การให้บริการโทรคมนาคมเป็นบริการสาธารณะจะต้อง “มีความต่อเนื่องของการให้บริการ”

การให้บริการโทรคมนาคมเป็นบริการสาธารณะจะต้อง “มีความต่อเนื่องของการให้บริการ”

            กสทช. มีหน้าที่ตามกฎหมายที่ต้องดำเนินการโดยใช้มาตรการต่างๆเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคที่เหลืออยู่หลังสัมปทานคลื่น 1800 MHz สิ้นสุด โดยอาศัยฐานอำนาจในการออกประกาศตามรัฐธรรมนูญที่จะต้องกำกับดูแลให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชนและตามพ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 อีกทั้งยังเป็นไปตามหลักกฎหมายปกครองที่ต้องทำให้การบริการสาธารณะมีความต่อเนื่องของการให้บริการ โดยการประกอบกิจการโทรคมนาคมถือเป็นการจัดทำบริการสาธารณะอย่างหนึ่ง ซึ่ง กสทช. ในฐานะองค์กรที่ได้รับมอบหมายภารกิจจากรัฐในการกำกับดูแลให้การประกอบกิจการให้เป็นไปอย่างมีคุณภาพมีประสิทธิภาพ และเป็นธรรม โดยแนวคิดที่สำคัญในการจัดทำบริการสาธารณะประการหนึ่ง คือ การจัดทำบริการสาธารณะต้องมีความต่อเนื่อง ไม่สะดุดหยุดลง ทั้งนี้ เนื่องจากการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เป็นบริการสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมาก หากจะต้องสะดุดหยุดลงไม่ว่าด้วยเหตุใด ประชาชนผู้ใช้บริการจำนวนมากย่อมจะต้องได้รับความเดือดร้อนหรือผลกระทบตามมา ดังนั้น ในระหว่างที่การจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าวแก่ผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ยังไม่แล้วเสร็จและเพื่อให้ผู้ใช้บริการยังคงสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องไม่สะดุดหยุดลง กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลการจัดทำบริการสาธารณะดังกล่าว จึงต้องมีหน้าที่กำหนดมาตรการคุ้มครอง ผู้ใช้บริการให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง

            การใช้อำนาจตามกฎหมายเกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม ได้แก่การอาศัยฐานอำนาจตามมาตรา 47 วรรคสาม ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติให้ กสทช. มีหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม โดยจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชน และมาตรา 27 (4) (6) และ (13) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 บัญญัติให้ กสทช. มีอำนาจหน้าที่พิจารณาอนุญาตและกำกับดูแลการใช้คลื่นความถี่ในการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาต เงื่อนไข หรือค่าธรรมเนียมในการอนุญาตดังกล่าวและกำกับดูแลการประกอบกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อให้ผู้ใช้บริการได้รับบริการที่มีคุณภาพ ประสิทธิภาพ รวดเร็ว ถูกต้อง และเป็นธรรม และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาต เงื่อนไข หรือค่าธรรมเนียมในการอนุญาตดังกล่าว รวมถึงการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการและคุ้มครองสิทธิในความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของบุคคลในการสื่อสารถึงกันโดยทางโทรคมนาคม และมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ได้บัญญัติให้ผู้รับใบอนุญาตจะพักหรือหยุดการให้บริการไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วนไม่ได้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก กสทช. ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กสทช. กำหนด ประกอบกับข้อ 24 ของเงื่อนไขในการอนุญาตใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ท้ายประกาศ กทช. เรื่องเงื่อนไขมาตรฐานในการอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมกำหนดหน้าที่ให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการจัดให้มีมาตรการเยียวยาผลกระทบที่จะเกิดต่อผู้ใช้บริการภายหลังการสิ้นสุดการอนุญาตให้ประกอบกิจการ นอกจากนี้ ตามมาตรา 84 ประกอบกับมาตรา 83 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ได้บัญญัติให้ในการกำหนดระยะเวลาในการให้ผู้ได้รับจัดสรรคลื่นความถี่หรือ ใช้ คลื่นความถี่คืนคลื่นความถี่เพื่อนำไปจัดสรรใหม่ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. 2555) ของ กสทช. ให้คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะและความจำเป็นของการประกอบกิจการและการใช้คลื่นความถี่ โดยเมื่อการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้การอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่สิ้นสุดลง หากมีผู้ใช้บริการคงเหลืออยู่ในวันสิ้นสุดการประกอบกิจการดังกล่าวย่อมจะต้องได้รับความเดือดร้อนหรือผลกระทบไม่สามารถใช้บริการต่อไปได้

            ดังนั้น ในระหว่างที่การจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าวแก่ผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ตามที่กำหนดไว้ในแผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ (พ.ศ. 2555) ตามที่มาตรา 84 ประกอบกับมาตรา 83 กำหนดไว้ยังไม่แล้วเสร็จ และเพื่อให้ผู้ใช้บริการยังคงสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง ไม่สะดุดหยุดลง กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลการจัดทำบริการสาธารณะดังกล่าว ย่อมมีหน้าที่ต้องกำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการให้สามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่อง จึงต้องใช้อำนาจในส่วนของการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคมตามมาตรา 27 (4) (6) และ (13) ประกอบมาตรา 84 ประกอบกับมาตรา 83 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นฯ พ.ศ. 2553 กำหนดมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการเพื่อใช้บังคับกับสัญญาสัมปทานที่สิ้นสุดลง และมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544

            จากหลักการและเหตุผลดังกล่าวข้างต้น กสทช. จึงเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่อง “ มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ....” เพื่อนำไปจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อไป

................................................................................................................................................................
 
แก้วสรร ยืนยัน พร้อมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในร่างประกาศ กสทช. เรื่อง “มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตหรือสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่” 25 กรกฏาคม นี้

 

             นายแก้วสรร อติโพธิ ประธานคณะทำงานการมีส่วนร่วมและสร้างความเข้าใจแนวทางการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz เผยถึงประเด็น การเปิดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในร่างประกาศ กสทช. เรื่อง “มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตหรือสัญญาให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ...” ว่า คณะทำงานได้สรุปประเด็นที่จะขอรับฟังความคิดเห็น 7 ประเด็น ได้แก่ เรื่องฐานอำนาจทางกฎหมาย เรื่องเนื้อหาความคุ้มครอง เรื่องค่าธรรมเนียมการคงสิทธิ       เลขหมาย เรื่องผู้มีหน้าที่ให้ความคุ้มครอง เรื่องระยะเวลาคุ้มครอง เรื่องการหยุดให้บริการ และเรื่องค่าธรรมเนียม  ซึ่งจากนี้ไปคณะทำงานฯ จะส่งคำอธิบายพร้อมประเด็นให้ผู้มีส่วนได้เสียที่เป็น หน่วยงานราชการ ได้แก่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ คณะกรรมาธิการที่เกี่ยวข้อง และรัฐวิสาหกิจ,เอกชนคู่สัญญาสัมปทานทั้งหมด,สมาคมโทรคมนาคมต่างๆ,องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคต่างๆ และ ประชาชนผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่โดยทั่วไป เพื่อศึกษาและให้ความคิดเห็นโดยสรุปส่งให้สำนักงาน กสทช.  ตามเอกสารแบบฟอร์มการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ  และส่งแบบฟอร์มสรุปความคิดเห็นมายังสำนักงาน กสทช.  เลขที่  87 ถ.พหลโยธิน ซ.พหลโยธิน 8 พญาไท กทม.10400 ภายในวันที่ 17 กรกฎาคม 2556 ซึ่งผู้มีส่วนได้เสียสามารถแจ้งความประสงค์ในแบบฟอร์มเพื่อขอเข้าร่วมนำเสนอความคิดเห็นหรือให้ข้อมูลในประเด็นต่างๆด้วยวาจาต่อคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็นได้  ในวันที่ 25 กรกฎาคม 2556 ระหว่างเวลา 09.00–15.00น. ณ สโมสรทหารบก ถนนวิภาวดี กรุงเทพฯ  คณะทำงานกำหนดมาตรการรองรับผลกระทบอันเกิดจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน    การใช้คลื่นความถี่ 1800 MHz จะนำผลที่ได้จากการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะไปปรับปรุ ง ร่างประกาศฯ และนำเสนอที่ประชุม กทค. เพื่อพิจารณาต่อไป ซึ่งการให้ความคิดเห็นในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อการพัฒนาระบบโทรคมนาคมไทย

            ทั้งนี้ความจำเป็นและหลักการของ (ร่าง) มาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการในกรณีสิ้นสุดการอนุญาตสัมปทาน หรือสัญญาการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ... เป็นการดำเนินการโดยคำนึงถึงกฎหมาย การคุ้มครองประชาชนผู้บริโภค และระยะเวลาที่สัมปทานจะสิ้นสุด โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดมาตรการและเตรียมการรองรับผลของการสิ้นสุดของการอนุญาต สัมปทาน หรือ สัญญา   การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อให้ผู้ใช้บริการสามารถใช้บริการได้อย่างต่อเนื่องปราศจากข้อจำกัดในระหว่างที่การจัดสรรคลื่นความถี่ดังกล่าวแก่ผู้รับใบอนุญาตรายใหม่ยังไม่แล้วเสร็จ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 27 (4) (6) และ(13) ประกอบกับมาตรา 83 และมาตรา 84 แห่งพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม     พ.ศ. 2553 และมาตรา 20 แห่งพ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544

            เนื่องจากสัญญาสัมปทานแรกของประเทศไทยจะสิ้นสุดอายุสัมปทานในวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2556  เป็นการสิ้นสุดสัญญาบริการคลื่นความถี่ 1800 MHz ด้วยบทบาทของ กสทช. จึงต้องมีมาตรการกำกับดูแลเพื่อให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ตลอดจนมีเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการเร่งโอนย้ายผู้ใช้บริการให้เสร็จภายในช่วงเวลาคุ้มครอง ซึ่งต้องไม่เกิน 1 ปี นับแต่วันสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน ระหว่างนี้ผู้ประกอบการจะไม่สามารถรับผู้ใช้บริการ รายใหม่เพิ่มเข้าสู่ระบบเดิมได้อีก  ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวไม่ได้เป็นการต่ออายุสัมปทาน และไม่ใช่การจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ตามมาตรา 45 พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 แต่เป็นการกำกับดูแลเพื่อให้ผู้ใช้บริการไม่ได้รับผลกระทบจากการสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน

            สำหรับการคุ้มครองผู้บริโภค (ร่าง) ประกาศฉบับนี้ กำหนดให้ผู้ให้บริการเร่งการโอนย้ายผู้ใช้บริการไปเครือข่ายอื่น และยังคงต้องดูแลเรื่องคุณภาพบริการให้ได้คุณภาพ คิดค่าบริการตามประกาศที่เกี่ยวข้อง สำหรับผู้ใช้บริการคงเหลือที่ไม่แจ้งความประสงค์จะขอย้ายไปยังผู้ให้บริการรายอื่น โดยผู้ให้บริการต้องประชาสัมพันธ์แจ้งเงื่อนไขความคุ้มครอง กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดความคุ้มครอง และการโอนย้ายเครือข่ายให้ผู้ใช้บริการทราบอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ระหว่างขั้นตอนการดำเนินการ  ผู้ให้บริการจะไม่สามารถรับลูกค้ารายใหม่เพิ่มเข้ามาในระบบได้

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

สร้างโดย  -   (24/3/2559 15:45:27)

Download

Page views: 3163