบวันเวลาแล้ว กทช. สะดวกวันที่ 24 สิงหาคม 2553 เวลาประมาณ 16.00 น. ทุกท่านจะสะดวกหรือไม่ เพราะการมาเยี่ยมครั้งนี้ มาอย่างเป็นทางการ กทช. ก็คงจะต้องต้อนรับอย่างเป็นทางการ และถ้าหากช่วงเย็นทางคณะของรัฐมนตรี Tetsuoฯ ว่าง ก็คิดว่าจะเชิญรับประทานอาหารเย็นด้วยกัน เพราะกระทรวง MIC กับสำนักงาน กทช. มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน สำหรับ กทช.สุรนันท์ฯ มีกำหนดการเดินทางไปนิวซีแลนด์แล้ว ก็ไม่เป็นไร 
2.  ในช่วงต้นเดือนกันยายน 2553 ประธาน กทช. จะต้องเดินทางไปเป็น Keynote Speaker ในงาน ISMAC 2010 ที่จัดโดย University of the Philippines กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งตรงกับวันพุธที่ 8 กันยายน 2553 เดิมจะเลื่อนเป็นวันอังคารที่ 7 กันยายน 2553 แต่ระยะนี้การบินไทยมีเที่ยวบินไปต่างประเทศน้อยมาก ไม่สามารถบินไปวันอังคารช่วงเย็นได้ จึงต้องเดินทางไปวันอังคารช่วงเช้า ดังนั้น จะขอให้เลื่อนการประชุมในสัปดาห์นั้น มาเป็นวันจันทร์ที่ 6 กันยายน 2553 ซึ่งได้มีหนังสือเวียนแจ้งไปยัง กทช.ทุกท่านทราบแล้ว
 
หมายเหตุ                  ที่ประชุมได้มีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานในเรื่องสำคัญๆให้ที่ประชุมทราบ สรุปได้ดังนี้
3.  กทช.พันเอก นทีฯ ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินการให้ที่ประชุมทราบ รวม 2 เรื่อง ได้แก่ 
3.1 เรื่อง การจัดงานมหกรรมเทคโนโลยีการสื่อสาร 3.9G (3.9G Thailand Human D.N.A.) ซึ่งได้มีการแถลงข่าวไปเมื่อวานนี้ (วันที่ 17 สิงหาคม 2553) มีผู้ประกอบกิจการรายใหญ่ทั้ง 5 รายของประเทศประสงค์จะเข้าร่วมงานการแสดงเทคโนโลยี 3.9G ในครั้งนี้ โดย บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ได้ประกาศว่าจะนำ 3.9G ของจริง 42 Mbps มาแสดงในงานที่จะเริ่มขึ้นในระหว่างวันที่   8-12 กันยายน 2553 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการประสานงานกราบเรียนเชิญท่านนายกรัฐมนตรีมาเป็นประธาน เนื่องจากในช่วงเวลานั้น สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จไปต่างประเทศ 
3.2  เรื่องการจัดประมูล ๓G ซึ่งกำหนดจะให้ยื่นเอกสารในวันที่ 30 สิงหาคม 2553 ขณะนี้มีผู้มายื่นแล้วจำนวน 8 ราย โดยเป็น 3 ราย คูณสอง ได้แก่  True, DTAC, AIS สำหรับรายที่ 7 ก็คือ บริษัท สามารถไอโมบาย รายที่ 8 บริษัท จัสมินอินเตอร์เนชั่นแนล และคาดว่าจะมีรายที่ 9 บริษัท ล็อกซเล่ย์ ก็ได้ยื่นขอแล้ว แต่เอกสารยังไม่ครบถ้วน สำหรับวันที่ 25-26 สิงหาคม 2553 จะเป็น Information Session โดยคณะกรรมการ 3G จะเป็นผู้อธิบายข้อมูลต่างๆ ในการกรอกเอกสารที่จะยื่นในวันที่ 30 สิงหาคม 2553 และในระหว่างวันที่ 1-15 กันยายน 2553 จะเป็นขั้นตอนการตรวจสอบ คุณสมบัติเบื้องต้น ซึ่งมอบหมายให้ 4 สถาบันการศึกษา ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เป็นผู้ตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น ซึ่งได้ดำเนินการในรายละเอียดทั้งหมดแล้ว โดยจะมีการจัดห้องชั้นที่ 3 และชั้นที่ 4 จำนวนทั้งหมด 4 ห้อง ให้เป็นที่ปฏิบัติงานของแต่ละสถาบัน และภายหลังจากที่ตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว ก็จะมีการประชุมรวม 1 ครั้ง ในลักษณะการพูดคุยทางวิชาการ และจะมีการประกาศผู้ที่ผ่าน Pre-q ทั้งหมดภายในวันที่ 15 กันยายน 2553 โดยในช่วงวันที่ 15-19 กันยายน 2553 จะมีการทดลองการประมูล วันที่ 20 กันยายนก็จะเป็น วันแรกที่จะมีการประมูล ขณะนี้ก็ดำเนินการรายละเอียดในเรื่องของการประมูล ซึ่งในระหว่างวันที่ 20-28 กันยายนจะเป็นช่วงที่มีการประมูล จึงจะขอให้ กทช. ทุกท่านอยู่ในประเทศไทย เพราะว่าในช่วงระยะเวลาการประมูล อำนาจสูงสุดของการตัดสินใจจะอยู่ที่ กทช. ในกรณีที่มีประเด็นปัญหาต่างๆ ก็สามารถที่จะประชุมได้ภายใน 1 ชั่วโมง ซึ่งระยะทางของสถานที่ประมูลจากกรุงเทพ ก็ประมาณ 300 กิโลเมตร  ขณะนี้ก็อยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการพิจารณา และจะนำเสนอให้ที่ประชุม กทช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง สถานที่น่าจะเป็นที่ อ.ปราณบุรี ซึ่งเป็นสถานที่ห้าดาว สามารถโชว์ประเทศไทยได้ และเป็นสัดส่วนสามารถที่อธิบายได้ว่ามีการป้องกันในเรื่องของการประมูลได้เป็นอย่างดี และจะมีการรักษาความปลอดภัยโดยศูนย์รักษาความปลอดภัย ซึ่งขณะนี้ประธาน กทช. ก็ได้ลงนามในหนังสือแจ้งไปยังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และตนเองได้ประสานเป็นการภายในกับท่านรัฐมนตรีแล้ว เพื่อขอให้ท่านพิจารณาอำนวยความสะดวก และในสัปดาห์หน้าจะนำรายละเอียดทั้งหมดเสนอให้ที่ประชุม กทช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ก่อนที่จะดำเนินการทั้งหมด สำหรับเรื่องกราบเรียนนายกรัฐมนตรีฯ เพื่อเป็นประธานเปิดงาน ได้ประสานเป็นการภายในกับทีมงานของท่านนายกรัฐมนตรีฯ ไว้ โดยยึดวันที่ 20 กันยายน 2553 แต่หากกำหนดการแน่นอนแล้ว ก็จะมีหนังสือเรียนเชิญอย่างเป็นทางการต่อไป 
4.  ประธาน กทช. ให้ข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า ในวันที่เปิดประมูล 3G ส่วนใหญ่ กทช.ก็คงไปเป็นสักขีพยาน คงจะใช้เวลาประมูล 3G ประมาณ 7 วัน อาจจะเร็วกว่านั้นหรืออาจจะช้ากว่า 1-2 วัน หากเกิดเหตุที่ปัจจุบันทันด่วนต้องการเรียกประชุมเพื่อตัดสินใจ จะสามารถจัด Video Conference ที่นี่กับที่ปราณบุรีได้หรือไม่ อย่างไรก็ดี ในประเด็นนี้ กทช. พันเอก นทีฯ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า กทช. ทุกท่านควรจะอยู่ในพื้นที่ในระยะเวลาที่จะสามารถที่จะไปยังสถานที่ประมูลได้ในระยะเวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง โดยพิธีเปิดอาจจะกำหนดที่กรุงเทพฯ เพื่อที่จะเชิญสักขีพยานจำนวนมากๆ ได้ และหลังจากที่มีพิธีเปิดเรียบร้อยแล้ว ก็มีการประมูลในสถานที่จริง โดยจะอนุญาตให้ผู้เข้าร่วมประมูลแต่ละรายมีจำนวนจำกัดที่สุด สำหรับการแถลงข่าวจะแถลงข่าวตามระยะเวลา เพื่อให้สื่อมวลชนสามารถที่จะติดตามได้ โดยอาจจะมีการ Delay 2-3 ชั่วโมง เพื่อไม่ให้ข้อมูลนั้นไปเอื้อประโยชน์กับการที่จะใช้ในการประมูลได้ 
5.  ประธาน กทช. ได้ฝากเรื่อง Logistic ให้ท่าน ร/ก ลทช. ดูแลในช่วงระหว่างการประมูล ก่อนประมูล 1 วัน หลังประมูล 1 วัน นอกจากนี้ ประธาน กทช. ได้ให้ข้อคิดเห็นเรื่องการมอบหมายให้ Site Manager หรือ กทช. ดูแลในกรณีเกิดเหตุการณ์ที่มีผลกระทบต่อการประมูล โดยอาจมอบหมายประธานกรรมการ 3G ที่ดูแลเรื่องการประมูลฯ โทรศัพท์เข้ามาหารือ กทช. ในกรณีที่มีเหตุการณ์สำคัญๆ เกิดขึ้น อาทิ การเกิดไฟไหม้ อุทกภัย ที่ไม่สามารถคาดเดาได้ หรือปัญหา software 
6.  กทช. พันเอก นทีฯ ได้ชี้แจง Scenario ต่างๆ ในกรณีเกิดเหตุการณ์สำคัญๆ ที่มีผลกระทบต่อการประมูลเหล่านี้ว่า อยู่ในแผนรักษาความปลอดภัยแล้ว โดยมีส่วนหนึ่งเรียกว่า แผนเผชิญเหตุ ซึ่งก็ได้คำนึงถึงเรื่องเหล่านี้ไว้ด้วยแล้ว นอกจากนี้ กทช. พนาฯ ได้ให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมด้วยว่า กทช. ควรจะอยู่ ณ สถานที่ประมูลหรือที่สำนักงาน กทช. แต่จะต้องพร้อมทันทีเมื่อมีเหตุการณ์จำเป็นต้องร่วมกันตัดสินใจ 
7.  นอกจากนี้ กทช.สุธรรมฯ ได้เรียนเสริม กทช. พันเอก นทีฯ ด้วยว่าการจะเดินทางไป Thailand Road Show and Investor ‘s Day เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การลงทุนในต่างประเทศนั้น มี Book up เต็มตลอด โดยท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายกรณ์ จาติกวณิช) ให้เราไปร่วมรับประทานอาหารค่ำ (Dinner) ด้วยในวันที่ 26 สิงหาคม 2553 แต่ข่าวออกในหนังสือพิมพ์ว่าไม่มีคนสนใจ ปัญหาตอนนี้คือเราจัดคนลงไปไม่พอ อย่างไรก็ดี นับเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมากที่จะไป Road Show ในครั้งนี้ ซึ่งในภูมิภาคนี้ยังไม่มีประเทศใดเปิดประมูลเช่นเดียวกับประเทศไทยมาก่อน 
8.  กทช. พันเอก นทีฯ ได้เรียนชี้แจงกำหนดการจะมีการลงทะเบียนของผู้ที่จะเข้าร่วมประมูลทั้งหมดที่สำนักงาน กทช. และมีรถนำขบวนไปที่สถานที่ประมูลพร้อมกันทั้งหมด หากลงทะเบียนช่วง 8 โมงเช้า ก็คาดว่าจะมีพิธีเปิดช่วงประมาณเที่ยงวัน โดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เมื่อกดปุ่มเปิดการประมูลที่สำนักงาน กทช. แล้ว ณ สถานที่ประมูลก็จะเริ่มการประมูลรอบที่หนึ่งได้ทันที 
9.  รทช.ฐากรฯ ได้นำเรียนให้ที่ประชุมทราบว่า เมื่อวานนี้ประธาน กทช. มอบหมายให้รับหนังสือเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคที่มายื่นหนังสือให้กำลังใจ กทช. เรื่อง ความก้าวหน้าการดำเนินงานของ 3G และการที่ กทช. มีมติยืนยันการเปิดให้บริการการคงสิทธิเลขหมายไว้ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ซึ่งได้นำเรียนประธาน กทช. ทราบเรียบร้อยแล้ว
10.  ประธาน กทช. ได้หารือ กทช. บัณฑูรฯ เรื่องการจัดสัมมนางบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ของสำนักงาน กทช. ก่อนที่จะเข้าสู่กระบวนการประมูล 3G ที่ปราณบุรี ซึ่ง กทช.บัณฑูรฯ จะขอรับไปหารือกับฝ่ายเลขานุการ เพื่อเตรียมการให้เป็นไปตามปฏิทินงบประมาณที่กำหนด และให้สอดคล้องกับระยะเวลาการประมูล 3G โดยอาจจะจัด Session ขึ้นมา เพื่อให้ กทช. ได้มอบหมายนโยบายให้สำนักงาน กทช. ไปดำเนินการ โดยจะขอตรวจสอบความเหมาะสมของปฏิทินงบประมาณอีกครั้งหนึ่ง

มติที่ประชุม            
1.  รับทราบเรื่องตามที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ และมอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2.  รับทราบการรายงานความคืบหน้าการจัดงานมหกรรมเทคโนโลยีการสื่อสาร 3.9G ในระหว่างวันที่ 8-12 กันยายน 2553 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ และรายงานสถานะล่าสุดของจำนวนผู้ยื่นเอกสารเพื่อเข้าประมูล 3G ตลอดจนความคืบหน้าการจัดเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ของการจัดประมูล 3G ทั้งในเรื่องกระบวนการขั้นตอนการตรวจสอบเอกสารของผู้ยื่นประมูล การประชุมชี้แจงรายละเอียดแก่ผู้ยื่นประมูล การรักษาความปลอดภัย ณ สถานที่จัดประมูล รวมถึงพิธีการและขั้นตอนการเปิดการประมูล ทั้งนี้ โดยขอความร่วมมือ กทช. ทุกท่านอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียง หรือ ณ สถานที่จัดการประมูล กรณีมีเหตุจำเป็นต้องมีการตัดสินใจของ กทช. ตามที่ กทช. พันเอก นทีฯ เสนอ และมอบหมายให้สำนักงาน กทช. ดูแลเรื่อง Logistic ในช่วงก่อนและหลังการประมูล 3G ให้เรียบร้อยด้วย
3.  รับทราบการจะเดินทางไป Thailand Road Show and Investor ‘s Day เพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การลงทุนในต่างประเทศ ในช่วงปลายเดือนสิงหาคม และต้นเดือนกันยายน 2553 โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง (นายกรณ์ จาติกวณิช) ได้เชิญเข้าร่วมรับประทานอาหารค่ำ (Dinner)ด้วยในวันที่ 26 สิงหาคม 2553 จึงนับเป็นกิจกรรมที่น่าสนใจมากที่จะไป Road Show ในครั้งนี้ ซึ่งในภูมิภาคนี้ยังไม่มีประเทศใดเปิดประมูลเช่นเดียวกับประเทศไทยมาก่อน ตามที่ กทช. สุธรรมฯ แจ้งต่อที่ประชุม
4.  รับทราบเรื่องสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคและเครือข่ายมายื่นหนังสือให้กำลังใจ กทช. เรื่อง ความก้าวหน้าการดำเนินงาน 3G และกรณี กทช. ยืนยันเรื่องการคงสิทธิเลขหมาย ให้ผู้ประกอบการดำเนินการภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ตามที่ รทช. รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ กทช. รายงานให้ที่ประชุมทราบ
 
ระเบียบวาระที่  2      :   รับรองรายงานการประชุม กทช. ครั้งที่ 24/2553 วันพุธที่ 11 สิงหาคม 2553

มติที่ประชุม              
1.  รับรองมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 24/2553 วันพุธที่ 11 สิงหาคม 2553 ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ โดยมีข้อแก้ไขตามที่ กทช. ขอให้แก้ไข ดังนี้ 
1.1  ให้แก้ไขข้อความมติที่ประชุมในวาระที่ 4.2 หน้า 8 และ 9 ดังนี้
1) ในหน้า 8 ข้อ 1  เพิ่มเติมข้อความเป็นดังนี้ “ 1. รับรองรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิจำนวน 9 ราย ตามที่ กทช.เสนอ เพื่อพิจารณากลั่นกรองและดำเนินการในขั้นต่อไปก่อนแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท (กวพ.) ชุดใหม่ต่อไป ประกอบด้วย...... ” 
2) ในหน้า 9 ข้อ 2 ปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำใหม่เป็นดังนี้  “ มอบหมายให้สำนักงาน กทช. โดยหารือร่วมกับ กทช.สุธรรมฯ เพื่อพิจารณากลั่นกรอง พร้อมตรวจสอบคุณสมบัติ และประวัติของผู้ทรงคุณวุฒิตามข้อ 1 ให้ถูกต้อง และเหมาะสมตามที่ประกาศกำหนดไว้อีกครั้งหนึ่ง ก่อนมีคำสั่งแต่งตั้งต่อไป ”
1.2  ให้แก้ไขข้อความมติที่ประชุมในวาระที่ 6.2 หน้า 20 ข้อ 2 จากเดิม “ อนุมัติงบประมาณ....” เป็น “ สำหรับงบประมาณ....”
1.3  ให้แก้ไขข้อความมติที่ประชุมในวาระที่ 6.4 หน้า 22 ข้อ 4 จากเดิม “เห็นชอบในหลักการร่างหนังสือ ....” เป็น “เห็นชอบร่างหนังสือ ....”
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะของที่ประชุมเพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไป ดังนี้
2.1 ควรดำเนินการจัดฝึกอบรมคณะกรรมการ กวพ. ก่อนทำหน้าที่อย่างน้อย 1 สัปดาห์ และให้มีการทดสอบความรู้ อาทิ เรื่อง การใช้และเชื่อมต่อโครงข่าย การแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม เป็นต้น (วาระที่ 4.2)
2.2 ประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนได้รับทราบกรณี กทช. มีมติอนุมัติการออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ชั่วคราว (กิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก) จำนวน 3 ราย (7 ใบอนุญาต) เนื่องจากเป็นครั้งแรกที่มีการออกใบอนุญาตให้กับผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิกหรือ Cable TV (วาระที่ 4.6)
2.3 จัดพิมพ์รายงานผลคุณภาพสัญญาณของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ประกอบการตามโครงการศึกษาสำรวจข้อมูลสาขาสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศไทย เป็นรูปเล่ม เพื่อเผยแพร่ผลงานของสำนักงาน กทช. ให้สาธารณชนได้รับทราบ (วาระที่ 5.3)
 

ระเบียบวาระที่   3    :   รายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 24/2553 วันพุธที่ 11 สิงหาคม 2553

มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบให้เลื่อนการนำเสนอรายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 24/2553 วันพุธที่ 11 สิงหาคม 2553 ให้ที่ประชุมทราบในการประชุม กทช. ครั้งต่อไป ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ 
2.  เห็นชอบตามข้อเสนอของ รทช.ฐากรฯ ร/ก ลทช. โดยจะเน้นการรายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ในเรื่องที่ยังไม่แล้วเสร็จให้ที่ประชุมทราบ รวมถึงการชี้แจงข้อมูลที่เกี่ยวข้อง (ถ้ามี) เพื่อประกอบการรายงานให้ชัดเจนยิ่งขึ้น
 
ระเบียบวาระที่   4      :   เรื่องเพื่อพิจารณา   
ระเบียบวาระที่   4.1   :   ความเห็นประกอบระเบียบวาระการประชุม กทช. : กทช. สุธรรมฯ
- เรื่องรายงานการประเมินผลกระทบจากการกำกับดูแลเพื่อยกเลิกกฎระเบียบและประกาศของกรมไปรษณีย์โทรเลข (วาระที่ 4.6 ครั้งที่ 7/2553 : ฉก.)


มติที่ประชุม               รับทราบและเห็นชอบผลการพิจารณาเรื่องรายงานการประเมินผลกระทบจากการกำกับดูแลเพื่อยกเลิกกฎระเบียบและประกาศของกรมไปรษณีย์โทรเลข ตามความเห็นของ กทช.สุธรรมฯ ที่ได้รับมอบอำนาจจากที่ประชุม กทช. ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ดังนี้
1.  อนุมัติรายงานการประเมินผลกระทบจากการกำกับดูแล เพื่อยกเลิกกฎระเบียบและประกาศของกรมไปรษณีย์โทรเลขและดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช. จัดทำร่างระเบียบและประกาศให้แล้วเสร็จตามกระบวนการ พร้อมทั้งนำเสนอที่ประชุม กทช. ภายใน 30 วัน
2.  มอบอำนาจให้ กทช.สุธรรมฯ และกทช. บัณฑูรฯ เป็นผู้กำกับการดำเนินงานตามมติที่ประชุม กทช. ในเรื่องนี้ให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนด
- เรื่องการสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น (วาระที่ 4.7 ครั้งที่ 7/2553 : ฉก.)

มติที่ประชุม              รับทราบและเห็นชอบผลการพิจารณาเรื่องการสอบเพื่อรับประกาศนียบัตรพนักงานวิทยุสมัครเล่นขั้นต้น ตามความเห็นของ กทช.สุธรรมฯ ที่ได้รับมอบอำนาจจากที่ประชุม กทช. ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ซึ่งพิจารณาเห็นควรให้มีการแก้ไขระเบียบ กทช. ว่าด้วยกิจการวิทยุสมัครเล่น พ.ศ. 2550 ในส่วนของคุณสมบัติของผู้เข้ารับการสอบ และคุณสมบัติของผู้เข้ารับการอบรมและสอบ เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันและไม่เกิดความลักลั่นระหว่างผู้เข้ารับการสอบกับผู้เข้ารับการอบรมและสอบ
- ร่างระเบียบ กทช. ว่าด้วยกิจการวิทยุสมัครเล่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 (วาระที่ 4.7 ครั้งที่ 7/2553)

มติที่ประชุม                รับทราบและเห็นชอบผลการพิจารณาเรื่อง ร่างระเบียบ กทช. ว่าด้วยกิจการวิทยุสมัครเล่น (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 ตามความเห็นของ กทช.สุธรรมฯ   ที่ได้รับมอบอำนาจจากที่ประชุม กทช. ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ซึ่งพิจารณาเห็นว่า จากรายงานการตรวจสอบการใช้ความถี่วิทยุ ลงวันที่ 5 พฤศจิกายน 2552 พบว่าช่องสัญญาณและความถี่วิทยุตามตารางข้อ 1.3 ของภาคผนวก 4 แนบท้ายระเบียบ กทช.  ว่าด้วยกิจการวิทยุสมัครเล่น พ.ศ. 2550 มีความคลาดเคลื่อนของตัวเลขความถี่วิทยุในตารางความถี่ช่องที่ 36 58 59 และ 60 ประกอบกับในการประชุม กทช. ครั้งที่ 37/2552 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2553 ได้อนุมัติให้เพิ่มการใช้ความถี่วิทยุย่านสมัครเล่นขั้นกลางขึ้นอีก 100 KHz จากเดิม 7.00-7.100 MHz เป็น 7.000-7.200 MHz เพื่อให้เป็นไปตามมติที่ประชุมใหญ่ระดับโลกว่าด้วยวิทยุคมนาคม ค.ศ. ๒๐๐๓ (WRC-๐๓) จึงเห็นควรให้มีการแก้ไขตัวเลขความถี่วิทยุ เพื่อให้เป็นไปตามมติ กทช. ครั้งที่  37/2553 เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากความคลาดเคลื่อนของตัวเลขความถี่วิทยุในตารางคลื่นความถี่ดังกล่าวต่อไป
- การขอความอนุเคราะห์แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ กทช. โดยเครือข่ายองค์กรวิทยุภาคประชาชนแห่งชาติ (วาระที่ 4.11 ครั้งที่ 7/2553 : กส.)

มติที่ประชุม                รับทราบและเห็นชอบผลการพิจารณาเรื่อง การขอความอนุเคราะห์แก้ไขเพิ่มเติมประกาศ กทช. โดยเครือข่ายองค์กรวิทยุภาคประชาชนแห่งชาติ ตามความเห็นของ กทช.สุธรรมฯ ที่ได้รับมอบอำนาจจากที่ประชุม กทช. ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ซึ่งพิจารณาแล้ว  เห็นด้วยกับคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ว่า ในชั้นนี้ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องแก้ไขประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) เนื่องจากยังไม่มีปัญหาจากการบังคับใช้ ประกอบกับประกาศ กทช. ดังกล่าว ออกมาตามกระบวนการที่ชอบแล้ว โดยมีการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะหลายครั้ง และมีการอ้างอิงมาตรฐานทางเทคนิคและมาตรฐานโลกที่ประเทศไทยมีพันธะผูกพัน
- ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา พ.ศ. .... (วาระที่ 4.12 ครั้งที่ 7/2553 : กส.)

 มติที่ประชุม               รับทราบและเห็นชอบผลการพิจารณาเรื่อง ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการบริหารกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา พ.ศ. .... ตามความเห็นของ กทช.สุธรรมฯ ที่ได้รับมอบอำนาจจากที่ประชุม กทช. ตามมติที่ประชุมครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ซึ่งพิจารณาแล้ว เห็นควรอนุมัติและสนับสนุนรัฐบาล ประกอบกับการจัดทำร่างระเบียบดังกล่าวเป็นการแก้ไขกฎหมายเดิมที่จำกัดไว้เพียงการป้องปรามการละเมิดลิขสิทธิ์ แต่ด้วยเหตุที่การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในปัจจุบันมิได้จำกัดอยู่เพียงการละเมิดลิขสิทธิ์เพียงอย่างเดียวเท่านั้น จึงสมควรที่จะขยายขอบเขตการบริหารกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องปรามการละเมิดให้กว้างขึ้น เพื่อให้ครอบคลุมถึงการป้องปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาทุกประเภท ซึ่งการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวทำให้รัฐบาลรับภาระในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาได้ดียิ่งขึ้น และเป็นการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ประเทศไทยมีไว้กับนานาอารยประเทศ

ระเบียบวาระที่ 4.2 :  แจ้งรายนามเพิ่มเติมคณะเดินทางเพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การลงทุนในประเทศไทย (Thailand Road show and Investor’s Day)  ณ ประเทศฮ่องกง ในวันที่ 23 สิงหาคม 2553  ประเทศสิงค์โปร์ในวันที่ 27 สิงหาคม 2553 และสหราชอาณาจักรในสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน 2553 : กทช. สุธรรมฯ, กทช. พันเอก นทีฯ

มติที่ประชุม              
1.  อนุมัติให้บุคคลภายนอก (นายชนิตร  ชาญชัยณรงค์ ผู้ช่วยผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย) และ รทช.ประเสริฐฯ ร่วมในคณะเดินทางเพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การลงทุนในประเทศไทย (Thailand Road show and Investor’s Day) ณ ประเทศฮ่องกง ในวันที่ 23 สิงหาคม 2553  ประเทศสิงค์โปร์ในวันที่ 27 สิงหาคม 2553 และสหราชอาณาจักรในสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน 2553 ตามที่ กทช. สุธรรมฯ เสนอ
2.  อนุมัติให้บุคคลภายนอก (นายต่อพงศ์  เสลานนท์ กรรมการเพื่อการอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT หรือ 3G and beyond) พร้อมพนักงานสำนักงาน กทช. จำนวน 5 คน ร่วมในคณะเดินทางเพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การลงทุนในประเทศไทย (Thailand Road show and Investor’s Day) ณ ประเทศฮ่องกง ในวันที่ 23 สิงหาคม 2553  ประเทศสิงค์โปร์ในวันที่ 27 สิงหาคม 2553 และสหราชอาณาจักรในช่วงต้นเดือนกันยายน 2553 ตามรายละเอียดที่ กทช. พันเอก นทีฯ เสนอ
          ทั้งนี้ ให้สำนักงาน กทช. ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางตามข้อ 1 และ 2 ให้เป็นไปตามระเบียบต่อไป

ระเบียบวาระที่  4.3   :  การประชุมหารือความร่วมมือเพิ่มเติมระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติและศูนย์การศึกษาวิจัยเศรษฐศาสตร์ทางสื่อและตลาดอิเล็กทรอนิกส์แห่ง Curtin University of Technology : กทช. สุธรรมฯ

มติที่ประชุม               อนุมัติในหลักการให้ กทช. และเจ้าหน้าที่สำนักงาน กทช. จำนวนไม่เกิน  8 คน เดินทางไปประชุมหารือความร่วมมือเพิ่มเติมระหว่างสำนักงาน กทช. และศูนย์การศึกษาวิจัยเศรษฐศาสตร์ทางสื่อและตลาดอิเล็กทรอนิกส์แห่ง Curtin University of Technology เมืองเพิร์ท ประเทศออสเตรเลีย ระหว่างวันที่ 8-11 กันยายน 2553 ภายในกรอบวงเงิน 1,466,000.- บาท โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายปี 2553 โครงการความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศของสำนักกิจการกรรมการ อนึ่ง หากมีความจำเป็นให้สามารถเปลี่ยนแปลงวันเวลาในการเดินทางได้ ทั้งนี้ ให้สำนักทรัพยากรบุคคลทำหน้าที่ประสานงานต่อไปตามที่ กทช. สุธรรมฯ เสนอ

ระเบียบวาระที่ 4.4 :  คำชี้ขาดข้อพิพาทระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) : กทช. พนาฯ, รทช. ฐากรฯ , กม.

มติที่ประชุม               เนื่องจากในการพิจารณาเรื่องนี้ มีประเด็นสำคัญซึ่งที่ประชุมยังไม่อาจหาข้อสรุปที่ชัดเจนร่วมกันได้ ได้แก่ การพิจารณากำหนดวันที่คู่กรณีจะมีสิทธิเรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายจากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ดังนั้น เพื่อให้เกิดความรอบคอบมากยิ่งขึ้นก่อนการพิจารณาตัดสินใจที่ประชุมจึงมีมติมอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปจัดทำข้อวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงเศรษฐศาสตร์เพิ่มเติม เพื่อประมาณการตัวเลขผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเปรียบเทียบกันใน 2 กรณี ได้แก่ การกำหนดให้สิทธิเรียกเก็บค่า IC เกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่คู่กรณีได้รับทราบ คำชี้ขาดข้อพิพาทของ กทช. ซึ่ง กทช. ชุดเดิมโดยเสียงข้างมากได้เคยมีมติไว้ในการประชุมครั้งที่ 3/2553 วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 กรณีคำชี้ขาดข้อพิพาทระหว่าง บมจ.DTAC และ บมจ. กสท โทรคมนาคม และกรณีการกำหนดให้สิทธิเรียกเก็บค่า IC เกิดขึ้นนับตั้งแต่วันที่ประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 มีผลบังคับใช้ เพื่อประกอบการพิจารณา รวมทั้งข้อวิเคราะห์ในเชิงกฎหมายต่อคู่กรณีที่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดเดิมแล้ว จะมีผลกระทบมากน้อยอย่างไร แล้วให้นำเสนอ กทช.พิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
    
ระเบียบวาระที่  4.5   :  คำชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) : กทช. พนาฯ, รทช.ฐากรฯ, กม.

มติที่ประชุม            มอบหมายให้สำนักงาน กทช. ไปดำเนินการจัดทำข้อวิเคราะห์เพิ่มเติมทั้งในเชิงเศรษฐศาสตร์ และกฎหมายเพิ่มเติม เช่นเดียวกับมติที่ประชุมในวาระที่ 4.4 แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช. ในครั้งต่อไป ทั้งนี้ เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจชี้ขาดข้อพิพาทของ กทช.ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้อย่างถูกต้อง และรอบคอบเป็นบรรทัดฐานเดียวกันในประเด็นการพิจารณากำหนดวันที่คู่กรณีจะมีสิทธิเรียกเก็บค่าตอบแทนการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายจากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง 
         
ระเบียบวาระที่  4.7   :  การแต่งตั้งคณะกรรมการมาตรฐาน กทช. : รทช.ฐากรฯ, ปธ., วท.

มติที่ประชุม              เนื่องจากคณะกรรมการมาตรฐาน กทช. เป็นคณะกรรมการที่ได้รับการแต่งตั้งและปฏิบัติงานต่อเนื่องมาจากคณะกรรมการ กทช. ชุดก่อน จนถึงคณะกรรมการ กทช. ชุดปัจจุบัน ซึ่งมี กทช. ใหม่ 4 ท่านเข้ามารับตำแหน่ง จึงสมควรพิจารณาการแต่งตั้งคณะกรรมการมาตรฐาน กทช. ให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปดังกล่าว ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติมอบหมายให้ กทช. เสนอรายชื่อบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิ (มากกว่า 1 รายชื่อก็ได้) ที่สมควรพิจารณาแต่งตั้งให้เป็นคณะกรรมการมาตรฐาน กทช. พร้อมประวัติ เพื่อให้สำนักงาน กทช. (สำนักประธานกรรมการ) รวบรวมรายชื่อเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาความเหมาะสม และแต่งตั้งต่อไป ทั้งนี้ ขอให้สำนักงาน กทช. แจ้ง กทช. สุธรรมฯ และ กทช. บัณฑูรฯ ได้รับทราบด้วย เนื่องจาก กทช. ทั้งสองท่านไม่อยู่ในที่ประชุมในช่วงของการพิจารณาระเบียบวาระนี้
 
ระเบียบวาระที่   4.15   :  บริษัท เทเลคอม แอคเซส คอมมิวนิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด  ขออุทธรณ์การขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง : รทช. ประเสริฐฯ, ปก. 

มติที่ประชุม             ที่ประชุมมีมติไม่รับอุทธรณ์และให้ยืนตามมติ กทช.ครั้งที่ 6/2553 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2553 ซึ่งไม่อนุมัติให้บริษัท เทเลคอม แอคเซส คอมมิวนิเคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง ประเภทขายต่อบริการ Trunk Radio จากบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ

ระเบียบวาระที่  4.16  :   ยกเลิกการให้บริการไทยแพ็ค (ThaiPak) ในและระหว่างประเทศของ บมจ. กสท โทรคมนาคม : รทช. ประเสริฐฯ, ปก.
 

มติที่ประชุม               อนุมัติให้ บมจ.กสท โทรคมนาคม ยกเลิกการให้บริการไทยแพ็ค (ThaiPak) ในและระหว่างประเทศ ตามข้อวิเคราะห์ และความเห็นของสำนักงาน กทช.ที่เสนอ ทั้งนี้ โดย บมจ. กสทฯ ต้องดำเนินการตามแผนการรองรับการยกเลิกการให้บริการไทยแพ็ค (ThaiPak) ตามที่กำหนดมาตรการรองรับสำหรับลูกค้าที่มีอยู่เดิมไว้แล้ว โดยแจ้งหรือประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการได้รับทราบล่วงหน้า  เพื่อมิให้เกิดผลกระทบภายหลังการยกเลิก

ระเบียบวาระที่   4.17  :  บริษัท รีช คอมมูนิเคชั่นส์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด  ขออนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สอง :รทช. ประเสริฐฯ, ปก. 

มติที่ประชุม              อนุมัติให้ บจ.รีช คอมมูนิเคชั่นส์ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่สอง ที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง สำหรับบริการวงจรเสมือนส่วนบุคคล (VPN) และบริการขายส่งบริการ VPN  โดยให้มีระยะเวลาการอนุญาต 5 ปี ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ ทั้งนี้ โดยกำหนดเงื่อนไขให้บริษัทฯ ต้องปฎิบัติตามหลักเกณฑ์ว่าด้วย การกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวที่จะประกาศกำหนดต่อไปในอนาคตด้วย (Subject to Future Regulation)
       
ระเบียบวาระที่  4.18  :  การตรวจสอบขอบเขตการดำเนินงานของบริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด : รทช. ประเสริฐฯ, ปก. 

มติที่ประชุม              ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่า บวท. ได้รับอนุญาตการให้บริการเพื่อปฏิบัติภารกิจเป็นผู้ดำเนินการเกี่ยวกับการควบคุมจราจรทางอากาศ การสื่อสารการบิน และบริการอื่นที่เกี่ยวเนื่องกับการปฏิบัติการทางด้านการบิน โดยมีกลุ่มผู้ใช้บริการเป็นหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบิน และการขนส่งพลังงาน ทั้งนี้ เป็นไปเพื่อความปลอดภัยและความมั่นคงของประเทศ อีกทั้งเป็นการดำเนินงานตามแนวนโยบายของรัฐ นอกจากนี้การให้บริการดังกล่าวไม่มีผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อการแข่งขันหรือผู้บริโภคโดยตรง ดังนั้น  ที่ประชุมจึงมีมติว่า การให้บริการของ บวท. ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเอง และให้บริการอยู่ภายใต้ขอบเขตภารกิจของตนเองที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติการด้านการบิน และเฉพาะกลุ่มผู้ใช้บริการที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งพลังงาน ยังคงอยู่ภายใต้ขอบเขตของใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 2 ตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ตามข้อวิเคราะห์ และความเห็นของสำนักงาน กทช. ที่เสนอ และโดยที่คลื่นความถี่เป็นทรัพยากรสื่อสารของชาติ จึงควรใช้อย่างจำกัด และเฉพาะเรื่องที่เกิดประโยชน์แก่ผู้ขอใช้คลื่นโดยตรงภายใต้เงื่อนไขและคลื่นความถี่เท่าที่จำเป็นและเพียงพอต่อการใช้งานตามวัตถุประสงค์ของบริษัทผู้รับอนุญาต (กิจการวิทยุการบิน) เท่านั้น                   
ระเบียบวาระที่  4.20  :  การปรับปรุงประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง : รทช. ประเสริฐฯ, ปก. 

มติที่ประชุม                มอบหมายให้ สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปวิเคราะห์เพิ่มเติมถึงผลกระทบในการกำกับดูแล และข้อดี ข้อเสีย จากการปรับปรุงประกาศฯ ว่าจะเป็นอย่างไร (การจัดทำรายงาน RIA เบื้องต้น)  รวมทั้งการวิเคราะห์ถึงผลกระทบกับ Stakeholders ทั้งต่อผู้ประกอบการรายเดิม และผู้ประกอบการรายใหม่ด้วย รวมทั้งให้ขอรับความเห็นจาก กทช. สุธรรมฯ ก่อนนำเสนอเพื่อประกอบการพิจารณาของ กทช. อีกครั้งหนึ่ง
  
ระเบียบวาระที่   4.21  :   ร่างประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง กระบวนการออกใบอนุญาตแบบอัตโนมัติ (Automatic License) (ฉบับที่ 3) : รทช. ประเสริฐฯ, ปก. 

มติที่ประชุม              เห็นชอบร่างประกาศ กทช. เรื่อง กระบวนการออกใบอนุญาตแบบอัตโนมัติ (Automatic License) (ฉบับที่ 3) ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ ทั้งนี้ ให้สำนักงาน กทช. นำร่างประกาศดังกล่าวเสนอประธาน กทช. เพื่อลงนามก่อนนำลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามขั้นตอนเพื่อให้มี ผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการต่อไป
 
ระเบียบวาระที่  4.22  :  การให้บริการวิทยุคมนาคมเฉพาะกิจระบบ Trunked Radio ของ บมจ. กสท โทรคมนาคม (การขอขยายเวลาฯ ตามมติ กทช.) : รทช. ประเสริฐฯ, ปก. 

มติที่ประชุม               รับทราบการขอขยายเวลาการดำเนินการตามมติ กทช. ครั้งที่ 11/2553 เมื่อวันที่ ๖ พฤษภาคม 2553 เรื่อง การให้บริการวิทยุคมนาคมเฉพาะกิจระบบ Trunked Radio ของ บมจ. กสท โทรคมนาคม เนื่องจากในช่วงวันที่ 17-21 พฤษภาคม 2553 รัฐบาลประกาศให้เป็นวันหยุดราชการจากสถานการณ์ความไม่สงบ และด้วยเหตุผลความจำเป็นที่ต้องใช้เวลาในการประมวลรวบรวมข้อมูลจากสำนักต่างๆ ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
  
ระเบียบวาระที่  4.26  :  บริษัท ทริปเปิลที โกลบอลเน็ท จำกัด แจ้งขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง หลังใบอนุญาตสิ้นอายุ : รทช. ประเสริฐฯ, ปก. 

มติที่ประชุม            ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่า โดยที่ บจ.ทริปเปิลที โกลบอลเน็ท ได้ยื่นคำขอต่ออายุเกินกว่ากำหนดจากวันที่ใบอนุญาตหมดอายุ ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดในการให้บริการโดยไม่มีใบอนุญาตนับตั้งแต่วันที่ใบอนุญาตหมดอายุลงเป็นต้นมา อย่างไรก็ดี บริษัทฯได้ยืนยันความประสงค์ขอต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่หนึ่ง (บริการบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และบริการโทรศัพท์สาธารณะ) ประกอบกับได้ยืนยันการปฏิบัติตามระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ คำสั่ง หรือข้อกำหนดใดๆ อันเกี่ยวกับการประกอบกิจการและเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตแล้ว อีกทั้งเพื่อมิให้กระทบกับผู้ใช้บริการที่มีอยู่กว่า 800 ราย จึงเห็นควรผ่อนผันให้ต่ออายุใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่หนึ่ง (บริการบัตรโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และบริการโทรศัพท์สาธารณะ) ให้แก่ บจ.ทริปเปิลที โกลบอลเน็ท  ทั้งนี้ โดยให้เปรียบเทียบปรับ บจ.ทริปเปิลที โกลบอลเน็ท ในช่วงระยะเวลานับตั้งแต่ที่ใบอนุญาตหมดอายุลง ตามที่ พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ และประกาศ กทช. ที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ต่อไป เนื่องจาก ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว บริษัทฯ ได้เปิดให้บริการโดยไม่มีใบอนุญาต 
 
ระเบียบวาระที่  4.44  :  การขอยกเลิกใช้งานเลขหมายโทรคมนาคม พิเศษ 1756 ของบริษัท อรนลิน จำกัด : รทช. ประเสริฐฯ, กบ. 

มติที่ประชุม               อนุมัติให้ยกเลิกใช้งานเลขหมายโทรคมนาคม พิเศษ 1756 ของบริษัท  อรนลิน จำกัด และรับคืนเลขหมายโทรคมนาคมพิเศษดังกล่าว โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 13 สิงหาคม 2553 ทั้งนี้ ตามข้อ 75(1) ของประกาศ กทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ.2551 ตามความเห็นของคณะกรรมการเลขหมายโทรคมนาคม
 
ระเบียบวาระที่ 4.45 : การดำเนินการปรับเปลี่ยนเลขหมายโทรคมนาคมมาตรฐาน สำหรับโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่ : รทช. ประเสริฐฯ, กบ. 

มติที่ประชุม                
1.  อนุมัติให้ผู้ประกอบการ จำนวน 4 ราย ได้แก่ บมจ.กสท โทรคมนาคม บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์, บจ.ทรู พับลิค คอมมิวนิเคชั่น และ บจ.ทรู ยูนิเวอร์แซล คอนเวอร์เจนซ์ ดำเนินการปรับเปลี่ยนเลขหมายโทรคมนาคมมาตรฐาน สำหรับโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่ ในกลุ่มเลขหมาย 037 ที่ใช้งานในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และจันทบุรีอยู่เดิม เพื่อปรับมาใช้ในกลุ่ม 033 ภายในระยะเวลา 6 เดือนนับแต่วันที่ กทช. มีมติ
2.  อนุมัติให้ผู้ประกอบการ จำนวน 3 ราย ได้แก่ บมจ.กสท โทรคมนาคม บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ และ บจ.ทรู ยูนิเวอร์แซล คอนเวอร์เจนซ์ ดำเนินการปรับเปลี่ยนเลขหมายโทรคมนาคมมาตรฐาน สำหรับโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่ ในกลุ่มเลขหมาย 054 ที่ใช้งานในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน และเชียงรายอยู่เดิม เพื่อปรับมาใช้ในกลุ่ม 052 ภายในระยะเวลา 6 เดือน นับแต่วันที่ กทช. มีมติ
              ทั้งนี้ ให้ยกเว้นค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคมเพิ่มเติมในกลุ่มเลขหมาย 033 และ 052 เป็นระยะเวลา 3 เดือนแรก และให้ผู้ประกอบการชำระค่าธรรมเนียมเลขหมายในกลุ่ม 033 และ 052 ในอัตรา 2 บาท/เลขหมาย/เดือน ในระยะเวลา 3 เดือนหลัง ตามความเห็นของคณะกรรมการเลขหมายโทรคมนาคม หลังจากนั้นให้ใช้อัตราปกติ

ระเบียบวาระที่   4.46   :  หลักเกณฑ์การเลือกผู้ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และการกำหนดแนวทาง/วิธีการใช้เครื่องหมาย “+” : รทช. ประเสริฐฯ, กบ. 

มติที่ประชุม                มอบหมายให้ กทช.สุธรรมฯ  เป็นผู้พิจารณากลั่นกรองเรื่อง หลักเกณฑ์การเลือกผู้ให้บริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ และการกำหนดแนวทาง/วิธีการใช้เครื่องหมาย “+”ตามแนวทางที่ กทช. มีมติเห็นชอบการมอบอำนาจให้ กทช. พิจารณาเรื่องแล้ว ตามมติ กทช. ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553
 
ระเบียบวาระที่  4.51   :  ความเห็น คบท. ต่อร่างประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz และร่างสรุปข้อสนเทศ : สบท. 

มติที่ประชุม               มอบหมายให้สำนักงาน กทช. ส่งเรื่อง ความเห็น คบท. ต่อร่างประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz และร่างสรุปข้อสนเทศให้ กทช. พันเอก นทีฯ พิจารณา เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาดำเนินงานในส่วนที่เกี่ยวข้องตามความเหมาะสมต่อไป 

ระเบียบวาระที่   4.64  :   หลักเกณฑ์การใช้รหัสที่ระบบใช้ในการระบุเส้นทางไปยังโครงข่ายที่ผู้ใช้บริการขอย้ายเข้าสำหรับบริการคงสิทธิเลขหมาย (Routing Code For Number Portability) : รทช.ประเสริฐฯ, กบ. 

มติที่ประชุม               ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่า โดยที่เลขหมายโทรคมนาคมประเภท  Routing Code ในการระบุเส้นทางไปยังโครงข่ายที่ผู้ใช้บริการขอย้ายเข้าสำหรับบริการคงสิทธิเลขหมาย (Number Portability) ซึ่งเป็นเลขหมายโทรคมนาคมที่ใช้งานในทางเทคนิคและจำเป็น ดังนั้น เพื่อให้การกำกับดูแลการใช้ทรัพยากรเลขหมายดังกล่าวเป็นไปอย่างคล่องตัวและ มีประสิทธิภาพ ที่ประชุมจึงมีมติเห็นชอบตามความเห็นคณะกรรมการ  เลขหมายโทรคมนาคม ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ ดังนี้
1.  อนุมัติหลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้เลขหมายโทรคมนาคมประเภท Routing Code สำหรับให้บริการคงสิทธิเลขหมาย (Number Portability)
2.  ให้กำหนดค่าธรรมเนียมการพิจารณาคำขอ (5,000 บาท/ครั้ง) และค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคมประเภท Routing Code ในอัตรา 1,000 บาท/เลขหมาย/เดือน ตามข้อ 79 และ 80 ของประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ.2551

ระเบียบวาระที่  4.65  :  บริษัท มิลคอม ซิสเต็มซ์ จำกัด ขอคืนเลขหมายโทรคมนาคมสำหรับให้บริการเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต : รทช.ประเสริฐฯ, กบ.
 
มติที่ประชุม                อนุมัติให้บริษัท มิลคอม ซิสเต็มซ์ จำกัด ส่งคืนเลขหมายโทรคมนาคมมาตรฐาน สำหรับบริการเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต แบบใช้เลขหมายโทรศัพท์ จำนวน 8,000 หมายเลข (06 0000 1000 – 06 0000 8999) ทั้งนี้ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2553 เป็นต้นไป ตามความเห็นคณะกรรมการเลขหมายโทรคมนาคม
    
หมายเหตุ                   ระเบียบวาระเพื่อพิจารณาที่เหลือ ได้แก่ วาระที่ 4.6, 4.8-4.14, 4.19, 4.23 - 4.25, 4.27-4.43, 4.47-4.50 และ 4.52-4.63 จะได้นำเสนอในการประชุม กทช. ครั้งต่อไป
 
ระเบียบวาระที่  5      :   เรื่องเพื่อทราบ
ระเบียบวาระที่  5.1   :   รายงานผลการพิจารณาร่างสัญญาการให้บริการวงจรเช่าส่วนบุคคลระหว่างประเทศ (IPLC) ระหว่างบริษัท ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ จำกัด กับบริษัท บาร์ติ แอร์เทล สิงคโปร์ จำกัด : รทช.ฐากรฯ, กม.


มติที่ประชุม                รับทราบผลการพิจารณาร่างสัญญาการให้บริการวงจรเช่าส่วนบุคคลระหว่างประเทศ (IPLC) ระหว่างบริษัท ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล เกตเวย์ จำกัด กับบริษัท บาร์ติ แอร์เทล สิงคโปร์ จำกัด ซึ่ง กทช. สุธรรมฯ ได้พิจารณาเห็นชอบแล้ว โดยให้ระบุเพิ่มเติมว่า กทช. ขอสงวนสิทธิที่จะกำกับดูแล หากปรากฏว่าผลของสัญญากระทบกับผู้รับบริการในไทย ทั้งนี้ ตามมติ กทช. ครั้งที่ ๖/๒๕๕๒ เมื่อวันที่ ๑๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๒ ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่  5.2   :   รายงานการประชุม APT Policy and Regulatory Forum (PRF) & Business Dialogue : รทช.ทศพรฯ, กร., พต., ทถ., ปก.

มติที่ประชุม              รับทราบรายงานผลการประชุมภูมิภาคเอเซียแปซิฟิกว่าด้วยนโยบายและการกำกับดูแลและการเจรจาภาคธุรกิจ (APT Policy and Regulatory Forum & Business Dialogue) ระหว่างวันที่ 14-16 กรกฎาคม 2553   ณ เมือง Yogyakarta สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่  5.3   :   สรุปข้อมูลจากการจัดเสวนาวิชาการเรื่อง “ค่าโทรเมืองไทยถูกได้กว่านี้” : สบท.

มติที่ประชุม              
1.  รับทราบสรุปสาระสำคัญจากการเสวนาวิชาการ เรื่อง “ค่าโทรเมืองไทยถูกได้กว่านี้” เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2553 ณ ห้องประชุมชั้น 1 อาคารอำนวยการ สำนักงาน กทช. ซึ่งมีความเห็นของนักวิชาการเกี่ยวกับการกำกับดูแลอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในประเทศไทย ตามเอกสารที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมเสนอ
2.  มอบหมายให้ รทช.พิทยาพลฯ ดำเนินการร่วมกับสำนักเศรษฐกิจโทรคมนาคม  สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม และ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม จัดทำบทวิเคราะห์ความเห็นของนักวิชาการจากการจัดเสวนาวิชาการตามข้อ 1 และนำเสนอความเห็นให้ที่ประชุม กทช. พิจารณาในครั้งต่อไป

ระเบียบวาระที่   5.4  :  โครงการประเมินผลการดำเนินงานรอบ 3 ปี สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม : สบท.

มติที่ประชุม               รับทราบการจัดจ้างที่ปรึกษาโครงการประเมินผลการดำเนินงานรอบ 3 ปี สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งได้ดำเนินการตามระเบียบ กทช. ว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2550 ข้อ 36 และมติ กทช. ครั้งที่ 2/2550 เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2550 ตามเอกสารที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมเสนอ

ระเบียบวาระที่   5.5  :   สรุปผลการเดินทางไปประชุมกับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างประเทศเพื่อประชาสัมพันธ์เชิญชวน (Road Show) เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน IMT 2.1 GHz ในประเทศไทย : กทช. พันเอก นทีฯ

มติที่ประชุม               รับทราบสรุปผลการเดินทางของ กทช. พันเอก นทีฯ และคณะในการไปประชุมกับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างประเทศเพื่อประชาสัมพันธ์เชิญชวน (Road Show) เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน IMT 2.1 GHz ในประเทศไทย ณ ประเทศจีน  เกาหลี  ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และประเทศอินเดีย ตามที่ กทช. พันเอก นทีฯ เสนอ
 
ระเบียบวาระที่  6     :  เรื่องอื่นๆ
ระเบียบวาระที่  6.1  :  คำสั่งเรียกให้ทำคำให้การในคดีปกครองหมายเลขดำที่ 1007/2553 ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (ผู้ฟ้องคดี) กับ กทช.(ผู้ถูกฟ้องคดี) : รทช.ฐากรฯ, กม.


มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบมอบอำนาจให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบคดีแทน 
2.  มอบหมายให้ที่ปรึกษากฎหมายของ กทช. บัณฑูรฯ (นายชัยฤกษ์   ดิษฐอำนาจ) เป็นผู้แทนคดี โดยให้เจ้าหน้าที่สำนักกฎหมายหารือที่ปรึกษากฎหมายของ กทช. บัณฑูรฯ (นายชัยฤกษ์  ดิษฐอำนาจ) จัดทำคำให้การและประสานการดำเนินงานกับพนักงานอัยการต่อไป
3.  เนื่องมาจากปริมาณงานด้านคดีฟ้องร้องกำลังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ดังนั้น สำนักงาน กทช. จึงสมควรไปพิจารณาหาผู้เชี่ยวชาญหรือที่ปรึกษาด้านกฎหมาย เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนการดำเนินการ และให้คำปรึกษาทางคดีความแก่สำนักงานฯ เพื่อให้การจัดทำเอกสารหลักฐานของคดีมีความละเอียดรอบคอบ ถูกต้อง และแล้วเสร็จทันตามกำหนดเวลาได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ตามข้อเสนอแนะของที่ประชุม
 
ระเบียบวาระที่  6.2  :  คดีปกครองหมายเลขที่ 1163/2553 ในข้อพิพาท ขอให้เพิกถอนคำสั่งกำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมมาตรฐาน : รทช.ฐากรฯ, กม.

มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบมอบอำนาจให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบคดีแทน 
2.  มอบหมายให้ กทช.สุธรรมฯ เป็นผู้แทนคดี และให้เจ้าหน้าที่สำนักกฎหมาย หารือ กทช.สุธรรมฯ จัดทำคำให้การและประสานการดำเนินงานกับพนักงานอัยการต่อไป

ระเบียบวาระที่   6.3  :  คดีปกครองหมายเลขดำที่ 1164/2553 ในข้อพิพาทขอให้เพิกถอนคำสั่งกำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมมาตรฐาน และมติและคำสั่งให้จำหน่ายข้อพิพาท : รทช.ฐากรฯ, กม.

มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบมอบอำนาจให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด เป็นผู้รับผิดชอบคดีแทน 
2.  มอบหมายให้ กทช.สุธรรมฯ เป็นผู้แทนคดี และให้เจ้าหน้าที่สำนักกฎหมาย หารือ กทช.สุธรรมฯ จัดทำคำให้การและประสานการดำเนินงานกับพนักงานอัยการต่อไป

ระเบียบวาระที่   6.4  :  Proposed Draft Notification of the National Telecommunications Commission on the prohibition of acts which are regarded as a foreign dominance (NTC plans to introduce in connection with the  3G licenses bidding process) : ประธาน กทช.

มติที่ประชุม              
1.  รับทราบหนังสือจากสหภาพยุโรปหรือ EU ถึงประธาน กทช. ในเรื่องProposed Draft Notification of the National Telecommunications Commission on the prohibition of acts which are regarded as  a foreign dominance (NTC plans to introduce in connection with the ๓G licenses bidding process) ตามที่ประธาน กทช. เสนอ
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. มีหนังสือแจ้งกระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพาณิชย์ เพื่อรับทราบและพิจารณาข้อห่วงใยและความเห็นของสหภาพยุโรปหรือ EU ที่มีต่อร่างประกาศ กทช. ว่าด้วยการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าวตามข้อ 1 โดยเฉพาะในประเด็นผลกระทบกับข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าหรือบริการ (GATS) และกรอบข้อตกลงขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งประเทศไทยเป็นสมาชิก ทั้งนี้ เพื่อความรอบคอบให้หารือ กทช. สุธรรมฯ พิจารณาความถูกต้องและเหมาะสมของถ้อยคำอีกครั้งหนึ่ง ก่อนจัดส่งโดยเร็วต่อไป พร้อมแนบเอกสารรายละเอียดต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นข้อมูลให้หน่วยงานทั้งสองประกอบการพิจารณาได้อย่างชัดเจนด้วย

ระเบียบวาระที่   6.5   :   การดำเนินงานเพื่อการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz : กทช. พันเอก นทีฯ , คณะกรรมการเพื่อการอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT หรือ 3G and beyond

มติที่ประชุม            
1.  เห็นชอบให้เพิ่มเติมขอบเขตความรับผิดชอบของผู้รับจ้างตรวจสอบคุณสมบัติผู้รับใบอนุญาตตามที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเสนอ โดยใช้ข้อความแสดงเงื่อนไขขอบเขตความรับผิดชอบของผู้รับจ้างตรวจสอบคุณสมบัติผู้รับใบอนุญาต ตามที่ กทช. สุธรรมฯ ปรับปรุงแก้ไข ทั้งนี้ โดยให้รับข้อสังเกตของที่ประชุมเพื่อป้องกันมิให้มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน (Conflict of Interest) เกิดขึ้นกรณีคุณสมบัติของผู้รับจ้างตรวจสอบจากสถาบันการศึกษาทั้ง 4 แห่ง โดยสำนักงาน กทช. ต้องมีการตรวจสอบทั้งทางตรงและทางอ้อม และให้ผู้รับจ้างต้องรับรองตนเอง โดยเฉพาะต้องไม่เป็นที่ปรึกษาให้กับบริษัทที่เข้าประมูล หรือมีญาติใกล้ชิดที่มีตำแหน่งอยู่ในบริษัทที่เข้าประมูล เป็นต้น
2.  เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานเพื่อตรวจสอบคุณสมบัติผู้ขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz ดังนี้
1) ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตรับรองตัวเองเพิ่มเติมจากแบบคำขอรับใบอนุญาต ได้แก่ รับรองตัวเองว่าจะต้องมีคุณสมบัติตามข้อ 5.1 และต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามข้อ 5.1.1 ถึงข้อ 5.1.6 ตามที่กำหนดในประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ
1) ให้ผู้ขอรับใบอนุญาตจัดส่งข้อมูลหรือรายละเอียดเพิ่มเติมประกอบการขอรับใบอนุญาต ได้แก่ ภาพรวมการประกอบธุรกิจของกลุ่มบริษัท โครงสร้างการถือหุ้นของกลุ่มบริษัท โครงสร้างการบริหารงานภายในบริษัทของผู้ขอรับใบอนุญาต และข้อบังคับของบริษัทตามที่จดทะเบียนไว้กับกระทรวงพาณิชย์
3) เห็นชอบร่างแบบฟอร์มการรายงานผลการตรวจสอบคุณสมบัติผู้ขอรับใบอนุญาต
4) ให้นำเอกสารตามข้อ 1) และ 2) ประกาศเผยแพร่บนเว็บไซต์ (Web site) ของสำนักงาน กทช. เพื่อให้ผู้มีความประสงค์ที่จะขอรับใบอนุญาตรับทราบเป็นการทั่วไป
3.  รับทราบร่างกำหนดการประชุมชี้แจงและให้คำปรึกษาในการกรอกแบบคำขอรับใบอนุญาตในวันที่ 25-26 สิงหาคม 2553
 
ระเบียบวาระที่   6.6  :   การขอขยายระยะเวลาการขอรับเอกสารคำขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz : ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ 3G

มติที่ประชุม                เห็นชอบการขยายระยะเวลาการขอรับเอกสารคำขอรับใบอนุญาต และการลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมการประชุมชี้แจงและให้คำปรึกษาในการกรอกแบบ   คำขอรับใบอนุญาตที่กำหนดไว้ในประกาศ กทช. เรื่อง การขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz ตามที่ กทช. พันเอก นทีฯ เสนอ ดังนี้
1.  การขอรับเอกสารคำขอรับใบอนุญาต ขยายระยะเวลาถึงวันอาทิตย์ที่ 29 สิงหาคม 2553 
2.  การลงทะเบียนเพื่อเข้าร่วมการประชุมชี้แจงและให้คำปรึกษาในการกรอกแบบคำขอรับใบอนุญาต ขยายระยะเวลาถึงวันอังคารที่ 24 สิงหาคม 2553 
              ทั้งนี้ ให้ประกาศเผยแพร่ประชาสัมพันธ์บนเว็บไซต์ของสำนักงาน กทช. เพื่อให้ผู้มีความประสงค์ที่จะขอรับใบอนุญาตได้รับทราบเป็นการทั่วไป

ระเบียบวาระที่  6.7  :  อนุญาตให้สำนักงาน กทช. ดำเนินการด้านใบอนุญาตนำเข้า นำออกซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ของเครื่องวิทยุคมนาคม เพื่อการสาธิตทดลองในงานมหกรรมเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคที่ 3 (3.9G Thailand Human D.N.A.) : รทช.ประเสริฐฯ, ฉก.

มติที่ประชุม              ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่า งานมหกรรมเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคที่ 3 (3.9 G Thailand Human D.N.A) ระหว่างวันที่ 8-12 กันยายน 2553 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เป็นงานที่จัดขึ้นตามมติ กทช. เพื่อแสดงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคม ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ ในการรับรู้เทคโนโลยีใหม่ๆ ดังนั้น จึงมีมติดังนี้
1.  อนุมัติให้บริษัท ทรู มูฟ จำกัด ใช้ความถี่วิทยุด้านส่ง 1920-1935 MHz ความถี่วิทยุด้านรับ 2110-2125 MHz ขนาดความกว้างแถบคลื่นความถี่ 2 x 15 MHz และนำเข้าอุปกรณ์เครื่องวิทยุคมนาคม เพื่อใช้ในการสาธิตทดลองในงานมหกรรมเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคที่ 3 (3.9G Thailand Human D.N.A) โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
1.1  ให้ใช้ความถี่วิทยุดังกล่าว ระหว่างวันที่ 8-12 กันยายน 2553 ในบริเวณพื้นที่จัดงาน 3.9G Thailand Human D.N.A ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เท่านั้น
1.2  หากการใช้ความถี่วิทยุก่อให้เกิดให้การรบกวนต่อข่ายสื่อสารอื่นที่ได้รับอนุญาตอยู่ก่อนแล้ว บริษัทฯ จะต้องเป็นผู้แก้ไขการรบกวน หรือระงับการใช้งานทันที
1.3  ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาตตั้งสถานีวิทยุคมนาคมและใช้เครื่องวิทยุคมนาคม
1.4  ให้ดำเนินการส่งเครื่องวิทยุคมนาคมที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าทั้งหมดออกนอกราชอาณาจักรภายใน 15 วัน ภายหลังจากระยะเวลาการจัดงาน 3.9 G Thailand Human D.N.A สิ้นสุดลง
2.  อนุมัติให้ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ใช้ความถี่วิทยุด้านส่ง 1935-1950 MHz ความถี่วิทยุด้านรับ 2125-2140 MHz ขนาดความกว้างแถบคลื่นความถี่ 2 x 15 MHz และนำเข้าอุปกรณ์เครื่องวิทยุคมนาคม เพื่อใช้ในการสาธิตทดลองในงานมหกรรมเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคที่ 3 (3.9G Thailand Human D.N.A) โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
2.1  ให้ใช้ความถี่วิทยุดังกล่าว ระหว่างวันที่ 8-12 กันยายน 2553 ในบริเวณพื้นที่จัดงาน 3.9G Thailand Human D.N.A ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เท่านั้น
2.2  หากการใช้ความถี่วิทยุก่อให้เกิดให้การรบกวนต่อข่ายสื่อสารอื่นที่ได้รับอนุญาตอยู่ก่อนแล้ว บริษัทฯ จะต้องเป็นผู้แก้ไขการรบกวน หรือระงับการใช้งานทันที
2.3  ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาตตั้งสถานีวิทยุคมนาคมและใช้เครื่องวิทยุคมนาคม
2.4  ให้ดำเนินการส่งเครื่องวิทยุคมนาคมที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าทั้งหมดออกนอกราชอาณาจักรภายใน 15 วัน ภายหลังจากระยะเวลาการจัดงาน 3.9 G Thailand Human D.N.A สิ้นสุดลง
3.  อนุมัติให้ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ใช้ความถี่วิทยุด้านส่ง 1950-1965 MHz ความถี่วิทยุด้านรับ 2140-2155 MHz ขนาดความกว้างแถบคลื่นความถี่ 2 x 15 MHz และนำเข้าอุปกรณ์เครื่องวิทยุคมนาคม เพื่อใช้ในการสาธิตทดลองในงานมหกรรมเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคที่ 3 (3.9G Thailand Human D.N.A) โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
3.1  ให้ใช้ความถี่วิทยุดังกล่าว ระหว่างวันที่ 8-12 กันยายน 2553 ในบริเวณพื้นที่จัดงาน 3.9G Thailand Human D.N.A ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เท่านั้น
3.2  หากการใช้ความถี่วิทยุก่อให้เกิดให้การรบกวนต่อข่ายสื่อสารอื่นที่ได้รับอนุญาตอยู่ก่อนแล้ว บริษัทฯ จะต้องเป็นผู้แก้ไขการรบกวน หรือระงับการใช้งานทันที
3.3  ให้ได้รับยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาตตั้งสถานีวิทยุคมนาคมและใช้เครื่องวิทยุคมนาคม
3.4  ให้ดำเนินการส่งเครื่องวิทยุคมนาคมที่ได้รับอนุญาตให้นำเข้าทั้งหมดออกนอกราชอาณาจักรภายใน 15 วัน ภายหลังจากระยะเวลาการจัดงาน 3.9 G Thailand Human D.N.A สิ้นสุดลง
4.  เพื่อเป็นการลดขั้นตอนการปฏิบัติงานและอำนวยความสะดวกในงานด้านการบริการประชาชน กรณีการขออนุญาตใช้ความถี่วิทยุและนำเข้าอุปกรณ์วิทยุคมนาคม เพื่อนำมาสาธิตทดลองในงานมหกรรมเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคที่ 3 (3.9G Thailand Human D.N.A) ของผู้ประกอบการ /บริษัทฯ อื่น ที่ประชุมจึงมีมติอนุมัติในหลักการเพื่อมอบหมายให้สำนักงาน กทช. โดยสำนักการอนุญาตกิจการเฉพาะกิจ (ฉก.) ดำเนินการด้านการอนุญาตให้ใช้ความถี่วิทยุ ด้านใบอนุญาตให้นำเข้าและนำออกซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมพร้อมอุปกรณ์ เพื่อสาธิตทดลองในงานมหกรรมเทคโนโลยีการสื่อสารในยุคที่ 3 (3.9 G Thailand Human D.N.A)

ระเบียบวาระที่  6.8  :  คำแนะนำเชิงนโยบายเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงและการใช้โทรศัพท์มือถือ Blackberry และโทรศัพท์มือถือไร้สายที่เกี่ยวข้อง : ประธาน กทช., นส.

มติที่ประชุม              
1.  รับทราบคำแนะนำเชิงนโยบายเกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงและการใช้โทรศัพท์มือถือ Blackberry และโทรศัพท์มือถือไร้สายที่เกี่ยวข้องตามที่ประธาน กทช. เสนอ ทั้งนี้ โดยให้ กทช. รับไปศึกษาพิจารณาในรายละเอียดของเอกสารที่เสนอให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติม (ถ้ามี) ในเรื่องนี้ได้ต่อไป
2.  ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่า เนื่องจากกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นหน่วยงานที่มีอำนาจหน้าที่ตาม พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ดังนั้น จึงมีมติมอบหมายให้สำนักงาน กทช. มีหนังสือแจ้งกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เพื่อหารือประเด็นการใช้งานโทรศัพท์มือถือ Blackberry ว่ามีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศทำนองเดียวกับกรณีซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตต์ และอินเดียประสบอยู่หรือไม่ และประเทศไทยควรได้รับสิทธิในการตั้งเซิรฟ์เวอร์ในประเทศไทยเช่นเดียวกับกรณีของซาอุดิอาระเบียหรือไม่

ระเบียบวาระที่  6.9  :   คณะกรรมการพิจารณางบประมาณและติดตามการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 เข้าพบ กทช.เพื่อขอรับนโยบาย : คณะกรรมการพิจารณางบประมาณฯ, รทช.ประเสริฐฯ, กลุ่มภารกิจด้านการจัดการงานงบประมาณ

มติที่ประชุม              
1.  รับทราบประเด็นข้อคิดเห็นของคณะกรรมการพิจารณางบประมาณและติดตามการใช้จ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ในประเด็นต่างๆตามที่คณะกรรมการพิจารณางบประมาณฯ เสนอ โดยเฉพาะในเรื่องของนโยบาย กทช. กระบวนการบริหารจัดการงบประมาณของสำนักงาน กทช. ตลอดจนปัญหาอุปสรรคของการจัดทำงบประมาณ และความเข้าใจบางประการที่ยังสับสน ไม่ถูกต้องเกี่ยวกับการจัดประเภทรายจ่ายงบประมาณ รวมถึงความจำเป็นกรณีการใช้จ่ายงบประมาณที่ไม่ได้ตั้งรายการไว้เพื่อสนับสนุนกิจกรรมของ กทช.และสำนักงาน กทช.ที่เกิดขึ้นในระหว่างปีงบประมาณ ซึ่งสามารถสรุปได้ เช่น
1.1  นโยบายของ กทช.ต้องชัดเจน และนำไปสู่การปฏิบัติตามแผนงบประมาณได้
1.2  ต้องมีการตรวจสอบหรือสอบทานความถูกต้องของตัวเลขที่ใช้จ่ายแล้ว และงบประมาณที่ยังเหลืออยู่ในแต่ละรายการ/แผนงาน/โครงการ อย่างละเอียด รอบคอบ ทั้งก่อนและหลังการเบิกจ่ายแต่ละครั้ง
1.3  การจัดทำงบประมาณยังไม่ชัดเจน และปะปนกันอยู่ระหว่างรายการที่เป็นงบประจำหรืองบดำเนินการ กับรายการที่เป็นงบลงทุน รวมทั้งการกำหนดตัวชี้วัดต้องให้ถูกต้อง เป็นต้น
1.4  การใช้จ่ายงบประมาณต้องมีความคล่องตัว และมี Accountability เมื่อใช้แล้วต้องเกิดประสิทธิภาพ และประสิทธิผล เป็นไปตามระเบียบที่กำหนด รวมทั้งยึดผลประโยชน์ขององค์กร และส่วนรวมเป็นสำคัญ
1.5  คณะกรรมการพิจารณางบประมาณฯ ควรได้มีโอกาสประชุมร่วมกับ กทช. เพื่อหารือในเรื่อง การบริหารจัดการงบประมาณ เป็นระยะๆ 
2.  มอบหมายให้คณะกรรมการพิจารณางบประมาณและติดตามการใช้จ่ายงบประมาณรับข้อคิดเห็น ข้อสังเกต และข้อเสนอแนะของที่ประชุมเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินงานได้อย่างเหมาะสม โดยประสานการดำเนินงานร่วมกับสำนักงาน กทช.ต่อไป ในประเด็นต่างๆ สรุปได้ดังนี้ 
2.1  ปรัชญาที่สำคัญของการใช้จ่ายงบประมาณ คือ งบประมาณต้อง Support นโยบาย และสามารถตอบสนองต่อสภาวะแวดล้อมได้ อย่างไรก็ดี การดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่จะเป็นการผูกพันกับองค์กรอื่น ก็เป็นสิ่งที่จะต้องระมัดระวังให้รอบคอบด้วย
2.2  การพิจารณาความเหมาะสมของระเบียบวิธีการงบประมาณว่าสำนักงาน กทช. ควรจะใช้  Cash basis หรือ Accrual basis 
2.3  การพิจารณาทบทวนระบบจัดเก็บรายได้ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น เนื่องจากปัจจุบันกำหนดไว้ปีละ 2 ครั้ง ทำให้รายได้ที่ เข้ามาเหลื่อมไปในปีถัดไป จึงอาจจำเป็นต้องพิจารณาปรับวิธีการเก็บค่าธรรมเนียม
2.4  การพิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์ ระเบียบการเงินที่สำนักงาน กทช. ใช้อยู่ในปัจจุบัน ทั้งนี้ เพื่อให้การใช้จ่าย/การเร่งรัดการใช้จ่ายเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลมากยิ่งขึ้น 
2.5  การพิจารณาแนวทางการดำเนินงาน กรณีรายการที่มีความจำเป็น ซึ่งจะต้องเบิกจ่ายเพิ่มเติม โดยที่ยังไม่มีงบประมาณรองรับ อาทิ รายการสำคัญที่ กทช. กำหนดเป็นเชิงยุทธศาสตร์ การศึกษาดูงาน และการจ้างบริษัทที่ปรึกษา เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องมีการพิจารณาทบทวนรายการที่ยังไม่ใช้จ่ายงบประมาณ เพื่อนำมาใช้สนับสนุนการดำเนินงานที่มีความจำเป็นเร่งด่วนก่อน
2.6  การพิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์เสนอในกรณีกิจกรรมที่หน่วยงานต่างๆ ขอรับการสนับสนุนจาก กทช. โดยควรกำหนดเป็น Percentage เท่าใดของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 
2.7  ในการพิจารณาตั้งงบประมาณรายจ่ายเพื่อดำเนินงานโครงการหรือแผนงานด้านต่างๆ กทช. ที่เป็นผู้รับผิดชอบกำกับดูแลงานในเรื่อง/ด้านนั้น ควรเป็นผู้พิจารณากำหนดเป้าหมายและแนวทางการดำเนินการตามโครงการก่อนส่งให้คณะกรรมการพิจารณางบประมาณฯ ดำเนินการต่อไป และรับรอง (Endorse) แผนการ ใช้จ่ายงบประมาณดังกล่าวด้วย
2.8  ในการจัดทำงบประมาณ จำเป็นต้องพิจารณากำหนด X - Factor ที่เหมาะสมเพื่อใช้คำนวณและกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี ให้สอดคล้องกับอัตราการเจริญเติบโตของ Telecom Sector และ/หรือ GDP ของประเทศในแต่ละปี
2.9  ในเรื่องระเบียบการเงิน ควรต้องมีการพิจารณาทบทวน (Revise) เป็นระยะๆ เพื่อปรับปรุงให้มีความเหมาะสมมากยิ่งขึ้น
2.10 ในการพิจารณาตั้งงบประมาณลงทุน ควรต้องให้ความสำคัญกับแผนงาน/โครงการเพื่อรองรับการดำเนินงานในการกำกับดูแลกรณีการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคตที่สำคัญ อาทิ การปรับเปลี่ยนโครงข่ายยุคหน้า (NGN) การปรับ เปลี่ยนจาก Analog TV เป็น Digital TV รวมทั้งการกำกับดูแลในเรื่อง Broadband Internet เป็นต้น
 
หมายเหตุ                   ไม่มีเอกสารประกอบวาระ

ระเบียบวาระที่  6.10   :   การปรับปรุงการปฏิบัติงานด้านกฎหมายในการดำเนินงานทางคดีของสำนักกฎหมาย และสำนักที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย  : ที่ประชุม กทช.

มติที่ประชุม               มอบหมายให้ กทช.สุธรรมฯ และ กทช.พนาฯ ร่วมกันพิจารณากำหนดแนวทาง และวิธีการ ในการปรับปรุงโครงสร้างการปฏิบัติงานด้านกฎหมายในการดำเนินงานทางคดีของสำนักกฎหมาย และสำนักที่เกี่ยวข้องกับการบังคับใช้กฎหมาย (Enforcement) ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เพื่อให้สามารถรองรับปริมาณงานด้านคดีฟ้องร้องที่กำลังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก แล้วเร่งนำเสนอที่ประชุม กทช.พิจารณาโดยเร็ว
 
หมายเหตุ                 เป็นการประชุมหารือเพิ่มเติมโดยไม่มีเอกสารประกอบวาระการประชุม
 

สร้างโดย  -   (14/3/2559 18:35:12)

Download

Page views: 95