สำนักงาน กสทช. เผยผลดีแจกคูปองดิจิตอลทีวี กระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม 6.3 หมื่นล้าน โดยทางตรงสำหรับผู้ประกอบการกล่อง STB 3 หมื่นล้านบาท และทางอ้อมอุตสาหกรรมสื่อโตประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ตนเองได้มอบหมายให้ดร. ชุติพงศ์ กี่สุขพันธ์ พนักงานปฏิบัติการระดับสูง สำนักค่าธรรมเนียมและอัตราค่าบริการในกิจการโทรคมนาคม สำนักงาน กสทช. ผู้สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น โดยทุนการศึกษาสำนักงาน กสทช. ศึกษาถึงผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของการแจกคูปองดิจิตอลทีวี พบว่า การแจกคูปองดิจิตอลทำให้เกิดผลประโยชน์ทางบวกต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมแล้วเป็นมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้นประมาณ 6.3 หมื่นล้านบาท เกิดขึ้นโดยตรงในภาคธุรกิจการค้าการลงทุนอุตสาหกรรมผู้ผลิตและจำหน่าย STB 3 หมื่นล้านบาท และทางอ้อมประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาทต่อปีจากมูลค่าเพิ่มรายได้โฆษณา คิดเป็นประมาณร้อยละ 0.3 ของรายได้ประชาชาติ  จะเห็นว่ามีความคุ้มค่าและส่งผลในทางบวกอย่างทวีคูณเมื่อเทียบกับเงินสนับสนุนเริ่มต้นประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท
สำหรับผลการศึกษาฉบับเต็มเป็นดังนี้
    ประมาณการผลประโยชน์ด้านเศรษฐกิจของการแจกคูปองส่วนลดกล่องแปลงสัญญาณ Set Top Box (STB) และเครื่องรับโทรทัศน์ Digital TV ต่อประเทศชาติ
1. ผลประโยชน์ทางตรงต่อเศรษฐกิจ
    คูปองจะถูกแจกจ่ายทั้งหมด 22.9 ล้านครัวเรือน โดยให้ครัวเรือนละ 1 ใบ ใช้เป็นส่วนลดแทนเงินสดได้เท่ากับมูลค่า 690 บาทต่อใบ เพราะฉะนั้นทำให้มีเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างน้อย 15,801 ล้านบาท ถือเป็นเงินสนับสนุนที่จัดสรรโดย กสทช. ซึ่งคูปองสามารถใช้เป็นส่วนลดได้ทั้งกล่องแปลงสัญญาณ STB หรือโทรทัศน์ที่รองรับระบบดิจิตอล (Digital TV)
    ในที่นี้จะพิจารณากรณีการแลกกล่อง STB เป็นหลักเนื่องจากราคาต่ำกว่าโทรทัศน์ และประชาชนส่วนใหญ่มีโทรทัศน์แล้ว จึงเป็นไปได้สูงที่จะมีการแลกเฉพาะกล่อง เพื่อใช้แปลงสัญญาณให้รับชมได้โดยไม่ต้องซื้อโทรทัศน์ใหม่
    ผลประโยชน์โดยตรงที่เกิดจากเงินลงทุนในภาคธุรกิจผลิตและจำหน่ายกล่อง STB อย่างมหาศาล กล่าวคือการที่ประชาชนได้รับการสนับสนุนเงิน 690 บาทนั้น ทำให้การตัดสินใจซื้อกล่อง STB ง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นกล่องที่ราคา 690 บาท หรือมากกว่า เนื่องจากไม่ต้องจ่ายเต็มจำนวน ทำให้บริษัทผู้จำหน่ายสามารถเพิ่มยอดขายได้อย่างทวีคูณ ตัวอย่างเช่น ราคาเฉลี่ยกล่อง STB มาตรฐานที่วางขายในท้องตลาดอยู่ที่ ประมาณ 1,300 บาท (1,200 – 1,700 บาท และจำนวนผู้มีสิทธิได้รับคูปอง 22.9 ล้านครัวเรือน หากมีการใช้คูปองแลกกล่อง STB ครบทุกใบจะทำให้มีการแลกซื้อจริงอยู่ที่ 22.9 ล้านใบ
    เพราะฉะนั้นจะเกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจภาคการค้าการลงทุนจากรายได้จำหน่ายกล่อง STB ทั้งสิ้นถึง 29,770 ล้านบาท (22.9x1,300) ก่อให้เกิดรายได้เข้ารัฐเป็นภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 คิดเป็นเงินประมาณ 2,084 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีภาษีรายได้จากบริษัทจำหน่ายกล่อง STB ซึ่งไม่อาจประมาณการได้
    ตามเงื่อนไขคุณสมบัติเฉพาะที่สำนักงาน กสทช. กำหนด ผู้จำหน่ายกล่องแปลงสัญญาณ STB จะต้องมีจุดบริการลูกค้า จังหวัดละ 4 แห่ง ต้องมีบริการ Call Center และมีการรับประกันสินค้า พร้อมให้คำปรึกษาในเรื่องการติดตั้ง ทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจโดยตรง จากการบริหารจัดการและจัดเตรียมจุดบริการ จ้างพนักงานบริการลูกค้าเพิ่มในกรณีจำเป็น และพนักงานให้คำปรึกษาในการติดตั้ง พนักงาน Call Center และช่างซ่อมให้พร้อมกรณีเกิดความต้องการเร่งด่วน ส่งผลถึงมูลค่าเพิ่มในการบริหารการขนส่งและโลจิสติกส์ อีกด้วย
    ในส่วนนี้ จะเห็นว่าการแจกคูปองก่อให้เกิดผลประโยชน์ทวีคูณต่ออัตราการจ้างงานในหลายส่วนที่อยู่ในกระบวนการทั้งหมด เป็นการเพิ่มเม็ดเงินในการบริโภคสินค้าและบริการได้อีกทางหนึ่ง
2. ผลประโยชน์ทางอ้อมต่อเศรษฐกิจ
    การที่ประชาชนสามารถเข้าถึงการรับชมโทรทัศน์ระบบดิจิตอลได้อย่างทั่วถึงนั้น ทำให้บริษัทผู้ผลิตรายการ โฆษณา และเจ้าของช่องทีวี มีความมั่นใจในการลงทุนและลดความเสี่ยงเรื่องรายได้ที่ไม่แน่นอนลงได้มาก
    ตามพ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 23 กำหนดให้ระยะเวลาโฆษณาโทรทัศน์ไม่เกิน 12 นาทีครึ่งต่อชั่วโมง หรือเฉลี่ย 10 นาทีต่อชั่วโมงในกรณีคิด 24 ชั่วโมง ค่าโฆษณาในระบบโทรทัศน์ดิจิตอลอยู่ที่ประมาณ 5,000 – 100,000 บาทต่อนาที  มีจำนวนช่องโทรทัศน์ดิจิตอลทั้งหมดในขณะนี้ 24 ช่อง  ซึ่งถือว่าต่ำกว่าค่าโฆษณาในช่องอนาลอกอย่างมาก สาเหตุหลักมาจากการที่มีการแข่งขันมากขึ้น มีจำนวนช่องมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการประหยัดจากขนาด (Economies of Scale) ซึ่งเปิดโอกาสการโฆษณาให้บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มากขึ้น
    หากพิจารณาเฉพาะช่วงเวลา Prime Time หรือช่วง 19.00 – 22.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่มีผู้ชมมากสุดในวัน เมื่อโครงข่ายครอบคลุมทุกพื้นที่แล้ว บริษัทช่องโทรทัศน์ดิจิตอลจึงสามารถเรียกค่าโฆษณาได้สูงสุดเฉลี่ยที่ 100,000 บาทต่อนาที เนื่องจากมีผู้ต้องการโฆษณาในช่วงเวลานี้จำนวนมาก คิดเป็นรายได้เข้าบริษัท 3.75 ล้านบาทต่อวันต่อช่อง (3x12.5x100,000) เพราะฉะนั้นจะเกิดมูลค่าเพิ่มในภาคธุรกิจโทรทัศน์ดิจิตอลจากรายได้โฆษณาทั้งหมด 24 ช่องไม่น้อยกว่า 32,850 ล้านบาทต่อปี (3.75x365x24) โดยอาจมีค่ามากกว่านี้มากในกรณีที่มีมูลค่าเพิ่มจากรายได้โฆษณาในช่วงเวลาปกติ ทำให้รัฐมีรายได้จากภาษีมูลค่าเพิ่มทันทีอย่างน้อย 2,299.5 ล้านบาทต่อปี
    โดยสรุปแล้ว การแจกคูปองดิจิตอลทำให้เกิดผลประโยชน์ทางบวกต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมแล้วเป็นมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้นประมาณ 6.3 หมื่นล้านบาท เกิดขึ้นโดยตรงในภาคธุรกิจการค้าการลงทุนอุตสาหกรรมผู้ผลิตและจำหน่าย STB 3 หมื่นล้านบาท และทางอ้อมประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาทต่อปีจากมูลค่าเพิ่มรายได้โฆษณา คิดเป็นประมาณร้อยละ 0.3 ของรายได้ประชาชาติ  จะเห็นว่ามีความคุ้มค่าและส่งผลในทางบวกอย่างทวีคูณเมื่อเทียบกับเงินสนับสนุนเริ่มต้นประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท  
[1] ข้อมูลจากไทยรัฐออนไลน์ (http://www.thairath.co.th/infographic/89)
2 นับจากจำนวนใบอนุญาต 24 ใบ ที่มีการประมูลสำเร็จสิ้นปี พ.ศ. 2556
3 ข้อมูลรายได้ประชาชาติปี พ.ศ. 2555 จาก NESDB (http://www.nesdb.go.th/Default.aspx?tabid=94)


--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

Download

สร้างโดย  -   (10/3/2559 12:27:01)

Download

Page views: 885