สำนักงาน กสทช. ร่วม 4 องค์กร เดินหน้านำสายสื่อสารลงใต้ดินในโครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท โครงการนนทรี โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก – พระราม 9 และ โครงการรัชดาภิเษก – อโศก รวม 46.7 กิโลเมตร

     นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) สายงานกิจการโทรคมนาคมเปิดเผยว่า วันนี้ (14 ธ.ค. 2559) สำนักงาน กสทช. และ 4 องค์กร ประกอบด้วย การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้จัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) โครงการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รองรับปริมาณความต้องการใช้งานในสังคมเศรษฐกิจดิจิตอล และรองรับการเป็นมหานครแห่งอาเซียน
     นายก่อกิจ กล่าวว่า ในปี 2560 จะมี 2 เส้นทางที่ทุกหน่วยงานจะร่วมกันนำสายสื่อสารลงใต้ดิน คือ ถนนราชปรารถ และพระรามที่ 1 ระยะทางแต่ละเส้นทางประมาณ 1 กิโลเมตร ขณะเดียวกันสำนักงาน กสทช. จะร่วมมือกับ กฟน. ปรับเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้านำลงใต้ดิน ซึ่งขณะนี้มีโครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ คือ โครงการปทุมวัน จิตรลดา พญาไท (เพิ่มเติม) โครงการนนทรี 
โครงการพระราม 3 โครงการรัชดาภิเษก – พระราม 9 และโครงการรัชดาภิเษก – อโศก ระยะทางรวม 46.7 กิโลเมตร จากเส้นทางทั้งหมดภายใต้แผนงานระยะทาง 127.3 กิโลเมตร ประมาณ 39 เส้นทาง ซึ่งต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลา 5 - 10 ปี ตามนโยบายรัฐบาล
     ทั้งนี้ การดำเนินการนำสายสื่อสารลงใต้ดินที่ผ่านมา ในปี 2559 ได้แก่ เส้นทางถนนราชวิถี โดยสำนักงาน กสทช. ได้กำกับให้ผู้ประกอบการที่มีสายสื่อสาร และให้บริการในพื้นดังกล่าว เช่าท่อร้อยสายของหน่วยงานรัฐที่สามารถใช้พื้นที่ กทม. ได้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ส่งผลให้ถนนราชวิถีมีความสวยงาม เป็นระเบียบเรียบร้อยขึ้น โดยสำนักงาน กสทช. ได้แต่งตั้งคณะทำงานจัดระเบียบสายสื่อสารและการนำสายสื่อสารลงใต้ดิน เพื่อทำหน้าที่ในการจัดทำแผนปฏิบัติการจัดระเบียบสายสื่อสารประจำปี 2560 ซึ่งแผนการจัดระเบียบสายสื่อสารจะสอดคล้องกับแผนการ
     จัดระเบียบสายสื่อสารของ กฟน. และ กฟภ. เพื่อทำให้สายบนเสาไฟฟ้ามีความเป็นระเบียบเรียบร้อย โดยผู้ประกอบการสามารถดูเส้นทางวิกฤต เพื่อทราบ และหลีกเลี่ยงเส้นทางดังกล่าว ผ่านทางเว็บไซต์ของสำนักงาน กสทช. www.nbtc.go.th 
“สำนักงาน กสทช. มีความมุ่งหวังให้เส้นทางที่มีการนำสายสื่อสารลงใต้ดินเป็นเส้นทางที่ไร้สายสื่อสาร มีความสวยงาม ปลอดภัยต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน รวมถึงเป็นโครงการที่มีการบริหารจัดการที่ดี โดยใช้ท่อร้อยสายใต้ดินร่วมกันของผู้ประกอบกิจการสื่อสารทั้งหมดด้วยความเป็นธรรมและมีอัตราค่าเช่าที่สมเหตุสมผล และก่อให้เกิดการใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ” นายก่อกิจ กล่าว
 
---------------------------

สร้างโดย  - มหิตถีห์  จักราบาตร (14/12/2559 16:53:15)

Download

Page views: 282