อัดรายงานวิจัยของ NBTC Policy Watch เรื่องค่าโทร 3จี ไม่ลด 15% ใช้ข้อมูลมั่วเสนอมีหนังสือถึง สกว. ส่งข้อมูลที่ถูกต้อง ย้ำนักวิจัยต้องมีจรรยาบรรณและเป็นกลาง
มีความคืบหน้าเรื่อง NBTC Policy Watch แถลงรายงานวิจัยและจัดเสวนา เรื่อง “สถานการณ์ผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมภายใต้การกำกับของ กสทช. : ซิมดับ 3G คุ้กกี้รัน ฯลฯ” ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดย ดร. พรเทพ เบญญาอภิกุล นำเสนอรายงานการศึกษาของโครงการ NBTC Policy Watch ในหัวข้อ “ราคาค่าโทร 3G หนึ่งปีเปลี่ยนไปอย่างไร?” ซึ่งทางสำนักงาน กสทช. ได้ส่งนายชัยยุทธ มังศรี ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม รวมทั้งทีมงานผู้เชี่ยวชาญในเรื่องอัตราค่าบริการโทรคมนาคมไปร่วมเสวนาและชี้แจง โดยมีนายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ ที่ปรึกษา กสทช. ไปเข้าร่วมเสวนาในประเด็นดังกล่าวด้วย
ในการนี้ นายพรเทพฯ ได้วิจารณ์ว่า “ราคาค่าบริการ 3G โดยเฉลี่ยยังลดลงไม่ถึง 15%” โดยไปเปรียบเทียบแพคเกจค่าโทรศัพท์เดือนล่าสุด มิถุนายน 2557 กับเดือนพฤษภาคม 2556 แล้วสรุปว่า มีค่ายมือถือค่ายเดียวเท่านั้นที่ลดกว่า 15% ส่วนอีก 2 ค่าย ลดลงไม่ถึง 15% จึงเหมือนจะเป็นการสะท้อนความล้มเหลวในการจัดประมูล 3G ของ กสทช. หรือไม่ โดยตำหนิว่า “กสทช. ควรจะดูแลอย่างจริงจังให้ทุกแพคเกจเป็นไปตามกำหนด ไม่ใช่แค่เพียงแต่ผลักภาระให้ผู้บริโภคด้วยข้ออ้างว่าผู้บริโภคต้องฉลาดเลือกแต่เพียงเท่านั้น”
ทางด้าน สำนักงาน กสทช. นายชัยยุทธฯ ได้ยืนยันว่า กสทช. กำกับดูแลอัตราค่าบริการ 3G ลดลงไม่น้อยกว่า 15% ของอัตราค่าบริการเฉลี่ยตามที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต 3G แล้ว โดยมีการตรวจสอบตามหลักวิชาการอย่างชัดเจน ทั้งนี้ ได้มอบให้ นางสาวอรวรี เจริญพร ผู้อำนวยการส่วนงานค่าบริการโทรคมนาคม สำนักค่าธรรมเนียมและอัตราค่าบริการในกิจการโทรคมนาคม ชี้แจงในเวทีเสวนาในประเด็นที่สำคัญ คือ เกณฑ์ตามที่ กสทช. กำหนด ไว้ในเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตที่ออกให้ผู้รับใบอนุญาต 3G
ทั้งสามราย คือ อัตราค่าบริการต้องลดลง 15% จาก “อัตราค่าบริการของรายการส่งเสริมการขายเฉลี่ยในตลาด ณ วันที่ออกใบอนุญาต” ซึ่งคือ วันที่ 7 ธันวาคม 2555 ทั้งนี้ในขณะที่ กสทช. กำหนดเงื่อนไขดังกล่าวต้องการกำหนดให้ใช้ตัวเลข ณ ขณะนั้น ซึ่งสามารถตรวจสอบได้ จึงไม่ได้กำหนดให้เทียบกับอัตราค่าบริการเฉลี่ย ณ วันที่เปิดให้บริการ ซึ่งเป็นเรื่องในอนาคตและผู้ให้บริการแต่ละรายต่างเปิดให้บริการ 3G ไม่พร้อมกัน หากไปผูกเงื่อนไขกับวันที่เปิดให้บริการซึ่งมีความแตกต่างกันก็จะลักลั่นและไม่เป็นธรรม ดังนั้น การที่ สำนักงาน กสทช. คำนวณเปรียบเทียบกับอัตราเฉลี่ย ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2555 จึงถูกต้องแล้ว
แต่ ดร. พรเทพฯ ไปคิดโดยเปรียบเทียบกับอัตราเฉลี่ยในเดือนพฤษภาคม 2556 ซึ่งเป็นช่วงที่ค่ายมือถือรายหนึ่งเปิดให้บริการ รายงานวิจัยดังกล่าวจึงไปสรุปว่า กสทช. ไม่สามารถกำกับให้อัตราค่าบริการลดลง 15% ได้ ซึ่งไม่ตรงกับข้อเท็จจริง
“ในการคำนวณค่าบริการเฉลี่ย สำนักงาน กสทช. คำนวณจากอัตราค่าบริการทั้งหมดที่มีให้บริการ อยู่ในตลาด ณ วันที่ 7 ธันวาคม 2555 โดยรวบรวมข้อมูลจากที่ผู้ประกอบการรายงานและจากเว็บไซต์ของผู้ประกอบการ เพื่อให้ได้อัตราค่าบริการของ Voice, SMS, MMS, และ Internet ที่ใช้เป็นฐานในการเปรียบเทียบ จากนั้นจึงคำนวณอัตราค่าบริการจากรายการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการแต่ละรายในทุกๆ เดือนเพื่อเปรียบเทียบว่าลดลงอย่างน้อย 15% หรือไม่ แต่วิธีการของ ดร. พรเทพฯ คำนวณ โดยเปรียบเทียบเฉพาะรายการส่งเสริมการขายจาก postpaid จากเว็บไซต์ของผู้ให้บริการ โดยแยกเป็นตะกร้าบริการตามปริมาณการใช้งานเฉพาะ Voice และ Internet จึงไม่ได้คำนึงถึงรายการส่งเสริมการขายที่มีให้บริการอยู่จริงซึ่งมีมากกว่า 600 รายการ” นางสาวอรวรีฯ ชี้แจง
ด้าน ดร. พรเทพฯ แห่ง NBTC Policy Watch ผู้ทำวิจัยก็ได้ยอมรับเองว่าใช้ฐานต่างกัน สรุปคือ ใช้ฐานที่คิดขึ้นเองและไม่ตรงตามเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตตามที่ กสทช. กำหนด นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ ที่ปรึกษา กสทช. ซึ่งได้เข้าร่วมเสวนาด้วย ได้แสดงความเห็นว่า “หาก ดร. พรเทพฯ ใช้ฐานข้อมูลที่ไม่ถูกต้องไม่ตรงกับเงื่อนไขที่ กสทช. กำหนด ผลลัพธ์ที่ได้ก็ย่อมจะคลาดเคลื่อนและทำให้ประชาชนสับสนว่า กสทช. ไม่ได้กำกับดูแลตามที่กำหนดเงื่อนไขในใบอนุญาตไว้ ซึ่งไม่เป็นความจริง ฉะนั้นที่คนกลุ่มนี้วิพากษ์วิจารณ์หาว่า กสทช. จัดประมูล 3 จี ล้มเหลว เพราะค่ามือถือลดไม่ถึง 15% จึงไม่เป็นความจริง เพราะที่แท้รายงานการศึกษาไปใช้ข้อมูลขัดกับเงื่อนไขท้ายใบอนุญาตที่ กสทช.กำหนด โดยไม่ตรวจสอบข้อมูลให้รอบคอบเสียก่อน จึงได้ข้อสรุปที่นำมาเสนอต่อสื่อมวลชนในลักษณะตำหนิการทำงานของ กสทช. ซึ่งไม่ถูกต้อง ทำให้ กสทช. เสียหาย การทำวิจัยจึงควรมีมาตรฐาน เป็นกลาง และมีจรรยาบรรณในการทำวิจัย ในกรณีที่มีความผิดพลาด ผู้วิจัยควรออกมาแสดงความรับผิดชอบด้วย”
“กสทช. น้อมรับการวิพากษ์วิจารณ์จากสังคม เพื่อนำมาปรับปรุงภารกิจในการทำงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน แต่การวิพากษ์วิจารณ์ในบางครั้งไม่ได้ใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง หรือบางครั้งนำเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว ส่งผลให้ประชาชนเกิดความเข้าใจผิด จึงไม่เกิดประโยชน์ใดๆ แก่ผู้บริโภค ในกรณีนี้ก็เช่นกัน มีการโจมตี กสทช. อย่างต่อเนื่องว่า จัดประมูล 3G ล้มเหลวเนื่องจากไม่สามารถกำกับดูแลให้อัตราค่าบริการ 3G ลดลง 15% ตามที่ได้กำหนดไว้ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าผู้วิจัยใช้เกณฑ์คำนวณที่ต่างไปจากเงื่อนไขท้ายใบอนุญาต 3G ที่ กสทช. กำหนด แล้วมาโจมตีว่า กสทช. ไม่ได้กำกับให้อัตราค่าบริการ 3G ลดลง 15% จริง ซึ่งการที่ผู้วิจัยใช้เกณฑ์ที่ไม่เป็นไปตามกติกาหรือใช้ข้อมูลโปรโมชั่นที่ไม่ครบถ้วน ฯลฯ ล้วนทำให้งานวิจัยมีความคลาดเคลื่อนและขาดคุณภาพ ซึ่งทราบจากเจ้าหน้าที่ว่าผู้วิจัยได้เคยเข้ามาสอบถาม และเจ้าหน้าที่ได้อธิบายไปให้ฟังหมดแล้วว่า สำนักงานฯ ใช้เกณฑ์อะไรมาเปรียบเทียบและยังทราบว่าผู้วิจัยเป็นผู้ที่ร้องเรียนค่ายมือถือค่ายหนึ่งว่าอัตราค่าบริการไม่ถึง 15% จึงเป็นคู่กรณีกับบริษัทมือถือเสียเอง ก็ยิ่งทำให้เป็นห่วงเกี่ยวกับมาตรฐานและความเป็นกลางของงานวิจัยชิ้นนี้ จึงจะเสนอสำนักงาน กสทช. ให้มีหนังสือไปถึง สกว. เพื่อให้ข้อสังเกตและข้อมูลที่ถูกต้องอันจะช่วยให้งานวิจัยชิ้นนี้มีข้อมูลที่ไม่คลาดเคลื่อน และมีมาตรฐานทางวิชาการและเกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภคอย่างแท้จริงตามที่ผู้ทำวิจัยอ้าง” นายธานีรัตน์ กล่าวย้ำ
Download
NBTC-Policy-Watch-มั่่วนิ่ม.docx
สร้างโดย - (13/3/2560 17:37:33)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 42