แถลงข่าวการประชุมคณะอนุกรรมการเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 MHz ครั้งที่ 1/2561

แถลงข่าวการประชุมคณะอนุกรรมการเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 MHz ครั้งที่ 1/2561
วันที่ 6 ธันวาคม 2561
โดย พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ รองประธาน กสทช. ในฐานะประธานอนุกรรมการเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 MHz และ ผศ.ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กสทช. ในฐานะอนุกรรมการเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 MHz 

 

1. ความเป็นมา

เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นองค์ประกอบพื้นฐานที่สำคัญของการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของโลกปัจจุบัน ส่งผลให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างกันอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ทุกประเทศจึงพยายามปรับเปลี่ยนไปสู่โลกเทคโนโลยีใหม่ให้ทันการณ์ เนื่องจากตระหนักดีว่า ประเทศไหนที่ปรับตัวช้าหรือไม่มีการพัฒนาทางเทคโนโลยีก็จะกลายเป็นประเทศที่ล้าหลัง

สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาทางเทคโนโลยีเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของโลก จึงได้ประกาศแนวนโยบายThailand 4.0 หรือแนวนโยบายที่จะปรับเปลี่ยนและสร้างเศรษฐกิจและสังคมของประเทศด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล (Digitization หรือ Digital Transformation) ด้วยเหตุนี้ โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้แนวนโยบาย Thailand 4.0 ของรัฐบาลสามารถสัมฤทธิ์ผลอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางว่า โครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลที่จะทำให้เกิด Digital Transformation ก็คือการพัฒนาโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปสู่ยุคที่ 5 หรือ 5G โดยปัจจัยสำคัญในการพัฒนาเทคโนโลยี 5G เพื่อรองรับแนวนโยบาย Thailand 4.0 ก็คือทรัพยากรคลื่นความถี่

สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) ได้กำหนดให้คลื่นความถี่สำหรับ 5G มีสามกลุ่มคือ กลุ่มคลื่นความถี่ต่ำ   กลุ่มคลื่นความถี่กลาง และกลุ่มคลื่นความถี่สูง โดยกลุ่มความถี่กลางและสูงจะนำมาให้บริการในพื้นที่ที่มีความต้องการใช้งานสูง              ในขณะที่การให้บริการในวงกว้างคลอบคลุมพื้นที่ทั้งประเทศ ต้องใช้งานคลื่นความถี่ต่ำ โดย ITU กำหนดให้คลื่นความถี่ 700 MHz เป็นคลื่นความถี่หลัก คลื่นความถี่ 700 MHz จึงเป็นคลื่นความถี่สำคัญที่จะนำมาใช้ในกิจการ 5G อย่างเป็นรูปธรรมและทั่วถึงทั้งประเทศ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งการนำเอาคลื่นความถี่ 700 MHz มาจัดสรรใช้งาน เพื่อผลักดันการให้บริการ 5G

สำหรับประเทศไทยในปัจจุบัน ผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิทัลทุกรายเป็นผู้ได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz เพื่อใช้ออกอากาศโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้สามารถนำคลื่นความถี่ 700 MHz มาจัดสรรใช้สำหรับเทคโนโลยี 5G กสทช. จึงจำเป็นต้องดำเนินการตามมาตรา 27 (12/1) ของพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) โดยการเรียกคืนคลื่นความถี่จากผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ดิจิทัล ซึ่งกฎหมายได้กำหนดให้ กสทช. ต้องกำหนดวิธีการทดแทน ชดใช้ หรือจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่โดยให้คำนึงถึงสิทธิของผู้ได้รับผลกระทบจากการถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ด้วย

ดังนั้น กสทช. จึงได้แต่งตั้งอนุกรรมการเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 MHz (อนุกรรมการฯ) มาดำเนินการตามที่กฎหมายได้ให้อำนาจ กสทช. เพื่อสนับสนุนแนวนโยบายและยุทธศาสตร์ชาติของรัฐบาล และเพื่อขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นกลุ่มประเทศแรกที่มีการให้บริการ 5G เต็มระบบทั้งประเทศโดยทั่วถึง

2. ข้อเท็จจริง

การเรียกคืนคลื่นความถี่ 700 MHz ตามขั้นตอนปกติ ต้องรอการเรียกคืนคลื่นความถี่ให้ครบถ้วน ซึ่งต้องดำเนินการภายหลังปี 2563 และน่าจะจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz ไปใช้งานได้อย่างเร็วในปี 2565 ซึ่งจะก่อให้เกิดอุปสรรคต่อการขับเคลื่อนแนวนโยบายตามยุทธศาสตร์ชาติ อนุกรรมการฯ จึงสร้างกระบวนการใหม่เพื่อให้สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ 700 MHz ได้ภายในปี 2563 เร็วกว่าเดิมอย่างน้อยสองปี เพื่อให้การขับเคลื่อนตามแนวนโยบาย Thailand 4.0 เดินไปข้างหน้าได้อย่างเป็นรูปธรรมเร็วยิ่งขึ้น

ทั้งนี้ กระบวนการเปลี่ยนผ่านโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปสู่ดิจิทัลของประเทศไทยนั้นต้องถือได้ว่าได้ยุติไปเกือบสมบูรณ์แล้ว กระบวนการดังกล่าวนอกจากเป็นการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีโทรทัศน์แล้ว ยังมีความมุ่งหมายที่สำคัญเพื่อให้มีการใช้งานคลื่นความถี่ที่เป็นทรัพยากรสาธารณะให้มีประสิทธิภาพสูงสุด โดยภายหลังจากการเปลี่ยนผ่านจากโทรทัศน์อนาล็อกไปสู่โทรทัศน์ดิจิทัลเสร็จสิ้น คลื่นความถี่ทั้งหมดที่ผู้ประกอบการช่องโทรทัศน์ดิจิทัลได้รับการจัดสรรก็มีความเพียงพอ นอกจากนี้ยังอาจสามารถนำคลื่นความถี่บางส่วน คือ คลื่นความถี่ 700 MHz ไปใช้เพื่อให้บริการในกิจการ 5G เมื่อมีการดำเนินการที่เหมาะสมตามกฎหมายองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (ฉบับที่ 2) ซึ่งกำหนดการเรียกคืนคลื่นความถี่จากผู้ประกอบกิจการช่องโทรทัศน์ดิจิทัล โดยกำหนดวิธีการจ่ายค่าตอบแทนให้ผู้ที่ถูกเรียกคืนคลื่นความถี่ (ช่องโทรทัศน์ดิจิทัล) รวมถึงการชดใช้ที่เหมาะสมให้แก่ผู้ได้รับผลกระทบ (ผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ดิจิทัล) ทั้งนี้ กระบวนการดังกล่าวเป็นการจ่ายค่าตอบแทนให้กับผู้ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้คลื่นดังกล่าวอยู่ และชดใช้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบตามนัยยะที่กฎหมายกำหนด มิใช่การเยียวยาหรือช่วยเหลือกลุ่มโทรทัศน์แต่อย่างใด

3. ข้อคิดเห็นของผู้ประกอบกิจการ

การเชิญผู้เกี่ยวข้องในกระบวนการตามกฎหมายมารับฟังความคิดเห็นในวันนี้ เป็นการรวบรวมความคิดเพื่อนำไปสู่ข้อยุติในระดับอนุกรรมการฯ เพื่อนำเสนอต่อ กสทช. ต่อไป โดยมีรายละเอียดดังนี้

§  กลุ่มช่องโทรทัศน์ดิจิทัล ซึ่งเป็นผู้ได้รับอนุญาตให้ใช้งานคลื่นความถี่ 700 MHz จนสิ้นสุดใบอนุญาต ได้ยื่นข้อเสนอให้มีการจ่ายค่าตอบแทนโดยการนำเงินส่วนหนึ่งจากการประมูลส่งกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ (กองทุนฯ) จำนวนเท่ากับที่ กสทช. ได้เคยนำเงินจากการประมูลคลื่นความถี่โทรทัศน์ดิจิทัลส่งเป็นรายได้ของรัฐ

§  กลุ่มผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ซึ่งเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงคลื่นความถี่ ก็เสนอให้มีการชดใช้ค่าใช้จ่ายที่ต้องมีการปรับเปลี่ยนทางเทคนิคตามแผนคลื่นความถี่ใหม่ที่ กสทช. ปรับปรุง รวมถึงการชดใช้ค่าเสียโอกาสให้แก่บางรายที่ได้รับผลกระทบในการให้บริการด้วย

§  ในส่วนของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งเป็นผู้ที่จะต้องนำคลื่นความถี่ 700 MHz มาใช้งาน ก็ได้เสนอให้การประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz คำนึงถึงต้นทุนการให้บริการ ต้นทุนการประมูล และระยะเวลาการจ่ายงวดเงินการประมูลที่เหมาะสม ไม่เป็นภาระจนเกินไป เนื่องจากถ้าผู้ประกอบกิจการนำเงินส่วนใหญ่มาจ่ายค่าประมูล ก็จะไม่มีเงินเพียงพอที่จะลงทุน ส่งผลให้การให้บริการ 5G ซึ่งมีความสำคัญต่อการผลักดันแนวนโยบาย Thailand 4.0 ได้รับผลกระทบไปด้วย

สร้างโดย  - เขมอัคคนิจ  ศศิลาวัณย์ (6/12/2561 15:26:56)

Download

Page views: 761