สรุปมติที่ประชุม กทช. 37/2551

มติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
ครั้งที่ 37/2551
วันพฤหัสบดีที่ 9 ตุลาคม  2551  เวลา  9.30  น.
ณ ห้องประชุมชั้น  12  อาคารอำนวยการ สำนักงาน กทช.
 
ระเบียบวาระที่  1   :   เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
1. ขอให้สำนักงาน กทช. ให้ความสำคัญเรื่องการให้บริการแก่ผู้ติดต่อราชการ  โดยเฉพาะเรื่องการแต่งกาย การใช้วาจา และการประสานงานกับผู้ที่มาติดต่อ ทั้งนี้ ได้รับทราบว่า หน่วยงานในภูมิภาค ได้มีการดำเนินการปรับปรุงการให้บริการแล้ว จึงขอชมเชยและให้หน่วยงานส่วนกลางได้ปรับปรุงการให้บริการด้วย เช่นกัน
2. การจัดบรรยายที่เชิญผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ ขอให้สำนักงาน กทช. ให้ความสำคัญ โดยจัดเจ้าหน้าที่เข้ารับฟังการบรรยาย เพราะจะเป็นประโยชน์ในการปฏิบัติงานและควรจะรวบรวมคำบรรยาย จัดทำเป็นภาษาไทย และเผยแพร่ให้กับพนักงาน สำนักงาน กทช. ได้ศึกษาเพิ่มเติม
มติที่ประชุม   รับทราบตามที่ประธานแจ้ง และมอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ระเบียบวาระที่   2    :  เรื่องรับรองรายงานการประชุม/ รับรองมติที่ประชุม   
ระเบียบวาระที่   2.1 :  รับรองรายงานการประชุม กทช.

 - ไม่มี -
ระเบียบวาระที่   2.2  :  รับรองมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 36/2551 วันพฤหัสบดี ที่  2  ตุลาคม  2551 
มติที่ประชุม  รับรองมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 36/2551 วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม 2551 โดยมีข้อแก้ไขข้อความในวาระที่ 6.1 ข้อ 2 จากเดิม “มอบหมายให้สำนักงาน กทช. ร่วมกับคณะกรรมการกำกับการบริหารกองทุนฯ ไปจัดทำรายละเอียดแล้วเสนอให้คณะกรรมการพัฒนาบุคลากรพิจารณาความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่ง ก่อนเสนอที่ประชุม กทช. ต่อไป แก้ไขใหม่เป็น “มอบหมายให้สำนักงาน กทช. ร่วมกับคณะกรรมการกำกับการบริหารกองทุนฯ ไปจัดทำรายละเอียดแล้วเสนอให้คณะกรรมการกำกับการบริหารกองทุนฯ พิจารณาความเหมาะสมอีกครั้งหนึ่งก่อนเสนอที่ประชุม กทช.  ต่อไป”
ระเบียบวาระที่   3   :   รายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 36/2551  วันพฤหัสบดี ที่   2  ตุลาคม   2551 
มติที่ประชุม              
1.  รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 36/2551 วันพฤหัสบดีที่ 2 ตุลาคม 2551 ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. ดำเนินการรวบรวมข้อมูลโครงข่าย Mobile ที่มีอยู่ในปัจจุบัน โดยมีรายละเอียดต่างๆ อาทิ สถานีฐานและที่ตั้ง ระบบการบริหาร Mobile Switching ทั้งนี้ ให้จำแนกเป็นรายภาค เพื่อจะได้ใช้เป็นข้อมูลในการกำกับดูแลตามอำนาจหน้าที่ และนำเสนอที่ประชุม กทช. ทราบ 
ระเบียบวาระที่    4     :  เรื่องเพื่อพิจารณา   
ระเบียบวาระที่    4.9  :  การจัดทำความตกลงความร่วมมือทางเทคนิคในงานตรวจสอบการใช้ความถี่วิทยุระหว่างไทยและสาธารณรัฐเกาหลี : รทช.  จิราพรฯ, รศ.

มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบ Program ของกิจกรรมภายใต้แถลงการณ์ร่วม (Joint Statement) ระหว่างสำนักงาน กทช. และ Central Radio Management Office (CRMO) สำนักงานคณะกรรมการกิจการสื่อสารของสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเสนอโดย CRMO และสำนักงาน กทช. ดังนี้
1.1  กิจกรรมที่เสนอโดย CRMO 
1) Information Broadcasting  Technology (IBT) Policy Program for Senior Officials หลักสูตร e-Government Development for National Competitiveness ระหว่างวันที่ 19 - 28 ตุลาคม 2551 ณ กรุงโซล และ เมือง Daejeon เกาหลี
2) CRMO–KADO Joint Program หลักสูตร Radio Management & Policy ระหว่างวันที่ 7-14 ตุลาคม 2551  ณ KADO กรุงโซล  เกาหลี
1.2  กิจกรรมที่เสนอโดย สำนักงาน กทช.
1) โครงการศึกษาดูงานการกำกับดูแลการใช้ความถี่วิทยุ   ร่วมกับ CRMO ของสำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม
2) การฝึกอบรมหลักสูตร Radio Monitoring ของสำนักตรวจสอบการใช้ความถี่วิทยุ 
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็นที่ประชุมในประเด็นต่างๆ ไปดำเนินการ ดังนี้
2.1  การพิจารณาคัดเลือกพนักงานสำนักงาน กทช. เข้ารับการอบรม ให้พิจารณาจัดลำดับความสำคัญกับเจ้าหน้าที่ผู้ที่ปฏิบัติงานในสายงานที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เป็น Priority แรก  และ เปิดกว้าง Open for All  สำหรับพนักงาน สำนักงาน กทช. ที่มีความรู้ ความสามารถเพิ่มเติม
2.2  เมื่อเสร็จสิ้นการฝึกอบรมแล้ว ให้สำนักงาน กทช. จัดช่วงเวลาให้ผู้ที่เข้ารับการอบรมได้บรรยายสิ่งที่ได้ไปอบรมมา เพื่อถ่ายทอดให้พนักงานสำนักงาน กทช. ที่สนใจได้ทราบ
2.3  กรณีการคัดเลือกพนักงานสำนักงาน กทช. ในการศึกษาดูงาน ควรให้ความสำคัญกับผู้ปฏิบัติงานโดยตรง โดยยกเว้นเรื่องความสามารถด้านภาษาต่างประเทศ  แต่อาจจัดให้มีการอบรมเบื้องต้นก่อนเข้ารับการอบรม ทั้งนี้ เพื่อเป็นการส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามควรให้ผู้ที่มีความรู้ด้านภาษาต่างประเทศ ร่วมเดินทางในคณะด้วย เพื่อช่วยเหลือในด้านการติดต่อสื่อสารด้านภาษาต่างประเทศ
2.4  การจัดทำ Joint Statement ขอให้สำนักงาน กทช. นำเสนอฉบับที่เป็นภาษาไทยควบคู่มาด้วยทุกครั้ง
ระเบียบวาระที่    4.10     :   กรณีบริษัท ทรู มูฟ จำกัด ดำเนินการก่อสร้างสถานีวิทยุคมนาคมในบริเวณที่ดินติดกับที่อยู่อาศัยของนางสาวพจนา  ซื่อเจริญกิจ  ผู้ร้องเรียน : ผชช.กม., สบท.
มติที่ประชุม                
1.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็นที่ประชุมไปดำเนินการดังนี้
1.1  ให้สำนักงาน กทช. มีหนังสือแจ้งบริษัท ทรู มูฟ จำกัด เพื่อยื่นเรื่องขออนุญาตติดตั้งสถานีวิทยุคมนาคมให้ถูกต้องตามนัยมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ และดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม
1.2  ให้มีหนังสือแจ้งผู้ร้องเรียน (นางสาวพจนา  ซื่อเจริญกิจ) เพื่อทราบมติที่ประชุมตามข้อ 1.1
1.3  ด้านเทคนิคให้เชิญผู้ประกอบการมาหารือ ปัญหา ข้อขัดข้อง และแนวทางในการปฎิบัติตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และมาตรการกำกับดูแลความปลอดภัยต่อสุขภาพมนุษย์จากการใช้เครื่องวิทยุคมนาคม โดยให้ชี้แจงทำความเข้าใจ ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินธุรกิจสามารถดำเนินไปได้ และประชาชนได้รับความปลอดภัย
2.  ให้สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เสนอรายงานผลการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนกรณีการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมที่ผ่านมา ให้ที่ประชุม กทช. พิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
ระเบียบวาระที่    4.11   :   การแก้ไขปัญหากรณีผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่เครือข่ายซีดีเอ็มเอ ของ  บมจ.กสท โทรคมนาคม ไม่สามารถโทรออกไปยังผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บมจ.แอดวานซ์  อินโฟร์ เซอร์วิส : ผชช.กม., สบท.
มติที่ประชุม              
1.  ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่า ประเด็นขอให้ กทช. มีคำสั่งให้มีการเชื่อมต่อตรง เพื่อเยียวยาปัญหาการใช้บริการของผู้บริโภค โดยที่ บมจ.กสท โทรคมนาคม ได้ยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทแล้ว ที่ประชุมจึงมีมติให้ยุติเรื่องนี้
2.  ในประเด็นการเยียวยาปัญหาผู้บริโภค ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่า โดยที่ บมจ.กสท โทรคมนาคม ได้แก้ไขปัญหาเยียวยาไปบ้างแล้ว รวมทั้งได้เสนอมาตรการแก้ไขปัญหาและเยียวยาเบื้องต้น ที่ประชุมจึงมีมติให้ บมจ.กสท โทรคมนาคม ดำเนินการแก้ไขปัญหาและเยียวยาต่อไป ซึ่งหากบริษัทฯ ไม่สามารถดำเนินการให้เรียบร้อยได้ ให้สำนักงาน กทช. นำเสนอที่ประชุมเพื่อพิจารณาสั่งการให้ บมจ.กสท โทรคมนาคม ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อ 14 ของประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ.2549 และมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ ต่อไป
ระเบียบวาระที่   4.12    :   ร่างคำสั่งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์การใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์และการรักษาความมั่นคงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ : รทช.พิทยาพลฯ, กม.
มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์การใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์ และการรักษาความมั่นคงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ โดยให้เพิ่มเติมอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการเสนอแนวนโยบายเกี่ยวกับการเก็บรักษาข้อมูลจราจรทางคอมพิวเตอร์ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 และให้มีวาระการปฏิบัติหน้าที่ 90 วัน ทั้งนี้ ให้นำร่างคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เสนอประธาน กทช. เพื่อลงนามต่อไป
2. เห็นชอบการจ่ายค่าตอบแทนประธานกรรมการ กรรมการ  เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ ดังนี้
2.1  กรรมการซึ่งเป็นบุคคลภายนอก จำนวน 4 ราย (ดร.ทวีศักดิ์ กออนันตกุล  นางสุรางคณา วายุภาพ  นายปริญญา     หอมเอนก  และ ผศ.เชาวน์ดิศ  อัศวกุล) โดยให้ได้รับเบี้ยประชุม ครั้งละ 8,000 บาท ซึ่งเป็นไปตามข้อ 18 (1) (ข) ของระเบียบ กทช. ว่าด้วย วิธีการประชุมของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และค่าตอบแทน พ.ศ.2551 
2.2 ประธานกรรมการ กรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ ที่เป็นพนักงานสำนักงาน กทช.ให้ได้รับเบี้ยประชุมครั้งละ 1,000 บาท ตามข้อ 23 ของระเบียบ กทช.ว่าด้วย วิธีการประชุมของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และค่าตอบแทน พ.ศ.2551 
ระเบียบวาระที่    4.21   :   บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ ขอรับการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคม : รทช.ประเสริฐฯ, กบ.
มติที่ประชุม              
1.  อนุมัติจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมสำหรับโทรศัพท์ประจำที่ เพิ่มเติม ให้แก่ บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์  จำนวน 25 กลุ่ม ๆ  ละ 1,000 เลขหมาย รวมทั้งสิ้น 25,000 เลขหมาย ดังนี้
1.1  จัดสรรเลขหมาย  จำนวน  20  กลุ่ม ในกลุ่มเลขหมาย  021  จำนวน  20,000  เลขหมาย  สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร และปริมณฑล
1.2  จัดสรรเลขหมาย  จำนวน  4  กลุ่ม  ในกลุ่มเลขหมาย  033 จำนวน  4,000  เลขหมาย  สำหรับพื้นที่  จังหวัดชลบุรี
1.3  จัดสรรเลขหมาย  จำนวน  1  กลุ่ม  ในกลุ่มเลขหมาย  043  จำนวน  1,000  เลขหมาย  สำหรับพื้นที่  จังหวัดขอนแก่น
2.  อนุมัติในหลักการให้นำเลขหมายโทรคมนาคมที่ใช้สำหรับโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่ ซึ่งได้สำรองไว้ตามประกาศ กทช. เรื่อง แผนเลขหมายโทรคมนาคม คือกลุ่มเลขหมาย 033 เพื่อจัดสรรในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และ จันทบุรี โดยจัดสรรให้แก่ผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมจาก กทช. สำหรับการใช้งานในโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่ ทดแทน กลุ่มเลขหมาย 037 ที่ใช้งานในพื้นที่จังหวัดชลบุรี ระยอง และ จันทบุรี อยู่เดิม สำหรับเลขหมายในกลุ่ม 037 ที่นำไปให้บริการแล้ว มอบหมายให้ สำนักงาน กทช. หารือกับผู้ที่ได้รับจัดสรรฯ ที่ให้บริการไปแล้วในกลุ่มเลขหมาย 037 เพื่อปรับมาใช้ในกลุ่ม 033 และให้นำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาต่อไป
3.  จัดสรรเลขหมาย (โครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่) ในกลุ่มเลขหมาย 033 ข้อ 2 จำนวน 4,000 เลขหมาย ให้แก่ บมจ.ทริปเปิลทีฯ เพื่อให้บริการในพื้นที่จังหวัดชลบุรี 
ระเบียบวาระที่    5      :   เรื่องเพื่อทราบ
ระเบียบวาระที่    5.1   :   ขอให้นำข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาท  : สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (สชท.)

มติที่ประชุม  รับทราบเรื่องบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ขอให้นำข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส  จำกัด (มหาชน)  เข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทตามประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ตามที่ สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม เสนอ 
ระเบียบวาระที่    5.2   :   รายงานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพเรื่อง Telecom Trade Rules & Regulatory Disciplines ระหว่างวันที่ 19-22 สิงหาคม 2551 ณ Info-Com Development Agency ประเทศสิงคโปร์  : สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (สชท.)
มติที่ประชุม  รับทราบรายงานการประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อเสริมสร้างศักยภาพเรื่อง Telecom Trade Rules & Regulatory Disciplines ระหว่างวันที่  19 - 22 สิงหาคม 2551 ณ Info - Com Development Agency ประเทศสิงคโปร์ ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่  5.3    :  การยุติข้อร้องเรียนของนายพีระพงษ์ คงธนาสมบูรณ์ กรณีบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้ากำหนดระยะเวลาใช้งาน  : สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.)
มติที่ประชุม  รับทราบการยุติข้อร้องเรียนของนายพีระพงษ์ คงธนาสมบูรณ์ กรณีบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเรียกเก็บค่าบริการล่วงหน้ากำหนดระยะเวลาใช้งาน โดยบริษัท ทรู มูฟ จำกัด ยินยอมให้ผู้ร้องใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หมายเลขดังกล่าวโดยไม่มีกำหนดระยะเวลา แต่มีเงื่อนไขว่าจะต้องมีการใช้งานโทรเข้าหรือรับสาย อย่างน้อย 1 ครั้ง ภายในระยะเวลา 90 วัน ตามที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมเสนอ
ระเบียบวาระที่   5.4   :   รายงานการรับเรื่องร้องเรียนของเดือนกันยายน 2551 : สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.)
มติที่ประชุม  รับทราบรายงานการรับเรื่องร้องเรียนของเดือนกันยายน 2551 จำนวนทั้งสิ้น 9 ราย ซึ่งเป็นเรื่องที่ดำเนินการแก้ไขปัญหาข้อร้องเรียนเสร็จสิ้นจำนวน 1 ราย และอยู่ระหว่างการดำเนินการแก้ไขของบริษัทจำนวน 8 ราย ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่    5.5   :   รายงานผลการสอบทานงบการเงินของ สบท. ครั้งที่ 1/2551 ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2551 : สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.)
มติที่ประชุม  รับทราบรายงานผลการสอบทานงบการเงินของ สบท. ครั้งที่ 1/2551 ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2551 ซึ่งได้ดำเนินการ โดยบริษัท นิลสุวรรณ จำกัด ผู้สอบบัญชีของสถาบันฯ ทั้งนี้ เป็นไปตามระเบียบ กทช. ว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2550   ตามที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมเสนอ
ระเบียบวาระที่   5.6   :   รายงานผลการดำเนินงานของ สบท. ครั้งที่ 1/2551 (มกราคม - มิถุนายน 2551) : สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.)
มติที่ประชุม  รับทราบรายงานผลการดำเนินงานของ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ครั้งที่ 1/2551 (มกราคม - มิถุนายน 2551)   ทั้งนี้เป็นไปตามระเบียบ กทช. ว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2550 ตามที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมเสนอ
ระเบียบวาระที่   5.7  :   รายงานผลการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กรณีกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติพ้นตำแหน่งโดยการลาออก) : รทช.ฐากรฯ, กลุ่มภารกิจด้านวิชาการเพื่อสนับสนุนการทำงานของ สกทช.
มติที่ประชุม  รับทราบรายงานผลการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กรณีกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติพ้นตำแหน่งโดยการลาออก) ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่   5.8  :   รายงานผลการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 : รทช.พิทยาพลฯ, กม.
มติที่ประชุม  รับทราบรายงานผลการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ประจำเดือนกันยายน 2551 ซึ่งไม่มีการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำผิดตามพระราชบัญญัติดังกล่าว ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่  5.9   :   รายงานผลการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 : รทช.พิทยาพลฯ, กม.
มติที่ประชุม  รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานตามที่ กทช. ได้แต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตหรือมอบหมายให้ ลทช. ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 ประจำเดือนสิงหาคม 2551 ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่   5.10   :   รายงานผลการสัมมนาเรื่อง “นานาทรรศนะต่อการทำ ASEAN-EU FTA” : รทช.จิราพรฯ, รศ.
มติที่ประชุม  รับทราบผลการสัมมนาเรื่อง “นานาทรรศนะต่อการทำ ASEAN-EU FTA” ณ โรงแรมดิเอ็มเมอรัลด์ กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 17 กันยายน 2551 ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่  5.11   :   จัดส่งข้อหารือที่เกี่ยวกับกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ รวม 8 เรื่อง : ลทช., กก.
มติที่ประชุม              
1.  รับทราบเรื่องบริษัท กรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด และจังหวัดนครนายก ได้มีหนังสือส่งข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องราวร้องทุกข์ ข้อหารือ ข้อร้องเรียน และการต่อใบอนุญาตเกี่ยวกับการดำเนินการตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 จำนวน รวม 8 เรื่อง เพื่อขอให้สำนักงาน กทช. พิจารณา
2. รับทราบการดำเนินงานของสำนักงาน กทช. ซึ่งได้มีหนังสือแจ้งเรื่องตามข้อ 1 ให้ประธานอนุกรรมการฯ อนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เพื่อพิจารณา และแจ้งผลการดำเนินงานให้หน่วยงานต่างๆ ทราบตามเอกสารที่กลุ่มภารกิจด้านแผนกลยุทธ์และติดตามผลการดำเนินงานเสนอ
ระเบียบวาระที่   5.12   :   รายงานผลความคืบหน้าของแผนงาน/โครงการ : รทช.ฐากรฯ, ปต.
มติที่ประชุม  รับทราบรายงานผลความคืบหน้าของแผนงาน/โครงการ ของสถาบัน สำนัก และกลุ่มงาน ประจำเดือนกันยายน 2551 ซึ่งสำนักงาน กทช. ได้ดำเนินการตามมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 26/2551 เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่      6      :  เรื่องอื่น ๆ
ระเบียบวาระที่      6.1   :  การขอรับนโยบายการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 : คณะกรรมการพิจารณาวิเคราะห์มูลค่างบประมาณฯ
มติที่ประชุม              
1.  รับทราบข้อมูล / ข้อเท็จจริงการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 ตามที่คณะกรรมการพิจารณาวิเคราะห์มูลค่างบประมาณและติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณ เสนอ
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็นที่ประชุมไปดำเนินการ  และนำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาต่อไป ดังนี้
2.1  การจัดทำร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 จะต้องไม่เกินประมาณการรายรับของรายได้ตามมาตรา 60(1) 
2.2  ร่างงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 ตามข้อ 2.1 จะต้องรวมเงินงบกลางสำรองฉุกเฉินที่จำเป็น เงินจัดสรรเข้ากองทุน และเงินนำส่งเป็นรายได้รัฐด้วย
2.3 แผนงาน / โครงการ ที่จะดำเนินการจะต้องมีรายละเอียดที่ชัดเจน เรียบร้อยและพร้อมที่จะดำเนินการได้ในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 
2.4  งบรายจ่ายประจำด้านบุคลากร จะต้องไม่เกินร้อยละ 40 ของงบประมาณรายจ่าย
2.5  งบลงทุนให้จัดลำดับความสำคัญตามเป้าหมายและยุทธศาสตร์ที่ กทช. ได้ให้ความเห็นชอบไว้
2.6  งบสำหรับการฝึกอบรมและดูงานในต่างประเทศ ควรให้ดำเนินในลักษณะบูรณาการ โดย บค. เป็นหน่วยกลางในการดำเนินงาน เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาบุคลากร
2.7  ให้รับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการพิจารณาวิเคราะห์มูลค่างบประมาณและติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ไปดำเนินการ อาทิ การจัดตั้งหน่วยงานเพื่อรับผิดชอบการจัดทำงบประมาณและติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ตามหนังสือที่ คงป 005/2551 ลงวันที่ 7 ตุลาคม 2551 การบริหารจัดการในการจัดซื้อพัสดุครุภัณฑ์ โดยจัดให้มีข้อมูลกลางในการจัดซื้อจัดจ้าง และเรื่องการให้ทุนการศึกษาที่ซ้ำซ้อนกัน ทั้งในส่วนของสำนักงาน กทช. และสถาบันฯ
ระเบียบวาระที่    6.2    :   เงินอุดหนุนเฉพาะกิจของโครงการ ASMS : รทช.ฐากรฯ, คง.
มติที่ประชุม  อนุมัติให้สำนักงาน กทช. นำเงินอุดหนุนเฉพาะกิจที่ได้รับจัดสรรจาก เงินงบประมาณแผ่นดินประจำปี 2548 ที่ยังมิได้เบิกจ่ายตามโครงการจัดซื้อระบบบริหารความถี่วิทยุอัตโนมัติ (ASMS) ซึ่งได้รับโอนจากกรมไปรษณีย์โทรเลข ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ มาตรา 82 ประกอบมาตรา 77 ที่คงเหลือ จำนวน 23.223 ล้านบาท นำส่งเป็นเงินรายได้แผ่นดินตามความเห็นของคณะกรรมการติดตามและประเมินผลการปฏิบัติงานของสำนักงาน กทช. ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่    6.3    :   โครงการดำเนินการทดลองศึกษา และประเมินผลการปรับเปลี่ยนจากโครงข่ายดั้งเดิมเป็นโครงข่ายไอพีในจังหวัดภูเก็ต : กทช.ประสิทธิ์ฯ
มติที่ประชุม              
1.  รับทราบรายงานผลการศึกษาฉบับสมบูรณ์ การศึกษาวิจัยการปรับเปลี่ยนจากโครงข่ายดั้งเดิม (Legacy Network) เป็นโครงข่ายไอพี (IP-Network) สำหรับประเทศไทย โดยให้ที่ปรึกษาโครงการรับข้อคิดเห็นที่ประชุมในประเด็นต่างๆ ไปจัดทำเอกสารเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ดังนี้
1.1  ให้จัดทำ Executive Summary
1.2  ให้ศึกษาวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐศาสตร์ว่าหากจะปรับเปลี่ยนโครงข่ายดั้งเดิมเป็น NGN จะต้องใช้เงินลงทุนในภาพรวมทั้งระบบมากน้อยเพียงใด
1.3  ให้ตรวจสอบข้อกฎหมายว่าได้ให้อำนาจ กทช. ในการประกาศ Roadmap หรือไม่ และเมื่อประกาศแล้ว สามารถทำได้หรือไม่ หรือจะต้องดำเนินการร่วมกับรัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐอย่างไรบ้าง รวมตลอดความเกี่ยวข้องกับ Operator รวมทั้งมาตรการสนับสนุนให้เกิด NGN ภายใต้ Roadmap 
1.4  ให้เพิ่มเติม Implementation Plan เพื่อให้เห็นภาพรวมของทิศทางและกรอบเวลาการดำเนินงานตาม Roadmap ที่ชัดเจน
1.5  ให้ระบุอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
1.6  ผลกระทบต่อการกำกับดูแลของ กทช. และข้อเสนอการเตรียมการของ กทช.
2.  รับทราบเรื่องการแสดงความจำนงขอเข้าร่วมโครงการดำเนินการทดลองศึกษาและประเมินผลการปรับเปลี่ยนจากโครงข่ายดั้งเดิมเป็นโครงข่ายไอพี ของหน่วยงานภายนอก จำนวน 5 แห่ง ซึ่งกำหนดจะดำเนินการทดลอง/ ทดสอบ NGN ที่จังหวัดภูเก็ต ระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2551 จนถึงเดือนมิถุนายน 2552 ตามโครงการดำเนินการทดลองศึกษาและประเมินผลการปรับเปลี่ยนจากโครงข่ายดั้งเดิมเป็นโครงข่ายไอพี ในจังหวัดภูเก็ต ที่ผ่านการอนุมัติจากที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 6/2551 เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 14 กุมภาพันธ์ 2551 ดังนี้
2.1  บมจ.กสท โทรคมนาคม  ดำเนินการทดลอง/ ทดสอบ โดยใช้สถานีฐานของโทรศัพท์เคลื่อนที่ระบบ CDMA ในจังหวัดภูเก็ต จำนวน 35 สถานี พร้อมเครื่องลูกข่ายและสถานีฐาน WiMAX จำนวนไม่เกิน 3 สถานี พร้อมเครื่องลูกข่าย และจะมีการทดลองส่งผ่าน NGN ที่กรุงเทพฯ โดยผ่านระบบ IMS ของ บมจ.ทีโอที และ โครงข่าย บมจ.กสท โทรคมนาคมไปยังจังหวัดภูเก็ต 
2.2  สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก โดยร่วมมือกับ ROHDE & SCHWARZ International GmbH จากประเทศเยอรมนี  ดำเนินการออกอากาศระบบ Digital TV DVB-T/H และ Mobile broadcast Multimedia ในเวลาเดียวกันของความถี่ UHF ช่อง 30 ซึ่งสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกมีใช้อยู่แล้ว ที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยออกอากาศซ้ำที่จังหวัดภูเก็ต และขอตั้งเครื่องส่งสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบกที่จังหวัดภูเก็ต รวมทั้ง เชื่อมต่อโครงข่ายไปยังศูนย์ทดลอง/ทดสอบ NGN ที่ศูนย์บริการลูกค้า บมจ.กสท โทรคมนาคม 
2.3  บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ดำเนินการทดลอง/ ทดสอบ VoIP based on IMS ในโครงข่าย Broadband ทั้ง Fixed line , 3G และ WiMAX 
2.4  บริษัท ฟอร์ท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)  ดำเนินการทดลองทดสอบเข้ากับระบบ  NGN แบบ SIP Server ด้วยอุปกรณ์ MSAN ยี่ห้อ FORTH ที่รองรับการทดลอง/ ทดสอบโทรศัพท์อินเตอร์เน็ตความเร็วสูงผ่าน ADSL และ EPON/GPON  
2.5  บริษัท  NEC Corporation (Thailand) จำกัด ดำเนินการทดลอง/ ทดสอบ SIP Server ที่เชื่อมต่อกับระบบ IMS ที่ บมจ.ทีโอที ด้วยอุปกรณ์ Phone Terminal และ Video Terminal
3.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. ดำเนินการว่าจ้างที่ปรึกษา เพื่อดำเนินการโครงการดำเนินการทดลอง/ทดสอบ ตามโครงการดำเนินการทดลองศึกษาและประเมินผลการปรับเปลี่ยนจากโครงข่ายดั้งเดิมเป็นโครงข่ายไอพี ในจังหวัดภูเก็ตภายในวงเงิน  16  ล้านบาท  ตามมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่  6/2551  เมื่อวันที่  14  กุมภาพันธ์  2551  ตามที่ กทช.ประสิทธิ์ฯ เสนอ  ทั้งนี้ให้ดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการพัสดุ  พ.ศ.2548  และที่แก้ไขเพิ่มเติม ต่อไป   
ระเบียบวาระที่    6.4   :   ขออนุมัติการจัดสัมมนา Child Abuse Prevention Solution วันที่ 14 - 15 ตุลาคม 2551 : กทช.ประสิทธิ์ฯ
มติที่ประชุม  อนุมัติให้จัดสัมมนา Child Abuse Prevention Solution ระหว่างวันที่ 14-15 ตุลาคม 2551 ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น  ในกรอบวงเงิน 100,000 บาท ตามที่ กทช.ประสิทธิ์ฯ เสนอ ทั้งนี้ โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณประจำปี 2551 ของสำนักกิจการกรรมการ
ระเบียบวาระที่    6.5   :   การอุทธรณ์คำสั่ง ลทช. ของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กรณีให้ระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนและปฏิบัติให้ถูกต้องตามมาตรา 20 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544  : รทช.ประเสริฐฯ, กท.
มติที่ประชุม              
1.  ที่ประชุมพิจารณาเห็นชอบให้ยืนคำสั่ง ลทช. โดยให้ บมจ.ทีโอที ดำเนินการติดตั้งเครื่องโทรศัพท์สาธารณะให้ครบถ้วน แต่ให้ขยายระยะเวลาดำเนินการตามคำสั่งดังกล่าว ออกไปอีก 180 วัน นับแต่วันที่ บมจ.ทีโอที ได้รับทราบมติ กทช. ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ 
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. มีหนังสือแจ้ง บมจ.ทีโอที เพื่อทราบมติที่ประชุมตามข้อ 1 และให้บริษัทฯ รายงานผลการดำเนินการให้สำนักงาน กทช. ทราบด้วย
หมายเหตุ  เนื่องจากมีจำนวนเรื่องเสนอ กทช. พิจารณาเป็นจำนวนมาก การหยิบยกเรื่องขึ้นมาพิจารณาจึงเป็นไปตามความเหมาะสม และความจำเป็นเร่งด่วนก่อน ที่ประชุมจึงเห็นควรเลื่อนระเบียบวาระที่ 4.1, 4.2, 4.3, 4.4, 4.5, 4.6, 4.7, 4.8, 4.13, 4.14, 4.15, 4.16, 4.17, 4.18, 4.19, 4.20, 4.22, 4.23, 4.24, 4.25, 4.26, 4.27, 4.28, 4.29 และ 4.30 และจะได้มีการบรรจุเป็นวาระเพื่อเสนอ กทช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่งในการประชุมครั้งต่อไป

สร้างโดย  -   (18/3/2559 15:22:34)

Download

Page views: 66