ผลการพิจารณาของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ในการประชุม ครั้งที่ 4/2556 วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) ได้มีการประชุม ครั้งที่ 4/2556 วันที่ 23 มกราคม2556 เพื่อพิจารณาดำเนินการและมีมติในเรื่องที่มีความสำคัญ ๆ ดังนี้

              1. การกำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม
  ที่ประชุมรับทราบสรุปผลการประชุมแนวทางการกำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม และรับทราบผลการศึกษาของบริษัท เดเทคอน เอเชีย-แปซิฟิค ตามโครงการจัดจ้าง ที่ปรึกษาเพื่อศึกษาการกำกับดูแลอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อของบริการโทรศัพท์ในยุค 3G พร้อมรับฟังความเห็นของสำนักงาน และของ ดร.เชิดชัย  ขันธ์นะภา ที่ปรึกษา กสทช. ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางด้านเศรษฐศาสตร์ประกอบการพิจารณาแล้ว มีมติ ดังนี้
              - เห็นชอบในหลักการการกำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่เป็นอัตราชั่วคราวไปก่อนในระหว่างการปรับปรุงประกาศ กสทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 เพื่อจะกำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมทั้งระบบในอนาคต 
              - โดยอาศัยอำนาจตามข้อ 124 ของประกาศ กสทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ในระหว่างที่ข้อเสนอการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมหรือการคำนวณอัตราค่าตอบแทนการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมของผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 2.1 GHz ทั้งสามราย ยังไม่แล้วเสร็จ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อสาธารณะ ส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม และลดปัญหาข้อพิพาทเกี่ยวกับอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อ จึงเห็นชอบในหลักการให้มีการกำหนดอัตราค่าตอบแทนการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นการชั่วคราวระหว่างผู้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz 
              - สำหรับอัตราค่าตอบแทนชั่วคราวที่จะกำหนด พิจารณาแล้วเห็นชอบกับข้อเสนอของบริษัทที่ปรึกษาฯ ตามทางเลือกที่


              2 การคำนวณด้วยวิธี Tilted Straight-Line Depreciation ซึ่งกำหนดให้คิดในอัตรา 0.45 บาท/นาที  ทั้งนี้ เป็นการสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการกำหนดอัตราค่าตอบแทนชั่วคราว และคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าในปีแรกผู้ประกอบการจะต้องลงทุนเพื่อสร้างโครงข่ายเพื่อให้ได้พื้นที่การให้บริการที่มีอัตราครอบคลุมประชากรตามที่ กสทช. กำหนด โดยเห็นชอบตามข้อเสนอของสำนักงานฯ ที่ให้กำหนดระยะเวลาการบังคับใช้อัตราค่าตอบแทนชั่วคราวนี้เป็นเวลา 1 ปี หรือจนกว่าจะมีการเปลี่ยนแปลง

              - ให้สำนักงานฯ ไปดำเนินการยกร่างคำสั่ง กสทช. เรื่องให้ใช้อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมชั่วคราวเป็นอัตราอ้างอิงตามแนวปฏิบัติที่เคยดำเนินการเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม กทค. ในการประชุมครั้งต่อไป ก่อนจะนำเสนอให้ที่ประชุม กสทช. เห็นชอบ
              2. กรณีการกำหนดระยะเวลาใช้บริการโทรศัพท์ Prepaid

              - กรณีบริษัท ทรู มูฟ จำกัด ได้แจ้งว่า ผู้ใช้บริการตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2556 และผู้ใช้บริการที่เติมเงินทุกมูลค่าตั้งแต่วันที่ 18 มกราคม 2556 เป็นต้นไป สามารถใช้บริการโทรศัพท์ Prepaid ต่อไปได้อย่างต่อเนื่อง จนกว่าบริษัทฯ จะได้รับความเห็นชอบในการกำหนดระยะเวลาการใช้บริการจาก กสทช. ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่บริษัทฯ ได้ปฏิบัติตามข้อ 11 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 แล้ว อันมีผลให้ค่าปรับทางปกครองยุติลงในวันที่ 17 มกราคม 2556

              นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้ยื่นข้อเสนอเงื่อนไขกำหนดระยะเวลาการใช้บริการให้ กสทช. พิจารณาแล้ว โดย กสทช. จะได้พิจารณาในการประชุมครั้งถัดไป
              - สำหรับกรณีบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) นั้น เนื่องจากทั้งสองบริษัทยังไม่ยุติการกำหนดระยะเวลาการใช้บริการ แต่ขอเสนอจัดทำบริการทางเลือกให้เป็นไปตามเงื่อนไขที่สำนักงาน กสทช. กำหนดแทน และทั้งสองบริษัทมิได้ยื่นข้อเสนอเงื่อนไขกำหนดระยะเวลาการใช้บริการให้ กสทช. พิจารณา ดังนั้น จึงเป็นกรณีที่ทั้งสองบริษัทยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อ 11 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 อันมีผลให้ค่าปรับทางปกครองของทั้งสองบริษัทยังคงดำเนินอยู่ต่อไป
             

             3. การกำหนดอัตราขั้นสูงของค่าบริการ 99 สตางค์ต่อนาที
กรณีบริษัท AIS บริษัท DTAC และสมาพันธ์พิทักษ์สิทธิ์ผู้บริโภคแห่งประเทศไทย ขอให้พิจารณาทบทวน ประกาศ กสทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ.2555 (ค่าบริการขั้นสูงไม่เกิน 99 สตางค์/นาที) ที่ประชุมมีมติยืนยันให้ปฏิบัติตามประกาศฯ อย่างเคร่งครัด โดยยึดถืออัตราค่าบริการขั้นสูงไม่เกิน 99 สตางค์ ตามที่ กสทช. กำหนด


              4. พิจารณาอนุมัติจัดสรร 26 ล้านเลขหมายให้ผู้ประกอบการ 3G
   คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม หรือ กทค. ได้ออกใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz และใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม หรือเรียกสั้นๆ กันว่าใบอนุญาต 3G ให้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด และบริษัท ดีแทค เน็ทเวอร์ค จำกัด เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 ไปแล้วนั้น ในการที่ผู้ประกอบการทั้ง 3 รายดังกล่าวจะสามารถเปิดให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในโครงข่าย 3G ใหม่นี้ได้นั้น จะต้องมีเลขหมายในการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งเป็นเลขหมายสำหรับผู้ใช้บริการทั่วไป และเลขหมายทางเทคนิคที่ผู้ให้บริการจะต้องนำไปใช้เพื่อติดตั้งและบริหารจัดการโครงข่ายให้สามารถเปิดให้บริการกับผู้ใช้บริการได้

              ในการจัดสรรเลขหมายเทคนิค กทค. ได้อนุมัติจัดสรรให้กับผู้ประกอบการ 3 รายไปแล้วเมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2555 ประกอบด้วย เลขหมาย Mobile Network Code (MNC) เลขหมาย National Signalling Point Code (NSPC) และเลขหมาย Routing Code ซึ่งปัจจุบันผู้ประกอบการได้นำเลขหมายนี้ไปใช้ในการติดตั้งและเตรียมการทดสอบโครงข่ายแล้ว โดยคาดว่าจะสามารถเริ่มให้บริการได้ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2556
              ในการประชุม กทค. วันที่ 23 มกราคม 2556 ได้มีการอนุมัติจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ผู้ประกอบการ 3 รายดังกล่าว จะต้องนำไปให้บริการกับผู้ใช้บริการ รวมทั้งสิ้น 26 ล้านเลขหมาย โดยเมื่อได้รับจัดสรรเลขหมายแล้ว ผู้ประกอบการก็จะนำเลขหมายไปผลิต SIM บันทึกเลขหมายในระบบโครงข่าย และวางจำหน่าย SIM ต่อ ทั้งนี้ กทค. ได้จัดสรรกลุ่มเลขหมายเรียงตามลำดับก่อนหลังตามข้อกำหนดในประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2551 ประกอบด้วยหมวดเลขหมาย 088 089 092 093 094 และ 095 โดยผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย จะต้องชำระค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคมที่ได้รับจัดสรรในครั้งนี้ ในอัตรา 1 บาท/เลขหมาย/เดือน (ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ซึ่งได้จัดสรรเลขหมาย ให้แก่ผู้ประกอบการทั้ง 3 ราย ดังนี้ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด จำนวน 14 ล้านเลขหมาย บริษัท ดีแทค เน็ทเวอร์ค จำกัด จำนวน 8 ล้านเลขหมาย และบริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด จำนวน 4 ล้านเลขหมาย

              หลักเกณฑ์การพิจารณาจัดสรรเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ สำหรับผู้ประกอบการ 3G ครั้งนี้ กทค. พิจารณาจากข้อเสนอแผนธุรกิจและแผนการตลาดของผู้ประกอบการเป็นสำคัญ ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมของผู้ใช้บริการของไทยที่ใช้บริการ Prepaid ซึ่งเป็นส่วนใหญ่ของประเทศที่มีมากถึง 90% และเป็นกลุ่มผู้ใช้บริการที่มีการเปลี่ยนแปลงเลขหมายบ่อย นอกจากนั้น ยังสะท้อนพฤติกรรมการผู้ใช้บริการที่นิยมใช้อินเทอร์เน็ตบนโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ และมีความต้องการใช้เลขหมายหรือ SIM เพิ่มเติม (เป็นเลขหมายที่ 2 หรือ 3) สำหรับการใช้ Tablet หรือ Smart phone อีกทั้ง ยังสะท้อนถึงการเติบโตของการใช้งานเลขหมายในบริการลักษณะ Machine to Machine (M2M) ที่เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่องด้วย ทั้งนี้ ในปัจจุบันจำนวน เลขหมายที่คงเหลือสำหรับการจัดสรรโดยเฉพาะในหมวดเลขหมาย 09 มีเหลือมากถึง 82 ล้านเลขหมาย ซึ่งคาดว่าจะเพียงพอต่อความต้องการในการใช้เลขหมายของผู้ประกอบการในอนาคตได้อีกในระยะยาว ดังนั้น การจัดสรรเลขหมายในจำนวนดังกล่าว จะส่งผลให้ผู้ประกอบการ 3G มีเลขหมายพอเพียงกับความต้องการที่สะท้อนกับการวางแผนธุรกิจและแผนการตลาด และยังเป็นการส่งเสริมการแข่งขันในตลาดและทำให้ผู้ใช้บริการมีทางเลือกหลากหลายขึ้นด้วย 

              จากการจัดสรรเลขหมายสำหรับผู้ให้บริการ 3G จำนวนรวม 26 ล้านเลขหมายดังกล่าว ส่งผลให้มีจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ได้มีการจัดสรรไปแล้วทั้งหมด ทั้งระบบ 2G และ 3G มีจำนวนมากถึง 144 ล้านเลขหมาย ซึ่งแสดงให้เห็นทิศทางการพัฒนาและความต้องการในการใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของไทย   ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน 


คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
โดยคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)

Download

สร้างโดย  -   (30/3/2559 15:27:02)

Download

Page views: 121