สรุปมติที่ประชุม กทช. 23/2553

มติที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
  ครั้งที่ 23/2553
วันพุธที่  4  สิงหาคม  2553   เวลา  10.30  น.
     ณ ห้องประชุม ชั้น 12 อาคารอำนวยการ
สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
 

ผู้เข้าประชุม
คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ

1.  ศาสตราจารย์ประสิทธิ์              ประพิณมงคลการ               ประธาน กทช.
2.  นายสุชาติ                             สุชาติเวชภูมิ                      กรรมการ
3.  รองศาสตราจารย์สุธรรม           อยู่ในธรรม                        กรรมการ
4.  นายสุรนันท์                          วงศ์วิทยกำจร                     กรรมการ
5.  พันเอกนที                            ศุกลรัตน์                           กรรมการ
6.  นายบัณฑูร                           สุภัควณิช                          กรรมการ
7.  นายฐากร                             ตัณฑสิทธิ์                         รองเลขาธิการ กทช.รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ กทช.
 

ระเบียบวาระที่   1    :   เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
1.  ในวันนี้มีพิธีถวายบังคมพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพิธีถวายสักการะพระอนุสาวรีย์ จอมพล สมเด็จพระราชปิตุลา บรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช เนื่องในวันสื่อสารแห่งชาติ พ.ศ.2553 ซึ่งได้ไปทำพิธีที่การสื่อสารแห่งประเทศไทย และ บมจ.กสท โทรคมนาคม และได้มาร่วมถวายสักการะที่สำนักงาน กทช. ในโอกาสนี้ ได้พบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีและการสื่อสารและทราบว่าจะนำเรื่องการแปรสัญญาสัมปทานเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณา
2.  ในวันที่ 12 สิงหาคม 2553 จะมีการถวายพระพรสมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ ที่สำนักพระราชวังในเวลา 15.00 น. การแต่งกายชุดปกติขาว ซึ่งจะมีรถออกจากสำนักงาน กทช.เวลา 14.00 น. โดยในช่วงเช้าประธาน กทช.จะต้องไปร่วมพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารรัฐสภา

หมายเหตุ                ที่ประชุมได้มีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินการเรื่องต่างๆ และแสดงความคิดเห็นเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้อง ในระหว่างวาระนี้สรุปได้คือ
3.  กทช.พันเอก นทีฯ ได้นำเรียนที่ประชุมหารือเรื่อง การจัดงาน 3.9 G Thailand Human D.N.A Expo  ซึ่งกำหนดจัดงานในช่วงต้นเดือนกันยายน ๒๕๕๓ และได้มีหนังสือกราบบังคมทูลฯ เพื่อทูลเชิญสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงเป็นองค์ประธาน โดยได้แจ้งสำนักราชเลขาธิการว่ากำหนดจัดระหว่างวันที่ 8-12 กันยายน 2553 ขณะนี้ อยู่ระหว่างการประสานเพื่อรอยืนยัน สำหรับการจัดงานจะมี Operator รายใหญ่ของประเทศไทย 5 ราย ที่จะมาร่วมแสดง Application 3.9G อาทิ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น  บจ.ทรูมูฟ  บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส  บมจ.กสท โทรคมนาคม และ บมจ.ทีโอที นอกจากนี้ ยังมีผู้ประกอบการจากต่างประเทศ  อาทิ หัวเหว่ย  ZTE ฯลฯ และได้เชิญผู้ที่ขาย Application จากประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น มาร่วมงานด้วย ในระยะต่อไปจะได้มีการประชาสัมพันธ์ผ่านการจัดงานนี้ ไปสู่การประมูลคลื่น 3G ที่จะมีขึ้นในระยะถัดไป
4.  กทช.พันเอก นทีฯ  ได้รายงานความคืบหน้าการดำเนินงานเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้นของผู้ยื่นการประมูล 3G  โดยให้สถาบันการศึกษาเป็นผู้ตรวจสอบ ซึ่งขณะนี้มีสถาบันการศึกษา 4 แห่ง ได้แจ้งเข้ามาได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามขั้นตอน Pre-Qualification โดยใช้เวลา 15 วัน ก่อนนำเสนอ กทช. ตามที่กำหนดไว้
5.  กทช.พันเอก นทีฯ ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบเพิ่มเติมอีก 1 เรื่อง ได้แก่ การไป Road Show เพื่อเชิญชวนให้นักลงทุนต่างประเทศมาร่วมการประมูล 3G ซึ่งมีเส้นทางที่ไปมาแล้ว คือประเทศจีน เกาหลีใต้ และญี่ปุ่น โดยได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการมาก อย่างไรก็ดี จะมีการเปลี่ยนแปลงเส้นทางตามความเหมาะสมบ้าง โดยเส้นทางที่ผู้ประกอบการไม่ตอบรับหรือตอบรับน้อย ก็จะไม่เดินทางไป เช่น ที่ยุโรป มีบริษัท Orange ตอบรับมาเพียงรายเดียว จึงเปลี่ยนเส้นทางไปที่มาเลเซียแทน สำหรับเส้นทางสุดท้ายน่าจะเป็นที่ประเทศอินเดีย และดูไบ ซึ่งมีท่าทีสนใจ
6.  กทช.พันเอก นทีฯ ได้นำเสนอที่ประชุมว่า มีผู้สอบถามเรื่อง UAE ที่หลายประเทศเป็นห่วง เรื่องการใช้ BB จะมีผลกระทบต่อความมั่นคง กทช.จะมีความเห็นและจุดยืนในเรื่องนี้อย่างไร ซึ่งประธาน กทช.จะขอรับไปศึกษา และจะนำเสนอแนวทางการดำเนินงานเรื่องนี้ ต่อที่ประชุมใน 2 สัปดาห์ โดยจะขอปรึกษา กทช.สุธรรมฯ ในประเด็นด้านกฎหมาย เพื่อความถูกต้องและชัดเจนด้วย
7.  กทช.บัณฑูรฯ ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบสถานะการเบิกจ่ายงบประมาณของสำนักงาน กทช. ปี 2553  ช่วง 7 เดือนที่ผ่านมา  สรุปได้ว่า มีการเบิกจ่ายเพียง 24%  เห็นควรให้สำนักงาน กทช. ออกมาตรการเร่งรัดการเบิกจ่าย รวมทั้งทบทวนรายการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณไปแล้ว แต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการ เพื่อนำมาปรับปรุงงบประมาณในรายการที่จำเป็น เช่น รายจ่ายงบกลาง ซึ่งขณะนี้น่าจะหมดลงแล้ว ในหลักการจึงควรต้องโอนงบประมาณบางส่วนที่ยังไม่จำเป็นมาใส่ไว้ในรายการนี้ก่อน เพื่อใช้จ่ายในส่วนของภารกิจที่ต้องการใช้เงินอย่างจำเป็นเร่งด่วน และจะได้มีการพิจารณาปรับปรุงงบประมาณรายจ่ายของสำนักงาน กทช. ต่อไป 
8.  ประธาน กทช. ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าได้ขอให้ รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์ ผู้จัดการกองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ  รายงานเรื่องสถานะการบริหารจัดการกองทุนฯ ให้ที่ประชุมทราบความคืบหน้าการดำเนินงานในสัปดาห์หน้า
9.  กทช.สุชาติฯ ขอให้สำนักงาน กทช.จัดทำบันทึกรายงานสถานะ การเบิกจ่ายงบประมาณตามข้อคิดเห็นของ กทช.บัณฑูรฯ นำเสนอที่ประชุมพิจารณาต่อไป
10. อนึ่ง รทช.ฐากรฯ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ กทช. ได้รายงานให้ที่ประชุมทราบว่า เนื่องจากงบประมาณรายจ่ายปี 2553 เพิ่งประกาศใช้ประมาณเดือนเศษ  ที่ผ่านมามีการเบิกจ่ายเฉพาะรายจ่ายประจำ ซึ่ง กทช.บัณฑูรฯ ได้เชิญผมและ รทช.ประเสริฐฯ ไปหารือเพื่อจะปรับแผนงบประมาณที่ได้รับอนุมัติจาก กทช.ซึ่งเหลือระยะเวลา 4-5 เดือน และไม่สามารถดำเนินการได้ทันในปีนี้ จะมีการปรับแผนออกไป โดยสำนักงาน กทช.ได้เตรียมการในการประชุมที่พัทยาในวันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม 2553 และจะนำเสนอคณะกรรมการพิจารณางบประมาณฯ อีกครั้งก่อนนำเสนอที่ประชุม กทช.พิจารณาต่อไป

มติที่ประชุม              
1.  รับทราบเรื่องตามที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบและมอบหมายให้สำนักงาน กทช. รับไปดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
2.  รับทราบเรื่องการจัดงาน  3.9 G Thailand  Human  D.N.A  Expo  การดำเนินการเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณสมบัติเบื้องต้น และความคืบหน้าการเดินทางไป  Road  Show  ในเส้นทางต่างๆ  เพื่อเชิญชวนให้ต่างประเทศมาร่วมการประมูลคลื่น  3G รวมถึงเหตุผลความจำเป็นหากต้องมีการปรับ เปลี่ยนเส้นทาง และเรื่องประเด็นปัญหาการใช้ BB ที่มีผลกระทบด้านความมั่นคง ตามที่ กทช.พันเอกนทีฯ รายงานให้ที่ประชุมทราบ ทั้งนี้ สำหรับเรื่อง BB   เห็นควรให้ประธาน กทช. รับไปศึกษารายละเอียดและปรึกษา หารือ กทช.สุธรรมฯ ในประเด็นด้านกฎหมายก่อนนำเสนอแนวทางการดำเนินงานต่อที่ประชุมใน 2 สัปดาห์ 
3.  รับทราบเรื่องสถานะการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ของสำนักงาน กทช. และการดำเนินการเพื่อปรับแผนการใช้จ่ายงบประมาณประจำปี 2553 ของสำนักงาน กทช. ให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามที่ กทช.บัณฑูรฯ และ รทช.ฐากรฯ รักษาการในตำแหน่ง เลขาธิการ กทช. รายงานให้ที่ประชุมทราบ    ทั้งนี้ โดยมอบหมายให้ สำนักงาน กทช. ไปดำเนินการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2553 ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น รวมทั้งเร่งแจ้งผลการทบทวนงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553   ที่ได้ปรับปรุงตามที่  กทช.  มีมติเห็นชอบแล้ว ให้หน่วยงาน   (สถาบัน/สำนัก/กลุ่มภารกิจ) ได้รับทราบถูกต้อง และตรงกันทุกหน่วยด้วย
4.  มอบหมายให้ รศ.ประเสริฐ ศีลพิพัฒน์  ผู้จัดการกองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ รายงานความคืบหน้าสถานะการบริหารจัดการกองทุนฯ ต่อที่ประชุมเพื่อทราบในสัปดาห์หน้า
5. รับทราบเรื่องการปรับปรุงแผนงบประมาณ และการจัดประชุมของสำนักงาน กทช.ในวันเสาร์ที่ 7 สิงหาคม 2553 ตามที่ รทช.ฐากรฯ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ กทช.เสนอ
 
หมายเหตุ  
               ที่ประชุม กทช. ได้เชิญ รทช.ทศพรฯ เข้าชี้แจงเพื่อรายงานความคืบหน้าการดำเนินการในเรื่อง การจัดทำแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ หรือ Land Use Planning ที่เหมาะสมเพื่อใช้เป็นสถานที่ทำงานของ กทช.และสำนักงาน กทช. รวมทั้งเพื่อรองรับสำหรับคณะกรรมการ กสทช. ที่จะจัดตั้งขึ้น รวมถึงภารกิจด้านกระจายเสียงที่เพิ่มขึ้นตาม พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ฉบับใหม่ และหน่วยงานภายในที่จัดตั้งขึ้นได้อย่างเพียงพอ โดยเฉพาะแผนการใช้ประโยชน์พื้นที่ที่นนทบุรีให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ซึ่งอาจกำหนดให้เป็นพื้นที่ตั้งของอาคารสำนักงาน และ พื้นที่ตั้งของ Anechoic Chamber สำหรับการติดตั้งการทดสอบอุปกรณ์ป้องกันการรบกวน ทั้งนี้ รทช. ฐากรฯ รักษาการในตำแหน่งเลขาธิการ กทช. ได้ชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมต่อที่ประชุมสรุปได้ว่า ขณะนี้สำนักงาน กทช. อยู่ระหว่างการสำรวจข้อมูลสภาพพื้นที่ และข้อเท็จจริงของการใช้พื้นที่ที่มีอยู่ทั้งหมดให้ชัดเจนก่อน เพื่อนำมาวิเคราะห์ความต้องการใช้พื้นที่ในอนาคตสำหรับรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นว่าจำเป็นต้องใช้พื้นที่เท่าใด อย่างไร และพิจารณาหาวิธีการจัดซื้อจัดหาที่เหมาะสม และคุ้มค่ามากที่สุดทั้งโดยการก่อสร้างอาคารสถานที่ทำงานเอง การเช่าพื้นที่อาคารสำนักงาน หรือการซื้ออาคารสำนักงาน ซึ่งสำนักงานฯ จะได้เร่งรัดการจัดทำ Land Use Planning นี้ให้แล้วเสร็จเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม กทช. พิจารณาโดยเร็วต่อไป โดยจะเสนอรายละเอียดให้ กทช.สุรนันท์ฯ พิจารณากลั่นกรองก่อน
 

ระเบียบวาระที่   2    :  รับรองรายงานการประชุม กทช.
ระเบียบวาระที่   2.1 :  รับรองรายงานการประชุม กทช. ครั้งที่ 22/2553 วันพุธที่ 28 กรกฎาคม  2553 


มติที่ประชุม             รับรองมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 22/2553 วันพุธที่ 28 กรกฎาคม 2553  ตามที่สำนักงาน กทช. เสนอ โดยมีข้อแก้ไขตามที่ กทช. ขอให้แก้ไข ดังนี้ 
1.  วาระที่ 4.5  ข้อ 2.3  บรรทัดแรก แก้ไขคำว่า “Facts”  ให้ถูกต้องเป็น “Fact” 
2.  วาระที่ 4.9  ข้อ 2 บรรทัดที่ 4  และ บรรทัดที่ 7 แก้ไขชื่อบุคคล และชื่อหน่วยงานให้ถูกต้องจากเดิม “นายธนิตร ชาญชัยณรงค์ (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศ) ” เป็น “ นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ (ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย)”

ระเบียบวาระที่  2.2  :  พิจารณารับรองรายงานการประชุม กทช. ครั้งที่ 11/2553 เฉพาะระเบียบวาระที่ 4.3 และรายงานการประชุมครั้งที่ 15/2553 เฉพาะระเบียบวาระที่ 4.2 ข้อ 1.3 
 
มติที่ประชุม            
1.  รับรองรายงานการประชุม กทช. ครั้งที่ 11/2553   เฉพาะระเบียบวาระที่ 4.3  ตามที่ สำนักงาน กทช.เสนอ
2.  รับรองรายงานการประชุม กทช.ครั้งที่ 15/2553   เฉพาะระเบียบวาระที่ 4.2 ข้อ 1.3  โดยให้เพิ่มเติมข้อความต่อท้ายมติ ข้อ 1.3 ดังนี้ “  โดยให้ประธาน กทช.เป็นผู้ลงนามในหนังสือในฐานะผู้ออกคำสั่งตามพ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง” ตามความเห็น กทช.สุธรรมฯ ที่เสนอไว้
 
ระเบียบวาระที่  3    :  รายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช.
ระเบียบวาระที่  3.1 :  รายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 22/2553 วันพุธที่ 28 กรกฎาคม  2553 


มติที่ประชุม               รับทราบรายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช. ครั้งที่ 22/2553  เมื่อวันพุธที่ 28 กรกฎาคม  2553 ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ ทั้งนี้ โดยให้ สำนักงาน กทช. ติดตามและรายงานผลการดำเนินงานตามมติ กทช.ในครั้งที่ผ่านมาให้ที่ประชุมทราบในทุกเรื่อง
 
ระเบียบวาระที่   4   :  เรื่องเพื่อพิจารณา   
ระเบียบวาระที่  4.1 :  หลักเกณฑ์ว่าด้วยการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว : กทช.สุธรรมฯ


มติที่ประชุม               เห็นชอบในหลักการร่างประกาศ กทช.ว่าด้วยการกำหนดข้อห้ามการกระทำที่มีลักษณะเป็นการครอบงำกิจการโดยคนต่างด้าว พ.ศ. ....     ตามที่ กทช.สุธรรมฯ เสนอ โดยมอบหมายให้ สำนักงาน กทช.(สำนักกฎหมาย) รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมในประเด็นต่างๆ เพื่อแก้ไขปรับปรุงร่างประกาศฯ ให้ครบถ้วนและถูกต้อง โดยให้ กทช.สุธรรมฯ พิจารณาด้วยอีกครั้งหนึ่ง ก่อนนำลงเผยแพร่ลง Web site ของสำนักงาน กทช.และจัดรับฟังความคิดเห็นผู้เกี่ยวข้อง (Focus Group) เพื่อประมวลผลเสนอที่ประชุม กทช.พิจารณาต่อไป ดังนี้
1.  ให้ปรับระยะเวลาในข้อ 15 และ ข้อ 16 ของร่างประกาศ กทช.จากเดิม  “ ภายในสิบสี่วันนับแต่วันประกาศนี้มีผลใช้บังคับ” เป็น “ ภายในสามสิบวัน นับแต่วันประกาศนี้มีผลใช้บังคับ”
2.  ให้ปรับปรุงคำเรียก จากเดิม “กลุ่มที่ต้องได้รับการจับตามอง ( Watch list)” เป็น “กลุ่มที่ควรจะต้องติดตาม”    และ  “ กลุ่มที่ต้องได้รับการจับตามองพิเศษ (Priority watch list)”   เป็น    “ กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง” 
3.  ให้รับข้อคิดเห็นของ กทช.บัณฑูรฯ ที่ให้ตัดข้อความในข้อ 4.2 วรรคสุดท้าย เพื่อเป็นประเด็นเสนอขอรับความเห็น (Option) ให้ผู้เกี่ยวข้อง (Focus Group) ได้พิจารณาอีกครั้งหนึ่ง เพื่อให้ได้ข้อสรุปที่ถูกต้องและเหมาะสมต่อไป  
4.  ให้ปรับถ้อยคำในข้อ 16 “ กรณีให้ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โทรคมนาคม มีหน้าที่ตรวจสอบ....ให้เหมาะสมยิ่งขึ้น” เป็น “ มีหน้าที่รายงาน....”

ระเบียบวาระที่   4.2   :   การประกาศกำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2552 (วาระต่อเนื่อง)  : กทช.สุธรรมฯ, พต.

มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบการประกาศกำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ (Significant Market Power) จำนวน 5 ราย ตามอำนาจในข้อ 4 ของประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2552 ดังต่อไปนี้
1) บมจ. แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส  และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ ในตลาดค้าปลีกบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศและตลาดบริการโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ 
2) บมจ.ทีโอที จำกัด  เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดค้าปลีกบริการโทรศัพท์ประจำที่ภายในประเทศ ตลาดบริการโครงข่ายโทรศัพท์ประจำที่ภายในประเทศและตลาดค้าปลีกบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง
3) บ.ทรู อินเทอร์เน็ต จำกัด เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในตลาดค้าปลีกบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง 
4) บมจ.กสท โทรคมนาคม เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด อย่างมีนัยสำคัญ ในตลาดค้าปลีกบริการโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ตลาดบริการเกตเวย์โทรศัพท์ระหว่างประเทศ และตลาดบริการเกตเวย์อินเทอร์เน็ตระหว่างประเทศ 
2.  กทช.กำหนดมาตรการเฉพาะให้ผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญตามมติข้อ 1 ปฎิบัติตามโดยอาศัยอำนาจตามข้อ 12 ของประกาศดังกล่าว ดังนี้
1) ให้ทำการแยกบัญชีออกจากกันในการให้บริการแต่ละประเภท
2) ให้จัดส่งข้อมูลตามที่ระบุไว้ในแบบฟอร์ม Thai Uniform System of Accounts (TUSOA) 
3) ให้จัดส่งข้อมูลเกี่ยวกับการทำ Price Review มายัง กทช. เพื่อใช้ในการกำกับราคาทั้งในตลาดค้าส่งบริการและค้าปลีกบริการ
4) ผู้ที่มีโครงข่ายมีหน้าที่ต้องเปิดให้เชื่อมต่อและใช้โครงข่าย และจัดให้มีบริการโครงข่ายสายแบบแยกส่วนแก่ผู้ให้บริการรายอื่น และมีหน้าที่ต้องส่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับโครงข่ายให้ กทช. เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำหนด Infrastructure  Sharing , Point of Access และจัดทำ Local Loop Unbundling Plan เป็นต้น 
3.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช.จัดทำคำสั่ง กทช.เรื่อง การกำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญ โดยขอคำปรึกษาจาก กทช.สุธรรมฯ ในการจัดทำคำสั่งดังกล่าว ก่อนนำออกเผยแพร่ตามขั้นตอนต่อไป 
  
ระเบียบวาระที่   4.3   :   ผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อ (ร่าง) ประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการให้บริการโครงข่ายสายแบบแยกส่วน พ.ศ. .... : รทช.พิทยาพลฯ, พต.

มติที่ประชุม            เห็นชอบผลการรับฟังความคิดเห็นสาธารณะของร่างประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการให้บริการโครงข่ายสายแบบแยกส่วน โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช. ปรับแก้ไขเพิ่มเติมร่างประกาศตามข้อคิดเห็นของที่ประชุมในประเด็นต่างๆ พร้อมหารือ กทช.สุธรรมฯ อีกครั้งหนึ่ง ก่อนนำร่างประกาศฯ เสนอประธาน กทช. ลงนาม  เพื่อนำลงประกาศราชกิจจานุเบกษาให้มีผลบังคับใช้ต่อไป ดังนี้
1.  ในส่วนของอารัมภบท ให้อ้างมาตรา  21   ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ให้สมบูรณ์ เนื่องจากประกาศดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับการผูกขาด  หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม
2.  ให้อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการกำกับบริการโครงข่ายสายแบบแยกส่วน เป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ กทช. โดยพิจารณาแก้ไขข้อความในข้อ 5  ของร่างประกาศฯ ให้เหมาะสมโดยให้คณะกรรมการ กทช.มีอำนาจดังนี้
“  ข้อ 5 ให้คณะกรรมการกำกับบริการโครงข่ายสายแบบแยกส่วนมีอำนาจหน้าที่ในการจัดทำข้อเสนอการกำกับโครงข่ายสายแบบแยกส่วน เพื่อเสนอให้คณะกรรมการพิจารณา และกำหนดในเรื่องต่างๆดังนี้
(1) หลักเกณฑ์การพิจารณาพื้นที่ที่สมควรให้มีการให้บริการโครงข่ายสายแบบแยกส่วน 
(2) พื้นที่ที่สมควรให้มีการให้บริการโครงข่ายสายแบบแยกส่วน
(3) อัตราค่าตอบแทนในการให้บริการโครงข่ายสายแบบแยกส่วน
(4) หลักเกณฑ์ ขั้นตอน และ วิธีการเจรจาทำสัญญาการให้บริการโครงข่ายสายแบบแยกส่วนตลอดจนถึงจุดเข้าใช้โครงข่ายสายแบบแยกส่วน
(5) หลักเกณฑ์พิจารณาการสนับสนุนผู้ประกอบการอิสระ ในการประกอบกิจการ 
(6) แผนงานเป้าหมาย และ กรอบการดำเนินงานการให้บริการโครงข่ายสายแบบแยกส่วนในทุกๆ 3 ปี
(7) ข้อเสนออื่นใดตามที่คณะกรรมการมอบหมาย ”
3.  ให้เพิ่มเติมข้อความต่อไปนี้เป็นข้อ 6 ของร่างประกาศดังกล่าว เพื่อให้การกำกับดูแลเป็นไปโดยมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับสภาพตลาดโทรคมนาคม ดังนี้ “ การพิจารณาของคณะกรรมการตามข้อ 5 ให้พิจารณาโดยคำนึงถึงเทคโนโลยี  และการคืนทุนที่เหมาะสมของผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคม หรือเพื่อคุ้มครองประโยชน์สาธารณะและส่งเสริมการแข่งขันหรือการเข้าสู่ตลาดของผู้รับใบอนุญาตรายอื่น ”

หมายเหตุ                 ร่างมตินี้ สำนักงาน กทช. โดย พต.ได้นำหารือ กทช.สุธรรมฯ เพื่อปรับแก้ร่าง ประกาศฯ ในแต่ละหัวข้อที่เกี่ยวข้องแล้วตามข้อคิดเห็น และมติของที่ประชุม

ระเบียบวาระที่ 4.4  :   รายงานการติดตามประเมินผลแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2551 – 2553) ในช่วง 2 ปีแรก (1 เมษายน 2551 – 31 ธันวาคม 2552) : รทช.พิทยาพลฯ, พต.

มติที่ประชุม              
1.  รับทราบรายงานการติดตามประเมินผลแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2551 – 2553) ในช่วง 2 ปีแรก (1 เมษายน 2551 – 31 ธันวาคม 2552) ตามที่ คณะกรรมการติดตามประเมินผลแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2551-2553) เสนอ 
2.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปพิจารณาประกอบการดำเนินการในการจัดทำรายงานการติดตามประเมิลผลแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 (มกราคม – มิถุนายน 2553) ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนสิงหาคม 2553 และจะนำเสนอ กทช.ได้ประมาณต้นเดือนกันยายน 2553 ต่อไป ทั้งนี้ เพื่อให้การวิเคราะห์จัดทำรายงานการติดตามประเมินผลแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 (พ.ศ. 2551 – 2553) มีความสมบูรณ์ และสามารถสะท้อนถึงผลที่มีต่อภาคส่วนต่างๆ ให้เห็นได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ได้แก่
2.1  การประเมินผลในภาพรวมเกี่ยวกับผลกระทบต่อเศรษฐกิจ และสังคม อาทิ ผลกระทบต่อผู้ใช้บริการ และผู้ประกอบด้านอุตสาหกรรมโทรคมนาคม  และการลงทุนจากต่างประเทศ เป็นต้น
2.2  การรายงานและติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานด้านต่างๆ เช่น USO รวมถึงการประเมินแนวโน้มเรื่อง Broadband และ 3G เป็นต้น

ระเบียบวาระที่  4.5   :   การจัดทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมฉบับที่ 3 :รทช.พิทยาพลฯ, พต.

มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบการจัดทำแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคมฉบับที่ 3 (2554-2556) เพื่อให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ที่กฎหมายกำหนดไว้อย่างถูกต้อง และสมบูรณ์ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช. โดยสำนักพัฒนานโยบายและกฎกติกา รับผิดชอบดำเนินการจัดทำต่อไป รวมถึงการจัดทำแผนปฏิบัติการ (Action Plan) ด้วย 
2.  เห็นชอบให้ กทช.แต่ละท่าน รับผิดชอบในการกำกับดูแลการจัดทำเนื้อหาของแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 3 ตาม Strategic Issues หลักที่ได้มอบหมายไว้แล้วในแต่ละเรื่อง อาทิ 
2.1  ประธาน กทช.ดูแลรับผิดชอบ เช่น เรื่อง เทคโนโลยีโทรคมนาคม
2.2  กทช.สุธรรมฯ ดูแลรับผิดชอบ เช่น เรื่อง นโยบายด้านการแข่งขัน กฎระเบียบ และการบังคับใช้กฎหมาย (Enforcement) 
2.3  กทช.สุรนันท์ฯ ดูแลรับผิดชอบ เช่น เรื่อง USO 
2.4  กทช.พันเอก นทีฯ ดูแลรับผิดชอบ เช่น เรื่อง ทรัพยากรโทรคมนาคม
2.5  กทช.พนาฯ ดูแลรับผิดชอบ เช่น เรื่อง กิจการกระจายเสียง
2.6  กทช.บัณฑูรฯ ดูแลรับผิดชอบ เช่น เรื่อง การพัฒนาองค์กร  เป็นต้น
                  ทั้งนี้ โดยให้สำนักงาน กทช. หารือ กทช.ทุกท่าน เพื่อขอรับนโยบายและความคิดเห็นในรายละเอียดของแต่ละเรื่องดังกล่าว เพื่อใช้ในการยกร่างแผนแม่บทฯ ฉบับที่ 3 (2554-2556) เสนอที่ประชุม กทช. พิจารณาต่อไป

ระเบียบวาระที่   4.6   :   ขออนุมัติเปลี่ยนแปลงรายชื่อสถานศึกษาตามเอกสารแนบท้ายชุดที่ 2 ของประกาศ กทช. เรื่อง แผนปฏิบัติการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ประจำปี 2553 : รทช.พิทยาพลฯ, ทถ.

มติที่ประชุม               มอบหมายให้ กทช.สุรนันท์ฯ ในฐานะ กทช.ผู้รับผิดชอบดูแลงานด้าน USO เป็นผู้พิจารณากลั่นกรองเรื่อง ขออนุมัติเปลี่ยนแปลงรายชื่อสถานศึกษาตามเอกสารแนบท้ายชุดที่ 2 ของประกาศ กทช. เรื่อง แผนปฏิบัติการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ประจำปี 2553 ตลอดจนการพิจารณาปรับปรุงรายละเอียด และบริหารจัดการเพื่อให้การจัดให้มีบริการ USO ตามแผนปฏิบัติการปี 2553 ซึ่งที่ประชุม กทช. ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 15/2553 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2553 ไปแล้วนั้น สามารถดำเนินงานได้อย่างคล่องตัว ตามแนวทางที่ กทช.มีมติเห็นชอบการมอบอำนาจให้ กทช.พิจารณาเรื่องแล้วตามมติ กทช.ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช.ทราบ

ระเบียบวาระที่  4.7  :   โครงการภายใต้ข้อตกลงขอความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติและศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ:  รทช.พิทยาพลฯ, กจ.

มติที่ประชุม              มอบหมายให้สำนักงาน กทช. นำเรื่อง โครงการภายใต้ข้อตกลงขอความร่วมมือทางวิชาการระหว่างสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติและศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ เสนอกรรมการกลั่นกรองเพื่อให้ความเห็นตามขั้นตอน แล้วนำเสนอที่ประชุม กทช.พิจารณาใน 2 สัปดาห์

ระเบียบวาระที่   4.8   :   การปรับปรุงห้องประชุมชั้น 1 อาคารอำนวยการ เป็นห้องรับรองสำหรับแขกพิเศษ : รทช.พิทยาพลฯ, กจ.

มติที่ประชุม               เห็นชอบให้สำนักงาน กทช.ดำเนินการปรับปรุงห้องประชุมชั้น 1 อาคารอำนวยการ เป็นห้องรับรองสำหรับแขกพิเศษ  เพื่อใช้เป็นสถานที่สำหรับรับรองผู้แทนหรือบุคคลสำคัญทั้งในและต่างประเทศ ภายในกรอบวงเงิน 10,000,000 บาท ตามที่สำนักงาน กทช.เสนอ ทั้งนี้ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช.รับข้อคิดเห็นเพิ่มเติมของที่ประชุมเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกขั้นพื้นฐานให้แก่คนพิการไปพิจารณาดำเนินการด้วย ทั้งนี้  สำหรับงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินการ ให้หารือ กทช.บัณฑูรฯเพื่อพิจารณาในรายละเอียดให้เกิดความรอบคอบ เหมาะสมอีกครั้งหนึ่งก่อนดำเนินการต่อไป

ระเบียบวาระที่   4.9  :   การขอความอนุเคราะห์ยกเว้นการเรียกเก็บค่าบริการ : รทช.ฐากรฯ, กม.

มติที่ประชุม               โดยที่กรณีกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และ การสื่อสาร ขอความอนุเคราะห์ ยกเว้นการเรียกเก็บค่าบริการจากประชาชนที่โทรศัพท์เข้ามาแสดงความคิดเห็นในโครงการร่วมเดินหน้าปฏิรูปประเทศไทย ภายใต้ชื่อ “ 63 วัน 63 ล้านความคิด” ระหว่างวันที่ 1-6 กรกฎาคม 2553 นั้น เมื่อพิจารณาแล้วเห็นว่า การขอให้ยกเว้นการเรียกเก็บค่าบริการ เป็นการขอให้ กทช. ใช้อำนาจตามมาตรา 57 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการฯ พ.ศ.2544 แต่เนื่องจากการใช้งานตามโครงการดังกล่าวเป็นการรวบรวมข้อมูลความเห็นของประชาชนเท่านั้น มิได้เป็นการให้บริการข้อมูลข่าวสารและความรู้เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนตามที่กฎหมายกำหนด ดังนั้น จึงไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด กทช. ซึ่งเป็นองค์กรกำกับดูแล จึงไม่อาจพิจารณาดำเนินการตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอมาได้ ทั้งนี้  สมควรที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารจะพิจารณาประสานงานกับผู้ประกอบการเพื่อการนี้โดยตรงต่อไป

ระเบียบวาระที่  4.10  :   ขอความอนุเคราะห์ยกเว้นค่าบำรุงรักษาคู่สายโทรศัพท์ : รทช.ฐากรฯ, กม.

มติที่ประชุม                ไม่เห็นชอบการลดหรือยกเว้นค่าบำรุงรักษาคู่สายโทรศัพท์ประจำที่ให้แก่มูลนิธิปวีณาหงสกุล ตามที่ร้องขอ เนื่องจาก มูลนิธิปวีณาหงสกุล ดำเนินการเกี่ยวกับการช่วยเหลือเด็กและสตรีที่ถูกละเมิดและถูกทารุณกรรมหรือได้รับเคราะห์กรรมและไร้ที่พึง ซึ่งการนำเลขหมายโทรศัพท์ประจำที่ จำนวน 6 หมายเลข ไปใช้ในการดำเนินการตามวัตถุประสงค์ของมูลนิธิปวีณาหงสกุล ไม่เป็นการใช้สำหรับการให้บริการข้อมูลข่าวสารและความรู้เพื่อประโยชน์ในการส่งเสริมความรู้ของประชาชน ตามมาตรา 57 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544  จึงไม่เป็นเหตุที่จะพิจารณาลดหรือยกเว้นค่าบำรุงรักษาคู่สายโทรศัพท์ให้แก่มูลนิธิฯ ตามที่ร้องขอได้

ระเบียบวาระที่  4.11  :  สัญญาเกี่ยวกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ทำกับรัฐบาลต่างประเทศ  องค์การระหว่างประเทศ หรือบุคคลที่อยู่ในต่างประเทศ พ.ศ. 2549 : รทช.ฐากรฯ, กม.

มติที่ประชุม                
1.  ประกาศ กทช. เรื่องการขอความเห็นชอบสัญญาเกี่ยวกับการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ทำกับรัฐบาลต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ หรือบุคคลที่อยู่ในต่างประเทศ พ.ศ. 2549 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ดังนั้น กรณี บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส เสนอในประเด็นที่ขอให้ กทช.พิจารณาอนุมัติการทำสัญญาให้บริการข้ามแดนอัตโนมัติกับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมต่างประเทศ ตามเงื่อนไขและหลักการสัญญามาตรฐาน GSM Association โดยไม่ต้องส่งร่างสัญญาให้ กทช. พิจารณาเพื่อขออนุมัติก่อนทำสัญญา  โดยอนุโลมให้สามารถส่งสำเนาที่ได้มีการลงนามแล้วเสร็จ จึงเป็นการขัดต่อมาตรา 54 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544  ไม่สามารถกระทำได้
2.  ยืนยันมติ กทช. ครั้งที่ 6/2552 เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2552 ที่เห็นชอบสัญญาให้บริการโทรศัพท์ข้ามแดนอัตโนมัติตามมาตรฐาน GSM Association โดยให้บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ดำเนินการแก้ไขปรับปรุงเงื่อนไขร่างสัญญาข้อ 20 Governing Law โดยให้มีข้อความว่า “การดำเนินการใดที่มีบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคมไทยได้บัญญัติไว้ให้อยู่ภายใต้กฎหมายไทย คู่สัญญาต้องถือปฏิบัติตามกฎหมายดังกล่าวด้วย” นั้น เหมาะสมและชอบด้วยกฎหมายแล้ว เนื่องจาก การกำกับดูแลการประกอบกิจการโทรคมนาคม เป็นเรื่องเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย อีกทั้งเป็นกรณีที่ผู้รับประโยชน์อยู่ในประเทศไทย และเป็นบุคคลที่ กทช.มีหน้าที่ให้ความคุ้มครองตามที่กฎหมายกำหนด สัญญาดังกล่าวจึงต้องตีความ และอยู่ภายใต้บังคับกฎหมายไทย 
3.  เห็นชอบให้ สำนักงาน กทช. ยึดถือมติที่ประชุม กทช.ในเรื่องนี้เป็นแนวทาง ในการแจ้งตอบผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมมีหนังสือขอหารือ หรือขอให้ กทช.พิจารณาทบทวนในประเด็นเดียวกัน

หมายเหตุ                  ระเบียบวาระเพื่อพิจารณาที่เหลือ ได้แก่ วาระที่ 4.12 – 4.62 จะได้นำเสนอในการประชุม กทช. ครั้งต่อไป
 
ระเบียบวาระที่   5      :  เรื่องเพื่อทราบ
ระเบียบวาระที่   5.1   :  รายงานผลการเดินทางเข้าร่วมการสัมมนา IIC Telecom and Media forum Hong Kong ในวันที่ 10 มิถุนายน 2553 : กทช.สุธรรมฯ


มติที่ประชุม               รับทราบรายงานผลการเดินทางเข้าร่วมการสัมมนา IIC Telecom and Media forum Hong Kong เมื่อวันที่ 10 มิถุนายน 2553  ของ กทช.สุธรรมฯ  และคณะ ในโครงการจัดทำความร่วมมือเพื่อระดมความคิดเห็น  และ แลกเปลี่ยนความรู้ระหว่าง  สำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ   และสถาบัน International Institute of Communication(IIC) ตามเอกสารที่ กทช.
 สุธรรมฯ เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.2  :  ประชุมหารือเพื่อระดมความคิดเห็นร่วมระหว่างคณะผู้แทนจาก กทช.และ Mr. Fabio Colasanti   ณ โรงแรม Habour Plaza  เขตการปกครองพิเศษฮ่องกง ในวันที่ 11 มิถุนายน 2553 : กทช.สุธรรมฯ

มติที่ประชุม               รับทราบผลการประชุมหารือเพื่อระดมความคิดเห็นร่วมระหว่าง กทช. สุธรรมฯ และ คณะผู้แทนจาก กทช.และ Mr. Fabio Colasanti ณ โรงแรม Habour Plaza เขตการปกครองพิเศษฮ่องกง เมื่อวันที่  11  มิถุนายน  2553  ตามเอกสารที่ กทช. สุธรรมฯ เสนอ

ระเบียบวาระที่  5.3  :  บริษัท  ซิมโฟนี่  คอมมูนิเคชั่น  จำกัด  แจ้งการเปลี่ยนแปลงสภาพเป็นบริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) : รทช.ประเสริฐฯ, ปก.

มติที่ประชุม               รับทราบกรณี บริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด แจ้งการเปลี่ยนแปลงสภาพเป็นบริษัท ซิมโฟนี่ คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) การเพิ่มทุนจดทะเบียน และรายชื่อผู้มีอำนาจทำการแทนนิติบุคคล  หรือผู้รับมอบอำนาจที่ถูกต้องตามกฎหมาย ตามเอกสารที่ สำนักงาน กทช.เสนอ

ระเบียบวาระที่  5.4   :   รายงานความคืบหน้าในกระบวนการพิจารณาประจำเดือนกรกฎาคม 2553 ของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ประจำข้อพิพาทที่ 3/2550 : สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม

มติที่ประชุม               รับทราบรายงานความคืบหน้าในกระบวนการพิจารณาประจำเดือน กรกฎาคม  2553 ของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ประจำข้อพิพาทที่ 3/2550 ระหว่าง บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น  กับ บมจ.กสท โทรคมนาคม ซึ่งดำเนินการภายใต้ ประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 67 ตามเอกสารที่ สชท. เสนอ

ระเบียบวาระที่  5.5   :  รายงานความคืบหน้าในกระบวนการพิจารณาประจำเดือน กรกฎาคม 2553 ของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ประจำข้อพิพาทที่ 5/2551 : สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม

มติที่ประชุม               รับทราบรายงานความคืบหน้าในกระบวนการพิจารณาประจำเดือน กรกฎาคม 2553  ของ คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท     ประจำข้อพิพาทที่  5/2551 ระหว่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม กับ บมจ.ทีโอที  ซึ่งดำเนินการภายใต้ประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 67 ตามเอกสารที่ สชท. เสนอ

ระเบียบวาระที่  5.6   :   รายงานความคืบหน้าในกระบวนการพิจารณาประจำเดือนกรกฎาคม 2553 ของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ประจำข้อพิพาทที่ 6/2551 : สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม

มติที่ประชุม             รับทราบรายงานความคืบหน้าในกระบวนการพิจารณาประจำเดือนกรกฎาคม 2553  ของ คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ประจำข้อพิพาทที่ 6/251 ระหว่างบมจ.กสท โทรคมนาคม  กับบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์เซอร์วิส  ซึ่งดำเนินการภายใต้ประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ ๖๗ ตามเอกสารที่ สชท. เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.7   :   รายงานความคืบหน้าในกระบวนการพิจารณาประจำเดือนกรกฎาคม 2553   ของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ประจำข้อพิพาทที่ 1/2552 : สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม
 
มติที่ประชุม              รับทราบรายงานความคืบหน้าในกระบวนการพิจารณาประจำเดือนกรกฎาคม 2553   ของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทประจำข้อพิพาทที่  1/2552 ระหว่าง  บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น  กับบมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น  ซึ่งดำเนินการภายใต้ประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 67 ตามเอกสารที่ สชท.เสนอ

ระเบียบวาระที่   5.8   :  รายงานความคืบหน้าในกระบวนการพิจารณาประจำเดือนกรกฎาคม 2553   ของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท    ประจำข้อพิพาทที่ 2/2552 : สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม

มติที่ประชุม               รับทราบรายงานความคืบหน้าในกระบวนการพิจารณาประจำเดือนกรกฎาคม 2553  ของ คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทประจำข้อพิพาทที่ 2/2552 ระหว่าง บจ.ดิจิตอล โฟน กับ บมจ.ทีโอที  ซึ่งดำเนินการภายใต้ประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 67 ตามเอกสารที่ สชท.เสนอ

ระเบียบวาระที่  5.9   :  รายงานความคืบหน้าในกระบวนการพิจารณาประจำเดือนกรกฎาคม 2553 ของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ประจำข้อพิพาทที่ 1/2553 : สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม

มติที่ประชุม              รับทราบรายงานความคืบหน้าในกระบวนการพิจารณาประจำเดือนกรกฎาคม 2553  ของ คณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทประจำข้อพิพาทที่ 1/2553 ระหว่าง บมจ.กสท โทรคมนาคม กับ บจ.ทรู มูฟ ซึ่งดำเนินการภายใต้ประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 67 ตามเอกสารที่ สชท.เสนอ

ระเบียบวาระที่  5.10  :   รายงานความคืบหน้าในกระบวนการพิจารณาประจำเดือนกรกฎาคม 2553 ของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ประจำข้อพิพาทที่  2/2553 : สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม

มติที่ประชุม               รับทราบรายงานความคืบหน้าในกระบวนการพิจารณาประจำเดือนกรกฎาคม 2553  ของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ประจำข้อพิพาทที่ 2/2553 ระหว่าง บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส กับ บมจ.ทีทีแอนด์ที ซึ่งดำเนินการภายใต้ประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 67 ตามเอกสารที่ สชท.เสนอ

ระเบียบวาระที่  5.11  :  รายงานความคืบหน้าในกระบวนการพิจารณาประจำเดือนกรกฎาคม 2553 ของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาท ประจำข้อพิพาทที่   3/2553 : สถาบันการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม

มติที่ประชุม             รับทราบรายงานความคืบหน้าในกระบวนการพิจารณาประจำเดือนกรกฎาคม 2553 ของคณะกรรมการวินิจฉัยข้อพิพาทประจำข้อพิพาทที่ 3/2553 ระหว่างบมจ. แอดวานซ์  อินโฟร์  เซอร์วิส  กับบมจ. ทรู  คอร์ปอเรชั่น  ซึ่งดำเนินการภายใต้ ประกาศ กทช. ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ.2549 ข้อ 67 ตามเอกสารที่ สชท.เสนอ
 
ระเบียบวาระที่  6      :  เรื่องอื่นๆ
ระเบียบวาระที่  6.1   :  การเดินทางไปเยือนประเทศในกลุ่มอาเซียน(ประเทศฟิลิปปินส์) และเข้าร่วมประชุม ISMAC 2010 ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ :ประธาน กทช., รทช.ทศพรฯ, รศ.


มติที่ประชุม            
1.  อนุมัติให้บุคคลภายนอกได้แก่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.สุภาวดี อร่ามวิทย์ และ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนารัตน์ ชลิดาพงษ์  ซึ่งเป็นกรรมการการใช้ประโยชน์เทคโนโลยีโทรคมนาคมด้านสาธารณสุขเคลื่อนที่ สำนักงาน กทช. ร่วมในคณะเดินทางของประธาน กทช. เข้าพบผู้บริหารระดับสูงของ National Telecommunications Commission of Philippines  เพื่อแลก เปลี่ยนแนวทางการบริหารนโยบายการกำกับดูแลขององค์กรกำกับดูแลกิจการโทรคมนาคม และเข้าร่วมประชุม ISMAC 2010 ในระหว่างวันที่ 7 – 10 กันยายน 2553   ณ กรุงมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ ตามที่ ประธาน กทช.เสนอ
2.  อนุมัติงบประมาณค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประธาน กทช. และคณะ ตามข้อ 1 ภายในกรอบวงเงิน 789,800 บาท ทั้งนี้ โดยเบิกจ่ายจากงบประมาณรายการค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศของ สำนักความร่วมมือทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ระเบียบวาระที่  6.2  :  การกำกับการปฏิบัติงานการเปิดให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (MNP) : กทช.บัณฑูรฯ

มติที่ประชุม              อนุมัติงบประมาณค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานของคณะกรรมการประสานงานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ รวมถึงการประชาสัมพันธ์ MNP ภายในกรอบวงเงิน 31,631,000 บาท โดยเบิกจ่ายจากงบกลางของสำนักงาน กทช ซึ่งหากมีความจำเป็นต้องใช้จ่ายเกินกว่าที่ได้รับจัดสรร ก็ให้เจียดจ่ายจากงบประชาสัมพันธ์ภาพลักษณ์องค์กรของสำนักงาน กทช.ที่ได้รับจัดสรรไว้ จำนวน 120 ล้านบาทมาสมทบเพิ่มต่อไป ตามความเห็นของคณะกรรมการพิจารณางบประมาณฯ ทั้งนี้ สำหรับกระบวนการการใช้จ่ายจากเงินงบกลางซึ่งได้กันยอดเงินที่จะเบิกจ่ายเพื่อการนี้จำนวน 31,631,000 บาท ไว้แล้ว ให้สำนักงาน กทช. ดำเนินการต่อไป ตามที่ กทช.บัณฑูรฯ เสนอ

ระเบียบวาระที่   6.3   :  การให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่  (MNP)  :  กทช.สุรนันท์ฯ , คณะกรรมการประสานการให้บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ , กลุ่มภารกิจด้านบริหารเลขหมายโทรคมนาคม 

มติที่ประชุม              
1.  ที่ประชุม กทช.ได้พิจารณา เหตุผลที่ผู้ประกอบการอ้างถึงประเด็นเหตุสุดวิสัยและประเด็นปัญหาความไม่พร้อมด้านเทคนิคเพื่อขอขยายระยะเวลาการจัดให้มีบริการ MNP ออกไปอีก เห็นว่ากรณีเหตุภูเขาไฟระเบิดที่ประเทศไอซ์แลนด์ และเหตุการณ์ความไม่สงบ ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ปี 2553 นั้น ไม่เข้าข่ายเป็นเหตุสุดวิสัย และสิ่งที่เกิดขึ้นไม่เป็นสัดส่วนหรือเป็นเหตุและผลของการไม่ปฏิบัติตามคำบังคับของ กทช.ประกอบกับปัญหาความไม่พร้อมด้านเทคนิคที่เกิดขึ้น ในทางปฏิบัติเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องดำเนินการเตรียมความพร้อมมานานแล้ว เพราะมีประกาศ กทช.บังคับไว้แล้ว ตั้งแต่ปี พ.ศ.2552 ดังนั้น เหตุผลที่ผู้ประกอบการกล่าวอ้างทั้งสองประเด็น จึงฟังไม่ขึ้น
2. โดยที่การไม่ดำเนินการจัดให้มีบริการ MNP ของผู้ประกอบการ ทั้ง 5 ราย ( บจ.ทรู มูฟ บมจ.กสท โทรคมนาคม  บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส  บจ.ดิจิตอลโฟน และ บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น ) ตามระยะเวลาที่ประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ กำหนดไว้ นับตั้งแต่ประกาศฯ มีผลใช้บังคับจนถึงขณะนี้ นั้น ย่อมถือเป็นการกระทำผิดมาแล้วตั้งแต่เริ่มแรก ประกอบกับ กทช. ได้ออกคำบังคับทางปกครอง  ตามมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 โดยสั่งให้ผู้ประกอบการจัดให้มีบริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ด้วยอีกครั้งหนึ่งแล้ว 
3.  จากการวินิจฉัยข้อเท็จจริงและเหตุผลทั้งหมดข้างต้น ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่า เพื่อมิให้ประชาชนผู้ใช้บริการเสียประโยชน์จากการได้รับบริการ MNP ต่อไปอีก จึงมีมติให้ผู้ประกอบการทั้ง 5 รายดังกล่าวต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามมติที่ประชุม กทช. ครั้งที่ 8/2553 เมื่อวันที่ 2 เมษายน 2553 ต่อไปโดยจัดให้มีบริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในวันที่ 31 สิงหาคม 2553 ทั้งนี้ โดยไม่มีการขยายเวลาออกไปอีก
4.  มอบหมายให้สำนักงาน กทช. หารือ กทช.สุธรรมฯ ในประเด็นการปรับปรุงแก้ไขประกาศ กทช.เรื่อง หลักเกณฑ์บริการคงสิทธิเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในส่วนที่เกี่ยวข้อง 2 ประเด็น ให้สอดคล้องกับมติ กทช. ที่เห็นชอบแล้วในการประชุม กทช.ครั้งที่ 18/2553 เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ได้แก่
1) ในเรื่องของระยะเวลาการดำเนินการโอนย้ายผู้ให้บริการในกรณีที่มีการยื่นคำขอจำนวนมากตั้งแต่ 25 ราย ขึ้นไปในคราวเดียวกันจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จใน 20 วันทำการ และ
2) การกำหนดให้ Clearing House เป็นผู้มีหน้าที่ในการออกใบเสร็จรับเงินค่าธรรมเนียมการโอนย้ายผู้ให้บริการ ซึ่งจะมีผลให้ Clearing House เป็นผู้มีสิทธิเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการโอนย้ายฯ ได้

ระเบียบวาระที่   6.5  :  การดำเนินการเกี่ยวกับที่ปรึกษาเพื่อการประมูลคลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ (IMT หรือ 3G and beyond) : รทช.ประเสริฐฯ , คณะกรรมการตรวจและรับมอบงานจ้างที่ปรึกษาเพื่อการประมูลคลื่นความถี่สำหรับการประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ฯ

หมายเหตุ                 ยังไม่ได้มีการพิจารณาในวาระนี้ 

ระเบียบวาระที่  6.5  :  คำสั่งเรียกให้ทำคำให้การในคดีปกครองหมายเลขดำที่ 995/2553 ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดี กับ กทช. ผู้ถูกฟ้องคดี กรณีผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำชี้ขาดการไต่สวนข้อเท็จจริงที่ 1/2553) : รทช.ฐากรฯ ,กม.

มติที่ประขุม                
1.  เห็นชอบแนวทางการจัดทำคำให้การในคดีปกครองหมายเลขดำที่  995/2553 ระหว่างบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ผู้ฟ้องคดี กับ กทช. ผู้ถูกฟ้องคดี กรณีผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำชี้ขาดการไต่สวนข้อเท็จจริงที่ 1/2553) โดยให้ชี้แจงและยืนยันต่อศาลพร้อมพยานหลักฐานว่าการพิจารณาและดำเนินการมีคำชี้ขาดการไต่สวนข้อเท็จจริงที่  1/2553  ลงวันที่ 2 เมษายน  2553 และได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว ทั้งขั้นตอนวิธีการและเนื้อหาสาระของคำสั่ง
2.  เห็นชอบการมอบอำนาจให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสูดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดีแทน 
3.  มอบหมายให้ กทช.สุธรรมฯ เป็นผู้รับผิดชอบคดี และให้เจ้าหน้าที่สำนักกฎหมาย เป็นผู้ประสานงาน และจัดทำรายละเอียดคำให้การตามแนวทางดังกล่าวต่อไป

ระเบียบวาระที่  6.6   :  คำสั่งเรียกให้ทำคำให้การในคดีปกครองหมายเลขดำที่ 1009/2553 ระหว่างบริษัท ทรู มูฟ จำกัด ผู้ฟ้องคดี กับ กทช. ผู้ถูกฟ้องคดี  กรณี ผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำชี้ขาดการไต่สวนข้อเท็จจริงที่ 1/2553)  ไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจตามกฎหมายหรือไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอน หรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้นและเป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติ : รทช.ฐากรฯ ,กม.

มติที่ประชุม                
1.  เห็นชอบแนวทางการจัดทำคำให้การในคดีปกครองหมายเลขดำที่ 1009/2553 ระหว่างบริษัท ทรู มูฟ จำกัด ผู้ฟ้องคดี กับ กทช. ผู้ถูกฟ้องคดี กรณี   ผู้ถูกฟ้องคดีออกคำสั่งทางปกครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย (คำชี้ขาดการไต่สวนข้อเท็จจริงที่ 1/2553)  ไม่มีอำนาจหรือนอกเหนืออำนาจตามกฎหมายหรือไม่ถูกต้องตามรูปแบบ ขั้นตอนหรือวิธีการอันเป็นสาระสำคัญที่กำหนดไว้สำหรับการกระทำนั้น   และ เป็นกรณีที่เจ้าหน้าที่ของรัฐ ละเลยต่อหน้าที่ ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติโดยให้ชี้แจง และ ยืนยันต่อศาลพร้อมพยานหลักฐานว่าการพิจารณา และ ดำเนินการมีคำชี้ขาดการไต่สวนข้อเท็จจริงที่ 1/2553 ลงวันที่  2 เมษายน 2553  ได้ดำเนินการตามอำนาจหน้าที่โดยชอบด้วยกฎหมายแล้ว  ทั้งขั้นตอนวิธีการและเนื้อหาสาระของคำสั่ง  และ กทช.มิได้ละเลยต่อหน้าที่ในการกำหนดมาตรการเฉพาะตามที่ผู้ฟ้องคดีกล่าวอ้างแต่อย่างใด
2.  เห็นชอบการมอบอำนาจให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดีแทน   
3.  มอบหมายให้ กทช.สุธรรมฯ เป็นผู้รับผิดชอบคดี และให้เจ้าหน้าที่สำนักกฎหมาย เป็นผู้ประสานงานและจัดทำรายละเอียดคำให้การตามแนวทางดังกล่าวต่อไป

ระเบียบวาระที่  6.7   :   คำสั่งเรียกให้ทำคำให้การในคดีปกครอง หมายเลขดำที่ 949/2553  ระหว่างนายสราวุฑ  ทองเพ็ญ (ผู้ฟ้องคดี) กับ กทช.(ผู้ถูกฟ้องคดี) : รทช.ฐากรฯ ,กม.

มติที่ประชุม                
1.  เห็นชอบแนวทางการจัดทำคำให้การในคดีปกครองหมายเลขดำที่  949/2553 ระหว่างนายสราวุฑ  ทองเพ็ญ (ผู้ฟ้องคดี) กับ กทช.(ผู้ถูกฟ้องคดี) โดยให้ชี้แจงและยืนยันข้อเท็จจริงว่า ผู้ฟ้องคดีได้ดำเนินการเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ตามเงื่อนไขที่ผู้ถูกฟ้องคดีกำหนดแล้วหรือไม่ และกระทำการของผู้ถูกฟ้องคดีไม่ถือเป็นการ  ยกเลิก เพิกถอนเงื่อนไขการประกาศเชิญชวนให้ประชาชนเข้ารับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศของ  กทช. ดังกล่าวแต่อย่างใด จึงไม่ได้ทำให้ผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายตามที่ฟ้อง
2.  เห็นชอบการมอบอำนาจให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสูดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดีแทน   
3.  มอบหมายให้ กทช.สุธรรมฯ เป็นผู้รับผิดชอบคดี และให้เจ้าหน้าที่สำนักกฎหมาย เป็นผู้ประสานงาน และจัดทำรายละเอียดคำให้การตามแนวทางดังกล่าวต่อไป

ระเบียบวาระที่  6.8  :  คดีปกครองหมายเลขดำที่ 1011/2553 ในข้อพิพาทขอให้เพิกถอนคำสั่งของ กทช.ที่สั่งให้บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการเจรจา เพื่อทำสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) : รทช.ฐากรฯ ,กม.

มติที่ประชุม              
1.  เห็นชอบแนวทางการจัดทำคำให้การในคดีปกครองหมายเลขดำที่ 1011/2553 ในข้อพิพาทขอให้เพิกถอนคำสั่งของ กทช.ที่สั่งให้บริษัท ทีทีแอนด์ที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการเจรจาเพื่อทำสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมกับ  บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน)   โดยให้ชี้แจงและยืนยันข้อเท็จจริงว่า คำชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่ 3/2551   และ คำสั่งของ กทช.ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายทั้งในสาระสำคัญและกระบวนการในการจัดทำคำสั่งทางปกครองแล้ว 
2.  เห็นชอบการมอบอำนาจให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสูดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดีแทน 
3.  มอบหมายให้ กทช.สุธรรมฯ เป็นผู้รับผิดชอบคดี และให้เจ้าหน้าที่สำนักกฎหมาย เป็นผู้ประสานงาน และจัดทำรายละเอียดคำให้การตามแนวทางดังกล่าวต่อไป

ระเบียบวาระที่  6.9  :  คดีปกครองหมายเลขดำที่ 1033/2553   ในข้อพิพาทขอให้เพิกถอนคำสั่งของ กทช.ที่สั่งให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน)  ดำเนินการเจรจาเพื่อทำสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม   กับ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) : รทช.ฐากรฯ, กม.

มติที่ประชุม            
1.  เห็นชอบแนวทางการจัดทำคำให้การในคดีคดีปกครอง หมายเลขดำที่ 1033/2553 ในข้อพิพาทขอให้เพิกถอนคำสั่งของ กทช.ที่สั่งให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ดำเนินการเจรจาเพื่อทำสัญญาการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมกับบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) โดยให้ชี้แจงและยืนยันข้อเท็จจริงดังนี้
1.1  คำสั่ง กทช.ที่ให้ บมจ.ทีโอที ดำเนินการเจรจา พร้อมการกำหนดค่าตอบแทนการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นการชั่วคราว เป็นคำสั่งที่ชอบด้วยกระบวนการตามกฎหมาย ว่าด้วยวิธีปฎิบัติราชการทางปกครอง มีความสมเหตุสมผล และไม่ขัดต่อกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการโทรคมนาคม 
1.2  คำชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคมที่ 4/2551 ชอบด้วยเหตุผลและกฎหมายที่เกี่ยวข้องแล้ว  ประกอบกับ บมจ.ทีโอที   ไม่อาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนคำชี้ขาดข้อพิพาทการเชื่อมต่อ โครงข่ายโทรคมนาคมดังกล่าวได้    เนื่องจากเป็นการฟ้องที่พ้นกำหนดระยะเวลาที่กำหนดในพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2552 
1.3  ข้อ 1 และ ข้อ 126 ของประกาศ กทช.ว่าด้วยการใช้และเชื่อมต่อโครงข่ายโทรคมนาคม พ.ศ. 2549   ชอบด้วยเหตุผล และ กฎหมายแล้ว  ประกอบกับ   บมจ.ทีโอที   ไม่อาจฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนประกาศดังกล่าวได้ เนื่องจากเป็นประเด็นข้อพิพาทเดียวกันกับที่ บมจ.ทีโอที  ได้ยื่นฟ้อง กทช. เป็นคดีปกครองหมายเลขดำที่ 1653/2550    ซึ่งศาลยังมิได้พิจารณาและมีคำพิพากษาในคดีดังกล่าวแต่อย่างใด 
2.  เห็นชอบการมอบอำนาจให้พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสูดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดีแทน   
3.  มอบหมายให้ กทช.สุธรรมฯ เป็นผู้รับผิดชอบคดี และให้เจ้าหน้าที่สำนักกฎหมาย เป็นผู้ประสานงาน และจัดทำรายละเอียดคำให้การตามแนวทางดังกล่าวต่อไป
 
ระเบียบวารที่   6.10   :   บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ขอรับการจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมเพิ่มเติม : รทช.ประเสริฐฯ, กลุ่มภารกิจด้านบริหารเลขหมายโทรคมนาคม
 
มติที่ประชุม               อนุมัติจัดสรรเลขหมายโทรคมนาคมมาตรฐาน 10 หลักเพิ่มเติมให้แก่ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จำนวน 1,000,000 เลขหมาย เพื่อใช้สำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่   ตามความเห็นของคณะกรรมการเลขหมายโทรคมนาคม โดยให้จัดสรรเลขหมายในกลุ่ม 0808 จำนวน 40,000 เลขหมาย กลุ่ม 0888  จำนวน 900,000 เลขหมาย และกลุ่ม 0889 จำนวน  60,000 เลขหมาย ตามที่ สำนักงาน กทช.เสนอ  ทั้งนี้ ให้บริษัท ฯ ดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศ กทช.เรื่อง หลักเกณฑ์การจัดสรรและบริหารเลขหมายโทรคมนาคม พ.ศ. 2551 ต่อไป
 
ระเบียบวาระที่  6.11  :  โครงการก่อสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแกแดะ  (พลเอกนวล- คุณหญิงบานชื่น จันทร์ตรี) ) : กทช.พันเอก นทีฯ , รทช. พิทยาพลฯ, กจ.
 
มติที่ประชุม                 อนุมัติงบประมาณจำนวน 9,361,500 บาท เพื่อสนับสนุนการดำเนินโครงการก่อสร้างโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแกแดะ  (พลเอกนวล- คุณหญิงบานชื่น จันทร์ตรี) ตำบลธารคีรี อำเภอสะบ้าย้อย จ.สงขลา ตามที่ สำนักราชเลขาธิการขอรับการสนับสนุน โดยให้เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2553 ของสำนักงาน กทช. รายการเงินงบกลางกรณีฉุกเฉินและจำเป็น ทั้งนี้ มอบหมายให้สำนักงาน กทช. ดำเนินการต่อไป และนำเรียน กทช. บัณฑูรฯ เพื่อทราบมติ กทช.ในเรื่องนี้ด้วย
 
ระเบียบวาระที่  6.12   :   การแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสินทรัพย์ของสำนักงาน กทช. : กทช.บัณฑูรฯ
 
มติที่ประชุม               เห็นชอบในหลักการการแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารสินทรัพย์ของสำนักงาน กทช. ตามที่ กทช.บัณฑูรฯ เสนอ โดยมอบหมายให้สำนักงาน กทช. นำเรื่องนี้หารือในรายละเอียดร่วมกับ กทช.สุรนันท์ฯ และ กทช.บัณฑูรฯ อีกครั้งหนึ่ง ก่อนดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ โดยอาจพิจารณาความเหมาะสมในการเชิญบุคคลภายนอกเข้าร่วมเป็นกรรมการฯ ด้วย
 
หมายเหตุ                  ไม่มีเอกสารประกอบวาระ โดย กทช.บัณฑูรฯ ได้หยิบยกเรื่องนี้หารือต่อที่ประชุมด้วยวาจาในช่วงการพิจารณาระเบียบวาระที่ 2.1 เรื่อง รับรองรายงานการประชุม กทช. ครั้งที่ 22/2553 วันที่ 28 กรกฎาคม 2553
 

สร้างโดย  -   (15/3/2559 12:01:58)

Download

Page views: 143