สรุปมติที่ประชุม กทช. 6/2552

มติคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
ครั้งที่ 6/2552
วัน พฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 9.30 น.
และวันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา 10.00 น.
ณ ห้องประชุมชั้น  12  อาคารอำนวยการ สำนักงาน กทช.
 
ระเบียบวาระที่  1 : เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
1. ขอความร่วมมือ กทช.และสำนักงาน กทช.ได้กรุณาตรวจดูระเบียบ และหลักเกณฑ์ต่างๆ ที่มีปัญหาและยังไม่ได้ดำเนินการ ซึ่งได้เคยขอให้ไปทบทวนไว้แล้ว จะต้องเร่งรัดให้แล้วเสร็จโดยเร็ว ก่อนที่ กทช. ชุดนี้ จะพ้นวาระไป
2. ในการปฏิบัติงานของ กทช.และสำนักงาน กทช. ขอให้มีการประสานงาน โดยให้เกียรติซึ่งกันและกัน และทำหน้าที่ภายในขอบเขตหน้าที่ของตนเอง
3. เมื่อวานนี้ สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน มีหนังสือแจ้งผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน และขอบคุณ กทช. ที่ได้จัดส่งรายละเอียดเกี่ยวกับการดำเนินงานเรื่อง 3G  ทำให้มีความชัดเจนในการทำงานมากยิ่งขึ้น จึงขอขอบคุณสำนักงาน กทช.และชื่นชมด้วยความจริงใจที่ได้ชี้แจงข้อมูลดังกล่าว
มติที่ประชุม  รับทราบตามที่ประธานแจ้ง และมอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ระเบียบวาระที่ 2 : รับรองมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 5/2552 วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์ 2552 (วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์  2552)
มติที่ประชุม
  รับรองมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 5/2552  วันพฤหัสบดีที่ 12  กุมภาพันธ์  2552  ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่  3  : รายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. (วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552)
มติที่ประชุม
  รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช.  ครั้งที่ 5/2552  วันพฤหัสบดีที่ 12 กุมภาพันธ์  2552  ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่  4  :  เรื่องเพื่อพิจารณา   
ระเบียบวาระที่ 4.1 – 4.17   ยังไม่มีการพิจารณา
ระเบียบวาระที่ 4.18 :  การประชุมนโยบายโทรคมนาคม ระดับโลก ปี ค.ศ.2009 ครั้งที่ 4 (World Telecommunication Policy Forum-WTPF) ระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2552 ณ กรุงลิสบอน  ประเทศโปรตุเกส : รทช.ทศพร , กร. (วันพฤหัสบดีที่  19  กุมภาพันธ์  2552)
มติที่ประชุม
             
1.  รับทราบเรื่อง การประชุมนโยบายโทรคมนาคมระดับโลก ปี ค.ศ.2009 ครั้งที่ 4 (World Telecommunication Policy Forum-WTPF) ซึ่งกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 22-24 เมษายน 2552 ณ กรุงลิสบอน ประเทศโปรตุเกส  ตามหนังสือกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสารที่แจ้งมา ทั้งนี้ โดยมีผู้แทนสำนักงาน กทช. เข้าร่วมในคณะผู้แทนไทยสำหรับการประชุมดังกล่าว ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ
2. มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปวิเคราะห์รายละเอียดเพิ่มเติมให้ชัดเจน เพื่อนำเสนอ กทช. ประกอบการพิจารณาได้อย่างรอบคอบ และเหมาะสมต่อไป โดยมีประเด็นที่สำคัญๆ ได้แก่
2.1 ใน การพิจารณากำหนดคณะ/ตัวบุคคลที่จะเข้าร่วมการประชุมในฐานะผู้แทนสำนักงาน กทช. นี้ สมควรต้องเป็นผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบหลัก และมีความรู้ความสามารถที่จะสามารถมีContribution ได้ รวมทั้งมีจำนวนที่เหมาะสม ไม่มากหรือเป็นคณะใหญ่เกินไป
2.2 วิเคราะห์ความเห็น และจุดยืน/ท่าทีต่อสารัตถะของเอกสารรายงาน “The Third Draft of the Secretary General’s Report” ใน 5 หัวข้อหลัก (Part 2 – Part 6)  ซึ่ง ITU จะแจ้งเวียนประเทศสมาชิก และสมาชิกภาคในวันที่ 1 มีนาคม 2552
ระเบียบวาระที่ 4.19  :  การจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับ การประกอบกิจการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ (IMT หรือ 3G and beyond)  : ผชช.กม. , รทช.ประเสริฐ , ปก. (วันพฤหัสบดีที่  19 และวันศุกร์ที่ 20  กุมภาพันธ์  2552)
มติที่ประชุม
               
1. สืบเนื่องจากมติ กทช.ครั้งที่ 4/2552 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552 เห็นชอบการกำหนดวิธีการจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการโทรศัพท์ เคลื่อนที่ (IMT หรือ 3G and beyond) ด้วยวิธีการประมูล (Auction) ในการนี้ ที่ประชุมได้พิจารณารายละเอียดข้อมูลการวิเคราะห์ในประเด็นเชิงนโยบายที่ กทช.ต้องตัดสินใจให้ชัดเจนก่อนการจัดทำรายละเอียดการประมูลต่อไป ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอแล้ว จึงมีมติโดยเสียงข้างมาก ดังนี้
1.1 จำนวนผู้รับใบอนุญาต ที่ประชุมเสียงข้างมาก (ประธาน กทช.,กทช.เหรียญชัยฯ กทช. ประสิทธิ์ฯ กทช. สุชาติฯ และ กทช.เศรษฐพรฯ ) เห็นชอบการกำหนดจำนวนใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ (IMT หรือ 3G and beyond)  4 ราย ตามความเห็นของที่ปรึกษา 3G
1.2 จำนวนคลื่นความถี่ ที่ประชุมเสียงข้างมาก (ประธาน กทช. กทช.เหรียญชัยฯ กทช. ประสิทธิ์ ฯ และ กทช. สุชาติฯ) เห็นชอบการจัดสรร และอนุญาตคลื่นความถี่แบบ paired band โดยมีขนาดคลื่นความถี่แบ่งเป็น 10 MHz + 10 MHz + 10 MHz และ  15 MHz (2 x 10 MHz จำนวน 3 ราย และ 2 x 15 MHz จำนวน 1 ราย สำหรับ 15 MHz Unpaired band /2010 – 2025 MHz  ยังไม่จัดสรร) ทั้งนี้ เพื่อให้สามารถนำคลื่นความถี่ที่มีอยู่ไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และเต็มประสิทธิภาพ มิให้เกิดการสูญเปล่า รวมทั้งจะสามารถลงทุนพัฒนาขยายโครงข่าย หรือ Roll-out ได้อย่างคุ้มค่าในคราวเดียวกัน
1.3 ประเภทใบอนุญาต ที่ประชุมเสียงข้างมาก (ประธาน กทช.,กทช.เหรียญชัยฯ กทช. ประสิทธิ์ฯ กทช. สุชาติฯ และ กทช.เศรษฐพรฯ ) เห็นชอบให้กำหนดเป็น National License เนื่องจาก มีความเหมาะสมกับประเทศไทยที่มีขนาดพื้นที่ไม่ใหญ่มาก สำหรับประเทศที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่มากๆ จึงเหมาะสมที่จะใช้ใบอนุญาตประเภท Regional License
2. ที่ประชุมเสียงข้างน้อย มีความเห็น ดังนี้
2.1  กทช.เศรษฐพรฯ 
  • เห็นชอบการจัดสรร และอนุญาตคลื่นความถี่แบบ paired band โดยมีขนาดคลื่นความถี่แบ่งเป็น 10 MHz + 10 MHz + 10 MHz + 10 MHz หรือ 2 x 10 MHz จำนวน 4 ราย เท่ากัน
  • สำหรับคลื่นความถี่ paired band  ส่วนที่เหลืออีก 5 MHz ให้สำรองไว้เพื่อการจัดสรรเพิ่มเติมตามความเหมาะสมต่อไปในภายหลังเมื่อได้มี การ Roll-out ไปแล้ว 1-2 ปี
  • ทั้งนี้ ในส่วนของคลื่นความถี่ 15 MHz Unpaired band นั้น ในอนาคตอาจนำมาพิจารณาจัดสรรเพิ่มเติมให้อีกรายละ 5 MHz เท่าๆกันจำนวน 3 ราย (5 MHz + 5 MHz + 5 MHz) หรือจะจัดสรรสำหรับใบอนุญาตประเภท Regional License
2.2 กทช.สุธรรมฯ เห็นว่า หลักการ และการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงวิชาการตามที่สำนักงาน กทช.เสนอมา นั้น ยังมีรายละเอียดไม่เพียงพอต่อการพิจารณาวินิจฉัย และตัดสินใจในประเด็นเชิงนโยบายดังกล่าวได้ โดยมีประเด็นที่สำคัญ ดังนี้
  • กรณีการตัดสินใจในประเด็น ประเภทใบอนุญาต นั้น สามารถวิเคราะห์ในเชิงวิชาการได้ว่า หากเป็นประเภท National Services Area อาจก่อให้เกิดการผูกขาดโดยมีผู้ประกอบการน้อยราย แต่หากเป็นใบอนุญาตประเภท Regional Services Area จะส่งผลให้เกิดการแข่งขันมากขึ้นโดยสามารถมีผู้ประกอบการจำนวนมากรายได้ โดยเฉพาะผู้ประกอบการไทยจะมีโอกาสเข้ามาให้บริการได้ง่ายขึ้น อันเป็นการเพิ่ม Market Access และเพิ่มจำนวนผู้ประกอบการ โดยลดขนาดของธุรกิจให้เล็กลง (Downsizing) เพื่อให้สามารถแข่งขันกันได้มากขึ้น ดังนั้น ในกรณีการกำหนดประเภทของใบอนุญาตการใช้คลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการ โทรศัพท์เคลื่อนที่ (IMT หรือ 3G and beyond) จึงอาจพิจารณาผสมผสาน (Mixed) กันระหว่าง National License และ Regional License ก็ได้
  • นอกจากนี้ ควรต้องมีการวิเคราะห์ในประเด็นทางวิชาการเกี่ยวกับการกระจายการแข่งขันใน กิจการโทรคมนาคมให้เห็นได้ชัดเจนด้วย เพื่อประกอบการพิจารณาตัดสินใจ
     ทั้งนี้ กทช.สุธรรมฯจะทำบันทึกความเห็นเสนอมาเป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้งหนึ่ง
3. ขั้นตอนและแนวทางการจัดจ้างที่ปรึกษา
3.1 เห็นชอบขั้นตอนในการดำเนินการประมูลเพื่อจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับการ ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (IMT หรือ 3G and beyond) จำนวน 3 ขั้นตอนตามลำดับ ได้แก่ 1) Auction Preparation 2) Auction Design และ 3) Auction Mastering
3.2 เห็นชอบแนวทางการจัดจ้างที่ปรึกษามาดำเนินการเรื่องการประมูล ดังนี้
  • ให้ดำเนินการจัดจ้างที่ปรึกษา 3G โดยวิธีคัดเลือกเป็นการทั่วไป (ไม่เฉพาะเจาะจง) 
  • ให้ที่ปรึกษา ดำเนินการในขั้นตอน Auction Preparation และ Auction Design เพื่อศึกษาเตรียมการ และออกแบบรายละเอียดกระบวนการขั้นตอน พร้อมเอกสารหลักเกณฑ์เงื่อนไขการประมูล สำหรับใช้ในการดำเนินการประมูล
  • สำหรับในขั้นตอน Auction Mastering ให้แยกมาดำเนินการต่างหาก ทั้งนี้ โดยอาจพิจารณาจัดจ้างผู้เชี่ยวชาญคนไทยมาดำเนินการ
4. มอบหมายให้สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะของที่ประชุมไปจัดทำรายละเอียดร่างข้อกำหนด (Terms of Reference  : TOR) การจ้างที่ปรึกษาเพื่อมาดำเนินการในขั้นตอน Auction Preparation และ Auction Design โดยมีประเด็นข้อกำหนดขอบเขตงานของที่ปรึกษาที่จะต้องรับไปดำเนินการ ซึ่งที่สำคัญได้แก่
4.1 การศึกษาวิเคราะห์ทบทวน (Review) และประเมินความเหมาะสม และความเป็นไปได้ของแนวโน้มการลงทุน และการแข่งขันการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (IMT หรือ 3G and beyond) ของประเทศไทย รวมถึงการวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงและผลกระทบต่อการแข่งขันในช่วงภาวะ Economic Downturn ทั่วโลกแบบนี้ โดยการวิเคราะห์ Scenarios ต่างๆ ข้อดี ข้อเสีย ว่าสมควรมีทางเลือกที่เหมาะสมในการลงทุนอย่างไร (พร้อมกันทั้งหมด 4 ราย หรือบางส่วน) เพื่อให้เกิดความคุ้มค่ามากที่สุด (Optimization) รวมทั้งผลกระทบที่เกิดขึ้นกับ Operator รายอื่น เป็นต้น
4.2 การศึกษาวิเคราะห์ Market Condition เพื่อประกอบการตัดสินใจในการ Design License ตลอดจนการวิเคราะห์ผลกระทบจากนโยบายการส่งเสริม Domestic Investment รวมถึงการระดมเงินลงทุนจากต่างประเทศหรือ Foreign Direct Investment ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจถดถอย
4.3 การศึกษาวิเคราะห์ในประเด็นด้านกฎหมาย (Legal Analysis) เช่น ประเด็น Structural Separation รวมถึงในประเด็นการถูกครอบงำโดยธุรกิจคนต่างด้าว ตามมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 โดยศึกษาวิเคราะห์จากข้อตกลงต่างๆที่ทำกับต่างประเทศ เช่น  ASEAN, FTA เป็นต้น
4.4 การดำเนินภารกิจเกี่ยวกับการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ (Public Consultation) และการจัดสัมมนาก่อนการประมูล (Auction Conference) ด้วย
ทั้ง นี้ ขอให้สำนักงานฯ หารือ กทช.แต่ละท่านเพื่อขอรับข้อคิดเห็นเพิ่มเติมด้วยอีกครั้งหนึ่ง เพื่อประกอบการจัดทำรายละเอียดร่าง TOR ดังกล่าว แล้วจัดส่งให้ กทช.พิจารณาเป็นการล่วงหน้าก่อนนำเสนอที่ประชุม กทช.พิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
5. มอบหมายให้สำนักงาน กทช.จัดส่งรายงานการศึกษาฉบับสมบูรณ์ (Final Report) เรื่อง 3G ให้ กทช. เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการศึกษาค้นคว้า และประกอบการพิจารณาด้วย
หมายเหตุ  กทช.สุ ธรรมฯ ได้มีบันทึกความเห็นแย้งที่ประชุม  รายละเอียดปรากฎตามบันทึกลงวันที่ 16 มีนาคม 2552 ที่แนบ
ระเบียบวาระที่ 4.20 : หลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตการให้บริการวงจรเช่าส่วนบุคคลระหว่างประเทศ (International Private Leased Circuit : IPLC) ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง : รทช.ประเสริฐฯ, ปก. 
(วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552)
มติที่ประชุม
               
1. กทช.รับเรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตการให้บริการวงจรเช่าส่วนบุคคลระหว่างประเทศ (International Private Leased Circuit : IPLC) ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ไว้พิจารณาต่อไปตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ
2. โดยที่เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตการให้บริการวงจรเช่าส่วนบุคคลระหว่างประเทศ (International Private Leased Circuit : IPLC) ที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ยังอยู่ระหว่างนำเสนอ กทช.พิจารณาตามข้อ 1 ซึ่งคาดว่าจะสามารถพิจารณาได้แล้วเสร็จในเร็วๆ นี้ ดังนั้น เพื่อให้ระยะเวลาการทดลอง/ทดสอบการให้บริการ IPLC ของผู้ประกอบการที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552 นี้สอดคล้องกันด้วย จึงมีมติอนุมัติให้ขยายระยะเวลาการทดลอง/ ทดสอบการให้บริการ IPLC ออกไปอีก 15 วัน นับตั้งแต่วันสิ้นสุดการอนุญาตให้ทดลอง/ทดสอบ (วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2552) ตามที่ สำนักงาน กทช. เสนอ 
ระเบียบวาระที่ 4.21 – 4.24   ยังไม่มีการพิจารณา 
ระเบียบวาระที่ 4.25 : ขอความเห็นชอบในหลักการพิจารณาร่างสัญญาตามประกาศ กทช. เรื่อง การขอความเห็นชอบในสัญญาอันเกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ทำ กับรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ หรือบุคคลที่อยู่ในต่างประเทศ พ.ศ. 2549 : รทช.พิทยาพล, กม. (วันพฤหัสบดีที่  19  กุมภาพันธ์  2552)
มติที่ประชุม
  เห็นชอบหลักการ และแนวทางการดำเนินการพิจารณาตรวจสอบร่างสัญญาตามประกาศ กทช. เรื่อง การขอความเห็นชอบในสัญญาอันเกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ทำ กับรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ หรือบุคคลที่อยู่ในต่างประเทศ พ.ศ. 2549 ตามข้อเสนอ(Compulsory Requirement 7 ข้อ)ของสำนักงาน กทช. อันเป็นการอาศัยอำนาจ ตามมาตรา 17 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ โดยมอบอำนาจให้ กทช.สุธรรมฯ เป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบร่างสัญญาตามประกาศฯ แทนที่ประชุม กทช. ทั้งนี้ โดยผ่านการพิจารณาจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายประจำ กทช. และคณะกรรมการกลั่นกรองก่อนนำเสนอ กทช.สุธรรมฯ พิจารณา แล้วรายงานให้ที่ประชุม กทช.ทราบต่อไป 
ระเบียบวาระที่ 4.26  :  ผลการพิจารณาสัญญาให้บริการโทรศัพท์ข้ามแดนอัตโนมัติ (International Roaming Agreement) ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) : ผชช.กม. รทช.พิทยาพล,กม. (วันพฤหัสบดีที่  19  กุมภาพันธ์  2552)
มติที่ประชุม
             
1. เห็นชอบสัญญาให้บริการโทรศัพท์ข้ามแดนอัตโนมัติตามมาตรฐาน GSM Association (GSM Association International Roaming Agreement) ของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ในการทำสัญญาให้บริการโทรศัพท์ข้ามแดนอัตโนมัติระหว่างประเทศ ทั้งนี้ โดยให้บริษัทฯ ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงเงื่อนไขร่างสัญญาข้อ 20 Governing Law โดยให้มีข้อความดังต่อไปนี้ ว่า “การดำเนินการใดที่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคมไทย ได้บัญญัติไว้ให้อยู่ภายใต้กฎหมายไทย คู่สัญญาต้องถือปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวด้วย”
2. ไม่เห็นชอบให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)นำสัญญาการให้บริการโทรศัพท์ข้ามแดนอัตโนมัติระหว่างประเทศที่ได้รับ ความเห็นชอบตามข้อ 1 ไปใช้เป็นสัญญามาตรฐานเพื่อทำสัญญากับบริษัทต่างประเทศคู่สัญญาต่างๆ ตามที่บริษัทฯ ร้องขอ แต่ให้บริษัทฯ ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอน และวิธีการที่กฎหมายและประกาศกำหนดไว้อย่างเคร่งครัด (มาตรา 54 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 และประกาศ กทช. เรื่อง การขอความเห็นชอบสัญญาอันเกี่ยวเนื่องกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ทำกับ รัฐบาลต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ หรือบุคคลที่อยู่ในต่างประเทศ พ.ศ.2549) ทั้งนี้ โดยให้บริษัทฯ ส่งสำเนาสัญญาเพื่อขอความเห็นชอบจาก กทช.เป็นรายกรณีไป เพื่อให้เกิดความรอบคอบ และเป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย
3. มอบหมายให้สำนักงาน กทช. มีหนังสือแจ้ง บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) เพื่อทราบมติที่ประชุมตามข้อ 1 และ 2 ต่อไป
ระเบียบวาระที่ 4.27  :  การพิจารณาคำขอใช้สิทธิตามมาตรา 39 วรรคแรก แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ของผู้รับใบอนุญาต : รทช.ประเสริฐ, ปก. (วันพฤหัสบดีที่  19  กุมภาพันธ์  2552)
มติที่ประชุม
               
1. เห็นชอบแผนผังการเดินสายเคเบิลตามเสาไฟฟ้า ในท่อและตั้งเสาใหม่ ของผู้รับใบอนุญาต 7 ราย ( บมจ.กสท โทรคมนาคม , บมจ.ทีโอที, บจ.ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค , บมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ , บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส , บจ.ทรู ยูนิเวอร์แซล คอนเวอร์เจ้นซ์ และ บมจ.ทีทีแอนด์ที) จำนวน 52 คำขอ ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ ทั้งนี้ โดยกำหนดเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมว่าสิทธิที่ได้ตามมาตรา 39 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคมฯ เป็นสิทธิเชิงทรัพย์สิน ซึ่งอาจจะอยู่ภายใต้สัญญาร่วมการงาน ดังนั้น จึงต้องแจ้งให้ผู้รับใบอนุญาต (บมจ.ทีโอที หรือ บมจ.กสท โทรคมนาคม) ทราบก่อนดำเนินการ และการอนุมัติของ กทช. ไม่มีวัตถุประสงค์ที่จะขัดหรือแย้งกับสัญญาร่วมการงานดังกล่าว
2. มอบหมายให้สำนักงาน กทช. มีหนังสือแจ้งมติที่ประชุมตามข้อ 1 ให้ผู้ประกอบการทั้ง 7 รายทราบ และปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดต่อไปโดยเคร่งครัด
ระเบียบวาระที่ 4.28 : การจัดประชุมสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียน ครั้งที่ 15 (ASEAN Telecommunication Regulators council ATRC) : รทช.ทศพร, กร. (วันพฤหัสบดีที่ 19  กุมภาพันธ์  2552)
มติที่ประชุม
             
1. รับทราบโครงการจัดการประชุม สภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียน ครั้งที่ 15 (ASEAN Telecommunication Regulators council ATRC) ในประเทศไทย ซึ่งสำนักงาน กทช. เป็นเจ้าภาพ โดยได้รับอนุมัติงบประมาณประจำปี 2552 จำนวน 9 ล้านบาท ตามมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 48/2551 เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2551
2. อนุมัติให้สำนักงาน กทช. เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคมแห่งอาเซียน ครั้งที่ 15 (ASEAN Telecommunication Regulators council ATRC) ได้ต่อไป ทั้งนี้ โดยมอบหมายให้ กทช.สุธรรมฯ ทำหน้าที่เป็นประธานที่ประชุม ATRC ดังกล่าว
3. เห็นชอบในหลักการกำหนดวันจัดประชุมสภาหน่วยงานกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม แห่งอาเซียน (ATRC) ครั้งที่ 15 ในระหว่างวันที่ 4-6 สิงหาคม 2552 ตามข้อเสนอของสำนักงาน กทช. อย่างไรก็ดี เนื่องจากในวันที่ 4 สิงหาคมของทุกปีตรงกับวันสื่อสารแห่งชาติ ซึ่ง กทช.และสำนักงาน กทช.มีพิธีการต่างๆที่จะต้องดำเนินการเป็นประจำในวันดังกล่าว จึงขอให้สำนักงานฯ ตรวจสอบและพิจารณาในรายละเอียดให้ชัดเจนอีกครั้งหนึ่ง เพื่อมิให้เกิดผลกระทบ แล้วนำเสนอที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
4. สำหรับสถานที่จัดประชุม และสถานที่พักของผู้เข้าร่วมประชุม นั้น สมควรพิจารณากำหนดอย่างรอบคอบ โดยคำนึงถึงรายละเอียดของกิจกรรม และความสะดวกของผู้เข้าร่วมประชุมที่เหมาะสมสอดคล้องกัน รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ จึงมอบหมายให้ สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็นและข้อสังเกตของที่ประชุมไปพิจารณาในรายละเอียดเพิ่มเติม เกี่ยวกับสถานที่จัดประชุม และสถานที่พัก แล้วนำเสนอที่ประชุมพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง อาทิ การพิจารณาจัดสถานที่พักกับสถานที่ประชุมแห่งเดียวกัน หรืออาจพิจารณาจัดไว้คนละแห่งกันแต่มีความสะดวกในการเดินทาง หรือพิจารณาจัดไว้บริเวณเดียวกับสถานที่จัดงาน ICT EXPO 2009 ณ ศูนย์ประชุม IMPACT เมืองทองธานี ของกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งจะจัดในวันที่ 4 สิงหาคม 2552 เช่นกัน ทั้งนี้ ขอให้สำนักงานฯ ประสานงานกับกระทรวง ICT ในประเด็นนี้ให้ชัดเจนเพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาด้วย
ระเบียบวาระที่ 4.29 : การเข้าร่วมประชุมและบรรยายในการสัมมนาเชิงนโยบาย “Meaningful Broadband” : รทช.ฐากร, กจ. (วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์  2552)
มติที่ประชุม
  มอบหมายให้ กทช.เศรษฐพรฯ เข้าร่วมบรรยายในการประชุมสัมมนา เชิงนโยบายเรื่อง “Meaningful Broadband” ในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2552 ณ ห้อง 105 อาคารมหานคร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รวมทั้งให้ กทช.เศรษฐพรฯ สามารถพิจารณาตัดสินใจถึงการสนับสนุนและมีส่วนร่วมของ กทช. สำหรับการดำเนินงานดังกล่าวในระยะข้างหน้าได้ตามความเหมาะสมต่อไป
ระเบียบวาระที่ 4.30  :  รายงานข้อมูลสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่ถูกรบกวน : รทช.ทศพร, ตว. (วันพฤหัสบดีที่  19  กุมภาพันธ์  2552)
มติที่ประชุม
           
1. รับทราบรายงานข้อมูลสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่ ถูกรบกวน ระหว่างวันที่ 16-31 มกราคม 2552 ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ
2. เห็นชอบให้สำนักงาน กทช.จัดส่งรายงานข้อมูลสถานีวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ที่ถูกรบกวน ตามข้อ 1 ให้คณะอนุกรรมการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ พิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป 
ระเบียบวาระที่ 5  :  เรื่องเพื่อทราบ
ระเบียบวาระที่ 5.1  :  รายงานผลการเดินทางเข้าประชุมร่วมกับสถาบันระหว่างประเทศว่าด้วยการสื่อ สาร (International Institute of Communications : IIC) ในประเด็นเกี่ยวกับการกำกับดูแลวิทยุชุมชน ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร : กทช.สุธรรมฯ
มติที่ประชุม
  รับทราบรายงานผลการเข้าร่วมประชุมของ กทช.สุธรรม และคณะกับสถาบันระหว่างประเทศว่าด้วยการสื่อสาร (International Institute of Communications : IIC) เรื่อง Community Radio Regulation ระหว่างวันที่ 30-31 มกราคม 2552 ณ กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ตามเอกสารที่ กทช.สุธรรมฯ เสนอ ทั้งนี้ ขอให้มีการประสานเชื่อมโยงกันสำหรับการดำเนินงานในเรื่องวิทยุชุมชน เพื่อให้เห็นภาพรวมที่ชัดเจนยิ่งขึ้นด้วย
ระเบียบวาระที่  5.2 :  รายงานผลการเข้าร่วมชี้แจงการประชุมของคณะกรรมการกฤษฎีกา : รทช.พิทยาพล , กม.
มติที่ประชุม
  รับทราบรายงานผลการเข้าร่วมชี้แจงการประชุมของคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ในการพิจารณาปัญหาข้อกฎหมายที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอขอ หารือเกี่ยวกับการบังคับใช้พระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือ ดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 เมื่อวันที่ 29 มกราคม 2552 ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่ 5.3  :  รายงานผลการดำเนินงานการจัดให้มีการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและ บริการเพื่อสังคม เดือนธันวาคม 2551 ของ บมจ.ทีโอที : รทช.พิทยาพล ,ทถ.
มติที่ประชุม
  รับทราบรายงานผลการดำเนินงานการจัดให้มีการบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่ว ถึงและบริการเพื่อสังคม ของ บมจ.ทีโอที สำหรับเดือนธันวาคม 2551 ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่ 5.4  :  รายงานความคืบหน้าในการสนับสนุนโครงการจัดหารถพยาบาลและระบบการแพทย์ฉุกเฉิน แก่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า : กทช.สุธรรมฯ
มติที่ประชุม
  รับทราบรายงานความคืบหน้าการดำเนินของสำนักงานฯในการสนับสนุนโครงการจัดหารถ พยาบาลและระบบการแพทย์ฉุกเฉินแก่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า ในวงเงินงบประมาณ 4,728,210 บาท ซึ่งจะเบิกจ่ายจากงบประมาณปี 2551 ที่สำนักงานได้รับอนุมัติให้กันไว้เบิกเหลื่อมปี ตามเอกสารที่ กทช.สุธรรมฯ เสนอ
ระเบียบวาระที่ 5.5  :  การติดตั้งโครงข่ายระบบสารสนเทศ ณ โรงพยาบาลศิริราช : กทช.สุธรรมฯ
มติที่ประชุม
  รับทราบเรื่องสำนักราชเลขาธิการแจ้งรับทราบรายงานความคืบหน้าการติดตั้งโครงข่ายระบบสารสนเทศ ณ บริเวณอาคารเฉลิมพระเกียรติ ชั้น 15 และตึก 84 ปี ชั้น 5 โรงพยาบาลศิริราช ตามเอกสารที่ กทช.สุธรรมฯ เสนอ
ระเบียบวาระที่ 5.6  :  การอบรมเรื่อง Understanding Modern Spectrum Management ณ ประเทศอังกฤษ  : รทช.ทศพรฯ, รศ.
มติที่ประชุม
  รับทราบรายงานการเดินทางของพนักงานสำนักงาน กทช. เพื่อเข้าร่วมการอบรม เรื่อง Understanding Modern Spectrum Management ระหว่างวันที่ 30 มีนาคม – 3 เมษายน 2552 ณ Merton College Oxford ประเทศอังกฤษ  ตามเอกสารที่สำนักงาน กทช. เสนอ
ระเบียบวาระที่ 6  :  เรื่องอื่นๆ
ระเบียบวาระที่ 6.1 : การโอนสิทธิหน้าที่ในคลื่นความถี่ 1900 MHz ของ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และ บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) :รทช.ประเสริฐฯ ปก. (วันพฤหัสบดีที่  19  กุมภาพันธ์  2552)
มติที่ประชุม
             
1.   อนุมัติในหลักการให้บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ให้กับ บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ในช่วงความถี่ 1885 – 1900 MHz คู่กับ 1965 – 1980 MHz และคลื่นความถี่ 1965 – 1980 MHz คู่กับ 2155 – 2170 MHz สำหรับให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 1900 ตามประกาศ กทช. ว่าด้วยการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และการให้ผู้อื่นร่วมใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2550  เนื่องจากการดำเนินงานของสำนักงานฯ ในเรื่องดังกล่าวที่ผ่านมาเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย มติคณะรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งระเบียบและประกาศที่เกี่ยวข้องแล้ว
2. มอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปดำเนินการจัดทำรายละเอียดที่เกี่ยวข้องใน ประเด็นต่างๆ ตามที่ประกาศฯ กำหนด ให้ครบถ้วนสมบูรณ์ และเพื่อเตรียมการรองรับการโอนใบอนุญาตดังกล่าวให้พร้อม แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช. โดยเร็วต่อไป  ดังนี้
2.1  ค่าธรรมเนียมการโอนใบอนุญาตตามข้อ 30 ของประกาศฯกำหนดโดยใช้วิธีการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่สำหรับรายละเอียดการ กำหนดค่าความถี่ ให้เสนอ กทช.เพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง
2.2  หลักเกณฑ์และเงื่อนไขการโอนใบอนุญาตการใช้ความถี่ โดยให้นำความเห็นและข้อวิเคราะห์ของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและ สังคมแห่งชาติ มาใช้เป็นส่วนหนึ่ง รวมทั้งนำหลักเกณฑ์และเงื่อนไขกรณี In band Migration  มาใช้  ทั้งนี้ โดยให้ยกเลิกเงื่อนไขเฉพาะรายบริการ บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ข้อ (3) เพื่อให้สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ในการนำคลื่นความถี่วิทยุไปใช้ในการสร้าง โครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ยุคที่ 3 ตามนโยบายของรัฐ และหลักการให้อนุญาตแบบ Technology Neutrality ของ กทช. โดยใช้เงื่อนไข กรณี In band Migration
2.3  อายุการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ฯ ให้ใช้ตามอายุใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ให้ไว้ โดยจะสิ้นสุด ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2568
2.4  จัดเตรียมเอกสารและรายละเอียดต่างๆ ให้เป็นไปตามข้อ 26, 27 และข้อ 28 แห่งประกาศ กทช.ฯ ด้วย
3.  เพื่อความรอบคอบเห็นควรให้สำนักงานฯ ดำเนินการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอีกครั้งหนึ่ง ตามข้อ 23 วรรคสอง แห่งประกาศ กทช.ว่าด้วยการโอนใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ และการให้ผู้อื่นร่วมใช้คลื่นความถี่ในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2550 
ระเบียบวาระที่ 6.2 :   โครงการศึกษาหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตและการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและ วิทยุชุมชนในประเทศไทย :  กทช. สุธรรมฯ  ( วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552)
มติที่ประชุม
             
1. โดยที่ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551  ได้กำหนดให้ กทช. ปฏิบัติหน้าที่คณะกรรมการตาม พ.ร.บ. ดังกล่าวเป็นการชั่วคราว ซึ่งถือเป็นภารกิจเพิ่มเติมที่ได้รับมอบหมาย ประกอบกับเพื่อมิให้การปฏิบัติหน้าที่บังเกิดความเสียหายแก่ทางราชการ รวมทั้งการดำเนินโครงการดังกล่าว ก็เพื่อเป็นการศึกษาและจัดทำกฎกติการองรับชั่วคราว และเป็นแนวทางสำหรับการกำกับดูแลวิทยุชุมชนต่อไปในอนาคต ที่ประชุมจึงมีมติ อนุมัติการดำเนินโครงการศึกษาหลักเกณฑ์การออกใบอนุญาตและการกำกับดูแลกิจการ กระจายเสียงและวิทยุชุมชนในประเทศไทย ของที่ปรึกษาจาก International Institute of Communication ตามที่ กทช.สุธรรมฯ เสนอ 
2. อนุมัติงบประมาณจำนวน 3,218,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินโครงการตามข้อ 1 ทั้งนี้ โดยให้เบิกจ่ายจากรายได้ของสำนักงาน กทช. ตามมาตรา 60(2) รายได้จากทรัพย์สินของสำนักงาน กทช.ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจาย เสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2543  ทั้งนี้ โดยมอบหมายให้ สำนักงาน กทช. ไปดำเนินการผ่านตามกระบวนการ และขั้นตอนการจัดสรรงบประมาณที่ระเบียบ/ประกาศที่เกี่ยวข้องกำหนดให้ถูกต้อง และครบถ้วนต่อไป
3. มอบหมายให้สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการต่อไป โดยเร่งรัดการดำเนินการโครงการฯ ให้แล้วเสร็จและเรียบร้อยโดยเร็ว ทั้งในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้างตามระเบียบให้รวดเร็ว รวมทั้งอาจพิจารณาเร่งจัดทำในขั้นตอนของ Iterim Report ให้เร็วขึ้น
ระเบียบวาระที่ 6.3 :   มติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2552 :  รทช.ฐากร , ปต. ( วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552)
มติที่ประชุม
               
1. รับทราบมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2552 เรื่อง ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2552 ซึ่งกำหนดให้ส่วนราชการพิจารณาปรับแผนการฝึกอบรม จัดประชุมสัมมนา และดูงานในประเทศให้มากขึ้นแทนการฝึกอบรม จัดประชุมสัมมนา และดูงานในต่างประเทศ ทั้งนี้ เพื่อเป็นการสนับสนุนนโยบายของรัฐบาลในการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวภายใน ประเทศ ตามเอกสารที่ สำนักงาน กทช. เสนอ
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. นำมติคณะรัฐมนตรีตามข้อ 1 ไปเป็นแนวทางปฏิบัติสำหรับการฝึกอบรม จัดประชุมสัมมนา และดูงานในต่างประเทศของสำนักงาน กทช. ให้ได้ผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตอบสนอง และให้ความร่วมมือตามนโยบาย และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างจริงจัง
ระเบียบวาระที่ 6.4 :   ขอเชิญเข้าเฝ้าฯ รับพระราชทานของที่ระลึก :  รทช.ฐากรฯ, กจ.
(วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552)
มติที่ประชุม
             
1. รับทราบเรื่องสำนักราชเลขาธิการ มีหนังสือด่วนมาก ที่ รล 0008/0774 ลงวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552 แจ้งเชิญประธาน กทช. หรือผู้แทนเข้าร่วมรับเสด็จ และเข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระเทพ
รัตน ราชสุดา และรับพระราชทานของที่ระลึก ณ โรงสีข้าวพระราชทาน ตำบลศรีภูมิ อำเภอท่าวังผา จังหวัดน่าน ในวันศุกร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ 2552 ตามที่สำนักงานฯ เสนอ
2. มอบหมายให้สำนักงาน กทช. แจ้งเวียน กทช. ทุกท่านเพื่อขอให้ยืนยันการร่วมรับเสด็จ และเข้าเฝ้าฯ เพื่อแจ้งให้สำนักราชเลขาธิการทราบ รวมทั้งให้ประสานงานกับสำนัก ราชเลขาธิการ เพื่อตรวจสอบรายละเอียดเรื่องการแต่งกายให้ชัดเจน แล้วแจ้งเวียนให้ กทช.ที่จะเข้าร่วมฯ ทราบ
ระเบียบวาระที่ 6.5 :   คำสั่งกำหนดวันสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริง และรายงานสถานะคดีปกครองหมายเลขดำที่ 861/2550 : รทช.พิทยาพลฯ, กม. (วันที่ศุกร์ 20 กุมภาพันธ์ 2552)
มติที่ประชุม
             
1. รับทราบเรื่องสำนักงานฯ ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ลงวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2552 แจ้งพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบสำนวนคดี เพื่อทราบว่า กทช. และ ลทช. ไม่ประสงค์จะยืนยันข้อเท็จจริงเพิ่มเติมคำให้การในคดีปกครองหมายเลขดำที่ 861/2550 ตามที่สำนักงานฯ เสนอ
2. ไม่คัดค้านคำชี้แจงของ บมจ.กสท โทรคมนาคม เนื่องจาก ไม่เป็นปฏิปักษ์และสนับสนุนทางที่จะเป็นการเพิ่มน้ำหนักพยาน อันเป็นประโยชน์ต่อรูปคดีของ กทช.และ ลทช. และไม่ขัดต่อกฎหมาย
3. ไม่ ยื่นชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่ม เนื่องจาก คำให้การ และคำให้การเพิ่มเติมของ กทช. และ ลทช.ที่ยื่นไว้ต่อศาลปกครอง นั้น สมบูรณ์ เพียงพอ และครบถ้วนในทุกประเด็นแล้ว คำให้การของ DTAC ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 3 และ True Move ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 4 ก็สอดคล้องเจือสมน่าจะรับได้ ดังนั้น ในชั้นนี้ จึงเป็นการสิ้นสุดการแสวงหาข้อเท็จจริงในเบื้องต้น ทั้งนี้ คู่ความยังมีโอกาสเสนอข้อเท็จจริงเพิ่มเติมได้อีกครั้งหนึ่งในชั้นนั่ง พิจารณาคดี หากรูปคดีเปลี่ยนไป
ระเบียบวาระที่  6.6  :  อุทธรณ์คำชี้ขาดข้อพิพาทของ กทช. ที่ 4/2551 : รทช.พิทยาพลฯ กม. (วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552)
มติที่ประชุม
  ไม่รับอุทธรณ์คำชี้ขาดข้อพิพาทของ กทช. ที่ 4/2551 ของ บมจ. ทีโอที ตามข้อเสนอของสำนักงาน กทช. เนื่องจาก กระบวนการทำคำชี้ขาดข้อพิพาทและการทำความเห็นของ กวพ. และคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อพิพาทของ กทช. เป็นที่สุด (Due Legal Process) ตามนัยมาตรา 26 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 ประกอบกับคำอุทธรณ์ของ บมจ.ทีโอที ไม่อาจถือเป็นคำขอให้เพิกถอนหรือแก้ไขเพิ่มเติมคำชี้ขาดข้อพิพาทที่ 4/2551 ตามนัยมาตรา 54 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ. 2539 เนื่องจาก ไม่ปรากฎพยานหลักฐานอื่นใดเพิ่มเติมอันอาจทำให้ข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติ แล้วเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญ หรือมีข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายในการวินิจฉัย และมีคำชี้ขาดข้อพิพาท ที่ 4/2551 เปลี่ยนแปลงไปในสาระสำคัญในทางที่เป็นประโยชน์แก่ TOT แต่อย่างใด รวมถึงตามนัยข้อ 123 แห่งประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมฯ โดยหาก กทช. จะรับอุทธรณ์ดังกล่าวไว้พิจารณาซ้ำซ้อนอีก ก็จะเป็นการรอนสิทธิของผู้ร้องได้
ระเบียบวาระที่ 6.7  :  โครงการดำเนินการทดลองศึกษา และประเมินผลการปรับเปลี่ยนจากโครงข่ายดั้งเดิมเป็นโครงข่ายไอพีในจังหวัด ภูเก็ต : กทช.ประสิทธิ์ฯ (วันศุกร์ที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552)
มติที่ประชุม
  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. จัดทำเอกสารวิเคราะห์ความเห็นเพิ่มเติมในประเด็นต่างๆ 3 ประเด็นให้ครบถ้วนสมบูรณ์ ตามมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 4/2552 เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2552 แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช.เพื่อประกอบการพิจารณาควบคู่กับเอกสารโครงการฯ โครงข่ายไอพีในจังหวัดภูเก็ต อีกครั้งหนึ่ง 
*หมายเหตุ  กทช.สุธรรมฯ งดออกเสียงในวาระนี้
ระเบียบวาระที่ 6.8 : การบริจาคเงินสมทบทุนมูลนิธิมหาจักรีสิรินธรเพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ : กทช.เศรษฐพรฯ (วันพฤหัสบดีที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552)
มติที่ประชุม
             
1. รับทราบการดำเนินงานของมูลนิธิมหาจักรีสิรินธรเพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคารมหาจักรีสิรินธร และจะมีการก่อตั้งศูนย์ศิลปการละครขึ้นในอาคารดังกล่าว โดยยังขาดงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมด้านการศึกษาในส่วนนี้วงเงินประมาณ 30 ล้านบาทตามที่ กทช.เศรษฐพรฯ รายงาน
2. เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสคล้ายวันพระราชสมภพในสมเด็จพระเทพ รัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (วันที่ 2 เมษายน 2552)  กทช.จึงมีมติทูลเกล้าถวายเงินจำนวน 30 ล้านบาท เพื่อสมทบทุนมูลนิธิมหาจักรีสิรินธรเพื่อคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของมูลนิธิฯ ในการก่อตั้งศูนย์ศิลปการละครในอาคารมหาจักรีสิรินธร ทั้งนี้ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช.รับไปดำเนินการตามระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป

สร้างโดย  -   (18/3/2559 16:29:03)

Download

Page views: 84