กสทช. ครบรอบการดำเนินงาน 9 ปี มุ่งมั่นบริหารคลื่นความถี่ กำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม กิจการดาวเทียม เพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม คุ้มครองผลประโยชน์ประเทศชาติ และประชาชนให้ได้ใช้บริการที่มีประสิทธิภาพ ทั่วถึงและทั่วไทย

กสทช. ครบรอบการดำเนินงาน 9 ปี มุ่งมั่นบริหารคลื่นความถี่ กำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม กิจการดาวเทียม เพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม คุ้มครองผลประโยชน์ประเทศชาติ และประชาชนให้ได้ใช้บริการที่มีประสิทธิภาพ ทั่วถึงและทั่วไทย

วันนี้ (7 ต.ค. 2563) กสทช. ครบรอบการดำเนินงาน 9 ปี โดย กสทช. ยังคงมุ่งมั่นดำเนินการตามภาระหน้าที่ ด้วยการบริหารคลื่นความถี่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด กำกับดูแลกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม กิจการดาวเทียม เพื่อให้เกิดการแข่งขันเสรีอย่างเป็นธรรม คุ้มครองผลประโยชน์ประเทศชาติ และประชาชน ให้ได้ใช้บริการที่มีประสิทธิภาพ ทั่วถึงและทั่วไทย
สำหรับงานในช่วงเช้าเริ่มจากพิธีถวายราชสักการะและบวงสรวง พระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทร
มหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร พระรูปจอมพล สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช และ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน และสักการะศาลพระภูมิชัยมงคล

ตามด้วยพิธีบำเพ็ญกุศลเนื่องในวันคล้ายวันสถาปนาสำนักงาน กสทช. ครบรอบ 9 ปี อุทิศถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชชมหาราช บรมนาถบพิตร จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช และ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน และอุทิศแด่บรรพชนด้านวิทยุ และการสื่อสารโทรคมนาคม
การดำเนินงานตลอด 9 ปีที่ผ่านมาของ กสทช. ได้สร้างผลงานอันเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และอุตสาหกรรมกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมมากมาย โดยผลงานสำคัญๆ ได้แก่

1. การประมูลคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล IMT ย่านความถี่ 2.1 GHz หรือที่เราเรียกกันง่ายๆ ว่า การประมูล 3G ในปี 2555 การประมูลในครั้งนั้นสามารถสร้างรายได้จากการประมูลและส่งเงินเข้ารัฐเป็นมูลค่ากว่า 4 หมื่นล้านบาท ส่งผลให้ประเทศไทยก้าวสู่ยุคเทคโนโลยี 3Gอย่างเต็มรูปแบบ ทำให้ผู้ให้บริการมือถือแต่ละค่าย สามารถขยายฐานลูกค้าได้มากขึ้นจากเดิม ในยุด 2G ที่มีเบอร์มือถือเพียง 80 ล้านเลขหมาย และเมื่อมาในยุค 3G ก็เพิ่มเป็น 120 ล้านเลขหมาย โดยใช้ระยะเวลาเพียง 4 ปี เท่านั้น นำรายได้ส่งรัฐเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดินรวม 44,538.75 ล้านบาท

2. การประมูลทีวีดิจิตอล ซึ่งเป็นการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ ทำให้การแพร่สัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินของไทยปรับเปลี่ยนจากระบบ Analog ที่ใช้ยาวนานกว่า 80 ปี มาเป็นระบบ Digital (DVB-T2) อย่างเต็มตัว ผลการจากประมูล สามารถเพิ่มช่องฟรีทีวีออกเป็นช่องรายการเด็กเยาวชนและครอบครัว (KIDS) ช่องรายการข่าวสารและสาระ (NEWS) ช่องรายการวาไรตี้ความคมชัดปกติ (SD) และช่องรายการวาไรตี้ความคมชัดสูง (HD) เพิ่มโอกาสให้คนไทยเลือกรับชมเนื้อหาข่าวสารได้มากขึ้น และสามารถนำรายได้จากการประมูลเข้าสู่รัฐเป็นเงิน 38,770.38 ล้านบาท  

3. โครงการแจกคูปองแลกกล่องรับสัญญาณดิจิตอลทีวี (Set Top Box) ในปี พ.ศ. 2557-2562 สนับสนุนให้ประชาชนเปลี่ยนผ่านการรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบอนาล็อกไปสู่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินระบบดิจิตอล โดยสำนักงาน กสทช.แจกคูปองให้ประชาชนครัวเรือนละ 1 ใบ ใช้เป็นส่วนลดแทนเงินสดมูลค่า 690 บาท หรือสำหรับใช้แลกซื้อกล่องรับสัญญาณ (Set Top Box) หรือโทรทัศน์ที่รองรับระบบดิจิตอล (iDTV) เพื่อที่ประชาชนไม่ต้องเสียเงินซื้อทีวีเครื่องใหม่ และไม่ต้องทิ้งทีวีเครื่องเดิมให้เป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ โดยดำเนินการแจกคูปองฯ ตามเงื่อนไขที่หัวหน้า คสช. เห็นชอบ ให้ประชาชน ตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 2557 ถึง วันที่ 30 ก.ย. 2562 จำนวนรวมทั้งสิ้น 16.57 ล้านครัวเรือน และมีประชาชนมาใช้สิทธิ์เป็นจำนวน 10.97 ล้านครัวเรือน

4. การลงทะเบียนซิมการ์ดโทรศัพท์มือถือระบบเติมเงินทั่วประเทศ  จำนวนมากกว่า 80 ล้านเลขหมาย เพื่อป้องกันมิจฉาชีพ และคนร้ายที่อาศัยใช้ช่องทางในการหลอกลวง ก่อเหตุร้ายต่าง ๆ ผลจากความมุ่งมั่นตั้งใจ และจากความร่วมมือจากผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือทุกค่าย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งจากประชาชน พร้อมด้วยการออกแบบวิธีการลงทะเบียนซิมขึ้นมาใหม่ ที่เพียงนำบัตรประชาชนและโทรศัพท์พร้อมซิมไปที่จุดบริการที่มีสัญลักษณ์ 2 แชะ ก็สามารถลงทะเบียนซิมได้ทันทีภายใน 1-2 นาทีต่อเบอร์ ส่งผลให้มียอดการลงทะเบียนซิมสูงถึง 74.7 ล้านเลขหมายภายในระยะเวลาเพียง 6 เดือนเท่านั้น

5. การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz 900 MHz หรือที่เราเรียกกันว่า การประมูล 4G ครั้งแรก (2558) ซึ่งถือเป็นการประมูลครั้งประวัติศาสตร์ของประเทศไทย ที่มีการใช้เวลาในการประมูลยาวนานที่สุด ถึง 5 วัน 4 คืน โดยการจัดประมูลดังกล่าวทำรายได้ส่งเงินเข้ารัฐ รวมเป็นมูลค่า 316,523.12 ล้านบาท แบ่งออกเป็น คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz มูลค่ารวม 113,206.00 ล้านบาท คลื่นความถี่ย่าน900 MHz มูลค่ารวม 203,317.12 ล้านบาท โดยการประมูลคลื่นความถี่ในครั้งนั้น คุณเปลว สีเงิน คอลัมน์นิสต์ชื่อดัง จากหนังสือพิมพ์ไทยโพสต์ ได้กล่าวว่า "เป็นการจัดการประมูลที่มีความโปร่งใสที่สุด ในรอบ 100 ปี"

6. การประมูลเบอร์สวยครั้งแรกของประเทศไทย ในปี 2559 โดยรายได้จากการประมูล สำนักงาน กสทช. นำส่งรัฐเพื่อเป็นรายได้ของแผ่นดิน สำนักงาน กสทช. จัดการประมูลเบอร์สวยขึ้นทั้งหมด 7 ครั้ง (พ.ศ.2559-2562) นำรายได้จากการประมูลส่งรัฐรวมทั้งสิ้น 319 ล้านบาท จากการประมูลออกไป 526 เลขหมาย
เลขหมายที่มีการประมูลด้วยราคาสูงสุด 3 อันดับแรก คือ อันดับ 1 เลขหมาย 098-888-8888 ประมูลได้ในราคา 8.1 ล้านบาท จากการประมูลครั้งที่ 1/2559 อันดับ 2 เลขหมาย 091-999-9999  ประมูลได้ในราคา 8.02 ล้านบาท จากการประมูลครั้งที่ 1/2560 อันดับ 3 เลขหมาย 065-555-5555  ประมูลได้ในราคา 6.9 ล้านบาท จากการประมูลครั้งที่ 1/2559

7. การจัดระเบียบสายสื่อสาร และการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน ทั่วประเทศ โดยตั้งแต่ปี 2560 ในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร ได้มีการนำสายสื่อสารลงดินแล้วประมาณ 160 กิโลเมตร เส้นทางที่นำลงไปแล้ว ได้แก่ ถนนพหลโยธิน พญาไท ศรีอยุธยา และถนนสุขุมวิท เป็นต้น ในต่างจังหวัด ได้มีการนำสายสื่อสารลงดินแล้วประมาณ 80 กิโลเมตร ในพื้นที่จังหวัด น่าน พะเยา ลำปาง นครพนม และเชียงใหม่ โดยในปี 2563 อยู่ในระหว่างการดำเนินการกับการไฟฟ้านครหลวง ในการที่จะนำสาย สื่อสารลงใต้ดินอีกประมาณ 13 กิโลเมตร และในส่วนของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคอีก 23 กิโลเมตร

8. การประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz และ 900 MHZ โดยสำนักงาน กสทช. นำคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ที่ได้รับคืนมาจากการหมดสัญญาสัมปทานจากผู้ให้บริการเดิม มาจัดประมูลสำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ โดยมีการปรับเปลี่ยนวิธีการประมูลการเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้าร่วมการประมูลจนสำเร็จลุล่วง ทั้งนี้ การจัดประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz และ 900 MHz ในปี 2561 สร้างรายได้ส่งเงินเข้ารัฐรวมเป็นมูลการ 63,086 ล้านบาท แบ่งออกเป็น รายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz มูลค่า 25,022 ล้านบาท รายได้จากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz มูลค่า  38,064 ล้านบาท

9. โครงการการบริการอย่างทั่วถึงทางด้านโทรคมนาคมในพื้นที่ห่างไกลและพื้นที่ชนบท เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย เช่น การนำอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 30 Mbps เข้าไปให้บริการเพื่อเพิ่มโอกาสทางการสื่อสารของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล โดยได้บูรณาการในการทำงานร่วมกับรัฐบาล ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการในพื้นที่ชนบทกว่า 14,700 หมู่บ้าน และในพื้นที่ห่างไกลหรือทุรกันดารทั้งหมด 3,920 หมู่บ้าน โดยใช้จ่ายเงินจากค่าธรรมเนียม USO ที่จัดเก็บจากผู้ประกอบการโทรคมนาคม

10. การประมูลคลื่นความถี่ 5G ซึ่งเป็นการประมูลประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อให้ทันต่อการปรับเปลี่ยนเทคโนโลยีไปสู่เทคโนโลยี 5G เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีให้กับประเทศไทย โดยสำนักงาน กสทช. ได้นำหลากหลายย่านความถี่ ได้แก่ คลื่นความถี่ 700 MHz 1800 MHz 2600 MHz และ 26 GHz ออกมาประมูลพร้อมกันในครั้งเดียว ครบถ้วนทั้งในย่านความถี่ต่ำ กลาง และสูง เพื่อเสริมศักยภาพการแข่งขัน เพิ่มการลงทุน กระตุ้นเศรษฐกิจ ให้มีการสร้างงาน สร้างรายได้จำนวนมหาศาล และทำให้ประเทศไทยได้ชื่อเป็นหนึ่งในประเทศที่เปิดให้มีบริการ 5G อย่างเป็นทางการ ตั้งแต่ช่วงเดือน ก.พ. 2563
โดยการจัดประมูลเมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2563 ทำรายได้ส่งเงินเข้ารัฐ รวมเป็นมูลค่า 100,521 ล้านบาท โดยแบ่งออกเป็น การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz ทำรายได้รวม 51,459 ล้านบาท การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2600 MHz ทำรายได้รวม 37,164 ล้านบาท การประมูลคลื่นความถี่ย่าน 26 GHz ทำรายได้รวม 11,570 ล้านบาท และรายได้จากการเลือกตำแหน่งคลื่นความถี่อีก 328 ล้านบาท

11. สำนักงาน กสทช. ดำเนินมาตรการช่วยเหลือประชาชนให้สามารถ อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ และผ่านพ้นวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ไปด้วยกันได้ ด้วยมาตรการต่างๆ โดย รัฐบาล และ กสทช. เพิ่มเน็ตมือถือให้คนไทย 10 GB พร้อมทั้งอัพสปีดเน็ตบ้านให้เป็น 100 Mbps (1 คน 1 สิทธิ์) ฟรี 30 วัน (1 คน 1 สิทธิ์) ฟรี 30 วัน จากนั้น รัฐบาล และ กสทช. ร่วมกับ ค่ายมือถือเปิดให้ประชาชนโทรมือถือฟรี 100 นาที ตั้งแต่วันที่ 10 เม.ย. - 30 เม.ย. 63 

12. สำนักงาน กสทช. ได้อนุมัติวงเงินงบประมาณโดยปรับเกลี่ยจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 รวมกับเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (กทปส.) มาใช้สนับสนุนการต่อสู้กับวิกฤตโควิด-19 ในประเทศไทย โดรวมทั้งหมดแล้วสำนักงาน กสทช. ได้สนับสนุนสถานพยาบาลของรัฐและโรคพยาบาลภาคสนามของรัฐที่ผ่านตามเกณฑ์การพิจารณาสนับสนุนฯ ไปทั้งสิ้น 322 แห่ง วงเงินรวม 1,187.530 ล้านบาท เพื่อให้ประชาชนคนไทยผ่าวิกฤตโควิด-19 ไปด้วยกัน

13. จัดทำหลักเกณฑ์หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้มีการใช้สิทธิ์ในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมในการจัดชุด (Package) โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2563 สำนักงาน กสทช. ได้มอบหลักฐานการอนุญาตให้ใช้สิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมเป็นครั้งแรกของประเทศไทย โดยสิทธิดังกล่าวเป็นสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมขั้นต้น (ข่ายดาวเทียมประเภทวงโคจรดาวเทียมไม่ประจำที่ (NGSO) ที่มอบให้กับ 5 หน่วยงาน (6 ข่ายดาวเทียม) 

///////////////////////////////////////////////////////////////////////

สร้างโดย  - ปฐมพงศ์  ศรีแสงจันทร์ (7/10/2563 15:23:43)

Download

Page views: 441