กสทข. ร่วมมือ กับ สตช. ประชาสัมพันธ์ 14 กลโกง ของมิจฉาชีพให้ประชาชนรู้เท่าทัน
15 February 2022
55
เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 สำนักงาน กสทช. ร่วมประชุมหารือกับศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ (ศปอส.ตร.) หรือ ศูนย์ PCT ที่นำโดย พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) และผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกราย ได้แก่ AIS TRUE DTAC และ NT เกี่ยวกับความร่วมมือในการแก้ไขปัญหา Call Center และ SMS หลอกลวง โดยสำนักงาน กสทช. พร้อมให้ความร่วมมือกับ สตช. และกระทรวงดีอีเอส ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวตาม และยังจะร่วมกับโอเปอเรเตอร์ในการดำเนินการประชาสัมพันธ์ ให้ความรู้แก่ประชาชนเกี่ยวกับรูปแบบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่มิจฉาชีพมักใช้ในการหลอกลวง เพื่อเป็นข้อมูลให้ประชาชนตระหนักถึงภัยอันตราย สังเกตเห็นว่าพฤติกรรมเหล่านั้นเป็นการหลอกลวงของมิจฉาชีพ จะได้ไม่หลงให้ข้อมูลส่วนตัวไปกับใครง่ายๆ อันอาจทำให้เสียทรัพย์สิน
นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า จากข้อมูลของ สตช. พบว่ารูปแบบอาชญากรรมทางเทคโนโลยีที่มิจฉาชีพมักใช้ในการหลอกลวงประชาชน จำนวน 14 รูปแบบ ได้แก่ 1.หลอกขายของออนไลน์ 2.Call Center หลอกลวงข่มขู่ อ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่ให้เหยื่อโอนเงินให้ 3.เงินกู้ออนไลน์ดอกเบี้ยโหด 4.เงินกู้ออนไลน์ที่ไม่มีจริง (เงินกู้ทิพย์) 5.หลอกให้ลงทุนต่างๆ โดยอ้างผลตอบแทนสูงที่ไม่มีจริง 6.หลอกให้เล่นพนันออนไลน์ 7.Romance scam หรือ Hybrid scam หลอกให้รักลวงเอาทรัพย์สิน ลวงให้ลงทุน 8.ลิงก์ปลอมหลอกแฮกข้อมูลโทรศัพท์ 9.แชท Line/Facebook ปลอม Account ลวงยืมเงิน 10.หลอกเอาข้อมูลส่วนตัว - OTP 11.ข่าวปลอม (Fake news) - ชัวร์ก่อนแชร์ 12.หลอกลวงเอาภาพโป๊เปลือยเพื่อใช้แบล็คเมล์ 13.โฆษณาออนไลน์ลวงทำงาน หลอกบังคับทำงานในต่างประทศ และ 14.ยินยอมให้ผู้อื่นใช้บัญชีธนาคาร (บัญชีม้า) ร่วมกันกระทำผิดฐานฉ้อโกงประชาชน หรือฟอกเงิน ซึ่งสำนักงานฯ และโอเปอเรเตอร์จะช่วยกันประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้กับประชาชนในเรื่องดังกล่าว เพื่อให้ประชาชนรู้เท่าทันกลอุบายของมิจฉาชีพ
“ขณะที่ทุกฝ่ายกำลังร่วมมือกันเพื่อแก้ไขปัญหา Call Center และ SMS หลอกลวงอยู่นั้น สำนักงานก็อยากขอให้ประชาชนระมัดระวังอย่าหลงเชื่อโทรศัพท์ที่แอบอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจ เจ้าหน้าที่ DSI พนักงานธนาคาร หรือเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานต่างๆ อย่าเพิ่งให้ข้อมูลส่วนตัว หรือโอนเงินไปตามที่เขาขอ อย่ากดลิงก์ที่แนบมาพร้อม SMS ที่ไม่ทราบที่มา แต่ให้ตรวจสอบให้แน่ใจก่อนว่าสายที่โทรมา หรือผู้ที่ส่ง SMS มานั้นไม่ใช่มิจฉาชีพ เพื่อป้องกันการสูญเสียเงินทองของท่าน”นายไตรรัตน์ กล่าว
ข่าวที่ 15 : สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ ศปอส.ตร. ตรวจค้นจับกุมผู้กระทำความผิดกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม
เมื่อวันที่ 10 ก.พ. 2565 นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการ กสทช. ร่วมกับ พล.ต.ท.ปรีชา เจริญสหายานนท์ ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ แถลงข่าวผลการตรวจค้นและจับกุมบริษัท ดี ดัง จำกัด ตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
โดยเมื่อวันที่ 4 ก.พ. 2565 สำนักงาน กสทช. ร่วมกับเจ้าหน้าที่ตำรวจศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยีสารสนเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) ดำเนินการตรวจสอบการจำหน่ายเครื่องวิทยุคมนาคมของร้านค้าออนไลน์ หรือร้านค้าบนแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ พบว่า บริษัท ดี ดัง จำกัด ได้มีการจำหน่ายเครื่องวิทยุคมนาคมหลากหลายประเภทที่เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคม ตรวจสอบพบเครื่องวิทยุคมนาคม ดังนี้
1.เครื่องวิทยุคมนาคม ประเภทวิทยุสื่อสาร ตราอักษร BAOFENG แบบ/รุ่น BF-888s
2.โทรศัพท์เคลื่อนที่ ไม่ปรากฏตราอักษร กล่องสีฟ้า
3.โทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่ปรากฏตราอักษร กล่องสีดำ
4.โทรศัพท์เคลื่อนที่ ไม่ปรากฏตราอักษร กล่องสีขาว
5. IPAD/TABLET ไม่ปรากฏตราอักษร ชนิดใส่ซิมการ์ดได้ รวมจำนวน 9,195 ชิ้น โดยทั้งหมดเป็นเครื่องฯ ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานของเครื่องวิทยุคมนาคมและอุปกรณ์ (Type Approval Test) และไม่ได้รับใบอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต (เครื่องเถื่อน)
นายไตรรัตน์ กล่าวว่า การจำหน่ายเครื่องวิทยุคมนาคมดังกล่าวของบริษัท ดี ดัง จำกัด เป็นการกระทำความผิด ในข้อหา มี นำเข้า และค้า ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาต ตามมาตรา 6 โดยต้องระวางโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ ตาม พ.ร.บ. วิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 และที่แก้ไขเพิ่มเติม จากการตรวจค้นจับกุม ณ สถานที่ตามหมายค้นของศาลจังหวัดสมุทสาคร ปรากฏของกลางทั้งหมด 5 รายการ จำนวน 9,195 ชิ้น รวมมูลค่า 15,825,000 บาท
ที่ผ่านมา สำนักงานฯ ได้ดำเนินการกำกับดูแลและบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมและวิทยุคมนาคมมาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ยังคงมีประชาชนหรือบุคคลทั่วไป ซึ่งอาจเป็นได้ทั้งผู้จำหน่ายและผู้ใช้งานเครื่องวิทยุคมนาคม ที่ขาดความรู้ความเข้าใจว่า อะไรเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาต หรืออะไรเป็นเครื่องวิทยุคมนาคมที่ต้องได้รับใบอนุญาตก่อนจำหน่ายหรือใช้งาน ตามที่กฎหมายว่าด้วยวิทยุคมนาคมกำหนดไว้ ซึ่งประชาชนผู้ที่สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จาก www.nbtc.go.th หรือสอบถามมาที่สำนักงาน กสทช. Call Center หมายเลขโทรศัพท์ 1200 (ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย)
“สำนักงาน กสทช. จะดำเนินมาตรการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังในการกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม เพื่อคุ้มครองประชาชนให้สามารถซื้อเครื่องวิทยุคมนาคมได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย” นายไตรรัตน์ กล่าว
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
สำนักงาน กสทช.