กสทช. และ สตช. เดินหน้ากวาดล้างสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่เถื่อน ควบคู่การจัดระเบียบเสาสัญญาณตลอดแนวชายแดนทั่วประเทศ

            เมื่อวันที่ 18 ส.ค.66 เวลา 10.00 น. พล.ต.อ.ดร.ณัฐธร เพราะสุนทร กสทช. ด้านกฎหมาย และประธานอนุกรรมการบูรณาการบังคับใช้กฎหมายความผิดทางเทคโนโลยีฯ, พล.ต.ท.ดร.ธัชชัย ปิตะนีละบุตร ผู้ช่วย ผบ.ตร. ดูแลงานด้านป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมเทคโนโลยี, นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการ เลขาธิการ กสทช., พล.ต.ต.ฐิตวัฒน์ สุริยฉาย ผบก. สอท.4, นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการโทรคมนาคม, นายสมบัติ ลีลาพตะ รักษาการ รองเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการภูมิภาค, นายพิชัย สุวรรณกิจบริหาร ผู้ช่วยเลขาธิการ กสทช. สายงานกิจการภูมิภาค, นายจาตุรนต์ โชคสวัสดิ์ ผอ.สำนักกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม, นายมนต์ชัย ณ ลำพูน ผอ. สำนักงาน กสทช. ภาค 3 พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ สำนักงาน กสทช. ร่วมกันแถลงผลการจับกุมและตรวจสอบกวดขัน สถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่และสถานีส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผิดกฎหมาย ตามแนวชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน ด้าน จ.เชียงราย 
           ตามนโยบายของภาครัฐในการปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะแก๊งคอลเซ็นเตอร์ และเว็บพนันออนไลน์ ที่มีฐานปฏิบัติอยู่ตามแนวชายแดนฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน โดยใช้สัญญาณโทรคมนาคมและสัญญาณอินเทอร์เน็ตจากฝั่งไทย 
          พล.ต.อ.ดร.ณัฐธรฯ ได้กล่าวถึงสาเหตุที่ขบวนการอาชญากรรมจำเป็นต้องมาตั้งฐานปฏิบัติการบริเวณชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากจำเป็นต้องใช้สัญญาณโทรคมนาคมจากฝั่งไทย เพื่อให้แสดงเป็นหมายเลขไทยเกิดความน่าเชื่อถือ และทำให้ยากต่อการติดตามจับกุมคนร้ายมาดำเนินคดี เนื่องจากผู้กระทำผิดอยู่ประเทศหนึ่งผู้เสียหายอยู่อีกประเทศหนึ่ง นอกจากนี้ภายหลังจากที่ สำนักงาน กสทช. มีการออก 7 มาตรการที่สำคัญ ดังต่อไปนี้  
           (1) ระงับการโทรเข้าจากต่างประเทศที่มีรูปแบบของเลขหมายที่แก๊งคอลเซ็นเตอร์ใช้ประจำ  
         (2) ระงับการโทรเข้าจากต่างประเทศไม่มีการกำหนดเลขหมายต้นทาง ซึ่งมาจากช่องทาง VoIP โดยประชาชนสังเกตได้จากหมายเลขขึ้นต้นด้วย +697” 
          (3) กำหนดให้ผู้ให้บริการจะต้องเพิ่ม Prefix สำหรับกรณีบริการที่ระบุเลขหมาย โดยใช้เครื่องหมาย “+698” นำหน้าเลขหมายที่เป็น Roaming จากต่างประเทศ 
          (4) จัดทำบริการ โทรหมายเลข *138 ให้ประชาชนเลือกปฏิเสธการรับสายที่โทรจากต่างประเทศได้   
          (5) การจัดทำระบบลงทะเบียนกรณีผู้ทำการส่ง SMS จำนวนมากๆ ต้องมีการลงทะเบียนล่วงหน้า
          (6) การจำกัดลงทะเบียนซิมการ์ด มากกว่า 5 ซิม จะต้องไปลงทะเบียนและยืนยันตัวตนที่ศูนย์ให้บริการ 
          (7) การยกเลิกการส่ง SMS จากสถาบันทางการเงินแนบลิงค์ต่างๆ
     (8) กด *179*เลขบัตรประชาชน# โทรออก เพื่อให้ธนาคารตรวจสอบ ว่าผู้เปิดบัญชีออนไลน์เป็นเจ้าของเลขหมายโทรศัพท์ที่แท้จริง
             ทำให้แก๊งคอลเซ็นเตอร์โทรจากต่างประเทศไม่ได้ ประกอบกับประชาชนมีการระมัดระวังสายต่างประเทศมากขึ้น ผู้กระทำผิดจึงจำเป็นที่จะต้องอาศัยสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่จากฝั่งไทยในการหลอกลวงประชาชน ดังนั้น การเดินหน้าปราบปรามสถานีฐานโทรศัพท์เคลื่อนที่และสถานีส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ตผิดกฎหมายควบคู่ไปกับการจัดระเบียบเสาสัญญาณตลอดแนวชายแดนทั่วประเทศไม่ให้สัญญาณข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้าน 
จึงเปรียบเสมือนการตัดแขนตัดขากลุ่มอาชญากรทางเทคโนโลยีไม่ให้ทำงานได้สะดวกเหมือนในอดีตได้          
          พล.ต.ท.ดร.ธัชชัยฯ   กล่าวว่า ในช่วงที่ผ่านมา สตช. ร่วมกับ สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบสถานีโทรคมนาคมและเสาสัญญาณตลอดแนวชายแดนด้าน จ.เชียงราย พบว่ามีการตั้งสถานีโทรคมนาคมและเสาสัญญาณผิดกฎหมายหลายแห่ง จึงได้ดำเนินการสืบสวนรวบรวมพยานหลักฐานเพื่อขอหมายศาล จนนำไปสู่การจับกุมจำนวนหลายราย โดยมีรายละเอียด ดังต่อไปนี้
      กรณีที่ 1 เข้าตรวจสอบและจับกุมสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต ลักลอบส่งสัญญาณอินเทอร์เน็ต  และหันทิศทางสายอากาศไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ดังนี้
                 1) สอท. ร่วมกับ กสทช. ภาค 3 ตรวจค้นจับกุมการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 1 สถานี เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน ในพื้นที่ ต.เวียงพางคำ อ.แม่สาย จึงได้จับกุมผู้กระทำผิดและยึดของกลางที่ใช้กระทำความผิด ประกอบด้วย เครื่องวิทยุคมนาคม จำนวน 8 เครื่อง , อุปกรณ์การจ่ายสัญญาณพร้อมกระแสไฟฟ้า จำนวน 4 เครื่อง และสายนำสัญญาณพร้อมหัวต่อความยาว 30 เมตร จำนวน 8 เส้น  
                   2) สอท. ร่วมกับ กสทช. ภาค 3 ตรวจค้นจับกุมการตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับอนุญาต จำนวน 7 สถานี ในพื้นที่ ต.เวียงพางคำ และ ต. แม่สาย อ.แม่สาย เพื่อให้บริการอินเทอร์เน็ตไปยังประเทศเพื่อนบ้าน จึงได้ยึดของกลางที่ใช้กระทำความผิด ประกอบด้วย เครื่องวิทยุคมนาคม จำนวน 8 เครื่อง , อุปกรณ์เครื่องวิทยุคมนาคม จำนวน 18 รายการ 
            ทั้งสองกรณีเป็นความผิดฐาน “มีและใช้ซึ่งเครื่องวิทยุคมนาคมและตั้งสถานีวิทยุคมนาคมโดยไม่ได้รับใบอนุญาต” ตามมาตรา 6 และ 11 ประกอบมาตรา 23 แห่ง พรบ.วิทยุคมนาคมฯ มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือจำคุกไม่เกินห้าปี หรือทั้งปรับทั้งจำ และความผิดฐาน “ประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งต้องได้รับใบอนุญาตแบบที่หนึ่งโดยไม่ได้อนุญาต” ตามมาตรา 67 (1) แห่งพรบ.ว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ มีโทษปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท พร้อมทั้งจับกุมผู้กระทำผิด จำนวน 2 ราย ในการนี้ สำนักงาน กสทช. ภาค 3 ได้ทำการรื้อถอน
สถานีวิทยุคมนาคมผิดกฎหมายดังกล่าวทั้งหมด และทำการยึดอุปกรณ์เครื่องวิทยุโทรคมนาคมที่ใช้กระทำความผิดได้เป็นจำนวนมาก นำส่งพนักงานสอบสวน สภ. แม่สาย จ.เชียงราย เพื่อดำเนินคดีตามกฎหมายเรียบร้อยแล้ว   
            กรณีที่ 2 สำนักงาน กสทช. ตรวจสอบพื้นที่ชายแดน จำนวน 4 อำเภอ ประกอบด้วย อ.เชียงแสน, อ.เชียงของ, อ.แม่สาย และ อ.เวียงแก่น จ.เชียงราย จำนวน 105 ต้น ด้วยเครื่องมือพิเศษ พบว่ามีเสาสัญญาณจำนวนมากมีการส่งสัญญาณข้ามไปยังประเทศเพื่อนบ้านซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่มีการเคลื่อนไหวของแก๊งอาชญากรรมข้ามชาติ กรณีนี้ สำนักงาน กสทช. ได้ดำเนินการแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งหมด เร่งแก้ไขปรับปรุงหรือปฏิบัติให้ถูกต้อง โดยให้ถอนการติดตั้งสายอากาศบางจุด หรือ ปรับทิศทางสายอากาศ หรือ ดำเนินการด้วยวิธีอื่นใด มิให้แพร่สัญญาณคลื่นความถี่ออกนอกเขตพื้นที่ประเทศไทย เพื่อให้พื้นที่การให้บริการ (Service Area) อยู่ภายในอาณาเขตพื้นที่ประเทศไทย
             พล.ต.อ.ดร.ณัฐธรฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า การปฏิบัติการที่ จ.เชียงรายในวันนี้ ถือเป็นการปฏิบัติต่อเนื่องจากเมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่าน ซึ่งสำนักงาน กสทช. และ สตช. ได้มีการกวาดล้างจับกุมสถานีโทรคมนาคมผิดกฎหมาย และตรวจสอบเสาสัญญาณ ในพื้นที่ชายแดนกับประเทศเพื่อนบ้าน ด้าน จ.สระแก้ว โดยหลังจากนี้ สำนักงาน กสทช. จะร่วมกันปฏิบัติการกับ สอท. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจสอบเอ็กซ์เรย์พื้นที่ตลอดแนวชายแดน ระยะทาง 5,326 กม. โดยเน้นพื้นที่เป้าหมายที่กลุ่มอาชญากรรมทางเทคโนโลยีตั้งฐานอยู่ อาทิ ชายแดน จ.สระแก้ว จ.เชียงราย ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่มีข้อมูลอยู่แล้ว

สร้างโดย  - ปฐมพงศ์  ศรีแสงจันทร์ (18/8/2566 14:17:12)

Download

Page views: 47