สรุปมติที่ประชุม กทช. 20/2553

มติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
  ครั้งที่ 20/2553
วันพุธที่  14 กรกฎาคม  2553   เวลา  09.30  น.
     ณ ห้องประชุม ชั้น 12 อาคารอำนวยการ
สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
 
ผู้เข้าประชุม
คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

1.  ศาสตราจารย์ประสิทธิ์           ประพิณมงคลการ               ประธาน กทช.
2.  นายสุชาติ                          สุชาติเวชภูมิ                      กรรมการ
3.  รองศาสตราจารย์สุธรรม        อยู่ในธรรม                        กรรมการ
4.  นายสุรนันท์                        วงศ์วิทยกำจร                    กรรมการ
5.  พันเอกนที                          ศุกลรัตน์                          กรรมการ
6.  นายบัณฑูร                         สุภัควณิช                         กรรมการ
7.  รองศาสตราจารย์พนา           ทองมีอาคม                      กรรมการ 
8.  นายฐากร                          ตัณฑสิทธิ์                        รองเลขาธิการ กทช.รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ กทช.

 
ระเบียบวาระที่  1  :   เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ    
1.  เมื่อวันที่ 12-13 กรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา มีการจัดสัมมนาเรื่อง Digital Broadcasting ณ อาคารหอประชุม ชั้น 2 สำนักงาน กทช. มีผู้สนใจเข้าร่วมมากกว่า 200 คน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิ และวิทยากรจากหน่วยงานต่างๆ ของประเทศไทยและประเทศญี่ปุ่น เช่น สถานีไทยทีวีสีช่อง 3  สถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง 7  คุณสุภิญญา กลางณรงค์ รองประธานคณะกรรมการรณรงค์เพื่อการปฏิรูปสื่อ(คปส.) บริษัท NHK และกระทรวง MIC (Ministry of Internal Affairs and Communications) จากประเทศญี่ปุ่น รวมถึงหน่วยงานเกี่ยวกับการพัฒนาเทคโนโลยีด้านไร้สาย และ บริษัท FUJI Television ของประเทศญี่ปุ่น ทั้งนี้ ในวันสุดท้ายมีการอภิปรายกันอย่างกว้างขวางใช้เวลา 3 ชั่วโมง และเป็นที่ตื่นเต้นกันมากจากข้อมูลที่พันเอกชูชาติฯ ซึ่งเป็นรองหัวหน้าแผนกซ่อมบำรุง ทน. ททบ. ช่อง 5 แจ้งว่าทางประเทศญี่ปุ่นอาจจะมีแผนมาทำเรื่องนี้ในประเทศไทย 
2.  มีคนฟ้องมาที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินโดยคุณธรรมนูญ  จุลมณีโชติ ว่า ดร.โกศล  เพ็ชร์สุวรรณ มีผลประโยชน์ทับซ้อน เพราะเป็นกรรมการของ True และเป็นประธานบริหารงานสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ซึ่งผมได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วพบว่า ดร.โกศลฯ เป็นเพียงกรรมการอิสระและกรรมการตรวจสอบภายนอกของ True เท่านั้น เพราะตามขั้นตอนได้มีการตรวจสอบประวัติดร.โกศลฯ ก่อนที่จะมาเป็นประธานบริหารงานสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมแล้ว นอกจากนี้ท่านเป็นบุคคลสำคัญในวงการสื่อสารและเป็นผู้นำทางด้านวิจัยและพัฒนา จึงเป็นงานที่เหมาะสมกับตำแหน่งของท่าน นั่นเป็นที่มาว่าทำไมถึงได้แต่งตั้งท่านมาเป็นประธานบริหารงานสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม
3.  หลังจากจัดสัมมนาเรื่อง Digital Broadcasting แล้ว ทาง Digital Video Broadcasting หรือ DVB มีความสนใจมากที่จะจัด Joint Seminar กับ กทช. ในเรื่องเกี่ยวกับมาตรฐานเทคโนโลยีหรือ DVB-T ซึ่งทาง DVB จะออกค่าใช้จ่ายให้ทุกอย่าง โดยใช้ชื่อ กทช. และมาจัดที่หอประชุม แต่ช่วงนี้ เรากำลังต้องดำเนินการเรื่อง IMT หากจะจัดสัมมนานี้ในเดือนพฤศจิกายน ไม่ทราบว่าจะช้าไปหรือไม่  จึงขอนำเรื่องข้อเสนอของ DVB เข้าหารือในการประชุมปรึกษาหารือภายใน (INNER) อีกครั้งหนึ่ง
4.  ในวันศุกร์นี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเชิญผมไปพบ แต่ยังไม่ชัดเจนนักว่าเป็นการเชิญพบส่วนตัว หรือว่าพบเป็นทางการ ได้ให้ รทช.ประเสริฐฯ ประสานงานเพื่อสอบถามให้ชัดเจนแล้ว หากถามเรื่องการออกใบอนุญาต 3G เราก็มีท่าทีตอบได้ชัดเจนว่า เป็นหน้าที่ของ กทช. ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2543 รวมถึงคลื่นความถี่ในย่านต่างๆด้วย ก็เป็นหน้าที่ของเรา หากล้ำไปในเรื่อง Broadcasting เราก็จะกำหนดเป็นเงื่อนไขการอนุญาตว่าห้ามนำความถี่ไปใช้ประกอบกิจการด้าน Broadcasting รวมทั้งไม่ทำ Mobile TV ก็จบ ส่วนประเภทใบอนุญาตมีโครงข่ายก็เป็นแบบที่สามชัดเจน เรื่องค่าธรรมเนียมเป็นไปตามกฎหมาย นอกจากนี้อาจสอบถามว่า ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันปี 2550 นั้น กทช.ยังมีสิทธิ์ที่จะดำเนินการออกใบอนุญาต 3G ได้หรือไม่ ทั้งนี้ หากจะหารือในเรื่องกฎหมายซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ ก็ต้องยืนยันว่าอำนาจหน้าที่เป็นของใครให้ชัดเจนและถูกต้อง
หมายเหตุ กทช. ได้มีการแจ้งเรื่องต่อที่ประชุมเพิ่มเติม รวมถึงได้มีการอภิปรายและแสดงความคิดเห็นในประเด็นต่างๆ อย่างกว้างขวาง ตลอดจนได้หยิบยกประเด็นอื่นๆ ขึ้นหารือในระหว่างวาระนี้ สรุปสาระสำคัญได้คือ
5.  เรื่อง  การแจ้งตอบหนังสือประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร และโทรคมนาคม วุฒิสภา
โดยที่ประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร และโทรคมนาคม วุฒิสภา ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 9 กรกฎาคม 2553 ขอให้ กทช.พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์ และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz และขอให้จัดส่งเอกสารข้อมูล โดยให้แจ้งผลการพิจารณาและจัดส่งข้อมูลให้คณะกรรมาธิการภายใน 10 วันนับแต่วันที่ได้รับหนังสือฉบับนี้  ในการนี้ ที่ประชุมได้อภิปรายถึงแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมในการแจ้งตอบหนังสือดังกล่าวสรุปได้ว่า เนื่องจากเรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน จึงจำเป็นต้องรีบดำเนินการแจ้งตอบตามกำหนดเวลา ไม่ควรขอขยายเวลาออกไป ทั้งนี้ โดยแจ้งตอบข้อเท็จจริงไปให้ทราบ เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงกัน ดังนั้น ขอให้ กทช.     พันเอกนทีฯ ช่วยรับไปดำเนินการด้วยโดยให้คณะทำงาน 3G  ยกร่าง และเสนอให้ กทช.ทุกท่านพิจารณาอีกครั้งหนึ่งก่อนจัดส่งในนาม กทช.ต่อไป  
6.  เรื่อง ข่าวการให้สัมภาษณ์ของนายกุลิศ  สมบัติศิริ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สังกัดกระทรวงการคลัง และโฆษก สคร.ในประชาชาติธุรกิจออนไลน์ กรณีการประมูล 3G ของ กทช.อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย
กทช.พนาฯ ได้หารือที่ประชุมเกี่ยวกับข่าวการให้สัมภาษณ์ของนายกุลิศ  สมบัติศิริ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สังกัดกระทรวงการคลัง และโฆษก สคร.ใน ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ กรณีการประมูล 3G ของ กทช.อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย ดังรายละเอียดปรากฎตามเอกสารที่แจกในที่ประชุม ในการนี้ ที่ประชุมได้แสดงความคิดเห็นและอภิปรายเรื่องนี้อย่างกว้างขวาง สรุปได้ว่า การให้สัมภาษณ์ลงสื่อแบบนี้ อาจทำให้ประชาชนสับสน สำนักงาน กทช.ควรชี้แจงสื่อเพื่อให้เกิดความกระจ่างและยืนยันอำนาจหน้าที่ของ กทช. ว่าทำหน้าที่ในฐานะองค์กรอิสระด้านโทรคมนาคม แต่ว่าเรื่องของกฎหมายก็ยังมีการสอบถามกันแม้กระทั่งรัฐบาลเอง เนื่องจากองค์กรเราเป็นองค์กรใหม่อาจต้องพิจารณาตีความกัน เพราะรัฐบาลเคยทำแบบสัมปทานมาโดยตลอดในวงเงินลงทุนสูงระดับนี้ กทช.จึงควรต้องอธิบายเพื่อให้เกิดความกระจ่างในประเด็นนี้ด้วย และจัดการแถลงข้อเท็จจริงให้ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร ข้อกฎหมายเป็นอย่างไร เพื่อให้สาธารณชนหายข้องใจ ทั้งนี้ อยากให้เรื่องนี้เป็นบทเรียนสำหรับ กทช. เพื่อให้ระมัดระวังและต้องพิจารณากำหนดท่าทีในทิศทางเดียวกัน รวมทั้งมีความเข้าใจที่ตรงกัน อย่างไรก็ดี ไม่ควรกระทำการใดๆ ที่จะกระทบกับงานของเรา เพราะการดำเนินงานเรื่อง 3G กำลังเดินหน้าไปได้ด้วยดีแล้ว แต่หากในอนาคตยังมีการออกข่าวที่ทำให้ประชาชนสับสนไม่ยอมหยุดอีก เราอาจต้องพิจารณาชี้แจงอย่างเต็มที่เพื่อยืนยันอำนาจหน้าที่ของเรา มิเช่นนั้น ใครจะพูดอย่างไรก็ได้  กทช.เป็นองค์กรอิสระมีอำนาจตัดสินใจด้วยตนเอง และต้องรับผิดชอบตนเองหากไปดำเนินการตามคนอื่นแล้วเกิดเป็นความผิดขึ้นมา เราจึงต้องไม่หวั่นไหวไปกับแรงกดดันจากภายนอก ดังนั้น กทช.ควรต้องตระหนัก ระมัดระวัง และปกป้ององค์กรของเรา สำหรับเรื่องนี้จึงกล่าวโดยสรุปได้ว่า กทช.เป็นองค์กรอิสระ ซึ่งอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2543 จึงสามารถที่จะดำเนินการออกใบอนุญาตแบบที่สามที่มีคลื่นความถี่ 3G ได้ และมีเงื่อนไขของใบอนุญาตว่า ห้ามไม่ให้นำไปใช้ในกิจการทางด้าน Broadcasting ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ กทช.จะตัดสินใจด้วยความเป็นอิสระเพื่อเดินหน้า 3G ต่อไป
7.  กทช.สุชาติฯ ให้แสดงความเห็น และจุดยืนเกี่ยวกับเรื่องการออกใบอนุญาต 3G สรุปได้ว่า การออกใบอนุญาตมีประวัติศาสตร์ในการดำเนินการมา ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้ ในกฎหมายมาตรา 7 เขียนไว้ชัดว่า กทช. มีอำนาจในการออกใบอนุญาตโทรคมนาคม 3 ประเภท แต่มิได้กำหนดเรื่องใบอนุญาตอินเทอร์เน็ตไว้ ต่อมา กทช.  ชุดเดิมจึงได้ออกหลักเกณฑ์และวิธีการในเรื่องการออกใบอนุญาตอินเทอร์เน็ตเพิ่มเติม ซึ่งเชื่อว่าสิ่งที่ดำเนินการมานั้นถูกกฎหมาย และได้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะถูกต้องตามขั้นตอน และล่าสุดเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2553 กทช.เห็นชอบให้ บมจ. ทีโอที ซึ่งมีใบอนุญาตแบบที่สาม ได้รับใบอนุญาตแบบที่หนึ่ง และสอง และใบอนุญาตอินเทอร์เน็ตแบบที่หนึ่งด้วย โดยหลักการนี้จึงเห็นชัดว่า ต้องให้ใบอนุญาตทั้งอินเทอร์เน็ตและโทรคมนาคม ทั้งนี้ ในกรณีการออกใบอนุญาต 3G ไม่คัดค้านว่า กทช.มีอำนาจ แต่ต้องชัดเจนว่าอำนาจ กทช. มีขอบเขตแค่ไหน เพื่ออธิบายให้สังคมรับรู้ได้ชัดเจนเช่นกัน เรื่อง IT ประกอบด้วย 3 ส่วน ได้แก่ Terminal, Network และ Content ดังนั้น กรณีของ 3G นอกจากจะต้องได้รับอนุญาตและจ่ายค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโทรคมนาคมแล้ว หากต้องการใช้ Network เพื่อให้บริการ Internet ก็ต้องมีใบอนุญาตอีกใบคือใบอนุญาตอินเทอร์เน็ต และจ่ายค่าธรรมเนียมสำหรับใบอนุญาตอินเทอร์เน็ตด้วย สรุปได้ว่า 3G ต้องมีใบอนุญาต 2 ใบ เนื่องจาก
1) มีโครงข่ายโทรคมนาคมชัดเจน และ
2) ใช้โครงข่ายโทรคมนาคมในการให้บริการอินเทอร์เน็ต ทั้งหมดนี้คือประเด็นที่ต้องการให้เกิดความชัดเจนซึ่งได้พูดไปแล้วเมื่อวันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม 2553 และเมื่อพิจารณาดูร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาต 3G แล้ว ก็หมายความว่า เมื่อได้รับใบอนุญาต 3G แล้ว จะต้อง
1) จ่ายค่าใบอนุญาตโทรคมนาคม
2) จ่ายค่าใบอนุญาตอินเทอร์เน็ต และหากในอนาคต พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับใหม่ประกาศใช้ซึ่งรวมกิจการกระจายเสียงด้วยนั้น จะต้องจ่ายค่าใบอนุญาตในส่วนนี้ด้วยอีกหรือไม่ ก็ยังไม่ทราบ คงต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการร่วม หรือ กสทช.จะพิจารณาต่อไป จึงขอเสนอความเห็นและจุดยืนในเรื่องใบอนุญาต 3G ตามที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ไว้ และขอให้บันทึกไว้ด้วย
8.  นอกจากนี้ กทช.พนาฯ ได้แจ้งต่อที่ประชุมเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) และเรื่องหลักเกณฑ์ประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ชั่วคราว (กิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก) เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 ซึ่งเป็นเรื่องของคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ โดย กทช. ได้มอบหมายให้รับผิดชอบดูแลเรื่องนี้ มีผู้สนใจเข้าร่วมงานจำนวนมากเกือบ ๒,๐๐๐ คน ซึ่งในจำนวนดังกล่าวส่วนใหญ่จะเป็นวิทยุชุมชน และเคเบิลทีวีหลายร้อยคน งานดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยดี นับเป็นความก้าวหน้าของงานด้านกระจายเสียงอีกขั้นหนึ่ง ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะเสนอรายงานต่อ กทช. ให้ได้รับทราบในภายหลังอย่างเป็นทางการอีกครั้งหนึ่ง
9.  และในท้ายสุด กทช.พนาฯ ได้แจ้งต่อที่ประชุมเพื่อทราบอีกหนึ่งเรื่องเกี่ยวกับการจัดหาสถานที่เพื่อรองรับการปฏิบัติงานด้านกิจการกระจายเสียงตามที่ กทช.มอบหมาย  ซึ่งในระหว่างไปต่างประเทศ กทช.สุรนันท์ฯ ได้มาช่วยดูแลเรื่องนี้ให้ สรุปได้ว่าได้ไปดูที่ตึกพหลโยธิน เพลสแล้ว   คับแคบและไม่สะดวกในการทำงาน และอีกแห่งหนึ่งคือตึก สตศ. ซึ่งทราบว่าจะขาย แต่ก็จะยุ่งยากเพราะเมื่อเขาขายแล้วต้องจัดการกับบริษัทอื่นๆ ที่อยู่ตรงนั้นด้วย อีกสถานที่หนึ่งคือ ตึกชัย ถนนวิภาวดี สำหรับตึกชัยนี้ไม่ให้เช่า แต่ขายทั้งตึก ราคาประมาณ 700 ล้านบาท มีเนื้อที่ประมาณ 10,000 ตารางเมตร มีที่จอดรถ จึงเห็นว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ กทช.ควรจะได้ทราบเพื่อเปิดโอกาสให้ กทช.ตัดสินใจว่าจะซื้อหรือไม่ซื้อ เพราะถ้าซื้อในช่วงเศรษฐกิจแบบนี้ เราอาจได้ราคาที่น่าสนใจ แต่ถ้าไม่ดี เราก็ไม่เอา  จึงขอให้สำนักงาน กทช. ไปศึกษารายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมมาเสนอในสัปดาห์หน้าเพื่อให้ กทช.ตัดสินใจ ในการนี้ ประธาน กทช. และ กทช.สุรนันท์ฯ ได้เสนอแนะเพิ่มเติมว่า ควรนำเสนอ กทช.เข้ามาพร้อมกับเรื่อง Land use ของสำนักงาน กทช.จะได้เป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด โดยให้วิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างการก่อสร้างตึกเองกับการซื้อภายใต้เงื่อนไขของเวลา วิธีการใดจึงจะคุ้มค่ากว่ากัน

มติที่ประชุม            
1.  รับทราบเรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ และมอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2.  รับทราบเรื่อง ประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี การสื่อสาร และโทรคมนาคม วุฒิสภา มีหนังสือด่วนที่สุดขอให้ กทช.พิจารณาทบทวนหลักเกณฑ์ และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz และขอให้จัดส่งเอกสารข้อมูล ทั้งนี้ มอบหมายให้ กทช.พันเอกนทีฯ ไปดำเนินการ โดยให้คณะทำงาน 3G ยกร่าง และเสนอให้ กทช.ทุกท่านพิจารณาอีกครั้งหนึ่งก่อนจัดส่งในนาม กทช.ต่อไป   
3.  รับทราบเรื่อง ข่าวการให้สัมภาษณ์ของนายกุลิศ  สมบัติศิริ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) สังกัดกระทรวงการคลัง และโฆษก สคร.ในประชาชาติธุรกิจออนไลน์ กรณีการประมูล 3G ของ กทช.อาจเข้าข่ายผิดกฎหมาย ทั้งนี้ เห็นชอบเป็นหลักการและท่าทีที่ถูกต้อง ตรงกันของ กทช.ในการดำเนินการเรื่อง 3G กล่าวโดยสรุปคือ กทช.เป็นองค์กรอิสระมีอำนาจตัดสินใจด้วยตนเอง และต้องรับผิดชอบตนเอง กทช.เป็นองค์กรอิสระ ซึ่งอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2543 จึงสามารถที่จะดำเนินการออกใบอนุญาตแบบที่สามที่มีคลื่นความถี่ 3G ได้ และมีเงื่อนไขของใบอนุญาตว่า ห้ามไม่ให้นำไปใช้ในกิจการทางด้าน Broadcasting ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ กทช.จะตัดสินใจด้วยความเป็นอิสระเพื่อเดินหน้าเรื่อง 3G ต่อไป ในการนี้ จึงควรต้องชี้แจงต่อสาธารณชน และสื่อมวลชนเพื่อยืนยันอำนาจหน้าที่ของ กทช. ในฐานะองค์กรอิสระด้านโทรคมนาคม โดยการอธิบายถึงข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายให้ชัดเจนว่าเป็นอย่างไร  เพื่อให้เกิดความกระจ่าง และเกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง ตรงกัน ไม่มีประเด็นข้อสงสัยอีก 
4.  รับทราบผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การประกอบกิจการบริการชุมชนชั่วคราว (วิทยุกระจายเสียงชุมชน) และเรื่องหลักเกณฑ์ประกอบกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ชั่วคราว (กิจการโทรทัศน์ที่มีการบอกรับสมาชิก) เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2553 ตามที่ กทช. พนาฯ รายงานต่อที่ประชุม ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ จะนำเสนอรายงานต่อ กทช. อย่างเป็นทางการให้ทราบอีกครั้งหนึ่ง
5.  รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการสำรวจ และรวบรวมข้อมูลเพื่อจัดหาสถานที่สำหรับการปฏิบัติงานด้านกิจการกระจายเสียงประกอบด้วยตึกพหลโยธิน เพลส และตึก สตศ. ซึ่งยังมีข้อจำกัดเรื่องความคับแคบ ไม่สะดวก และเงื่อนไขการดูแลจัดการที่ยุ่งยาก กับทางเลือกอีกสถานที่หนึ่งคือ ตึกชัย ถนนวิภาวดี แต่เป็นการขายทั้งตึกเนื้อที่ประมาณ 10,000 ตารางเมตร ในราคาประมาณ 700 ล้านบาท ตามที่ กทช. พนาฯ รายงานต่อที่ประชุม ทั้งนี้ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช. ไปศึกษารายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เพื่อประกอบการตัดสินใจของ กทช. โดยวิเคราะห์เปรียบเทียบระหว่างการก่อสร้างตึกเองกับการซื้อภายใต้เงื่อนไขของเวลา ว่าวิธีการใดจึงจะคุ้มค่ากว่ากัน รวมทั้งให้นำเรื่อง Land Use Planning ของสำนักงาน กทช. เสนอ กทช.พิจารณาพร้อมกันไปด้วยเนื่องจากเป็นเรื่องเดียวกันทั้งหมด
 
ระเบียบวาระที่   2    :  รับรองรายงานการประชุม
ระเบียบวาระที่  2.1  :  รับรองรายงานการประชุม กทช. ครั้งที่ 17/2553 วันพุธที่ 23 มิถุนายน 2553 


มติที่ประชุม            รับรองมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 17/2553 วันพุธที่ 23 มิถุนายน   2553  ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ โดยมีข้อแก้ไขตามที่ กทช. บัณฑูรฯขอแก้ไขในหน้า 4 ข้อ 8 บรรทัดที่ 2 ใหม่เป็นดังนี้ “8. กทช.บัณฑูรฯ ได้เสนอแนวทางปฏิบัติกรณีที่ กทช. ทั้งคณะมีภารกิจที่จะต้องไปปฏิบัติงานนอกสถานที่บางครั้ง เห็นควรให้ สำนักงาน กทช. ประสานงานข้อมูลในรายละเอียดของกำหนดการ ....”

ระเบียบวาระที่  2.2  :  การพิจารณารับรองรายงานการประชุม กทช. ครั้งที่ 15/2553 เฉพาะระเบียบวาระที่ 4.2 ข้อ 1.3
 
มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบเป็นหลักการการลงนามของ กทช.เพื่อให้มีผลใช้บังคับตามมติที่ประชุม กทช. โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช. จัดทำรายละเอียดของแนวทางปฏิบัติตามหลักการดังกล่าว ให้ชัดเจน แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช. เพื่อประกอบการพิจารณารับรองรายงานการประชุม กทช. ครั้งที่ 15/2553 ในระเบียบวาระที่ 4.2 ข้อ 1.3 อีกครั้งหนึ่ง ดังนี้
1.1 กรณีที่เป็นการออกคำบังคับ หรือคำสั่งทางปกครองที่เป็นข้อพิพาท กทช.ทั้งคณะต้องลงนามร่วมกัน เช่น คำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่าย คำวินิจฉัยการไต่สวน หรือคำวิจฉัยอุทธรณ์ เป็นต้น
1.2 ประธาน กทช.ลงนามแทน กทช.ทั้งคณะตามที่ กทช.มีมติเห็นชอบมอบหมาย อาทิ คำร้อง/คำแถลงที่ยื่นต่อศาลปกครองกรณีต่างๆ เช่น คำร้องขอขยายระยะเวลา คำร้องขอนำส่งพยานหลักฐาน เป็นต้น การออกใบอนุญาตประกอบกิจการ และการอนุญาตอื่นๆ รวมถึงการลงนามประกาศนียบัตรในการอบรมต่างๆ หรือคำสั่งที่ใช้บังคับเฉพาะกรณี/ราย เช่น คำสั่งห้ามเรียกเก็บค่าต่อคู่สาย 107 บาท แต่หากเป็นเรื่องที่มีความสำคัญในบางเรื่อง ประธาน กทช.อาจขอให้ กทช.ทั้งคณะลงนามร่วมกันก็ได้เป็นกรณีๆไป เช่น กรณีการออกคำสั่ง On-net / Off-net
1.3  ประธาน กทช. ต้องเป็นผู้ลงนามกรณีที่เป็นกฎทางปกครองที่เป็นการออกประกาศ /ระเบียบ กทช. บังคับเป็นการทั่วไป เช่น ระเบียบภายใน ประกาศในการกำกับดูแลด้านต่างๆ
1.4  เลขาธิการ กทช. เป็นผู้ลงนามกรณีการบังคับใช้กฎหมาย (Enforcement) ในการกำกับดูแลให้มีผลในฐานะเป็นเจ้าพนักงานทางปกครอง ตามหมวด 9 แห่ง พ.ร.บ การประกอบกิจการฯ พ.ศ.2544
2.  กรณีที่สำนักงาน กทช. รับเรื่องเกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เข้ามา ขอให้นำเสนอประธาน กทช.โดยผ่าน กทช.พนาฯ ในฐานะผู้ได้รับมอบหมายให้กำกับดูแลงานด้านนี้ หรือสำเนาเรื่องดังกล่าวส่งให้ กทช. พนาฯ รวมทั้ง กทช. ที่ดูแลงานด้านนี้ร่วมกับ กทช.พนาฯ ด้วย
3.  หาก กทช. ท่านใดมีหนังสือถึงบุคคลภายนอกหรือหน่วยงานภายนอกเกี่ยวกับการดำเนินงานตามอำนาจหน้าที่ในนามของ กทช. ขอให้สำเนาหนังสือแจ้งประธาน กทช. และ กทช. ท่านอื่นทราบด้วย
4.  เห็นชอบให้ กทช. ทุกท่านลงนามในคำสั่ง กทช. เรื่อง ห้ามเรียกเก็บค่าบริการจากผู้ใช้บริการในอัตราที่แตกต่างกันสำหรับกิจการโทรคมนาคมในอัตราที่แตกต่างกันสำหรับบริการโทรคมนาคมลักษณะหรือประเภทเดียวกัน (on-net / off-net)

ระเบียบวาระที่  2.3  :  รับรองรายงานการประชุม กทช. ครั้งที่ 18/2553 วันพุธที่ 30 มิถุนายน 2553

มติที่ประชุม            
1.  รับรองรายงานการประชุม กทช. ครั้งที่ 18/2553 วันพุธที่ 30 มิถุนายน  2553  ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ โดยมีข้อแก้ไขตามที่ กทช. ขอให้แก้ไข ดังนี้ 
1.1  แก้ไขมติที่ประชุมวาระที่ 4.7 โดยใช้ข้อความใหม่ดังนี้  
“ โครงการส่งเสริมการบูรณาการนวัตกรรมการจัดการศึกษาด้วยสื่ออิเล็กทรอนิกส์เพื่อการเรียนรู้  (MoE Plaza ตลาดการศึกษาออนไลน์) ของสำนักส่งเสริมการลงทุนและบริหารสินทรัพย์ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) กระทรวงศึกษาธิการ เป็นโครงการที่ดี เนื่องจากเป็นการดำเนินการในส่วนของ Content ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมการใช้ Broadband ภายในโรงเรียน แต่อย่างไรก็ดี โดยที่โครงการนี้เป็นภารกิจโดยตรงของกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งน่าจะได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษาจะเหมาะสมกว่า ตามที่ กทช.สุรนันท์ฯ เสนอ ทั้งนี้ ให้สำนักงาน กทช. มีหนังสือแจ้งมติที่ประชุมข้างต้นให้สำนักส่งเสริมการลงทุนและบริหารสินทรัพย์ สกสค. ทราบ” 
1.2  ให้เพิ่มเติมข้อความในเอกสารหน้า 11 วาระที่ 4.10 ข้อ 3.2  เป็น “แล้วเสร็จภายใน 20 วันทำการ” 
1.3  แก้ไขมติที่ประชุมวาระที่ 4.14 โดยใช้ข้อความใหม่ดังนี้ 
“รับทราบรายชื่อผู้ทรงคุณวุฒิที่ กทช. เสนอแต่งตั้งเป็นคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท (กวพ.) ชุดใหม่ ดังนี้
(1) พลเอกชูชาติ สุขสงวน
(2) นายธวัช  คงเดชา
(3) นายบดินทร์ เยี่ยมสมบัติ
(4) ดร.ประยงค์ เนตรยารักษ์
(5) นางสาวลานนา คำนวล”
1.4  แก้ไขถ้อยคำในวาระที่ 4.57 ข้อ 2 หน้า 27 ให้ถูกต้องจากเดิม “Turn of Reference” เป็น “Terms of Reference” 
2. มอบหมายให้ สำนักงาน กทช. นำเรื่องกรณีกระทรวงการคลังขอตัวพนักงานสำนักงาน กทช. ไปช่วยราชการเข้าหารือในการประชุมคณะกรรมการบริหารงานบุคคล เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม และเป็นบรรทัดฐานเดียวกันให้ชัดเจนต่อไป
3.  มอบหมายให้เลขาธิการ กทช. ประสานงานกับ กทช. ทุกท่านเพื่อกำหนดนัดหมายการประชุมหารือการกำหนดนโยบายและทิศทางการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2554 ของสำนักงาน กทช. ให้เป็นไปตามปฏิทินการจัดทำงบประมาณประจำปี 2554 ที่ กทช.เห็นชอบแล้ว

ระเบียบวาระที่  2.4   :   รับรองรายงานการประชุม กทช. ครั้งที่ 19/2553 วันเสาร์ที่ 3 กรกฎาคม 2553

หมายเหตุ                  ยังไม่ได้พิจารณา

ระเบียบวาระที่  3     :  รายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช.
ระเบียบวาระที่  3.1  :  รายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 18/2553 วันพุธที่ 30 มิถุนายน 2553


มติที่ประชุม             รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 18/2553 วันพุธที่ 30  มิถุนายน  2553

ระเบียบวาระที่  3.2   :   รายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 19/2553 วันเสาร์ที่  3  กรกฎาคม  2553  

มติที่ประชุม             รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 19/2553 วันเสาร์ที่  3  กรกฎาคม  2553
 
ระเบียบวาระที่   4    :   เรื่องเพื่อพิจารณา   
ระเบียบวาระที่  4.7  :   การแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการตามความร่วมมือพัฒนาธุรกิจโทรคมนาคมไทย  : กทช. สุธรรมฯ, สพท. 

   
มติที่ประชุม              เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการตามความร่วมมือพัฒนาธุรกิจโทรคมนาคมไทย โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ตามที่ กทช.สุธรรมฯ เสนอ ดังนี้ 
1.  กทช.สุธรรม อยู่ในธรรม  ที่ปรึกษาคณะกรรมการ
2.  กทช.บัณฑูร สุภัควณิช  ที่ปรึกษาคณะกรรมการ
3.  นายปกรณ์ มาลากุล ณ อยุธยา ประธานกรรมการ
4.  นายวิเชฐ ตันติวานิช   กรรมการ
5.  นายฐากร ตัณฑสิทธิ์  กรรมการ
6.  ดร.สุพจน์ เธียรวุฒิ   กรรมการ
7.  นายพันธ์ศักดิ์ เวชอนุรักษ์    กรรมการ
8.  นายชนิตร ชาญชัยณรงค์  กรรมการ
9.  นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล  เลขานุการ
10. นายธนิศ สงกรานต์  ผู้ช่วยเลขานุการ
11. นางสาววีร์ธิมา ชินธรรมมิตร  ผู้ช่วยเลขานุการ
                    ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการอำนวยการตามความร่วมมือพัฒนาธุรกิจโทรคมนาคมไทย ได้รับค่าตอบแทนค่าเบี้ยประชุมตามระเบียบ กทช. ว่าด้วยวิธีการประชุมของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และค่าตอบแทน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552

ระเบียบวาระที่ 4.8   :   ร่างประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการบริการสื่อสารความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยีไร้สาย Broadband Wireless Access (BWA) ในย่านความถี่วิทยุ 2300-2400 เมกะเฮิรตซ์ พ.ศ. .... : กทช.พันเอก นทีฯ

มติที่ประชุม               เห็นชอบร่างประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการบริการสื่อสารความเร็วสูงด้วยเทคโนโลยีไร้สาย Broadband Wireless Access (BWA) ในย่านความถี่วิทยุ ๒๓๐๐-๒๔๐๐ เมกะเฮิรตซ์ พ.ศ. .... ตามที่ กทช.พันเอก นทีฯ เสนอ และให้สำนักงาน กทช. นำร่างประกาศดังกล่าวไปเผยแพร่ใน Website ของสำนักงาน กทช. ก่อนนำไปจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามระเบียบต่อไป

ระเบียบวาระที่   4.9    :   ขอสนับสนุนงบประมาณปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในการถวายอารักขาและรักษาความปลอดภัยโดยรอบเขตพระราชฐานวังไกลกังวล : กทช.บัณฑูรฯ

มติที่ประชุม                อนุมัติในหลักการการสนับสนุนงบประมาณปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพกล้องโทรทัศน์วงจรปิดในการถวายอารักขาและรักษาความปลอดภัยโดยรอบเขตพระราชฐานวังไกลกังวล ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติร้องขอ อย่างไรก็ดี เนื่องจากวิธีการจัดหากล้องโทรทัศน์วงจรปิดดังกล่าว ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน จึงมอบหมายให้ กทช.สุรนันท์ฯ ประสานงานกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพื่อทบทวน/พิจารณาความเหมาะสม และมีหนังสือยืนยันวิธีการได้มาซึ่งระบบโทรทัศน์วงจรปิดทดแทนของเดิมว่าสมควรจะซื้อหรือเช่าตามหลักการที่ กทช.บัณฑูรฯ  ได้ให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะไว้ พร้อมแจ้งยืนยันรายละเอียดของกรอบวงเงินงบประมาณที่จะใช้เพื่อการนี้ให้ชัดเจน ก่อนที่สำนักงาน กทช.จะพิจารณาดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

ระเบียบวาระที่   4.10   :   ขอรับการสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการโขน-ศาลาเฉลิมกรุง พุทธศักราช 2553 : กทช.สุรนันท์ฯ

มติที่ประชุม              
1.  เพื่อร่วมเฉลิมพระเกียรติเนื่องในศุภมงคลสมัยแห่งการบรมราชาภิเษกปีที่ 60 และเพื่อเฉลิมพระเกียรติในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา 5 ธันวาคม 2553 จึงอนุมัติการสนับสนุนงบประมาณดำเนินโครงการโขน-ศาลาเฉลิมกรุง พุทธศักราช 2553 ภายในกรอบวงเงิน 3,000,000.- บาท ตามที่ กทช.สุรนันท์ฯ เสนอ โดยให้เบิกจ่ายจากงบกลางประจำปี 2553 ของสำนักงาน กทช. ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามระเบียบ กทช. ว่าด้วยการสนับสนุนการจัดกิจกรรมที่ส่งเสริมและสนับสนุนการดำเนินงานของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติและสำนักงาน กทช. พ.ศ. 2551
2.  เพื่อให้การบริหารจัดการงบประมาณในปี 2554 ของสำนักงาน กทช. กรณีการใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ กทช.และสำนักงาน กทช. เกิดความชัดเจน และถูกต้องตามหลักการงบประมาณ จึงสมควรกำหนดเป็นนโยบายสำหรับการจัดทำแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2554 ของสำนักงาน กทช. โดยให้กำหนดประเภทรายจ่ายงบประมาณอุดหนุนขึ้นเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของ กทช.และสำนักงาน กทช. ให้ชัดเจนพร้อมกำหนดกรอบวงเงินงบประมาณอุดหนุนดังกล่าวที่เหมาะสมไว้เพื่อการเบิกจ่ายด้วย

ระเบียบวาระที่   4.11   :   การวางกรอบการดำเนินงาน  แผนการดำเนินงาน  และการจัดตั้งกลไกในการดำเนินการด้าน USO : กทช.สุรนันท์ฯ, ทถ.

มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบกรอบและแนวการดำเนินงาน USO ในระยะที่ 3 (กรกฎาคม 2533 – มกราคม 2554) ตามที่ กทช.สุรนันท์ฯ เสนอ
2.  อนุมัติการแต่งตั้งคณะกรรมการกำหนดนโยบายการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ตามที่ กทช.สุรนันท์ฯ เสนอ โดยให้ปรับปรุงองค์ประกอบให้เหมาะสมยิ่งขึ้น ดังนี้
2.1 เพิ่มเติมนางรังสิมา เจริญศิริ เป็นกรรมการ
2.2 ปรับเปลี่ยนกรรมการจาก นายกุลิศ สมบัติศิริ เป็น นายธานีรัตน์  ศิริปะชะนะ รองปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร แทน ทั้งนี้ องค์ประกอบของคณะกรรมการฯ สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสมและจำเป็น และให้คณะกรรมการฯ ได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยวิธีการประชุมของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และค่าตอบแทน พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ สำหรับกรรมการที่เป็นบุคคลภายนอกให้ได้รับค่าเบี้ยประชุมในอัตราตามข้อ 18(1) (ข) 
3.  อนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณในการดำเนินงานจนถึงเดือนมกราคม 2554 ภายในวงเงิน 84,668,000.- บาท โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณปี 2553 รายจ่ายงบกลาง ทั้งนี้ ให้ กทช.บัณฑูรฯ พิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่งเพื่อความถูกต้องและเหมาะสมของการใช้จ่ายงบประมาณในวงเงินดังกล่าว ก่อนจะดำเนินการให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

ระเบียบวาระที่   4.12   :   แนวทางการคัดเลือกเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ : รทช.ฐากรฯ, ปต.

มติที่ประชุม               เห็นชอบแนวทางและกรอบระยะเวลา (Timeline) การดำเนินการคัดเลือกเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับไปดำเนินกระบวนการสรรหาเลขาธิการ กทช.ตามแนวทางการคัดเลือก และกรอบระยะเวลาดังกล่าวต่อไป

ระเบียบวาระที่  4.13  :   การดำเนินการเกี่ยวกับมติที่ประชุม กทช.ที่เป็นคำสั่งทางปกครอง : รทช.ฐากรฯ, กม.

หมายเหตุ                   เป็นเรื่องเดียวกับระเบียบวาระที่  2.2 : การพิจารณารับรองรายงานการประชุม กทช. ครั้งที่ 15/2553 เฉพาะระเบียบวาระที่ 4.2 ข้อ 1.3 ซึ่ง ที่ประชุม กทช. ได้พิจารณาและมีมติแล้ว

ระเบียบวาระที่   4.15  :   การทบทวนราคาการพิจารณาผลข้อเสนอทางด้านเทคนิคและข้อเสนออื่นๆ ของการประกวดราคาเช่าเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ และคอมพิวเตอร์แบบพกพา จำนวน 500 เครื่องและอุปกรณ์ประกอบ : รทช.ทศพรฯ , นส.

มติที่ประชุม            
1.  เห็นชอบตามความเห็นคณะกรรมการพิจารณาผลการประกวดราคาเช่าเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์ และคอมพิวเตอร์แบบพกพา จำนวน 500 เครื่องและอุปกรณ์ประกอบ โดยให้บริษัท อุดมสุข อินฟอร์เมชั่น  เซอร์วิส จำกัด เป็นผู้ชนะการประกวดราคาเช่าเครื่องไมโครคอมพิวเตอร์และคอมพิวเตอร์แบบพกพา จำนวน 500 เครื่อง และอุปกรณ์ประกอบ ตามที่คณะกรรมการฯ เสนอ ทั้งนี้ โดยให้สำนักงาน กทช.ไปดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป                             
2.  เพื่อให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างสามารถดำเนินการได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น จึงสมควรนำเรื่องการปรับปรุงแก้ไขระเบียบพัสดุเข้าหารือในการประชุมปรึกษาหารือภายใน (Inner) โดยเร็ว โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับไปดำเนินการต่อไป

หมายเหตุ                   ระเบียบวาระเพื่อพิจารณาที่เหลือ ได้แก่ วาระที่ 4.1 – 4.6, 4.14 และ 4.16 จะได้นำเสนอในการประชุม กทช. ครั้งต่อไป

ระเบียบวาระที่  5       :   เรื่องเพื่อทราบ
ระเบียบวาระที่  5.1    :   ระเบียบสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการลาของพนักงานและลูกจ้าง : รทช.ฐากรฯ, บค.


มติที่ประชุม                  รับทราบการปรับปรุงระเบียบสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติว่าด้วยการลาของพนักงานและลูกจ้าง ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.2   :  คำชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่ 1/2553 : รทช.ฐากรฯ, กม.

มติที่ประชุม                รับทราบการจัดส่งคำชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่   1/2553  ระหว่าง บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ผู้ร้อง) กับ บมจ. กสท โทรคมนาคม (ผู้ถูกร้อง) ให้คู่กรณีทราบ ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่ 5.3   :   รายงานผลการดำเนินการตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 637, 644/2553 : รทช.ฐากรฯ, กม.

มติที่ประชุม             รับทราบรายงานผลการดำเนินการตามคำสั่งของศาลปกครองกลาง คดีหมายเลขดำที่ 637 , 644 / 2553 ระหว่าง บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น และบมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ผู้ฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 กับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และเลขาธิการ กทช. ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และที่ 2 พร้อมเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อสำนักงานศาลปกครอง ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่  5.4  :   รายงานข้อมูลการออกเครื่องหมายการได้รับการตรวจสอบและรับรองมาตรฐาน (ประจำปี 2551-2552) : รทช.ทศพรฯ, วท.

มติที่ประชุม               รับทราบการอนุญาตให้ผู้ประกอบการแสดงเครื่องหมายการได้รับการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานด้วยตนเอง จำนวน 10 ราย และข้อมูลการแสดงเครื่องหมายการได้รับการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของผู้ประกอบการ ประจำปี 2551 – 2552 ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.5   :  การศึกษาดูงานด้านโทรคมนาคมและการเยี่ยมชมงาน World Expo 2010 ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน : รทช.ทศพรฯ, วท.

มติที่ประชุม                รับทราบรายงานการศึกษาดูงานด้านโทรคมนาคมและการเยี่ยมชมงาน World Expo 2010 ของประธาน กทช. และคณะ ระหว่างวันที่ 18 – 22 มิถุนายน 2553 ณ เมืองเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่  5.6   :   การประชุมคณะทำงานพิเศษ (STF) ครั้งที่ 3 และการประชุมคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคว่าด้วยการประสานและจัดสรรความถี่วิทยุตามบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย (JTC) ครั้งที่ 18 : รทช.ทศพรฯ, รศ., วท.

มติที่ประชุม             รับทราบรายงานสรุปผลการประชุมคณะทำงานพิเศษ (STF) ครั้งที่ 3 วันที่ 11 พฤษภาคม 2553 และการประชุมคณะกรรมการร่วมทางเทคนิคว่าด้วยการประสานและจัดสรรความถี่วิทยุตามบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย (JTC) ครั้งที่ 18 ของ รทช. (นายทศพรฯ) และคณะ ระหว่างวันที่ 12 – 14 พฤษภาคม 2553 ณ อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่ 5.7 : การดำเนินการตามมาตรา 61 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ในการไต่สวนข้อเท็จจริง กรณีการกำหนดราคาขายบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ไม่เป็นธรรม          : รทช.ประเสริฐฯ, คณะกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริง, กท.

มติที่ประชุม               รับทราบการดำเนินการตามมาตรา 61 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ในการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีการกำหนดราคาขายบริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ไม่เป็นธรรม ซึ่งสำนักงาน กทช. ได้มีหนังสือแจ้ง บมจ. ทีทีแอนด์ที , บมจ. ทริปเปิลที บรอดแบนด์ และ บจ. ทีทีแอนด์ที ซับสไคร์เบอร์ เซอร์วิสเซส เพื่อจัดส่งเอกสารมาเพื่อประกอบการพิจารณาไต่สวน ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ 

ระเบียบวาระที่  5.8  :   รายงานข้อมูลของสถานีวิทยุชุมชนประจำเดือนพฤษภาคม 2553   : รทช.ประเสริฐฯ, กท.

มติที่ประชุม                รับทราบรายงานสรุปข้อมูลสถานะความเคลื่อนไหวของวิทยุชุมชนและข้อมูลสถิติระดับความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดจากวิทยุชุมชน โดยเฉพาะในกรณีที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อการรบกวนวิทยุการบิน ประจำเดือนพฤษภาคม 2553 ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่ 5.9  :  ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม ประจำปี 2552 ของ กฟผ. กฟน.  และ กฟภ. : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.

มติที่ประชุม              รับทราบการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่สาม ประจำปี 2552 ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) , การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ซึ่งในปีต่อๆไป กรณีของ กฟน. และ กฟภ.ให้ชี้แจงรายได้จากการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ชัดเจนในการจัดทำรายงานของผู้ตรวจสอบบัญชี และงบการเงินประจำปีเช่นเดียวกับ กฟผ. ด้วยตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ ดังนี้
1.  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย  จำนวน  8,622,731.18 บาท 
2.  การไฟฟ้านครหลวง  จำนวน  909,263.81 บาท
3.  การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค  จำนวน  2,937,382.54 บาท

ระเบียบวาระที่   5.10   :   การอนุญาตให้ใช้ความถี่วิทยุสำหรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น   : รทช.ประเสริฐฯ, ฉก.

มติที่ประชุม               รับทราบการอนุญาตให้ขยายระยะเวลาการใช้ความถี่วิทยุขององค์การบริหารส่วนตำบลบางสวรรค์ ซึ่งสำนักงาน กทช. ได้ดำเนินการตามมติ กทช. ครั้งที่ 38/2548 เมื่อวันที่ 2สิงหาคม 2548 ซึ่งอนุมัติหลักการมอบอำนาจให้เลขาธิการ กทช. เป็นผู้อนุมัติแทน กทช. หากไม่มีการอนุญาตใช้คลื่นความถี่ใหม่ ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่ 4.11  :   การดำเนินการตามมติ กทช. ครั้งที่ 9/2553 เรื่อง การจัดพิมพ์หนังสือ “การควบรวมกิจการและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม” : รทช.พิทยาพลฯ, พต.

มติที่ประชุม                รับทราบการดำเนินการตามมติ กทช. ครั้งที่ 9/2553 เรื่อง การจัดพิมพ์หนังสือ “การควบรวมกิจการและการถือหุ้นไขว้ในกิจการโทรคมนาคม” ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่  5.12  :   การเข้าร่วมประชุม The 2nd AMARC Asia-Pacific Regional Conference : Community Radio for Sustainable Development and Good Governance ระหว่างวันที่ 19-24 กุมภาพันธ์ 2553 ณ เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย : คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์

มติที่ประชุม                รับทราบรายงานผลการประชุม The ๒nd AMARC Asia-Pacific Regional Conference : Community Radio for Sustainable Development and Good Governance ระหว่างวันที่ 19-24 กุมภาพันธ์ 2553 ณ เมืองบังกาลอร์ ประเทศอินเดีย ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่ 5.13    :   รายงานการรับเรื่องร้องเรียน ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 15 มิถุนายน 2553 : สบท.

มติที่ประชุม               รับทราบรายงานการรับเรื่องร้องเรียนของสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน – 15 มิถุนายน 2553 ซึ่งมีเรื่องร้องเรียนจำนวน 104 เรื่อง  ดำเนินการแล้วจำนวน 14 เรื่อง  และส่งเรื่องให้บริษัทฯแก้ไขจำนวน 90 เรื่อง ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.14   :  การเดินทางเข้าร่วมศึกษาดูงานหน่วยงานด้านกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ : กทช.พนาฯ

มติที่ประชุม               รับทราบการเดินทางศึกษาดูงานหน่วยงานด้านกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ของ กทช. พนาฯ และคณะ ระหว่างวันที่ 1 – 7 สิงหาคม 2553    ณ ประเทศสาธารณรัฐเกาหลีและญี่ปุ่น ตามเอกสารที่ กทช. พนาฯ เสนอ

ระเบียบวาระที่   6     :  เรื่องอื่นๆ
ระเบียบวาระที่   6.1  :  การกำหนดข้อจำกัดเชิงปริมาณ (Spectrum Cap) ในการได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ในกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตามข้อ 9.4 ร่างประกาศ กทช.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz : กทช.พันเอกนทีฯ


มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบในหลักการการกำหนดข้อจำกัดเชิงปริมาณ (Spectrum Cap) ในการได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ในกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตามข้อ 9.4 ของร่างประกาศ กทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz ตามที่ กทช.พันเอกนทีฯ เสนอ 
2.  เห็นชอบและมอบหมายให้ กทช.พันเอกนทีฯ นำร่างเอกสารชี้แจงการกำหนดข้อจำกัดเชิงปริมาณ (Spectrum Cap) ดังกล่าวไปจัดประชุม รับฟังความคิดเห็นต่อเนื่องจากวันที่ 25 มิถุนายน 2553 โดยให้ดำเนินการในรูปแบบการประชุมกลุ่มย่อยหรือ Focus Group ร่วมกับ ผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Incumbents) รวมทั้งผู้บริหารบมจ. ทีโอที และบมจ. กสท โทรคมนาคม ที่มีอำนาจตัดสินใจ ตามที่ กทช.   พันเอกนทีฯ เสนอ เพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจในเจตนารมณ์ของ กทช. เกี่ยวกับข้อกำหนดดังกล่าวให้ชัดเจน และถูกต้องตรงกัน และเมื่อรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้วให้ เลขาธิการ กทช. ดำเนินการสรุปผลและเผยแพร่บน Website ของสำนักงาน กทช. ตามขั้นตอนก่อนนำร่างประกาศฯ ประกาศในราชกิจจานุเบกษาต่อไป ทั้งนี้ โดยให้รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการต่อร่างเอกสารชี้แจงการกำหนดข้อจำกัดเชิงปริมาณ (Spectrum Cap) ให้มีความชัดเจน และสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น อาทิ ควรปรับข้อความให้สั้นและกระชับ รวมถึงปรับ Diagram ในหน้า 7 ให้ชัดเจน ตลอดจนนำความเห็นของ Operators  และสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่ส่งมาประกอบการพิจารณาด้วย เป็นต้น  และให้หารือความเหมาะสมในรายละเอียดของข้อความกับ กทช.สุธรรมฯ อีกครั้งหนึ่งเพื่อความรอบคอบ  
3.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. ไปศึกษารายละเอียดการกำหนดข้อจำกัดเชิงปริมาณ (Spectrum Cap) ในการได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ในกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตามข้อ 9.4 ของร่างประกาศ กทช.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz ด้วย เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และสามารถนำไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง 
4.  มอบหมายให้ สำนักงาน กทช. โดยคณะทำงาน 3G พิจารณาจัดทำร่างหนังสือชี้แจงประธานคณะกรรมาธิการการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีการสื่อสารและโทรคมนาคม วุฒิสภา ให้ได้รับทราบข้อมูล ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องและชัดเจนเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงาน และการพิจารณากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz ซึ่งได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้ รวมถึงคำนึงถึงประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเป็นสำคัญ ทั้งนี้ โดยเมื่อยกร่างแล้วเสร็จให้นำเรียน กทช.ทุกท่านพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ก่อนดำเนินการจัดส่งถึงประธานวุฒิสภาต่อไป พร้อมสำเนาหนังสือนำเรียนประธานคณะกรรมาธิการฯ ทราบ และนำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีในฐานะที่เป็นผู้รักษาการตามกฎหมายเพื่อทราบ พร้อมแนบหนังสือต้นเรื่องจากประธานคณะกรรมาธิการฯ ไปด้วย
     
ระเบียบวาระที่   6.2   :   การปรับปรุงร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMTย่าน 2.1  GHz   : กทช.สุธรรมฯ

มติที่ประชุม               รับทราบการปรับปรุงร่างหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMTย่าน 2.1 GHz  ตามที่ กทช.สุธรรมฯ เสนอ ซึ่งดำเนินการตามมติที่ประชุม กทช.ครั้งที่ 19/2553 วันที่ 3 กรกฎาคม 2553  ทั้งนี้ การแก้ไขร่างดังกล่าว โดยการที่ กทช. กำหนดข้อจำกัดในเชิงปริมาณ (Quantitative restriction) ในการได้รับจัดสรรคลื่นความถี่ และกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลดำเนินการส่งคืนคลื่นความถี่โดยจัดทำเป็นแผนเช่นนี้ สรุปได้ว่า จะเป็นการสร้างหลักประกันว่าจะมีการแข่งขันที่เพิ่มสูงขึ้นในตลาดโทรศัพท์เคลื่อนที่ และก่อให้เกิดประโยชน์แก่ทุกฝ่าย และจะมีผู้ให้บริการรายใหม่เกิดขึ้นแน่นอน ตลอดจนจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบเชิงลบแก่สิทธิหน้าที่ของคู่กรณีตามสัญญาสัมปทาน แต่จะก่อให้เกิดประโยชน์เชิงบวกแก่คู่สัญญา ดังนั้น เมื่อพิจารณาในองค์รวมแล้ว จะพบว่าข้อกำหนดดังกล่าวเป็นการส่งเสริมให้สัญญาสัมปทานเข้มแข็งมากยิ่งขึ้นอีก

ระเบียบวาระที่   6.3   :   สรุปความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz และร่างสรุปข้อสนเทศ (Information Memorandum) ที่ได้รับเพิ่มเติม : กทช.พันเอกนทีฯ  , คณะกรรมการเพื่อการอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ฯ

มติที่ประชุม               รับทราบสรุปความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างประกาศ กทช.เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz และร่างสรุปข้อสนเทศ (Information Memorandum) ที่ได้รับเพิ่มเติมภายหลังกำหนดสิ้นสุดการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะแล้ว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นความเห็นที่ซ้ำหรือไม่แตกต่างไปจากที่ได้รับ ตามที่คณะกรรมการเพื่อการอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT หรือ 3G and beyond เสนอ ก่อนนำเผยแพร่ผ่าน Website ของสำนักงาน กทช. ตามที่ กทช. พันเอกนทีฯ เสนอ เพื่อให้กระบวนการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ และการดำเนินการเพื่อการอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz เป็นไปด้วยความถูกต้องโปร่งใส และครบถ้วนสมบูรณ์ตามขั้นตอน

ระเบียบวาระที่   6.4   :   การเดินทางไปประชุมกับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังต่างประเทศเพื่อประชาสัมพันธ์เชิญชวน (Road Show) เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz ในประเทศไทย : กทช.พันเอกนทีฯ , ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการเพื่อการอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ฯ , รศ. ,กร.

มติที่ประชุม              
1.  อนุมัติการเดินทางไปประชุมกับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ยังต่างประเทศเพื่อประชาสัมพันธ์เชิญชวน (Road Show) เข้าร่วมการประมูลคลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz ในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 1-7 สิงหาคม 2553 ตามที่ กทช. พันเอกนทีฯ เสนอ โดยให้เพิ่มอีก 1 เส้นทาง (ฮ่องกง และไต้หวัน) รวมเป็น 4 เส้นทาง โดยมี กทช.พันเอกนทีฯ เป็นหัวหน้าคณะ ทั้งนี้ สำหรับ กทช. ที่ประสงค์จะร่วมเดินทางในเส้นทางต่างๆ ให้นำเข้าหารือในการประชุมปรึกษาหารือภายใน (Inner) วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม 253 
2.  อนุมัติงบประมาณสำหรับการเดินทางไปประชุมกับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างประเทศเพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz ในประเทศไทย โดยเบิกจ่ายจากงบกลางของ กทช.ประจำปี 2553 เส้นทางละ 3,500,000 บาท ภายในกรอบวงเงินงบประมาณ 14,000,000 บาท 
3.  มอบหมายให้ กทช.พันเอกนทีฯ รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการให้เหมาะสมยิ่งขึ้นเพื่อให้การเดินทางไป Road Show ในครั้งนี้ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และประสบความสำเร็จตามเป้าหมาย โดยสมควรพิจารณาจัดจ้างทีมงานภายนอก (Outsource) ที่เป็นมืออาชีพในการเตรียมการ และการจัดการเป็นผู้ดำเนินการ โดยเฉพาะการจัดทำเอกสารเชิญชวนที่มีข้อมูลครบถ้วน ชัดเจน และมีรูปแบบสวยงาม รวมทั้งอาจพิจารณากำหนดให้ประเทศใดประเทศหนึ่งเป็น Station หรือ Hub เพื่อจัดงาน Road Show ณ จุดๆเดียว โดยเชิญผู้ประกอบการที่สนใจในประเทศใกล้เคียงมาร่วมงานแทนการเสียเวลาต้องเดินทางไปหลายๆประเทศ ซึ่งวิธีนี้จะช่วยให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายได้

ระเบียบวาระที่  6.5  :   การแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการจัดงานมหกรรมเทคโนโลยีการสื่อสาร 3.9 G (3.9 G Thailand Human D.N.A) : กทช.พันเอกนทีฯ

มติที่ประชุม                อนุมัติการแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อดำเนินการจัดงานมหกรรมเทคโนโลยีการสื่อสาร 3.9 G (3.9 G Thailand Human D.N.A) ซึ่งกำหนดจะจัดให้มีในระหว่างวันที่ 8-12 กันยายน 2553 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ โดยมีองค์ประกอบ และอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ ตามที่ กทช.พันเอกนทีฯ เสนอ

ระเบียบวาระที่  6.6  :   ขอให้ Professor Erik Bohlin เข้าพบ กทช.เพื่อรายงานผลการดำเนินงานของโครงการที่ผ่านมาและโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งรายงานความคืบหน้าของนักเรียนทุน กทช.ในระดับปริญญาเอก ณ Chalmers University of Technology ประเทศสวีเดน : กทช.พนาฯ

มติที่ประชุม                 รับทราบ Professor Erik Bohlin เข้าพบ กทช.เพื่อเยี่ยมคารวะ กทช. ในโอกาสที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่ และรายงานผลการดำเนินงานของโครงการที่ผ่านมา และโครงการที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบัน พร้อมทั้งรายงานความคืบหน้าของนักเรียนทุน กทช. ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับปริญญาเอก ณ Chalmers University of Technology ประเทศสวีเดน ตามที่ กทช. พนาฯ เสนอ

ระเบียบวาระที่   6.7   :   การให้ความเห็นระเบียบวาระเกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฯ : กทช.พนาฯ

มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบให้ยกเว้นการถ่ายทอดข่าวสถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทยของคลื่นความถี่ 99.5 MHz ช่วงเวลา 07.00 – 07.30 น. และ 19.00 – 19.30 น. ของทุกวัน เพื่อเป็นช่วงเวลานำเสนอรายงานสภาพการจราจร อันเป็นการสนองตอบต่อนโยบายของคณะกรรมการอำนวยการจราจรในการเสด็จพระราชดำเนิน ตามที่คณะกรรมการบริหารงานกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์กองบัญชาการกองทัพไทยขอความอนุเคราะห์ ทั้งนี้ โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 78(1) แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. มีหนังสือแจ้งคณะกรรมการบริหารงานกิจการวิทยุกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์กองบัญชาการกองทัพไทย เพื่อทราบมติที่ประชุมตามข้อ 1 ต่อไป

ระเบียบวาระที่   6.8   :   การเดินทางเข้าร่วมโครงการศึกษาดูงานองค์กรหรือหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่มีมาตรฐานในระดับสากล : กทช.พนาฯ

มติที่ประชุม              
1.  อนุมัติการเดินทางตามโครงการศึกษาดูงานองค์กรหรือหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่มีมาตรฐานในระดับสากลของคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์  ตามที่ กทช. พนาฯ เสนอ ดังนี้
1.1  คณะทำงานด้านกิจการที่ไม่ใช้คลื่นความถี่ ระหว่างวันที่ 1-7  สิงหาคม 2553 ณ สาธารณรัฐเกาหลี และประเทศญี่ปุ่น
1.2  คณะทำงานด้านกิจการวิทยุกระจายเสียงชุมชน ระหว่างวันที่ 29 สิงหาคม – 4 กันยายน 2553 ณ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ทั้งนี้ ในการศึกษาดูงานด้านนี้ ควรปรึกษาหารือกับ กทช.สุธรรมฯ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อความเหมาะสมและเกิดประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น
2.  อนุมัติการเทียบสิทธิเพื่อเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฎิบัติงานของคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์พร้อมผู้ติดตาม คณะทำงานเฉพาะด้าน และพนักงานสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ตามระเบียบสำนักงาน กทช.ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงาน พ.ศ.2548

ระเบียบวาระที่   6.9   :   ร่างประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ชั่วคราว (กิจการโทรทัศน์ที่ไม่มีการบอกรับสมาชิก) :  กทช.พนาฯ

มติที่ประชุม               อนุมัติในหลักการร่างประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตประกอบกิจการที่ไม่ใช่คลื่นความถี่ชั่วคราว (กิจการโทรทัศน์ที่ไม่มีการบอกรับสมาชิก) ตามที่ กทช.พนาฯ  เสนอ ทั้งนี้ กทช. สามารถหยิบยกขึ้นหารือในรายละเอียดได้อีกครั้งหนึ่งในการประชุมปรึกษาหารือภายใน (INNER) วันพฤหัสบดีที่ 15 กรกฎาคม 2553 ก่อนนำไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะตามขั้นตอนต่อไป

ระเบียบวาระที่   6.10  :  กรมสรรพากรขอรับการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมพิเศษ 4 หลัก : รทช.ประเสริฐฯ , กบ.

มติที่ประชุม              อนุมัติจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมพิเศษ 4 หลักให้แก่กรมสรรพากร จำนวน 1 เลขหมาย ได้แก่ หมายเลข 1161 สำหรับการให้บริการในโครงการศูนย์บริการข้อมูล RD Call Center ซึ่งได้ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการเลขหมายโทรคมนาคมแล้ว เพื่อให้กรมสรรพากร ซึ่งเป็นหน่วยงานราชการระดับกรมใช้งานให้ข้อมูลแก่ประชาชนในภารกิจด้านภาษีที่จะมีผู้ติดต่อประสานงานกับเจ้าหน้าที่กรมสรรพากรเป็นจำนวนมากทุกจังหวัดทั่วประเทศ และเพื่อเป็นช่องทางหนึ่งในการป้องกันภัยจากมิจฉาชีพให้แก่ประชาชน ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ ทั้งนี้ โดยกรมสรรพากรต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการใช้งานตามประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2551 ต่อไป

สร้างโดย  -   (15/3/2559 16:07:18)

Download

Page views: 91