บอร์ดกองทุน กทปส. อนุมัติโครงการ Tele Health ของกรมราชทัณฑ์ นำร่องให้บริการที่เรือนจำเขาบิน จ.ราชบุรี และเรือนจำจ.เชียงราย ในกรอบวงเงิน 18.82 ล้านบาท

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ในฐานะกรรมการและเลขานุการกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) เปิดเผยว่า วันนี้ (24 ม.ค. 2562) ที่ประชุมบอร์ดกองทุน กทปส. อนุมัติสนับสนุนโครงการพัฒนารูปแบบที่เหมาะสมของระบบโทรเวชกรรมสำหรับผู้ต้องราชทัณฑ์ ของกรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม วงเงินงบประมาณ 18,820,850 บาท

สำหรับโครงการนี้จะเป็นการรักษาทางไกลผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือที่เรียกกันว่า Tele Health เป็นการดำเนินการนำร่องก่อนในเรือนจำ 2 แห่ง ได้แก่ เรือนจำเขาบิน จังหวัดราชบุรี และเรือนจำจังหวัดเชียงราย โดยทั้งสองเรือนจำเป็นเรือนจำที่มีจำนวนผู้ต้องขังจำนวนมาก โดยเรือนจำเขาบิน จะให้การรักษาผู้ต้องขังโดยเชื่อมโยงการรักษากับโรงพยาบาลจังหวัดราชบุรี ส่วนเรือนจำจังหวัดเชียงรายจะเชื่อมโยงการรักษากับโรงพยาบาลจังหวัดเชียงราย ซึ่งจะทำให้เป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตผู้ต้องขังให้สามารถเข้าถึงบริการทางการแพทย์ในเรือนจำโดยได้รับการบริการที่มีมาตรฐานและประสิทธิภาพเท่าเทียมกับบุคคลภายนอก สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม

นายฐากร กล่าวว่า การสนับสนุนโครงการดังกล่าวเนื่องจาก บอร์ดกองทุน กทปส. เห็นว่า โครงการนี้มีความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนฯ มาตรา 52 (2) ส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรสื่อสาร การวิจัยและพัฒนาด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมฯ ตลอดจนการพัฒนาสิ่งอำนวยความสะดวกให้แก่ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งการให้บริการ Tele Health นั้น สำนักงาน กสทช. ได้จัดให้มีการบริการในโครงการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านของประเทศไทย ตามนโยบายของรัฐบาล ในพื้นที่ที่ กสทช. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ โดยจะมีการให้บริการ Tele Health ในพื้นที่ชายขอบจำนวน 3,920 หมู่บ้าน ที่จะเปิดให้บริการในวันที่ 1 พ.ค. 2562 นี้ และในพื้นที่ชนบท 15,732 หมู่บ้าน ที่ กสทช. ได้รับมอบหมายให้ดำเนินการ ซึ่งในส่วนนี้คาดว่าจะทยอยลงนามในสัญญาได้ภายในปี 2562 นี้

“การให้บริการ Tele Health จะเปิดโอกาสให้ผู้ป่วยที่อยู่ในพื้นที่ที่ขาดแคลนแพทย์ หรือเข้าถึงแพทย์ หรือไปรับการรักษาที่โรงพยาบาลได้ลำบาก มีโอกาสได้รับการรักษาเช่นเดียวกับคนทั่วไป โดยผู้ป่วยจะได้รับการรักษา วินิจฉัยโรค และได้รับคำแนะนำจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจากโรงพยาบาลใหญ่ที่ทำโครงการร่วมกันผ่านระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่ง กสทช. คาดว่าหากได้รับความสำเร็จและสามารถขยายการให้บริการไปทั่วประเทศจะเป็นประโยชน์ต่อคนไทยจำนวนมากที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรืออยู่ในที่ที่ไม่สามารถเดินทางไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลได้สะดวก สุขภาพ และคุณภาพชีวิตของคนไทยจะดีขึ้น เจ็บป่วย ไม่สบาย ก็ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที” นายฐากร กล่าว

สร้างโดย  - เขมอัคคนิจ  ศศิลาวัณย์ (24/1/2562 14:26:29)

Download

Page views: 333