เลขาฯกสทช. เสนอแนะ 5 แนวทางฝ่าวิกฤตองค์กร
“....วิกฤตที่เกิดขึ้นกับ “กสทช.” มีทั้งวิกฤตที่มาจากข้อกฎหมายและวิกฤตภายในองค์กร…”
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์
เลขาธิการกสทช.
การปาฐกถาเปิดใจแนวทางฝ่าวิกฤตองค์กรในครั้งนี้ ไม่มีสคริปต์เตรียมไว้ แต่พูดจากใจจริงและความปรารถนาดีต่อพนักงานและองค์กร
การพูดครั้งนี้มาจากประสบการณ์การฝ่าวิกฤตเกือบสิบปีตั้งแต่สมัยยังเป็นสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กทช.) จนกระทั่งมาเป็น กสทช.
ขณะนี้ กสทช.มีพนักงาน1,200 ชีวิตทั่วประเทศ ถือว่าเราได้ลงเรือลำเดียวกันแล้ว เพราะฉะนั้นมั่นใจได้ว่า เราจะไม่ทิ้งกัน ไม่ว่าตัวผมจะอยู่ที่ไหน ใจผมยังอยู่ตรงนี้ตลอด
วิกฤตข้อแรก สืบเนื่องจากที่มาของการเกิด “กสทช.” มีการยกร่างข้อกฎหมายที่หละหลวมมาก
วันนี้เราจัดตั้งกสทช.ขึ้นมาแล้ว แต่ภายใต้กฎหมายของกสทช. นั่นคือ พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ. กสทช.) ยังกำหนดเสมือนหนึ่งเป็น 2 องค์กรอยู่ในขณะนี้ เพราะกฎหมายลูกเขียนไว้เสมือนมี 2 องค์กร แต่ในการทำงานจริง เสมือนมี 3 องค์กร 3 นิติบุคคลทำงาน
องค์กรหนึ่งขึ้นกับประธานกสทช.
องค์กรหนึ่งขึ้นกับ คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.)
อีกองค์กรนั้นขึ้นกับ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ( กสท. )
จะเห็นได้ว่า ข้อกำหนดในมาตราย่อยใน พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ บอร์ด กสทช. ไม่มีอำนาจในการทำงานเรื่องหลัก เช่น อำนาจออกใบอนุญาต กำกับดูแล โดยจะถูกกำหนดให้อยู่ในอำนาจหน้าที่อยู่ในการพิจารณาของบอร์ดเล็กทั้งหมด
วิกฤตความไม่ชัดเจนของการแบ่งแยกอำนาจระหว่างองค์กร เช่นอำนาจของกสทช.และ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (กระทรวงไอซีที) รวมถึงอำนาจในบางเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกระทรวงวัฒนธรรม
ผมจึงเรียกร้องขอให้รัฐบาลหรือสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.)แบ่งโอนอำนาจ ด้านการกำกับดูแล (Regulator) ให้อยู่ที่ กสทช. ส่วนอำนาจในการดำเนินการ ปฏิบัติการ (Operator) ขึ้นกับ กระทรวงไอซีที โดยแต่งตั้งคณะทำงานขึ้นมาเพื่อแบ่งแยกหน้าที่กันให้ชัดเจน
ตัวอย่างที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่างานการกำกับดูแลในการปิดเว็บไซต์ที่ไม่เหมาะสมเป็นหน้าที่ของกระทรวงไอซีที แต่กระทรวงไอซีทีไม่ทราบว่าผู้ได้รับใบอนุญาต ISP มีใครบ้างและตั้งอยู่ที่ไหนเพราะว่าไม่ใช่ผู้ออกใบอนุญาต ดังนั้นในที่สุดก็ต้องมาขอความร่วมมือจากสำนักงาน กสทช. เพื่อขอตรวจสอบข้อมูลดังกล่าว ทำให้กระบวนการในการทำงานมีแต่ความล่าช้า ไม่ทันต่อเหตุการณ์
สำหรับงานของกระทรวงไอซีทีในฐานะของโอเปอร์เรเตอร์ ที่มีอยู่ในการดูแลของ กสทช.นั้น ผมอยากเรียกร้องให้รัฐบาลหรือ สนช. โอนงานดังกล่าวทั้งหมดให้ไปอยู่ในความดูแลของกระทรวงไอซีทีทั้งหมดเช่นกัน
ขณะเดียวกันยังมีปัญหาข้อกฎหมายในขั้นตอนกระบวนการสรรหา กสทช. มีความยุ่งยากซับซ้อน แม้บอร์ดชุดที่ผ่านมาหมดวาระ 6 ปีแล้วยังต้องรักษาการต่ออีก 3 ปี ขณะที่องค์กรอิสระอื่นๆเช่นคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ใช้เวลา 30 วันจบสิ้นกระบวนการสรรหาบอร์ด
วิกฤตในการทำงานภายในของกสทช. ในเรื่องการจัดตั้งงบประมาณของ กสทช. ที่ผิดพลาดจากการใช้จริง เพราะตั้งงบบัญชีแบบสมดุล ขณะที่ในการบริหารงบประมาณจริงเป็นไปแบบเกินดุล นั่นคือ กสทช. ใช้งบประมาณไม่เท่ากับที่ตั้งงบฯไว้ ต้องส่งเงินคืนเข้ารัฐทุกปี โดยในระยะเวลาตั้งแต่ 2547-ปัจจุบัน สำนักงานฯส่งเงินคืนเข้ารัฐกว่า 1.7 หมื่นล้านบาทแล้ว
ดังนั้นเพื่อให้การจัดตั้งงบประมาณเป็นไปตามที่ใช้งบประมาณจริง จึงต้องตั้งงบประมาณแบบเกินดุล เมื่อใช้ไม่ถึงงบประมาณที่ตั้งไว้ ก็คืนงบประมาณตามนั้น
“ ที่ผ่านมาภาพของกสทช. ถูกมองในแง่ลบและกลายเป็นตราบาปเพราะการตั้งงบประมาณที่ผิดไปจากความเป็นจริง ทำให้คนทั่วไปจะสนใจจับตาเฉพาะเรื่องคาดการณ์รายได้ ดังนั้นในปี 2558 นี้จึงควรเริ่มต้นตั้งงบประมาณแบบเกินดุลเป็นปีแรก เพื่อให้คนทั่วไปรับรู้ข้อมูลที่ถูกต้อง ”
กล่าวโดยสรุปวิกฤตที่เกิดขึ้นกับ “ กสทช. ” มีทั้งวิกฤตที่มาจากข้อกฎหมายและวิกฤตภายในองค์กร ผมจึงมีแนวทางฝ่าวิกฤตดังนี้
1. แก้ไขกฎหมายแบ่งแยกอำนาจให้ชัดเจน ระหว่างกระทรวงไอซีที และ กสทช. โดยอำนาจหน้าที่ใดที่อยู่ในงานเรกูเลเตอร์ ให้โอนมาให้ กสทช. ทำให้หมด อำนาจใดที่เป็นของโอเปอร์เรเตอร์ก็ให้โอนมาให้กระทรวงไอซีทีทำทั้งหมด
2. ลดกระบวนการสรรหา กสทช. ให้เหมือนกับหน่วยงานหรือองค์กรอิสระอื่นๆ จะได้รับช่วงในการทำงานของคณะกรรมการชุดใหม่ได้ทันที
3. ขอให้รัฐบาล และสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สปช.) สรุปบทบาทหน้าที่ขององค์กร กสทช. ให้ชัดเจนว่าจะให้เป็นองค์กรเดียวกันหรือจะให้แยกกันเป็นคนละนิติบุคคลกันก็เอาให้ชัด แม้รัฐธรรมนูญปี 2550 จะเขียนไว้ให้เป็นองค์กรเดียวกัน แต่ในขั้นตอนของกฎหมายลูกยังคงไปเขียนจำลองงานที่เป็นคนละองค์กรมาใช้ ทำให้หัวไปทาง หางไปทาง ผมเรียกร้องให้รัฐบาล หรือ สนช. ต้องกำหนดอำนาจหน้าที่ให้ชัดเจนว่าจะให้ กสทช. เป็นอะไร ก็ให้กฎหมายลูกเขียนให้เป็นไปตามนั้นทุกคนจะได้รู้กรอบอำนาจหน้าที่ ในการที่จะทำงานให้ชัดเจน
4. การแต่งตั้งและถอดถอนเลขาธิการ กสทช. ให้จบสิ้นที่วุฒิสภาหรือรัฐสภา ทั้งนี้จะได้ถ่วงดุลอำนาจการทำงานระหว่าง กสทช. และสำนักงาน กสทช.
5. งบประมาณรายจ่ายของสำนักงาน กสทช. จะต้องผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภา หรือรัฐสภา เหมือนกับส่วนราชการอื่นๆ ไม่ควรจะจบสิ้นกระบวนการแค่ กสทช. เพื่อให้มีความโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้ ซึ่งจะสามารถลดข้อครหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นว่า กสทช. ได้มีการใช้จ่ายงบประมาณอย่างฟุ่มเฟือยได้
สำหรับกระบวนการในการที่จะผ่านความเห็นชอบจากวุฒิสภาหรือรัฐสภานั้น มีหลายฝ่ายเห็นว่าอาจจะทำยากเนื่องจากปีงบประมาณของสำนักงานของ กสทช. และปีงบประมาณของส่วนราชการไม่ตรงกัน ผมขอเสนอแนวทางแก้ไข โดยให้ สำนักงาน กสทช. จัดตั้งงบประมาณรายจ่ายเป็น 2 ปี ซึ่งจะสามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้
แนวทางดังกล่าวนี้ ผมเชื่อว่าแก้ไขปัญหาวิกฤตที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ไม่น้อยกว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์ ถ้าหากรัฐบาล และสนช. สนับสนุนจะทำให้องค์กรนี้อยู่คู่กับรัฐบาลและประเทศไทยได้ต่อไป
หมายเหตุ : เป็นการแสดงปาฐกถาเนื่องในโอกาสวันครบรอบ 3 ปี กสทช.
สร้างโดย - (9/3/2560 15:13:13)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 133