ประธาน กสทช. ปลื้มผลสำเร็จประมูล 3G ยืนยันประเทศมาถูกทางแล้ว
ประธาน กสทช. ปลื้มผลสำเร็จประมูล 3G ยืนยันประเทศมาถูกทางแล้ว
พล.อ.อ.ธเรศ ปุณศรี ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า กสทช.ได้รับมอบเงินงวดที่ 2 จากผู้ชนะการประมูลและได้รับใบอนุญาตให้ใช้คลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลย่าน 2.1 กิ๊กกะเฮิร์ตซ์ (GHz) หรือที่เรียกกันว่าการประมูลคลื่นความถี่ฯ 3G จากบริษัทเอกชนทั้ง 3 ราย ซึ่งประกอบไปด้วย บริษัทแอดวานซ์ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท ดีเทค เนทเวอร์ค จำกัด และบริษัท เรียลฟิวเจอร์ จำกัด เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 11,134.69 ล้านบาท ก่อนหน้านี้ กสทช.ได้รับเงินงวดแรกแล้วจำนวน 22,269.38 ล้านบาท รวมเงิน 2 งวดที่ส่งเป็นรายได้แผ่นดินจำนวน 33,404.07 ล้านบาท
สำหรับงวดที่ 3 จะเป็นงวดสุดท้ายโดยครบกำหนดชำระในวันที่ 22 ธันวาคม 2558 ซึ่งทั้ง 3 บริษัทจะส่งมอบเงินให้กับ กสทช. อีกจำนวน 11,134.69 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลาที่ผู้ประกอบการทั้ง 3 บริษัทได้รับใบอนุญาตไปตั้งแต่วันที่ 7 ธันวาคม 2555 นั้น กสทช. ได้ติดตามและกำชับให้ผู้ประกอบการปฏิบัติตามเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตที่เกี่ยวกับอัตราค่าบริการจะต้องลดลงไม่น้อยกว่า 15% พบว่า ทุกรายการมีอัตราค่าบริการเป็นไปตามที่ กสทช. กำหนดไว้
พล.อ.อ.ธเรศ กล่าวว่า กสทช. ยังพบว่าการที่ประเทศไทยเปิดใช้บริการ 3 จี ในช่วงที่ผ่านมานั้นทำให้ประเทศไทยมีอัตราการใช้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือในระบบ 3 จี กันอย่างกว้างขวาง ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจของสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU ที่ระบุว่าประเทศไทยมีอัตราการเติบโตของการใช้งานอินเตอร์เน็ตสูงติดอัน 1 ใน 10 ของโลก แสดงให้เห็นถึงศักยภาพการสื่อสารของไทยมีการพัฒนาแบบก้าวกระโดดและมีโอกาสจะพัฒนาอย่างต่อเนื่องในอนาคต
พล.อ.อ.ธเรศ กล่าวว่า ภาพรวมตลาดบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่นับแต่เปิดให้บริการ 3 จี มีจำนวนเลขหมายโทรศัพท์เคลื่อนที่รวมทุกย่านความถี่ 103 ล้านเลขหมาย แยกเป็นบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนย่านความถี่ 2.1 GHz จำนวน 73.5 ล้านเลขหมาย คิดเป็นร้อยละ 71.36 และบนย่านความถี่อื่นๆ จำนวน 29.5 ล้านเลขหมายคิดเป็นร้อยละ 28.64 โดยมีการเติบโตการใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 3 จี ที่เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดทำให้ กสทช. มั่นใจว่าได้นำพาประเทศก้าวเดินมาถูกทางแล้ว
พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองประธาน กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ถือเป็นเครื่องบ่งชี้ได้ชัดเจนว่า การประมูล 3 จี ของ กสทช.โดย กทค. ประสบความสำเร็จอย่างงดงาม จากอัตราการเติบโตของการใช้บริการข้อมูลผ่านทางระบบ 3 จี และอัตราการเติบโตของตัวเลขนี้ก็จะส่งผลทำให้ประเทศไทยเป็นที่สนใจของนักลงทุนต่างชาติอีกด้วย และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่กำลังขับเคลื่อนประเทศไปสู่เศรษฐกิจอีโคโนมีดิจิตอลในขณะนี้ โดยเงินที่ได้จากการประมูลในครั้งนี้จะส่งเป็นรายได้ของแผ่นดินเพื่อนำไปใช้จ่ายในการพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ ต่อไป
“ผมอยากจะทำความเข้าใจว่า การประมูลคลื่นความถี่ไม่ใช่เป็นการมุ่งเน้นการประมูลเพื่อให้ได้ราคาประมูลสูงๆ เท่านั้น แต่การประมูลคลื่นที่ดีนั้นจะต้องดูที่หลังการประมูลว่าจะสามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เศรษฐกิจของประเทศได้มากน้อยเพียงใด และมีอุตสาหกรรมต่างๆสามารถต่อยอดธุรกิจได้หรือไม่ มีการจ้างงานมากน้อยเพียงใด ซึ่งการประมูล 3 G พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้อย่างมากมายมหาศาลทั้งทางตรงและทางอ้อม” พ.อ.ดร.เศรษฐพงค์ กล่าว
การจัดสรรคลื่นความถี่ให้เกิดประสิทธิภาพเปรียบเสมือนการสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานที่เป็นต้นน้ำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้เกิดความเข้มแข็งและมั่นคง ดังนั้นหากจะขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็งและมั่นคงได้นั้นจำเป็นจะต้องมีการจัดสรรคลื่นความถี่ให้สามารถรองรับกับปริมาณความต้องการใช้งานให้เพียงพอ มิฉะนั้นแล้วจะไม่สามารถขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวเดินไปข้างหน้าหรือสามารถแข่งขันกับต่างๆประเทศได้ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศอาเซียนที่มีการจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อรองรับการเจริญเติบโตของปริมาณการใช้งานผ่านเทคโนโลยีทั้งมีสายและไร้สาย
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เปิดเผยว่า ในส่วนของอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่บนความถี่ 2.1 GHz ของผู้รับใบอนุญาตทั้ง 3 ราย พบว่า ลดลงกว่าร้อยละ 15 เมื่อเทียบกับค่าบริการ ณ วันที่ให้ใบอนุญาต โดยในเดือนตุลาคม 2557 ค่าบริการประเภทเสียงอยู่ระหว่าง 0.48-0.76 บาทต่อนาที ลดลงกว่าอัตราค่าบริการเฉลี่ย ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2555 อยู่ที่ 0.97 บาทต่อนาที หรือลดลงร้อยละ 21-51 ส่วนค่าบริการอินเทอเน็ตอยู่ระหว่าง 0.19-0.28 บาท ลดลงร้อยละ 15-42
ค่าบริการ SMS อยู่ระหว่างข้อความละ 1.07-1.32 บาท ลดลงร้อยละ 15-31 และค่าบริการ MMS อยู่ระหว่าง 2.86-3.31 บาทต่อข้อความ ลดลงร้อยละ 15-42 เมื่อเทียบกับวันที่ได้รับใบอนุญาต ดังนั้นจึงเห็นได้ว่าสำนักงาน กสทช. ได้ติดตามให้ค่าบริการต่างๆ เป็นไปตามเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต ซึ่งส่งผลดีโดยตรงกับผู้บริโภค และส่งผลดีต่อภาพรวมในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโทรคมนาคมไทยให้มีการแข่งขันอย่างเสรีและเป็นธรรม
สร้างโดย - (8/3/2560 15:19:36)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 37