สรุปมติที่ประชุม กทช. 3/2553

มติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
  ครั้งที่ 3/2553
วันพุธที่  3 กุมภาพันธ์  2553   เวลา  13.30  น.
ณ ห้องประชุม ชั้น 12 อาคารอำนวยการ
สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
 
 
ผู้เข้าประชุม
คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

1. พลเอกชูชาติ                 พรหมพระสิทธิ์              ประธานกรรมการ
2. นายเหรียญชัย              เรียววิไลสุข                  กรรมการ
3. ศาสตราจารย์ประสิทธิ์     ประพิณมงคลการ           กรรมการ
4. นายสุชาติ                    สุชาติเวชภูมิ                  กรรมการ
5. ศาสตราจารย์เศรษฐพร    คูศรีพิทักษ์                  กรรมการ
6. รองศาสตราจารย์สุธรรม   อยู่ในธรรม                  กรรมการ
7. นายฐากร                      ตัณฑสิทธิ์                  รองเลขาธิการรักษาการในตำแหน่ง ลทช.
 
ระเบียบวาระที่   1    :   เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
1. ขอให้ สำนักงาน กทช. เน้นเรื่อง การกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม  เพราะมีความเป็นห่วง และ  ช่วยติดตามสถานการณ์เกี่ยวกับกิจการโทรคมนาคมที่เราดูแลรับผิดชอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีข่าวพาดพิงถึง กทช.และสำนักงาน กทช.เช่น การ Roaming ระหว่าง TOT กับ AIS ต้องเร่งตรวจสอบ และขอให้ สำนักงาน กทช.ได้กรุณาติดตามและจัดเตรียมข้อมูลไว้ให้พร้อมในทุกเรื่อง  โดยดำเนินการด้วยความรอบคอบ    จึงขอฝาก รทช.ได้สั่งการ ผู้อำนวยการสำนักที่อยู่ในการกำกับดูแลให้ติดตามในส่วนที่รับผิดชอบอย่างใกล้ชิด หากมีเรื่องเข้ามาก็ให้เร่งนำเสนอที่ประชุม กทช. เพื่อจะได้ข้อยุติที่ถูกต้องตรงกัน และไม่ถูกกล่าวหา ผ่านสื่ออีก 
2.  ในการประชุม กทช.วันนี้ ขอให้พิจารณาเฉพาะเรื่องที่มีความสำคัญและเร่งด่วน ซึ่งหากไม่ดำเนินการแล้วจะทำให้งานหยุดชะงัก โดยจะยังคงยึดถือมติ กทช.เดิม  งานนโยบายจะยังไม่ดำเนินการ แต่จะเน้นเรื่องของสำนักงาน กทช. ในรูปของงานปกติที่คิดว่าดำเนินการได้ เพราะธุรกิจโทรคมนาคมจะหยุดชะงักมิได้ อย่างไรก็ตาม การดำเนินงานของสำนักงาน กทช.จะต้องดำเนินการต่อไป และขอให้รักษาการในตำแหน่ง ลทช. และ รทช.ได้หารือแนวทางร่วมกันเพื่อทำประโยชน์ให้องค์กรเกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการทำงานมากยิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต     
           
มติที่ประชุม              รับทราบเรื่องตามที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ  และมอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
 
ระเบียบวาระที่   2      :   เรื่องรับรองรายงานการประชุม
ระเบียบวาระที่   2.1   :   รับรองรายงานการประชุม กทช.ครั้งที่ 2/ 2553 วันพุธที่ 20 มกราคม 2553  

มติที่ประชุม               รับรองรายงานการประชุม กทช. ครั้งที่ 2/2553 วันพุธที่  20  มกราคม 2553  ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ 

ระเบียบวาระที่   2.2  :   รับรองรายงานการประชุม กทช. นัด/ วาระพิเศษ

มติที่ประชุม              
1. รับรองรายงานการประชุม กทช. การจัดทำงบประมาณรายจ่าย (นัดพิเศษ)/2549 เมื่อวันที่ 26-27 ธันวาคม 2549 ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ โดยมีวาระเพื่อพิจารณา เรื่อง การจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 
2.  รับรองรายงานการประชุม กทช. วาระพิเศษ ครั้งที่ 2/2550  เมื่อวันที่  9 ตุลาคม 2550 ตามที่ สำนักงาน กทช. เสนอ โดยมีวาระเพื่อพิจารณารวม 4 เรื่อง ได้แก่ 
2.1 การพิจารณาวินิจฉัยอุทธรณ์ กรณีของ บมจ.ทีโอที  
2.2 การจัดทำคำให้การเพิ่มเติมแก้คำคัดค้านคำให้การในคดีปกครอง ระหว่าง นายสุพงษ์  ลิ้มธนากุล  กับ กทช. และพวกรวม 3 คน  
2.3 ร่างระเบียบสำนักงาน กทช. ว่าด้วยการแต่งตั้งเลขานุการ  ผู้ช่วยเลขานุการ  และพนักงานขับรถยนต์ประจำตำแหน่งของประธานกรรมการ และกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2550    
2.4 การกำหนดค่าตอบแทนพิเศษ ให้แก่ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายประจำ กทช.  
3.  รับรองรายงานการประชุม กทช.วาระพิเศษ ครั้งที่ 3/2550 เมื่อวันที่  20 พฤศจิกายน 2550 ตามที่ สำนักงาน  กทช. เสนอ โดยมีวาระเพื่อพิจารณารวม 4 เรื่อง ได้แก่ 
3.1 ร่างระเบียบ กทช. เรื่องหลักการบริหารจัดการงบประมาณของสำนักงาน กทช.  
3.2  รายงานสถานะ การใช้เงินงบประมาณปี 2550  
3.3 การปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2550 
3.4 งบประมาณรายจ่ายประจำปี  2551  
4. มอบหมายให้สำนักงาน กทช.รับข้อสังเกตของที่ประชุมเป็นแนวทางในการเขียนมติที่ประชุม กทช.ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติแห่งกฎหมายต่างๆ โดยอ้างอิงให้ถูกต้อง ทั้งนี้ อาจปรึกษาผชช.กฎหมายเพื่อความชัดเจนยิ่งขึ้นด้วยก็ได้
 
ระเบียบวาระที่    3    :   รายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช.ครั้งที่ 2/2553   วันพุธที่  20  มกราคม 2553
 

มติที่ประชุม               รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 2/2553   วันพุธที่ 20 มกราคม 2553  ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ

ระเบียบวาระที่   4      :   เรื่องเพื่อพิจารณา   
ระเบียบวาระที่   4.3   :   โครงการส่งตัวแทนแข่งขัน Monroe E. Price International Media Law Moot Court Competition ณ มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ประเทศสหราชอาณาจักร : กทช.สุธรรมฯ , กจ.


 มติที่ประชุม              อนุมัติโครงการส่งตัวแทนแข่งขัน Monroe E. Price International Media Law Moot Court Competition ณ  มหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด  ประเทศสหราชอาณาจักร โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553  ของสำนักกิจการกรรมการ  หมวดค่าภาระต่างๆ ที่เหมาะสม โครงการความร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศ เป็นเงินจำนวน 1,291,550 บาท โดยมีองค์ประกอบคณะตัวแทน ตามที่สำนักงาน กทช.  เสนอ

ระเบียบวาระที่    4.7   :   การจัดการอบรมหลักสูตร Regulation of Telecommunications and Competition Law โดย The London School of Economics and Political Science (LSE) : กทช.สุธรรมฯ , กจ.

มติที่ประชุม              
1.  อนุมัติการจัดการอบรมหลักสูตร Regulation of Telecommunications and Competition Law โดย The London School of Economics and Political Science (LSE) ภายใต้กรอบวงเงิน  9,999,060 บาท   ทั้งนี้ โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณของ สำนักกิจการกรรมการ ตามที่ กทช.สุธรรมฯ เสนอ 
2. อนุมัติให้มีผู้ประสานงานการจัดเตรียมโครงการฯเพิ่มอีก 2 ราย ได้แก่  นายปิยภักดิ์  ดีบุกคำ และ นางสาวนฤมล  รอยลาภเจริญพร 
3. มอบหมายให้สำนักงาน กทช.  รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปปรับปรุงแก้ไขคุณสมบัติทั่วไป สำหรับผู้มีสิทธิเข้ารับการอบรมให้เปิดกว้างมากยิ่งขึ้น โดยนอกเหนือจากผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสาขากฎหมายเป็นลำดับแรก (First Priority) ผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสาขาเศรษฐศาสตร์ เป็นลำดับรอง และให้เปิดโอกาสแก่ผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปในสาขาอื่นๆ เป็นลำดับถัดมาด้วยหากมีความรู้ความสามารถสอบผ่านได้
ระเบียบวาระที่ 4.8 : รายงานความคืบหน้าการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำร่างข้อเสนอในการขอเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนา 19th ITS  Biennial Conference 2012 : กทช.สุธรรมฯ

มติที่ประชุม               เห็นชอบให้สำนักงาน กทช. ดำเนินการจัดทำรายละเอียดข้อเสนอเพื่อยื่นขอเป็นเจ้าภาพในการจัดงานสัมมนา 19th ITS Biennial Conference ในปี 2012 ที่ประเทศไทย ต่อไป เนื่องจากเป็นไปตามคำสั่งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ 21/2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการเพื่อเสนอโครงการจัดตั้งสถาบัน Regional Anchor Institute ที่ประเทศไทย และ คำสั่งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ที่ 43/2552 เรื่อง กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการเตรียมการฯ (เพิ่มเติม)แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง   อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมได้ตั้งข้อสังเกตในเรื่องความเป็นไปได้ในการผูกพันด้านงบประมาณ เนื่องจากเป็นกิจกรรมระยะยาวที่จะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า รวมถึงต้องมีความต่อเนื่องในการดำเนินการ และควรเปิดกว้างในการมีส่วนร่วมขององค์กร/สถาบันหลักที่เกี่ยวข้องต่างๆด้วย ทั้งนี้ ขอให้สำนักงาน กทช.ดำเนินการในเรื่องดังกล่าวอย่างรอบคอบ

หมายเหตุ                  กทช.เศรษฐพรฯ มีความเห็นว่าเนื่องจากเป็นการผูกพันงบประมาณถึงปี 2012 จึงไม่อยู่ในสถานะที่จะผูกพันได้  
   
ระเบียบวาระที่   4.11  :  การแต่งตั้งประธานกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท : สชท.

มติที่ประชุม                เนื่องจาก พลเอกสุวชิต  พิชิตกุล ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทมาตั้งแต่ต้น และต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ประธานกรรมการ และ กรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท จากการจ่ายค่าตอบแทนรายเดือนเป็นการจ่ายค่าตอบแทนเป็นเบี้ยประชุมตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 โดยพลเอกสุวชิต  พิชิตกุล ยังคงปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทต่อเนื่องตลอดมา ในการนี้ สำนักงาน กทช. จึงเสนอ กทช. เพื่อยืนยันการทำหน้าที่ประธานกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทของพลเอกสุวชิต  พิชิตกุล  กทช.พิจารณาแล้วมีมติยืนยันการปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ของพลเอกสุวชิต พิชิตกุล ต่อไป

ระเบียบวาระที่   4.20   :  การดำเนินการตามมติ กทช. ครั้งที่ 30/2552  :  คณะกรรมการ สบท.

หมายเหตุ                  ที่ประชุมให้นำวาระที่ 4.20  ไปพิจารณาร่วมกับวาระที่ 4.21 เนื่องจากเป็นเรื่องพิจารณาในประเด็นเดียวกัน

ระเบียบวาระที่   4.21  :  การตัดโอนอัตรากำลังลูกจ้างสำนักงาน กทช. ให้ สบท. จำนวน 3 ราย : รทช.ฐากรฯ , บค.

มติที่ประชุม            
1. รับทราบข้อเท็จจริง และปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้นกรณีการดำเนินการตามมติ กทช. ครั้งที่ 30/2552  ตามที่คณะกรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมเสนอ
2. มอบหมายให้สำนักงาน กทช.ไปพิจารณาดำเนินการสำรวจตรวจสอบ และรวบรวมข้อมูล/ข้อเท็จจริงเพื่อประกอบการพิจารณาของ กทช.ในเรื่องนี้ให้ได้อย่างถูกต้อง และรอบคอบมากยิ่งขึ้นโดยเฉพาะในประเด็น : 
2.1 จำนวนอัตราของ สบท.และการบรรจุแต่งตั้ง
2.2 มติ กทช. เกี่ยวกับกรณีการตัดโอนอัตรากำลัง
2.3 ความสมัครใจของลูกจ้างที่จะไปปฏิบัติหน้าที่ที่ สบท. รวมทั้งคุณสมบัติของลูกจ้างที่เหมาะสมกับภารกิจและขอบเขตของงานที่ สบท. แล้วนำเสนอที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถดำเนินการให้เป็นไปตามมติ กทช.ครั้งที่ 30/2552 วันที่ 2 กันยายน 2552 ที่ให้ตัดโอนอัตรากำลังลูกจ้างของสำนักงาน กทช. จำนวน 3 อัตรา ไปทดแทนพนักงาน สบท.จำนวน 3 รายที่มาปฏิบัติงานที่สำนักงาน กทช. เพื่อให้การปฏิบัติงานของ สบท.เป็นไปด้วยความเรียบร้อยต่อไป
   
ระเบียบวาระที่   4.31   :  ขออนุมัติกันเงินไว้เบิกเหลื่อมปีของสำนักงานกองทุนฯ ประจำปี 2552 ที่ให้การสนับสนุนโครงการของสำนักการบริการอย่างทั่วถึง, สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และงบประมาณในการบริหารจัดการกองทุนฯ ของสำนักงานกองทุนฯ : สำนักงานกองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมฯ

มติที่ประชุม              
1. อนุมัติให้กันเงินเหลื่อมปีประจำปีงบประมาณ 2552 ของรายจ่ายโครงการของสำนักการบริการอย่างทั่วถึง กรณีมีหนี้ จำนวน 6 รายการ เป็นเงิน 21,741,367.50 บาท 
2. อนุมัติให้กันเงินเหลื่อมปี ประจำปีงบประมาณ 2552 ของรายจ่ายโครงการของสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม กรณีมีหนี้ จำนวน 40 รายการ เป็นเงิน 81,028,098.49 บาท 
3. อนุมัติให้กันเงินเหลื่อมปี ประจำปีงบประมาณ 2552 ของรายจ่ายการบริหารกองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคม ของสำนักงานกองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมฯ กรณีมีหนี้ จำนวน 1 รายการ เป็นเงิน 42,800 บาท

ระเบียบวาระที่   4.32  :  ขอจ้างพนักงานตามสัญญาจ้างประจำสำนักงานกองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ : สำนักงานกองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมฯ

มติที่ประชุม               อนุมัติให้จ้างพนักงานตามสัญญาจ้างประจำสำนักงานกองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะตามความจำเป็น โดยให้กำหนดระยะเวลาจ้างครั้งละ 1 ปี  พร้อมทั้งกำหนดตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงาน (KPI) รายบุคคล เพื่อประเมินผลในการพิจารณาค่าตอบแทนและการต่อสัญญาจ้างครั้งต่อไป สำหรับในส่วนของสวัสดิการต่างๆ ให้เป็นไปตามระเบียบสำนักงาน กทช.ที่เกี่ยวข้อง

ระเบียบวาระที่   4.33   :  ขอความเห็นชอบอนุมัติจ่ายเงินให้โครงการต้นแบบศูนย์ทางไกลเพื่อการศึกษาและพัฒนาชนบทฯ : สำนักงานกองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมฯ

มติที่ประชุม               อนุมัติจ่ายเงินโครงการต้นแบบศูนย์ทางไกลเพื่อการศึกษาและพัฒนาชนบทเฉลิมพระเกียรติฯ งวดที่ 3 (ปี 2552) ให้แก่มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จำนวน 11,803,610 บาท ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ตามที่สำนักงานกองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมฯ เสนอ ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อ 4 ของระเบียบ กทช.ว่าด้วยการจัดสรรเงินกองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2552

หมายเหตุ                 ระเบียบวาระเพื่อพิจารณาที่เหลือได้แก่ วาระที่ 4.1,4.2,4.4-4.6,4.9 – 4.10,4.12-4.19,4.22-4.30 และ 4.34-4.41 จะได้นำเสนอในการประชุม กทช. ครั้งต่อไป
 
ระเบียบวาระที่    5      :  เรื่องเพื่อทราบ
ระเบียบวาระที่    5.1   :  ชี้แจงข้อเท็จจริงและส่งเอกสารหลักฐานการสรรหากรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ต่อ ป.ป.ช. : ลทช.


มติที่ประชุม               รับทราบหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริง และส่งเอกสารหลักฐานเกี่ยวกับการสรรหา กรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กรณีจับสลากออกและการลาออกให้สำนักงาน ป.ป.ช. ตามเอกสารที่ ลทช.เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.2   :   ร่างคำตอบกระทู้ถามของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเพื่อตอบในราชกิจจานุเบกษา : รทช.ฐากรฯ

มติที่ประชุม              รับทราบร่างคำตอบกระทู้ถามที่ 7265 ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (นายสมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์) เพื่อตอบในราชกิจจานุเบกษาเกี่ยวกับผลการดำเนินงานของ กทช. ตามเอกสารที่ สำนักงาน กทช.เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.3   :   รายงานความก้าวหน้าและสถานะ การดำเนินคดีปกครองที่ กทช. , สำนักงาน กทช., ลทช., คณะกรรมการ, คณะอนุกรรมการ หรือพนักงาน สำนักงาน กทช. ถูกฟ้องต่อศาลปกครองประจำเดือนธันวาคม 2552 : รทช.ฐากรฯ , กม.

มติที่ประชุม               รับทราบรายงานความก้าวหน้าและสถานะ การดำเนินคดีปกครองที่ กทช. , สำนักงาน กทช., ลทช., คณะกรรมการ, คณะอนุกรรมการ หรือพนักงาน สำนักงาน กทช. ถูกฟ้องต่อศาลปกครองประจำเดือนธันวาคม 2552 จำนวน 23 คดี ตามเอกสารที่ สำนักงาน กทช.เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.4   :   รายงานผลการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม  พ.ศ. 2544 : รทช.ฐากรฯ , กม. 
 
มติที่ประชุม               รับทราบรายงานผลการเปรียบเทียบปรับผู้กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ประจำเดือนธันวาคม 2552 ตามเอกสารที่ สำนักงาน กทช.เสนอ

ระเบียบวาระที่    5.5   :  รายงานผลการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 : รทช.ฐากรฯ , กม.

มติที่ประชุม              รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานตาม ที่ กทช.ได้แต่งตั้ง เจ้าหน้าที่ผู้ออกใบอนุญาตหรือมอบหมายให้ กทช.ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2552  ตามเอกสารที่ สำนักงาน กทช.เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.6   :  รายงานการประชุมและศึกษาดูงาน Center for TeleInfrastructure (CTIF) ณ Aalborg University ราชอาณาจักรเดนมาร์ก และห้องปฏิบัติการวิจัย UMIC ณ Aachen University สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี : กทช.ประสิทธิ์ฯ
  
มติที่ประชุม               รับทราบรายงานการประชุมและศึกษาดูงาน   Center for TeleInfrastructure (CTIF) ณ Aalborg University ราชอาณาจักรเดนมาร์ก และห้องปฏิบัติการวิจัย UMIC ณ Aachen University สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระหว่างวันที่ 29 พฤศจิกายน – 3 ธันวาคม 2552  ของ กทช.ประสิทธิ์ฯ และ คณะ ตามเอกสารที่ กทช.ประสิทธิ์ฯ เสนอ

ระเบียบวาระที่    5.7   :   รายงานการศึกษาดูงานด้าน USO ณ ประเทศออสเตรเลีย ในวันที่ 27 กันยายน – 3 ตุลาคม 2552 : รทช.พิทยาพลฯ , ทถ.

มติที่ประชุม               รับทราบ รายงานการศึกษาดูงานศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสาร สำหรับผู้ที่บกพร่องทางการได้ยินและผู้ที่บกพร่องทางการพูด (Telecommunication Relay Service) ณ ประเทศออสเตรเลีย ในวันที่ 27 กันยายน – 3 ตุลาคม 2552  ของ กทช.ประสิทธิ์ฯ และคณะ  ตามเอกสารที่ สำนักงาน กทช.เสนอ

ระเบียบวาระที่ 5.8   : รายงานสรุปผลการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ITU/ADB Mongolia 1st  National Stakeholder Workshop ณ เมือง อูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย  ในวันที่  4-6 พฤศจิกายน 2552  : รทช.พิทยาพลฯ , ทถ.

มติที่ประชุม               รับทราบรายงานสรุปผลการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการ ITU/ADB Mongolia 1st  National  Stakeholder Workshop ระหว่างวันที่  4-6 พฤศจิกายน  2552 ณ เมือง อูลานบาตอร์ ประเทศมองโกเลีย ของ กทช.ประสิทธิ์ฯ และ คณะ  ตามที่ สำนักงาน กทช.เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.9   :   แจ้งการลาออกจากการเป็นกรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ของนางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา : สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม

มติที่ประชุม                รับทราบการลาออกจากการเป็นกรรมการสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ของนางสาวสุรีรัตน์ ตรีมรรคา  ตามเอกสารที่ สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เสนอ 
 
ระเบียบวาระที่   5.10  :   รายงานผลการดำเนินงานโครงการศูนย์ทางไกลเพื่อพัฒนาการศึกษา และพัฒนาชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 (จังหวัดมหาสารคาม) :   คณะกรรมการดำเนินโครงการศูนย์ทางไกลเพื่อพัฒนาการศึกษา และ พัฒนาชนบทฯ

มติที่ประชุม               รับทราบผลการดำเนินงานโครงการศูนย์ทางไกลเพื่อพัฒนาการศึกษา และพัฒนาชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ  เนื่องในวโรกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงมีพระชนมายุครบ 80 พรรษา ในวันที่ 5 ธันวาคม 2550 (จังหวัดมหาสารคาม)  ซึ่งดำเนินการมาครบ 1 ปี (เดือนตุลาคม 2551 ถึงเดือน กันยายน 2552) ตามเอกสารที่ คณะกรรมการดำเนินโครงการศูนย์ทางไกลเพื่อพัฒนาการศึกษา และ พัฒนาชนบทในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เฉลิมพระเกียรติฯ เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.11  :  รายงานผลการประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา : รทช.ฐากรฯ , กม.

มติที่ประชุม              รับทราบผลการเข้าร่วมประชุมชี้แจงต่อที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 12) ตามที่ สำนักงาน กทช.มีหนังสือหารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินการจัดสรรและอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่วิทยุเพื่อประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G  เมื่อวันอังคารที่ 19  และ วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม 2553 ณ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา ตามเอกสารที่ สำนักงาน กทช.เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.12   :  สำนักงาน ป.ป.ช.ขอทราบข้อเท็จจริงและขอเอกสารหลักฐาน : รทช.ฐากรฯ , กม.

มติที่ประชุม               รับทราบเรื่องการดำเนินการชี้แจงข้อเท็จจริง กรณีคณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้รับเรื่องกล่าวหาร้องเรียน  ตามเอกสารที่ สำนักงาน กทช.เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.13  :  รายงานผลการประชุม ณ สาธารณรัฐเกาหลี :  กทช.เศรษฐพรฯ

มติที่ประชุม              รับทราบรายงานผลการประชุมประสานงานและหารือนโยบายการกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม ณ สาธารณรัฐเกาหลี ของ กทช.เศรษฐพรฯ และ คณะ  ระหว่างวันที่ 17-22 ตุลาคม 2552 ณ สาธารณรัฐเกาหลี ตามเอกสารที่ กทช.เศรษฐพรฯ เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.14   :  สรุปผลการชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการกำหนดโครงสร้างราคาใช้บริการวงจรดาวเทียมที่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา :  รทช.ฐากรฯ , กม.

มติที่ประชุม               รับทราบสรุปผลการชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีการกำหนดโครงสร้างราคาใช้บริการวงจรดาวเทียมที่ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2553 โดยมี กทช.สุธรรมฯ  รทช.ทศพรฯ  และ รทช.ประเสริฐฯ  เป็นผู้ชี้แจง  ตามเอกสารที่ สำนักงาน กทช.เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.15  :   รายงานผลคำพิพากษาคดีหมายเลขแดงที่ 7073/2552 กรณีเครื่องหมาย “+” สำหรับโทรออกต่างประเทศ :  รทช.ฐากรฯ , กม.

มติที่ประชุม                 รับทราบผลคำพิพากษาของศาลแพ่ง คดีหมายเลขแดงที่ 7073/2552 ตลอดจนผลการศึกษาวิเคราะห์เชิงกฎหมายและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น ในคดีที่ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เป็นโจทก์ฟ้อง บริษัท แอดวานซ์  อินโฟร์  เซอร์วิส  จำกัด (มหาชน) และ  บริษัท เอไอเอ็น โกลบอล คอม จำกัด เป็นจำเลยร่วมกันเปลี่ยนแปลงการส่งทราฟฟิคของการให้บริการโทรศัพท์ทางไกลระหว่างประเทศผ่านครื่องหมาย “+” ตามเอกสารที่ สำนักงาน กทช.เสนอ
 
ระเบียบวาระที่   6     :  เรื่องอื่นๆ 
ระเบียบวาระที่   6.1  :  การครบวาระการดำรงตำแหน่งของคณะกรรมการบริหารงานสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม  (กพท.)  : สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม


มติที่ประชุม               อนุมัติการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารงานสถาบันวิจัยและพัฒนา อุตสาหกรรมโทรคมนาคม (กพท.) ชุดใหม่จำนวน 11 คนแทนคณะกรรมการ กพท. ชุดเดิมที่ครบวาระการดำรงตำแหน่งเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2553 โดยมีองค์ประกอบตามที่สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคมเสนอ ซึ่งเป็นไปตามข้อ 5 ของระเบียบ  กทช. ว่าด้วยการบริหารงานวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม  พ.ศ. 2549  ทั้งนี้ ให้แต่งตั้ง กทช.ประสิทธิ์ฯ เป็นที่ปรึกษาคณะกรรมการฯ ด้วย       
                          
ระเบียบวาระที่   6.2   :  การเดินทางเข้าร่วมประชุมเรื่องกิจการกระจายเสียงระดับชุมชน The 2 nd   AMRC Asia-Pacific regional Conference  : Community Radio for Sustainable development and Good Governance ระหว่างวันที่ 19 – 24 กุมภาพันธ์  2553 ณ  เมืองบังกาลอร์  ประเทศอินเดีย  :  กลุ่มงานสำนักเลขานุการคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์

มติที่ประชุม
1.  อนุมัติให้คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์  และผู้ติดตามจำนวน 7 ท่าน  เข้าร่วมประชุมเรื่อง กิจการกระจายเสียงระดับชุมชน The 2 nd  AMRC Asia-Pacific regional Conference  : Community  Radio  for  Sustainable development  and Good Governance ระหว่างวันที่ 19 – 24 กุมภาพันธ์ 2553  ภายในกรอบวงเงิน 984,000  บาท   ณ เมืองบังกาลอร์  ประเทศอินเดีย  ตามที่ สำนักงาน กทช.เสนอ ทั้งนี้ โดยเบิกจ่ายงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเดินทางจากงบประมาณ ประจำปี  2553  ของสำนักกิจการกรรมการ รายการค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศของ กทช. สำหรับสิทธิในการเบิกค่าใช้จ่ายในการเดินทางให้เป็นไปตามระเบียบ สำนักงาน กทช. ว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงาน พ.ศ.2548 และระเบียบ กทช.ว่าด้วยค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายสำหรับการปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียง และวิทยุโทรทัศน์ พ.ศ.2552
2.  มอบหมายให้สำนักความร่วมมือเศรษฐกิจระหว่างประเทศดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้อง ตามข้อ 1 ต่อไป
ระเบียบวาระที่ 6.3  : โครงการสร้างและพัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ในธุรกิจโทรคมนาคม : รทช.ประเสริฐฯ

มติที่ประชุม  
1. อนุมัติในหลักการให้สำนักงาน กทช. โดยสายงานส่งเสริมการแข่งขัน ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมรัฐวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (สสว.) ดำเนินโครงการสร้าง และ พัฒนาผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) ในธุรกิจโทรคมนาคม  โดย สสว. เป็นหน่วยงานหลัก และใช้งบประมาณร่วมกันระหว่างหน่วยงานทั้งสอง ตามที่ รทช.ประเสริฐฯ เสนอ 
2. มอบหมายให้สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็นของที่ประชุม ไปพิจารณาเพื่อเป็นแนวทางประกอบการดำเนินการในเรื่องนี้ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้นในมิติเรื่อง บทบาทของผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) ในการสนับสนุนการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึง (USO)  ในพื้นที่ชนบทห่างไกล ทั้งนี้ โดยอาจพิจารณาดำเนินการร่วมกับ บมจ.ทีโอที ก็ได้
 
ระเบียบวาระที่   6.4   :   คำวินิจฉัยข้อพิพาทที่ 5/2551 ระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด  (มหาชน) กับ บริษัท ทีโอที  จำกัด  (มหาชน)  :  องค์คณะในคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท  ประจำข้อพิพาทที่ 5/2551  สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม

มติที่ประชุม               ที่ประชุมรับเรื่อง คำวินิจฉัยข้อพิพาทที่ 5/2551 ระหว่าง บริษัท กสท โทรคมนาคม  จำกัด  (มหาชน)  (ผู้ร้อง)   กับ    บริษัท  ทีโอที   จำกัด   (มหาชน)  (ผู้ถูกร้อง) และรายงานกระบวนการพิจารณาข้อพิพาทที่ 5/2551 ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (ผู้ร้อง) กับ บริษัท ทีโอที  จำกัด  (มหาชน) (ผู้ถูกร้อง) ตามที่คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ประจำข้อพิพาทที่ 5/2551 สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม เสนอไว้พิจารณาเพื่อจัดทำคำวินิจฉัยชี้ขาด โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช.รับไปดำเนินการตามกระบวนการและขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ ให้นำเสนอคณะกรรมการกลั่นกรอง  และ  ผชช.กฎหมายประจำ กทช. ก่อนนำเสนอ  ที่ประชุม กทช.พิจารณาด้วย

ระเบียบวาระที่   6.5   :   การอุทธรณ์คำสั่งของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด : รทช.ฐากรฯ , กม.

มติที่ประชุม              
1.  ในการพิจารณาของที่ประชุม กทช. ได้มีการวินิจฉัยข้อเท็จจริง เหตุผล และหลักกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยละเอียดแล้วมีความเห็นใน 3 กรณีดังนี้
1.1 กรณีความชอบด้วยกฎหมายของกระบวนการรับ และพิจารณาคำร้อง และคำสั่งเยียวยาชั่วคราว 
จากข้อเท็จจริงในเรื่องนี้  ระยะเวลานับแต่วันที่ กทช. ได้รับเรื่องร้องเรียนของนางสาวสกาวรัชฯ ไปจนถึงวันที่ที่ประชุม กทช. มีคำสั่งเยียวยาความเสียหายให้กับนางสาวสกาวรัชฯ เป็นการชั่วคราว  (1  กรกฎาคม  2552)  ซึ่งต่อมา สำนักงาน กทช. ได้มีหนังสือแจ้งให้ บจก.ทรูมูฟ ทราบคำสั่ง  23  กรกฎาคม  2552  และบจก.ทรูมูฟ ทราบคำสั่งวันที่  28  กรกฎาคม  2552  นั้น  เป็นช่วงระยะเวลาก่อนที่นางสาวสกาวรัชฯ จะยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อศาลแพ่ง  ( 18  กันยายน  2552)  ดังนั้น  การที่ กทช. รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวไว้พิจารณา  จึงไม่ถือว่าเป็นการรับเรื่องที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลหรือศาลมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในเรื่องที่ร้องเรียน ตามข้อ  10  ของประกาศ กทช. เรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ  ดังนั้น  การรับเรื่องร้องเรียนและมีคำสั่งเยียวยาความเสียหายชั่วคราว  จึงเป็นการดำเนินกระบวนการที่ถูกต้องและชอบด้วยกฎหมายแล้ว และเมื่อคำสั่งเยียวยาความเสียหายชั่วคราวให้ บจก.ทรูมูฟ เปิดสัญญาณในโทรศัพท์เลขหมายที่มีการร้องเรียนให้กับนางสาวสกาวรัชฯ เป็นคำสั่งทางปกครองที่ชอบด้วยกฎหมาย การที่ สำนักงาน กทช. ได้มีหนังสือที่ สบท. 207/2552  ลงวันที่  23  กรกฎาคม  2552  แจ้งให้ บจก.ทรูมูฟ ทราบคำสั่ง กทช. จึงมีผลให้คำสั่งทางปกครองดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อ บจก.ทรูมูฟ แล้ว  ตราบเท่าที่ยังไม่มีการเพิกถอนหรือสิ้นผลลงโดยเงื่อนเวลาหรือโดยเหตุอื่นตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539  มาตรา  42  ด้วยเหตุนี้  บจก.ทรูมูฟ จึงมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามคำสั่งทางปกครองดังกล่าว
1.2  กรณี บจก.ทรูมูฟ ไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย
(1) การไม่ปฏิบัติตามประกาศ กทช. เรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการตามประกาศ กทช. เรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการข้อ 5 วรรคสาม  กำหนดไว้ชัดเจนว่า ในระหว่างการพิจารณาเรื่องร้องเรียน  หากเรื่องร้องเรียนเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาให้บริการ  หรือมาตรฐานการให้บริการที่ดี  ให้ผู้รับใบอนุญาตหยุดการดำเนินการใด ๆ อันเป็นเหตุแห่งการร้องเรียน  ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ร้องเรียนจนกว่าจะได้ข้อยุติในเรื่องร้องเรียนนั้น  เว้นแต่จะเป็นกรณีที่มีผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อการประกอบกิจการโทรคมนาคมของผู้รับใบอนุญาต  ดังนั้น บจก.ทรูมูฟ  ได้รับทราบอยู่แล้วว่า  นางสาวสกาวรัชฯ ได้ร้องเรียนเกี่ยวกับเลขหมายโทรศัพท์ดังกล่าวต่อ กทช. อีกทั้ง บจก. ทรูมูฟ ยังทราบอีกว่า กทช. ได้มีมติให้เยียวยาความเสียหายชั่วคราว  โดยการสั่งให้เปิดสัญญาณเลขหมายโทรศัพท์ที่ถูกร้องเรียนดังกล่าวเป็นการชั่วคราวการที่ บจก.ทรูมูฟ นำเลขหมายที่ถูกร้องเรียนดังกล่าวไปให้บริการแก่ผู้ใช้บริการรายอื่น  จึงเป็นการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับประกาศดังกล่าว  อีกทั้งยังขัดกับข้ออ้างของ บจก.ทรูมูฟ ว่า เป็นการกระทำโดยสุจริตอีกด้วย
(2) การไม่ปฏิบัติตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ.2551  ตามประกาศ กทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรร และ บริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ.2551 ในข้อ 37 วรรคสอง  กำหนดหน้าที่ของผู้รับการจัดสรรเลขหมายสำหรับบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้เก็บเลขหมายที่ได้ยุติการใช้ไว้ไม่ต่ำกว่า  180  วัน  ก่อนการนำกลับมาใช้บริการใหม่  ซึ่งจากข้อเท็จจริง บจก.ทรูมูฟ ได้ระงับการให้บริการเลขหมายดังกล่าวแก่นางสาวสกาวรัชฯ เมื่อวันที่  11  กรกฎาคม  2552  และได้นำเลขหมายนี้ไปให้บริการแก่ผู้ใช้บริการรายอื่นเมื่อวันที่  14  กรกฎาคม  2552  ซึ่งยังไม่ครบกำหนด  180  วัน  ดังนั้น  การกระทำของบจก.ทรูมูฟ  จึงขัดกับข้อกำหนดของประกาศดังกล่าวแล้ว
1.3   กรณี บจก.ทรูมูฟ ฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งเยียวยาความเสียหายชั่วคราวและคำสั่ง ลทช. ตามมาตรา  64
หากพิจารณาในแง่การมีผลของคำสั่งเยียวยาความเสียหายชั่วคราวของ กทช. ตามมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่  23/2552  เมื่อวันที่  1  กรกฎาคม  2552  นั้น  คำสั่งจะยังไม่มีผลจนวันที่  28 กรกฎาคม 2552 ซึ่งเป็นวันที่ บจก.ทรูมูฟ จะได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2552 ก่อนที่ บจก.ทรูมูฟ จะได้รับแจ้งคำสั่งดังกล่าว บจก. ทรูมูฟ ได้นำเลขหมายที่ถูกร้องเรียนไปให้บริการแก่ผู้ใช้บริการรายอื่น ดังนั้น บจก.ทรูมูฟ  จึงอ้างว่าไม่สามารถปฏิบัติตามคำสั่งให้เปิดสัญญาณโทรศัพท์ในเลขหมายดังกล่าวให้แก่นางสาวสกาวรัชฯ ได้  และคำสั่ง ลทช. ตามมาตรา 64  จึงเป็นคำสั่งที่ไม่อยู่ในวิสัยทัศน์ที่จะปฏิบัติได้  แต่เมื่อการนำหมายเลขที่ถูกร้องเรียนไปให้บริการแก่ผู้ใช้บริการรายอื่นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายตามเหตุผลที่ระบุในข้อ 1.2 ดังนั้น บจก.ทรูมูฟ จึงไม่อาจกล่าวอ้างการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายดังกล่าวมาปฏิเสธการปฏิบัติตามคำสั่งเยียวยาความเสียหายชั่วคราวและคำสั่ง ลทช. ได้  อีกทั้งยังแสดงให้เห็นถึงการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต  เนื่องจาก บจก.ทรูมูฟ มีเลขหมายอื่น ๆ ที่สามารถให้บริการแก่ผู้ใช้บริการรายอื่นได้  การเจาะจงเอาเลขหมายที่ถูกร้องเรียนไปให้บริการแก่ผู้ใช้บริการรายอื่นย่อมแสดงถึงเจตนาที่ไม่สุจริตของบจก.ทรูมูฟ เอง  ดังนั้น  เมื่อ  ลทช.  ออกคำสั่งบังคับตามมาตรา 64 เป็นหนังสือลงวันที่  4  ธันวาคม  2552  ให้บจก.ทรูมูฟ ดำเนินการเปิดสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ของนางสาวสกาวรัชฯในเลขหมายที่ร้องเรียนให้สามารถใช้งานได้ตามปกติเป็นการชั่วคราวภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ บจก.ทรูมูฟ ได้รับหนังสือฉบับดังกล่าว  โดย บจก. ทรูมูฟ ได้รับเมื่อวันที่  9  ธันวาคม  2552  ดังนั้น บจก.ทรูมูฟ จึงต้องปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวภายในวันที่  17  ธันวาคม  2552  อย่างไรก็ตาม บจก.ทรูมูฟ มีสิทธิอุทธรณ์คำสั่ง ลทช. ภายใน  15  วัน  คือภายในวันที่  25  ธันวาคม  2552        ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 มาตรา 65  ซึ่ง บจก.ทรูมูฟ ได้เลือกที่จะใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวในวันที่  23  ธันวาคม  2552  เพราะฉะนั้น  จึงต้องให้ กทช. วินิจฉัยข้ออุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวก่อน
2. จากผลจากการพิจารณาของที่ประชุมพร้อมความเห็นที่ชัดเจนข้างต้น แล้ว ที่ประชุม กทช.จึงมีมติดังนี้ 
2.1 ในการดำเนินกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน การพิจารณาเรื่องร้องเรียนของนางสาวสกาวรัช  บัวเอี่ยม และการมีคำสั่งเยียวยาความเสียหายชั่วคราว นั้น กทช. และสำนักงาน กทช. โดย ลทช. ได้ดำเนินกระบวนการอย่างถูกต้อง และชอบด้วยกฎหมายแล้ว กทช.จึงมีมติวินิจฉัยอุทธรณ์ยืนตามคำสั่งของ ลทช. 
2.2 อย่างไรก็ดี เนื่องจากขณะนี้นางสาวสกาวรัช บัวเอี่ยม ได้ยื่นฟ้องเป็นคดีผู้บริโภคต่อศาลแพ่ง ซึ่งคดีดังกล่าวอยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาของศาลแล้ว จึงเห็นสมควรที่จะยุติกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนเป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลแพ่งจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด และสมควรยกเลิกคำสั่งกำหนดมาตรการเยียวยาความเสียหายเป็นการชั่วคราว ซึ่งเป็นการเยียวยาความเสียหายในเชิงปกครอง แต่ทั้งนี้ เนื่องจากการยุติกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียน และการยกเลิกคำสั่งเยียวยาชั่วคราวจะมีผลกระทบต่อสิทธิของนางสาวสกาวรัช บัวเอี่ยม จึงเห็นควรดำเนินการให้ถูกต้องตามพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองพ.ศ.2539 โดยมอบหมายให้ สำนักงาน กทช.มีหนังสือแจ้งนางสาวสกาวรัช  บัวเอี่ยม ทราบ และให้สิทธิโต้แย้งการยุติกระบวนการพิจารณาการร้องเรียน และยกเลิกคำสั่งกำหนดมาตรการเยียวยาความเสียหายเป็นการชั่วคราวภายใน 30 วันนับจากวันที่ได้รับแจ้ง 
3. จากเหตุผล ข้อเท็จจริง และหลักกฎหมายข้างต้นตามความเห็นในข้อ 1.2 ที่ประชุมจึงมีมติดังนี้
3.1 การกระทำของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด ที่ไม่ปฏิบัติตามประกาศ กทช. เรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียน และพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ และประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ.2551 เป็นความผิด 
3.2 มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับคำวินิจฉัยของ กทช.ตามที่ได้มีมติแล้วนี้ ไปพิจารณากำหนดโทษแก่บริษัท ทรู มูฟ จำกัด ให้ชัดเจน และเหมาะสม แล้วนำเสนอ กทช.พิจารณาต่อไป
  
ระเบียบวาระที่   6.6   :   การชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม : รทช.ฐากร ฯ , กม. , ศฐ.

มติที่ประชุม                
1. ในการพิจารณาเพื่อจัดทำคำชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) กทช.ได้พิจารณาให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะทิศทาง (Direction) และแนวทางการดำเนินการของสำนักงาน กทช.ในการประชุม กทช.เป็นลำดับมาอย่างต่อเนื่องและเป็นขั้นเป็นตอน กล่าวคือ
1.1 ในการประชุม กทช.ครั้งที่ 16/2552 เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2552 กทช.ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบมาตรฐานการคำนวณอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมตามรายละเอียดที่สำนักงาน กทช.และสถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเสนอ เพื่อใช้เป็น Reference Framework ของ กทช.ในการพิจารณาอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมได้อย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ และสามารถใช้เป็นหลักในการพิจารณากรณีที่มีข้อพิพาทเกิดขึ้นต่อไป ซึ่งปัจจุบัน กทช.ได้ประกาศมาตรฐานการคำนวณอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมลงในราชกิจจานุเบกษาแล้วเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552
1.2 ในการประชุม กทช.ครั้งที่ 38/2552 เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2552 กทช.ได้พิจารณาให้ข้อคิดเห็น และข้อเสนอแนะทิศทาง (Direction) และแนวทางการดำเนินการแก่สำนักงาน กทช. กรณีข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ในประเด็นการกำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม  ระหว่าง บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น กับ บมจ. กสท โทรคมนาคม และในประเด็นสิทธิในการเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น กับ บมจ. กสท โทรคมนาคม ว่าควรเริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่เท่าใด ทั้งนี้ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช.ไปวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงเศรษฐศาสตร์เพิ่มเติมเพื่อประมาณการตัวเลขผลกระทบที่จะเกิดขึ้นเปรียบเทียบกันในแต่ละทางเลือกตามที่สำนักงานฯ เสนอไว้ให้ชัดเจน ซึ่งโดยหลักการแล้วสมควรใช้อัตราที่ต่ำสุดเป็นเกณฑ์ก่อน รวมทั้งให้ศึกษาเรื่องการกำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมในแบบ “อัตราเดียว” (Symmetric rate) และแบบ “อัตราต่างกัน” (Asymmetric rate) เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจต่อไป
1.3 ในการประชุม กทช.ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2553 สำนักงาน กทช.ได้นำเสนอผลการประมาณการค่าตอบแทนในแต่ละแนวทางเลือก (9 ทางเลือก)ที่แตกต่างกันของวันเริ่มต้นเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างกันของ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น และ บมจ. กสท โทรคมนาคม ในกรณีต่างๆ รวมทั้งได้นำเสนอทางเลือกการคิดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่าง บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น กับ บมจ. กสท โทรคมนาคม ในกรณีที่ต่ำสุดอัตราเดียว (Symmetric rate) สำหรับบริการ Call Originated และ Call Terminated เท่ากับ 0.50 บาทต่อนาที และ   Call Transit เท่ากับ 0.20 บาทต่อนาที หรือในกรณีการคิดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมตามต้นทุนที่แตกต่างกัน (Asymmetric rate) ของ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (บริการ Call Originated  และ Call Terminated เท่ากับ 0.50 บาทต่อนาที และบริการ Call Transit เท่ากับ 0.20 บาทต่อนาที) และ บมจ. กสท โทรคมนาคม (บริการ Call Originated เท่ากับ 0.66 บาทต่อนาที บริการ Call Terminated เท่ากับ 0.68 บาทต่อนาที และบริการ Call Transit เท่ากับ 0.20 บาทต่อนาที)  ในการนี้ กทช.ได้มอบหมายให้สำนักงาน กทช.จัดทำตารางข้อมูลแต่ละทางเลือกเปรียบเทียบความเห็นของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดทำข้อมูลหลักการและเหตุผลในแต่ละทางเลือกให้ชัดเจนและครบถ้วนเพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจของ กทช.อีกครั้งหนึ่ง
1.4 ในการประชุม กทช.ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553 สำนักงาน กทช.ได้นำเสนอที่ประชุม กทช.พิจารณาข้อมูลเพิ่มเติมตารางเปรียบเทียบความเห็นของแต่ละฝ่ายที่เกี่ยวข้องในแต่ละทางเลือกเพื่อให้ที่ประชุม กทช.พิจารณาตัดสินใจอีกครั้งหนึ่ง ได้แก่
(1) แนวทางเลือกที่ 2 : โดยกำหนดให้วันที่ประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ใช้บังคับ เป็นวันเริ่มต้นของสิทธิในการเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น กับ บมจ. กสท โทรคมนาคม 
(2) แนวทางเลือกที่ 6 : โดยกำหนดให้วันที่ผู้ร้องใช้สิทธิยื่นคำร้องข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทเป็นวันเริ่มต้นของสิทธิในการเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น กับ บมจ. กสท โทรคมนาคม 
(3) แนวทางเลือกที่ 7 : โดยกำหนดให้วันที่คู่กรณีได้รับทราบคำชี้ขาดข้อพิพาทของ กทช.เป็นวันเริ่มต้นของสิทธิในการเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่าง บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น กับ บมจ. กสท โทรคมนาคม 
2. นอกจากนี้ ในการพิจารณาประเด็นเกี่ยวกับสิทธิในการเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น กับ บมจ. กสท โทรคมนาคม ว่าควรเริ่มต้นนับตั้งแต่วันที่เท่าใด ซึ่ง กทช.ได้พิจารณาบนพื้นฐานของหลักกฎหมายที่หลากหลายแง่มุม อาทิ 
2.1 กรณีการวินิจฉัยให้วันที่ประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ใช้บังคับ เป็นวันเริ่มต้นของสิทธิในการเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น กับ บมจ. กสท โทรคมนาคม โดยนำหลักกฎหมายรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 มาตรา 41 วรรคหนึ่ง บัญญัติคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินไว้อาจถูกจำกัดได้โดยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ซึ่งในกรณีนี้คือ มาตรา 25 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 โดยให้อำนาจ กทช.เป็นผู้กำหนดรายละเอียด และเมื่อ กทช.ออกประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายฯ จึงเป็นการอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อกำหนดสิทธิและหน้าที่ของผู้รับใบอนุญาตฯ ที่มีโครงข่ายโดยละเอียดและถือที่เกิดการแทรกแซงจำกัดสิทธิโดยกฎเกณฑ์แห่งกฎหมาย (Regulatory intervention) ในลักษณะที่มีผลบังคับได้ (enforceable) อันเป็นการเปลี่ยนแปลงเนื้อหาของสิทธิเชิงทรัพย์สิน ดังนั้น วันที่ประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายฯ มีผลใช้บังคับ จึงเป็นวันที่ผู้มีโครงข่ายฯ ถูกกฎหมายจำกัดสิทธิในทรัพย์สิน โดยไม่สามารถใช้สอย หรือหวงกันได้อย่างเสรีอีกต่อไป แต่ต้องยอมให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นสามารถเข้าใช้โครงข่ายฯ ได้ โดยหลักความชอบธรรมก็สมควรชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้มีโครงข่ายฯ ผู้ถูกจำกัดสิทธิด้วย ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการใช้โครงข่ายฯ เกิดขึ้นในวันดังกล่าวจึงถือเป็นวันที่เริ่มต้นคำนวณค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายฯ 
2.2 กรณีการวินิจฉัยให้วันที่ผู้ร้องใช้สิทธิยื่นคำร้องข้อพิพาทเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาทเป็นวันเริ่มต้นของสิทธิในการเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมฯ โดยนำหลักกฎหมายการ “Take Action แห่งสิทธิ” มาใช้
2.3 กรณีการวินิจฉัยให้วันที่คู่กรณีได้รับทราบคำชี้ขาดข้อพิพาทของ กทช.เป็นวันเริ่มต้นของสิทธิในการเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมฯ ซึ่งเป็นไปตามหลักเกณฑ์กฎหมายปกครอง
3. จากการที่ กทช.ได้มีการพิจารณาผลการวิเคราะห์ในทางวิชาการทั้งในเชิงเศรษฐศาสตร์ และการคำนวณรายละเอียดต้นทุนตัวเลขข้อมูลอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมทั้งแบบ “อัตราเดียว” (Symmetric rate) และแบบ “อัตราต่างกัน” (Asymmetric rate) ตามที่สำนักงาน กทช.ได้รับข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะทิศทาง (Direction) และแนวทางการดำเนินการจาก กทช.ที่ให้ไว้กับสำนักงาน กทช. มาอย่างต่อเนื่องเพื่อไปดำเนินการและนำเสนอมาทั้งหมดดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับ กทช.ได้มีการนำหลักกฎหมายที่หลากหลายแง่มุมมาประกอบการพิจารณาเพื่อกำหนดวันเริ่มต้นของสิทธิในการเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างบมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น กับ บมจ. กสท โทรคมนาคม ที่ถูกต้อง และเหมาะสมที่สุดแล้ว นั้น  ที่ประชุม กทช. จึงได้มีการตัดสินใจ และลงมติดังนี้
3.1 เห็นชอบให้กำหนดวิธีการคิดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่าง  บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น กับ บมจ.กสท โทรคมนาคม ในลักษณะอัตราเดียวหรือ Symmetric rate  เนื่องจากเป็นวิธีการที่ สามารถยอมรับได้ของทั้งสองฝ่าย และให้ใช้อัตราที่ต่ำสุดเป็นเกณฑ์ก่อน อันจะเป็นประโยชน์แก่ประชาชนและผู้บริโภค อีกทั้งยังง่ายแก่การกำกับดูแล เพื่อมิให้เกิดปัญหาที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพมากกว่าต้องอุดหนุนผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพต่ำกว่า
3.2 เห็นชอบให้กำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่าง บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น กับ บมจ.กสท โทรคมนาคม ตามวิธีการอัตราเดียวหรือ Symmetric rate  ดังนี้
(1) อัตราสำหรับบริการ Call Originate และ บริการ Call Terminate เท่ากับ 0.50 บาทต่อนาที
(2) อัตราสำหรับบริการ Call Transit เท่ากับ 0.20 บาทต่อ นาที
                                  ทั้งนี้ การคิดคำนวณอัตราดังกล่าวเป็นไปตามมาตรฐานการคำนวณต้นทุนแบบ LRAIC (Long Run Average Incremental Cost) ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับสากลโดยมีพื้นฐานข้อมูลที่ใช้ในการคำนวณจากผู้ประกอบการทั้งสองราย และปรับให้เป็นตามมาตรฐานการคำนวณในแบบดังกล่าว ตลอดจนสอดคล้อง และเป็นไปตามประกาศ กทช. เรื่อง มาตรฐานการคำนวณอัตราค่าเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม
3.3 ที่ประชุมเสียงข้างมาก  (ประธาน กทช. กทช.เศรษฐพรฯ กทช.เหรียญชัยฯ กทช.ประสิทธิ์ฯ และ กทช.สุชาติฯ) เห็นชอบให้กำหนดวันที่คู่กรณีแต่ละฝ่ายจะมีสิทธิเรียกเก็บค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมระหว่างกัน ตามแนวทางที่ 7  โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่คู่กรณีได้รับทราบคำชี้ขาดข้อพิพาทของ กทช.ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง
                          อนึ่ง ที่ประชุมเสียงข้างน้อย (กทช.สุธรรมฯ) ยืนยันตามความเห็นที่ได้ให้ไว้ก่อนหน้านี้ตามบันทึกที่ 9/2553 ลงวันที่ 5 มกราคม 2553 โดยในการกำหนดวันที่คู่กรณีมีสิทธิเรียกเก็บค่าตอบแทน การเชื่อมต่อโครงข่ายระหว่างกัน ให้ใช้วันที่ประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมฯ มีผลบังคับใช้ เนื่องจากเป็นวันที่เจ้าของโครงข่ายถูกจำกัดสิทธิในทรัพย์สิน โดยไม่สามารถใช้สอย หรือหวงกันได้อย่างเสรีอีกต่อไป แต่ต้องยอมให้ผู้รับใบอนุญาตรายอื่นสามารถเข้าใช้โครงข่ายฯได้ ด้วยเหตุนี้ เมื่อมีการใช้โครงข่ายฯ เกิดขึ้นในวันดังกล่าว จึงถือเป็นวันที่เริ่มต้นคำนวณค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายฯ นอกจากนี้ การกำหนดให้บังคับใช้อัตราใหม่ตามวันที่คู่กรณีได้รับทราบคำ   ชี้ขาดข้อพิพาทของ กทช. นั้น ย่อมมีผลให้เกิดการลักลั่นในการบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากโครงข่ายโทรคมนาคมมิได้มีเพียงโครงข่ายเดียว ส่วนผู้เช่าใช้โครงข่ายโทรคมนาคมก็มิได้มีเพียงรายเดียวเช่นกัน ซึ่งในขณะนี้แต่ละรายก็มีกระบวนการระงับข้อพิพาทในขั้นตอนที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น จะทำให้ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นจากการใช้โครงข่ายเดียวกันเกิดผลการชำระค่าเชื่อมต่อโครงข่ายฯ ที่ต่างกัน และที่สำคัญกว่านั้นคือ การตัดสินเช่นนี้ จะเป็นข้อจูงใจให้ผู้ให้บริการหลีกเลี่ยงการเข้าสู่กระบวนการระงับข้อพิพาท เนื่องจากได้ค่าตอบแทนที่ต่ำกว่าเดิมที่ควรจะได้ ซึ่งเป็นการไม่เป็นธรรมแก่ผู้ที่มาหากระบวนการยุติธรรม
4. มอบหมายให้สำนักงาน กทช.(สำนักกฎหมาย) จัดทำคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม  ตามมติข้อ 3 แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช.เพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้ โดยให้รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปดำเนินการจัดทำรายละเอียดเพื่ออธิบายให้ชัดเจนถึงเหตุผลที่สนับสนุนในการกำหนดอัตราค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมแตกต่างจากที่คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทเสนอ 
  
หมายเหตุ                    ข้อความในข้อ 3.3 ที่แก้ไขเพิ่มเติมตั้งแต่บรรทัดที่ 7 (นอกจากนี้...) จนถึง บรรทัดสุดท้าย นั้น เป็นการอธิบายรายละเอียดเพิ่มเติมจากบันทึกความเห็นที่เสนอไว้เดิม และจากที่ได้กล่าวไว้ในที่ประชุม

ระเบียบวาระที่   6.7   :   การอุทธรณ์คำสั่ง ลทช.ที่ให้จัดให้มีบริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ : รทช.ฐากรฯ , กม.

มติที่ประชุม                รับเรื่องการอุทธรณ์คำสั่ง ลทช.ที่ให้จัดให้มีบริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในระยะเวลา 3 เดือนนับแต่วันที่ประกาศ กทช. เรื่อง  หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ใช้บังคับของผู้ประกอบการจำนวน 6 ราย ( บมจ.ทีโอที  บมจ.กสท โทรคมนาคม บมจ.แอดวานซ์  อินโฟร์ เซอร์วิส  บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น บจก.ทรู มูฟ และบจก.ดิจิตอล โฟน (ดีพีซี) ) อย่างไรก็ดี เนื่องจากประเด็นข้อเท็จจริงที่ปรากฏตามการอุทธรณ์ไม่เพียงพอต่อการวินิจฉัยของ กทช. จึงมอบหมายให้สำนักงาน กทช.  แจ้งแก่ผู้อุทธรณ์ให้ชี้แจงรายละเอียดข้อเท็จจริงเพิ่มเติม  แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช.พิจารณาโดยเร็วอีกครั้งหนึ่ง 

ระเบียบวาระที่   6.8   :   บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ขอหารือ เรื่องการใช้เครือข่ายร่วม (Roaming)  : รทช.ประเสริฐฯ , ปก.

มติที่ประชุม                 มอบหมายให้สำนักงาน กทช. โดยสำนักการอนุญาตประกอบกิจการ รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปหารือสำนักที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักกฎหมาย และสถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม เพื่อตรวจสอบและจัดทำรายละเอียด พร้อมวิเคราะห์ข้อมูลในประเด็นต่างๆ เพิ่มเติม โดยเชิญ บมจ.ทีโอที และ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (AIS) มาหารือร่วมกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน และยอมรับร่วมกันในแนวทางการดำเนินการเพื่อการใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) แล้วประมวลรวบรวมเสนอที่ประชุม กทช.พิจารณาโดยเร็วอีกครั้งหนึ่ง ทั้งนี้ ประเด็นหลักสำคัญที่ต้องการความชัดเจน อาทิ 
1.  คำจำกัดความ คำว่า “Roaming”   คืออะไร เหมือนหรือแตกต่างจากคำว่า “ Interconnection”  อย่างไร 
2.  “ Roaming” เกี่ยวข้องกับ Neutral Technology  หรือไม่ อย่างไร  
3.  การ Roaming  3 G  มีความแตกต่างจากการ Roaming 2 G อย่างไร รวมทั้งการ Roaming  กรณีเทคโนโลยี HSPA  ที่ใช้ความถี่เดิมเป็น อย่างไร 
4.  เนื่องจาก บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส กับ บมจ.ทีโอที เป็นคู่สัญญาร่วมการงาน/สัญญาสัมปทานกัน ดังนั้น กรณีการใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) จะขัดหรือแย้งกับสัญญาร่วมการงานหรือไม่ อย่างไร หรือมีความเกี่ยวข้องกับสัญญาร่วมการงานด้วยหรือไม่ อย่างไร และจะเข้าข่ายเป็นการแก้ไขสัญญาร่วมการงานหรือไม่ อย่างไร
5.  ศึกษาเพิ่มเติมความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของทางเลือกหาก บมจ.ทีโอที จะให้ บมจ. แอดวานซ์  อินโฟร์  เซอร์วิส ทดลองทดสอบกรณีการใช้เครือข่ายร่วม (Roaming) ที่ไม่ใช่ในเชิงพาณิชย์ รวมทั้งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบกิจการรายอื่นสามารถทดลองทดสอบได้ด้วย ทั้งนี้ โดยพิจารณากำหนดเงื่อนไขต้องไม่ขัดหรือแย้งกับสัญญาร่วมการงาน

ระเบียบวาระที่    6.9    :   การจ้างผู้เชี่ยวชาญประจำ กทช. (นายกิตติน อุดมเกียรติ และ นายจักรทิพย์ นิติพน) : รทช.ฐากรฯ , บค.  

มติที่ประชุม              
1.  รับทราบรายงานผลการปฏิบัติงานของผู้เชี่ยวชาญประจำ กทช.  (นายกิตติน  อุดมเกียรติ และ นายจักรทิพย์ นิติพน) ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ
2.  เห็นชอบให้สำนักงาน กทช. ดำเนินการต่อสัญญาจ้าง ผู้เชี่ยวชาญประจำ กทช.  (นายกิตติน อุดมเกียรติ และ นายจักรทิพย์ นิติพน) ต่อไปอีก 1 ปี นับตั้งแต่วันที่สัญญาจ้างเดิมสิ้นสุดลง (สิ้นสุดวันที่ 14 ก.พ. 2553)โดยให้ได้รับค่าตอบแทนอัตราเดือนละ 50,000 บาท ตามที่ กทช.ประสิทธิ์ฯ เสนอ 
                                    ทั้งนี้ เป็นไปตามระเบียบ กทช. ว่าด้วยการจ้างผู้เชี่ยวชาญหรือผู้ชำนาญ การเฉพาะด้าน พ.ศ. 2548 โดยให้กำหนดเงื่อนไขในสัญญาจ้างเพิ่มเติม ด้วยว่าให้สัญญาการจ้างดังกล่าวสิ้นสุดลงเมื่อคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติผู้เสนอชื่อผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านประจำ กทช. ท่านนั้นๆ พ้นจากตำแหน่ง
ระเบียบวาระที่ 6.10 : การจัดทำความเห็นและข้อเสนอแนะต่อร่าง พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับใหม่ : กทช.เศรษฐพรฯ

มติที่ประชุม                กทช.เศรษฐพรฯ เสนอว่าเนื่องจากขณะนี้การพิจารณาร่างพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. .... อยู่ในขั้นตอนวาระการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร(วาระสอง และวาระสาม)ใกล้จะแล้วเสร็จ และจะนำเสนอต่อวุฒิสภา เพื่อพิจารณาต่อไป  ซึ่งในรายละเอียดของร่างกฎหมายดังกล่าวเกี่ยวข้องกับบทบาทอำนาจหน้าที่ และมีผลกระทบต่อการปฏิบัติงานของสำนักงาน กทช. รวมทั้งสิทธิหน้าที่ และสถานะของพนักงานสำนักงาน กทช.โดยตรง รวมถึงได้มีการกำหนดบทลงโทษไว้ด้วย จึงสมควรที่สำนักงาน กทช.จะได้ศึกษาพิจารณาเนื้อหาสาระของร่างกฎหมายดังกล่าวโดยรายละเอียด รวมถึงบทบัญญัติสำคัญๆที่เกี่ยวข้องกับการอนุญาตให้ทำ ให้มี ให้ใช้ ให้นำเข้า-นำออก รวมทั้งให้ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม ตลอดจนการออกใบอนุญาตพนักงานวิทยุคมนาคม ที่อาศัยอำนาจตามพระราชบัญญัติวิทยุโทรคมนาคม พ.ศ.2498 ได้ถูกกำหนดไว้ในร่างกฎหมายฉบับดังกล่าวอย่างครบถ้วน เหมาะสมเรียบร้อยแล้วหรือยัง แล้วมีหนังสือแจ้งความเห็นและ/หรือข้อเสนอแนะต่อร่างกฎหมายนี้ไปยังนายกรัฐมนตรี,สภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาเพื่อประกอบการพิจารณาให้ทันโดยด่วนต่อไป
 
หมายเหตุ                 ไม่มีเอกสารประกอบวาระ

สร้างโดย  -   (17/3/2559 18:04:07)

Download

Page views: 77