สรุปมติที่ประชุม กทช. 4/2553

มติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
  ครั้งที่ 4/2553
วันพุธที่  17 กุมภาพันธ์  2553   เวลา  09.30  น.
ณ ห้องประชุม ชั้น 12 อาคารอำนวยการ
สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
 

ผู้เข้าประชุม
คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

1. พลเอกชูชาติ                พรหมพระสิทธิ์               ประธานกรรมการ
2. นายสุชาติ                    สุชาติเวชภูมิ                  กรรมการ
3. ศาสตราจารย์เศรษฐพร   คูศรีพิทักษ์                    กรรมการ
4. รองศาสตราจารย์สุธรรม  อยู่ในธรรม                    กรรมการ
5. นายฐากร                     ตัณฑสิทธิ์                    รองเลขาธิการรักษาการในตำแหน่ง ลทช.

ระเบียบวาระที่    1   :   เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ 
                                      - ไม่มี -
ระเบียบวาระที่    2   :  เรื่องรับรองรายงานการประชุม กทช.  ครั้งที่ 3/2553 วันพุธที่ 3  กุมภาพันธ์ 2553

มติที่ประชุม              มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็นที่ประชุมไปดำเนินการปรับปรุงแก้ไขรายงานการประชุม กทช. ครั้งที่ 3/2553 วันพุธที่ 3 กุมภาพันธ์ 2553  แล้วนำเสนอที่ประชุมเพื่อพิจารณารับรองในครั้งต่อไป ดังนี้
1.  ปรับปรุงแก้ไขข้อความในหน้า 4 วาระที่ 2.2 : รับรองรายงานการประชุม กทช. นัด/วาระพิเศษ โดยเพิ่มเติมชื่อวาระเรื่องในการประชุมนัด/วาระพิเศษ ได้แก่ การประชุม กทช.การจัดทำงบประมาณรายจ่าย (นัดพิเศษ)/2549 การประชุม กทช. วาระพิเศษ ครั้งที่ 2/2550 และการประชุม กทช. วาระพิเศษ ครั้งที่ 3/2550 ให้ชัดเจน
2.  ปรับปรุงแก้ไขมติที่ประชุมในหน้า 6 วาระที่ 4.11 : การแต่งตั้งประธานกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ใหม่ให้ถูกต้อง โดยยกเลิกข้อความเดิม แล้วให้ใช้ข้อความใหม่ให้เหมาะสม ดังนี้ “ เนื่องจาก พลเอกสุวชิต  พิชิตกุล ได้ปฏิบัติหน้าที่เป็นประธานกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทมาตั้งแต่ต้น และต่อมาได้มีการเปลี่ยนแปลงวิธีการจ่ายค่าตอบแทนให้แก่ประธานกรรมการ และกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท จากการจ่ายค่าตอบแทนรายเดือนเป็นการจ่ายค่าตอบแทนเป็นเบี้ยประชุมตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 โดยพลเอกสุวชิต  พิชิตกุล ยังคงปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทต่อเนื่องตลอดมา ในการนี้ สำนักงาน กทช. จึงเสนอ กทช. เพื่อยืนยันการทำหน้าที่ประธานกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทของพลเอกสุวชิต  พิชิตกุล  กทช.พิจารณาแล้วมีมติยืนยันการปฏิบัติหน้าที่ประธานกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ของพลเอกสุวชิต พิชิตกุล ต่อไป ”
3.  ปรับปรุงแก้ไขมติที่ประชุมในหน้า 15-17 วาระที่ 6.5  : การอุทธรณ์คำสั่งของ บจ.ทรูมูฟ  และวาระที่ 6.6 : การชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ให้ละเอียดและชัดเจนมากยิ่งขึ้นตามข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุม ทั้งนี้ ให้สำนักการประชุมฯ นำเสนอ กทช.สุธรรมฯ เพื่อพิจารณาตรวจแก้ไขอีกครั้งหนึ่งก่อนนำเสนอที่ประชุม กทช.
 
ระเบียบวาระที่     3    :  รายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 3/2553 วันพุธที่ 3  กุมภาพันธ์ 2553 

มติที่ประชุม              รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 3/2553   วันพุธที่  3 กุมภาพันธ์ 2553  ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
 
ระเบียบวาระที่   4       :  เรื่องเพื่อพิจารณา   
ระเบียบวาระที่   4.14  :  การเรียกคืนคลื่นความถี่ GSM 1900 MHz ของ บมจ.ทีโอที : คณะกรรมการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่, รทช.ทศพรฯ, ตว.


มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบให้เรียกคืนคลื่นความถี่ GSM 1900 MHz ย่านความถี่ 1885 - 1900 MHz คู่กับ 1965 - 1980 MHz จาก บมจ.ทีโอที เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติต่อไป โดยให้คงความถี่ 1965 – 1980 MHz คู่กับ 2155 - 2170 MHz เพื่อให้ บมจ.  ทีโอที นำไปให้บริการระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 (IMT - 2000) ซึ่งได้รับอนุญาตไว้เดิม โดยการเรียกคืนความถี่ให้ดำเนินการตามแนวทางที่คณะกรรมการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่เสนอ ดังนี้
1.1  การคืนความถี่ 1885 - 1900 MHz คู่กับ 1965 - 1980 MHz กระทำเมื่อ บมจ.ทีโอที ได้จัดตั้งเครือข่าย IMT-2000 และมีการโอนผู้ใช้บริการ GSM 1900 MHz เดิมไปเครือข่าย IMT 2000 โดยให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 ปี นับแต่วันที่ได้รับอนุญาตให้ติดตั้งโครงข่าย ทั้งนี้ เพื่อมิให้ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ GSM 1900 MHz เดิม ซึ่งในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว ห้ามมิให้ บมจ.ทีโอที ขยายเครือข่าย GSM 1900 MHz และห้ามมิให้ บมจ.ทีโอที นำเข้าอุปกรณ์   และอะไหล่ของเครือข่าย GSM 1900 MHz เข้ามาในราชอาณาจักร รวมทั้ง ให้ยกเลิกการใช้ความถี่ 1885 - 1900 MHz ทันทีเมื่อครบกำหนดแล้ว โดยจัดตั้งผู้แทนเพื่อเจรจากับ บมจ.ทีโอที เกี่ยวกับเงื่อนไขในการคืนความถี่ดังกล่าว 
1.2 กรณีการดำเนินการตามข้อ 1. ไม่บรรลุผลสำเร็จ ให้ดำเนินการตามประกาศ กทช. ว่าด้วย การโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และการให้ผู้อื่นร่วมใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2550 ข้อ 47 และข้อ 68 – 70 ซึ่งเป็นกระบวนการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ที่ กทช.  มีอำนาจตามกฎหมายที่กระทำได้ ทั้งนี้ โดยให้มีหนังสือแจ้ง บมจ.ทีโอที หลังจากที่ กทช. มีมติให้มีการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ย่าน GSM 1900 MHz ซึ่งมีผลเป็นการยกเลิกใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่ GSM 1900 MHz ของ บมจ.   ทีโอที ทันที 
2.  เนื่องจากได้มีการกำหนดเงื่อนไขไว้แล้วว่าเมื่อมีการนำคลื่น IMT 2000 มาใช้เพื่อการพาณิชย์แล้ว ให้หน่วยงานความมั่นคง หรือกรมการทหารสื่อสารหยุดใช้งาน จึงให้สำนักงาน กทช. มีหนังสือแจ้งเพื่อยืนยันต่อกรมการทหารสื่อสารต่อไป แต่หากยังไม่ประสบผลก็ เห็นชอบให้จัดผู้แทนเพื่อเจรจาในการเรียกคืนความถี่กับหน่วยงานเพื่อความมั่นคงของรัฐที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ความถี่ในย่าน IMT - 2000 รวม 2 ราย ได้แก่ กรมการสื่อสารทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย จำนวน 4 ความถี่ คือ 2114.0 MHz 2122.0 MHz 2146.0 MHz 2154.0 MHz และกองทัพ บก จำนวน 1 คู่ความถี่ คือ 1933.5 MHz คู่กับ 2052.5 MHz ต่อไป
3. มอบหมายให้คณะกรรมการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ ทำหน้าที่เป็นผู้แทนในการเจรจากับ บมจ.ทีโอที ตามข้อ 1 และหน่วยงานเพื่อความมั่นคงของรัฐ ตามข้อ 2 ต่อไป
4.  เห็นชอบให้สำนักงาน กทช. ยึดถือแนวทางการบริหารจัดการการใช้คลื่นความถี่ GSM 1900 MHz ซึ่ง กทช. มีมติเห็นชอบแล้ว ตามข้อ 1.  
5.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. (รทช.ทศพรฯ) จัดส่งฐานข้อมูลการใช้คลื่นความถี่ย่านต่างๆ ที่เป็นปัจจุบันให้แก่คณะกรรมการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ เพื่อใช้ประกอบการวิเคราะห์แนวทางการบริหารจัดการในการกำหนดและจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ เพื่อให้สามารถนำเสนอ กทช. พิจารณาได้อย่างถูกต้อง และเหมาะสมต่อไป

ระเบียบวาระที่   4.22   :   ร่างระเบียบ กทช.  ว่าด้วยการตรวจสอบภายในสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. .... : รทช.ฐากรฯ, คกก.พัฒนาและติดตามการประเมินระบบการควบคุมภายใน

มติที่ประชุม                เห็นชอบและมอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการปรับปรุงแก้ไข ร่างระเบียบ กทช. ว่าด้วยการตรวจสอบภายในสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ พ.ศ. .... ตามที่คณะกรรมการพัฒนาและติดตามการประเมินระบบการควบคุมภายในเสนอ ให้ถูกต้องและเหมาะสมยิ่งขึ้น โดยแก้ไขข้อความในข้อ 14 (3) และ (5) ให้สอดคล้องตามมาตรา 44 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2543 จากเดิม “การเงินการคลัง” เป็น “การเงินการบัญชี และการพัสดุของสำนักงาน กทช.”  และนำเรียนหารือ กทช.สุธรรมฯ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อความรอบคอบก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป ทั้งนี้ สำหรับร่างระเบียบ กทช. ว่าด้วยการจัดตั้งสถาบันตรวจสอบภายในสำนักงาน กทช. พ.ศ. .... ตามที่ กทช.สุธรรมฯ เสนอให้สำนักงาน กทช.รับไปพิจารณาเพื่อนำเสนอที่ประชุม กทช. โดยเร็วอีกครั้งหนึ่ง

ระเบียบวาระที่   4.24  :   การพิจารณาคำขอใช้สิทธิตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการใช้สิทธิในการปักหรือตั้งเสา หรือเดินสาย  วางท่อ หรือติดตั้งอุปกรณ์ประกอบใดในการให้บริการโทรคมนาคม (หรือหลักเกณฑ์สิทธิแห่งทาง) และมาตรา 39 วรรคแรก ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 : คกก.พิจารณาสิทธิแห่งทาง, พต.

มติที่ประชุม              เห็นชอบแผนผังการพาดสายสื่อสารโทรคมนาคมของผู้ประกอบการ จำนวน 6 ราย (บมจ.ทีโอที  บมจ.กสท โทรคมนาคม  บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์  บจ.ทรูยูนิเวอร์แซล คอนเวอร์เจนซ์  บจ.ซุปเปอร์บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค และ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส) 26 คำขอ 97 เส้นทาง 21 ชุมสาย กับเสาไฟฟ้าของการไฟฟ้านครหลวงและการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ซึ่งเป็นการขอใช้สิทธิตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการใช้สิทธิในการปักหรือตั้งเสา หรือเดินสาย วางท่อ หรือติดตั้งอุปกรณ์ประกอบใดในการให้บริการโทรคมนาคม (หรือหลักเกณฑ์สิทธิแห่งทาง) และมาตรา 39 วรรคแรก ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ทั้งนี้ ในกรณีที่บริษัทฯ อยู่ภายใต้สัญญาร่วมการงานให้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมว่า สิทธิที่ได้รับตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ เป็นสิทธิเชิงทรัพย์สิน ซึ่งอาจจะอยู่ภายใต้สัญญาร่วมการงาน ดังนั้น จึงต้องแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตทราบก่อนดำเนินการ และการอนุญาตของ กทช. ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะขัดหรือแย้งกับสิทธิการร่วมการงานดังกล่าว ทั้งนี้ ให้ผู้ประกอบกิจการปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ กทช. กำหนดโดยเคร่งครัดต่อไป

หมายเหตุ                   ระเบียบวาระเพื่อพิจารณาที่เหลือได้แก่ วาระที่ 4.1 - 4.13, 4.15 - 4.21, 4.23 และ 4.25 - 4.42 จะได้นำเสนอในการประชุม กทช. ครั้งต่อไป
 
ระเบียบวาระที่   5       :  เรื่องเพื่อทราบ
หมายเหตุ                  ระเบียบวาระเพื่อทราบได้แก่ วาระที่ 5.1 - 5.19 จะได้นำเสนอในการประชุม กทช. ครั้งต่อไป

ระเบียบวาระที่   6      :   เรื่องอื่นๆ
ระเบียบวาระที่   6.1   :   มาตรการแก้ไขวิทยุชุมชน : คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์


มติที่ประชุม              
1.  รับทราบรายงานผลการเข้าร่วมประชุมหารือร่วมกับ สภาความมั่นคงแห่งชาติ เรื่อง การแก้ไขปัญหาอันเนื่องมาจากการดำเนินงานของวิทยุชุมชนที่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 ณ อาคารสำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ ทำเนียบรัฐบาล ตามที่ รทช.ฐากรฯ รักษาการในตำแหน่ง ลทช. กล่าวรายงานต่อที่ประชุม กทช. ทั้งนี้ โดยในการประชุมหารือร่วมกับ สภาความมั่นคงแห่งชาติดังกล่าว ที่ประชุมมีแนวทางดำเนินการในการขอความร่วมมือจาก กทช.เพื่อสนับสนุนการดำเนินการแก้ไขปัญหาวิทยุกระจายเสียงชุมชนที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ
2.  จากการพิจารณาข้อเสนอการขอรับการสนับสนุนบุคลากรของสำนักงาน กทช. เพื่อทำหน้าที่ผู้ช่วยเจ้าพนักงานในการทำหน้าที่ตาม มาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ตามแนวทางที่คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เสนอมาแล้วเห็นว่า เมื่อพิจารณาในประเด็นฐานอำนาจของ กทช. ที่จะดำเนินการตามมาตรา 53 ตามที่พระราชบัญญัติดังกล่าวกำหนดไว้ซึ่งผลจากการตอบข้อหารือของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาในประเด็นนี้นั้น ยังไม่มีความชัดเจน ประกอบกับความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยให้การกำกับดูแลเป็นอำนาจของคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ดังนั้น โดยสถานะของข้อเท็จจริง และประเด็นวินิจฉัยทางกฎหมายข้างต้น กทช. จึงไม่มีอำนาจดำเนินการตามมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ได้ หากแต่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่จะดำเนินการกำกับดูแลตามอำนาจที่บัญญัติไว้ในมาตรา 53 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 
3.  คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ต้องรีบดำเนินการออกใบอนุญาตฯ ให้ได้โดยเร็วที่สุด เนื่องจากจะต้องรายงานต่อรัฐสภาในเดือนมีนาคม 2553 จึงมอบหมายให้คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ จัดทำรายงานความคืบหน้า และแผนการดำเนินงาน (Work plan) รวมทั้งการกำหนดเป้าหมาย (Target) ที่ชัดเจนในการดำเนินการออกใบอนุญาตประกอบกิจการวิทยุชุมชน เพื่อให้เป็นไปตามที่พระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 กำหนดไว้โดยเร็ว เนื่องจากมีความล่าช้ามากแล้ว และนำเสนอที่ประชุม กทช.ต่อไป

สร้างโดย  -   (17/3/2559 17:28:23)

Download

Page views: 80