เจาะลึก.! ความผิดพลาดงานวิจัย NBTC Policy Watch กับข้อกล่าวหาค่าบริการ 3จี ไม่ลด 15% ข้อมูลที่ถูกต้องยืนยันตรงกันลดกว่า 15% ตีแสกหน้าผลงานวิจัยฯ

รายงานข่าวจาก สำนักงาน กสทช. เปิดเผยว่า กรณีที่ นายพรเทพ  เบญญาอภิกุล อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดทำงานวิจัย ในหัวข้อ“ราคาค่าโทร 3G หนึ่งปีเปลี่ยนไปอย่างไร?” ภายใต้โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม หรือ NBTC Policy Watch  โดยใช้ฐานข้อมูลในการเปรียบเทียบอัตราค่าบริการโทรศัพท์มือถือที่คลาดเคลื่อน ส่งผลให้ กสทช.ได้รับความเสียหาย จนต้องออกมาเปิดเผยข้อมูลที่ถูกต้องต่อสื่อมวลชนอย่างต่อเนื่องไปแล้วนั้น  แต่ นายพรเทพ ก็ไม่สามารถชี้แจงให้เคลียร์ได้ว่าทำไมจึงใช้ฐานข้อมูลเดือนพฤษภาคม 2556 มาเป็นเกณฑ์เปรียบเทียบ ทั้งๆที่เดือนพฤษภาคม 2556 เป็นช่วงที่ค่ายมือถือรายหนึ่งที่นายพรเทพ ร้องเรียนเกี่ยวกับค่าบริการ 3 จี ไม่ลด 15% และเป็นที่ครหาได้ว่าการที่นายพรเทพเอาวันที่สุ่มตรวจไปเทียบกับวันเปิดให้บริการของค่ายมือถือเพียงรายเดียวนั้นจึงมีความผิดปกติและทำให้ข้อมูลผิดพลาดหลายประการดังนี้
1. อาจมองว่าผู้ทำวิจัยขาดความเป็นกลางในสองระดับ คือ ระดับแรกในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อกสทช. ซึ่งมีการกำหนดเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตที่ให้ค่ายมือถือทั้ง 3 ราย ว่าต้องลดอัตราค่าบริการไม่น้อยกว่าอัตราเฉลี่ยของค่าบริการ ณ วันที่ออกใบอนุญาต คือวันที่ 7 ธันวาคม 2555 โดยเงื่อนไขนี้เป็นคำสั่งทางปกครอง ที่ค่ายมือถือที่รับอนุญาตต้องปฏิบัติตาม ขณะเดียวกัน กสทช.ก็ต้องใช้เกณฑ์ค่าเฉลี่ย ณ วันดังกล่าวไปใช้เป็นเกณฑ์ในการเปรียบเทียบว่าอัตราค่าบริการของค่ายมือถือรายใดรายหนึ่ง ณ วันที่ กสทช. สุ่มตรวจลดลงตามเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนดหรือไม่ ฉะนั้นวันที่จะใช้เป็นเกณฑ์ในการใช้เปรียบเทียบต้องมีความชัดเจนและปรากฏในคำสั่งทางปกครอง กรณีจึงไม่สามารถนำเอาวันอื่น เช่น วันเปิดให้บริการของค่ายมือถือรายหนึ่งมาใช้เป็นเกณฑ์ในการเปรียบเทียบได้ การที่นายพรเทพใช้เกณฑ์ที่ตนเข้าใจเองว่าเหมาะสม ซึ่งแตกต่างจากที่ กสทช. กำหนดในคำสั่งทางปกครองมาวัด จึงเป็นการนำข้อมูลนอกกติกาของ กสทช.มาใช้ตามความเชื่อของนายพรเทพเอง แม้จะเป็นสิทธิของนายพรเทพที่จะใช้ข้อมูลตรงไหนเป็นเกณฑ์ก็ได้ แต่การที่ใช้ฐานข้อมูลต่างกันมาสรุปโจมตี กสทช.ว่าไม่สามารถกำกับดูแลให้อัตราค่าบริการ 3 จี ลดลงถึง15% จึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และไม่เป็นธรรมต่อกสทช.
          ทั้งนี้ปรากฏข้อเท็จจริงว่าในตอนแรกนายพรเทพไม่ได้เปิดเผยต่อสื่อว่าตนใช้เกณฑ์วัดต่างจาก  กสทช. ทั้งไม่ได้บอกว่าเกณฑ์ที่ตนใช้เป็นเกณฑ์ที่ กสทช.ไม่ได้ใช้ในการวางกติกา แต่นายพรเทพกลับไปสรุปว่า กสทช.ไม่คุมค่ามือถือให้ลดลง15 % ตามที่บอกประชาชน โดยใช้เกณฑ์ของนายพรเทพเอง ทำให้เกิดความเข้าใจผิด
           ในระดับที่สอง มีต่อค่ายมือถือ การที่นายพรเทพเลือกนำวันที่ค่ายมือถือรายหนึ่งเปิดให้บริการมาเป็นเกณฑ์ในการวัดเปรียบเทียบทำให้เกิดความไม่แน่นอน เนื่องจากวันเปิดให้บริการของแต่ละค่ายย่อมแตกต่างกัน และไม่สามารถอธิบายได้ว่าเหตุใดจึงนำเกณฑ์ที่วัดไปผูกกับวันเปิดบริการของค่ายมือถือซึ่งนายพรเทพมีข้อพิพาทร้องเรียนกันอยู่ ทั้งเหตุผลที่นายพรเทพพยายามอธิบายว่าราคาแพคเกจในวันที่ 7 ธันวาคม 2555 ไม่ต่างจากในเดือนพฤษภาคม 2556 ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะนายพรเทพเลือกที่จะนำบางแพคเกจมาคิดคำนวณในการเปรียบเทียบเท่านั้น และโดยตรรกแล้ว อัตราค่าบริการในเดือนพฤษภาคม 2556 ย่อมลดจากอัตราเฉลี่ยในวันที่ 7 ธันวาคม 2555 มาแล้ว การที่นายพรเทพใช้ข้อมูลที่สุ่มตรวจในเดือนมิถุนายน 2557 มาเปรียบเทียบกับอัตราค่าบริการในเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งผู้ให้บริการได้ลดค่าบริการไปแล้วจากอัตราค่าบริการเฉลี่ยเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2555 จึงเป็นธรรมดาอยู่ดีที่ค่าบริการจะลดไม่ถึง 15% งานวิจัยส่วนนี้ของนายพรเทพจึงไม่สมเหตุสมผลและขาดความเป็นกลาง
             2. การที่นายพรเทพใช้ข้อมูลน้อยและหยาบ แต่กลับมาอ้างว่างานวิจัยมีคุณภาพเพราะเลือกใช้ข้อมูลเฉพาะแพคเกจที่มีคนนิยม โดยกลับตำหนิ กสทช. ว่ารวบรวมข้อมูลมากไป ก็ยิ่งแสดงให้เห็นว่านายพรเทพหาข้อแก้ตัวโดยเถียงข้างๆคูๆที่ไร้เหตุผลและฟังไม่ขึ้น เพราะการทำวิจัยที่ดีนั้น ถ้ายิ่งใช้ข้อมูลที่มาก ครอบคลุมในเชิงลึกและมีความละเอียดก็ยิ่งจะทำให้ผลการวิจัยไม่คลาดเคลื่อน ถูกต้องและมีคุณภาพมากกว่า
 ทั้งนี้สำนักงาน กสทช.ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า ตามเงื่อนไขในการอนุญาตใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม หมวด 3 เงื่อนไขเฉพาะสำหรับผู้รับใบอนุญาต ภาคผนวก ก ข้อ 7.5 กำหนดให้  “ผู้รับใบอนุญาตต้องกำหนดอัตราค่าบริการให้เป็นธรรม สมเหตุสมผลและไม่เอาเปรียบผู้บริโภค โดยในการเปิดให้บริการผู้รับใบอนุญาตจะต้องกำหนดอัตราค่าบริการที่ลดลงโดยเฉลี่ยไม่น้อยกว่าร้อยละสิบห้าของอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการประเภทเสียง (voice) และบริการที่ไม่ใช่ประเภทเสียง (non-voice) ที่มีการให้บริการอยู่ในตลาด ณ วันที่ได้รับใบอนุญาต ทั้งนี้ จนกว่าคณะกรรมการจะกำหนดเป็นอย่างอื่น”   
           ดังนั้นเพื่อให้การตรวจสอบและกำกับดูแลเป็นไปเงื่อนไขในการอนุญาต  สำนักงาน กสทช. จึงใช้วันที่ได้รับใบอนุญาตในการเปรียบเทียบ ซึ่งก็คือวันที่ 7 ธันวาคม 2555 โดยที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 10/2556 เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2556 มีมติเห็นชอบแนวทางการคำนวณและอัตราค่าบริการเฉลี่ยของบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ต่อมาเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2556 ที่ประชุม กทค. ได้มีมติเห็นชอบแนวทางการตรวจสอบและกำกับดูแลอัตราค่าบริการของสำนักงาน กสทช. โดยให้พิจารณาในทุกๆ รายการส่งเสริมการขายทั้งหมดที่มีอยู่ในตลาด ทั้งในระบบ Postpaid  ระบบ Prepaid รวมถึงบริการเสริม (on-top)  และนำมาเปรียบเทียบกับอัตราค่าบริการเฉลี่ยของผู้ให้บริการทุกรายในตลาด ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2555 ซึ่งเป็นอัตราอ้างอิงในการตรวจสอบ
     สำหรับหลักในการกำกับดูแลอัตราค่าบริการนั้น จำเป็นที่จะต้องคุ้มครองผู้ใช้บริการทุกคนไม่ว่าจะมีปริมาณการใช้งานมากหรือน้อย ไม่เลือกปฏิบัติแบ่งแยกกีดกันรายหนึ่งรายใด จึงทำให้สำนักงาน กสทช. พิจารณาทุกรายการส่งเสริมการขายที่มีอยู่ในตลาด ซึ่งผู้ใช้บริการทุกคนมีสิทธิที่จะสมัครและเลือกใช้ได้  โดยผู้รับใบอนุญาตทั้ง 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) บริษัท เรียล ฟิวเจอร์ จำกัด (RF) และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขใบอนุญาตและมติที่ประชุม กทค. ตลอดมา
 ตัวอย่างเช่นในเดือนพฤษภาคม 2557 จากการกำกับดูแลของสำนักงาน กสทช. พบว่า บริษัทแอดวานซ์ไวร์เลส เน็ตเวิร์ค จำกัด  (AWN)  มีโปรโมชั่นทั้งหมด 414 รายการ โดยมีค่าบริการ Voice เฉลี่ยนาทีละ 77 สตางค์ (ลดลง 21% จากวันที่ให้ใบอนุญาต)  และค่าบริการ Internet เฉลี่ยนาทีละ 27 สตางค์ (ลดลง 18% จากวันที่ให้ใบอนุญาต)   บริษัทเรียลฟิวเจอร์ จำกัด (RF)  มีโปรโมชั่นทั้งหมด 150 รายการ โดยมีค่าบริการ Voice เฉลี่ยนาทีละ 72 สตางค์ (ลดลง 26% จากวันที่ให้ใบอนุญาต)  และค่าบริการ Internet เฉลี่ยนาทีละ 26 สตางค์ (ลดลง 21% จากวันที่ให้ใบอนุญาต) และบริษัทดีแทคไตรเน็ต จำกัด (DTN) มีโปรโมชั่นทั้งหมด 101 รายการ โดยมีค่าบริการ Voice เฉลี่ยนาทีละ 49 สตางค์ (ลดลง 50% จากวันที่ให้ใบอนุญาต)  และค่าบริการ Internet เฉลี่ยนาทีละ 20 สตางค์ (ลดลง 38% จากวันที่ให้ใบอนุญาต)
   อนึ่ง ประกาศ กสทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเสียงภายในประเทศ พ.ศ.2555 บังคับใช้เฉพาะผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 2G และเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด จึงไม่ครอบคลุมถึงผู้ประกอบการ 3G บนย่านความถี่ 2.1 GHz อีกทั้งปัจจุบันจำนวนผู้ใช้บริการ 3G บนย่านความถี่ 2.1GHz มีจำนวนมากถึง 55 ล้านเลขหมาย หากพิจารณาถึงเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับอัตราค่าบริการลดลง 15% พบว่า มีจำนวนน้อยมากเพียง 27 เรื่อง หรือประมาณ 1 คนจากจำนวนผู้ใช้บริการ 2 ล้านคน  
 สำนักงาน กสทช. จึงขอยืนยันว่า ได้มีการติดตาม ตรวจสอบและกำกับดูแลอัตราค่าบริการให้เป็นไปตามเงื่อนไขใบอนุญาตอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ย่านความถี่ 2.1 GHz ว่าเป็นไปตามตามเงื่อนไขใบอนุญาตและมติที่ประชุม กทค. แล้วโดยเปิดเผยผ่านทางเวปไซต์ของสำนักงาน กสทช. เป็นประจำในแต่ละเดือน

                          ..............................................................................................................

Download

  • เจาะลึก-ความผิดพลาด-NBTC-Policy-watch.docx

สร้างโดย  -   (14/3/2559 11:49:00)

Download

Page views: 87