ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวปาฐกาพิเศษในงาน Digital Skills for Media Industry

     วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช.ด้านกิจการโทรทัศน์ กล่าวปาฐกาพิเศษในงาน Digital Skills for Media Industry ของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) และรับฟังการรายงานผลการศึกษาวิเคราะห์อุตสาหกรรมสื่อดิจิทัลและทิศทางของอุตสาหกรรมสื่อ ซึ่งเป็นการศึกษาที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนจากเงินกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กทปส.) ณ โรงแรมคอนราด กรุงเทพ
     ทั้งนี้ การส่งเสริมศักยภาพของนักวิชาชีพในอุตสาหกรรมสื่อยังเป็นส่วนหนึ่งของภารกิจเชิงยุทธศาสตร์ตามกฎหมายและแผนแม่บทด้านกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ของ กสทช.ด้วย
     ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรองฯ กล่าวว่า disruption เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้เสมอ เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงอันหมายถึงมีบางอย่างที่ต้องพังลงเพื่อเปิดทางให้สิ่งใหม่ที่มีศักยภาพเหนือกว่ามาแทนที่ ดังนั้น ผู้ประกอบการจึงต้องปรับตัวอยู่เสมอ พร้อมๆ กับการมองหาโอกาสในวิกฤติ ดังเช่นที่ผู้คนในอุตสาหกรรมสื่อโสตทัศน์หลายประเทศ ต่างเห็นว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตเนื้อหาที่ดี ดังนั้น การส่งเสริมเรื่อง “Content” จึงต้องร่วมกันสนับสนุน ผลักดัน และ เสริมสร้างศักยภาพให้อุตสาหกรรมไทยสามารถส่งออกเนื้อหาไปสู่ตลาดนานาชาติได้
     เมื่อมองถึงบทบาทของ กสทช. ในการกำกับดูแลกิจการโทรทัศน์ ไม่ใช่มีบทบาทหน้าที่เพียงในการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบต่างๆ เท่านั้น แต่มีบทบาทหน้าที่ในการส่งเสริมและเป็นผู้อำนวยความสะดวก (facilitator) ในการพัฒนาอุตสาหกรรมสื่อ ซึ่งในปัจจุบัน กสทช. มีนโยบายที่สอดคล้องกับบทบาทหน้าที่ดังกล่าวอย่างครอบคลุม เช่น แนวทางการพัฒนาแพลตฟอร์มสตรีมมิ่งแห่งชาติ การพัฒนาหลักเกณฑ์การส่งเสริมเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม และระบบสะสมแต้มเนื้อหาที่มีคุณค่า (social credit) และ การส่งเสริมสื่อชุมชน เป็นต้น
     สำหรับโครงการ Digital Skills for Media Industry ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาศักยภาพบุคลากรสื่อกว่า 1,000 คน ในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2566 เป็นการให้ทุนของ กสทช. ผ่าน กองทุน กทปส. ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 52 (3) ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ที่ให้สนับสนุนการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมสื่อ และสอดคล้องกับแผนแม่บทกิจการ ฉบับปรับปรุงที่กำหนดให้มีตัวชี้วัดของยุทธศาสตร์ที่เน้นการส่งเสริมอุตสาหกรรมให้สามารถปรับตัวรับการแข่งขันในยุคดิจิทัลได้ดีขึ้นและกำหนดให้มีการส่งเสริมพัฒนา Digital Competency ของผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมด้วย
 

สร้างโดย  - มหิตถีห์  จักราบาตร (20/11/2566 11:23:28)

Download

Page views: 213