สรุปมติที่ประชุม กทช. 1/2552

มติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
ครั้งที่ 1/2552
วัน พฤหัสบดีที่ 15 มกราคม  2552  เวลา  9.30  น.
ณ ห้องประชุมชั้น  12  อาคารอำนวยการ สำนักงาน กทช.
 
ระเบียบวาระที่  1  :  เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
1. การประชุมครั้งนี้เป็นการประชุม กทช.ครั้งแรกของปี 2552 ขอให้สำนักงาน กทช.มุ่งมั่นและช่วยกันปฏิบัติหน้าที่ให้สำเร็จลุล่วงอย่างเต็มที่ ตลอดจนเข้มงวด กวดขัน เรื่องการปฏิบัติงานของพนักงานสำนักงาน กทช. ให้อยู่ในกรอบระเบียบ รวมทั้งขอให้สำนักงาน กทช.เร่งรัดดำเนินการในเรื่อง KPI ให้แล้วเสร็จ เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการดูแลบุคลากรได้อย่างเหมาะสม และเป็นระบบ 
2. นอกจากนี้ ในเรื่องการพัฒนาบุคลากร ยังมีความห่วงใย จึงขอให้ ลทช.และสำนักที่เกี่ยวข้อง ช่วยกันดูแลเอาใจใส่ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะการพิจารณาคัดเลือกพนักงานสำนักงาน กทช.ที่มีความตั้งใจ และมีคุณสมบัติที่เหมาะสม เพื่อเข้ารับการฝึกอบรมในด้านต่างๆ โดยขอให้สำนักงาน กทช.ประสานงานกับ กทช.แต่ละท่านด้วย โดยเฉพาะในกรณีที่ กทช.ได้มีการประสานงานกับหน่วยงานภายนอกไว้ก่อนแล้ว ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการดังกล่าวได้ให้โอกาสแก่พนักงานโดยทั่วถึงทั้งในประเทศ และต่างประเทศ
3. ในปี 2552 นี้ ขอให้สำนักงาน กทช.เร่งรัดการดำเนินงานให้เป็นไปตามแผนงาน/โครงการ เพื่อให้การเบิกจ่ายงบประมาณเป็นไปตามเป้าหมาย อย่าให้เกิดความล่าช้าเหมือนเช่นปีที่ผ่านมา
มติที่ประชุม  รับทราบเรื่องตามที่ประธานแจ้ง และมอบหมายให้สำนักงาน กทช.รับไป ดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 
ระเบียบวาระที่  2  :  รับรองมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 48/2551 วันอังคารที่ 23,วันพุธที่ 24 ,วันพฤหัสบดีที่ 25,วันศุกร์ที่ 26 และวันจันทร์ที่ 29  ธันวาคม  2551 
มติที่ประชุม
             
1.  รับรองมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 48/2551 วันอังคารที่ 23 ,วันพุธที่ 24 ,วันพฤหัสบดีที่ 25, วันศุกร์ที่ 26 และวันจันทร์ที่ 29 ธันวาคม 2551 ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ   โดยมีข้อแก้ไขข้อความในระเบียบวาระที่ 1 ข้อ 1 จากเดิม “ การประชุมต่อเนื่อง 3 วัน” เป็น “ การประชุมต่อเนื่อง 5 วัน” เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง
2.  มอบหมายให้ สำนักงาน กทช. จัดทำคำชี้แจงในทุกๆประเด็น กรณี กทช.สุธรรมฯ มีความเห็นแย้ง วาระที่  6.7 เรื่อง รายงานสรุปผลการดำเนินงานของคณะกรรมการพิจารณาเสนอแนะการจัดสรรการใช้ความ ถี่ WiMAX และ วาระที่ 6.9 เรื่อง ผลการพิจารณาประกวดราคาซื้อชุดสถานีตรวจสอบการใช้ความถี่วิทยุระบบควบคุม ระยะไกล เขตพื้นที่ภาคกลาง และเขตพื้นที่ภาคใต้  แล้วนำเสนอ กทช.ทราบและ/หรือพิจารณาต่อไป 
ระเบียบวาระที่  3  :  รายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช.  ครั้งที่ 48/2551 วันอังคารที่ 23, วันพุธที่ 24,  วันพฤหัสบดีที่ 25, วันศุกร์ที่ 26 และวันจันทร์ที่ 29  ธันวาคม  2551 
มติที่ประชุม
  รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 48/2551 วันอังคารที่ 23, วันพุธที่ 24, วันพฤหัสบดีที่ 25, วันศุกร์ที่ 26 และ วันจันทร์ที่ 29  ธันวาคม  2551  ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่  4  :  เรื่องเพื่อพิจารณา   
ระเบียบวาระที่  4.1 – 4.4  :  ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่  4.5  :  การทุเลาการบังคับตามคำชี้ขาดข้อพิพาทที่ 1/2551 : รทช.พิทยาพลฯ, กม.
มติที่ประชุม
             
1. ที่ประชุมได้พิจารณา และวินิจฉัยแล้วเห็นว่า โดยที่ปัจจุบัน ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งลงวันที่ 4 ธันวาคม 2551  มีคำสั่งไม่รับคำขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลา การบังคับ ตามคำสั่งทางปกครองของ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (ผู้ฟ้องคดี) จึงไม่มีเหตุที่จะทุเลาการบังคับตามคำชี้ขาดข้อพิพาทที่ 1/2551 ตามที่ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ร้องขอ ซึ่งหากให้ทุเลา การบังคับชี้ขาดดังกล่าวออกไป จะทำให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ขอใช้สิทธิตามกฎหมายและอาจกระทบ Welfare ของผู้ใช้บริการ  ดังนั้น ที่ประชุม จึงมีมติให้ ลทช.มีคำสั่งตามมาตรา 64 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 แจ้งให้ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ปฏิบัติตามคำชี้ขาดข้อพิพาทที่ 1/2551 โดยเคร่งครัดต่อไป
2. มอบหมายให้สำนักงาน กทช. มีหนังสือแจ้ง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น เพื่อทราบมติที่ประชุม ตามข้อ 1
ระเบียบวาระที่  4.6  :  การขอความเห็นชอบเพิ่มเติมต่อเอกสารแนบท้ายร่างสัญญาให้บริการไอเอสดีเอ็น ระหว่างประเทศ ระหว่าง บริษัท ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และ บริษัท NTT Communications Corporation จำกัด : รทช.พิทยาพลฯ, กม. 
มติที่ประชุม
             
1.  เห็นชอบเอกสารแนบท้ายร่างสัญญาให้บริการไอเอสดีเอ็น ระหว่างประเทศ  ระหว่าง บริษัท ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และ บริษัท NTT Communications Corporation จำกัด  ตามความเห็นของ สำนักงาน กทช. เนื่องจาก เมื่อตรวจสอบโดยละเอียดแล้วไม่มีลักษณะเป็นการจำกัดการแข่งขันในกิจการโทร คมนาคม และไม่มีผลกระทบต่อผู้ใช้บริการโทรคมนาคม รวมทั้งไม่มีประเด็นใดขัดแย้งกับหลักการของสัญญาตามที่ กทช.ได้มีมติเห็นชอบแล้ว 
2. มอบหมายให้ สำนักงาน กทช.มีหนังสือแจ้ง บริษัท ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด  เพื่อทราบมติที่ประชุมตามข้อ 1 และให้ บริษัทจัดส่งสัญญาดังกล่าวให้แก่สำนักงาน กทช.ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่บริษัทฯ ทำสัญญาเรียบร้อยแล้ว ทั้งนี้ตามมาตรา 54 วรรค2  แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ประกอบข้อ 8 ของประกาศ กทช.เรื่อง การขอความเห็นชอบสัญญาอันเกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ทำกับ รัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ หรือบุคคลที่อยู่ในต่างประเทศ พ.ศ.2549
ระเบียบวาระที่  4.7 – 4.9  :  ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่  4.10  :  การจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (IMT หรือ 3G and beyond) : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.
มติที่ประชุม
             
1. เพื่อให้การพิจารณาอนุมัติการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ (IMT หรือ 3G and beyond) เป็นไปด้วยความรอบคอบ เหมาะสม และถูกต้องตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด ที่ประชุมจึงมีมติ มอบหมายให้สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็นของที่ประชุม เพื่อเร่งจัดทำรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการตัดสินใจของ กทช.ให้แล้วเสร็จได้ภายในเดือนมกราคม 2552 และให้สำนักงาน กทช.จัดทำเอกสารประเด็นคำถามแนวทางการดำเนินการจัดสรรคลื่นความถี่ IMT หรือ 3G and beyond ในลักษณะเป็นคำถามเพื่อการตัดสินใจที่ชัดเจน แล้วหารือ กทช.เศรษฐพรฯ เพื่อความครบถ้วนถูกต้องก่อนแจ้งเวียนให้ กทช.พิจารณาล่วงหน้าในวันจันทร์ที่ 19 มกราคม 2552 แล้วขอรับคำตอบคืนภายในวันพุธที่ 21 มกราคม 2552 เพื่อรวบรวมเสนอที่ประชุม กทช.พิจารณาตัดสินใจในการประชุมครั้งต่อไปในวันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม 2552 โดยมีประเด็นที่สำคัญๆ อาทิ
1.1 คลื่นความถี่
  • การกำหนดจำนวนคลื่นความถี่และจำนวนผู้รับใบอนุญาต
  • วิธีการจัดสรรคลื่นความถี่
  • วิธีการคิดมูลค่าคลื่นความถี่
1.2  กระบวนการขั้นตอนการอนุญาต
  • ประเภทและลักษณะการอนุญาต พื้นที่ให้บริการที่จะอนุญาตทั่วประเทศ (National License) หรือแบบภูมิภาค (Regional License)
  • การกำหนดคุณสมบัติขั้นต้น (Pre-qualification) เพื่อ   คัดเลือกผู้ที่มีสิทธิเข้าร่วมรับการจัดสรร
  • รูปแบบการชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่
1.3  การกำหนดกรอบแนวทางดำเนินการ
  • ระยะเวลาการดำเนินการ
  • วิธีการดำเนินการ   
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. เร่งจัดทำแผนความถี่ 3G ให้แล้วเสร็จโดยเร็วเสนอ กทช.พิจารณาได้ทันในการประชุมครั้งต่อไป(วันพฤหัสบดีที่ 22 มกราคม 2552) ทั้งนี้ เพื่อให้ถูกต้องตามขั้นตอนก่อนจะพิจารณาตัดสินใจในเรื่องการจัดสรรคลื่นความ ถี่ 3G
3. มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของที่ประชุมเพื่อจัดทำรายละเอียดในประเด็นต่างๆ เพิ่มเติม เสนอเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาของ กทช. ได้อย่างชัดเจนและสมบูรณ์ยิ่งขึ้นในการประชุมครั้งต่อไป อาทิ
3.1 เพิ่มเติมรายละเอียดของกิจกรรม/ภารกิจตามแนวทางการดำเนินการในแต่ละ ขั้นตอน (5 ขั้นตอน) ตามที่เสนอมาให้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยจัดแบ่งภารกิจตามบทบาทหน้าที่ของผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ 1) ภารกิจที่ กทช.ต้องตัดสินใจ 2) ภารกิจที่สำนักงาน กทช.ต้องรับผิดชอบดำเนินการ และ3) ภารกิจที่ผู้เชี่ยวชาญต้องเป็นผู้รับไปดำเนินการ ทั้งนี้ สามารถพิจารณาจัดทำเป็น Gant Chart ที่ชัดเจน เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย โดยแสดงถึงขั้นตอน กิจกรรม รวมทั้งระยะเวลาดำเนินการ และผู้รับผิดชอบ รวมถึง Critical Path ด้วย (ถ้ามี)
3.2 เพิ่มเติมขั้นตอนพร้อมรายละเอียดของกิจกรรมทั้งหมดที่เกี่ยวข้องในการ จัดทำเงื่อนไขการอนุญาต เงื่อนไขการประมูล และรายละเอียดของสัญญา/ใบอนุญาตการจัดสรรคลื่นความถี่ 3G รวมทั้งเงื่อนไขที่สำคัญ และ ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการโอนสิทธิ
3.3  กำหนดรายละเอียดคุณสมบัติของผู้ยื่นคำขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ 3G ให้ชัดเจน รวมถึงหากเป็นกรณีที่ผู้ยื่นมีสถานภาพเป็นนิติบุคคล ต้องกำหนดลักษณะและองค์ประกอบให้ชัดเจนด้วย เช่น มีสถานภาพในลักษณะเป็น Consortium จะเพียงพอหรือไม่ รวมถึงหากนำขั้นตอน Pre-qualification มาใช้เพื่อคัดเลือกผู้มีสิทธิเข้าร่วมรับการจัดสรรคลื่นความถี่ จะต้องนิยามคำจำกัดความของคำว่า Pre-qualification  และกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการคัดเลือกให้ชัดเจน อาทิ การพิจารณาความเหมาะสมของ Business Plan และ Roll-out Plan
3.4 ควรต้องระบุรายละเอียดของกิจกรรมเพื่อรองรับกรณีผู้ประกอบการที่ยื่นขอ รับการจัดสรรเป็นหน่วยงานของรัฐให้ชัดเจน
3.5 กรณีหากมีการจ้างผู้เชี่ยวชาญมาดำเนินการ จะต้องเขียน Requirement ของผู้เชี่ยวชาญเพื่อกำหนดไว้ใน Terms of References ให้เหมาะสมและชัดเจน เป็นต้น
ระเบียบวาระที่  4.11  :  รายงานความคืบหน้าการดำเนินการเกี่ยวกับการโอนสิทธิหน้าที่ในคลื่นความถี่ 1900 MHz ของบริษัท ทีโอที  จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.
มติที่ประชุม
               
1. เห็นชอบแนวทางการดำเนินงานของ สำนักงาน กทช.ต่อการโอนสิทธิหน้าที่ในการใช้คลื่นความถี่ 1900 MHz ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และการดำเนินการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ตามข้อเสนอของสำนักงาน กทช. ทั้งนี้ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมประกอบการดำเนินการตามแนวทางดัง กล่าวให้เหมาะสม และถูกต้องมากยิ่งขึ้นต่อไป ดังนี้
1.1 จัดทำรายละเอียดของกิจกรรมตามขั้นตอนการดำเนินการตามประกาศ กทช.ว่าด้วยการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และการให้ผู้อื่นร่วมใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2550 ในช่วงของระยะเวลาที่กำหนดไว้กรณี 45 วัน (31+14) และ 75 วัน (45+30) ให้ชัดเจน
1.2 ดำเนินการตาม ข้อ 16 แห่งประกาศ กทช.ว่าด้วยการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2550 โดยนำมติคณะรัฐมนตรี และบันทึกข้อตกลงระหว่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม และบมจ.ทีโอที ซึ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีแล้ว พร้อมรายละเอียดประกอบตามความเหมาะสมและจำเป็น มาใช้เป็นหลักในการกำหนดรูปแบบและเงื่อนไขในการเจรจาแก่สาธารณะ เพื่อเผยแพร่แก่สาธารณะชนตามระยะเวลาที่ประกาศกำหนด (15 วัน) ต่อไป
1.3 ดำเนินการตามข้อ 18 แห่งประกาศ กทช.ว่าด้วยการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2550 โดยให้ประสานงานกับผู้ขอโอน (บมจ.กสท โทรคมนาคม) และผู้ขอรับโอน (บมจ.ทีโอที) ให้มีหนังสือยื่นคำขอและข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อ กทช.ให้ถูกต้องตามที่ประกาศกำหนดเมื่อครบกำหนดระยะเวลา 15 วันที่สำนักงาน กทช.ประกาศเผยแพร่รูปแบบและเงื่อนไขในการเจรจาแก่สาธารณะแล้ว ทั้งนี้ โดยพิจารณาใช้จากข้อมูลส่วนใหญ่ที่ดำเนินการไว้แล้วได้ อาทิ มติ ค.ร.ม. บันทึกข้อตกลงระหว่างหน่วยงานทั้งสองและความเห็นของหน่วยงานต่างๆของรัฐที่ ผ่านการพิจารณาตามมติ ค.ร.ม.แล้ว รวมทั้งเอกสารประกอบหนังสือแจ้งความประสงค์ เป็นต้น
1.4 ในการจัดทำรายงานผลกระทบจากการโอนเบื้องต้น และ/หรือรายงานผลกระทบจากการโอนฉบับสมบูรณ์ตามประกาศ กทช.ว่าด้วยการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2550 และระเบียบ กทช.เรื่อง การประเมินผลกระทบจากการกำกับดูแล นั้น ให้สำนักงาน กทช.เป็นผู้จัดทำเองเป็นรายงานฉบับเดียวต่อไป ทั้งนี้ โดยไม่จำเป็นต้องจ้างที่ปรึกษาดำเนินการ เนื่องจาก การโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ระหว่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม และบมจ.ทีโอที ดังกล่าว เป็นการดำเนินการระหว่างหน่วยงานของรัฐที่เป็นไปตามนโยบายรัฐบาลซึ่งได้ผ่าน ความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และผ่านการพิจารณาในรายละเอียดจากหน่วยงานด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงสามารถนำข้อมูลดังกล่าวมาใช้เป็นแนวทางในการวิเคราะห์และจัดทำรายงานผล กระทบจากการโอนตามที่ประกาศ/ระเบียบกำหนดได้ ตามรายละเอียดข้อเสนอของสำนักงาน กทช.
1.5  สำหรับกรณีที่ กทช.อาจให้มีการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเป็นการทั่วไปตามข้อ 23 ของประกาศ กทช.ว่าด้วยการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2550 นั้น เนื่องจาก การดำเนินการที่ผ่านมาของผู้ขอโอน และผู้ขอรับโอน ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐ ได้ผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และหน่วยงานบังคับบัญชาที่กำกับดูแลได้แก่ กระทรวง ICT และกระทรวงการคลัง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่างๆ ที่ได้พิจารณาและแสดงความคิดเห็นอย่างเป็นทางการและเปิดเผยในเรื่องดังกล่าว ทั้งหมดแล้ว จึงมีความครบถ้วนตามหลักการ และสามารถตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน ดังนั้น ในหลักการเมื่อพิจารณาตามข้อเสนอของสำนักงาน กทช.แล้ว  อาจไม่ต้องดำเนินการเพิ่มเติมตามข้อ 23 ของประกาศดังกล่าวได้  
2. มอบ หมายให้สำนักงาน กทช.แจ้งตอบประเด็นข้อหารือของ บมจ.กสท โทรคมนาคมต่อไปในเรื่อง ขอสละประโยชน์ในการใช้คลื่นความถี่ เพื่อให้บมจ.ทีโอทีเป็นผู้ดำเนินการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ย่านความถี่ 1900 MHz แต่เพียงผู้เดียว สรุปได้ว่า การสละประโยชน์ในการใช้คลื่นความถี่ นั้น ย่อมหมายความถึง การสละสิทธิประโยชน์ในการใช้คลื่นความถี่ ซึ่งพิจารณาแล้ว เป็นการแสดงเจตนารมย์เพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีในการโอน สิทธิหน้าที่การใช้คลื่นความถี่ 1900 MHz ให้บมจ.ทีโอทีเป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว จึงมิได้ขัดหรือแย้งกับมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว โดย บมจ.กสท โทรคมนาคม จะต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกระบวนการและขั้นตอนที่ กทช.ประกาศกำหนดอย่างครบถ้วน ถูกต้องต่อไป
ระเบียบวาระที่  4.12  :  การลดทุนจดทะเบียนของ บริษัท บีเอ็มซีแอล เน็ทเวิร์ค จำกัด และการควบรวมบริษัท บีเอ็มซีแอล เน็ทเวิร์ค จำกัด เข้ากับบริษัท เมโทร มอลล์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัดและ บริษัท ไตรแอดส์ เน็ทเวิร์ค จำกัด : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.
มติที่ประชุม
  โดยที่บริษัท บีเอ็มซีแอล เน็ทเวิร์ค จำกัด ได้ลงทุนในโครงข่ายโทรคมนาคม เพื่อให้บริการภายในรถไฟฟ้าใต้ดิน ตั้งแต่ปี 2548 และไม่มีแผนการลงทุนที่สำคัญเพิ่มเติม จึงเห็นว่า กรณีการลดทุนจดทะเบียนของบริษัทฯ เป็นการกระทำเพื่อลดการขาดทุนสะสมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็นการเตรียมการเพื่อควบรวมกิจการที่จะเกิดขึ้นในอนาคต  อย่างไรก็ดี เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าว จะส่งผลกระทบต่อการให้บริการ และผู้ใช้บริการ ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติมอบหมายให้ สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปดำเนินการ แล้วนำเสนอ กทช. พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ดังนี้
1. มีหนังสือแจ้ง บริษัท บีเอ็มซีแอล เน็ทเวิร์ค จำกัด เพื่อให้จัดส่งรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติม รวมทั้งประสานงานกับบริษัทฯ เพื่อหารือร่วมกันถึงแนวทางการป้องกัน และการแก้ไขปัญหาผลกระทบอันเกิดจากการควบรวมบริษัททั้งสาม ที่ชัดเจน อาทิ ในกรณีการควบรวมบริษัทเข้ากับบริษัท เมโทร มอลล์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด และ บริษัท ไตรแอดส์ เน็ทเวิคส์ จำกัด นั้น จะมีผลทำให้บริษัททั้งสาม สิ้นสภาพความเป็นนิติบุคคล ดังนั้น จึงควรดำเนินการจัดตั้งบริษัทใหม่ให้แล้วเสร็จพร้อมทั้งยื่นขอรับใบอนุญาต ใหม่ให้ได้เรียบร้อยก่อน จึงดำเนินการควบรวมกิจการต่อไป ทั้งนี้ เพื่อป้องกันปัญหาช่องว่าง (GAP) ในเรื่องของภาระค่าธรรมเนียม และขั้นตอนการดำเนินการทางกฎหมายที่จะเกิดขึ้นได้ อันจะส่งผลกระทบต่อการให้บริการและผู้ใช้บริการ  
2. ตรวจสอบกฎระเบียบต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อศึกษาหาแนวทางลดผลกระทบในกรณีดังกล่าว ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นอีกทางหนึ่ง อาทิ การพิจารณาเพิ่มเติมเงื่อนไขว่า หากกำหนดให้บริษัท บีเอ็มซีแอลฯ ยังคงให้บริการต่อเนื่องไปได้อีกระยะหนึ่งเพื่อมิให้ประชาชนเสียประโยชน์ภาย หลังจากการควบรวมแล้ว จะสามารถกระทำได้หรือไม่ ทั้งนี้ รวมถึงในกรณีของภาระการจ่ายค่าธรรมเนียมที่จะเกิดขึ้นด้วย
ระเบียบวาระที่  4.13  :  การแต่งตั้งผู้สอบบัญชีในเครือของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (AIS)  : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.
มติที่ประชุม
  เห็นชอบให้บริษัทในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (AIS) จำนวน 4 ราย (บจ.แอดวานซ์ ดาต้าเน็ทเวอร์ค คอมมิวนิเคชั่นส์  บจ.เอไอเอ็น โกลบอลคอม  บจ.แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค และ บจ.ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค)แต่งตั้ง นายจักรพันธ์ เผ่าคุรุพงศ์ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ทะเบียนเลขที่ 5876 บริษัท เค พี เอ็ม จี จำกัด เป็นผู้สอบบัญชี ( แทนนางสาวชุตินันท์ พรเลิศอารักษ์ ผู้สอบบัญชีรับอนุญาต ทะเบียนเลขที่ 3514 บริษัท สำนักงาน  พี.บี.เอส จำกัด ) ตามที่ สำนักงาน กทช.เสนอ  ทั้งนี้ เป็นไปตามข้อ 9  วรรค 3 ของเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ ระหว่างประเทศ และบริการชุมสายอินเทอร์เน็ต และ ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่สาม
ระเบียบวาระที่  4.14  :  การขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง ประเภทบริการขายต่อบริการ ของ บริษัท ไฟเบอร์เอเชีย จำกัด : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.
มติที่ประชุม
             
1. อนุมัติให้บริษัท ไฟเบอร์เอเชีย จำกัด ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง ประเภทบริการขายต่อบริการ  เพื่อให้บริการขายต่อบริการ 10 บริการ ได้แก่ 1) บริการ MPLS 2)บริการ IPVPN 3) บริการ Leased Line 4) บริการ Frame Relay 5)บริการ VSAT 6) บริการ GPRS 7) บริการ IPLC 8) บริการ ATM 9)บริการ PSTN แบบบริการโทรศัพท์ธรรมดา และ 10) บริการ ADSL ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ
2. มอบหมายให้สำนักงาน กทช.เร่งจัดทำร่างหลักเกณฑ์ วิธีการขอรับใบอนุญาตแบบ Unified License ให้แล้วเสร็จเสนอ กทช.พิจารณาโดยเร็วในเดือนมกราคม 2552 นี้
ระเบียบวาระที่  4.15  :  บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น ไฮเวย์ จำกัด ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่หนึ่ง ประเภทบริการขายต่อบริการ : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.
มติที่ประชุม
  อนุมัติ ให้ บริษัท ยูไนเต็ด อินฟอร์เมชั่น จำกัด ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่หนึ่ง ประเภทบริการขายต่อบริการ เพื่อให้บริการขายต่อบริการ 12 บริการ ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ ประกอบด้วย
1. บริการอินเทอร์เน็ตแบบ Narrowband (Dial-Up Modem) การให้บริการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยเชื่อมต่อผ่านสายโทรศัพท์ในโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน (PSTN)
2. บริการอินเทอร์เน็ตแบบ Broadband (Dial-Up Modem) การให้บริการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต โดยเชื่อมต่อผ่านสายโทรศัพท์ในโครงข่ายโทรศัพท์พื้นฐาน (ISDN)
3. บริการอินเทอร์เน็ตแบบ Broadband  การให้บริการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง แบบดิจิตอลด้วยเทคโนโลยีต่างๆ  (Digital Subscriber Line (xDSL)) 
4. บริการ อินเทอร์เน็ตแบบ Leased Line
5. บริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สาย ย่านความถี่ 2.4 GHz กำลังส่งออกอากาศสมมูลแบบไอโซทรอปิก (Equivalent Istropically Radiated Power : E.I.R.P) ไม่เกิน 100 mW
6. บริการเสียงผ่านอินเทอร์เน็ต การให้บริการสนทนาผ่านอินเทอร์เน็ต (Voice over Internet Protocol หรือ Internet Telephony)
7. บริการอินเทอร์เน็ตแบบให้บริการผ่านโครงข่ายคลื่นความถี่การให้บริการ เข้าถึงอินเทอร์เน็ตผ่านโครงข่ายคลื่นความถี่ต่างๆ
8. บริการ Web Hosting
9. บริการ Mail server
10. บริการ Co Location Server Service
11. บริการ Dedicated Server Service
12.บริการ Electronic Data Interchange (EDI)
ระเบียบวาระที่  4.16  :  บริษัท เค ดี ดี ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่หนึ่ง ประเภทบริการขายต่อบริการ : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.
มติที่ประชุม
  อนุมัติให้ บริษัท เค ดี ดี ไอ (ประเทศไทย) จำกัด ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม แบบที่หนึ่ง ประเภทบริการขายต่อบริการ เพื่อให้บริการขายต่อบริการ  4 บริการ ได้แก่ 1) บริการวงจรเช่า (Leased Line Service) 2) บริการ MPLS (MPLS Service) 3) บริการอีเทอร์เน็ต (Ethernet Service) และ4) บริการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต ( Internet Access Service) ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ
ระเบียบวาระที่  4.17  :  การขอเพิ่มบริการขายต่อบริการอินเทอร์เน็ตของ บริษัท ทรู มูฟ จำกัด : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.
มติที่ประชุม
  มอบหมายให้ สำนักงาน กทช. มีหนังสือแจ้ง บริษัท ทรู มูฟ จำกัด เพื่อทราบว่าหากบริษัท ทรู มูฟ จำกัด ประสงค์จะขอเพิ่มบริการขายต่อบริการอินเทอร์เน็ต บริษัทฯ สามารถดำเนินการยื่นขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการ อินเทอร์เน็ตได้ พร้อมทั้งดำเนินการตามประกาศที่เกี่ยวข้องเพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภท บริการขายต่อบริการอินเทอร์เน็ตต่อไป อย่างไรก็ดี เพื่อความรอบคอบ ให้สำนักงานฯ แจ้งยืนยันให้ บจ.ทรู มูฟ ทราบ และคำนึงถึงประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสัญญาร่วมการงานที่มีอยู่ให้ชัดเจนด้วย ที่สำคัญได้แก่
1. บจ.ทรู มูฟ เป็นผู้ร่วมสัญญาการงานของ บมจ.ทีโอที จึงต้องแจ้งให้ บมจ.ทีโอที ทราบก่อน
2. บริษัทฯ จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขสัญญาร่วมการงานซึ่งเป็นข้อตกลงระหว่างคู่สัญญากัน ที่มีอยู่เดิมโดย กทช.มิได้มีส่วนเกี่ยวข้องหรือรับผิดชอบใดๆ
3. บริษัทฯ ต้องคำนึงถึงค่าภาระที่จะเกิดขึ้นตามสัญญาร่วมการงานด้วย อาทิ การโอนสิทธิในโครงข่ายให้แก่คู่สัญญา  และการแบ่งส่วนแบ่งรายได้ (Revenue Sharing) ที่จะเกิดขึ้นให้แก่คู่สัญญา เป็นต้น
     ทั้งนี้  ให้สำนักงาน กทช. ยึดแนวทางข้างต้นเป็นหลักปฏิบัติในการดำเนินงานต่อไป  (แทนมติกทช. ครั้งที่ 31/2551  วันที่  28 สิงหาคม 2551)
หมายเหตุ  ปรับแก้ไขแล้วตามมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 2/2552
ระเบียบวาระที่  4.18  :  การขอขยายระยะเวลาการเริ่มให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ และบริการชุมสายอินเทอร์เน็ตแบบที่สอง ที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเองของ บริษัท บีบี คอนเนค จำกัด : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.
มติที่ประชุม
  ที่ประชุมพิจารณาวินิจฉัยแล้วเห็นว่า บริษัท บีบี คอนเนค จำกัด มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขประกอบใบอนุญาตการให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ ระหว่างประเทศ และบริการชุมสายอินเทอร์เน็ตแบบที่สอง ที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ซึ่งได้รับใบอนุญาตเมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2550 โดยกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตต้องเริ่มให้บริการภายใน 1 ปีตามแผนการให้บริการและแผนการลงทุน เว้นแต่มีความจำเป็น ผู้รับใบอนุญาตต้องแจ้งขอขยายเวลาต่อ กทช.ก่อนกำหนดเวลาที่ต้องเริ่มให้บริการสิ้นสุดลง (วันที่ 16สิงหาคม 2551) แต่ปรากฎข้อเท็จจริงโดยชัดเจนว่า เวลาผ่านเลยกว่า 1 ปีแล้ว บริษัท บีบี คอนเนค จำกัด มิได้ปฏิบัติตามเงื่อนไขดังกล่าว โดยมีหนังสือแจ้งขอขยายเวลาการเริ่มให้บริการฯมาลงวันที่ 15 กันยายน 2551 ประกอบกับเหตุผลความจำเป็นที่บริษัท บีบี คอนเนค จำกัด แจ้งมา นั้น มิใช่เหตุสุดวิสัยที่บริษัทฯ จะอ้างไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขได้  ดังนั้น ที่ประชุม จึงมีมติไม่อนุมัติให้บริษัท บีบี คอนเนค จำกัด ขยายระยะเวลาการเริ่มให้บริการอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศ และบริการชุมสายอินเทอร์เน็ตแบบที่สอง ที่ไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ตามที่ยื่นขอมา ทั้งนี้ โดย ให้สำนักงาน กทช.ประสานงานกับผู้รับใบอนุญาต (บริษัท บีบี คอนเนค จำกัด) ให้ยืนยันว่าจะสามารถดำเนินการจัดหาและติดตั้งอุปกรณ์เพื่อเปิดให้บริการได้ ภายในระยะเวลาใด แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
ระเบียบวาระที่  4.19  :  การขอขยายระยะเวลาการดำเนินการทดลองทดสอบการให้บริการ IPLC : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.
มติที่ประชุม
  โดยที่ มติ กทช.เดิมให้สิ้นสุดการทดลองทดสอบการให้บริการ IPLC ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2551 และกำหนดให้ประกาศหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตการให้บริการวงจรเช่าส่วนบุคคล ระหว่างประเทศ ( International Private Leased Circuit : IPLC) ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง มีผลบังคับใช้ในเดือนมกราคม 2552 เป็นต้นไป แต่เนื่องจากการจัดทำหลักเกณฑ์ดังกล่าวไม่สามารถแล้วเสร็จและประกาศใช้ได้ ทันตามมติข้างต้น ประกอบกับ กทช.ได้มีมติให้ขยายระยะเวลาจัดทำหลักเกณฑ์ IPLC ดังกล่าวไปจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 แล้ว (วาระที่ 4.20) อีกทั้งการทดลองทดสอบการให้บริการ IPLC มีลักษณะเป็นการให้บริการแก่ลูกค้าในเชิงพาณิชย์ ซึ่งหากไม่อนุญาตให้ขยายระยะเวลา จะส่งผลกระทบต่อผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ IPLC ดังกล่าว ดังนั้น ที่ประชุมจึงมีมติอนุมัติให้ผู้ประกอบการ จำนวน 5 ราย (บจ.จัสเทล เน็ทเวิร์ค  บจ.ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค บจ.ทรู อินเตอร์เนชั่นแนล คอมมิวนิเคชั่น  บจ.ทรู อินเทอร์เน็ต เกตเวย์ และ บจ.ทริปเปิลที โกลบอลเน็ท ) ขยายระยะเวลาการดำเนินการทดลองทดสอบการให้บริการ IPLC ออกไปอีกจนถึงวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 ตามที่ สำนักงาน กทช.เสนอ
ระเบียบวาระที่  4.20  :  หลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตการให้บริการวงจรเช่าส่วนบุคคลระหว่าง (International Private Leased Circuit : IPLC) ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.
มติที่ประชุม
  เห็นชอบให้สำนักงาน กทช.ขยายระยะเวลาการดำเนินการจัดทำหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตการให้บริการ วงจรเช่าส่วนบุคคลระหว่างประเทศ ( International Private Leased Circuit : IPLC) ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง จากเดิมที่มีมติให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จ และประกาศใช้ในเดือนมกราคม 2552 เป็นวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 ตามที่ สำนักงาน กทช.เสนอ
ระเบียบวาระที่  4.21  :  การขอปรับเปลี่ยนเงื่อนไขใบอนุญาตและประเภทใบอนุญาตของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.
มติที่ประชุม
  ที่ประชุมรับเรื่อง การขอปรับเปลี่ยนเงื่อนไขใบอนุญาตและประเภทใบอนุญาตของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)  ไว้พิจารณา  ทั้งนี้ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช. นำเรื่องดังกล่าวเสนอที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่งในการประชุมครั้งต่อไป
ระเบียบวาระที่ 4.22 : บริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด ขอรับการจัดสรรคลื่นความถี่ไมโครเวฟเพื่อใช้ในการประกอบกิจการโทรคมนาคม เพิ่มเติม (ให้บริการโครงข่ายคลื่นความถี่) : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.
มติที่ประชุม
  มอบหมายให้ สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็นที่ประชุมไปจัดทำร่างหลักเกณฑ์ และวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่ไมโครเวฟ (Assignment Method)  พร้อมการวิเคราะห์รายละเอียดข้อมูลที่จำเป็นเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆให้ครบ ถ้วน และสมบูรณ์ ชัดเจนมากยิ่งขึ้นก่อน แล้วจึงนำเสนอที่ประชุม กทช.เพื่อประกอบการพิจารณาในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง อาทิ 1) ในประเด็นทางเทคนิค ได้แก่ รายละเอียดที่ชัดเจนของวัตถุประสงค์การใช้งานความถี่  พร้อมเหตุผลในการเสนอให้จัดสรรความถี่ใน 3 ย่าน  (ย่านความถี่ 7.5 GHz 11 GHz  และ 15 GHz ) การ Links/เชื่อมต่อกันของโครงข่ายคลื่นความถี่ไมโครเวฟ และผลกระทบจากการรบกวนกันของคลื่น รวมถึงแผนการติดตั้งสถานีวิทยุไมโครเวฟ 2) ในประเด็นทางเศรษฐศาสตร์และสังคมที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ เรื่อง สิทธิแห่งทาง  ค่าตอบแทนการใช้ความถี่  (Annual Spectrum fee รวมทั้งการวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ โดยให้ประสานงานกับสำนักวิศวกรรมและเทคโนโลยีโทรคมนาคม และสำนักอื่นๆที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมพิจารณาให้ความเห็นประกอบด้วย
ระเบียบวาระที่  4.23  :  ขออนุญาตใช้คลื่นความถี่วิทยุ และอุปกรณ์สื่อสารเพื่อกิจการค้นหา และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในท้องทะเลและการบริหารจัดการการจราจรทางน้ำ เมืองพัทยา : รทช.ประเสริฐฯ, ฉก.
มติที่ประชุม
  ที่ประชุมได้พิจารณาและวินิจฉัยแล้ว เห็นว่าการขอรับการจัดสรรความถี่วิทยุตามที่เมืองพัทยาขอมา นั้น เป็นไปตามประกาศ กทช.ว่าด้วย แผนความถี่วิทยุ เรื่อง แผนความถี่วิทยุสำหรับกิจการเคลื่อนที่ทางทะเล ย่านความถี่วิทยุ 156 - 162.05 MHz และประกาศ กทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การขอรับจัดสรรคลื่นความถี่ รวมทั้งข้อบังคับวิทยุตลอดจนสอดคล้องกับความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง การบริหารและจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุคมนาคม ประกอบกับการขอตั้งข่ายสื่อสารดังกล่าวก็เพื่อใช้ในกิจการค้นหา และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยในท้องทะเล อันเป็นการสร้างความปลอดภัยและความมั่นใจให้แก่นักท่องเที่ยว ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับการส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศใน ภาพรวม และเมืองพัทยาในฐานะเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงระดับโลก จึงมีมติดังนี้
1. อนุญาตให้เมืองพัทยา ตั้งสถานีท่าเรือ (Port Station : FP) จำนวน 2 สถานี สถานีบก (Land Station : FL) จำนวน 3 สถานี สถานีเคลื่อนที่ จำนวน 13 สถานี และใช้เครื่องมือวิทยุคมนาคมชนิดมือถือ จำนวน 176 เครื่อง ในกิจการเคลื่อนที่ทางทะเล (Maritime Mobile Service) และใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ประเภทเรดาร์ ความถี่วิทยุ 9410 MHz กำลังส่งไม่เกิน 25 กิโลวัตต์ จำนวน 1 เครื่อง โดยจัดสรรความถี่วิทยุ 156.525 (DSC) 156.300 156.800 และ 162.000 /157.400 MHz (Radiotelephony) ระบบ VHF/FM ความกว้างแถบความถี่ไม่เกิน 16 kHz ณ ศูนย์ควบคุมและจัดการการจราจรทางน้ำ และปฏิบัติการกู้ภัยทางทะเล เพื่อใช้ในกรณีฉุกเฉินและแจ้งเหตุอันตราย (Distress and Urgency) ประสานงานปฎิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย (Coordinated Search and Rescue Operations) และประสานงานเพื่อควบคุมการจราจรทางน้ำ  โดยให้ใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ระบบ VHF/FM ชนิดประจำที่ กำลังส่งไม่เกิน 30 วัตต์ จำนวน 5 เครื่อง ชนิดเคลื่อนที่ กำลังส่งไม่เกิน 25 วัตต์ จำนวน 13 เครื่อง และชนิดมือถือ กำลังส่งไม่เกิน 5 วัตต์ จำนวน 176 เครื่อง และใช้เครื่องวิทยุคมนาคม ประเภทเรดาร์ ความถี่วิทยุ 9410 MHz กำลังส่งไม่เกิน 25 กิโลวัตต์ จำนวน 1 เครื่อง  เพื่อใช้ในการเฝ้าดูแล ตรวจสอบการจราจรทางน้ำของเมืองพัทยา ทั้งนี้ สำหรับการขอใช้เครื่องวิทยุระบบ VHF/AM (AIR BAND) นั้น ไม่มีความจำเป็น เนื่องจาก ในการประสานงานปฏิบัติการค้นหาและช่วยเหลือผู้ประสบภัย นั้น สามารถนำความถี่วิทยุย่าน VHF (MARINE BAND) มาใช้งานได้
2. ให้ยกเว้นการชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุให้กับเมืองพัทยา เนื่องจากเป็นความถี่วิทยุในกิจการเคลื่อนที่ทางทะเล และกิจการเรดาห์ ซึ่งไม่อยู่ภายใต้เงื่อนไขที่ต้องชำระค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุตาม ประกาศกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร เรื่อง กำหนดให้ผู้ใช้ความถี่วิทยุต้องเสียค่าตอบแทนในการใช้ความถี่วิทยุ รวมทั้งให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องได้รับใบอนุญาตการตั้งสถานีวิทยุและใช้ เครื่องวิทยุคมนาคม เนื่องจาก เมืองพัทยามีฐานะเป็นนิติบุคคลตามความในมาตรา 5 (2) แห่ง พ.ร.บ.วิทยุคมนาคม พ.ศ.2498 และฉบับแก้ไขเพิ่มเติม
3.  มอบหมายให้ สำนักงาน กทช.กำหนดเป็นเงื่อนไขการอนุญาตเพิ่มเติมไว้ด้วยตามข้อคิดเห็นของที่ประชุม ว่า ห้ามมิให้เมืองพัทยาเรียกเก็บค่าบริการการใช้งานความถี่ดังกล่าวในเชิง พาณิชย์
ระเบียบวาระที่  4.24  :  ขอรับนโยบายการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่  (MNP) :  รทช.ประเสริฐฯ, กบ.
มติที่ประชุม
  ที่ประชุมรับเรื่อง ขอรับนโยบายการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNP) ไว้พิจารณา  ทั้งนี้ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช. นำเรื่องดังกล่าวเสนอที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่งในการประชุมครั้งต่อไป
ระเบียบวาระที่  4.25  :  ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่  4.26  :  บมจ. ทีโอที ขอคืนเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่ : รทช.  ประเสริฐฯ, กบ.
มติที่ประชุม
  อนุมัติให้ บมจ.ทีโอที ส่งคืนเลขหมายโทรคมนาคม สำหรับบริการโทรศัพท์ประจำที่  จำนวน 4,058 กลุ่ม ๆ ละ 1,000 หมายเลข  รวมทั้งสิ้น 4,058,000 หมายเลข  ทั้งนี้ โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2551  เป็นต้นไป ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่  4.27 – 4.28  :  ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่  4.29  :  การพิจารณากำหนดเลขหมายโทรคมนาคมที่ใช้งานในทางเทคนิคประเภทเลขหมาย Signaling Point Code (SPC) ให้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)  : รทช.ประเสริฐฯ, กบ.
มติที่ประชุม
  อนุมัติการกำหนดเลขหมายโทรคมนาคมที่ใช้งานในทางเทคนิคประเภทเลขหมาย Signaling Point Code (SPC) ให้แก่ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)  จำนวน 1 กลุ่ม จำนวน 64 ค่า (Address) เพื่อใช้เป็น National Signaling Point Code (NSPC) ตามแนวทางหลักเกณฑ์การกำหนดเลขหมายโทรคมนาคมที่ใช้งานในทางเทคนิคประเภทเลข หมาย Signaling Point Code (SPC)  ที่ กทช.ได้เคยมีมติเห็นชอบแล้วตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ ทั้งนี้ เพื่อใช้ในภารกิจพิเศษของราชการสำนักพระราชวังสำหรับการทดสอบระบบ และใช้งานจริงเป็นการถาวร
ระเบียบวาระที่ 4.30 – 4.35  :  ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่ 4.36  :  ร่างระเบียบ กทช. ว่าด้วยค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายสำหรับการปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุ โทรทัศน์ : ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ (ลทช. , กก.)
มติที่ประชุม
               
1.  เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบ กทช. ว่าด้วยค่าตอบแทน และค่าใช้จ่ายสำหรับการปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุ โทรทัศน์ พร้อมอัตราเบี้ยประชุมและอัตราค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางไปปฏิบัติงานใน ประเทศของคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ ตามที่
ฝ่าย เลขานุการคณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์เสนอ โดยมีข้อแก้ไขเพิ่มเติม ดังนี้
1.1  การแก้ไขร่างระเบียบฯ
  • ให้แก้ไขข้อความในหน้าแรก ย่อหน้าที่สอง จากเดิม “อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 51(2) มาตรา 60(2)“  เป็น “อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 51 วรรคหนึ่ง (21) และวรรคสอง มาตรา 60(2)”
  • ให้แก้ไขข้อความในหน้าสอง บรรทัดแรก จากเดิมโดยตัดข้อความบางส่วนที่ไม่จำเป็นออก ให้เป็นข้อความใหม่ดังนี้ “ “อนุกรรมการ” หมายความว่า อนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์”
  • ให้เพิ่มเติมคำว่า “ใน” ในข้อความตอนท้ายของข้อ 11 จากเดิม “ ใช้อัตราตามที่กำหนดไว้ระเบียบนี้” เป็น “ อัตราตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้” 
1.2 การแก้ไขตารางอัตราค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางไปปฏิบัติงานในประเทศ โดยปรับปรุงข้อความต่างๆให้ชัดเจน และถูกต้องมากยิ่งขึ้น ได้แก่ 
  • แก้ไขข้อความจากเดิม “ อัตราค่าใช้จ่ายสำหรับการปฏิบัติงานในประเทศ “ เป็น “ อัตราค่าใช้จ่ายสำหรับการเดินทางไปปฏิบัติงานในประเทศ”
  • ให้ตัดอัตราค่าใช้จ่ายในส่วนของคณะทำงานออกทั้งหมด  ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับมติที่ประชุม กทช.ครั้งที่ 47/2551
  • ให้หมายเหตุเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ชัดเจนด้วยว่า อัตราค่าใช้จ่ายดังกล่าว โดยเฉพาะค่ารับรอง นั้น เป็นค่าใช้จ่ายในแต่ละครั้งของการเดินทางไปปฏิบัติงาน
     ทั้งนี้ ภายใน 1 วันหาก กทช.ท่านใดยังมีข้อแก้ไขเพิ่มเติมในรายละเอียดของร่างระเบียบดังกล่าวอีก ให้แจ้งฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ เพื่อดำเนินการก่อนนำเสนอประธาน กทช.ลงนาม แต่หากพ้นระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ไม่มี กทช.ท่านใดแจ้งขอแก้ไข ให้ถือว่า กทช.เห็นชอบและมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการฯ นำร่างระเบียบฯเสนอประธาน กทช.ลงนามได้ต่อไป
2. มอบหมายให้ สำนักงาน กทช.เร่งเสนอร่างระเบียบว่าด้วยค่าตอบแทนและค่าใช้จ่าย สำหรับการปฏิบัติงานของคณะทำงานฯ ให้ที่ประชุมพิจารณาโดยเร็วต่อไป
ระเบียบวาระที่ 5  :  เรื่องเพื่อทราบ
ระเบียบวาระที่ 5.1  :  การเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของผู้ประกอบการ : รทช.พิทยาพลฯ , ศฐ.
มติที่ประชุม
  รับทราบการเปลี่ยนแปลงอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ของ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น   บจ.ทรูมูฟ และ บมจ. ฮัทชิสัน ซีเอที ไวร์เลส มัลติมีเดีย  ซึ่งได้ดำเนินการตามข้อ 12 ของประกาศ กทช. เรื่อง อัตราขั้นสูงของค่าบริการและการเรียกเก็บเงินค่าบริการล่วงหน้าในกิจการโทร คมนาคม พ.ศ.2549  ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ 
ระเบียบวาระที่  5.2  :  รายงานผลการดำเนินการตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2551   : รทช.ประเสริฐฯ , กบ.
มติที่ประชุม
  รับทราบรายงานผลการดำเนินงานของกลุ่มภารกิจด้านบริหารเลขหมายโทรคมนาคม ซึ่งได้ดำเนินการตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2551 และมติที่ประชุมคณะกรรมการกลั่นกรองการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคม ครั้งที่ 7/2551 เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2551  ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ  
ระเบียบวาระที่  5.3  :  รายงานตัวชี้วัดผลการดำเนินงานประจำปี 2551  : สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (สพท.)   
มติที่ประชุม
  รับทราบรายงานตัวชี้วัดผลการดำเนินงานประจำปี 2551 ของสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (สพท.)  ซึ่งได้ผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการบริหารงานสถาบันวิจัยและพัฒนา อุตสาหกรรมโทรคมนาคม  ตามเอกสารที่สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (สพท.) เสนอ
ระเบียบวาระที่  5.4  :  ระเบียบ กทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551  :  ลทช. , กช.  
มติที่ประชุม
  รับทราบระเบียบ กทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2551 ซึ่งสำนักงาน กทช. ได้ดำเนินการตามมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 45/2551 เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2551  ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่  5.5  :  ข้อเสนอการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม ของบริษัท ทรู มูฟ จำกัด : สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (สชท.)   
มติที่ประชุม
  รับทราบข้อเสนอการเชื่อมต่อโครงข่ายโทร คมนาคม ของ บริษัท ทรู มูฟ  จำกัด  ซึ่ง กทช.สุธรรมฯ ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว  ทั้งนี้ เป็นไปตามมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 41/2551 เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2551  ตามเอกสารที่สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม เสนอ
ระเบียบวาระที่  5.6  :  รายงานความคืบหน้าในกระบวนพิจารณา ประจำเดือนธันวาคม 2551  ของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ประจำข้อพิพาทที่  3/2550 :  สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (สชท.)   
มติที่ประชุม
  รับทราบรายงานความคืบหน้าในกระบวนพิจารณาประจำเดือนธันวาคม 2551 ของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ประจำข้อพิพาทที่ 3/2550  ระหว่าง บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น  และ บมจ.กสท โทรคมนาคม  ซึ่งดำเนินการภายใต้ประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 67 ตามเอกสารที่สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเสนอ
ระเบียบวาระที่  5.7  :  รายงานความคืบหน้าในกระบวนพิจารณาประจำเดือนธันวาคม 2551 ของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ประจำข้อพิพาทที่   5/2551  :  สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (สชท.)      
มติที่ประชุม
  รับทราบรายงานความคืบหน้าในกระบวนพิจารณาประจำเดือนธันวาคม 2551 ของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ประจำข้อพิพาทที่ 5/2551  ระหว่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ.ทีโอที ซึ่งดำเนินการภายใต้ประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2549  ข้อ 67 ตามเอกสารที่สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเสนอ
ระเบียบวาระที่  5.8  :  รายงานความคืบหน้าในกระบวนพิจารณาประจำเดือนธันวาคม 2551 ของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ประจำข้อพิพาทที่ 6/2551  :  สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม (สชท.)      
มติที่ประชุม
  รับทราบรายงานความคืบหน้าในกระบวนพิจารณาประจำเดือนธันวาคม 2551 ของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ประจำข้อพิพาทที่ 6/2551  ระหว่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส   ซึ่งดำเนินการภายใต้ประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2549  ข้อ 67 ตามเอกสารที่สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเสนอ
ระเบียบวาระที่  5.9  :  รายงานผลการดำเนินงานการจัดให้มีการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและ บริการเพื่อสังคม เดือนตุลาคม 2551  ของ บมจ.ทีโอที  :  รทช.พิทยาพลฯ , ทถ.
มติที่ประชุม
  รับทราบรายงานผลการดำเนินงานการจัดให้มีการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่ว ถึงและบริการเพื่อสังคม เดือนตุลาคม 2551  ของ บมจ.  ทีโอที ได้แก่ การจัดให้มีโทรศัพท์สาธารณะสำหรับหมู่บ้าน จำนวน 564  เลขหมาย  จัดให้มีโทรศัพท์สาธารณะและประจำที่สำหรับสถานีอนามัย จำนวน 16 เลขหมาย และจัดให้มีโทรศัพท์สาธารณะสำหรับผู้พิการ จำนวน 175 เลขหมาย รวมทั้งสิ้น 755 เลขหมาย  ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่  5.10   :   รับทราบการอนุมัติและการลงนามในสัญญารับทุนสนับสนุนห้องปฏิบัติการวิจัย และสัญญารับทุนสนับสนุนการวิจัยและ   พัฒนา  : สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม (สพท.)
มติที่ประชุม
  รับทราบการอนุมัติและการลงนามในสัญญารับทุนส่งเสริมและสนับสนุนห้องปฏิบัติ การวิจัย จำนวน 7 สัญญา และสัญญารับทุนสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา จำนวน 11 ทุน  รวมสัญญารับทุนทั้งสิ้น 18 ทุน ซึ่งได้ดำเนินการตามระเบียบของสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ว่าด้วยการอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีด้านโทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง พ.ศ. 2551  ตามเอกสารที่สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เสนอ   
ระเบียบวาระที่  5.11  :  รายงานการปฏิบัติงานแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการ โทรคมนาคมแห่งชาติ  :  สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรม โทรคมนาคม (สพท.)
มติที่ประชุม
  รับทราบรายงานการปฏิบัติงานของผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทร คมนาคมแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ซึ่งได้ดำเนินการตามข้อ 8 ของระเบียบ กทช. ว่าด้วยการมอบอำนาจให้ปฏิบัติการแทนเลขาธิการคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่ง ชาติ ให้ปฏิบัติงานเฉพาะอย่างแทนในสถาบันเฉพาะทาง  พ.ศ. 2550 ตามเอกสารที่สถาบันวิจัยและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เสนอ   
ระเบียบวาระที่  5.12  :  รายงานการรับเรื่องร้องเรียนของเดือนธันวาคม  2551  : สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.)
มติที่ประชุม
  รับทราบรายงานการรับเรื่องร้องเรียนของเดือนธันวาคม 2551 ของสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งได้รับเรื่องร้องเรียนทั้งสิ้น 19 ราย ขณะนี้ดำเนินการแก้ไขเรียบร้อยแล้ว 1 ราย และอยู่ในระหว่างการดำเนินการแก้ไขของบริษัทฯ จำนวน 18 ราย  ตามเอกสารที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เสนอ   
ระเบียบวาระที่  5.13  :  รวบรวมข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับคดีซึ่ง กทช. สกทช. ลทช. คณะกรรมการ อนุกรรมการ หรือพนักงาน สกทช. ถูกฟ้องต่อศาลปกครอง  :  รทช.พิทยาพลฯ, กม.
มติที่ประชุม
  รับทราบรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับคดีปกครองที่ กทช. สำนักงาน กทช. ลทช. คณะกรรมการ  อนุกรรมการ หรือพนักงาน สำนักงาน กทช. ที่ถูกฟ้องต่อศาลปกครองประจำเดือนธันวาคม 2551 มีจำนวนทั้งสิ้น 15 คดี  ซึ่งเป็นคดีที่ กทช. ถูกฟ้องต่อศาลปกครอง 9 คดี  และคดีที่ สำนักงาน กทช. ลทช. คณะกรรมการ  อนุกรรมการ หรือพนักงาน สำนักงาน กทช. ถูกฟ้องต่อศาลปกครอง จำนวน 6 คดี  ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ   
ระเบียบวาระที่  5.14  :  รายงานการปฏิบัติงานตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ.  2498 :  รทช.พิทยาพลฯ, กม.
มติที่ประชุม
  รับทราบรายงานการปฏิบัติงานตามที่ กทช. ได้แต่งตั้งเจ้าพนักงานผู้ออกใบอนุญาตหรือมอบหมายให้ ลทช. ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัติวิทยุคมนาคม พ.ศ. 2498 ประจำเดือนพฤศจิกายน 2551  ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่  5.15  :  รายงานการไต่สวนคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมในคดีปกครองหมายเลขดำที่ 1613/2551 ระหว่างนายอายุทธ์  จิรชัยประวิตร  ผู้ฟ้องคดี ลทช.  และพวกรวม 13  คน  ผู้ถูกฟ้องคดี เพื่อฟ้องเรียกค่าเสียหาย 2,246 ล้านบาท : รทช.พิทยาพลฯ, กม.
มติที่ประชุม
  รับ ทราบรายงานกระบวนพิจารณาชั้นไต่สวนคำขอยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ในคดีปกครองหมายเลขดำที่ 1613/2551 ระหว่างนายอายุทธ์  จิรชัยประวิตร  ผู้ฟ้องคดี ลทช.  และพวกรวม 13  คน  ผู้ถูกฟ้องคดี เพื่อฟ้องเรียกค่าเสียหาย 2,246 ล้านบาท ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่  5.16  :  รายงานผลการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-ฝรั่งเศส ว่าด้วยการร่วมมือด้านการไปรษณีย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ครั้งที่ 6  :  รทช.ทศพรฯ ,รศ.
มติที่ประชุม
  รับทราบรายงานผลการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย-ฝรั่งเศส ว่าด้วยการร่วมมือด้านการไปรษณีย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ครั้งที่ 6  ระหว่างวันที่ 20 – 24 ตุลาคม 2551  ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ตามเอกสารที่สำนักงาน  กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่  5.17  :  การประเมินทดลองปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการ โทรคมนาคม และการอุทธรณ์ของผู้ไม่ผ่านการประเมิน  :  สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.)
มติที่ประชุม
  รับทราบการประเมินทดลองปฏิบัติหน้าที่ ของพนักงานสถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และการอุทธรณ์ของผู้ไม่ผ่านการประเมิน  ตามเอกสารที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เสนอ
ระเบียบวาระที่  5.18  :  หนังสือของบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด(มหาชน) ขอให้ทบทวนมติที่ประชุมกรณีการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์เป็นเงินจำนวน 107 บาท : สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม (สบท.)
มติที่ประชุม
  รับทราบรายงานข้อมูลเบื้องต้น กรณี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ขอให้ทบทวนมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 48/2551 กรณีการเรียกเก็บค่าต่อคู่สายโทรศัพท์เป็นเงินจำนวน 107 บาท   ตามเอกสารที่สถาบันคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม เสนอ
ระเบียบวาระที่  5.19  :  การแจ้งเปลี่ยนแปลงข้อมูลของ บริษัท ไวด์  บรอดแบนด์ จำกัด : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.
มติที่ประชุม
  รับทราบการแจ้งเปลี่ยนแปลงโครงสร้างในส่วนต่างๆ ของ บริษัท ไวด์   บรอดแบนด์ จำกัด  ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช.เสนอ  ดังนี้
1.  โครงสร้างผู้ถือหุ้น โดยมี บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด   (มหาชน) เป็นผู้ถือหุ้นของบริษัท คิดเป็นร้อยละ 99.93
2.  การเปลี่ยนชื่อจาก บริษัท ไวด์  บรอดแบนด์ จำกัด  เป็น บริษัท ดีแทค บรอดแบนด์ จำกัด 
3.  การเปลี่ยนแปลงผู้ดำรงตำแหน่งกรรมการบริษัท  และกรรมการผู้จัดการ จาก นายสันติ  เมธาวิกุล  เป็น นายอมฤต  ศุขะวณิช
ระเบียบวาระที่  5.20  :  การเดินทางเพื่อเข้าร่วมประชุม Model ในการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ของสหภาพยุโรป ระหว่างวันที่ 28 – 29 มกราคม 2552   ณ  กรุงปารีส  :  รทช.ทศพรฯ ,รศ.      
มติที่ประชุม
  รับทราบการเดินทางของ กทช.สุธรรมฯ และคณะ ในการเข้าร่วมประชุม Model  การประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ของสหภาพยุโรป  ระหว่างวันที่  28 – 29 มกราคม 2552  ณ กรุงปารีส  ประเทศฝรั่งเศส  ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่  5.21  :  การประสานงานความถี่วิทยุกับสาธารณรัฐประชาชนจีน กรณีข่ายดาวเทียม SINOSAT-3BSS  :  รทช.ทศพรฯ ,วท.      
มติที่ประชุม
  รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการ สื่อสาร ในการประสานงานความถี่วิทยุกับสาธารณรัฐประชาชนจีน กรณีข่ายดาวเทียม SINOSAT-3BSS ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ 
ระเบียบวาระที่  6  :  เรื่องอื่นๆ
ระเบียบวาระที่  6.1  :  ขอความเห็นชอบในหลักการ และขออนุมัติวงเงินงบประมาณการประกันภัยความรับผิดของกรรมการและผู้บริหาร : กทช.ประสิทธิ์ฯ,รทช.ฐากรฯ, ปต.
มติที่ประชุม
  มอบหมายให้ สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปตรวจสอบข้อเท็จจริง และวิเคราะห์ข้อมูลประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆอย่างรอบคอบ ครบถ้วนและชัดเจนมากยิ่งขึ้น แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช.พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ที่สำคัญ อาทิ
1. ให้ตรวจสอบลักษณะการทำประกันภัยความรับผิดชอบของกรรมการและผู้บริหารว่า เหมือนหรือแตกต่างจากการให้ความช่วยเหลือตามระเบียบ กทช.ว่าด้วยการช่วยเหลือทางคดี พ.ศ.2551 หรือไม่ อย่างไร
2. ให้ สำนักงาน กทช.และผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายประจำ กทช. (พลเอกชูชาติฯ) ร่วมกันพิจารณาว่าตาม พ.ร.ฎ.ค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นของประธานกรรมการและกรรมการกิจการโทร คมนาคมแห่งชาติ และกรรมการร่วม พ.ศ.2548 จะครอบคลุมเรื่องการประกันภัยความรับผิดของกรรมการและผู้บริหาร หรือไม่ อย่างไร อาทิ การทำประกันภัยความรับผิด นั้น จะเป็นค่าใช้จ่ายตาม พ.ร.ฎ.ค่าตอบแทนและค่าใช้จ่ายอื่นฯ หรือ เป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการบริหารจัดการของสำนักงาน กทช.ตามมาตรา 51 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ หรือไม่ อย่างไร และอำนาจในการดำเนินการในเรื่องนี้จะเป็นของใคร ทั้งนี้ ให้พิจารณาจัดทำประเด็นหารือข้อสงสัยทางกฎหมายต่างๆ ข้างต้น เพื่อขอความเห็นคณะกรรมการกฤษฎีกาเสนอ กทช.พร้อมกันด้วย
3. ให้ตรวจสอบว่า กทช.มีอำนาจในการพิจารณาเรื่องนี้เองหรือไม่ ตลอดจนมีกฎหมาย หรือระเบียบใดที่เกี่ยวข้องอีกหรือไม่ที่ให้สิทธิและอำนาจ กทช.สามารถดำเนินการในเรื่องนี้ได้
4. ให้รวบรวมรายละเอียดข้อมูลกรณีตัวอย่างของคณะกรรมการบริหารหน่วยงานรัฐ วิสาหกิจที่มีการดำเนินการในเรื่องนี้ว่าใช้กฎเกณฑ์ใดอ้างอิงบ้างเพื่อ ประกอบการพิจารณาของ กทช.เป็นต้น
ระเบียบวาระที่  6.2  :  ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการตามคำสั่งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติที่ 43/2551 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์การใช้เครือข่ายคอมพิวเตอร์และการรักษา ความมั่นคงด้านเทคโนโลยี : รทช.พิทยาพลฯ, กม.
มติที่ประชุม
             
1.  อนุมัติให้ขยายระยะเวลาการดำเนินงานของคณะกรรมการพิจารณาหลักเกณฑ์การใช้ เครือข่ายคอมพิวเตอร์และการรักษาความมั่นคงด้านเทคโนโลยี ตามคำสั่งคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติที่ 43/2551 ออกไปอีก 90 วัน นับแต่วันที่คำสั่งดังกล่าวสิ้นผล ตามที่ สำนักงาน กทช.เสนอ ทั้งนี้ โดยให้จัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานของคณะกรรมการฯที่ผ่านมา และแผนการดำเนินงานของคณะกรรมการฯในช่วงระยะเวลาอีก 90 วันเป็นเอกสารเพิ่มเติมเสนอ กทช.ทราบให้ชัดเจนและสมบูรณ์ ถูกต้องตามขั้นตอนด้วย
2. เห็นชอบการจ่ายค่าตอบแทนประธานกรรมการ กรรมการ เลขานุการ และผู้ช่วยเลขานุการ ของคณะกรรมการฯ ตามข้อ 1  ในอัตราเดิมตามมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 37/2551 เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2551 ตามที่ สำนักงาน กทช.เสนอ
ระเบียบวาระที่  6.3  :  การตอบรับเป็นวิทยากรให้กับหอการค้าอเมริกาในประเทศไทยในหัวข้อ “ มุมมองโทรคมนาคมไทยในปี 2009 ( Thai telecom’s prospects for 2009) : รทช.ฐากรฯ, กจ.
มติที่ประชุม
             
1.  เห็นชอบการตอบรับคำเชิญเป็นวิทยากรตามหนังสือเชิญของหอการค้าอเมริกาใน ประเทศไทย โดยมอบหมายให้ กทช.เศรษฐพรฯ เป็นผู้แทน กทช.เข้าร่วมเป็นวิทยากรในหัวข้อ “ มุมมองโทรคมนาคมไทยในปี 2009 ( Thai telecom’s prospects for 2009) ในวันอังคารที่ 20 มกราคม 2552 ณ โรงแรม เจ ดับบลิว แมริออท 
2.  มอบหมายให้ สำนักงาน กทช.จัดเตรียมประเด็นการบรรยายเสนอให้ กทช.เศรษฐพรฯ พิจารณาและ มีหนังสือแจ้งหอการค้าอเมริกาในประเทศไทย เพื่อทราบการมอบหมายผู้แทนเป็นวิทยากรตามมติที่ประชุมข้อ 1 ให้เรียบร้อยต่อไป
ระเบียบวาระที่  6.4  :  คำสั่งเรียกให้ทำคำให้การเพิ่มเติมในคดีฟ้องเพิกถอนคำสั่งให้ชำระค่า ธรรมเนียมเลขหมาย : รทช.พิทยาพลฯ, กม.
มติที่ประชุม
               
1.  เห็นชอบแนวทางการจัดทำคำให้การเพิ่มเติมในคดีฟ้องเพิกถอนคำสั่งให้ชำระค่า ธรรมเนียมเลขหมาย  โดยให้ยืนยันคำให้การเดิมของ กทช.และ ลทช.ที่ได้ยื่นไว้ ตามข้อเสนอของสำนักงาน กทช. และความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายประจำ กทช. ซึ่งการที่ บมจ. ทีโอที ได้ยื่นความประสงค์ขอใช้เลขหมายเดิมเพื่อให้บริการต่อไป  และชำระค่าธรรมเนียมตามข้อ 14  แห่งประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์ในการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมชั่วคราว เสร็จสิ้นแล้ว นั้น เท่ากับเป็นการยอมรับและถือปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่ กทช.ประกาศกำหนด   ดังนั้น การปฏิเสธการปฏิบัติในส่วนที่เหลืออยู่บางส่วน  จึงไม่ชอบด้วยเหตุผล สำนักงานฯ จึงต้องเน้นให้ชัดเจนด้วยในประเด็นนี้
2.  สำหรับกรณีคำคัดค้านคำให้การของ บมจ.ทีโอทีที่ยังมีประเด็นคัดค้านอื่นๆเพิ่มเติมด้วย นั้น มอบหมายให้สำนักงาน กทช.พิจารณาจัดทำคำให้การเพิ่มเติมเพื่อแก้คำคัดค้านในประเด็นดังกล่าวตาม แนวความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายประจำ กทช. (พลเอกชูชาติ สุขสงวน) ต่อไป ดังนี้
2.1 ในประเด็นการกำหนดค่าเบี้ยปรับกรณีผิดนัดชำระค่าตอบแทน  ซึ่งตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยสัญญาเรื่องให้ธุรกิจการให้พิจารณาโทรศัพท์ เคลื่อนที่เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. 2543 และ ตามพระราชกฤษฎีกากำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการกำหนดธุรกิจที่ควบคุมสัญญา ตามลักษณะสัญญา พ.ศ.2542 ซึ่งออกตามความในมาตรา 35  ทวิ แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค  พ.ศ. 2522  ที่แก้ไขแล้ว ก็อนุญาตให้เรียกเก็บได้  ตามข้อ 3(1) ข้อ 4(1) ดังนั้น การกำหนดค่าธรรมเนียมและค่าธรรมเนียมเพิ่มกรณีค้างจ่ายก็เพื่อเร่งรัดการ ชำระค่าธรรมเนียม ซึ่งเป็นไปตามอำนาจหน้าที่ และธรรมเนียมประเพณีการปฏิบัติ ที่กทช.สามารถกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย 
2.2 ปัจจุบัน กทช. ได้ออกประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2551  ยืนยันหลักเกณฑ์และการปฏิบัติในหลักการเดิม  เพื่อให้มีผลในการปฏิบัติมั่นคงขึ้น  ทั้งยังกำหนดในข้อ 93 ว่าผู้ที่ได้รับการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคม  โดยชอบด้วยกฎหมายก่อนประกาศที่ใช้บังคับ  ซึ่งมีภาระหน้าที่ในการชำระค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม  ให้ถือว่าเป็นผู้รับใบอนุญาตผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม หรือผู้ที่ได้รับการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมดังกล่าว ยังคงมีหน้าที่ในการชำระค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคมให้ครบถ้วนต่อไป
2.3 นอกจากนี้ พระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542 มีเจตนารมณ์ในการใช้บังคับกับการเปลี่ยนรูปแบบขององค์กรของรัฐ  จากรัฐวิสาหกิจที่มีกฎหมายจัดตั้งโดยเฉพาะให้มาอยู่ในรูปแบบบริษัทจำกัด หรือบริษัทมหาชน  โดยมิต้องดำเนินการตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  หรือตามกฎหมายว่าด้วยบริษัทมหาชนจำกัด  จึงเป็นเพียงการเปลี่ยนโครงสร้างและรูปแบบการบริหาร  โดยมุ่งหมายให้การดำเนินกิจการของรัฐวิสาหกิจนั้น ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องไม่มีการชะงัก (Continuity)  หมายถึงการมุ่งหมายให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต่อไปโดยไม่หยุดชะงัก  ซึ่งเป็นไปโดยผลของกฎหมาย (Corporatization) ในการคุ้มครองสิทธิการประกอบกิจการโทรคมนาคม  ดังนั้น การชำระค่าธรรมเนียมเลขหมายโทรคมนาคม  และค่าธรรมเนียมเพิ่ม  จึงเป็นหน้าที่ของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม (ผู้รับใบอนุญาต)  ภายใต้อำนาจการกำกับดูแลของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม  แห่งชาติเป็นหน้าที่ที่บริษัทฯ จะต้องปฏิบัติเช่นเดียวกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่น ๆ  เพราะไม่มีกฎหมายหรือข้อกำหนดโดยยกเว้นให้  กรณีดังกล่าวมาตรา 24 และ 26  ตามพระราชบัญญัติทุนรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2542  มิได้คุ้มครองทั้งไม่ปรากฏมีการประกาศพระราชกฤษฎีกาใดๆคุ้มครองเช่นกัน   จึงเป็นหน้าที่ที่บริษัทฯ จะต้องปฏิบัติด้วยการชำระค่าธรรมเนียม  และค่าธรรมเนียมเพิ่มตามประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติในเรื่อง ดังกล่าวเช่นเดียวกับผู้รับใบอนุญาตรายอื่นๆ บนพื้นฐานของความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการประกอบกิจการโทรคมนาคม
     ทั้งนี้ เมื่อยกร่างคำให้การเพิ่มเติมดังกล่าวแล้วเสร็จทั้งหมด ให้จัดส่ง กทช.สุธรรมฯ พิจารณาอีกครั้งหนึ่งด้วย เพื่อความรอบคอบก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป
3. มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปตรวจสอบ และรวบรวมรายละเอียดข้อมูลต่างๆที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดเตรียมเป็นหลักฐานสนับสนุนการดำเนินการทางคดีในระยะต่อไปในชั้นศาล ได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
หมายเหตุ  ร่างมติในข้อ 1 และ 2  ผชช.ด้านกฎหมายประจำ กทช.(พลเอกชูชาติฯ) จัดทำรายละเอียดให้
ระเบียบวาระที่ 6.5 : ขออนุมัติเชิญผู้แทนต่างประเทศเข้าร่วมการสัมมนาเรื่อง Systems Thinking in the Wireless Revolution : กทช.ประสิทธิ์ฯ
มติที่ประชุม
             
1.  อนุมัติให้เชิญผู้แทนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว  ราชอาณาจักรกัมพูชา  และ สหภาพพม่า ประเทศละ 1 คน เข้าร่วมการสัมมนาเรื่อง Systems Thinking in the Wireless Revolution  ระหว่างวันที่ 28-30 มกราคม 2552  ณ อาคารหอประชุมชั้น 2 สำนักงาน กทช. ทั้งนี้ โดยให้เบิกค่าใช้จ่ายในการเข้าร่วมสัมมนาของผู้แทนจากต่างประเทศดังกล่าวจาก งบประมาณปี 2552 ภายใต้งบประมาณโครงการ NGN ของสำนักกิจการกรรมการ จำนวน 210,000 บาท
2. มอบหมายให้ สำนักงาน กทช.มีหนังสือเชิญ ผู้แทนจากสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ราชอาณาจักรกัมพูชา และ สหภาพพม่า เพื่อเข้าร่วมการสัมมนาตามข้อ 1 และดำเนินการจัดสัมมนาดังกล่าวให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยต่อไป

สร้างโดย  -   (22/3/2559 11:48:46)

Download

Page views: 138