สรุปมติที่ประชุม กทช. 28/2553

มติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
  ครั้งที่ 28/2553
วันจันทร์ที่ 6 กันยายน  2553   เวลา 09.30  น.
     ณ ห้องประชุม ชั้น 12 อาคารอำนวยการ
สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
 


 
ผู้เข้าประชุม
คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

1.  ศาสตราจารย์ประสิทธิ์             ประพิณมงคลการ             ประธานกรรมการ
2.  นายสุชาติ                            สุชาติเวชภูมิ                    กรรมการ  
3.  รองศาสตราจารย์สุธรรม          อยู่ในธรรม                      กรรมการ
4.  นายสุรนันท์                          วงศ์วิทยกำจร                   กรรมการ
5.  พันเอกนที                            ศุกลรัตน์                         กรรมการ
6.  นายบัณฑูร                           สุภัควณิช                        กรรมการ
7.  รองศาสตราจารย์พนา              ทองมีอาคม                     กรรมการ 
8.  นายฐากร                             ตัณฑสิทธิ์                        รองเลขาธิการ กทช. รักษาการในตำแหน่ง เลขาธิการ กทช.
หมายเหตุ กทช.สุธรรม  อยู่ในธรรม   เข้าประชุมเวลา 14.30 น.
 


 
ระเบียบวาระที่   1   :  เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ

                                    - ไม่มี-
 

ระเบียบวาระที่   2   :   รับรองรายงานการประชุม กทช. ครั้งที่ 27/2553 วันพุธที่ 1 กันยายน 2553
 
มติที่ประชุม             รับรองรายงานการประชุม กทช. ครั้งที่ 27/2553 วันพุธที่ 1 กันยายน 2553 ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอโดยมีข้อแก้ไขถ้อยคำในวาระที่ 1  หน้า 5  ข้อ 3)  และ หน้า 7 บรรทัดที่ 1 ให้ถูกต้องจากเดิม “สถานีวิทยุ 1 ปณ”  เป็น “สถานีวิทยุกระจายเสียง 1 ปณ.”


ระเบียบวาระที่   3    :   รายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช.
                                   -ไม่มี-
 

ระเบียบวาระที่   4      :   เรื่องเพื่อพิจารณา    
ระเบียบวาระที่   4.3   :   คำชี้ขาดข้อพิพาทระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)   กับบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)  :  กทช. พนาฯ, รทช.ฐากรฯ , กม.


ประเด็นที่ 1 :  บมจ.กสท โทรคมนาคม มีสิทธินำโครงข่ายโทรคมนาคม CDMA ส่วนกลาง 25  จังหวัดและโครงข่ายโทรศัพท์ระหว่างประเทศมาขอเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมกับ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส  หรือไม่

มติที่ประชุม              :  รับทราบและเห็นชอบผลการพิจารณาตามความเห็นของ กทช.สุธรรมฯ และ กทช.พนาฯ ที่ได้รับมอบอำนาจจากที่ประชุม กทช.ตามมติ กทช.ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ซึ่งพิจารณาแล้วมีความเห็นสรุปได้ว่า 
กทช.สุธรรมฯ :  เมื่อ บมจ.กสท โทรคมนาคม เป็นผู้รับใบอนุญาตที่มีโครงข่ายโทรคมนาคม ก็ย่อมมีสิทธิและหน้าที่ตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ในการขอเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมกับผู้รับใบอนุญาตที่มีโครงข่ายโทรคมนาคมรายอื่น  กทช.พนาฯ :  บมจ. กสท โทรคมนาคม มีสิทธินำโครงข่ายโทรคมนาคม CDMA ส่วนกลาง 25 จังหวัด และโครงข่ายโทรศัพท์ระหว่างประเทศ มาขอเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมกับ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ได้ เนื่องจากมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายโทรคมนาคม มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายอื่นเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กทช.กำหนด

ประเด็นที่ 2 : อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมของ บมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส ควรกำหนดเป็นอัตราเท่าใด

มติที่ประชุม                :   รับทราบและเห็นชอบผลการพิจารณาตามความเห็นของ กทช.สุธรรมฯ และ กทช.พนาฯ ที่ได้รับมอบอำนาจจากที่ประชุม กทช.ตามมติ กทช.ครั้งที่ ๘/๒๕๕๓ เมื่อวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๕๓ ซึ่งพิจารณาแล้วมีความเห็นสรุปได้ว่า กทช.สุธรรมฯ :  การกำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมนั้น เมื่อ กทช. ได้มีคำสั่งที่ 11/2553 เรื่องให้ใช้อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นอัตราอ้างอิง และได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 โดยกำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมมาตรฐาน (Reference Rate) เป็นการชั่วคราว มีกำหนดระยะเวลาบังคับใช้ 1 ปี ดังนั้น เมื่อ กทช.ทำคำชี้ขาดเกี่ยวกับอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ก็สมควรใช้อัตราที่ได้ประกาศไว้ อย่างไรก็ตาม หากผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมประสงค์จะเจรจาตกลงเรื่องอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายให้เป็นอย่างอื่นก็สามารถกระทำได้ โดยจะต้องอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายด้านการประกอบกิจการโทรคมนาคม และต้องเสนอให้ กทช. พิจารณาเห็นชอบกทช.พนาฯ : 
1) เห็นด้วยตามที่ สำนักงาน กทช.เสนอ ให้ใช้อัตรา Call Originate ของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม สำหรับการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส กับโครงข่ายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของ บมจ.กสท โทรคมนาคม (Mobile-International)
2)  ในส่วนการกำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมสำหรับการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส กับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บมจ.กสท โทรคมนาคม เห็นสมควรใช้อัตราอ้างอิงตามคำสั่ง กทช.ที่ 11/2553 (Reference Rate)

ประเด็นที่ 3 : เริ่มต้นการคิดค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมตั้งแต่เมื่อใด

มติที่ประชุม                     
1) ที่ประชุมเสียงข้างมาก (กทช.สุธรรมฯ, กทช.สุรนันท์ฯ, กทช.บัณฑูรฯ, กทช.พนาฯ, และ กทช.พันเอกนทีฯ) รับทราบและเห็นชอบผลการพิจารณาตามความเห็นของ กทช.สุธรรมฯ และ กทช.พนาฯ ที่ได้รับมอบอำนาจจากที่ประชุม กทช.ตามมติ กทช.ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ซึ่งพิจารณาแล้วมีความเห็นสรุปได้ว่ากทช.สุธรรมฯ : วันที่คู่กรณีมีสิทธิเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมขอยืนยันตามความเห็นเดิมที่ให้ไว้ในคดีข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่าง บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ผู้ร้อง กับ บมจ.กสท โทรคมนาคม ผู้ถูกร้องว่าการกำหนดวันที่คู่กรณีมีสิทธิเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างกัน เมื่อคู่กรณีมีการเชื่อมต่อทางกายภาพกันอยู่แล้ว ก็ให้ใช้วันที่ประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549 มีผลใช้บังคับ เนื่องจากเป็นวันที่เจ้าของโครงข่ายโทรคมนาคมถูกจำกัดสิทธิในทรัพย์สิน (ตามความเห็นแย้งของ กทช.สุธรรมฯ ในการประชุม กทช.ครั้งที่ 3/2553 วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553) กทช.พนาฯ : มีความเห็นพ้องกับความเห็นของ กทช.สุธรรมฯ ในคำชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่ 1/2553 ว่าควรกำหนดให้มีสิทธิเรียกเก็บตั้งแต่วันที่ประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549 มีผลใช้บังคับ เนื่องจากเป็นวันที่เจ้าของโครงข่ายโทรคมนาคมถูกจำกัดสิทธิในทรัพย์สิน
2) ที่ประชุมเสียงข้างน้อย (ประธาน กทช.และ กทช.สุชาติฯ) เห็นชอบให้ยืนยันตามมติ กทช. ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 โดยให้กำหนดวันที่คู่กรณีแต่ละฝ่ายจะมีสิทธิเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างกัน  โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่คู่กรณีได้รับทราบคำชี้ขาดข้อพิพาทของ กทช.  ทั้งนี้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เนื่องจาก ประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549 กำหนดให้การแบ่งค่าบริการสำหรับกรณีที่มีการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมให้เป็นไปตามที่คู่กรณีแต่ละฝ่ายเจรจาตกลงกัน อย่างไรก็ดี เมื่อคู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันในเรื่องอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมได้จนเวลาล่วงเลยมา ประกอบกับ การออกคำสั่ง กทช. ที่ 11/2553 เรื่อง ให้ใช้อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นอัตราอ้างอิง ลงวันที่ 20 เมษายน 2553 เพื่อกำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมมาตรฐาน (Reference Rate) เป็นการชั่วคราว มีกำหนดระยะเวลาบังคับใช้ 1 ปี นั้น มีความล่าช้ามาก ดังนั้น การกำหนดให้วันที่คู่กรณีมีสิทธิเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมย้อนไปจนถึงวันที่ประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549 มีผลใช้บังคับ จึงไม่เป็นธรรมกับคู่กรณีทั้งสองฝ่าย

ประเด็นที่ 4  :  การกำหนดมาตรการบังคับตามคำชี้ขาด

มติที่ประชุม              
1) รับทราบและเห็นชอบผลการพิจารณาตามความเห็นของ กทช.สุธรรมฯ ที่ได้รับมอบอำนาจจากที่ประชุม กทช.ตามมติ กทช.ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ซึ่งพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า สมควรกำหนดให้คู่กรณีเข้าเจรจาภายใน 7 วันนับแต่วันที่ทราบคำชี้ขาด และให้เข้าทำสัญญาภายใน 90 วันนับแต่วันที่เริ่มเจรจา หากคู่กรณีมิได้เข้าเจรจาหรือเข้าทำสัญญาภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าสัญญาเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเกิดขึ้น โดยใช้อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมตามที่ กทช. ได้ชี้ขาด
2) ที่ประชุมเสียงข้างมาก (กทช.สุธรรมฯ, กทช.สุรนันท์ฯ, กทช.บัณฑูรฯ, กทช.พนาฯ, และ กทช.พันเอกนทีฯ) รับทราบและเห็นชอบผลการพิจารณาตามความเห็นของ กทช.สุธรรมฯ ในการกำหนดมาตรการบังคับตามคำชี้ขาด ซึ่งพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า ให้คู่กรณีมีสิทธิเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายนับแต่วันที่ประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 มีผลใช้บังคับ โดยการทำคำชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมในลักษณะดังกล่าว ไม่ถือเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่มีผลย้อนหลัง หากแต่เป็นคำสั่งซึ่งรับรองสิทธิของผู้มีโครงข่ายโทรคมนาคมอันมีอยู่แล้วตามกฎหมายที่จะสามารถได้รับค่าตอบแทนการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม เมื่อมีผู้มาใช้หรือเชื่อมต่อกับโครงข่ายโทรคมนาคมของตน
3) ที่ประชุมเสียงข้างน้อย (ประธาน กทช.และ กทช.สุชาติฯ) เห็นชอบให้ยืนยันตามมติ กทช. ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 โดยให้กำหนดวันที่คู่กรณีแต่ละฝ่ายจะมีสิทธิเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างกัน  โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่คู่กรณีได้รับทราบคำชี้ขาดข้อพิพาทของ กทช.  ทั้งนี้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

ระเบียบวาระที่   4.4   :   คำชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)  : กทช.พนาฯ, รทช.ฐากรฯ, กม.

ประเด็นที่ 1 :  บมจ.กสท โทรคมนาคม มีสิทธินำข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมกับ บมจ. ทีโอที เสนอให้ กทช. วินิจฉัยชี้ขาดตามหลักเกณฑ์ และวิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 หรือไม่

มติที่ประชุม                รับทราบและเห็นชอบผลการพิจารณาตามความเห็นของ กทช.พนาฯ ที่ได้รับมอบอำนาจจากที่ประชุม กทช.ตามมติ กทช.ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ซึ่งพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า บมจ. กสท โทรคมนาคม มีสิทธินำข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างตนกับ บมจ. ทีโอที เข้าสู่การพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดของ กทช. ได้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดไว้ในประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 เพราะแม้ บมจ กสท โทรคมนาคม และ บมจ ทีโอที จะมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจตาม พ.ร.บ. วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2502 ก็ตาม แต่ทั้ง บมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ.ทีโอที ต่างเป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม

ประเด็นที่  2    :  บมจ. ทีโอที สามารถยกเหตุที่มีการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมทางกายภาพกับ บมจ. กสท โทรคมนาคม ไว้แต่เดิมตามข้อตกลงเรื่องการเชื่อมโยงโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และเรื่องการแบ่งรายได้ค่าโทรศัพท์ระหว่างประเทศ เพื่อปฏิเสธการเข้าทำสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมกับ บมจ. กสท โทรคมนาคม ในโครงข่ายโทรศัพท์ระหว่างประเทศ โครงข่ายโทรศัพท์ CDMA ส่วนกลาง และโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ CDMA ส่วนภูมิภาค ได้หรือไม่ เพียงใด

มติที่ประชุม             รับทราบและเห็นชอบผลการพิจารณาตามความเห็นของ กทช.พนาฯ ที่ได้รับมอบอำนาจจากที่ประชุม กทช.ตามมติ กทช.ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ซึ่งพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า บมจ. ทีโอที ไม่สามารถยกเหตุที่มีการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมทางกายภาพกับ บมจ. กสท โทรคมนาคม ตามข้อตกลงเรื่องการเชื่อมโยงโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่และเรื่องการแบ่งรายได้ค่าโทรศัพท์ระหว่างประเทศ เพื่อปฏิเสธการเข้าทำสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมกับ บมจ. กสท โทรคมนาคม ในโครงข่ายโทรศัพท์ระหว่างประเทศ โครงข่ายโทรศัพท์ CDMA ส่วนกลาง และโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ CDMA ส่วนภูมิภาคได้ เนื่องจากมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายโทรคมนาคมมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายอื่นเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กทช. ประกาศกำหนด และมิได้กำหนดให้การเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมทางกายภาพภายใต้ข้อตกลงอื่น เป็นเหตุในการปฏิเสธไม่ให้เชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ดังนั้น บมจ. ทีโอที จึงไม่สามารถหยิบยกเหตุดังกล่าวมาปฏิเสธการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมอันอยู่ภายใต้ระบบการกำกับดูแลโดย กทช.ได้

ประเด็นที่ 3 :  อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมของ บมจ กสท โทรคมนาคม และ บมจ. ทีโอที ควรเป็นเท่าใด

มติที่ประชุม           
1.  รับทราบและเห็นชอบผลการพิจารณาตามความเห็นของ กทช.สุธรรมฯ และ กทช.พนาฯ ที่ได้รับมอบอำนาจจากที่ประชุม กทช.ตามมติ กทช.ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ซึ่งพิจารณาแล้วมีความเห็นดังนี้
กทช.สุธรรมฯ :  การกำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมนั้น เมื่อ กทช. ได้มีคำสั่งที่ 11/2553 เรื่องให้ใช้อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นอัตราอ้างอิง และได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 โดยกำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมมาตรฐาน (Reference Rate) เป็นการชั่วคราว มีกำหนดระยะเวลาบังคับใช้ 1 ปี ดังนั้น เมื่อ กทช.ทำคำชี้ขาดเกี่ยวกับอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ก็สมควรใช้อัตราที่ได้ประกาศไว้ แม้จะมีความแตกต่างกันระหว่างค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่กับค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ก็ตาม กทช.พนาฯ : 
1) เห็นด้วยตามที่ สำนักงาน กทช.เสนอ ให้ใช้อัตรา Call Originate ของโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่ เป็นอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม สำหรับการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่ของ บมจ.ทีโอที กับโครงข่ายโทรศัพท์ระหว่างประเทศของ บมจ.กสท โทรคมนาคม (Fixed-International)
2)  ในส่วนการกำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมสำหรับการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่ของ บมจ.ทีโอที กับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บมจ.กสท โทรคมนาคม เห็นสมควรใช้อัตราอ้างอิงตามคำสั่ง กทช.ที่ 11/2553 (Reference Rate) แต่เนื่องจากจะมีอัตราที่แตกต่างกัน จึงเห็นสมควรมอบหมายให้ สชท. ดำเนินการวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย พร้อมข้อเสนอแนะเพื่อประกอบการพิจารณาของ กทช.ว่าควรจะกำหนดให้เป็น Asymmetric Rate หรือ Symmetric Rate
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อสังเกตของที่ประชุม (กทช.สุรนันท์ฯ) ไปพิจารณาศึกษาเพื่อทบทวนการกำหนดอัตรามาตรฐานอ้างอิง (Reference Rate) ค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมสำหรับบริการโทรศัพท์ประจำที่ ซึ่งเห็นว่าเป็นอัตราที่ค่อนข้างต่ำเกินไป อาจจะส่งผลต่อการแข่งขันให้เกิดความไม่เท่าเทียมกันได้ แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช.พิจารณาต่อไป

ประเด็นที่ 4 : การกำหนดวันที่คู่กรณีจะมีสิทธิเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมจากคู่กรณีอีกฝ่ายหนึ่ง ควรกำหนดเป็นวันใด

มติที่ประชุม            
1) ที่ประชุมเสียงข้างมาก (กทช.สุธรรมฯ, กทช.สุรนันท์ฯ, กทช.บัณฑูรฯ, กทช.พนาฯ, และ กทช.พันเอกนทีฯ) รับทราบและเห็นชอบผลการพิจารณาตามความเห็นของ กทช.สุธรรมฯ และ กทช.พนาฯ ที่ได้รับมอบอำนาจจากที่ประชุม กทช.ตามมติ กทช.ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ซึ่งพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า
กทช.สุธรรมฯ : วันที่คู่กรณีมีสิทธิเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ขอยืนยันตามความเห็นเดิมที่ให้ไว้ในคดีข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ระหว่าง  บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ผู้ร้อง กับ บมจ.กสท โทรคมนาคม ผู้ถูกร้องว่าการกำหนดวันที่คู่กรณีมีสิทธิเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างกัน เมื่อคู่กรณีมีการเชื่อมต่อทางกายภาพกันอยู่แล้ว ก็ให้ใช้วันที่ประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549 มีผลใช้บังคับ เนื่องจากเป็นวันที่เจ้าของโครงข่ายโทรคมนาคมถูกจำกัดสิทธิในทรัพย์สิน (ตามความเห็นแย้งของ กทช.สุธรรมฯ ในการประชุม กทช.ครั้งที่ 3/2553 วันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553)
กทช.พนาฯ : มีความเห็นพ้องกับความเห็นของ กทช.สุธรรมฯ ในคำชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่ 1/2553 ว่าควรกำหนดให้มีสิทธิเรียกเก็บตั้งแต่วันที่ประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549 มีผลใช้บังคับ เนื่องจากเป็นวันที่เจ้าของโครงข่ายโทรคมนาคมถูกจำกัดสิทธิในทรัพย์สิน
2) ที่ประชุมเสียงข้างน้อย (ประธาน กทช.และ กทช.สุชาติฯ) เห็นชอบให้ยืนยันตามมติ กทช. ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 โดยให้กำหนดวันที่คู่กรณีแต่ละฝ่ายจะมีสิทธิเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างกัน  โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่คู่กรณีได้รับทราบคำชี้ขาดข้อพิพาทของ กทช.  ทั้งนี้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เนื่องจาก ประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549 กำหนดให้การแบ่งค่าบริการสำหรับกรณีที่มีการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมให้เป็นไปตามที่คู่กรณีแต่ละฝ่ายเจรจาตกลงกัน อย่างไรก็ดี เมื่อคู่กรณีทั้งสองฝ่ายไม่สามารถตกลงกันในเรื่องอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมได้จนเวลาล่วงเลยมา ประกอบกับ การออกคำสั่ง กทช. ที่ 11/2553 เรื่อง ให้ใช้อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นอัตราอ้างอิง ลงวันที่ 20 เมษายน 2553 เพื่อกำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมมาตรฐาน (Reference Rate) เป็นการชั่วคราว มีกำหนดระยะเวลาบังคับใช้ 1 ปี นั้น มีความล่าช้ามาก ดังนั้น การกำหนดให้วันที่คู่กรณีมีสิทธิเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมย้อนไปจนถึงวันที่ประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549 มีผลใช้บังคับ จึงไม่เป็นธรรมกับคู่กรณีทั้งสองฝ่าย

ประเด็นที่ 5 :   มาตรการบังคับให้เป็นไปตามคำชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมควรกำหนดอย่างไร

มติที่ประชุม            
1) รับทราบและเห็นชอบผลการพิจารณาตามความเห็นของ กทช.สุธรรมฯ ที่ได้รับมอบอำนาจจากที่ประชุม กทช.ตามมติ กทช.ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ซึ่งพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า สมควรกำหนดให้คู่กรณีเข้าเจรจาภายใน 7 วันนับแต่วันที่ทราบคำชี้ขาด และให้เข้าทำสัญญาภายใน 90 วันนับแต่วันที่เริ่มเจรจา หากคู่กรณีมิได้เข้าเจรจาหรือเข้าทำสัญญาภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่าสัญญาเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเกิดขึ้น โดยใช้อัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมตามที่ กทช. ได้ชี้ขาด
2) ที่ประชุมเสียงข้างมาก (กทช.สุธรรมฯ, กทช.สุรนันท์ฯ, กทช.บัณฑูรฯ, กทช.พนาฯ, และ กทช.พันเอกนทีฯ) รับทราบและเห็นชอบผลการพิจารณาตามความเห็นของ กทช.สุธรรมฯ ในการกำหนดมาตรการบังคับตามคำชี้ขาด ซึ่งพิจารณาแล้วมีความเห็นว่า ให้คู่กรณีมีสิทธิเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายนับแต่วันที่ประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 มีผลใช้บังคับ โดยการทำคำชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมในลักษณะดังกล่าว ไม่ถือเป็นการออกคำสั่งทางปกครองที่มีผลย้อนหลัง หากแต่เป็นคำสั่งซึ่งรับรองสิทธิของผู้มีโครงข่ายโทรคมนาคมอันมีอยู่แล้วตามกฎหมายที่จะสามารถได้รับค่าตอบแทนการใช้หรือเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม เมื่อมีผู้มาใช้หรือเชื่อมต่อกับโครงข่ายโทรคมนาคมของตน
3) ที่ประชุมเสียงข้างน้อย (ประธาน กทช.และ กทช.สุชาติฯ) เห็นชอบให้ยืนยันตามมติ กทช. ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 โดยให้กำหนดวันที่คู่กรณีแต่ละฝ่ายจะมีสิทธิเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างกัน  โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่คู่กรณีได้รับทราบคำชี้ขาดข้อพิพาทของ กทช.  ทั้งนี้ เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง

หมายเหตุ                 พิจารณาพร้อมกับวาระที่ 4.3 
  
ระเบียบวาระที่   4.5   :   คำร้องคัดค้านขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัย ข้อพิพาทที่ 5/2551 ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) : กทช. พนาฯ, สชท.

มติที่ประชุม              เห็นชอบให้ยืนตามคำวินิจฉัยของ กวพ. ที่ 5/2551 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2553  ระหว่าง บมจ. กสท โทรคมนาคม กับ บมจ. ทีโอที เนื่องจากพิจารณาเห็นว่า ข้ออ้างของ บมจ. ทีโอที ไม่เพียงพอที่จะเพิกถอนคำวินิจฉัยของ กวพ. ได้ ทั้งนี้ โดยมอบหมายให้สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายฯ แจ้งมติที่ประชุมให้คู่กรณีทราบต่อไป ตามความเห็นของ กทช. พนาฯ ดังนี้
1.  คำวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท (กวพ.) อยู่ในขอบเขตของคำขอ เนื่องจากประเด็นข้อพิพาทระหว่าง บมจ. กสท โทรคมนาคม และ บมจ. ทีโอที เป็นเรื่องอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่าย ดังนั้น กวพ. จึงมีอำนาจพิจารณากำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายฯ
2.  การรับข้อพิพาทไว้พิจารณาของ กวพ. ถูกต้องตามประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายฯ แล้ว เนื่องจาก มาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 กำหนดให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายฯ มีหน้าที่และความรับผิดชอบในการให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายอื่นเชื่อมต่อโครงข่ายฯ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่ กทช. ประกาศกำหนด ในกรณีที่คู่กรณีไม่สามารถตกลงกันได้ในการเจรจาเชื่อมต่อโครงข่ายฯ หรือเกิดเหตุปฏิเสธการเชื่อมต่อฯ ก็ให้ถือว่ามีข้อพิพาทเกิดขึ้น และคู่กรณีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถนำข้อพิพาทดังกล่าวเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทได้ ทั้งนี้ ทั้ง บมจ. กสท โทรคมนาคม และ บมจ. ทีโอที ต่างก็เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม นอกจากนี้ กฎหมายมิได้กำหนดให้การเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมทางกายภาพภายใต้ข้อตกลงอื่น เป็นเหตุในการปฏิเสธไม่ให้มีการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ดังนั้น คู่กรณีจึงมีหน้าที่ในการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ภายใต้ระบบการกำกับดูแลของ กทช.
3.  คำวินิจฉัยของ กวพ. เป็นคำวินิจฉัยเกี่ยวกับข้อพิพาทที่สามารถระงับได้ตามกฎหมาย เนื่องจาก บมจ. กสท โทรคมนาคม และ บมจ. ทีโอที ต่างก็เป็นผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม ตามมาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ดังนั้น บริษัทฯ จึงมีหน้าที่และความรับผิดชอบในการให้ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมรายอื่นเชื่อมต่อโครงข่ายฯ
4.  การยอมรับหรือบังคับตามคำวินิจฉัยของ กวพ. ไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน เนื่องจาก
1) มิได้เป็นการพิจารณาเกินคำขอ และ
2) การคำนวณอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายฯ ของ กวพ. เป็นวิธีการคำนวณอัตราที่เป็นธรรมและสะท้อนต้นทุนและชอบด้วยกฎหมายแล้ว 

ระเบียบวาระที่   5.6   :   การตั้งสำนักกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  : กทช.พนาฯ, กส.

มติที่ประชุม               เห็นชอบการจัดโครงสร้างสำนักกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์  ตามที่ กทช.พนาฯ เสนอ และขอให้ กทช.สุรนันท์ฯ และ กทช.พันเอกนทีฯ เข้าร่วมดำเนินการในเรื่องนี้เป็นหลักด้วย โดยการจัดตั้งในช่วงเริ่มต้นจะประกอบด้วย 8 กลุ่มงาน ได้แก่  
1) กลุ่มงานเลขานุการคณะอนุกรรมการ  
2) กลุ่มงานวิศวกรรมและเทคโนโลยี  
3) กลุ่มงานวิเคราะห์นโยบายและแผนงาน  
4) กลุ่มงานกฎหมาย  
5) กลุ่มงานการกำกับมาตรฐานเนื้อหา  
6) กลุ่มงานด้านส่งเสริมความรู้และการวิจัย  
7)  กลุ่มงานกิจการพิเศษ  และ
8) กลุ่มงานบริหารทั่วไปของ กส.   ทั้งนี้ โดยให้รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมเพื่อประกอบการพิจารณาดำเนินการในเรื่องนี้ให้เหมาะสมต่อไป อาทิ 
1.  เรื่องงบประมาณควรจัดทำบัญชีแยกต่างหาก เพื่อให้เกิดความชัดเจนเนื่องจากเป็นภารกิจเฉพาะชั่วคราว 
2.  ควรพิจารณากำหนดอัตรากำลังและกำหนดสถานะของความเป็นพนักงานให้มีสถานะเช่นเดียวกับพนักงาน สำนักงาน กทช. รวมทั้ง การกำหนด KPI และ Job Description ให้ชัดเจน
3.  เนื่องจากภารกิจด้านออกใบอนุญาตอาจจะมีปริมาณงานเพิ่มมากขึ้น จึงควรพิจารณาตั้งกลุ่มงานเฉพาะด้านการออกใบอนุญาตแยกออกมา
   
ระเบียบวาระที่   4.7     :   การแต่งตั้งคณะกรรมการประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่แนวคิดและกิจกรรม การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT   ย่าน 2.1 GHz หรือ 3G : กทช.พนาฯ

มติที่ประชุม                อนุมัติการแต่งตั้งคณะกรรมการประชาสัมพันธ์เพื่อเผยแพร่แนวคิด และกิจกรรมการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ IMT   ย่าน 2.1 GHz หรือ 3G โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ตามที่ กทช.พนาฯเสนอ ทั้งนี้ ให้กรรมการที่เป็นบุคคลภายนอก ได้รับค่าตอบแทนเบี้ยประชุมตามระเบียบ กทช.ว่าด้วยวิธีการประชุมของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และ ค่าตอบแทน พ.ศ.2551

ระเบียบวาระที่   4.8    :   ขอเสนอรายชื่อบุคคลเป็นคณะกรรมการมาตรฐาน กทช. : กทช.สุรนันท์ฯ,   กทช.บัณฑูรฯ

มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบการแต่งตั้งคณะกรรมการมาตรฐาน กทช. ชุดใหม่ โดยให้มีระยะ เวลาการปฏิบัติหน้าที่ 1 ปี  และมีองค์ประกอบตามที่ กทช.เสนอดังนี้
1.  รศ.ดร.ณรงค์      อยู่ถนอม       ประธานกรรมการ
2.  รศ.ดร.บวร         ปภัสราทร      กรรมการ
3.  รศ.ดร.เอกชัย     แสงอินทร์      กรรมการ
4.  รศ.ดร.อภิรัฐ       ศิริธราธิวัตร    กรรมการ
5.  ผศ.ดร. สุภาวดี    อร่ามวิทย์      กรรมการ
6.  ดร.จิตรเกษม      งามนิล          กรรมการ
7.  ผศ.ดร.พสุ         แก้วปลั่ง        กรรมการ
8.  นายสุชัย           รอยวิรัตน์       กรรมการ 
9.  ผู้แทนจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กรรมการ
10.ผู้แทนจากวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย กรรมการ
11.อวท.  กรรมการ และเลขานุการ
12.ผู้แทน วท.     ผู้ช่วยเลขานุการ
                   
            ทั้งนี้ โดยให้คณะกรรมการฯ ได้รับค่าตอบแทนตามระเบียบ กทช.ว่าด้วยวิธีการประชุมของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการและค่าตอบแทน พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ข้อ 18(ข) ในอัตราครั้งละ 8,000 บาท
2.  มอบหมายให้  สำนักงาน กทช. จัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการฯ เสนอ   ประธาน กทช.ลงนามต่อไป 
    
ระเบียบวาระที่    4.9    :   การใช้มาตรการทางกฎหมายกับบริษัท ทรู มูฟ จำกัด กรณีไม่ปฏิบัติตาม คำชี้ขาดการไต่สวนข้อเท็จจริงที่ 1/2553 ลงวันที่ 2 เมษายน 2553 : รทช.ฐากรฯ, กม.

มติที่ประชุม              มอบหมายให้ สำนักงาน กทช.ส่งเรื่องการใช้มาตรการทางกฎหมายกับบริษัท ทรู มูฟ จำกัด กรณีไม่ปฏิบัติตามคำชี้ขาดการไต่สวนข้อเท็จจริงที่   1/2553 ลงวันที่ 2 เมษายน 2553 ให้คณะกรรมการกำหนดค่าปรับทางปกครองฯ ที่มี รทช.ประเสริฐฯ เป็นประธาน พิจารณามาตรการเปรียบเทียบปรับ ตามความเห็น กทช.สุธรรมฯ ที่เห็นควรให้ใช้มาตรการบังคับทางปกครองที่เหมาะสม แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

ระเบียบวาระที่   4.10   :   รายงานผลการพิจารณา ร่างสัญญาอันเกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่   บริษัท  ดีแทค  เนทเวอร์ค จำกัด   ทำกับรัฐบาลต่างประเทศ   องค์การระหว่างประเทศหรือบุคคลที่อยู่ในต่างประเทศ : รทช.ฐากรฯ, กม.

มติที่ประชุม                รับทราบผลการพิจารณาร่างสัญญาอันเกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด ทำกับรัฐบาลต่างประเทศ   องค์การระหว่างประเทศหรือบุคคลที่อยู่ในต่างประเทศ จำนวน 2 ฉบับ ซึ่ง กทช.สุธรรมฯ ได้พิจารณาแล้ว ทั้งนี้ตามมติที่ประชุม กทช.ครั้งที่ 6/2552  เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 ดังนี้
1.  ร่างสัญญาแม่บทบริการโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ระหว่างบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด กับ บริษัท เทเลคอม นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ เอกชน จำกัด ประเทศสิงคโปร์   กทช.สุธรรมฯ เห็นว่าไม่สามารถให้ความเห็นชอบย้อนหลังได้ เนื่องจากไม่ได้รับมอบอำนาจจาก กทช. ไว้แต่เดิม และข้อ 12 ของสัญญานั้นขัดกับกฎหมายไทยไม่สามารถอนุญาตได้
2.  ร่างสัญญาแม่บทบริการโทรคมนาคมระหว่างประเทศ ระหว่างบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด กับ บริษัท เอ็ม 1 ลิมิเต็ด ประเทศสิงคโปร์ ความเห็น กทช.สุธรรมฯ ข้อ 16.1 ไม่สอดคล้องกับหลักกฎหมายไทยและ กทช.ก็มีมติหลายครั้งแล้วว่าไม่สามารถให้ความยินยอมใช้บังคับกฎหมายต่างประเทศในกิจการที่กฎหมายไทยใช้บังคับ

ระเบียบวาระที่   4.11   :   ขอคัดค้านการพิจารณาทางปกครองในการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ การจัดทำร่างประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้ความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz  :  รทช.ฐากรฯ, กม. 

มติที่ประชุม                เนื่องจากผู้คัดค้าน (ว่าที่ร้อยตรีภาดร ผลาพิบูลย์  นายพรชัย มีมาก  และ นายธรรมนูญ จุลมณีโชติ) ได้ยื่นหนังสือแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมภายหลังจากกำหนดระยะเวลาในการแสดงความเห็น (28 มิถุนายน 2553) และภายหลังจากที่ กทช.ได้พิจารณารายงานการดำเนินการ ผลสรุป และข้อวิเคราะห์แนวทางการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะแล้ว ที่ประชุมจึงมติ มอบหมายให้ สำนักงาน กทช.ไปดำเนินการตามความเห็นของ กทช.พันเอกนทีฯ โดยให้มีหนังสือแจ้งตอบผู้คัดค้าน โดยมีประเด็นสำคัญว่า กทช. มีอำนาจโดยชอบด้วยกฎหมายในการจัดทำร่างประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz และร่างสรุปข้อสนเทศการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน ๒.๑ GHz ตามข้อเสนอของสำนักงาน กทช. และเพื่อความรอบคอบขอให้ สำนักงาน กทช.ไปตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมกรณีผู้คัดค้านไม่แสดงความคิดเห็นดังกล่าวในการประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ แต่กลับยื่นหนังสือมาภายหลัง เพื่อประกอบการดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย  
 
ระเบียบวาระที่    4.12    :   การขอทบทวนข้อหารือการปฏิบัติตามประกาศ กทช. เรื่องมาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549  : รทช.ฐากรฯ, กม.
 
มติที่ประชุม            
1.  ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่า มติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 11/2553 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2553 เป็นการให้ความเห็นภายใต้บทบัญญัติของกฎหมาย อันได้แก่ พระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 มาตรา 51 และประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานของสัญญาให้บริการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549  การที่บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)  ขอทบทวนมติ กทช. ต่อการตอบข้อหารือการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าว  จึงยังฟังไม่ขึ้นในลำดับนี้  และยังไม่มีเหตุอันอาจทำให้ผลการพิจารณาตอบข้อหารือเปลี่ยนแปลงไป  ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติมอบหมายให้สำนักงาน กทช. แจ้งยืนยันความเห็นไปยัง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)  และกำกับดูแลให้เป็นไปตามกฎหมายโดยเคร่งครัดต่อไป ตามความเห็นกรรมการกลั่นกรอง  (กทช.สุธรรมฯ)  ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ 
2.  มอบหมายให้สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม รับข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ของผู้บริโภคในลักษณะนี้ให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบด้วย ทั้งนี้ โดยให้หารือ กทช.สุธรรมฯ ถึงความเหมาะสมของถ้อยคำอีกครั้งหนึ่งก่อนดำเนินการ

ระเบียบวาระที่    4.13   :    บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)  ขอให้ กทช. ทบทวนการกำหนดมาตรการบังคับทางปกครอง  : รทช.ฐากรฯ, กม. 

มติที่ประชุม              
1.  โดยที่คำสั่งให้เข้าทำสัญญาเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ตามคำชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่ 4/2551 ลงวันที่ 26 ธันวาคม 2551 ได้ผ่านมาเป็นระยะเวลานานแล้ว การปล่อยให้สัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเกิดขึ้นไปพลางก่อนย่อมไม่สมเจตนารมณ์ของ กทช.อีกต่อไป ดังนั้น กทช.ในฐานะผู้ออกคำสั่งทางปกครองเป็นคำชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่  4/2551 จึงใช้อำนาจตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 มอบอำนาจให้ ลทช.ออกมาตรการบังคับทางปกครองแทน กทช.ตามมติที่ประชุม กทช.ครั้งที่ 2/2553 โดย ลทช.ได้ออกคำบังคับเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 ให้ บมจ.ทีโอที เข้าทำสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ภายใน 15 วัน  นับแต่วันที่ได้รับหนังสือแจ้งเตือน พร้อมระบุมาตรการบังคับในกรณีที่ บมจ.ทีโอที ยังคงฝ่าฝืนไม่ดำเนินการ  โดยกำหนดให้ชำระค่าปรับทางปกครอง ในอัตราวันละ 20,000 บาท จนกว่าจะดำเนินเจรจาเข้าทำสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม กับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น เสร็จสิ้น อย่างไรก็ดี กำหนดเวลาดังกล่าวได้ล่วงเลยมาแล้ว ก็ยังไม่ปรากฏว่าได้มีการเข้าทำสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม อีกทั้งปรากฏข้อเท็จจริงจากคู่กรณีทั้งสองฝ่ายว่า ได้มีการประชุมร่วมกันเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2553 แต่หลังจากการประชุมดังกล่าว บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ได้แจ้งมายัง กทช.ว่า บมจ.ทีโอที ก็ยังไม่เข้าทำสัญญา ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่แสดงให้เห็นว่า บมจ.ทีโอที จงใจประวิงการปฏิบัติตามคำชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม
2.  ดังนั้น กรณีข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่าง บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น และ บมจ.ทีโอที จากข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้น จึงทำให้เห็นว่า มาตรการบังคับเดิมอาจไม่สัมฤทธิผลเท่าที่ควร กทช.จึงมีมติในการประชุมครั้งที่ 8/2553 กำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมมาตรฐาน (Reference Rate) เป็นการชั่วคราว  และ   มอบหมายให้ สำนักงาน กทช.มีหนังสือแจ้ง บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น และ บมจ.ทีโอที เข้าเจรจาเพื่อทำสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมกัน ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่เริ่มต้นเจรจา หากไม่สามารถเจรจาให้แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาดังกล่าว ให้ถือว่า บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น และ บมจ.ทีโอที เข้าสู่ระบบการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมตามประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549  โดยข้อเสนอการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมของแต่ละคู่กรณีเป็นเงื่อนไขการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม และอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมให้เป็นไปตามอัตรา Reference Rate ที่ กทช.กำหนด
3.  ในการนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาและวินิจฉัยแล้ว โดยที่หนังสือที่เลขาธิการกำหนดมาตรการบังคับทางปกครองไว้เดิม ถือเป็นส่วนหนึ่งของการบังคับทางปกครอง ดังนั้น จึงมีมติกำหนดมาตรการบังคับทางปกครอง โดยให้ปรับในอัตราวันละ 20,000 บาท  ตามที่เลขาธิการได้มีหนังสือออกคำบังคับแจ้งเตือนเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 ต่อไปโดยด่วน และให้เข้าเจรจาเพื่อทำสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมกัน  ให้แล้วเสร็จภายใน 7 วัน และหากพ้นระยะเวลาที่กำหนดให้มีการประเมิน เพื่อดำเนินการปรับ บมจ.ทีโอที ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง กับ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ต่อไป ทั้งนี้ สำหรับคำสั่ง ลทช. ลงวันที่ 9 เมษายน 2553 ตามมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ถือเป็นคำสั่งเพิ่มเติมจากคำสั่งเดิมเพื่อมุ่งให้เกิดผลในทางปฏิบัติเพื่อให้เกิดสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างกันโดยเร็ว ตามความเห็นกรรมการกลั่นกรอง (กทช.สุธรรมฯ) 
           
ระเบียบวาระที่   4.14   :   การแต่งตั้งผู้แทน กทช. เป็นอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชน : รทช.ฐากรฯ 

มติที่ประชุม               ที่ประชุมพิจารณาเห็นว่าโดยที่ กทช. เป็นองค์กรอิสระในฝ่ายบริหาร ดังนั้นการดำเนินการใดที่จะเป็นประโยชน์กับการบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาลจึงควรสนับสนุนและให้ความร่วมมือ อย่างไรก็ดี เนื่องจากขณะนี้ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ (ฉบับใหม่) ยังไม่มีผลใช้บังคับ จึงยังไม่มีการแต่งตั้ง กสทช. เกิดขึ้น ในการนี้ที่ประชุมจึงมีมติให้ส่งผู้แทนในระดับผู้อำนวยการสำนักของสำนักงาน กทช. เป็นผู้สังเกตการณ์และให้ข้อมูลในส่วนที่เกี่ยวข้องแก่คณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์และการมีส่วนร่วมของประชาชนในคณะกรรมการบริหารระบบการเตือนภัยพิบัติแห่งชาติ แทนการส่งผู้แทนเข้าร่วมเป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการดังกล่าว ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงาน กทช.มีหนังสือแจ้งศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ สำนักงานปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศฯ ต่อไป 
 
ระเบียบวาระที่   4.15   :   การขออนุมัติเงินค่าตอบแทนประจำปี 2552 : รทช.ประเสริฐฯ , บค.

มติที่ประชุม               เห็นชอบการจ่ายเงินค่าตอบแทนประจำปี 2552 ของสำนักงาน กทช. ตามที่ สำนักงาน กทช.เสนอ ตามความเห็นเสียงข้างมากของ กทช.ชุดเดิม (ประธาน กทช.  และ กทช.สุชาติฯ) โดยมอบหมายให้ สำนักงาน กทช.ไปดำเนินการให้เรียบร้อยต่อไป
   
ระเบียบวาระที่   4.16   :  ขออนุมัติดำเนินการโครงการปรับปรุงกิจการตรวจสอบการใช้ความถี่วิทยุ เฟสที่ 3 (จัดหาสถานีตรวจสอบการใช้ความถี่วิทยุระบบควบคุมระยะไกล) : รทช.ทศพรฯ, ตว. 

มติที่ประชุม            
1.  อนุมัติโครงการปรับปรุงกิจการตรวจสอบการใช้ความถี่วิทยุ เฟสที่ 3 (จัดหาสถานีตรวจสอบการใช้ความถี่วิทยุระบบควบคุมระยะไกล) ตามที่ สำนักงาน กทช.เสนอ โดยมอบหมายให้ สำนักงาน กทช. เร่งดำเนินการโครงการดังกล่าวให้เป็นไปตามระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถใช้งบประมาณในปี 2553 ตามที่ได้รับจัดสรรไว้แล้วได้ทัน ทั้งนี้ โดยขอให้ กทช.บัณฑูรฯ เป็นผู้กำกับดูแลการดำเนินงานตามโครงการนี้ด้วยต่อไป
2.  มอบหมายให้ สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการต่อไปในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่างๆ ที่สำคัญได้แก่
2.1  ในการจัดซื้อจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ตรวจสอบการใช้ความถี่วิทยุนั้น ให้พิจารณากำหนด TOR โดยเน้นความเหมาะสมด้านเทคนิคเป็นสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ควรต้องคำนึงถึงความสามารถในการใช้งานร่วมกันกับเครื่องมืออุปกรณ์ที่มีอยู่เดิม สามารถ Interface กันได้ ในลักษณะที่เป็น Universal Application Use รวมทั้งระบบฐานข้อมูล และ Software ที่ใช้งานอยู่ ตลอดจนควรต้องเปรียบเทียบรายละเอียดของอุปกรณ์ส่วนควบต่างๆ เช่น อะไหล่ และค่าบำรุงรักษาซ่อมแซม เพื่อประกอบการพิจารณาให้รอบคอบยิ่งขึ้น   
2.2  ภายหลังจากจัดซื้อจัดหาเครื่องมืออุปกรณ์ตรวจสอบการใช้ความถี่วิทยุแล้ว ควรจัดให้มีการฝึกอบรมให้กับสถานีตรวจสอบการใช้ความถี่วิทยุ (สว.)  ให้มีความรู้ความเข้าใจในการใช้เครื่องมืออุปกรณ์รุ่นใหม่ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
2.3  ในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงโดยจะมี กสทช.เกิดขึ้น ดังนั้นจึงควรต้องพิจารณาเตรียมการจัดทำโครงการในลักษณะเดิมกันนี้ (Second Project) เพื่อรองรับภารกิจด้านกระจายเสียงให้พร้อมไว้  รวมทั้งพิจารณาจัดเตรียมอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอด้วย ตลอดจนอาจพิจารณาการนำเทคโนโลยีที่ทันสมัย เช่น การตรวจสอบการใช้ความถี่วิทยุ (Monitor) ผ่านดาวเทียมมาใช้ 
2.4  พิจารณาจัดทำแผนปฏิบัติการในเชิงรุก เพื่อดำเนินมาตรการในการควบคุม ป้องกันและแก้ไขปัญหาการรบกวนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศให้ได้ผลในเชิงปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ  ทั้งนี้ โดยให้เริ่มจัดทำแผนปฏิบัติการในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นลำดับแรก  
               
ระเบียบวาระที่    4.18   :  ขอรับการสนับสนุนงบประมาณในการจัดสร้างภาพยนตร์ “My Best Bodyguard” เพื่อมูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบล รัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี จำนวน 20,000,000.- บาท (ยี่สิบล้านบาทถ้วน)  : รทช.ทศพรฯ, บป.

มติที่ประชุม              เห็นชอบการสนับสนุนงบประมาณให้แก่มูลนิธิมิราเคิลออฟไลฟ์ ในทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี เป็นจำนวนเงิน 20 ล้านบาท อย่างไรก็ดี เนื่องจากขณะนี้ใกล้สิ้นปีงบประมาณ 2553 ประกอบกับได้มีการเจียดจ่ายงบประมาณเพื่อสนับสนุนกิจกรรมต่างๆของ กทช.และสำนักงาน กทช.ไปเป็นจำนวนมากแล้ว  ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติให้สนับสนุนงบประมาณจำนวน 10 ล้านบาท ในปี 2553 ทั้งนี้ สำหรับวงเงินส่วนที่เหลืออีกจำนวน 10 ล้านบาท จะได้ให้การสนับสนุน ในปี 2554 ต่อไป  

ระเบียบวาระที่   4.19   :  โครงการนำร่องเพื่อฝึกอบรมคอมพิวเตอร์สำหรับคนพิการทางกายและการเคลื่อนไหว :  รทช.พิทยาพลฯ, ทถ.  

มติที่ประชุม               มอบหมายให้สำนักงาน กทช.ไปดำเนินการวิเคราะห์รายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม เพื่อประกอบการพิจารณาให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในประเด็นต่างๆ แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ที่สำคัญ อาทิ  ความชัดเจนของกลุ่มเป้าหมายที่จะสนับสนุน โดยตรวจสอบข้อมูลในภาพรวมของจำนวนและประเภทของคนพิการ และความชัดเจนของประโยชน์สำหรับคนพิการที่จะได้รับอย่างแท้จริง ภายหลังจากการฝึกอบรม เป็นต้น  

ระเบียบวาระที่   4.20   :  กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ขอความอนุเคราะห์ในการสนับสนุนงบประมาณด้านบริการโทรคมนาคมแก่จังหวัดยะลา :  รทช.พิทยาพลฯ, ทถ.  

มติที่ประชุม            ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า การสนับสนุนด้านบริการโทรคมนาคม แก่จังหวัดยะลา โครงการพัฒนาเครือข่ายสื่อสารข้อมูลเชื่อมโยงหน่วยงานภาครัฐ (Government Information Network : GIN)  เป็นการดำเนินงานและประสานงานของภาครัฐ ซึ่งมิใช่เป็นการลงทุนด้านโครงข่ายโทรคมนาคมในพื้นที่ที่ไม่มีบริการหรือขาดแคลน ซึ่งไม่สอดคล้องกับภารกิจของ กทช. โดยตรง กอปรกับโครงการขยายการเชื่อมต่อโครงข่ายดังกล่าวเป็นภารกิจที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร จะต้องดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์ในปีต่อๆไปอยู่แล้ว  ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติไม่สนับสนุนงบประมาณด้านบริการโทรคมนาคมแก่จังหวัดยะลา ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เสนอขอตามความเห็นของกรรมการกลั่นกรอง สำนักงาน กทช.และคณะกรรมการกองทุนฯ  โดยมอบหมายให้ สำนักงาน กทช.มีหนังสือแจ้งมติดังกล่าวให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารทราบต่อไป

หมายเหตุ                   ระเบียบวาระเพื่อพิจารณาที่เหลือ ได้แก่ วาระที่ 4.1-4.2 , 4.17 , 4.21 –4.46  จะได้นำเสนอในการประชุม กทช.ครั้งต่อไป
 


ระเบียบวาระที่    5     :   เรื่องเพื่อทราบ
ระเบียบวาระที่   5.1   :   การฟ้องคดีปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนประกาศ กทช. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz : รทช.ฐากรฯ, กม.


มติที่ประชุม              รับทราบรายละเอียดการฟ้องคดีปกครองเพื่อขอให้เพิกถอนประกาศ กทช. เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz และประกาศ กทช.เรื่อง ขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz  ในคดีปกครองหมายเลขดำที่ 1206/2553 ระหว่างนายพรชัย มีมาก ผู้ฟ้องคดี  กับ กทช.ผู้ถูกฟ้องคดี ตามที่ สำนักงาน กทช.เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.2    :   การนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีปกครองหมายเลขดำที่  1523/2550 และคดีปกครองหมายเลขดำที่ 1653/2550 : รทช.ฐากรฯ, กม.

มติที่ประชุม               รับทราบการนั่งพิจารณาคดีครั้งแรกในคดีปกครองหมายเลขดำที่ 1653/2550 ระหว่าง บมจ.ทีโอที ผู้ฟ้องคดี กับ กทช.ผู้ถูกฟ้องคดี และคดีปกครองหมายเลขดำที่ 1523/2550  ระหว่าง บมจ.ทีโอที ผู้ฟ้องคดี และ กทช.ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ลทช.ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ผู้ถูกฟ้องคดีร่วม ซึ่งตุลาการแถลงคดีมีความเห็นสมควรพิจารณายกฟ้อง ทั้งนี้ ศาลปกครองกลางมีคำสั่งนั่งฟังคำพิพากษาในวันที่ 15 กันยายน 2553 ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช.เสนอ 
 
ระเบียบวาระที่    5.3    :   การเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการโทรคมนาคมของผู้ประกอบการ (รายการส่งเสริมการขายระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน 2553 ถึง 31 กรกฎาคม 2553)   : รทช.พิทยาพลฯ, ศฐ.

มติที่ประชุม               รับทราบการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการโทรคมนาคมของผู้ประกอบการ (รายการส่งเสริมการขายระหว่างวันที่ 21 มิถุนายน 2553 ถึง 31 กรกฎาคม 2553) ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช.เสนอ ดังนี้
1.  รับทราบการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการโทรศัพท์พื้นฐานใช้นอก สถานที่ ของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น  ตามที่ สำนักงาน กทช.เสนอ
2.  รับทราบการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศของ บมจ.ทีโอที 
3.  รับทราบการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บมจ.แอดวานซ์  อินโฟร์ เซอร์วิส บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเเซ็ส คอมมูนิเคชั่น บจ.ทรู มูฟ บมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ.ทีโอที 
    
ระเบียบวาระที่   5.4    :   การเชิญประธาน กทช. เข้าร่วมการประชุมสภาบริหารครั้งที่  50 (50th Council)และการประชุมประจำปี ครั้งที่ 8 (8th annual CTO Forum) : รทช.ทศพรฯ, รศ.

มติที่ประชุม                รับทราบการเชิญประธาน กทช. เข้าร่วมการประชุมสภาบริหารครั้งที่  50 (50th Council) และ การประชุมประจำปี ครั้งที่ 8 (8th annual CTO Forum) ระหว่างวันที่ 13-17 กันยายน 2553 ณ โรงแรม Hilton กรุงโคลัมโบ ประเทศศรีลังกา  ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช.เสนอ
\
ระเบียบวาระที่   5.5   :  รายงานการดำเนินการตามมติ กทช. ในการประชุมครั้งที่ 38/2548  เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2548 : รทช.ประเสริฐฯ, ฉก.

มติที่ประชุม              รับทราบรายงานการดำเนินการตามมติ กทช. ในการประชุมครั้งที่ 38/2548 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2548 กรณี กทช.มอบอำนาจให้ ลทช.เป็นผู้อนุมัติให้ใช้ความถี่วิทยุแทน กทช. หากไม่มีการขออนุญาตใช้คลื่นความถี่ใหม่ ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช.เสนอ

ระเบียบวาระที่  5.6   :  รายงานข้อมูลของสถานีวิทยุชุมชนประจำเดือนกรกฎาคม 2553 :  รทช. ประเสริฐฯ, กท.

มติที่ประชุม             รับทราบรายงานสรุปข้อมูลสถานะความเคลื่อนไหวของวิทยุชุมชนและข้อมูลเชิงลึกถึงระดับความเสี่ยงต่างๆ ที่เกิดจากวิทยุชุมชน โดยเฉพาะในกรณีที่มีผลกระทบร้ายแรงต่อการรบกวนวิทยุการบิน ประจำเดือน กรกฎาคม 2553 ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช.เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.7  :  รายงานผลการปฏิบัติงานแทน ลทช. ในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2553 : สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม 

มติที่ประชุม             รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในการกิจการโทรคมนาคม แทน เลขาธิการ กทช. ในช่วงเดือนเมษายน – มิถุนายน 2553 ทั้งนี้ เป็นไปตามระเบียบ กทช.ว่าด้วยการมอบอำนาจของ เลขาธิการ กทช. ให้ปฏิบัติเฉพาะอย่างแทนในสถาบันเฉพาะทาง พ.ศ. 2550 ตามเอกสารที่ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เสนอ
 

ระเบียบวาระที่   6     :   เรื่องอื่นๆ
ระเบียบวาระที่  6.1   :   หนังสือยินยอมเพื่อการรักษาข้อมูลสารสนเทศฯ: กทช.พันเอกนทีฯ ,  ฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการ 3G

มติที่ประชุม              
1.  เพื่อให้การปฏิบัติการประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz ในเรื่องการรักษาข้อมูลสารสนเทศฯ ที่ต้องห้ามเปิดเผย และป้องกันการแสวงหาประโยชน์โดยมิชอบ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสมในทางปฏิบัติมากยิ่งขึ้น ที่ประชุมจึงมีมติให้แก้ไขข้อ 8 ของหนังสือยินยอมเพื่อการรักษาข้อมูลสารสนเทศฯ  จากเดิม ที่กำหนดให้มีผลเป็นระยะเวลาเก้าสิบวันหลังจากที่กระบวนการประมูลฯ เสร็จสิ้นลง เปลี่ยนเป็น ให้มีผลจนถึงวันหลังจากกระบวนการประมูลจัดสรรคลื่นความถี่เสร็จสิ้นลง   ทั้งนี้ มอบหมายให้ สำนักงาน กทช. ไปดำเนินการเพื่อให้บุคคลที่อยู่ภายใต้หนังสือยินยอมดังกล่าวได้ลงนามรับทราบข้อกำหนดตามหนังสือยินยอมต่อไป
2.  เพื่อเป็นการรักษาข้อมูลสารสนเทศฯ ตามที่หนังสือยินยอมฯ กำหนด ดังนั้น ในการประชุม กทช. ที่มีวาระเรื่อง การประมูลคลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz  ให้สำนักงาน กทช. ถือเป็นแนวปฏิบัติว่า วาระเรื่องดังกล่าวเป็นวาระลับ ให้ยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามระเบียบ กทช. ว่าด้วยมาตรการเปิดเผยข้อมูลสารสนเทศ พ.ศ. 2548 ในช่วงระยะเวลาตั้งแต่หนังสือยินยอมมีผลบังคับใช้ (วันที่ 30 สิงหาคม 2553) จนถึงวันหลังจากกระบวนการประมูลจัดสรรคลื่นความถี่เสร็จสิ้นลง ตามข้อ 8 ของหนังสือยินยอมที่แก้ไขแล้วตาม 1

ระเบียบวาระที่   6.2   :   การกำหนดค่าปรับทางปกครองกรณีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่เปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ : คณะกรรมการศึกษาและกำหนดค่าปรับทางปกครอง กรณีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่เปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่

มติที่ประชุม              
1.  รับทราบเหตุผลและกระบวนการพิจารณาในการกำหนดค่าปรับทางปกครองของคณะกรรมการศึกษาและกำหนดค่าปรับทางปกครอง กรณีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่เปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งจากการประเมินข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ประมาณการจำนวนคำขอโอนย้ายที่ผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ และบริษัทศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายฯจัดส่งต่อสำนักงาน กทช.  จำนวน 1,200,000 รายต่อปี หรือ 100,000 รายต่อเดือน ประกอบกับรายได้เฉลี่ยจากค่าใช้บริการเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่รายเดือน (ARPU) จำนวน 250 บาทต่อเดือน สำนักงาน กทช.จึงกำหนดอัตราค่าปรับทางปกครองในอัตราวันละ 166,666.67 บาท ต่อราย เป็นเวลา 30 วัน สำหรับผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้ง 5 ราย (บจ.ทรู มูฟ, บมจ. กสท โทรคมนาคม, บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส, บจ. ดิจิตอลโฟน และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น) ที่เข้าข่ายตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เท่ากัน โดยคำนึงถึงโอกาสที่ผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่จะได้รับการโอนย้ายที่เท่ากัน โดยไม่เกี่ยวข้องกับจำนวนเลขหมายหรือส่วนแบ่งตลาด ตามแนวทางที่ กทช.กำหนดให้มีการลงทุนศูนย์ให้บริการคงสิทธิเลขหมายฯ (Clearing House) ในอัตราส่วนเท่ากัน และหากผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ดังกล่าวยังไม่สามารถเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ภายในระยะเวลา 30 วันแล้ว ก็จะพิจารณาดำเนินมาตรการบังคับทางปกครองที่เข้มข้นขึ้นต่อไป (มาตรการเบาไปหาหนัก) เช่น การพิจารณาเพิ่มอัตราค่าปรับเป็น 2 เท่า ในเดือนถัดไป ทั้งนี้ โดยการวิเคราะห์ถึงผลกระทบในมิติต่างๆ ที่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อประโยชน์สาธารณะและบุคคลที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการที่ผู้บริโภคจ่ายค่าใช้บริการแต่ไม่ได้รับบริการด้วยความพึงพอใจ อันเนื่องมาจากความล่าช้าของบริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่
2.  มอบหมายให้ สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็นที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการจัดทำรายละเอียดข้อมูลการดำเนินงานในเรื่องนี้ทั้งหมดไว้ให้พร้อม เพื่อรองรับหากเกิดเป็นคดีความขึ้นในอนาคต รวมทั้งศึกษาพิจารณาถึงกำหนดเวลาที่ชัดเจนในการเปิดให้บริการ MNP ได้ เพื่อเป็นข้อมูลในการกำหนดมาตรการในการดำเนินการเรื่องนี้ได้อย่างเหมาะสมยิ่งขึ้นต่อไป และขอให้สำนักงาน กทช.แถลงข่าวเรื่องนี้ให้สื่อมวลชนได้ทราบด้วย

ระเบียบวาระที่   6.3   :   แนวทางการดำเนินการเพื่อการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz (วาระต่อเนื่อง) : กทช.พันเอกนทีฯ  , คณะกรรมการเพื่อการอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ฯ , รทช.ประเสริฐฯ , ปก.

มติที่ประชุม            
1.  รับทราบรายงานจำนวนผู้ขอรับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz ระหว่างวันที่ 28 กรกฎาคม 2553 – 29 สิงหาคม 2553  เป็นจำนวน 20 ราย และ จำนวนผู้ประกอบกิจการที่ได้แสดงความจำนงยื่นแบบขอรับใบอนุญาตฯ ต่อคณะอนุกรรรมการรับและตรวจคำขอรับใบอนุญาต เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2553 จำนวน 4 ราย ซึ่งจากการตรวจสอบแบบคำขอรับใบอนุญาตฯ เบื้องต้นของผู้ประกอบกิจการจำนวน 4 ราย ดังกล่าวข้างต้น มีบริษัทฯ ที่เอกสารเป็นไปตามที่ประกาศ กทช.กำหนด จำนวน 3 ราย ได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ดีแทค อินเทอร์เน็ต จำกัด และ บริษัท เรียล มูฟ จำกัด สำหรับอีก 1 รายได้แก่ บริษัท วิน วิน เอ็นจีวี จำกัด เอกสารไม่ครบถ้วนตามประกาศ กทช.กำหนด คณะอนุกรรมการฯ จึงปฏิเสธด้วยวาจาไม่รับแบบคำขอของบริษัทฯ ดังกล่าว ทั้งนี้ คณะอนุกรรมการฯ ได้รายงานให้สำนักงาน กทช.ทราบ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ต่อไป ทั้งนี้ เอกสารของบริษัทฯ ที่ยื่นเอกสารตามที่กำหนดอยู่ในระหว่างการตรวจสอบรายละเอียดของสถาบันการศึกษา 4 สถาบัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ และมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย โดยสำนักงาน กทช.ได้ส่งมอบให้เรียบร้อยแล้วตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2553 และจะเข้าสู่กระบวนการประมูลอย่างเป็นทางการตั้งแต่วันที่ประกาศรายชื่อ Pre-qualification เป็นต้นไป
2.  อนุมัติแนวทางดำเนินการเพื่อการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz ซึ่งประกอบด้วย
1) การกำหนดชุดคลื่นความถี่ที่อนุญาต  
2) กฎกติกาการประมูล  และ
3) กระบวนการประมูลใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ IMT ย่าน 2.1 GHz ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ  ทั้งนี้ โดยให้รับข้อเสนอแนะของที่ประชุมเพื่อไปดำเนินการให้เหมาะสมยิ่งขึ้น โดยการพิจารณาเพิ่มผู้แทนหน่วยงานที่จะเชิญเข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีเปิดการจัดประมูลครั้งนี้จากสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินของรัฐสภา กระทรวงอุตสาหกรรม ( สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI) กระทรวงพาณิชย์ (กรมพัฒนาธุรกิจการค้า) และ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ด้วย
3.  อนุมัติการดำเนินการเพื่อเตรียมการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่เพื่อการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHz ในระยะต่อไป โดยเห็นชอบในหลักการให้คณะกรรมการเพื่อการอนุญาตประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ IMT ย่าน 2.1 GHzไปจัดทำรายละเอียดแผนการเชิญชวนเข้าร่วมประมูล (Road Show) และงบประมาณในการดำเนินการ แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช.พิจารณาต่อไป  ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ 
4.  เห็นชอบให้มีการประชุม กทช.ครั้งต่อไปในสัปดาห์หน้าเพื่อพิจารณาวาระเรื่อง 3G ในวันจันทร์ที่ 13 กันยายน 2553 ตามที่ กทช.พันเอกนทีฯ เสนอ สำหรับเรื่องอื่นๆ ให้นำเสนอในวันพุธที่ 15 กันยายน 2553 ตามปกติ (การประชุมต่อเนื่อง)

ระเบียบวาระที่   6.4   :   การจัดตั้งสำนักผู้เชี่ยวชาญ : กทช.สุรนันท์ฯ

มติที่ประชุม              มอบหมายให้ สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็นที่ประชุมไปพิจารณาจัดทำรายละเอียดในการจัดตั้งสำนักผู้เชี่ยวชาญ เพื่อรองรับการทำงานทางวิชาการของสำนักงาน กทช.ให้เข้มแข็งมากยิ่งขึ้นในอนาคตแล้วนำเสนอที่ประชุม กทช.พิจารณาต่อไป

หมายเหตุ                ไม่มีเอกสารประกอบวาระ กทช.สุรนันท์ฯ หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือ และเสนอที่ประชุมในระหว่างการพิจารณาวาระที่ 4.6 

ระเบียบวาระที่   6.5  :  ขอหารือการลงนาม คำสั่ง กทช.เรื่อง ระบุผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในแต่ละตลาดที่เกี่ยวข้อง และให้ผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะที่กำหนด : ประธาน กทช.

มติที่ประชุม            เห็นชอบให้ กทช.ทั้ง 7 ท่าน ลงนามใน คำสั่ง กทช.เรื่อง ระบุผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในแต่ละตลาดที่เกี่ยวข้อง และให้ผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญปฏิบัติตามมาตรการเฉพาะที่กำหนด เพื่อให้มีผลใช้บังคับต่อไป

หมายเหตุ              ไม่มีเอกสารประกอบวาระ โดยประธาน กทช.ได้หยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาหารือที่ประชุมในช่วงก่อนจะเลิกประชุม

สร้างโดย  -   (9/3/2559 17:04:56)

Download

Page views: 126