เอกชน 3 ราย หนุนจัดสรรคลื่นความถี่สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนแสนล้าน เพิ่มมูลค่ามหาศาล

เอกชน 3 ราย หนุนจัดสรรคลื่นความถี่สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนแสนล้าน เพิ่มมูลค่ามหาศาล

         ที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(สำนักงาน กสทช.) เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2557  ผู้ชนะประมูลคลื่นความถี่ 3 รายได้แก่ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWT)   บริษัทเรียล ฟิวเจอร์ จำกัด และบริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด ได้เข้าร่วมพิธีส่งมอบเงินจำนวน 11,134.69 ล้านบาท  จากการประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) งวดที่ 2  ให้แก่สำนักงาน กสทช. โดยผู้บริหารระดับสูงของบริษัททั้ง 3 ราย เปิดเผยผลจากการประมูลทำให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ การสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในหลายมิติ
        นายสมประสงค์ บุญยะชัย  ประธานกลุ่มชินคอร์ป. และบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ตเวิร์ค  จำกัดเปิดเผยว่า คลี่นความถี่เป็นทรัพยากรที่ใช้ได้ตลอดไป หากไม่ใช้คลื่นให้เกิดประโยชน์จะเสียโอกาส
        นายสมประสงค์กล่าวว่า การจัดประมูลคลื่นความถี่ก่อให้เกิดการสร้างรายได้เข้าประเทศจำนวนมาก เนื่องจากผู้ชนะการประมูลจะต้องส่งมอบเงินเป็น 3 งวด จ่ายผ่านสำนักงานกสทช.เข้ากระทรวงการคลัง เป็นรายได้ของรัฐ  และการจัดประมูลคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ ทำให้เกิดการสร้างงานในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม เช่นบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลสฯ สร้างงานขึ้นมาทั้งลงทุนโครงข่าย  บุคลากร  รวมการลงทุนต่อเนื่องของผู้ประกอบการเกิดเม็ดเงินหมุนเวียนนับแสนล้านในประเทศ  เป็นการยกระดับอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจ
       นายสมประสงค์ กล่าวด้วยว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าในยุคนี้ มีเทคโนโลยีสำคัญ 4  ประการ ที่เกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันของเราคือ  1.ข้อมูลขนาดใหญ่(Big Data)  2.เนื้อหาด้านดิจิตอล  ( Digital Content ) 3. การสื่อสารด้วยแถบความถี่กว้างหรือบรอดแบนด์ (Broadband) 4.คลาวด์ คอมพิวติ้ง (Cloud Computing)  การประมูลคลื่นความถี่ที่ผ่านมาทำให้สามารถตอบสนองการใช้งานของภาคธุรกิจ องค์กรที่เกี่ยวข้องกับข้อมูลเป็นจำนวนมากได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  ส่งผลให้บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลสฯ สามารถประกอบกิจการมีรายได้สร้างผลตอบแทนผู้ถือหุ้น ได้อย่างเป็นที่พอใจ รวมทั้งเสียภาษีเข้ารัฐ ได้ส่งผลให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวเพิ่มมากขึ้น
       “คลื่นความถี่โทรคมนาคมได้เข้าไปเกี่ยวข้องกับทุกอุตสาหกรรม ได้ถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการแข่งขันขององค์กร ส่งผลให้มีการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศสูงขึ้นตามไปด้วย” นายสมประสงค์กล่าว
นายศุภชัย เจียรวนนท์  ประธานกรรมการบริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เรียลฟิวเจอร์ จำกัด เปิดเผยว่า การจัดประมูลคลื่นความถี่ โดย กสทช. ที่ผ่านมา ทำให้เปิดเสรีและเกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียม โปร่งใส ภาคอุตสาหกรรมเกิดการแข่งขันกันมากยิ่งขึ้น ตลอดจนขับเคลื่อนไปข้างหน้า ส่งผลต่อเนื่องลงไปถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ที่ทำให้เกิดการแบ่งปันความรู้  ทำให้ประเทศไทยมีศักยภาพสูง มีการถ่ายทอดความรู้ การต่อยอดประโยชน์อื่นๆ เช่นระบบการศึกษาได้อีกมากมาย
        “ผมมองว่าประเทศไทย เป็นศูนย์กลางประเทศประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซี เมื่อไทยมีศักยภาพเพียงพอจะส่งผลไปถึงการสร้างมาตรฐานทั้งเออีซี ขึ้นตามไปด้วย เพราะฉะนั้นเมื่อ กสทช. ได้ทำให้เกิดการเติบโตในอุตสาหกรรมในประเทศเป็นอย่างดี ย่อมจะทำให้เออีซีดีขึ้นสอดคล้องกันตามไปด้วย เนื่องจากประเทศต่างๆ จะเรียนรู้ดูตัวอย่างตามประเทศไทย” นายศุภชัย กล่าว
        นายศุภชัยกล่าวในตอนท้ายว่า ภาคเอกชน หรือผู้ประกอบการนั้นพยายามอย่างเต็มที่  ในการวางระบบการสื่อสารให้ทั่วถึงทั้งระบบสื่อสารมีสาย และไร้สาย โดยจะทำให้มาตรฐานดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเป็นไปตามมาตรฐานของภาครัฐและมาตรฐานของเอกชน
         นายชัยยศ จิระบวรกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (ดีแทค) และ บริษัท ดีแทค เนทเวอร์ค จำกัด เปิดเผยถึงผลที่ได้รับจากการประมูลคลื่น 2.1GHz ว่า ได้มีการสร้างโครงข่าย 3G เพิ่มมากขึ้น และการมีบริการบนคลื่น 2.1GHz ทำให้มีส่วนพัฒนาประเทศ มีดัชนีชี้วัดการเติบโตทางด้านไอซีที อย่างก้าวกระโดด ก่อให้เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม และสิ่งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิตอล (Digital Economy)
        “จะเห็นได้ว่าภายหลังจากจัดสรรคลื่นความถี่แล้ว ภาคเอกชนได้ขยายโครงข่ายมากขึ้น มีการพัฒนาคุณภาพบริการอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ลูกค้าผู้ใช้บริการ เข้าถึงเครือข่ายโทรศัพท์มือถือและโมบาย อินเตอร์เนต ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงขึ้น โดยคาดว่าในอนาคตจะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด ในแง่ของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศจากที่มีบริการ 3G ไปสู่การให้บริการ 4G

สร้างโดย  -   (8/3/2560 15:21:35)

Download

Page views: 17