บทความพิเศษ เปิดใจทีมเบื้องหลัง ปฏิบัติการ “คูปองดิจิตอล” ปั้นฝันประวัติศาสตร์โทรทัศน์ไทย

เปิดใจทีมเบื้องหลัง ปฏิบัติการ “คูปองดิจิตอล”  ปั้นฝันประวัติศาสตร์โทรทัศน์ไทย
เตรียมพร้อมทุกฝ่ายก่อนการแจกคูปอง
 
     สำนักกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล (จส.) เป็นอีกส่วนงานที่มีความสำคัญต่อการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านกิจการโทรทัศน์ของประเทศไทยจากการส่งสัญญาณภาคพื้นดินระบบแอนะล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล  ซึ่งสำนักงานกสทช.ได้เตรียมการก่อนการแจกคูปอง   โดยเชิญผู้ประกอบการกิจการโทรทัศน์ในระบบแอนะล็อกหารือความคิดเห็นการแจกคูปอง เช่น ในการแจกคูปองฯ รอบที่ 2  วันที่ 28 พฤศจิกายน 2557  ผู้ประกอบการฯ ร่วมให้ความเห็นและสรุปว่าควรแจกคูปองเฉพาะอำเภอที่สามารถรับสัญญาณโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลครอบคลุมเกินกว่า 80% ในแต่ละพื้นที่ ในเขตพื้นที่อีก 20 จังหวัด ได้แก่ อุบลราชธานี ลำพูน พิษณุโลก สุราษฎร์ธานี อำนาจเจริญ ชลบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ลพบุรี มหาสารคาม เชียงใหม่ จันทบุรี สระบุรี เพชรบุรี ปัตตานี พิจิตร กาญจนบุรี กำแพงเพชร กาฬสินธุ์ ปราจีนบุรี
สำหรับอำเภออื่นๆ จะทยอยแจกหลังจากที่มีการขยายสัญญาณครอบคลุมเกินกว่า 80% ในพื้นที่อำเภอนั้นๆแล้ว รวมทั้งในส่วนครัวเรือนที่มีบ้านและเจ้าบ้าน ที่ปลูกสร้างบ้านอยู่บนที่สาธารณะ และกรมการปกครองได้ออกทะเบียนบ้านชั่วคราวไว้เป็นหลักฐานจำนวน 7-8 หมื่นครัวเรือน เพี่อจะแจกเพิ่มเติม
     นอกจากนี้ทาง จส. ประสานงานติดตามความคืบหน้าของพื้นที่การให้บริการโครงข่าย (Multiplexer) หรือเรียกกันสั้นๆ ว่า  MUX  ซึ่งล่าสุด ณ วันที่ 25 พฤศจิกายน ผู้ให้บริการโครงข่ายทั้งหมด 4 ราย ได้แก่ กรมประชาสัมพันธ์ กองทัพบก อสมท. และองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย(ไทยพีบีเอส) มีเพียงกรมประชาสัมพันธ์ และ อสมท. ที่แผนการติดตั้งสถานีล่าช้ากว่าแผนเดิมที่วางไว้ ขณะที่ไทยพีบีเอส ติดตั้งได้มากกว่าแผน

ประสานทุกฝ่ายร่วมใจงานให้ลุล่วง
     ก่อนและหลังการแจกคูปอง หน่วยงานภายในสำนักงาน กสทช. จะมีการหารือเตรียมความพร้อมทั้งองคาพยพ โดยสำนักกิจการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล(จส.) ได้มีการเชิญตัวแทนหน่วยงานภายใน ได้แก่ สำนักสื่อสารองค์กร(สบ.)  คอลล์เซ็นเตอร์ (Call Center 1200 ) และสำนักการพัสดุและบริหารทรัพย์สิน (พย.) ทำความเข้าใจการให้ข้อมูลกับประชาชนร่วมกัน เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง ขณะเดียวกัน สำนักงาน กสทช. ได้ขอความร่วมมือไปยังหน่วยงานภายนอก เช่น กรมที่ดิน การเคหะแห่งชาติ และผู้ประกอบการคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่ เข้าร่วมประชุมหารือการติดตั้งเสาอากาศรวมในคอนโดมิเนียมเพื่อให้ผู้อาศัยมีทางเลือกในการรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ปัจจุบันผู้ประกอบการคอนโดมิเนียมส่วนใหญ่ได้ติดตั้งเสาอากาศรวมเพื่อให้บริการผู้อาศัยในแต่ละโครงการเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ก่อนการแจกคูปองระยะที่ 2 ใน 20 จังหวัด เลขาธิการ กสทช. ได้ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ รักษาการผู้อำนวยการ จส. ลงพื้นที่จังหวัดชลบุรี และผู้อำนวยการการเขตพื้นที่ต่าง ๆ ได้ลงพื้นที่ใน 21 จังหวัด เพื่อร่วมประชุมกับผู้ว่าราชการจังหวัดและส่วนราชการจังหวัดเพื่อนำไปกระจายข่าวให้ประชาชนในพื้นเกี่ยวกับข้อมูลการแจกคูปองระยะที่ 2 เฉพาะอำเภอที่มีโครงข่ายครอบคลุมพื้นที่เกิน 80% ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี
 
เน้นการประชาสัมพันธ์ทุกช่องทางให้ความรู้ถึงประชาชน
     การสร้างการรับรู้กับประชาชนเป็นเรื่องสำคัญในการเชิญชวนให้ประชาชนเปลี่ยนผ่านเทคโนโลยี  เริ่มจากการให้ความรู้สำการจัดอบรม สัมมนาความรู้เกี่ยวกับการรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลให้กับหน่วยงานและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง เริ่มจาก ผู้ประกาศข่าว ผู้ดำเนินรายการจากช่องรายการต่างๆ  ผู้ประกอบการกลุ่มผู้ผลิตและประกอบการอุปกรณ์การรับชม รวมถึงหน้าร้านที่เกี่ยวข้องกับการจัดจำหน่ายอุปกรณ์การรับชมดิจิตอลทีวีอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการให้ความร่วมมือกับหน่วยงาน สถาบันการศึกษาต่างๆ ในการให้ข้อมูลความรู้ ชี้แจงความคืบหน้าและรายละเอียดต่าง ๆ เกี่ยวกับคูปองดิจิตอลทีวี
      และรวมถึงการทำประชาชนสัมพันธ์ในวงกว้างด้วยการเผยแพร่ภาพยนตร์โฆษณาชุดน้องดูดีมาสคอตดิจิตอลทีวีวิ่งนำคูปองส่งถึงบ้านที่ได้เห็นผ่านสื่อโดยทั่วกันแล้ว  โดยใจความโฆษณาดังกล่าวที่สำคัญคือการเน้นให้ประชาชนศึกษาหรืออ่นคูปองโดยละเอียด  เพราะข้อมูลทุกอย่างทั้ง ขั้นตอนการใช้คูปองเอง  การมอบฉันทะให้ผู้อื่นดำเนินการ  การนำคูปองไปแลกอุปกรณ์เพื่อการรับชมทั้ง set top box หรือ Digital TV   ก็ได้จัดคำบรรยายไว้โดยละเอียด  และยังได้จัดกิจกรรมในรูปแบบของ โรดโชว์ (Roadshow)  นิทรรศการให้ความรู้ถึงตัวประชาชนในพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครราชสีมา เชียงใหม่ และหาดใหญ่ โดยเริ่มกิจกรรมได้เริ่มตั้งแต่ช่วงกลางปี 2557ตามลำดับ
     นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการเผยแพร่ผ่านช่องทางบนอินเตอร์เน็ท ไม่ว่าจะเป็น เว็บไซต์ เฟสบุ๊ค รวมทั้งยูทูป ซึ่งได้แก่ digitaltv.nbtc.go.thwww.facebook.com/digitaltv.nbtc  และ  digitaltv.nbtc ตามลำดับ  เพื่อให้ข้อมูลความรู้ ข่าวสารที่เกี่ยวข้องกับดิจิตอลทีวีให้กับประชาชนและภาคส่วนต่างๆ ได้รับทราบ  โดยมีจัดทำ ปรับปรุง และดูแลอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารใหม่ ๆ ที่ทันต่อเหตุการณ์อยู่เสมอ
     ทั้งหมดนี้ในส่วนของการเผยแพร่สื่อโดยส่วนใหญ่จะได้รับความร่วมมือจากผู้ประกอบกิจการดิจิตอลทีวีในการออกอากาศภาพยนตร์โฆษณาผ่านช่องโทรทัศน์และตัววิ่ง การส่ง SMS ผ่านโทรศัพท์มือถือ  โดยการขอความร่วมมือผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือส่ง SMS แจ้งเตือนประชาชนอย่านำสำเนาบัตรประชาชนให้กับกลุ่มบุคคลหรือหน่วยงานใดก็ตามที่อ้างว่าเป็นตัวแทนจากสำนักงาน กสทช. เพื่อนำไปแลกคูปอง โดยกระตุ้นให้ประชาชนนำคูปองไปแลกเอง จะมีโอกาสเลือกสินค้าได้มากกว่า
 
แก้ไขปัญหาถูกแอบอ้างเก็บบัตรประชาชน
     ปัญหาสำคัญที่ผ่านมา ซึ่งได้รับการร้องเรียนจากประชาชน   แม้จะมีการเร่งประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง คือ การเรียกเก็บสำเนาบัตรประชาชนการกลุ่มบุคคลที่แอบอ้างว่าเป็นตัวแทนจากสำนักงาน กสทช. รวมทั้งเชิญบริษัทที่มีรายชื่อตามที่ประชาชนร้องเรียนเข้าตักเตือน  แต่ก็ยังได้รับการแจ้งร้องเรียนผ่านมายัง คอลล์เซ็นเตอร์  1200 รวมทั้งทางเฟสบุ๊ค www.facebook.com/digitaltv.nbtc  ว่าคูปองถูกรวบรวมไว้ที่ผู้นำชุมชน มีกลุ่มคน ผู้นำชุมชน ผู้ใหญ่บ้านให้ความร่วมมือกันกับทางผู้ประกอบการบางรายทำการแอบอ้างเรียกเก็บสำเนาเอกสารสำคัญเพื่อการแลกรับอุปกรณ์การรับชมดิจิตอลทีวีจากทางประชาชน ในเขตพื้นที่ต่างๆ เช่น พัทลุง สุพรรณบุรี ลพบุรี อุบลราชธานี เป็นต้น
     ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ได้แนะนำให้ประชาชนผู้ประสบเหตุดังกล่าว ดำเนินการร้องเรียน รวบรวมและจัดส่งเอกสารต่างๆ ที่เกี่ยวข้องไปยัง “อีเมล์ 1200@nbtc.go.th” ในการเป็นศูนย์กลางรวบรวมข้อมูล ส่งต่อให้กับหน่วยงานผู้รับผิดชอบ เพื่อประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ซึ่งถือเป็นหน่วยงานผู้รับผิดชอบในการจัดส่งคูปองไปยังครัวเรือนของประชาชน
     ส่วนปัญหาเรื่องการครอบคลุมพื้นที่ของสัญญาณการให้บริการที่ยังไม่เป็นไปตามแผน ซึ่งได้เชิญผู้ให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ประเภทที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล(MUX) เข้าชี้แจง เพื่อเร่งการติดตั้งเสาโครงข่ายตามแผนงานเพื่อขยายพื้นที่การรับชมโทรทัศน์ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอลให้กับประชาชนให้ได้ตามกำหนด  แต่เนื่องจากสัญญาณในบางพื้นที่ที่อยู่ห่างจากเสาโครงข่ายหลักอาจส่งผลต่อการรับชมได้ ทางประชาชนในแต่ละพื้นที่ต้องติดตั้งอุปกรณ์ในการรับชม อาทิ รูปแบบและชนิดของเสาอากาศ รองรับสัญญาณในการรับชมให้เหมาะสมกับระยะห่างจากเสาโครงข่ายที่ส่งสัญญาณ   
ภารกิจต่อไป...  จส. และผู้ให้บริการโครงข่าย ตรวจสอบคุณภาพและพื้นที่สัญญาณการรับชม เพื่อวางแผนติดตั้งเสาโครงข่ายเสริมให้ครอบคลุมพื้นที่ในการรับชมที่ดีขึ้นในอนาคตต่อไป

 

สร้างโดย  -   (8/3/2560 14:58:14)

Download

Page views: 19