กทค.สวนหมัดเรื่อง บีเอฟเคที ยันทำสิ่งที่ถูกต้องและเหมาะสมที่สุดระบุใช้ดุลพินิจโดยชอบแล้ว แต่อาจไม่ถูกใจคนบางกลุ่ม ย้ำเร่งออกหลักเกณฑ์เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้กฎหมาย

จากกรณีที่มีผู้วิพากษ์วิจารณ์ ว่า การที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (บอร์ดกทค.) เสียงข้างมาก มีมติ“บีเอฟเคที” ว่าไม่ผิดกฎหมาย และอาจส่งผลต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมเกิดความปั่นป่วนในอนาคต รวมทั้งมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการตีความข้อกฎหมายเข้าข้างเอกชนนั้น ขอชี้แจงว่า ข้อวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าว ไม่ตรงกับมติที่ออกไปและเป็นข้อวิพากษ์วิจารณ์ที่คลาดเคลื่อนต่อข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ดังนั้นเพื่อมิให้เกิดความสับสนและเกิดความเข้าใจผิดจากสาธารณชน จึงขอชี้แจงข้อเท็จจริงดังนี้

             สำนักงาน กสทช.  ขอชี้แจงข้อเท็จจริงและยืนยันว่ามติของ บอร์ดกทค.เสียงข้างมากนั้นเป็นการดำเนินการในสิ่งที่พิจารณาแล้วเห็นว่าถูกต้องโดยใช้ดุลพินิจภายใต้กรอบอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายอย่างละเอียดรอบคอบ แม้จะมีแรงกดดันอย่างมาก หรือมีความพยายามมาโดยตลอดที่จะชี้นำให้บอร์ดกทค. มีมติไปในแนวทางที่กลุ่มคนบางกลุ่มต้องการ  โดยเห็นได้ชัดแจ้งจากข่าวที่ปรากฏบนหน้าหนังสือพิมพ์  สื่อออนไลน์ และสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เพื่อเป็นการชี้นำและกดดันการใช้ดุลพินิจของ บอร์ดกทค.   แต่บอร์ด กทค.เสียงข้างมาก ก็มีความกล้าหาญ และทำในสิ่งที่เห็นว่าถูกต้อง โดยไม่ได้ตั้งธงไว้ล่วงหน้าและไม่อาจกระทำเพื่อเอาใจคนบางกลุ่ม  เพราะจะทำให้กทค.กระทำผิดกฎหมายเสียเอง  นอกจากนี้ข้อเรียกร้องยังไม่มีหลักกฎหมาย และแนวปฏิบัติใดๆรองรับ  รวมทั้งเมื่อพิจารณาในทุกมิติแล้วเห็นว่าการกระทำตามที่มีการเรียกร้องจะส่งผลเสียหายต่อทั้งองค์กร ตลอดจนไม่สอดคล้องกับหลักการในการกำกับดูแลอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยมากกว่า จึงขอยืนยันว่า กทค.เสียงข้างมากได้พิจารณามีมติไปด้วยความสุจริต ละเอียดรอบคอบ ปราศจากอคติ  โดยได้ใช้ความรู้ ความชำนาญ ที่มีอยู่อย่างเต็มที่ภายใต้อำนาจหน้าที่และขอบเขตของกฎหมาย  อีกทั้งยินดีชี้แจงเพิ่มเติมและพร้อมเข้าสู่กระบวนการถูกตรวจสอบตามกฎหมาย ทั้งนี้ได้ประเมินไว้ล่วงหน้าแล้วว่า จะมีกลุ่มคนบางคนออกมาโต้แย้ง คัดค้าน และยื่นเรื่องให้มีการตรวจสอบ  แต่ถึงกระนั้นก็อยากให้ผู้ที่มีใจเป็นธรรมได้ศึกษาข้อมูลและตรวจสอบรายละเอียดต่างๆก่อน  เพื่อมิให้ข้อมูลเกิดความคลาดเคลื่อนจนทำให้สังคมเกิดความเข้าใจผิดเช่นเดียวกับกรณีการประมูล 3 จี  

            ขอชี้แจงว่า แท้จริงแล้ว ผลจากมติเรื่อง บีเอฟเคที ของกทค.เกิดผลในทางตรงกันข้ามกับที่มีผู้โจมตี  เพราะจะทำให้วงการอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของไทยสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมั่นคง เนื่องจาก  ประการแรก  ขอย้ำว่าเรื่องนี้เป็นคนละเรื่องกับเรื่องการทำให้มีสัญญาสัมปทานรูปแบบใหม่ โดย กทค.ได้แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนมาโดยตลอดแล้วว่า เมื่อสัญญาสัมปทานสิ้นสุดจะต้องคืนคลื่นความถี่มาสู่การกำกับดูแลของ กสทช. ทั้งนี้มติของบอร์ด กทค. ในเรื่องบีเอฟเคทีทำให้เกิดความชัดเจนหลังจากอึมครึมมานานตั้งแต่ยุคของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.)   โดยสามารถทำให้เข้าใจข้อกฎหมายในเรื่องนี้ชัดเจนขึ้น 

             ประการที่สอง  เป็นความพยายามของบอร์ดกทค.ที่ต้องการคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและทำให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรมด้วยการนำสิ่งที่ไม่อยู่ในระบบให้เข้ามาอยู่ภายใต้การกำกับดูแล   

             ประการที่สาม สอดคล้องกับแนวทางตีความกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาและตามหลักวิชาการ ทั้งยังสอดคล้องกับแนวทางสากลตามหลักการกำกับดูแลสมัยใหม่ คือเข้าไปควบคุมดูแลเท่าที่จำเป็น และไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคต่ออุตสาหกรรมโทรคมนาคมมากจนเกินไป    ทั้งนี้เพื่อให้ธุรกิจโทรคมนาคมของไทยมีการพัฒนาและมีความแข็งแกร่ง และมีความพร้อมในการก้าวสู่เวทีการเปิดเสรีการค้าในกรอบเศรษฐกิจอาเซียนที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่ถึง 2 ปีข้างหน้า 

            ประการที่สี่ กรณีที่มีการกล่าวอ้างว่าจะมีผู้ประกอบการหลายรายเลียนแบบการดำเนินธุรกิจ เช่นเดียวกับ บีเอฟเคที นั้น ขอเตือนว่า หากใครจะเลียนแบบก็จะต้องรับความเสี่ยง เพราะกสทช. โดย กทค. กำลังเร่งเครื่องออกหลักเกณฑ์เพื่อเข้าไปควบคุมกำกับดูแลการดำเนินธุรกิจลักษณะนี้ให้เข้ามาอยู่ในระบบ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมเขี้ยวเล็บให้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบันเข้มแข็งขึ้น โดยเมื่อประกาศหลักเกณฑ์ใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว ทั้งบีเอฟเคที  หรือ บริษัทใดก็ตามที่จะดำเนินการลักษณะเดียวกันนี้ ถ้าไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กสทช. กำหนดก็จะถูกดำเนินการบังคับตามกฎหมายอย่างเคร่งครัดต่อไป 

             ประการที่ห้า  มูลเหตุหลักๆที่ มติ กทค. เสียงข้างมากออกมาเช่นนี้ เนื่องจากหลังจากพิจารณากฎหมายดูในทุกมิติแล้ว พบว่าปัจจุบันกฎหมายที่ กสทช. มีอยู่ในมือยังเอื้อมไปไม่ถึง กสทช. โดยกทค.จึงจะใช้อำนาจที่มีเพื่อต่อแขนขาและเชื่อมกฎหมายที่มีอยู่ให้สามารถกำกับดูแลในเรื่องนี้ได้อย่างเป็นธรรม  แต่ถ้ายังไม่มีหลักเกณฑ์ใหม่กำกับดูแลในเรื่องนี้ออกมา จะไปเอาผิดบีเอฟเคที ตามที่มีผู้เรียกร้องไม่ได้ เพราะตามคำจำกัดความของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯและหลักเกณฑ์ที่มีอยู่ยังเอื้อมไปไม่ถึง ถ้าเราไปเอาผิดทั้งๆที่ไม่มีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนรองรับฐานอำนาจอย่างชัดแจ้งแล้ว ก็จะเป็นการสุ่มเสี่ยงที่บอร์ด กทค.  ซึ่งเป็นผู้รักษากฎจะเป็นผู้ทำผิดกฎหมายเสียเอง  และอาจเข้าข่ายปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ ดังนั้นจึงเห็นว่าผู้วิจารณ์ควรศึกษากฎหมายและเจตนารมณ์ของกฎหมายให้ละเอียดก่อน และไม่ควรวิจารณ์โดยใช้อารมณ์และความรู้สึกมาอยู่เหนือเหตุผล

              ประการที่หก  มติของกทค. ล่าสุดเรื่อง บีเอฟเคที ไม่ได้ขัดหรือแย้งกับมติเดิมที่เคยออกไปเรื่องให้มีการแก้ไขสัญญาเพราะมติเดิมเป็นเรื่องการตีความสัญญาว่าไม่สอดคล้องกับมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติ องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 อย่างไร โดย เป็นเรื่องการให้ผู้อื่นใช้คลื่นความถี่แทน แต่มติล่าสุดเรื่อง บีเอฟเคที เป็นเรื่องตีความ พระราชบัญญัติประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ว่าการดำเนินการของบีเอฟเคที เป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่เข้าข่ายจะต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมหรือไม่  จึงเป็นมติเกี่ยวกับการตีความกฎหมายคนละฉบับ คนละหลักเกณฑ์ ซึ่งผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมอาจประกอบธุรกิจโดยไม่ต้องมีการใช้คลื่นก็ได้  เพียงแต่หากเข้าเกณฑ์ตามพ.ร.บ. ประกอบกิจการโทรคมนาคมฯคือมีการให้บริการแก่บุคคลทั่วๆไปแล้วก็ต้องมาขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แต่ถ้าไม่เข้าเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดก็ไม่ต้องขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม 

              ประการที่เจ็ด  เรื่องนี้ถ้าเป็นจริงตามที่มีผู้วิจารณ์ว่ากทค. เคยมีมติไปแล้วว่า บีเอฟเคทีกระทำผิดเพราะประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่มีใบอนุญาตฯ ก็ขอแย้งว่าเหตุใดกทค.จึงจะต้องไปมอบหมายให้สำนักงานตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายว่าการดำเนินการของ บีเอฟเคที อาจเข้าข่ายเป็นการประกอบกิจการโทรคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาตหรือไม่อีก เพราะถ้ากทค. เห็นแล้วว่าผิดก็สามารถมีมติในคราวเดียวกันให้แจ้งความร้องทุกข์ต่อ บีเอฟเคที เลย ด้วยเหตุผลดังกล่าวย่อมแสดงให้เห็นชัดเจนว่ากทค. ยังไม่เคยมีมติว่า บีเอฟเคที มีความผิดไปแล้ว   แต่เพื่อให้มีการตรวจสอบในข้อกฎหมาย และข้อเท็จจริงให้รอบคอบเพื่อประกอบการพิจารณาของกทค. จึงได้มีมติให้สำนักงานไปตรวจสอบโดยไม่ได้มีการตั้งธงไว้ล่วงหน้า  ซึ่งเรื่องนี้สามารถตรวจสอบจากรายงานการประชุมของ กทค.ได้

             ประการที่แปด  ขอยืนยันว่าการใช้ดุลพินิจในเรื่อง บีเอฟเคที ทำโดยสุจริตปราศจากอคติภายใต้กรอบของกฎหมาย โดยได้มีการศึกษาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างละเอียดทั้งลายลักษณ์อักษร เจตนารมณ์ของกฎหมาย รวมทั้งแนวปฎิบัติที่ผ่านมา แนวทางการกำกับดูแลตามกติกาสากล แนวการตีความของคณะกรรมการกฤษฎีกาและของกทช. เทียบเคียงหลักการบังคับใช้กฎหมายตามแนวคำพิพากษาศาลฎีกา รวมทั้งผลกระทบต่างๆโดยละเอียดแล้ว  

             ดังนั้นมติในเรื่องนี้ที่ออกมาเป็นแนวทางที่ บอร์ด กทค. เสียงข้างมากคิดว่าเหมาะสมและดีที่สุดแล้ว แต่เป็นเรื่องธรรมดาว่าแม้มติจะถูกต้องอยู่ในกรอบของกฎหมาย แต่ก็ไม่สามารถทำให้ถูกใจทุกคนได้ แม้จะชี้แจงดีเท่าไรก็ย่อมจะต้องมีผู้หาเหตุต่างๆมาโต้แย้งได้ทุกเรื่อง ไม่ว่ามติจะออกมาในทิศทางใด แต่ในชั้นนี้ถือว่ายุติในชั้นของคณะกรรมการผู้กำกับดูแลในเรื่องนี้แล้ว จากนี้ไปจะเร่งรัดในการสร้างหลักเกณฑ์ที่สามารถทำได้เพื่อเสริมเขี้ยวเล็บให้กับกฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน

Download

  • โต้นักวิจารณ์_บีเอฟเคที-10-04-56.pdf

สร้างโดย  -   (30/3/2559 10:55:21)

Download

Page views: 59