วาระการประชุม กสทช. 9/2555

ระเบียบวาระการประชุม
คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ
ครั้งที่ 9/2555
วันพุธที่ 27 มิถุนายน 2555 เวลา 09.30 น.
ณ ห้องประชุมชั้น 12 อาคารอำนวยการ สำนักงาน กสทช.

ระเบียบวาระที่  1 :  เรื่องที่ประธานแจ้งให้ที่ประชุมทราบ
ระเบียบวาระที่  2 :  เรื่องรับรองรายงานการประชุม

2.1 รับรองรายงานการประชุม กสทช. ครั้งที่ 8/2555 วันพุธที่ 13 มิถุนายน 2555
2.2 ขอเปิดเผยมติและความเห็นในการประชุม กสทช. ครั้งที่ 7/2555 วันที่ 16 พฤษภาคม 2555
ระเบียบวาระที่  3 :  รายงานผลการดำเนินงาน
3.1 รายงานผลการดำเนินงานตามมติ กสทช. ครั้งที่ 8/2555 วันพุธที่ 13 มิถุนายน 2555
3.2 รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์
3.3 รายงานผลการดำเนินงานของคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม
ระเบียบวาระที่  4 :  เรื่องเพื่อทราบ
4.1 รายงานผลการปฏิบัติงานที่ปรึกษาประจำรองประธาน กสทช.(พันเอก เศรษฐพงค์   มะลิสุวรรณ) ไตรมาสที่ 1/2555 : รองประธาน กสทช. (พันเอก เศรษฐพงค์ฯ)
4.2 รายงานผลการปฏิบัติงานของที่ปรึกษาประจำรองประธาน กสทช. (พันเอก นที  ศุกลรัตน์) : รองประธาน กสทช. (พันเอก นทีฯ)
4.3 รายงานการติดตามผลการดำเนินงานตามมติที่ประชุม กสทช. ประจำเดือนเมษายนและเดือนพฤษภาคม 2555 : ปบ.
4.4 การพิจารณาคำขอใช้สิทธิตามประกาศ กทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการใช้สิทธิในการปักหรือตั้งเสา หรือเดินสาย วางท่อ หรือติดตั้งอุปกรณ์ประกอบใดในการให้บริการโทรคมนาคม (หรือหลักเกณฑ์สิทธิแห่งทาง) และมาตรา ๓๙ วรรคแรก ของพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 (กพส. ครั้งที่ 5, 7 และ 9/2555) :กทค., คณะอนุกรรมการพิจารณาสิทธิแห่งทาง., วท.
4.5 ความคืบหน้าผลการดำเนินการจัดทำร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตทดลองประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง : กสท., ปส.1
4.6 การจัดทำ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่ในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์เพื่อการทดลองหรือทดสอบเป็นการชั่วคราว : กสท., มส.
ระเบียบวาระที่  5  :  เรื่องเพื่อพิจารณา
ระเบียบวาระที่  5.1  :  เพิ่มผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในองค์ประกอบคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการปรับเปลี่ยนการรับส่งวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล : กสท., จส. 
มติที่ประชุม  เห็นชอบในหลักการการแต่งตั้งผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องในองค์ประกอบคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการปรับเปลี่ยนการรับส่งวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล (เพิ่มเติม) จำนวน ๘ ราย ได้แก่ 
1) ผู้แทนกระทรวงกลาโหม 2) ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ  3) ผู้แทนกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร 4) ผู้แทนกระทรวงพาณิชย์ 5) ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย  6) ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม  7) ผู้แทนสำนักนายกรัฐมนตรี 
8) ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจของ กสทช. ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ทั้งนี้ ให้คำสั่งแต่งตั้งเพิ่มผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องมีผลบังคับตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติรับทราบ (20 พฤษภาคม 2555) ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอ
     ทั้งนี้  ในการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการจัดทำแผนการปรับเปลี่ยนการรับส่งวิทยุโทรทัศน์ในระบบดิจิทัล (เพิ่มเติม) ให้สำนักงานฯ ดำเนินการตามมติหลักการของที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 7/2554 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2554 วาระที่ 5.3 และมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 8/2554 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2554 วาระที่ 5.6
ระเบียบวาระที่ 5.2  :  การเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบรายชื่อคณะอนุกรรมการเพื่อช่วยปฏิบัติงานด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ : กสท., ปส3.
มติที่ประชุม  
เห็นชอบในหลักการการเปลี่ยนแปลงองค์ประกอบรายชื่อคณะอนุกรรมการเพื่อช่วยปฏิบัติงานด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ซึ่งเป็นการใช้อำนาจของ กสทช. ตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอ ดังนี้
1. คณะอนุกรรมการวิชาชีพกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เปลี่ยนแปลงรายชื่ออนุกรรมการจากเดิม “พลเอกธงชัย  เกื้อกุล” เปลี่ยนเป็น “ดร.วิชัย  พยัคฆโส”
2. คณะอนุกรรมการส่งเสริมกำกับดูแลกันเอง เปลี่ยนแปลงรายชื่ออนุกรรมการจากเดิม “ดร.วิชัย  พยัคฆโส” เปลี่ยนเป็น “พลตรีศักดา  แสงสนิท”
     ทั้งนี้  ในการจัดทำคำสั่งแต่งตั้งอนุกรรมการเพื่อช่วยปฏิบัติงานด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (เพิ่มเติม) ให้สำนักงานฯ ดำเนินการตามมติหลักการของที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 7/2554 เมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2554 วาระที่ 5.3 และมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 8/2554 เมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2554 วาระที่ 5.6      
ระเบียบวาระที่  5.3  :  (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทข้อมูลสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ : กทค., ทท.
มติที่ประชุม
  • เห็นชอบ(ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทข้อมูลสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอ ทั้งนี้ ให้สำนักงานฯ ดำเนินการให้เป็นไปตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนดไว้ต่อไป
หมายเหตุ
  • ให้สำนักงาน กสทช. จัดส่งรายละเอียดการแก้ไขถ้อยคำทางกฎหมายในร่างประกาศ กสทช. เรื่อง มาตรฐานของคุณภาพการให้บริการโทรคมนาคมประเภทข้อมูลสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ตามมติที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 18/2555 เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม 2555 ให้ กสทช.ประวิทย์ฯ ทราบด้วย
ระเบียบวาระที่ 5.4  :  ร่างระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ร้องเรียน พ.ศ. .... : กทค., มท.
มติที่ประชุม

1. ที่ประชุมเสียงข้างมาก (ประธาน กสทช.  รองประธาน กสทช.พันเอก นทีฯ รองประธาน กสทช.พันเอก เศรษฐพงค์ฯ กสทช.สุทธิพลฯ  กสทช.พันตำรวจเอก ทวีศักดิ์ฯ  กสทช.ประเสริฐฯ  กสทช.ผศ.ดร. ธวัชชัยฯ  กสทช.สุภิญญาฯ และ กสทช.พลเอก สุกิจฯ) เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ร้องเรียน พ.ศ. .... ตามที่สำนักงาน กสทช. เสนอ ทั้งนี้ โดยให้นำร่างระเบียบฯ ดังกล่าวไปจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ โดยทาง Website สำนักงาน กสทช. และช่องทางเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะอีกหนึ่งช่องทาง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 ต่อไป โดย กสทช.สุภิญญาฯ ขอสงวนความเห็นในประเด็นเงื่อนไขระยะเวลา ความทับซ้อนอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม และรายงานการประเมินผลกระทบจากการกำกับดูแล โดยจะได้จัดทำบันทึกความเห็นส่งให้ในภายหลัง สำหรับที่ประชุมเสียงข้างน้อย (กสทช.ประวิทย์ฯ) มีมติไม่เห็นชอบร่างระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ร้องเรียน พ.ศ. .... โดยจะได้จัดทำบันทึกความเห็นส่งให้ในภายหลัง 
2. ให้สำนักงาน กสทช. รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปปรับปรุงแก้ไขข้อความในรายงานการประเมินผลกระทบจากการกำกับดูแล ข้อ 8.2(2) การวิเคราะห์ปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของการระงับข้อร้องเรียนด้วยวิธีการไกล่เกลี่ยฯ ในประเด็นการเปรียบเทียบความเสียหายของผู้ร้องเรียนกับค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการไกล่เกลี่ย โดยให้จำแนกสัดส่วนผู้ร้องเรียนตามขนาดของความเสียหาย แทนการเปรียบเทียบกับค่าเบี้ยประชุมของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม ซึ่งมีภารกิจมากไปกว่าเพียงการไกล่เกลี่ย
หมายเหตุ    
1. เหตุผลในการพิจารณาลงมติของที่ประชุมฝ่ายเสียงข้างมากในการพิจารณาร่างระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ร้องเรียน พ.ศ. .... สรุปได้ดังนี้
  • ประกาศ กสทช. เรื่อง แผนแม่บทการบริหารคลื่นความถี่ พ.ศ.2555 และแผนแม่บทกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555 – 2559) และแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555 – 2559) ได้กำหนดเรื่องการพัฒนาและปรับปรุงระบบจัดการเรื่องร้องเรียน และการระงับข้อพิพาทโดยการไกล่เกลี่ยในยุทธศาสตร์ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมไว้ในแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม ฉบับที่ 1 (พ.ศ.2555 – 2559)
  • ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 7/2554 เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2554 ที่ประชุมมีมติเห็นชอบภารกิจที่สำคัญของ กทค. ในระยะแรก ปี 2555 ซึ่งสอดคล้องกับแผนแม่บทกิจการโทรคมนาคม โดยมีภารกิจการปรับปรุงและพัฒนากลไกระงับข้อพิพาทด้านกิจการโทรคมนาคมให้มีประสิทธิภาพ
  • กสทช. ได้มีคำสั่งที่ 27/2554 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการบูรณาการและปรับปรุงกฎหมายและระเบียบด้านโทรคมนาคม ซึ่งคณะอนุกรรมการฯ ได้พิจารณาแนวทางการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์เกี่ยวกับการพัฒนาและปรับปรุงระบบการจัดการเรื่องร้องเรียนและการระงับข้อพิพาทโดยการไกล่เกลี่ยแล้ว เห็นควรนำระบบไกล่เกลี่ยข้อพิพาทมาใช้เพื่อเป็นทางเลือกให้กับคู่กรณีเพื่อนำไปสู่การระงับข้อพิพาทระหว่างกัน ทั้งนี้ ตามมาตรา 57 (4) แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 และข้อ 11 (1) ของประกาศ กทช. เรื่อง กระบวนการรับเรื่องร้องเรียนและพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้ใช้บริการ
  • ที่ประชุม กทค. ครั้งที่ 19/2555 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 เห็นชอบในหลักการร่างระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ร้องเรียน  พ.ศ. ....
  • ที่ประชุมได้รับทราบการชี้แจงประเด็นต่างๆ และการตอบข้อซักถามเกี่ยวกับร่างระเบียบฯ ดังกล่าว โดย กสทช.สุทธิพล  ทวีชัยการ และผู้แทนของสำนักงาน กสทช. ซึ่งได้มีการบันทึกเทปการชี้แจงนั้นไว้แล้ว
2. กสทช.ประวิทย์ฯ ได้มีบันทึกที่ สทช.1003.10/387 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2555 ขอให้นำมติและความเห็นบันทึกในรายงานการประชุม กสทช. ครั้งที่ 9/2555 วันที่ 27 มิถุนายน 2555 
วาระที่ 5.4 เรื่อง ร่างระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ร้องเรียน พ.ศ. .... ดังนี้ 
“ขั้นตอนการนำเสนอและสาระสำคัญของร่างระเบียบดังกล่าว" มีประเด็นที่เป็นปัญหา ดังนี้ 
  • ในการประชุม กทค. ครั้งที่ 19/2555 เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2555 ที่ประชุมยังมิได้มีการพิจารณาเนื้อหาของร่างระเบียบฉบับนี้ เพียงแต่เห็นชอบในหลักการของร่างระเบียบ แล้วให้สำนักงานฯ ดำเนินการให้เป็นไปตามประกาศและระเบียบที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยไม่ได้มีมติให้เสนอที่ประชุม กสทช. ซึ่งต่างไปจากการพิจารณาร่างระเบียบหรือร่างประกาศฉบับอื่นๆ ที่ กทค. จะมีมติอย่างชัดเจนให้เสนอที่ประชุม กสทช. เพื่อพิจารณาต่อไป เนื่องจากในการเสนอร่างระเบียบฉบับนี้ต่อที่ประชุม กทค. สำนักงานฯ ยังมิได้จัดทำรายงานการประเมินผลกระทบจากการกำกับดูแล ตามข้อ 6 ของระเบียบ กทช. ว่าด้วยการประเมินผลกระทบจากการกำกับดูแล พ.ศ.2549 ที่กำหนดไว้ชัดเจนว่าจะต้องนำเสนอรายงานการประเมินผลกระทบจากการกำกับดูแลพร้อมกับเรื่องหรือร่างระเบียบหรือประกาศที่จะนำเสนอเข้าสู่การประชุมทุกครั้ง ที่ประชุม กทค. จึงไม่สามารถพิจารณาความเหมาะสมของเนื้อหาเปรียบเทียบกับผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้ เมื่อจัดทำรายงานดังกล่าวแล้วจึงสมควรเสนอ กทค. พิจารณาเนื้อหาของร่างระเบียบ แล้วจึงจะเสนอต่อที่ประชุม กสทช. ได้                        
  • เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2555 ได้ทำบันทึกถึงสำนักงานฯ เพื่อให้รวบรวมประเด็นสำคัญที่ต้องมีการประเมินผลกระทบและศึกษาวิเคราะห์เพิ่มเติม ตามบันทึกข้อความที่ สทช.1003.10/284 ตัวอย่างเช่น จำนวนผู้ร้องเรียนที่มีความเสียหายไม่เกิน 2,000 บาทกลุ่มหนึ่ง จำนวนผู้ร้องเรียนที่มีความเสียหายระหว่าง 2,000 บาทแต่ไม่เกิน 10,000 บาทกลุ่มหนึ่ง และจำนวนผู้ร้องเรียนที่มีความเสียหายเกิน 10,000 บาทอีกกลุ่มหนึ่ง เนื่องจากต้นทุนค่าตอบแทนผู้ไกล่เกลี่ยแต่ละครั้งไม่ต่ำกว่า 2,000 บาท และสูงสุดถึง 10,000 บาทในแต่ละข้อพิพาท หากความเสียหายจริงมีไม่มาก การไกล่เกลี่ยจะเป็นการดำเนินการที่ไม่คุ้มค่า และค่าใช้จ่ายเหล่านี้เป็นงบประมาณของสำนักงานฯ ซึ่งได้รับจากผู้ประกอบการทุกราย แต่กลับนำมาจ่ายสำหรับความเสียหายที่เกิดจากผู้ประกอบการเพียงรายเดียว เป็นการผลักภาระให้ผู้ประกอบการที่ดีต้องรับภาระในส่วนของผู้ประกอบการที่ไม่ดี ซึ่งสำนักงานฯ ยังมิได้ดำเนินการรวบรวมข้อมูลตามที่ได้แจ้งไว้ แต่กลับมีการเปรียบเทียบค่าตอบแทนการประชุมคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคมกับค่าตอบแทนผู้ไกล่เกลี่ย ซึ่งทำให้เข้าใจผิดว่าการใช้ผู้ไกล่เกลี่ยมีต้นทุนต่ำกว่า แต่แท้จริงแล้วการประชุมคณะอนุกรรมการฯ มิได้มีเพียงเรื่องไกล่เกลี่ย และในการประชุมแต่ละครั้งสามารถพิจารณาเรื่องร้องเรียนได้มากกว่าหนึ่งเรื่อง ซึ่งจะทำให้ค่าใช้จ่ายในการแก้ปัญหาเรื่องร้องเรียนต่ำกว่าค่าตอบแทนผู้ไกล่เกลี่ยได้
  • ที่ผ่านมา ในแต่ละปี สำนักงานฯ รับเรื่องร้องเรียนเป็นจำนวนหลายพันเรื่อง และส่วนใหญ่สามารถยุติได้โดยไม่ต้องเสนอคณะกรรมการพิจารณา เนื่องจากมีกระบวนการไกล่เกลี่ยในขั้นตอนการจัดการข้อร้องเรียนอยู่แล้ว จึงมิใช่กรณีที่ไม่มีกระบวนการไกล่เกลี่ยใดๆ ตามที่เข้าใจผิดกันไปจนต้องยกร่างระเบียบฉบับนี้ขึ้นมา และในปัจจุบัน กสทช. ได้มอบอำนาจหน้าที่ในการไกล่เกลี่ยเรื่องร้องเรียนด้านกิจการโทรคมนาคมให้กับคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม แต่สำนักงานฯ ยังมิได้เสนอเรื่องไกล่เกลี่ยให้คณะอนุกรรมการฯ จึงมิใช่กรณีที่ไม่มีผู้มีอำนาจในการไกล่เกลี่ยข้อร้องเรียนจนต้องมีการจัดตั้งผู้ไกล่เกลี่ยขึ้นมาใหม่ ซึ่งเป็นการซ้ำซ้อน
  • ในส่วนเนื้อหาของร่างระเบียบนั้น มีการแยกกระบวนการไกล่เกลี่ยออกจากกระบวนการจัดการเรื่องร้องเรียน ทั้งที่ในปัจจุบันการไกล่เกลี่ยเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการเรื่องร้องเรียนของสำนักงานฯ อยู่แล้ว อีกทั้งนิยามของผู้ร้องเรียนตามร่างระเบียบนี้ มีความหมายไม่ต่างไปจากผู้ร้องเรียนในกระบวนการรับเรื่องร้องเรียน และไม่ต่างไปจากเจตนารมณ์แห่งบทบัญญัติในมาตรา 45 แห่ง พ.ร.บ.การประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ที่กำหนดสิทธิของผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการให้บริการโทรคมนาคมที่จะร้องเรียนต่อคณะกรรมการ ซึ่งกฎหมายดังกล่าวบัญญัติต่อเนื่องไว้อย่างชัดเจนในมาตรา 46 เกี่ยวกับหน้าที่ของคณะกรรมการ โดยบัญญัติให้คณะกรรมการพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน แต่ร่างระเบียบฉบับนี้ กลับกำหนดให้ไม่นับเป็นระยะเวลารับเรื่องร้องเรียน โดยสำคัญไปว่ามาตรา 46 เป็นเพียงบทเร่งรัดการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ ทั้งที่มาตราดังกล่าวเป็นบทกำหนดหน้าที่ของคณะกรรมการในการพิจารณาเรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วันอย่างชัดเจน จึงเป็นการกำหนดระเบียบที่มีศักดิ์เป็นเพียงกฎหมายลูกให้มีสาระสำคัญที่แย้งกับกฎหมายระดับพระราชบัญญัติ และในความเป็นจริงผู้ร้องเรียนย่อมมีสิทธิที่จะเลือกดำเนินการทั้งการร้องเรียนและการไกล่เกลี่ยไปพร้อมกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่สำนักงานฯ ดำเนินการเป็นปกติอยู่แล้ว กสทช. จึงไม่อาจกำหนดบทยกเว้นไม่นับระยะเวลาที่คณะกรรมการจะต้องพิจารณาให้แล้วเสร็จได้ตามที่ร่างระเบียบนี้เสนอ ในส่วนอำนาจของสำนักงานฯ ในการรับเรื่องร้องเรียนตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ที่กำหนดให้สำนักงานฯ มีอำนาจหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนนั้น เป็นกรณีทั่วไป และย่อมมิใช่กรณีเรื่องร้องเรียนของผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการให้บริการโทรคมนาคมที่มีกฎหมายบัญญัติรับรองสิทธิของผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการให้บริการโทรคมนาคมไว้เป็นการเฉพาะ โดย พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2543 นั้นก็มีบทบัญญัติในทำนองเดียวกันถึงอำนาจหน้าที่ของสำนักงานฯ แต่เป็นที่ชัดเจนว่าการร้องเรียนของผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการให้บริการโทรคมนาคมเป็นการร้องเรียนต่อคณะกรรมการเป็นการเฉพาะ เป็นคนละกรณีกับอำนาจของสำนักงานฯ ตามมาตรา 57
  • นอกจากนี้ ร่างระเบียบดังกล่าวยังได้จำกัดพนักงานของสำนักงานฯ ที่จะเป็นผู้ไกล่เกลี่ยไว้เพียงผู้บริหารระดับกลางซึ่งมีจำนวนน้อยและส่วนใหญ่เป็นผู้อำนวยการกลุ่มงานที่มีภารกิจปริมาณมากอยู่แล้ว จึงไม่สะดวกที่จะรับภาระการเป็นผู้ไกล่เกลี่ย จึงหลีกเลี่ยงได้ยากที่จะไม่ใช้ผู้ไกล่เกลี่ยที่เป็นบุคคลภายนอก แต่จากประสบการณ์การจัดการเรื่องร้องเรียนและการไกล่เกลี่ยของ สคบ. ซึ่งเป็นองค์กรหลักในการคุ้มครองผู้บริโภคที่ก่อตั้งมานานกว่า 30 ปี กลไกการไกล่เกลี่ยก็คือคณะอนุกรรมการ มิใช่บุคคลภายนอก ซึ่งสอดคล้องกับที่ กสทช. ได้มอบอำนาจหน้าที่ในการไกล่เกลี่ยเรื่องร้องเรียนด้านกิจการโทรคมนาคมให้กับคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม
  • อีกทั้งในกระบวนการไกล่เกลี่ยตามร่างระเบียบกำหนดให้คู่กรณีหรือผู้แทนเข้าร่วมด้วยตนเอง ซึ่งเป็นการเพิ่มต้นทุนในการแก้ไขความเดือดร้อนเสียหายของผู้ร้องเรียน เนื่องจากผู้ร้องเรียนจะมีต้นทุนค่าเดินทางตลอดจนค่าเสียโอกาสเพิ่มขึ้น ย่อมเป็นอุปสรรคต่อผู้ร้องเรียนในการเข้าถึงการแก้ไขปัญหา ต่างไปจากการดำเนินการในปัจจุบัน ที่สำนักงาน กสทช. จะดำเนินการโดยไม่เพิ่มต้นทุนต่อผู้ร้องเรียน เช่น การรับเรื่องร้องเรียนผ่านระบบสายด่วนที่ไม่คิดค่าบริการโทรศัพท์ การไกล่เกลี่ยผ่านระบบโทรคมนาคม โดยไม่ต้องเดินทางมาด้วยตนเอง อีกทั้งเรื่องร้องเรียนจำนวนมากเป็นเรื่องร้องเรียนจากต่างจังหวัด ย่อมไม่สะดวกที่จะเข้าร่วมด้วยตนเอง แนวทางดังกล่าวจึงเป็นอุปสรรณในการเข้าถึงความยุติธรรมของผู้ได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการให้บริการโทรคมนาคม และด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ หากจะมีการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะต่อร่างระเบียบฉบับนี้ ไม่ควรที่จะจัดเฉพาะแต่เพียงในกรุงเทพฯ แต่ควรที่จะจัดรับฟังทุกภูมิภาค เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าร่วมแสดงความคิดเห็นได้อย่างแท้จริง ผมจึงไม่สามารถพิจารณาให้ความเห็นชอบร่างระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและ       ผู้ร้องเรียน พ.ศ. .... ตามที่เสนอมาได้ จนกว่าจะมีการปรับปรุงขั้นตอนการนำเสนอเรื่องต่อที่ประชุม กทค. และ กสทช. และแก้ไขสาระสำคัญของร่างระเบียบในประเด็นที่เป็นปัญหาดังกล่าว”
3. กสทช.สุภิญญาฯ ได้มีบันทึกที่ สทช.1003.9/128 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 ขอให้นำมติและความเห็นบันทึกในรายงานการประชุม กสทช. ครั้งที่ 9/2555 วันที่ 27 มิถุนายน 2555 
วาระที่ 5.4 เรื่อง ร่างระเบียบ กสทช. ว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ร้องเรียน พ.ศ. .... ดังนี้
  • ดิฉันเห็นว่ากลไกการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทระหว่างผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมและผู้ร้องเรียนนั้น มีความซ้ำซ้อนกับบทบาทตามอำนาจหน้าที่ของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคด้านกิจการโทรคมนาคม ที่แต่งตั้งขึ้นตามมาตรา 31 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2553 ซึ่งมีเจตนาให้เป็นกลไกการคุ้มครองผู้บริโภคมิให้ถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบกิจการฯ โดยมีอำนาจหน้าที่พิจารณาและเสนอความเห็นเกี่ยวกับเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคเสนอต่อ กสทช. ตลอดจนมีอำนาจหน้าที่ในการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทโดยตรง
  • โดยเฉพาะด้านระยะเวลาซึ่งกฎหมายกำหนดให้ต้องพิจารณา เรื่องร้องเรียนให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน ตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544 ซึ่งเป็นเงื่อนไขที่มุ่งเร่งรัดให้ กสทช. คำนึงถึงบทบาทหน้าที่ในการคุ้มครองผู้บริโภคเป็นสำคัญ แต่การกำหนดระเบียบว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทฯ ขึ้นเป็นการเฉพาะนั้น กลับเป็นการขยายระยะเวลาจากที่กฎหมายกำหนดไว้ออกไปอีก 30 วัน หรือรวมแล้วอาจถึง 60 วัน ในบางกรณี โดยไม่มีหลักประกันใดๆ ว่าข้อพิพาทดังกล่าวจะยุติ ซึ่งหากไม่สามารถยุติเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคได้ กสทช. ต้องเริ่มต้นพิจารณาเรื่องร้องเรียนอีกครั้งภายใต้กระบวนการทำหน้าที่ของอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ เช่นเดิม
  • อีกทั้งสาระภายใต้ร่างระเบียบว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทฯ ยังกำหนดให้ข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการไกล่เกลี่ยในชั้นนี้เป็นความลับ จะนำมาใช้เป็นหลักฐานการพิจารณาของสำนักงาน กสทช. และอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ อีกมิได้ จึงเป็นขั้นตอนที่อาจทำให้ กสทช. ต้องสูญเสียทรัพยากรทั้งด้านบุคลากร เวลา และงบประมาณ โดยไม่ก่อประโยชน์ให้แก่ผู้บริโภคแต่อย่างใด
  • กรณีการวิเคราะห์เพื่อให้เหตุผลสนับสนุนว่า ร่างระเบียบว่าด้วยการไกล่เกลี่ยข้อพิพาทฯ เป็นการประหยัดงบประมาณเมื่อเทียบกับการทำหน้าที่ของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ นั้น ดิฉันกลับเห็นว่าเป็นขั้นตอนที่ทำให้ กสทช. ต้องตั้งงบประมาณใช้จ่ายในการนี้เพิ่มเติมโดยไม่สามารถยืนยันผลสัมฤทธิ์ได้ และไม่สามารถนำมาพิจารณาเปรียบเทียบกับค่าใช้จ่ายในการจัดประชุมของคณะอนุกรรมการคุ้มครองผู้บริโภคฯ ได้โดยตรง เนื่องจากค่าเบี้ยประชุมตลอดจนค่าใช้จ่ายอื่นๆ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ กสทช. กำหนด และเป็นหลักเกณฑ์ที่ใช้กับอนุกรรมการทุกคณะที่ กสทช. แต่งตั้งขึ้น อนึ่งหาก กสทช. เห็นว่าค่าใช้จ่ายในการประชุมสำหรับอนุกรรมการอยู่ในเกณฑ์ที่สูงเกินไปหรือไม่เหมาะสม อาจมีมติทบทวนและปรับลดค่าเบี้ยประชุมให้เท่ากันทุกคณะได้” 
ระเบียบวาระที่ 5.5  :  ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาตสัมปทานหรือสัญญาในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ : กสท., มส.
มติที่ประชุม
 เห็นชอบในหลักการให้จัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ได้ก่อน ตามที่รองประธาน กสทช. (พันเอก นทีฯ) เสนอ อย่างไรก็ดี โดยที่ กสท. มีความเห็นในประเด็นข้อกฎหมายในมาตรา 82 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ที่ไม่สอดคล้องกันกับแนวทางการดำเนินงานของ กทค. ดังนั้น เพื่อให้เกิดความรอบคอบและถูกต้อง จึงมีมติเห็นชอบให้สำนักงาน กสทช. หารือ รองประธาน กสทช. (พันเอก นทีฯ) เพื่อพิจารณาความครบถ้วนและถูกต้องของประเด็นที่จะหารือคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. ในประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นว่าเป็นกรณีที่จะต้องจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะหรือไม่ ทั้งนี้ ให้สำนักงาน กสทช. จัดส่งบันทึกหารือพร้อมบันทึกความเห็นของ กสทช.สุทธิพลฯ และบันทึกความเห็นของสำนักงาน กสทช. ให้คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. เพื่อพิจารณาต่อไป 
     อนึ่ง หากคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. มีความเห็นว่าเป็นกรณีที่จะต้องดำเนินการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ก็ให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการตามมติหลักการโดยไม่ต้องนำเสนอเข้าที่ประชุมเพื่อพิจารณาใหม่ 
หมายเหตุ  
1. กสทช.สุภิญญาฯ ได้มีบันทึกที่ สทช.1003.9/128 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 ขอให้นำมติและความเห็นบันทึกในรายงานการประชุม กสทช. ครั้งที่ 9/2555 วันที่ 27 มิถุนายน 2555 
วาระที่ 5.5 เรื่อง ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายของการอนุญาต สัมปทาน หรือสัญญาในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ดังนี้
  • ดิฉันเห็นว่าการจัดทำหลักเกณฑ์การตรวจสอบความชอบด้วยกฎหมายฯ ของ กสท. เพื่อให้ กสทช. เห็นชอบในขั้นตอนนี้นั้น เป็นการดำเนินการตามกฎหมายอย่างรัดกุมและเป็นแนวทางการดำเนินงานของ กสท. อย่างรอบคอบ ตามมาตรา 82 แห่ง พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ และถูกต้องตามแนวทางดำเนินการของแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2555 – 2559
     ดังนั้นการที่ กสทช. มีมติในวาระนี้โดยมอบหมายให้อนุกรรมการที่ปรึกษาด้านกฎหมายของ กสทช. เป็นผู้พิจารณาประเด็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะเสียก่อน จึงจะสามารถดำเนินการตามที่ กสทช. มีมติเห็นชอบในหลักการได้ ซึ่งหากอนุกรรมการมีความเห็นว่าไม่เป็นกรณีที่ต้องดำเนินการจัดประชุมเพื่อรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ความเห็นดังกล่าวอาจมีผลให้เป็นการยกเว้นการดำเนินการตามแผนแม่บทกิจการกระจายเสียงฯ ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีผลผูกพัน กสทช. ตามกฎหมาย” 
ระเบียบวาระที่ 5.6 : ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง กำหนดลักษณะและประเภทของกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ : กสท., วส.
ระเบียบวาระที่  5.7  :  ปฏิทินงบประมาณรายรับ-รายจ่าย ประจำปี 2556 : คณะอนุกรรมการพิจารณางบประมาณฯ, ยย.
มติที่ประชุม
1. เห็นชอบกระบวนการ และขั้นตอน ตามปฏิทินงบประมาณรายรับ-รายจ่าย ประจำปี 2556 ของสำนักงาน กสทช. ตามที่คณะอนุกรรมการพิจารณางบประมาณของสำนักงาน กสทช. เสนอ ซึ่งเป็นการดำเนินการตามข้อ 11 ของระเบียบ กทช. ว่าด้วยการงบประมาณของสำนักงาน กทช. พ.ศ.2552 และมติที่ประชุม กสทช. ครั้งที่ 7/2555 เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2555 ทั้งนี้ โดยให้รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปปรับปรุงกรอบระยะเวลาในการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 พฤศจิกายน 2555 เพื่อให้สำนักงาน กสทช. ได้มีระยะเวลาในการจัดทำแผนปฏิบัติการของสำนักงาน กสทช. เพื่อใช้เป็นกรอบในการติดตาม  ภายหลังจากที่ได้รับอนุมัติงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2556 แล้ว
2. ให้สำนักงาน กสทช. รายงานผลการดำเนินงานในการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ของสำนักงาน กสทช. ให้ที่ประชุม กสทช. ทราบ เป็นประจำทุกเดือนจนกว่าจะนำเสนองบประมาณรายจ่ายประจำปี 2556 ให้ ที่ประชุมพิจารณาอนุมัติ
ระเบียบวาระที่ 5.8  :  ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz  พ.ศ. .... และร่างประกาศ กสทช.ที่เกี่ยวข้อง : ฝ่ายเลขานุการคณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมฯ
มติที่ประชุม          
1. เห็นชอบในหลักการร่างประกาศ กสทช.เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. .... และร่างประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้อง จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่ 1) ร่างประกาศ กสทช.เรื่อง แผนความถี่วิทยุกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications- IMT) ย่านความถี่วิทยุ 1920-1980/2110-2170 MHz และย่านความถี่วิทยุ 2010-2025 MHz 2) ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง การใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมร่วมกันสำหรับโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ พ.ศ. ....  3)  ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง การใช้บริการข้ามโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ พ.ศ. .... และ 4) ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน พ.ศ. .... ตามที่ รองประธาน กสทช. (พันเอก เศรษฐพงค์ฯ) เสนอ ทั้งนี้ ให้สำนักงาน กสทช. นำร่างประกาศฯ ทั้ง 4 ฉบับ ไปรับฟังความคิดเห็นสาธารณะ ตามมาตรา 28 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ต่อไป 
ทั้งนี้ ในส่วนร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications – IMT) ย่าน ๒.๑ GHz พ.ศ. .... นั้น กสทช.ประวิทย์ฯ ไม่เห็นชอบสาระสำคัญของข้อ 10.2.2 ประกอบกับข้อ 10.2.3 
2. เห็นชอบแนวทางการรับฟังความคิดเห็นต่อร่างประกาศ กสทช. ตามข้อ ๑ ตามที่คณะอนุกรรมการเตรียมความพร้อมสำหรับการบริหารคลื่นความถี่ย่าน 2.1 GHz เพื่อรองรับเทคโนโลยี IMT-2000 เสนอ โดยให้ลงเผยแพร่ในเว็บไซต์ของสำนักงาน กสทช. ตามกรอบเวลาที่กฎหมายกำหนด และจัดเวทีรับฟังความคิดเห็นสาธารณะด้วย
3. มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. รับข้อคิดเห็นของที่ประชุมไปพิจารณาดำเนินการจัดเตรียมข้อมูลประเด็นสาระสำคัญของร่างประกาศ ตามข้อ 1 โดยเปรียบเทียบส่วนที่คงเดิมและส่วนที่แก้ไข ซึ่งมีความแตกต่างจากร่างประกาศที่ผ่านมา รวมทั้งให้แสดงเหตุผล หลักการในการเปลี่ยนแปลง แก้ไข จัดส่งให้กรรมการทุกท่าน เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการชี้แจงสร้างความเข้าใจกับสาธารณชน
หมายเหตุ            
1. กสทช.ประวิทย์ฯ ได้มีบันทึกที่ สทช.1003.10/387 ลงวันที่ 11 กรกฎาคม 2555 ขอให้นำมติและความเห็นบันทึกในรายงานการประชุม กสทช. ครั้งที่ 9/2555 วันที่ 27 มิถุนายน 2555 วาระที่ 5.8 เรื่อง ร่างประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications–IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. .... และร่างประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้ 
“ความในข้อ 10.2.2 ของประกาศ กสทช. เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications–IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. .... กำหนดเงื่อนไขการยกเลิกการจัดประมูลกรณีไม่มีผู้เข้าร่วมประมูลหรือมีจำนวนผู้เข้าร่วมประมูลเพียงหนึ่งราย ประกอบกับความในข้อ 10.2.3 กำหนดมูลค่าการประมูลขั้นต่ำที่ 4,500 ล้านบาท ซึ่งต่ำกว่าราคาประเมินมูลค่าคลื่นความถี่ของที่ปรึกษาจากคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่ศึกษาได้ไม่ต่ำกว่า 6,000 ล้านบาท หากมีผู้เข้าร่วมประมูลเพียงสองรายย่อมจะไม่เกิดการแข่งขันในการประมูล เนื่องจากจะมีการยื่นประมูลคลื่นเพียง 40 MHz จากคลื่นที่มีอยู่ 45 MHz จะทำให้รายได้จากการประมูลต่ำกว่ามูลค่าคลื่นความถี่ที่ประเมินได้จริงเป็นจำนวนมาก ส่งผลต่อประโยชน์ที่รัฐจะได้รับ จึงเห็นควรปรับจำนวนผู้เข้าร่วมร่วมประมูลขั้นต่ำที่จะพิจารณายกเลิกการประมูลเป็นสองราย หรือปรับมูลค่าการประมูลขั้นต่ำให้ใกล้เคียงกับมูลค่าคลื่นความถี่ที่ประเมินได้จริง เพื่อป้องกันความเสียหายต่อรัฐที่อาจจะเกิดขึ้นได้” 
2. กสทช.สุภิญญาฯ ได้มีบันทึกที่ สทช.1003.9/128 ลงวันที่ 12 กรกฎาคม 2555 ขอให้นำมติและความเห็นบันทึกในรายงานการประชุม กสทช. ครั้งที่ 9/2555 วันที่ 27 มิถุนายน 2555 วาระที่ 5.8 เรื่อง ร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications–IMT) ย่าน 2.1 GHz พ.ศ. .... และร่างประกาศ กสทช. ที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
  • แม้ว่าดิฉันจะเห็นชอบในหลักการแต่มีความกังวลต่อสาระสำคัญที่สำนักงานฯ ชี้แจง เนื่องจากยังมิได้ตอบข้อซักถามในเรื่องกระบวนการและราคาตั้งต้นในการประมูล ตลอดจนเกณฑ์ความคุ้มค่าต่อมูลค่าคลื่นความถี่ที่นำไปประมูล เนื่องจากตามกระบวนการที่เสนอหากมีผู้ประมูลเพียงสองรายจะไม่ทำให้เกิดการแข่งขันด้านราคาประมูลซึ่งอาจทำให้มูลค่าค่าคลื่นความถี่ที่มีการประมูลอยู่ในเกณฑ์ต่ำและไม่อยู่ในจุดที่คุ้มค่า ขั้นตอนหรือสูตรการประมูลจึงควรคำนึงสภาพแวดล้อมที่จะก่อให้เกิดการแข่งขันอย่างแท้จริง สร้างผู้เล่นหรือผู้ประมูลที่มากรายขึ้น รวมทั้งต้องระมัดระวังมิให้เกิดการสมยอมในการตกลงราคาประมูลระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล เพื่อให้กระบวนการประมูลคลื่นความถี่ของ กสทช. เป็นเวทีที่เอกชนสามารถร่วมแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรมตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ
  • ส่วนเรื่องข้อกำหนดและเงื่อนไขในการอนุญาตนั้น ผู้รับใบอนุญาตควรต้องมีหน้าที่ในการสร้างโครงข่ายโทรคมนาคมเพื่อการประกอบกิจการ (Roll Out) โดยมีหลักประกันสิทธิการเข้าถึงบริการของประชาชนทั้งหมดในระยะเวลาที่รวดเร็ว ดังนั้นการกำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตจัดให้มีบริการครอบคลุมจำนวนประชากรไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ของจำนวนประชากรทั้งหมดภายใน 4 ปี จึงอาจเป็นเกณฑ์ที่ต่ำเกินไปหรือไม่
  • การกำหนดเงื่อนไขให้มีมาตรการเพื่อสังคมและคุ้มครองผู้บริโภค ควรต้องกำหนดเงื่อนไขให้มีสภาพบังคับใช้ได้จริง มิให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโดยมีข้อร้องเรียนในลักษณะที่เป็นการเอาเปรียบผู้บริโภคได้เช่นในปัจจุบัน ซึ่งหากกำหนดเงื่อนไขในการคุ้มครองผู้บริโภคหรือผู้ใช้บริการได้ดีตั้งแต่ขั้นตอนการอนุญาตแล้วจะช่วยลดภาระของ กสทช. ในขั้นกำกับดูแลต่อไปได้ในอนาคต”
ระเบียบวาระที่  6  :  เรื่องอื่นๆ

สร้างโดย  -   (18/2/2559 12:34:28)

Download

Page views: 147