สรุปมติที่ประชุม กสท. 20/2555
รายงานการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
ครั้งที่ 20/2555
วันพุธที่ 6 มิถุนายน 2555 เวลา 13.00 น.
ณ ห้องประชุม ชั้น 12 อาคารอำนวยการ
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
ผู้เข้าร่วมประชุม
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
1. พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์ ประธานกรรมการ
2. พลโท ดร. พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการ
3. พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ งามสง่า กรรมการ
4. ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธวัชชัย จิตรภาษ์นันท์ กรรมการ
5. นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ
6. นายประเสริฐ อภิปุญญา เลขานุการรองเลขาธิการ กสทช.
7. นางสาวมณีรัตน์ กำจรกิจการ ผู้ช่วยเลขานุการ
8. นางสาวกอกนก กิจบาลจ่าย ผู้ช่วยเลขานุการรักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มงานอำนวย การภารกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์
9. นางสาวนนทรี เหมทานนท์ ผู้ช่วยเลขานุการ ผู้บริหารระดับต้น
เจ้าหน้าที่สำนักงาน กสทช.
1. นางสาวชุติมา ไตรโกมุท รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้ บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
2. นางสาวรัตนากร ทองสำราญ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มงานพัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจาย เสียงและกิจการโทรทัศน์
3. นายสมศักดิ์ สิริพัฒนากุล รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มงานขับเคลื่อนกิจการโทรทัศน์ และ วิทยุในระบบดิจิทัล
4. นายสมบัติ ลีลาพตะ รักษาการในตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มงานกฎหมายกระจายเสียงและ โทรทัศน์
5. นายตรี บุญเจือ พนักงานปฏิบัติการระดับสูง
6. นางสาวสมพร อมรชัยนพคุณ พนักงานปฏิบัติการระดับสูง
7. นางสาววรณัน บุญอภิรักษา พนักงานปฏิบัติการระดับสูง
8. นางสาวทิวาพร ทองเล็ก พนักงานปฏิบัติการระดับกลาง
9. นางสาวนารีรัตน์ เมธีกุล พนักงานตามสัญญาจ้าง
10.นางสาวชนาธิป โพธิอ่อน พนักงานตามสัญญาจ้าง
เริ่มประชุม 13.30 น.
ระเบียบวาระที่ 1 เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
ประธาน กสท. (พันเอก ดร.นที ศุกลรัตน์) กล่าวเปิดประชุม และแจ้งที่ประชุมว่าในวันนี้ (วันที่ 6 มิถุนายน 2555) สำนักงาน กสทช. ได้จัดพิธีลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กสทช. สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) ซึ่งเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ทั้งนี้ ขอขอบคุณ กสท. นางสาวสุภิญญา กลางณรงค์ ที่ผลักดันเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยหวังว่าจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เรื่องของการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และรวดเร็ว
มติที่ประชุม ทราบ
ระเบียบวาระที่ 2 เรื่องเพื่อทราบ
มติของคณะรัฐมนตรีเรื่องผลการพิจารณามาตรฐานการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลตามแนวนโยบายของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กลุ่มงานขับเคลื่อนกิจการโทรทัศน์และวิทยุในระบบดิจิทัล (จส.))
การประชุม กสท. ครั้งที่ 16/2555 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2555 ได้พิจารณาและมีมติเห็นชอบแนวทางการดำเนินการเพื่อให้การรับรองมาตรฐานการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ดิจิตอลภาคพื้นดิน (Digital Terrestrial Television) โดยเห็นควรให้นำเสนอมติที่ประชุม กสท. ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้นำส่งมติที่ประชุม กสท. ดังกล่าวต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเรียบร้อยแล้ว และได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0505/13087 ลงวันที่ 22 พฤษภาคม 2555 ว่า “คณะรัฐมนตรีได้ประชุมปรึกษากันเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2555 โดยลงมติรับทราบตามมติ กสท.ครั้งที่ 16/2555 เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2555 ตามที่สำนักงาน กสทช.เสนอ โดยมอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการการทำงานร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดแนวทางรองรับการเปลี่ยนผ่านระบบการรับส่งวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอล ทั้งนี้ ให้สำนักงาน กสทช. รับความเห็นของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปประกอบการพิจารณาดำเนินการด้วย”
มติที่ประชุม ทราบ
ระเบียบวาระที่ 3 เรื่องเพื่อพิจารณา
ระเบียบวาระที่ 3.1 ร่างระเบียบคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. .... (สำนักงาน กสทช.)
มติที่ประชุม ที่ประชุมพิจารณาแล้วเห็นว่าการแก้ไขร่างระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. .... ยังมีบางประเด็นที่ไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ดังนั้น จึงเห็นควรมอบหมายให้กลุ่มกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ (มส.) จัดทำข้อสังเกตตามหลักการของที่ประชุมเพื่อนำส่งให้สำนักงาน กสทช.เสนอต่อ กสทช.เพื่อพิจารณาทบทวนการแก้ไขร่างระเบียบ กสทช.ฯ ดังกล่าวให้เป็นไปด้วยความถูกต้องและสอดคล้องกับข้อกฎหมายต่อไป
ระเบียบวาระที่ 3.2 งบประมาณรายจ่ายด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อรองรับภารกิจตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 ประจำปี 2555 (กลุ่มงานอำนวยการภารกิจกระจายเสียงและโทรทัศน์ (อส.))
มติที่ประชุม
1. อนุมัติการขอปรับวงเงินงบประมาณโครงการที่ได้รับการจัดสรรประจำปี 2555 ดังนี้
1.1 โครงการความร่วมมือทางวิชาการเพื่อให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ จากเดิมที่ได้รับอนุมัติในวงเงิน 20,000,000 บาท ขอปรับลดวงเงินลง จำนวน 10,000,000 บาท
1.2 โครงการจัดซื้อระบบวิเคราะห์วิศวกรรมโครงข่ายด้วยข้อมูลสารสนเทศ จำนวน 1 ระบบ จากเดิมที่ได้รับอนุมัติในวงเงิน 15,750,000 บาท ขอปรับลดวงเงินลง จำนวน 3,750,000 บาท
1.3 โครงการการจัดจ้างที่ปรึกษาเพื่อศึกษาและเตรียมความพร้อมการพัฒนามาตรฐานการประกอบกิจการของสถานีวิทยุกระจายเสียง จากเดิมที่ได้รับอนุมัติในวงเงิน 8,000,000 บาท ขอปรับลดวงเงินลง จำนวน 6,400,000 บาท
1.4 โครงการกำหนดลักษณะและมาตรการป้องกันการกระทำอันเป็นการครอบงำกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ภาคธุรกิจ จากเดิมที่ได้รับอนุมัติในวงเงิน 3,600,000 บาท ขอปรับลดวงเงินลงจำนวน 2,000,000 บาท
1.5 โครงการประเมินความสามารถและสมรรถนะของบุคลากร จากเดิมที่ได้รับอนุมัติในวงเงิน 2,500,000 บาท ขอปรับเพิ่มวงเงิน จำนวน 2,500,000 บาท
2. การปรับวงเงิน 19,650,000 บาท ให้ไปเพิ่มในงบประมาณโครงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรขององค์กรในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาบุคลากรในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งรองรับโครงการอบรมตามนโยบายของ กสท. ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
3. เห็นชอบการเพิ่มเติมรายละเอียดของงานโครงการจัดหาผู้เชี่ยวชาญ หรือที่ปรึกษาเพื่อจัดทำแผนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ไปสู่ระบบดิจิตอล โดยขอเพิ่มรายละเอียดงานเกี่ยวกับการประเมินมูลค่าคลื่น และการออกแบบการประมูล โดยดำเนินการภายใต้วงเงินงบประมาณเดิมที่ได้รับอนุมัติ
4. เห็นชอบงบประมาณรายจ่ายด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ประจำปีงบประมาณ 2555 ภายหลังการปรับปรุงตามร่างมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 7/2555 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2555 พร้อมอนุมัติให้จัดส่งรายละเอียดให้สำนักงาน กสทช. เพื่อรวบรวมจัดทำเป็นเอกสารงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2555 และดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป
ระเบียบวาระที่ 3.3 เพิ่มผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในองค์ประกอบคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการปรับเปลี่ยนการรับส่งวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล (กลุ่มงานขับเคลื่อนกิจการโทรทัศน์และวิทยุในระบบดิจิตอล (จส.))
มติที่ประชุม เห็นชอบการเพิ่มผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2555 ในองค์ประกอบคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการปรับเปลี่ยนการรับส่งวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ดังนี้ ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศผู้แทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้การดำเนินการปรับเปลี่ยนการรับส่งวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลของประเทศไทยเป็นไปอย่างมีเอกภาพสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาล
ระเบียบวาระที่ 3.4 ยุทธศาสตร์การพัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กลุ่มงานพัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (บส.))
มติที่ประชุม เห็นชอบการพัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ทั้งนี้ ให้ปรับเปลี่ยนชื่อเป็น “แผนส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์”เพื่อให้สอดคล้องตามตัวชี้วัดที่ 1 ในยุทธศาสตร์ที่ 5.5 ของแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555 – 2559)
ระเบียบวาระที่ 3.5 แนวทางการดำเนินการของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ / กลุ่มงานรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (รส.))
มติที่ประชุม เห็นชอบตามแนวทางการดำเนินการของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ตามที่เสนอ ทั้งนี้ ในการกำหนดนโยบาย และหลักเกณฑ์ที่จะใช้เป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงานของคณะอนุกรรมการฯ กสท.เห็นควรให้นำไปพิจารณาในระเบียบวาระที่ 4.2 ส่วน กรณีแผนยุทธศาสตร์ของคณะอนุกรรมการฯ เห็นควรให้ปรับเป็นแผนปฏิบัติการของคณะอนุกรรมการฯ เพื่อให้เป็นแนวทางเดียวกันกับคณะอนุกรรมการฯ อื่น
ระเบียบวาระที่ 4 เรื่องเพื่อพิจารณา
ระเบียบวาระที่ 4.1 ข้อร้องเรียนของบริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) (กลุ่มงานกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ (มส.))
มติที่ประชุม
1. กรณีการดำเนินการของ Free TV จะต้องยึดหลักการแพร่สัญญาณรายการโทรทัศน์ให้เป็นการทั่วไป พร้อมทั้งจะต้องดำเนินการต่อผู้รับใบอนุญาตในกิจการแบบบอกรับสมาชิกทุกรายในลักษณะเดียวกัน โดยไม่เลือกปฏิบัติและไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิทธิของประชาชน
2. กรณีการดำเนินการของบริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) จะต้องรับผิดชอบต่อผู้ใช้บริการซึ่งเป็นสมาชิกของกิจการโทรทัศน์ระบบบอกรับสมาชิกของบริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ให้ได้รับบริการตามสัญญาการให้บริการอย่างต่อเนื่อง
3. เห็นควรเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ Free TV ที่เกี่ยวข้อง (สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง 5 สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ทีวี และสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3) และบริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงข้อเท็จจริง และเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้องต่อสำนักงาน กสทช. ในวันที่ 7 มิถุนายน 2555 พร้อมทั้งให้สำนักงาน กสทช. รายงานผลการชี้แจงต่อ กสท. ด้วย
4. ให้ Free TV ทุกรายที่เกี่ยวข้อง และบริษัท ทรู วิชั่นส์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินการให้เป็นไปตามข้อ 1 และข้อ 2 และรายงานผลการดำเนินการให้ กสท. ทราบภายในวันที่ 8 มิถุนายน 2555
หมายเหตุ : รับรองมติที่ประชุมของระเบียบวาระที่ 4.1 เพื่อนำไปประกอบการดำเนินการที่เกี่ยวข้องต่อไป
ระเบียบวาระที่ 4.2 ข้อพิจารณามาตรา 37 มาตรา 39 และมาตรา 40 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 (กลุ่มงานกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ (มส.))
มติที่ประชุม เห็นควรมอบหมายให้คณะอนุกรรมการที่เกี่ยวข้องดำเนินการตามขอบเขตอำนาจหน้าที่ภายใต้ข้อกฎหมาย ดังนี้
คณะอนุกรรมการ |
ขอบเขตอำนาจหน้าที่ |
1. คณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ |
(1) มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนและปฏิบัติหน้าที่อื่น ทั้งนี้ ตามที่ กสทช. กำหนด
(2) ขอบเขตเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการใช้เครือข่ายหรือการโฆษณาอันมีลักษณะเป็นการค้ากำไรเกินควร หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญในบางประการที่น่าจะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 |
2. คณะอนุกรรมการด้านผังรายการและเนื้อหารายการ |
(1) พิจารณาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาสาระที่ก่อให้เกิดการล้มล้างการปกครองในระบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือที่กระทบต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน หรือมีการกระทำซึ่งเข้าลักษณะลามกอนาจารหรือมีผลกระทบต่อการให้เกิดความเสื่อมทรามทางจิตใจหรือสุขภาพของประชาชนอย่างร้ายแรง.ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการฯ พ.ศ. 2551
(2) กำกับดูแลผังรายการของผู้ได้รับใบอนุญาต ตามมาตรา 33 และมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการฯ พ.ศ. 2551
(3) พิจารณาเกี่ยวกับการโฆษณาอื่นๆ ที่ไม่ใช่โฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ |
3. คณะอนุกรรมการพัฒนาวิชาชีพกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ |
(1) จัดทำมาตรการส่งเสริมการรวมกลุ่มของผู้รับใบอนุญาต ผู้ผลิตรายการและผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสารมวลชนที่เกี่ยวกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เป็นองค์กรในรูปแบบต่างๆ ตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการฯ พ.ศ. 2551
(2) พัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ยกเว้นการดำเนินการที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกาศ |
4. คณะอนุกรรมการส่งเสริมการกำกับดูแล กันเอง |
จัดทำมาตรฐานทางจริยธรรมของการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพและควบคุมการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพกันเองภายใต้มาตรฐานทางจริยธรรม บุคคล ตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการฯ พ.ศ. 2551 |
5. คณะอนุกรรมการพัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ |
พัฒนาบุคลากรด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่เกี่ยวกับผู้ประกาศตามยุทธศาสตร์ 5.5 การพัฒนาคุณภาพการประกอบกิจการตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ |
ทั้งนี้ สำหรับการร่างประกาศฯ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของการโฆษณา เห็นควรมอบหมายให้กลุ่มงานกฎหมายกระจายเสียงและโทรทัศน์ (มส.) ดำเนินการและนำเสนอต่อที่ประชุม กสท. โดยเร็วต่อไป
เลิกประชุมเวลา 16.00 น.
สร้างโดย - (12/4/2559 12:29:22)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 80