ผลการดำเนินการจัดให้มีบริการ USO ระยะที่ 2 (พ.ศ. 2553)
การจัดให้มีบริการ USO ระยะที่ 2 เพื่อรองรับภารกิจตามแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 2 (พ.ศ.2551-2553) มีการจัดทำประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม ฉบับที่ 2 (ลงราชกิจจานุเบกษาวันที่ 6 ตุลาคม 2552) โดยมีวัตถุประสงค์มุ่งเน้นกระจายบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคม เพิ่มเติมจากฉบับที่ 1 โดยเน้นขยายบริการโทรศัพท์สาธารณะในสถานศึกษา ศาสนสถานและสถานพยาบาล และเน้นส่งเสริมการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตชุมชนในพื้นที่เป้าหมายที่ กทช. กำหนด
ต่อมา กทช. ได้จัดทำประกาศ กทช. เรื่อง แผนปฏิบัติการจัดให้มีบริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงและบริการเพื่อสังคมประจำปี 2553 ขึ้น และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 8 มกราคม 2553 เพื่อใช้กำหนดภารกิจและพื้นที่เป้าหมายในการจัดให้มีบริการUSO ตามประกาศ กทช. เรื่องหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการจัดให้มีบริการ USOฉบับที่ 2 ดังกล่าวข้างต้น ทั้งนี้ คณะกรรมการ กทช. ได้กำหนดเป้าหมายและภารกิจให้ผู้รับใบอนุญาตต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
- จัดให้มีบริการโทรศัพท์โดยทั่วถึงระดับชุมชน ตามพื้นที่ซึ่งคณะกรรมการ กทช. กำหนด รวมไปถึงการบำรุงรักษาโทรศัพท์สาธารณะ USO ที่ได้ดำเนินการจัดตั้งไปแล้ว ตามการจัดให้มีบริการ USO ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2548 – 2552)
- จัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตระดับชุมชนตามพื้นที่ซึ่งคณะกรรมการ กทช. กำหนดโดยการดำเนินการส่งเสริมให้มีการจัดตั้งศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตประจำชุมชน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงบริการนั้นได้โดยสะดวก ทั้งนี้ การจัดให้มีบริการดังกล่าวอาจรวมไปถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ ตลอดจนการจัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้งานของผู้ใช้บริการ
- จัดให้มีบริการโทรศัพท์สาธารณะและอินเทอร์เน็ตในหน่วยงานสาธารณะ ตามที่คณะกรรมการกำหนด ทั้งนี้การจัดให้มีบริการดังกล่าวอาจรวมไปถึงอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ ซอฟต์แวร์ ตลอดจนการจัดให้มีการฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการใช้งานของบุคลากรของหน่วยงานสาธารณะนั้นและผู้มารับบริการให้สามารถใช้บริการอินเทอร์เน็ตได้
- ส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการจัดหาและพัฒนาเทคโนโลยีด้านอุปกรณ์และบริการโทรคมนาคม เพื่ออำนวยความสะดวกแก่คนพิการ เด็ก คนชรา และผู้ด้อยโอกาสในสังคมให้สามารถเข้าถึงบริการโทรคมนาคมพื้นฐาน ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวรวมถึงการสนับสนุนด้านอุปกรณ์หรือซอฟต์แวร์ที่เหมาะสมต่อการใช้งาน การฝึกอบรมเพื่อเพิ่มทักษะความรู้ด้านโทรคมนาคม ตลอดจนการให้ความช่วยเหลือทางการเงินเพื่อให้สามารถใช้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานได้
อย่างไรก็ตาม การจัดให้มีบริการตามข้อ (1) (2) และ (3) ดังกล่าวให้หมายรวมถึงการบำรุงรักษาอุปกรณ์ต่างๆ ให้อยู่ในสภาพที่ใช้งานได้อย่างเหมาะสมด้วย สำหรับการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตระดับชุมชนและภายในหน่วยงานสาธารณะนั้น คณะกรรมการ กทช. ได้กำหนดลักษณะของหน่วยงานที่มีสิทธิได้รับการคัดเลือกเป็นพื้นที่จัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ต และกำหนดเงื่อนไขการจัดตั้งศูนย์อินเทอร์เน็ต ตามลักษณะของพื้นที่เป้าหมาย หน่วยงานที่รับผิดชอบ และกลุ่มเป้าหมายทางสังคม ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
1. ศูนย์อินเทอร์เน็ตโรงเรียน
คณะกรรมการ กทช. กำหนดพื้นที่เป้าหมายเพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตฯ ดำเนินการจัดให้มีโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตในโรงเรียนทั่วประเทศ จำนวน 520 แห่ง ซึ่งโรงเรียนที่ได้รับคัดเลือกเป็นพื้นที่เป้าหมาย มีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่สำคัญ อาทิเช่น เป็นโรงเรียนขนาดเล็กในพื้นที่ชนบท มีความขาดแคลนคอมพิวเตอร์แบบตั้งโต๊ะ หรือมีแต่ไม่เพียงพอต่อกิจกรรมการเรียนการสอน และไม่เคยได้รับงบประมาณสนับสนุนเกี่ยวกับการจัดหาคอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตจากกระทรวงศึกษาธิการ หรือหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ ในช่วงระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา
2. ศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน
คณะกรรมการ กทช. กำหนดพื้นที่เป้าหมายเพื่อให้ผู้รับใบอนุญาตฯ ดำเนินการจัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตระดับชุมชน จำนวน 379แห่ง โดยคณะกรรมการ กทช. เห็นว่าการกำหนดพื้นที่เป้าหมายเพื่อจัดตั้งศูนย์อินเทอร์เน็ตระดับชุมชนในพื้นที่แห่งใดนั้น เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของศูนย์อินเทอร์เน็ตและคุ้มค่าต่องบประมาณที่ดำเนินการ ควรพิจารณาจากความต้องการของประชาชนในพื้นที่และความพร้อมของพื้นที่เป็นหลัก โดยเปิดโอกาสให้หน่วยงานต่างๆ ที่มีความต้องการศูนย์อินเทอร์เน็ตแสดงความจำนงโดยสมัครใจพร้อมยื่นแบบฟอร์มขอรับมายังสำนักงาน กสทช. เพื่อพิจารณาคัดเลือกเป็นพื้นที่เป้าหมาย โดยมีข้อกำหนดและเงื่อนไขที่สำคัญต่างๆ ดังนี้
- คุณสมบัติของหน่วยงานที่ขอรับ ต้องมีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐหรือนิติบุคคล เช่น สถานศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือหน่วยงานที่ไม่แสวงหากำไร เช่น มูลนิธิ สมาคม ศาสนสถาน เป็นต้น
- หน่วยงานที่ขอรับ ต้องมีความพร้อมด้านต่างๆ คือ มีพื้นที่รองรับการจัดตั้งศูนย์อินเทอร์เน็ต มีบุคลากรดูแลศูนย์อินเทอร์เน็ต และมีหน่วยงานที่แสดงตนเป็นผู้รับผิดชอบศูนย์และสนับสนุนงบประมาณให้แก่ศูนย์อินเทอร์เน็ตได้ หรือมีการรวมกลุ่มของประชาชนในพื้นที่เพื่อให้การสนับสนุน
- หน่วยงานที่ขอรับ ต้องมีการกำหนดแนวทางต่างๆ ในการบริหารจัดการศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชน เพื่อให้ศูนย์อินเทอร์เน็ตเกิดความยั่งยืนและเอื้อประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนในพื้นที่
- พื้นที่ขอรับการจัดตั้งศูนย์อินเทอร์เน็ตในระดับตำบล ต้องไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ดำเนินการของกระทรวง ICT ซึ่งดำเนินการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ICT ชุมชนไปแล้ว และไม่ซ้ำซ้อนกับพื้นที่ดำเนินการจัดให้มีบริการศูนย์อินเทอร์เน็ตโรงเรียนของสำนักงาน กสทช. รวมทั้ง ยังไม่มีร้านค้าของเอกชนเปิดให้บริการอินเทอร์เน็ต (อินเทอร์เน็ตคาเฟ่) บริเวณใกล้เคียง หรือมีแต่ไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่
3. ศูนย์อินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม
คณะกรรมการ กทช. ได้ร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการ และกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ ในการทดลองดำเนินการจัดให้มีบริการศูนย์อินเทอร์เน็ตเพื่อสังคมภายในหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบกลุ่มเป้าหมายทางสังคม ได้แก่ คนพิการ ผู้สูงอายุ ผู้ด้อยโอกาส และ ผู้มีรายได้น้อย โดยเบื้องต้นได้กำหนดพื้นที่เป้าหมายจัดให้มีบริการศูนย์อินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม จำนวน 40 แห่งทั่วประเทศ พร้อมจัดให้มีอุปกรณ์พิเศษ คอมพิวเตอร์ และซอฟต์แวร์สำหรับคนพิการภายในศูนย์อินเทอร์เน็ตด้วย โดยหน่วยงานที่ได้รับคัดเลือกเป็นพื้นที่เป้าหมายดังกล่าวสามารถแบ่งตามประเภทกลุ่มเป้าหมายทางสังคม ได้ดังนี้
ลำดับ |
ประเภทศูนย์อินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม |
จำนวน (แห่ง) |
1. |
จัดให้มีบริการศูนย์อินเทอร์เน็ตสำหรับผู้ด้อยโอกาส |
17 |
2. |
จัดให้มีบริการศูนย์อินเทอร์เน็ตสำหรับผู้สูงอายุ |
1 |
3. |
จัดให้มีบริการศูนย์อินเทอร์เน็ตสำหรับคนพิการ |
22 |
|
รวมทั้งหมด |
40 |
ส่วนรูปแบบวิธีการดำเนินงานยังคงยึดแนวทางที่สำนักงานเคยดำเนินการมา คือการเปิดโอกาสให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมสามารถเลือกระหว่างการจัดให้มีบริการตามเป้าหมายที่ กทช. กำหนด หรือเลือกจ่ายเงินเข้า “กองทุนพัฒนากิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ” ในอัตราร้อยละ 4 ต่อปีของรายได้สุทธิ
โดยในปี พ.ศ.2553 กทช. ได้พิจารณาเห็นชอบแผนการจัดให้มีบริการ USO ของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคม จำนวน 6 บริษัท ได้แก่
- บริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (CAT)
- บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (TOT)
- บริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (3BB)
- บริษัท จัสเทล เน็ทเวิร์ค (JASTEL)
- บริษัท เอไอเอ็น โกลบอลคอม จำกัด (AIN) และ
- บริษัท ซุปเปอร์ บรอดแบนด์ เน็ทเวอร์ค จำกัด (SBN)
โดยสรุปผลการดำเนินงานของผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมตามภารกิจที่ คณะกรรมการ กทช. มอบหมาย ในมิติเชิงพื้นที่ได้ดังนี้
ภารกิจ |
เป้าหมาย |
1. บำรุงรักษาโทรศัพท์ USO ระยะที่ 1 |
29,745 เลขหมาย |
2. ติดตั้งโทรศัพท์สาธารณะในชุมชน |
1,555 หมู่บ้าน |
3. จัดให้มีบริการศูนย์อินเทอร์เน็ตโรงเรียน |
520 แห่ง |
4. จัดให้มีบริการศูนย์อินเทอร์เน็ตชุมชนและศูนย์อินเทอร์เน็ตเพื่อสังคม |
419 แห่ง |
สร้างโดย - สำนักบริการโทรคมนาคมโดยทั่วถึงและเพื่อสังคม (20/2/2560 15:23:09)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 941