ผลการดำเนินการจัดให้มีบริการ USO ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2553)

            การจัดให้มีบริการ USO ระยะที่ 2 เพื่อรองรับภารกิจตามแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2551-2553) มีการจัดทำประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 2 (ลงราชกิจจานุเบกษาวันที่ 6 ตุลาคม 2552) โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นกระจายบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม เพิ่มเติมจากฉบับที่ 1 โดยเน้นขยายบริการโทรศัพท์สาธารณะในสถานศึกษา ศาสนสถานและสถานพยาบาล และเน้นส่งเสริมการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตชุมชนในพื้นที่เป้าหมายที่ กทช. กำหนด

ต่อมา กทช. ได้จัดทำประกาศ กทช. เรื่อง แผนปฏิบัติการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมประจำปี 2553 ขึ้น และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2553 เพื่อใช้กำหนดภารกิจและพื้นที่เป้าหมายในการจัดให้มีบริการUSO ตามประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดให้มีบริการ USOฉบับที่ 2 ดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ คณะกรรมการ กทช. ได้กำหนดเป้าหมายและภารกิจให้ผู้รับใบอนุญาตต้องดำเนินการดังต่อไปนี้

  1. จัดให้มีบริการโทรศัพท์โดยทั่วถึงระดับชุมชน ตามพื้นที่ซึ่งคณะกรรมการ กทช. กำหนด รวมไปถึงการบำรุงรักษาโทรศัพท์สาธารณะ USO ที่ได้ดำเนินการจัดตั้งไปแล้ว ตามการจัดให้มีบริการ USO ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2548 – 2552)
  2. จัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตระดับชุมชนตามพื้นที่ซึ่งคณะกรรมการ กทช. กำหนดโดยการดำเนินการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตประจำชุมชน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการนั้นได้โดยสะดวก ทั้งนี้ การจัดให้มีบริการดังกล่าวอาจรวมไปถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ ตลอดจนการจัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้งานของผู้ใช้บริการ
  3. จัดให้มีบริการโทรศัพท์สาธารณะและอินเทอร์เน็ตในหน่วยงานสาธารณะ ตามที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้การจัดให้มีบริการดังกล่าวอาจรวมไปถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ ตลอดจนการจัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้งานของบุคลากรของหน่วยงานสาธารณะนั้นและผู้มารับบริการให้สามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตได้
  4. ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการจัดหาและพัฒนาเทคโนโลยีด้านอุปกรณ์และบริการโทรคมนาคม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการ เด็ก คนชรา และผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้สามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวรวมถึงการสนับสนุนด้านอุปกรณ์หรือซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมต่อการใช้งาน การฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะความรู้ด้านโทรคมนาคม ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อให้สามารถใช้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานได้

           อย่างไรก็ตาม การจัดให้มีบริการตามข้อ (1) (2) และ (3) ดังกล่าวให้หมายรวมถึงการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างเหมาะสมด้วย สำหรับการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตระดับชุมชนและภายในหน่วยงานสาธารณะนั้น คณะกรรมการ กทช. ได้กำหนดลักษณะของหน่วยงานที่มีสิทธิได้รับการคัดเลือกเป็นพื้นที่จัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ต และกำหนดเงื่อนไขการจัดตั้งศูนย์อินเทอร์เน็ต ตามลักษณะของพื้นที่เป้าหมาย หน่วยงานที่รับผิดชอบ และกลุ่มเป้าหมายทางสังคม ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ 

1. ศูนย์อินเทอร์เน็ตโรงเรียน

คณะกรรมการ กทช. กำหนดพื้นที่เป้าหมายเพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตฯ ดำเนินการจัดให้มีโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตในโรงเรียนทั่วประเทศ จำนวน 520 แห่ง ซึ่งโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกเป็นพื้นที่เป้าหมาย มีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่สำคัญ อาทิเช่น เป็นโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ชนบท มีความขาดแคลนคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ หรือมีแต่ไม่เพียงพอต่อกิจกรรมการเรียนการสอน และไม่เคยได้รับงบประมาณสนับสนุนเกี่ยวกับการจัดหาคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตจากกระทรวงศึกษาธิการ หรือหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา

2. ศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน 

คณะกรรมการ กทช. กำหนดพื้นที่เป้าหมายเพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตฯ ดำเนินการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตระดับชุมชน จำนวน 379แห่ง โดยคณะกรรมการ กทช. เห็นว่าการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเพื่อจัดตั้งศูนย์อินเทอร์เน็ตระดับชุมชนในพื้นที่แห่งใดนั้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของศูนย์อินเทอร์เน็ตและคุ้มค่าต่องบประมาณที่ดำเนินการ ควรพิจารณาจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่และความพร้อมของพื้นที่เป็นหลัก โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ที่มีความต้องการศูนย์อินเทอร์เน็ตแสดงความจำนงโดยสมัครใจพร้อมยื่นแบบฟอร์มขอรับมายังสำนักงาน กสทช. เพื่อพิจารณาคัดเลือกเป็นพื้นที่เป้าหมาย โดยมีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่สำคัญต่างๆ ดังนี้

  • คุณสมบัติของหน่วยงานที่ขอรับ ต้องมีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือนิติบุคคล เช่น สถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไร เช่น มูลนิธิ สมาคม ศาสนสถาน เป็นต้น
  • หน่วยงานที่ขอรับ ต้องมีความพร้อมด้านต่างๆ คือ มีพื้นที่รองรับการจัดตั้งศูนย์อินเทอร์เน็ต  มีบุคลากรดูแลศูนย์อินเทอร์เน็ต และมีหน่วยงานที่แสดงตนเป็นผู้รับผิดชอบศูนย์และสนับสนุนงบประมาณให้แก่ศูนย์อินเทอร์เน็ตได้ หรือมีการรวมกลุ่มของประชาชนในพื้นที่เพื่อให้การสนับสนุน
  • หน่วยงานที่ขอรับ ต้องมีการกำหนดแนวทางต่างๆ ในการบริหารจัดการศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน เพื่อให้ศูนย์อินเทอร์เน็ตเกิดความยั่งยืนและเอื้อประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนในพื้นที่
  • พื้นที่ขอรับการจัดตั้งศูนย์อินเทอร์เน็ตในระดับตำบล ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ดำเนินการของกระทรวง ICT ซึ่งดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ICT ชุมชนไปแล้ว และไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ดำเนินการจัดให้มีบริการศูนย์อินเทอร์เน็ตโรงเรียนของสำนักงาน กสทช. รวมทั้ง ยังไม่มีร้านค้าของเอกชนเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ต (อินเทอร์เน็ตคาเฟ่) บริเวณใกล้เคียง หรือมีแต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่

3. ศูนย์อินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม

คณะกรรมการ กทช. ได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ในการทดลองดำเนินการจัดให้มีบริการศูนย์อินเทอร์เน็ตเพื่อสังคมภายในหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบกลุ่มเป้าหมายทางสังคม ได้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และ     ผู้มีรายได้น้อย โดยเบื้องต้นได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายจัดให้มีบริการศูนย์อินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม      จำนวน 40 แห่งทั่วประเทศ พร้อมจัดให้มีอุปกรณ์พิเศษ คอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์สำหรับคนพิการภายในศูนย์อินเทอร์เน็ตด้วย โดยหน่วยงานที่ได้รับคัดเลือกเป็นพื้นที่เป้าหมายดังกล่าวสามารถแบ่งตามประเภทกลุ่มเป้าหมายทางสังคม ได้ดังนี้ 
 

ลำดับ ประเภทศูนย์อินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม จำนวน (แห่ง)
1. จัดให้มีบริการศูนย์อินเทอร์เน็ตสำหรับผู้ด้อยโอกาส 17
2. จัดให้มีบริการศูนย์อินเทอร์เน็ตสำหรับผู้สูงอายุ 1
3. จัดให้มีบริการศูนย์อินเทอร์เน็ตสำหรับคนพิการ 22
  รวมทั้งหมด  40

ส่วนรูปแบบวิธีการดำเนินงานยังคงยึดแนวทางที่สำนักงานเคยดำเนินการมา คือการเปิดโอกาสให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมสามารถเลือกระหว่างการจัดให้มีบริการตามเป้าหมายที่ กทช. กำหนด หรือเลือกจ่ายเงินเข้า “กองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ” ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปีของรายได้สุทธิ

โดยในปี พ.ศ.2553 กทช. ได้พิจารณาเห็นชอบแผนการจัดให้มีบริการ USO ของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม จำนวน 6 บริษัท ได้แก่

  1. บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT) 
  2. บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT)  
  3. บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (3BB)
  4. บริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค (JASTEL)
  5. บริษัท เอไอเอ็น โกลบอลคอม จำกัด (AIN) และ
  6. บริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด (SBN)

 

โดยสรุปผลการดำเนินงานของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมตามภารกิจที่ คณะกรรมการ กทช. มอบหมาย ในมิติเชิงพื้นที่ได้ดังนี้

ภารกิจ เป้าหมาย
1. บำรุงรักษาโทรศัพท์ USO ระยะที่ 1 29,745 เลขหมาย
2. ติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะในชุมชน   1,555 หมู่บ้าน
3. จัดให้มีบริการศูนย์อินเทอร์เน็ตโรงเรียน 520 แห่ง
4. จัดให้มีบริการศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนและศูนย์อินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม 419 แห่ง

สร้างโดย  - สำนักบริการโทรคมนาคมโดยทั่วถึงและเพื่อสังคม  (20/2/2560 15:23:09)

Download

Page views: 858