กสทช. หนุนสร้างความปลอดภัยไซเบอร์ เชิญอดีตที่ปรึกษาด้านความมั่นคงประธานาธิบดีสหรัฐฯ แลกเปลี่ยนประสบการณ์ก้าวสู่ยุคดิจิทัลในงานวันสื่อสารแห่งชาติ ประจำปี 2560

เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2560 สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.) จัดงานสัมมนาวันสื่อสารแห่งชาติ ประจำปี 2560 ในหัวข้อ “Cyber Security : Challenges and Opportunities in the Digital Economy” ณ โรงแรมสยาม เคมปินสกี้ กรุงเทพฯ โดยมีประชาชนผู้สนใจจากภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเข้าร่วมสัมมนาจำนวนกว่า 400 คน
            พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาในหัวข้อ “ยุทธศาสตร์ Cyber Security รัฐ-เอกชนร่วมใจก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0”ว่า ยุทธศาสตร์การรักษาความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลของรัฐบาล โดยสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) จัดอันดับดัชนีความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ (GCI) ประจำปี 2560 ให้ประเทศไทยมีระดับการพัฒนาด้าน Cybersecurity อยู่ในอันดับที่ 20 ของโลก แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยได้มีการพัฒนาทุกภาคส่วนไปในระดับหนึ่งแล้ว แต่ยังมีอีกหลายสิ่งที่ต้องพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นเพื่อความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ ซึ่งนั่นหมายถึงความร่วมมือของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนทั้งประเทศ
พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (ประธาน กสทช.) กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้ขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อยกระดับความเป็นอยู่และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ อีกทั้งการระบาดของมัลแวร์เรียกค่าไถ่ “Ransomware” ที่สร้างความตื่นตระหนกทั่วโลก ทำให้รัฐบาลประเทศต่าง ๆ รวมทั้งภาคเอกชนและประชาชนเกิดความตื่นตัวในการรักษาความปลอดภัยบนโลกออนไลน์ และในโอกาสวันสื่อสารแห่งชาติประจำปีนี้ สำนักงาน กสทช. ในฐานะผู้สนับสนุนการขับเคลื่อนประเทศสู่ความเป็นไทยแลนด์ 4.0 ได้เห็นความสำคัญและเลือกประเด็นการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ มาเป็นหัวข้อหลักในการสัมมนา โดยได้รับเกียรติจากนายริชาร์ด เอ. คลาร์ค (Richard A. Clake) อดีตที่ปรึกษาประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาสี่สมัย และผู้พัฒนายุทธศาสตร์การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์กลยุทธ์แรกให้กับสหรัฐอเมริกา และเป็นเจ้าของงานเขียนที่สร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้กับวงการไซเบอร์โดยใช้ชื่อหนังสือ “Cyber War” และ “Warning” มาแลกเปลี่ยนความรู้ในหัวข้อ “Cyber Security: Challenges and Opportunities in the Digital Economy”
         พล.อ.อ.ธเรศ กล่าวว่า โครงข่ายอินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงติดต่อกันทั่วโลกทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน เพื่อทำให้มวลมนุษย์สามารถสื่อสารติดต่อกันได้อย่างรวดเร็วและไร้พรมแดน การจะเฝ้าระวังผู้ไม่ประสงค์ดีที่จะมาโจมตีโครงข่ายในทุกระดับ จึงจำเป็นต้องดำเนินการเป็นองค์รวมทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาชน ไม่สามารถแยกเด็ดขาดออกจากกันเป็นส่วน ๆ ได้ ภาครัฐจึงมีความพยายามที่จะหาหนทางปฏิบัติที่ดีที่สุดที่จะไม่ก้าวล่วงความเป็นส่วนตัวของประชาชน และจัดทำยุทธศาสตร์การรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับชาติ เพื่อเป็นกรอบแนวทางในการป้องกันหรือลดผลกระทบที่เกิดจากภัยคุกคามในรูปแบบใหม่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกันต่อไป แต่ทั้งนี้ ไม่อยากให้ผู้ประกอบการมองว่าเรื่องนี้จะเป็นวิกฤต หรือเป็นต้นทุนในการเตรียมการป้องกัน อยากให้ถือเป็นโอกาสที่จะเริ่มกิจการหรือธุรกิจความปลอดภัยทางด้านไซเบอร์ ซึ่งยังขาดแคลนบริการและบุคลากรด้านนี้อีกมาก

สร้างโดย  - กัญยาณี  กล้วยเลี้ยง (4/8/2560 16:29:35)

Download

Page views: 159