สรุปมติที่ประชุม กทช. 37/2552

มติคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
ครั้งที่ 37/2552
วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2552 เวลา 09.30 น.
และวันพุธที่ 28 ตุลาคม 2552 เวลา 14.00 น.
ณ  ห้องประชุม ชั้น 12 อาคารอำนวยการ
สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2552 
ผู้เข้าประชุม
คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

1.พลเอกชู ชาติ                     พรหมพระสิทธิ์           ประธานกรรมการ
2.นาย เหรียญชัย                   เรียววิไลสุข               กรรมการ
3.ศาสตราจารย์ ประสิทธิ์          ประพิณมงคลการ        กรรมการ
4.ศาสตราจารย์เศรษฐพร          คูศรีพิทักษ์                กรรมการ
5.นายสุรนันท์                         วงศ์วิทยกำจร             เลขาธิการ กทช.
ผู้ไม่เข้าประชุม
1.นายสุชาติ                          สุชาติเวชภูมิ              ไปราชการต่างจังหวัด
2.รองศาสตราจารย์สุธรรม        อยู่ในธรรม                ไปต่างประเทศ
วันพุธที่ 28 ตุลาคม 2552 
ผู้เข้าประชุม
คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

1.พลเอกชู ชาติ                      พรหมพระสิทธิ์           ประธานกรรมการ
2.นายเหรียญชัย                     เรียววิไลสุข               กรรมการ
3.ศาสตราจารย์ประสิทธิ์            ประพิณมงคลการ        กรรมการ
4.นายสุชาติ                           สุชาติเวชภูมิ               กรรมการ
5.ศาสตราจารย์เศรษฐพร          คูศรีพิทักษ์                 กรรมการ
6.นายฐากร                            ตัณฑสิทธิ์                  รองเลขาธิการ กทช. ป/ก ลทช.
ผูไม่เข้าประชุม
1.รองศาสตราจารย์สุธรรม         อยู่ในธรรม                 ไปต่างประเทศ
 
ระเบียบวาระที่  1  :  เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
- ไม่มี -
ระเบียบวาระที่  2  :  รับรองมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 36/2552 วันพุธที่ 21 ตุลาคม 2552 
มติที่ประชุม
  รับรองมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 36/2552 วันพุธที่ 21 ตุลาคม 2552 ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่  3  :  รายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 36/2552 วันพุธที่ 21 ตุลาคม 2552
มติที่ประชุม

1.  รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 36/2552 วันพุธที่ 21 ตุลาคม 2552 ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. นำเสนอข้อมูลสรุปสถานะการยื่นขอรับใบอนุญาต และ/หรือการขอหารือเกี่ยวกับการอนุญาตในประเด็นต่างๆ ให้ที่ประชุมได้รับทราบภาพรวมของจำนวนเรื่องที่เข้ามา รวมทั้งความคืบหน้าการดำเนินงานในการประชุมแต่ละครั้ง
ระเบียบวาระที่  4  :  เรื่องเพื่อพิจารณา   
ระเบียบวาระที่  4.12  :  การจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (IMT หรือ ๓G and beyond) : รทช.ประเสริฐฯ, ปก. (วันอังคารที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๕๒)
มติที่ประชุม

1. เห็นชอบด้วยกับแนวทางการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ (IMT หรือ 3G and beyond) ในประเด็นการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (Infrastructure Sharing) และการให้บริการในลักษณะ MVNO (Mobile Virtual Network Operator) ตามความคิดเห็น และข้อเสนอแนะของบริษัทที่ปรึกษา NERA และความเห็นของสำนักงาน กทช. ที่เสนอ สำหรับในประเด็นผลกระทบของ MNP ต่อผู้ประกอบการของรัฐในการถ่ายโอนลูกค้า และการกำหนดสัดส่วนการลงทุนโครงข่าย นั้น ที่ประชุมมีข้อคิดเห็น และข้อสังเกตเพิ่มเติมเพื่อให้สำนักงานฯ รับไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป ดังนี้
  • เนื่องจากประเทศไทยมีสภาวะแวดล้อมที่แตกต่างจากประเทศอ้างอิงตามที่บริษัท ที่ปรึกษา (NERA) วิเคราะห์ ส่งผลให้ตัวเลขการประมาณการแนวโน้มการเปลี่ยนจากบริการ 2G เป็น 3G กรณีของประเทศไทยตามที่เสนออาจต่ำเกินไป จึงเห็นควรให้สำนักงาน กทช.แจ้งบริษัทที่ปรึกษา (NERA) เพิ่มเติมรายละเอียดการศึกษาวิเคราะห์ปัจจัยด้านต่างๆ ที่จะมีผลต่อการถ่ายโอนลูกค้าภายใต้สภาวะแวดล้อมของประเทศไทยที่มีความแตก ต่างจากประเทศอ้างอิงอื่นๆ (47 ประเทศ) ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น เช่น ปัจจัยด้านรายได้เฉลี่ยของคนไทย ด้านพฤติกรรมของผู้บริโภค (Consumer Behavior) ความเข้มแข็งด้านการตลาดของผู้ประกอบกิจการ ตลอดจนอิทธิพลของ สภาพการแข่งขันของตลาดโทรคมนาคมไทยภายใต้สัญญาสัมปทานรวมถึงแรงผลักดันที่ ต้องการความเป็นอิสระในการประกอบกิจการ 3G โดยไม่อยู่ภายใต้สัญญาสัมปทาน เป็นต้น     
  • การกำหนดตัวเลขสัดส่วนการลงทุนโครงข่ายตามที่เสนอมานั้น อาจสูงเกินไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อ New Comers และไม่เป็นไปตามธรรมชาติของกลไกตลาดได้ อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการผลักดันให้มีการลงทุนก่อสร้างโครงข่ายใหม่ให้มากขึ้น การกำหนดตัวเลขสัดส่วนการลงทุนโครงข่ายจึงยังมีความจำเป็น มิเช่นนั้นอาจเป็นการเช่าใช้โครงข่าย (Leasing) แต่เพียงอย่างเดียว ทั้งนี้ ตัวเลขสัดส่วนการลงทุนโครงข่ายที่น่าจะเหมาะสมควรพิจารณากำหนดในลักษณะเป็น ทางเลือก ดังนี้ 
    • อย่างน้อย 25%  ของ Base Station
    • อย่างน้อย 50%  ของ Base Station
    • อย่างน้อย 75%  ของ Base Station
    • ไม่มีการกำหนด แต่ให้เป็นไปตามกลไกตลาด
2.  เห็นชอบหัวข้อประเด็นรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ พร้อมทั้งมอบหมายให้สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็นและข้อสังเกตของที่ประชุม เพื่อปรับปรุงแก้ไขประเด็นคำถามสำหรับการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อหลัก เกณฑ์และวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่และการอนุญาตการประกอบกิจการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ IMT หรือ 3G and beyond ตามที่เสนอมา ให้เหมาะสมและชัดเจนยิ่งขึ้นต่อไป อาทิ
  • เรื่อง Roll-out Obligation ในข้อ 2.1 (3) ให้ตัดประเด็นการกำหนดบทลงโทษโดยการคิดค่าปรับออก คงไว้แต่ “ให้เป็นไปตามบทกำหนดโทษ ได้แก่ ตักเตือน ปรับ พักใช้ และเพิกถอนใบอนุญาต” 
  • เรื่อง MVNO ในข้อ 2.3 (1) เพิ่มเติมถ้อยคำให้ชัดเจนยิ่งขึ้น ดังนี้
    • 20% ของ Capacity ของโครงข่าย
    • 3๐% ของ Capacity ของโครงข่าย
  • เรื่องการชำระค่าธรรมเนียมการประมูล ให้กำหนดประเด็นสอบถาม 3 ประเด็น จะเหมาะสม และชัดเจนกว่าดังนี้ 
    • การชำระเงินค่าประมูลแบบการชำระล่วงหน้าทั้งหมด (Upfront payment)
    • การชำระเงินค่าประมูลแบบการชำระล่วงหน้าทันทีจำนวน 50% สำหรับส่วนที่เหลืออีก 50% จ่ายภายใน 6 เดือน
    • การชำระเงินค่าประมูลแบบการชำระล่วงหน้าทันที 50% ส่วนที่เหลืออีก 50% แบ่งจ่ายเป็น 2 งวด งวดละ 25% ภายใน 12 เดือน นอกจากนี้ ให้ตัดข้อความ “เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อสาธารณะ” ออกด้วย
  • การกำหนดระยะเวลาการยื่นคำขอ ให้เพิ่มเติมสาระให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น การนับระยะเวลาโดยเริ่มนับตั้งแต่วันที่ประกาศเชิญชวนให้ยื่นคำขอรับใบ อนุญาต เป็นต้น
  • การกำหนดเงื่อนไขการโอนลูกค้าระหว่าง 2G และ 3G ให้ เพิ่มเติมประเด็นคำถาม 3 ประเด็น ได้แก่ 
    • การห้ามบังคับโอนลูกค้า
    • การกำหนดค่าชดเชยให้ผู้ประกอบการ 2G (บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม) จากการเสียผลประโยชน์ต่อการมี 3G และ MNP โดยกำหนดให้ผู้ประกอบการ 3G ชดเชยค่า “3G Transfer Fee” ให้ผู้ประกอบการ 2G เป็นรายเดือนตามกำไร (ต่อผู้ใช้บริการ) ที่สูญเสียไปจากการย้ายไปใช้บริการ 3G
    • ไม่มีการกำหนดเงื่อนไขใดๆ  
3. มอบหมายให้สำนักงาน กทช.ปรับปรุงแก้ไขร่างสรุปข้อสนเทศ (Information Memorandum : IM) ในส่วนของหลักประกันทางการเงินตามที่ที่ปรึกษา NERA เสนอ ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยให้ตัดข้อกำหนดกรณีที่ผู้เข้าประมูลยื่นหลักประกันทางการเงิน “น้อยกว่าราคาประมูลเริ่มต้น (Staring Price) สำหรับ License  B,C หรือ D” ออก เพื่อป้องกันความสับสน เนื่องจากไม่มีความจำเป็น เพราะขาดสิทธิเบื้องต้น (Initial Eligibility) ที่จะเข้าประมูลโดยปริยายอยู่แล้ว (0 Point) ทั้งนี้ ให้สำนักงาน กทช. นำร่าง IM ที่ปรับปรุงแก้ไขแล้วไปหารือ กทช.เศรษฐพรฯ อีกครั้งหนึ่งเพื่อความรอบคอบ ก่อนนำลงเผยแพร่ใน Website ต่อไป
4.  เห็นชอบกรอบระยะเวลาการดำเนินการในระยะต่อไป ตามปฏิทินการดำเนินการที่สำนักงาน กทช.เสนอ ทั้งนี้ ขอให้ใส่เป็นหมายเหตุระบุไว้ด้วยว่า “ในกรณีที่ไม่มีประเด็นปัญหาทางกฎหมายใดๆ เกิดขึ้น” เพื่อให้เกิดความยืดหยุ่น และสามารถปรับเปลี่ยนแผนการดำเนินการได้ตามความเหมาะสมกับสถานการณ์ที่ เปลี่ยนแปลงไป รวมทั้งขอให้แก้ไขข้อความในช่องขวาให้เหมาะสมยิ่งขึ้นจาก “การจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ครั้งที่ 7” เป็น “การจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ครั้งที่ 2 ของร่าง IM”  และใส่วงเล็บต่อท้ายด้วยว่า (ครั้งที่ 7 ของเรื่อง 3G) 
5.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช.เร่งจัดทำร่าง แนวทางและหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน (Infrastructure Sharing) ให้แล้วเสร็จ เสนอ กทช.พิจารณาโดยเร็วต่อไป
ระเบียบวาระที่ 4.13  :  การขออนุญาตใช้ความถี่วิทยุย่าน 2.5 GHz  ในโครงการพัฒนาระบบต้นแบบและสร้างกำลังคนด้วยเครือข่ายไร้สาย ของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ : รทช.ประเสริฐฯ, ปก. (วันอังคารที่ 27 และวันพุธที่ 28 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม

1.  ที่ประชุมเสียงข้างมาก (ประธาน กทช.,กทช.เศรษฐพรฯ, กทช. เหรียญชัยฯ  และ กทช.สุชาติฯ) พิจารณาแล้ว ไม่สามารถอนุญาตให้มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ใช้ความถี่วิทยุย่าน 2.5 GHz  ในโครงการพัฒนาระบบต้นแบบและสร้างกำลังคนด้วยเครือข่ายไร้สายได้ เนื่องจากขณะนี้ประกาศ กทช. เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการ Broadband Wireless Access (BWA) ย่านความถี่วิทยุ 2300 - 2400 MHz และ 2500 - 2690 MHz  ได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2552 และมีผลบังคับใช้แล้ว โดยกำหนดเงื่อนไขว่า “การจัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2500 - 2690 MHz จะสามารถดำเนินการได้ ก็ต่อเมื่อมีองค์กรอิสระซึ่งทำหน้าที่จัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ตามมาตรา 47 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 แล้ว”  ดังนั้น กทช. จึงไม่มีอำนาจที่จะอนุมัติได้ ซึ่งหากจะอนุมัติให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 2.5 GHz  ในโครงการพัฒนาระบบต้นแบบและสร้างกำลังคนด้วยเครือข่ายไร้สายของมหาวิทยาลัย เกษตรศาสตร์ จะต้องปรับปรุงแก้ไขประกาศ กทช. ฉบับดังกล่าวก่อน  ทั้งนี้ โดยมีประเด็นเงื่อนไขที่เหมาะสม  อาทิ 1) จะต้องเป็นการใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวเพื่อการศึกษา หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะที่ไม่แสวงหากำไร  2) จะต้องเป็นการใช้งานชั่วคราวไม่เกิน 1 ปี  3) หาก กทช. มีการ Re-farming จะต้องหยุดดำเนินการ โดยไม่สามารถเรียกร้องค่าเสียหายใดๆ ได้ เป็นต้น
     อนึ่ง กทช.ประสิทธิ์ฯ ขอสงวนสิทธิออกเสียง เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมแก่หน่วยงานที่ขออนุญาตกรณีนี้ เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า เรื่องนี้ได้ผ่านกระบวนการพิจารณาอย่างรอบคอบตามขั้นตอน โดยมีประกาศ กทช. ที่เกี่ยวข้องรองรับ รวมทั้งทางมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ได้เสนอเรื่องนี้มานานแล้ว  นอกจากนี้ ที่ประชุมได้เคยอนุมัติให้หน่วยงานต่างๆ ใช้คลื่นความถี่ดังกล่าวในด้านการแพทย์และการศึกษาไปแล้ว  ทั้งนี้ โดยจะได้จัดทำบันทึกความเห็นเพื่อยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้งหนึ่ง
2.  มอบหมายให้ สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็นที่ประชุมไปศึกษาวิเคราะห์แนวทางการแก้ไขปรับปรุงประกาศ กทช.เรื่องแผนความถี่วิทยุกิจการ Broadband Wireless Access (BWA) รวมทั้งประกาศ/ระเบียบ กทช.อื่นๆที่เกี่ยวข้อง ซึ่งอาจขัดหรือแย้งหรือส่งผลกระทบต่อการส่งเสริม/สนับสนุนการพัฒนาการประกอบ กิจการ BWA เพื่อให้สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันอย่างเหมาะสม แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาโดยเร็วต่อไปภายใน 2 สัปดาห์
ระเบียบวาระที่  4.14  :  บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ขออนุญาตขยายข่ายการตั้งสถานีข่ายสื่อสารโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 (IMT-2000) เพิ่มเติม จำนวน 21 สถานี : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.(วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม
 อนุมัติให้ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ตั้งสถานีข่ายสื่อสารโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 (IMT-2000) โดยใช้เทคโนโลยี HSPA ในพื้นที่ในเขตกรุงเทพมหานคร และปริมณฑล เพิ่มเติมจำนวน 21 สถานี โดยมีเงื่อนไข ดังนี้
1. ให้มีระยะเวลาสิ้นสุดการใช้ความถี่วิทยุตามอายุใบอนุญาตประกอบ กิจการโทร คมนาคม แบบที่สาม
2. ให้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ระบบ Digital มาตรฐาน HSPA ย่านความถี่วิทยุ 2000 MHz (1915 - 1980 MHz คู่กับ 2155 - 2170 MHz) ชนิดประจำที่ กำลังส่งไม่เกิน 40 วัตต์ จำนวน 21 ชุด สำหรับสถานีฐาน (Base Station) โดยต้องเป็นตราอักษร รุ่น/ แบบ ที่ผ่านการทดสอบรับรองตัวอย่างเครื่องวิทยุคมนาคมแล้ว
3. บมจ.ทีโอที ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ภายใต้กฎเกณฑ์การกำกับดูแลการประกอบกิจการของเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่ ยุคที่ 3 (3G) ที่เหมาะสมในอนาคต  ตามที่ กทช. จะกำหนดต่อไป (Subject to Future Regulation)
4. กรณีการติดตั้งสถานีวิทยุคมนาคมที่ได้รับอนุญาตข้างต้น ให้บมจ.ทีโอที ปฏิบัติตามข้อ 3 ของประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการใช้สิทธิในการปักหรือตั้งเสาหรือเดินสาย วางท่อ หรือติดตั้งอุปกรณ์ประกอบใดในการให้บริการโทรคมนาคม
5. บมจ.ทีโอที ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่ กทช. กำหนดและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะใช้บังคับอยู่ก่อนหรือภายหลัง 
6. ให้ บมจ.ทีโอที จัดส่ง Reference Interconnection Offer (RIO) และ Point of Interconnection (POI) ในกรณีการปรับปรุงโครงข่ายเทคโนโลยี HSPA เพื่อให้เป็นไปในลักษณะ Open Wireless Access 
7. หาก บมจ.ทีโอที ประสงค์จะดำเนินการขยายข่ายการตั้งสถานีข่ายสื่อสารโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 (IMT-2000) โดยใช้เทคโนโลยี HSPA เพิ่มเติมในอนาคตจะต้องนำเสนอ กทช. พิจารณาอนุญาตก่อนดำเนินการ
ระเบียบวาระที่ 4.19  :  แผนความถี่วิทยุกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ International Mobile Telecommunications (IMT) ย่านความถี่วิทยุ 824 - 849/869 - 894 MHz  ย่านความถี่ 897.5 - 915/942.5 - 960 MHz  และย่านความถี่วิทยุ 1710 - 1785/1805 - 1880 MHz : รทช.ทศพรฯ, วท. (วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม

1. เห็นชอบร่างแผนความถี่วิทยุกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ International Mobile Telecommunications (IMT) ย่านความถี่วิทยุ 824 - 849/869 - 894 MHz  ย่านความถี่ 897.5 - 915/942.5 - 960 MHz  และย่านความถี่วิทยุ 1710 - 1785/1805 - 1880 MHz ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ ทั้งนี้ โดยให้เพิ่มเติมหลักการเหตุผลของการจัดทำแผนฯ และวัตถุประสงค์ของแผนฯในส่วน Preamble ให้ชัดเจน และครบถ้วนสมบูรณ์ ตามข้อคิดเห็นของที่ประชุม (เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงไป ดังนั้น การจัดทำแผนดังกล่าวขึ้น ก็เพื่อเป็นการรองรับพัฒนาการของเทคโนโลยีโทรศัพท์เคลื่อนที่) ก่อนนำร่างแผนความถี่วิทยุดังกล่าว ไปจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามขั้นตอนต่อไป 
2. ในส่วนรายละเอียดการกำหนดเงื่อนไขการใช้ความถี่วิทยุตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ นั้น ให้สำนักงาน กทช. นำความเห็นเพิ่มเติมของ กทช. สุธรรมฯ ตามบันทึกด่วนที่สุดที่ 396/2552 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2552 เป็นแนวทางในการกำหนดเงื่อนไขให้ถูกต้องและเหมาะสมยิ่งขึ้น ทั้งนี้ โดยให้นำแนวทาง และมติ กทช. ตลอดจนหลักกฎหมาย และประกาศ กทช.ต่างๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมาพิจารณาประกอบเป็นเงื่อนไขใบอนุญาตด้วย เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งกับหลักการที่ กทช.เคยให้ไว้ โดยเฉพาะเงื่อนไขการใช้ความถี่วิทยุในข้อ 5.3.3 เกี่ยวกับการเลือกใช้เทคโนโลยีใดก็ได้ (Neutral Technology) ซึ่ง กทช.ยังไม่เคยมีการกำหนดหลักเกณฑ์หรือบทบัญญัติที่เป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน เกี่ยวกับหลักเกณฑ์การปรับปรุงโครงข่ายโดยใช้เทคโนโลยีใหม่บนคลื่นความถี่ เดิมที่ได้รับการจัดสรรแล้ว จึงควรต้องกำหนดเงื่อนไขให้ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขภายใต้กฎเกณฑ์การกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ เหมาะสมในอนาคตตามที่ กทช. จะประกาศกำหนดต่อไป รวมทั้งในการอนุมัติเคลื่อนความถี่ ควรต้องมีข้อกำหนดว่าด้วยการ Roll out ด้วย ตลอดจนเงื่อนไขการใช้ความถี่วิทยุในข้อ 5.3.6 “เครื่องวิทยุคมนาคมลูกข่ายได้รับยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาตวิทยุคมนาคม ตามประกาศ กทช.ที่เกี่ยวข้อง” ควรต้องอยู่ภายใต้บทบัญญัติในหมวด ๓ มาตรฐานของโครงข่ายโทรคมนาคม และอุปกรณ์แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ด้วย
ระเบียบวาระที่  4.20  :  การขอเพิ่มการใช้ความถี่วิทยุในย่านสมัครเล่นขั้นกลาง : รทช.ประเสริฐฯ, ฉก. (วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม  
อนุมัติเพิ่มการใช้ความถี่วิทยุย่านสมัครเล่นขั้นกลางขึ้นอีก 100 kHz จากเดิม 7.000 – 7.1000 MHz  เป็น 7.000 – 7.2000 MHz  ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตามมติที่ประชุมใหญ่ระดับโลก ว่าด้วยวิทยุคมนาคม ค.ศ. 2003 (WRC-03) ตามคำขอของสมาคมวิทยุสมัครเล่นแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ
ระเบียบวาระที่ 4.21  :  องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย ขอรับการจัดสรร คลื่นความถี่ ย่านความถี่วิทยุ VHF : รทช.ประเสริฐฯ, ฉก. (วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม
                       
1.  อนุมัติจัดสรรคลื่นความถี่ ย่านความถี่วิทยุ VHF  ให้องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) เพื่อใช้ติดต่อสื่อสารในภารกิจของ ส.ส.ท. จำนวน 3 ความถี่ ได้แก่ ความถี่วิทยุ 164.6750 MHz, 165.6750 MHz และ 169.6750 MHz  ทั้งนี้  ความกว้างแถบความถี่ไม่เกิน 16 kHz และให้สถานีทวนสัญญาณ (Repeater) ใช้ความถี่วิทยุ 164.6750/169.6750 MHz ทั้งนี้ โดยมีรายละเอียดเงื่อนไขตามที่สำนักงาน กทช. กำหนด และตามความเห็นคณะกรรมการกำหนด และจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ และคณะกรรมการประสานงานการบริหารคลื่นความถี่เพื่อความมั่นคงของรัฐ ดังนี้
  • เงื่อนไขตามที่สำนักงาน กทช. กำหนด :
    • ให้ใช้ความถี่วิทยุดังกล่าวเป็นการชั่วคราวระยะเวลา 1 ปี และการขอขยายระยะเวลาการใช้ความถี่วิทยุจะต้องแจ้งขออนุญาตใช้ความถี่วิทยุ ก่อนวันสิ้นสุดการอนุญาตดังกล่าวเพื่อให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติวิทยุ คมนาคม พ.ศ. 2498
    • เครื่องวิทยุคมนาคมดังกล่าว ต้องเป็นประเภทที่ผู้ใช้ไม่สามารถตั้งความถี่วิทยุได้เองจากภายนอกเครื่อง วิทยุคมนาคม (แบบสังเคราะห์ความถี่ประเภท 2)  และเป็นตราอักษร รุ่น/แบบ ที่ ผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของเครื่องโทรคมนาคม และอุปกรณ์แล้ว
    • จะต้องปฏิบัติตาม กฎ ระเบียบ ประกาศ หลักเกณฑ์ วิธีการ  และเงื่อนไขตามที่ กทช. กำหนด และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
  • เงื่อนไขตามความเห็นคณะกรรมการกำหนด และจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ และคณะกรรมการประสานงานการบริหารคลื่นความถี่เพื่อความมั่นคงของรัฐ :
    • ให้ใช้ความถี่วิทยุร่วมกับหน่วยงานเพื่อความมั่นคงของรัฐ และจะต้องไม่ก่อให้เกิดการรบกวนการใช้ความถี่วิทยุของหน่วยงานเพื่อความมั่น คงของรัฐ
    • เมื่อแผนปฏิบัติการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่สำหรับหน่วยงานเพื่อ ความมั่นคงของรัฐบังคับใช้แล้ว ส.ส.ท. จะต้องปรับเปลี่ยนไปใช้ความถี่วิทยุอื่นให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาตามที่ แผนฯ กำหนด
2. อนุญาตให้ ส.ส.ท. ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม ดังนี้
  • ตั้งสถานีประจำที่แม่ข่าย (สถานีศูนย์วิทยุสื่อสารโทรคมนาคม ส่วนกลาง) ณ เลขที่ 1010 อาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 ถนน วิภาวดีรังสิต แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพมหานคร จำนวน 1 สถานี 
  • ตั้งสถานีประจำที่แม่ข่าย (สถานีศูนย์วิทยุสื่อสารโทรคมนาคม ศูนย์ข่าวภูมิภาค (ยังไม่แจ้งสถานที่ตั้ง))  จำนวน 7 สถานี
  • ตั้งสถานีเคลื่อนที่ทางบก (ส่วนกลางและส่วนภูมิภาค) จำนวน 30 สถานี ทั้งนี้  โดยให้สถานีฐาน (Base Station) ใช้ความสูงของเสาอากาศไม่เกิน 60 เมตร 
3. อนุญาตให้ ส.ส.ท. ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมในกิจการเคลื่อนที่ทางบก  (Land Mobile Service)  ดังนี้
  • ชนิดประจำที่ ระบบ VHF/FM กำลังส่งไม่เกิน 60 วัตต์ จำนวน 2 เครื่อง
  • ชนิดเคลื่อนที่ ระบบ VHF/FM กำลังส่งไม่เกิน 30 วัตต์ จำนวน 30 เครื่อง
  • ชนิดมือถือ ระบบ VHF/FM  กำลังส่งไม่เกิน 5 วัตต์  จำนวน 90 เครื่อง 
4.  ให้ ส.ส.ท. ชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ ตามประกาศ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร
ระเบียบวาระที่ 4.22 : กรมการขนส่งทางอากาศขออนุญาตใช้ความถี่วิทยุ 123.0 MHz เป็นความถี่ CTAF : Common Traffic Advisory Frequency : รทช.ประเสริฐฯ, ฉก. (วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม
  อนุมัติให้กรมการขนส่งทางอากาศ นำความถี่วิทยุ 123.450 MHz เพื่อนำไปออกประกาศเป็นความถี่วิทยุกลาง (Common Traffic Advisory Frequency : CTAF) ของประเทศไทย ให้อากาศยานทั่วไปที่บินอยู่นอกเขตการควบคุมของเจ้าหน้าที่ควบคุมการจราจร ทางอากาศ หรือเหนือบริเวณท่าอากาศยานที่ไม่มีหอบังคับการจราจรทางอากาศ โดยใช้ความถี่วิทยุดังกล่าวในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน เพื่อความปลอดภัยในการเดินอากาศ โดยอนุญาตให้ใช้ได้เป็นเวลา 7 ปี ทั้งนี้ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีในอนาคต ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่ 4.23  :  การพิจารณาโทษพนักงานวิทยุสมัครเล่นและสถานีวิทยุสมัครเล่นที่กระทำความผิดและการมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กทช. ปฏิบัติการแทน กทช. ตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 : ผชช.กม., รทช. พิทยาพลฯ, กม. (วันพุธที่ 28 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม

1.  เห็นชอบการกำหนดโทษพนักงานวิทยุสมัครเล่นและสถานีวิทยุสมัครเล่น โดยการตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร ตามที่ สำนักงาน  กทช.เสนอ ดังนี้
  • ชมรมแจ้งข่าวอาชญากรรมนักวิทยุสมัครเล่นจังหวัดลำปาง กรณี ไม่ได้ใช้สัญญาณเรียกขานในกิจการวิทยุสมัครเล่นตามที่ได้รับการ กำหนด ควบคู่ไปกับใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่น ซึ่งเป็นการ กระทำฝ่าฝืนข้อ 22 และข้อ 23 แห่งระเบียบ กทช. ว่าด้วย กิจการวิทยุสมัครเล่น พ.ศ. 2550
  • นายจำรูญ รงค์สกุล  กระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามในกิจการวิทยุ สมัครเล่นตามข้อ 32(3) ในการรับ-ส่งข่าวสารนอกเหนือไปจาก กิจการวิทยุสมัครเล่น และกรณีไม่เก็บรักษาความลับข้อมูลที่ไม่ ควรเปิดเผย 
  • สมาคมวิทยุสมัครเล่นจังหวัดภูเก็ต กรณีไม่ทำหน้าที่ในฐานะเป็น สถานีวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่าย ตามที่ กทช. กำหนด ซึ่งเป็นการ กระทำฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามข้อ 14 ของภาคผนวก 3 แนบท้าย ระเบียบ กทช. ว่าด้วยกิจการวิทยุสมัครเล่น พ.ศ. 2550
2.  อนุมัติเป็นหลักการให้การกระทำความผิดดังต่อไปนี้ สมควรพิจารณาโทษพนักงานวิทยุสมัครเล่นหรือสถานีวิทยุสมัครเล่นโดยการตัก เตือนเป็นลายลักษณ์อักษร
  • ไม่ได้ใช้สัญญาณเรียกขานในกิจการวิทยุสมัครเล่นตามที่ได้รับการ กำหนดควบคู่ ไปกับใบอนุญาตพนักงานวิทยุสมัครเล่น 
  • ไม่เก็บรักษาความลับข้อมูลที่ไม่ควรเปิดเผย
  • ไม่ทำหน้าที่ในฐานะเป็นสถานีวิทยุสมัครเล่นควบคุมข่าย ตามที่  กทช. กำหนด
3.  เห็นชอบการมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่สำนักงาน กทช. ตามที่ กทช.ได้เคยมอบหมายให้ปฏิบัติการแทน กทช. ตามคำสั่ง กทช. ที่ 09/2552 เรื่อง การมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการแทนคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม แห่งชาติตาม พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ในกรณีการพิจารณาโทษในฐานความผิดอื่นนอกเหนือจาก 1 - 4 แห่งประกาศ กทช. เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์การพิจารณาโทษพนักงานวิทยุสมัครเล่นที่กระทำความผิด หรือกระทำผิดกฎหมายอื่นที่มีพฤติการณ์ที่เกี่ยวข้องกับกิจการวิทยุสมัครเล่น ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่เห็นสมควรลงโทษโดยการตักเตือน ด้วยวาจาและตักเตือนเป็นลายลักษณ์อักษร (ตามข้อ 5 ของประกาศดังกล่าว) ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ
ระเบียบวาระที่ 4.25  :  การกำหนดหน่วยงานของรัฐและลูกหนี้ตามมาตรา 90/4(6) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 : รทช.พิทยาพลฯ, กม. (วันพุธที่ 28 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม
  เห็นชอบการกำหนดกฎกระทรวง ตามความในมาตรา 90/4(6) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 ให้การเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่จะต้อง ได้รับความยินยอมจาก กทช. ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมก่อน โดยจะใช้บังคับเฉพาะผู้รับใบอนุญาตแบบที่สอง ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง และผู้รับใบอนุญาตแบบที่สาม ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ ทั้งนี้ ให้สำนักงาน กทช.รับข้อสังเกตที่ประชุมไปพิจารณาจัดเก็บ และวางระบบฐานข้อมูลจำนวนผู้รับใบอนุญาตทุกประเภทให้ชัดเจน เพื่อใช้ประกอบการพิจารณาของ กทช.ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยควรแยกแบบมีโครงข่าย และไม่มีโครงข่าย หรือแยกตามจำนวนเงินลงทุน เป็นต้น
ระเบียบวาระที่ 4.28  :  แต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์โทรคมนาคมสำหรับคนพิการและผู้สูงอายุ : สบท. (วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม

1.  อนุมัติการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์โทรคมนาคมสำหรับคนพิการ และผู้สูงอายุ โดยให้มีวาระการทำงาน 1 ปี นับแต่วันมีคำสั่งแต่งตั้ง ตามที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการ โทรคมนาคมเสนอ
2.  อนุมัติให้กรรมการที่เป็นบุคคลภายนอก ได้รับค่าตอบแทนเบี้ยประชุม  ครั้งละ 5,000 บาท  ตามระเบียบ กทช. ว่าด้วยวิธีการประชุมของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และค่าตอบแทน พ.ศ. 2551 ข้อ 18(1)(ค)
3. อนุมัติให้กรรมการที่เป็นพนักงานของสำนักงาน กทช. หรือผู้ปฏิบัติงานที่รับค่าตอบแทนจากสำนักงานเป็นรายเดือน ได้รับค่าตอบแทนเบี้ยประชุม ตามระเบียบ กทช. ว่าด้วยวิธีการประชุมของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และค่าตอบแทน พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
4. มอบหมายให้สำนักงาน กทช.รับข้อสังเกตที่ประชุมไปตรวจสอบข้อมูลภาพรวมกรณีบุคคลภายนอกที่ได้รับ แต่งตั้งเป็นกรรมการคณะต่างๆ ว่ามีความซ้ำซ้อนในการเบิกจ่ายเบี้ยประชุมเกินกว่าจำนวนคณะกรรมการที่ ระเบียบกำหนดไว้หรือไม่ อย่างไร ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความชัดเจน และถูกต้องตามระเบียบต่อไป
ระเบียบวาระที่ 4.29  :  แต่งตั้งกรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม แทนตำแหน่งที่ลาออก : สบท. (วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม
 อนุมัติการแต่งตั้ง นายภาณุโชติ ทองยัง  เครือข่ายผู้บริโภคภาคตะวันตกเป็นกรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการ โทรคมนาคม แทนกรรมการที่ลาออก (นายบุญส่ง จันทร์ส่องรัศมี) ตามที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมเสนอ
ระเบียบวาระที่ 4.30  :  การแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการศูนย์ทางไกลเพื่อพัฒนาการศึกษาและพัฒนา ชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเฉลิมพระเกียรติฯ  และคณะกรรมการดำเนินโครงการต้นแบบศูนย์ทางไกลเพื่อการศึกษาและพัฒนาชนบท เพื่อเฉลิมพระเกียรติฯ : รทช.พิทยาพลฯ, ทถ. (วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม
  อนุมัติการแต่งตั้งคณะกรรมการดำเนินโครงการศูนย์ทางไกลเพื่อพัฒนาการศึกษา และพัฒนาชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และคณะกรรมการดำเนินโครงการต้นแบบศูนย์ทางไกลเพื่อการศึกษาและพัฒนาชนบท เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ตามเดิม ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการดังกล่าวปฏิบัติหน้าที่จนถึงวันที่ 8 กันยายน 2553 และวันที่ 20 กันยายน 2553 ตามลำดับ ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่ 4.31  :  แต่งตั้งคณะกรรมการการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีโทรคมนาคมด้านสาธารณสุขเคลื่อนที่ : รทช.พิทยาพลฯ, ทถ. (วันอังคารที่ 27 และวันพุธที่ 28 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม

1.  อนุมัติการแต่งตั้งคณะกรรมการการใช้ประโยชน์เทคโนโลยี โทรคมนาคมด้านสาธารณ สุขเคลื่อนที่  โดยให้มีวาระการทำงาน 1 ปี  นับแต่วันมีคำสั่งแต่งตั้ง ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
2.  อนุมัติให้กรรมการที่เป็นบุคคลภายนอก ได้รับค่าตอบแทนเบี้ยประชุม ครั้งละ 5,000 บาท ตามระเบียบ กทช. ว่าด้วยวิธีการประชุมของ คณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และค่าตอบแทน พ.ศ. 2551 ข้อ 18(1)(ค)
3. อนุมัติ ให้กรรมการที่เป็นพนักงานของสำนักงาน กทช. ได้รับค่าตอบแทนเบี้ยประชุม  ครั้งละ 1,000 บาท ตามระเบียบ กทช. ว่าด้วยวิธีการประชุมของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และค่าตอบแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552
ระเบียบวาระที่ 4.32  :  รายงานผลการปฏิบัติงาน และผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2552  :  ลทช., งป. (วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม
 รับทราบผลการปฏิบัติงาน และผลการใช้จ่ายเงินงบประมาณของสำนักงาน กทช. ไตรมาสที่ 3 ประจำปี 2552 ตามระเบียบ กทช. ว่าด้วยวิธีการงบประมาณของสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. 2552 ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่  4.35  :  ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการสรรหาคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเพิ่มเติมเป็นเวลา 120 วัน : รทช.ฐากรฯ, บค. (วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม
  อนุมัติให้ขยายระยะเวลาการ ดำเนินการสรรหาคัดเลือกบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสถาบัน การใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเพิ่มเติมเป็นเวลา 90 วัน นับแต่วันที่ครบกำหนด (วันที่ 27 กันยายน 2552) ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่ 4.36  :  พิจารณาสนับสนุนการจัดหาอุปกรณ์การแพทย์เพิ่มเติม แก่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า : รทช.ฐากรฯ, กจ. (วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม
                       
1.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช.ส่งเรื่องนี้ให้คณะกรรมการพิจารณาวิเคราะห์มูลค่างบประมาณและติดตามการ ใช้จ่ายเงินงบประมาณ พิจารณากลั่นกรอง เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของที่ประชุม กทช. อีกครั้งหนึ่ง
2.  เห็นชอบเป็นหลักการให้สำนักงาน กทช. ส่งเรื่องกรณีการเสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ จากหน่วยงานภายนอกให้คณะกรรมการพิจารณาวิเคราะห์มูลค่างบประมาณและติดตามการ ใช้จ่ายเงินงบประมาณ พิจารณากลั่นกรองก่อนเพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของที่ประชุม กทช.ทุกครั้งต่อไป
ระเบียบวาระที่  4.37  :  การสนับสนุนงบประมาณเพื่อการประชาสัมพันธ์โครงการจัดตั้งสถาบันโขนแห่งชาติ จำนวน 3,000,000 .- บาท เพื่อสนองพระราชเสาวนีย์ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ : รทช.ฐากรฯ, บป. (วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม
 มอบหมายให้สำนักงาน กทช. ส่งเรื่องนี้ให้คณะกรรมการพิจารณาวิเคราะห์มูลค่างบประมาณและติดตามการใช้ จ่ายเงินงบประมาณ พิจารณากลั่นกรอง เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของที่ประชุม กทช. อีกครั้งหนึ่ง
ระเบียบวาระที่  4.38  :  การขอรับการสนับสนุนเพื่อการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการสื่อสารฉุกเฉินแห่ง ชาติ  : รทช.ประเสริฐฯ, กท. (วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม
 มอบหมายให้สำนักงาน กทช. ส่งเรื่องนี้ให้คณะกรรมการพิจารณาวิเคราะห์มูลค่างบประมาณและติดตามการใช้ จ่ายเงินงบประมาณ พิจารณากลั่นกรอง เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของที่ประชุม กทช. อีกครั้งหนึ่ง
ระเบียบวาระที่  4.41  :  การประสานงานความถี่วิทยุกับสาธารณรัฐประชาชนจีนกรณีข่ายดาวเทียม  SINOSAT- 3 BSS : รทช.ทศพรฯ, วท. (วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม

1. รับทราบบัญชาของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ตามหนังสือสำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี ลงวันที่ 18 กันยายน 2552 ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ โดยให้ กทช. ดำเนินการแทนในนามรัฐบาลไทยในการประสานงานความถี่วิทยุข่ายดาวเทียมกับต่าง ประเทศ  โดยให้ประสานกับกระทรวงการต่างประเทศ หากต้องมีการเจรจาหรือทำความตกลงระหว่างประเทศในเรื่องที่เกี่ยวกับการ บริหารคลื่นความถี่ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม รวมทั้งการกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมกรณีที่ต้องดำเนินการให้เป็นไปตาม มาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช.รับบัญชาของ ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี ตามข้อ 1 ไปศึกษาพิจารณาเพื่อทำความเข้าใจให้ชัดเจน และใช้เป็นแนวทางปฏิบัติในเรื่องดังกล่าวต่อไป
3.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ดังนี้
  • จัดทำหนังสือแจ้ง Radio Regulation Department, Ministry of Information Industry  สาธารณรัฐประชาชนจีนทราบอย่างเป็นทางการว่า ขณะนี้มีความชัดเจนจากรัฐบาลไทยในเรื่องนี้แล้ว กทช. จึงพร้อมที่จะประสานงานความถี่ภายใต้หลักปฏิบัติต่างตอบแทนต่อไป ตลอดจนพิจารณากำหนดวันเวลาที่สะดวก และเหมาะสมในการพบหารือเพื่อประสานงานเรื่องนี้ กับหน่วยงานข้างต้น 
  • พิจารณาเสนอ กทช.ขอแต่งตั้งคณะผู้แทนไทยเพื่อประสานงานความถี่ดังกล่าว พร้อมร่างหนังสือแจ้งตามข้อ ๓.๑ รวมทั้งการกำหนดประเด็นท่าทีของการเจรจาประสานงานเสนอให้ กทช.พิจารณา
  • ศึกษาวิเคราะห์ประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องที่อาจเข้าข่ายต้องดำเนินการตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพุทธศักราช 2550 เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของ กทช.ด้วย
ระเบียบวาระที่ 4.42  :  บริษัท เมอร์เมด ออฟชอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด ขอรับการจัดสรร ความถี่วิทยุในกิจการนำทางทางการบิน (AERONAUTICAL RADIONAVIGATION SERVICE) เพื่อใช้งานกับเครื่องวิทยุช่วยเดินอากาศระบบ Non-Directional Radio Beacon (NDB) : รทช.ประเสริฐฯ, ฉก. (วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม
  อนุมัติจัดสรรความถี่วิทยุในกิจการนำทางทางการบิน (AERONAUTICAL RADIONAVIGATION SERVICE) ให้ บริษัท เมอร์เมด ออฟชอร์ เซอร์วิสเซส จำกัด เจ้าของเรือชื่อ “เมอร์เมด คอมมานเดอร์”  เพื่อใช้งานกับเครื่องวิทยุคมนาคมประเภทวิทยุช่วยเดินอากาศ ระบบ Non-Direction  Radio Beacon (NDB) สำหรับประสานงานกับเฮลิคอปเตอร์ในการลงจอดบนเรือ  โดยมีรายละเอียด ดังนี้
1. ให้ใช้ความถี่วิทยุ 347 kHz ระบบ MF/AM ความกว้างแถบความถี่ไม่เกิน 2.1 kHz  ซึ่งตามตารางกำหนดคลื่นความถี่วิทยุแห่งข้อบังคับวิทยุของสหภาพโทรคมนาคม ระหว่างประเทศ (ITU) กำหนดให้เป็นความถี่วิทยุในกิจการนำทางทางการบิน (AERONAUTICALRADIO NAVIGATION SERVICE) และกิจการเคลื่อนที่ทางการบิน (AERONAUTICAL MOBILE SERVICE)
2. ให้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคมประเภทวิทยุช่วยเดินอากาศระบบ Non-Directional Radio Beacon (NDB) กำลังส่งไม่เกิน 100 วัตต์ จำนวน 1 เครื่อง ติดตั้งใช้งานบนเรือเมอร์เมด คอมมานเดอร์ ณ บริเวณตำแหน่งเส้นรุ้ง 07 องศา 00 ลิปดา เหนือ จนถึงเส้นรุ้ง 12 องศา 00 ลิปดา เหนือ เส้นแวง 100 องศา 00 ลิปดา ตะวันออก จนถึงเส้นแวง 103 องศา 00 ลิปดา ตะวันออก 
     ทั้งนี้  ให้ใช้งานได้จนถึงวันที่ 23 มีนาคม 2553 เพื่อให้สอดคล้องกับระยะเวลาที่เรือลำดังกล่าวได้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งที่ ขึ้นลงชั่วคราวของอากาศยาน จากกรมการขนส่งทางอากาศ 
ระเบียบวาระที่  4.43  :  บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)  ขอรับการจัดสรรความถี่วิทยุย่าน 190 - 285 kHz และ 118 – 136 MHz  ในแท่นพักท่อ PRP (PTT RISER PLATFORM) เพื่อติดต่อประสานงานกับอากาศยานแบบเฮลิคอปเตอร์ : รทช.ประเสริฐฯ, ฉก. (วันอังคารที่ 27 ตุลาคม  2552)
มติที่ประชุม
  อนุมัติจัดสรรความถี่วิทยุย่าน  190 - 285 kHz และ 118 – 136 MHz ในแท่นพักท่อ PRP (PTT RISER PLATFORM) ให้บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) สำหรับติดต่อประสานงานกับอากาศยานแบบเฮลิคอปเตอร์ เพื่อสนับสนุนภารกิจเกี่ยวกับการประกอบการปิโตรเลียมของบริษัทฯ ดังนี้
1. จัดสรรความถี่วิทยุย่าน 254 kHz  ความกว้างแถบความถี่ไม่เกิน 2.1 kHz เพื่อใช้ในกิจการนำทางทางการบิน (AERONAUTICAL RADIONAVIGATION SERVICE) และอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุบอกตำแหน่ง (Radio beacon Station) โดยใช้เครื่องวิทยุคมนาคมประเภท วิทยุช่วยเดินอากาศ ระบบ Non-Directional Radio Beacon (NDB) ชนิดประจำที่  ตราอักษร SOUTHERN AVIONICS COMPANY รุ่น SA 100 จำนวน 1 เครื่อง สำหรับแจ้งตำแหน่งสถานีวิทยุคมนาคม
2. จัดสรรความถี่วิทยุย่าน 129.300 MHz ความกว้างแถบความถี่ไม่เกิน 6 kHz  เพื่อใช้ในกิจการเคลื่อนที่ทางการบิน (AERONAUTICAL MOBILE SERVICE) และอนุญาตให้ตั้งสถานีวิทยุในกิจการเคลื่อนที่ทางการบิน (AERONAUTICAL MOBILE STATION) โดยใช้เครื่องวิทยุคมนาคม  ระบบ VHF/AM  ชนิดประจำที่ ตราอักษร JOTRON รุ่น TR - 7525 จำนวน 1 เครื่อง และชนิดมือถือ ตราอักษร ICOM รุ่น IC-A23 จำนวน 2 เครื่อง เพื่อประสานงานกับอากาศยานในการขึ้นลงแท่นพักท่อ PRP
     ทั้งนี้ การใช้ความถี่วิทยุตามข้อ 1 และข้อ 2 ให้มีกำหนด 1 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตจาก กทช. และบริษัทฯ จะต้องปฏิบัติตามกฎ ระเบียบ ประกาศ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่ กทช. กำหนด และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องต่อไป
ระเบียบวาระที่  4.44  :  การพิจารณาคำขอใช้สิทธิตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการใช้สิทธิในการปักหรือตั้งเสา หรือเดินสาย วางท่อ หรือติดตั้งอุปกรณ์ประกอบใดในการให้บริการโทรคมนาคม (หรือหลักเกณฑ์สิทธิแห่งทาง) และมาตรา 39 วรรคแรก ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544  :  คกก.สิทธิแห่งทาง, พต. (วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม
 
1.  เห็นชอบแผนผังการพาดสายสื่อสารโทรคมนาคมของผู้ประกอบการจำนวน 5 ราย  (บมจ.ทีโอที  บจ.ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค บมจ.กสท โทรคมนาคม บจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์  และบจ.ทรู  ยูนิเวอร์แซล คอนเวอร์เจ้นซ์ ) จำนวน 10 คำขอ 87 เส้นทาง 187 ชุมสาย กับ เสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ตามความเห็นคณะกรรมการพิจารณาสิทธิแห่งทาง (กพส.) ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ ซึ่งเป็นการขอใช้สิทธิตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการใช้สิทธิในการปักหรือตั้งเสา หรือเดินสาย วางท่อ หรือติดตั้งอุปกรณ์ประกอบใดในการให้บริการโทรคมนาคม และมาตรา 39 วรรคแรกของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ทั้งนี้ ในกรณีที่บริษัทฯ อยู่ภายใต้สัญญาร่วมการงานให้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าสิทธิที่ได้รับตาม มาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ เป็นสิทธิเชิงทรัพย์สิน ซึ่งอาจะอยู่ภายใต้สัญญาร่วมการงาน ดังนั้น จึงต้องแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตทราบก่อนดำเนินการ และการอนุมัติของ กทช. ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะขัดหรือแย้งกับสิทธิการร่วมงานดังกล่าว  ทั้งนี้ ให้ผู้ประกอบกิจการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ กทช.กำหนด โดยเคร่งครัดต่อไป 
2. มอบ หมายให้สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะของที่ประชุม เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการ และการกำกับดูแลเรื่องนี้ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป ดังนี้
  • ให้ติดตามผลการดำเนินงานของผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาต ภายหลังจากที่ กทช.มีมติเห็นชอบไปแล้ว ว่าบริษัทฯ ได้ดำเนินการจริงหรือไม่ ซึ่งหากระยะเวลาผ่านไป 6 เดือน แล้วยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ควรต้องประสานงานกับบริษัทฯ เพื่อสอบถามปัญหาอุปสรรคในการดำเนินงาน และพิจารณาหาแนวทางแก้ไข  
  • ปรับ ปรุงเอกสารนำเสนอที่ประชุมโดยเพิ่มเติมรายละเอียดผลการพิจารณาของ กพส.ให้สมบูรณ์ และครบถ้วนมากขึ้น โดยให้เพิ่มเติมชื่อเจ้าหน้าที่ผู้ตรวจสอบ และวันเดือน ปี ที่ตรวจสอบให้ชัดเจน
ระเบียบวาระที่  4.45  :  แนวทางในการดำเนินการเพื่อให้มีการปฏิบัติตามคำชี้ขาดข้อพิพาทการใช้และ เชื่อมต่อโครงข่าย : รทช.พิทยาพลฯ, กม. (วันพุธที่ 28 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม
  เห็นชอบหลักเกณฑ์/แนวทาง และขั้นตอนในการใช้มาตรการบังคับทางกฎหมายเพื่อให้เป็นไปตามคำชี้ขาดข้อ พิพาทการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายของ กทช. ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ ซึ่งได้ปรับปรุงแก้ไขตามความเห็นกรรมการกลั่นกรองแล้ว ทั้งนี้ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช.ยึดถือเป็นแนวปฏิบัติต่อไป 
หมายเหตุ  ระเบียบวาระเพื่อพิจารณาที่เหลือได้แก่ วาระที่ 4.1 - 4.11 ,4.15 - 4.18, 4.24, 4.26, 4.27, 4.33, 4.34, 4.39, 4.40 4.46 และ 4.47 จะได้นำเสนอ กทช. ในการประชุม กทช. ครั้งต่อไป
ระเบียบวาระที่  5  :  เรื่องเพื่อทราบ
ระเบียบวาระที่  5.1  :  การขอเชิญเป็นวิทยากรในการเสวนาเรื่อง  “3G ความถี่แสนล้าน ประโยชน์ชาติหรือเพื่อประโยชน์ใคร?” : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.

มติที่ประชุม รับทราบการมอบหมายให้ กทช.เศรษฐพรฯ  เข้าร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนาเรื่อง “3G ความถี่แสนล้าน ประโยชน์ชาติหรือเพื่อประโยชน์ใคร?” ในวันพุธที่ 28 ตุลาคม 2552 ณ อาคารรัฐสภา 2 จัดโดยคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนสิทธิเสรีภาพและการคุ้มครองผู้บริโภค  คณะกรรมาธิการศึกษาตรวจสอบเรื่องการทุจริตและเสริมสร้างธรรมาภิบาล และคณะกรรมาธิการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน วุฒิสภาร่วมกับมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่  5.2  :  รายงานการเดินทางไปประชุม การประชุม 9th ASEAN Telecommunication & IT Ministry Meeting (TELMIN) ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว : กทช.สุธรรมฯ
มติที่ประชุม
 รับทราบรายงานการเดินทางไปเข้าร่วมการประชุม  9th ASEAN Telecommunication & IT Ministry Meeting (TELMIN) ของ กทช.สุธรรมฯ และคณะ  ระหว่างวันที่ 14 - 16 ตุลาคม 2552  ณ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตามเอกสารที่ กทช.สุธรรมฯ เสนอ
ระเบียบวาระที่  6  :  เรื่องอื่นๆ
ระเบียบวาระที่  6.1  :  การขยายระยะเวลาดำเนินการของคณะกรรมการพิจารณาวิเคราะห์มูลค่างบประมาณและ ติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณ : ลทช. , กลุ่มภารกิจด้านงบประมาณ (วันอังคารที่ 27 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม
 อนุมัติให้ขยายระยะเวลาดำเนินงานของคณะกรรมการพิจารณาวิเคราะห์มูลค่างบ ประมาณ และติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณ ต่อเนื่องออกไป จนกว่า กทช.จะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น (นับตั้งแต่วันที่ครบกำหนดวาระ วันที่ 29 ตุลาคม 2552) ทั้งนี้ โดยให้ได้รับค่าตอบแทนเบี้ยประชุมตามระเบียบ กทช.ว่าด้วยวิธีการประชุมของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และค่าตอบแทน พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขปรับปรุงใหม่ ตามที่ สำนักงาน กทช.เสนอ
ระเบียบวาระที่ 6.2  :  ขออนุมัติการเดินทางเพื่อไปเยี่ยมชม Center for TeleInfrastructure (CTIF) ณ Aalborg University ประเทศเดนมาร์ก และห้องปฏิบัติการวิจัย UMIC  ณ Aachen University สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี : กทช.ประสิทธิ์ฯ  (วันพุธที่ 28 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม
                   
1. รับทราบการเดินทางเพื่อไปเยี่ยมชม Center for TeleInfrastructure (CTIF) ณ Aalborg University ประเทศเดนมาร์ก และห้องปฏิบัติการวิจัย UMIC ณ Aachen University  สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ของ กทช.ประสิทธิ์ฯ และคณะ  ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 2 ธันวาคม 2552 โดยมีค่าใช้จ่าย จำนวน 2,173,400 บาท ตามที่ กทช.ประสิทธิ์ฯ เสนอ
2. สำหรับงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเดินทางตามข้อ 1 มอบหมายให้สำนักงาน กทช.ไปตรวจสอบเพื่อจัดหาแหล่งงบประมาณที่จะเบิกจ่ายเพื่อการนี้ให้เป็นไป อย่างเหมาะสม และดำเนินการให้ถูกต้องตามระเบียบต่อไปทั้งนี้ โดยหารือคณะกรรมการพิจารณาวิเคราะห์มูลค่างบประมาณฯ เพื่อความรอบคอบอีกครั้งหนึ่งด้วย
ระเบียบวาระที่  6.3  :  โครงการจัดงานสัมมนาทางวิชาการ และจัดนิทรรศการแสดงผลงานในงาน ครบรอบ 5 ปี กทช. : คณะอนุกรรมการด้านการจัดสัมมนาทางวิชาการฯ  (วันพุธที่ 28 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม
 อนุมัติโครงการจัดงานสัมมนาทางวิชาการ และจัดนิทรรศการแสดงผลงานในงาน ครบรอบ 5 ปี กทช. ซึ่งแบ่งออกเป็น 1) โครงการจัดงานสัมมนาย่อยทางวิชาการ โดยมีค่าใช้จ่ายจำนวน 4,409,779 บาท  และ 2) โครงการจัดงานสัมมนาทางวิชาการประจำปี “The NTC International Year End Conference 2009” โดยมีค่าใช้จ่ายจำนวน 4,345,000 บาท ทั้งนี้โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณประจำปี 2552 รายการเงินงบกลางฉุกเฉินและจำเป็นของสำนักงาน กทช. ตามที่คณะอนุกรรมการด้านการจัดสัมมนาทางวิชาการฯ เสนอ     
ระเบียบวาระที่  6.4  :  การสนับสนุนงบประมาณสำหรับการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวใน การผลิตรายการสารคดีโทรทัศน์ “พลิกตำนานสยาม”  : กทช.สุธรรมฯ (วันพุธที่ 28 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม
 มอบหมายให้สำนักงาน กทช.ส่งเรื่องนี้ให้คณะกรรมการพิจารณาวิเคราะห์มูลค่างบประมาณ และติดตามการใช้จ่ายเงินงบประมาณ พิจารณากลั่นกรองก่อน เพื่อเสนอความเห็นประกอบการพิจารณาของที่ประชุม กทช.ต่อไป
ระเบียบวาระที่  6.5  :  การเข้าร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนาเรื่อง  “3G ความถี่แสนล้าน ประโยชน์ชาติหรือเพื่อประโยชน์ใคร?”  : กทช.เศรษฐพรฯ (วันพุธที่ 28 ตุลาคม 2552)
มติที่ประชุม
                     
1. รับทราบรายงานผลการเข้าร่วมเป็นวิทยากรในการเสวนาเรื่อง  “3G ความถี่แสนล้าน ประโยชน์ชาติหรือเพื่อประโยชน์ใคร?”  เมื่อวันพุธที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2552 ณ อาคารรัฐสภา ตามที่ กทช.เศรษฐพรฯ รายงาน 
2. มอบหมายให้สำนักงาน กทช. (รทช.ประเสริฐฯ) ประมวลสรุปผลการเสวนาดังกล่าว เพื่อวิเคราะห์จัดทำประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะในประเด็นด้านกฎหมาย แล้วนำเสนอที่ประชุมพิจารณาต่อไป
หมายเหตุ  ไม่มีเอกสารประกอบวาระ

สร้างโดย  -   (31/1/2559 14:29:55)

Download

Page views: 126