ไฮไลท์...! แจกคูปองดิจิตอลทีวี กสทช.คืนความสุขให้คนไทย ส่งท้ายปีม้า

วันที่ 3 กันยายน 2557 : คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ให้ความเห็นชอบงบประมาณจำนวน 16,165.265 ล้านบาท แจกคูปองดิจิตอลทีวีฉบับละ 690 บาท โดยแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายดังนี้ ค่าคูปอง 22.9 ล้านบาท ฉบับละ 690 บาท เป็นเงิน 15,801 ล้านบาท  ค่าพิมพ์คูปอง ฉบับละ 2.85 บาท เป็นเงิน 65.265 ล้านบาท ค่าสติ๊กเกอร์คู่คูปองฉบับละ 1.50 บาท เป็นเงิน 34.35 ล้านบาท ซึ่งจะได้รับคืนจากบริษัทที่เข้าร่วมโครงการ ค่าสติ๊กเกอร์เครื่องหมายแสดงความสอดคล้องมาตรฐาน ฉบับละ 1.50 บาท เป็นเงิน 34.35 ล้านบาท ค่าจัดส่งคูปองทางไปรษณีย์ฉบับละ 10 บาท เป็นเงิน 229 ล้านบาท ค่าธรรมเนียมธนาคารฉบับละ 0.55 บาท เป็นเงิน 12,595 ล้านบาท
  • กสทช. จัดพิธีส่งมอบคูปองดิจิตอลทีวี (ล็อตแรก) 21 จังหวัด 4.645 ล้านครัวเรือน
        วันที่ 10 ตุลาคม 2557 เป็นวันดีเดย์ในการคืนความสุขให้กับประชาชนด้วยการแจกคูปองดิจิตอลทีวี  โดยสำนักงาน กสทช. ได้จัดพิธีส่งมอบคูปองดิจิตอลทีวี  ล็อตแรก ให้กับ บริษัท ไปรษณีย์ไทย  จำกัด เพื่อนำคูปองดิจิตอลไปแจกจ่ายยังบ้านเรือนประชาชน 4,645,175 ครัวเรือน ในพื้นที่ 21 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 1, นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร พระนครศรีอยุธยา สิงห์บุรี  อ่างทอง ระยอง สุพรรณบุรี หนองคาย  สุโขทัย อุดรธานี  ฉะเชิงเทรา  สมุทรสงคราม  พัทลุง สงขลา  นครนายก ราชบุรี และชัยนาท
  วันที่ 11-12 ตุลาคม 2557   คูปองดิจิตอลทีวี มูลค่า 690 บาท เริ่มทยอยถึงมือประชาชน ใน 21 จังหวัดนำร่อง  โดยมีประชาชนร้องเรียนมายัง กสทช. ว่า มีผู้นำชุมชนรวบรวมเก็บบัตรประจำตัวประชาชนของชาวบ้านเพื่อนำไปแลกกล่องดิจิตอลทีวี ในพื้นที่จังหวัดพิจิตร และนครสวรรค์ ซึ่งทั้งสองจังหวัดไม่ได้อยู่ในพื้นที่ 21 จังหวัดแรกที่ได้รับแจกคูปอง เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายฐากร ตันฑสิทธิ์ เลขาธิการ สำนักงาน กสทช. กล่าวว่า การกระทำดังกล่าวอาจส่อไปในทางที่ผิดกฎหมาย ดังนั้นหาก กสทช.ตรวจสอบพบว่า ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายกล่องรายใดให้ดำเนินการรวบรวมคูปองแล้วนำมาแลกกล่องเซ็ตท็อปบ็อกซ์ ก็อาจจะถูกตัดสิทธิเข้าร่วมโครงการแจกคูปองกับ กสทช. ทันที  
  วันที่ 14 ตุลาคม 2557  กสทช.  ลงพื้นที่ตรวจโครงข่ายสัญญาณระบบทีวีดิจิตอล ในพื้นที่อำเภอดอนเจดีย์  อำเภอด่านช้าง จังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่สามารถรับสัญญาณระบบทีวีดิจิตอล
  วันที่ 20 ตุลาคม 2557   กสทช.สำรวจพื้นที่รับแลกคูปองดิจิตอลวันแรก คึกคักเป็นอย่างมาก  พร้อมเปิดศูนย์ติดตามข้อมูลการแลกคูปองดิจิตอลแบบเรียลไทม์ (Real Time) ในการเชื่อมข้อมูลจากจุดให้บริการรับแลกคูปองทั้งหมด เพื่อให้ทราบว่าประชาชนนำคูปองไปแลกที่จุดไหนกับบริษัทใด ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดการทุจริต
   วันที่ 7  พฤศจิกายน  2557  สำนักงาน กสทช.  เชิญผู้ประกอบการติดตั้งโครงข่ายทีวีดิจิตอล ทั้ง 5 โครงข่าย   อาทิ  MUX1 = NBT บนช่องความถี่ 26 (514MHz)  , MUX2 = TV5 บนช่องความถี่ 36 (594MHZ) , MUX3 = MCOT บนช่องความถี่ 40 (626MHz) , MUX4 = TPBS บนช่องความถี่ 44 (658MHz) และ MUX5 = TV5 บนช่องความถี่ 52 (722 MHz)  และ ผู้ประกอบกิจการทีวีดิจิตอล จำนวน 24 ช่อง  เพื่อกำหนดแนวทางในการแจกคูปองทีวีดิจิตอล ล็อตที่ 2 อีกจำนวน 21 จังหวัด
             วันที่ 12 พฤศจิกายน  2557   ที่ประชุมบอร์ด กสทช. มีมติเห็นชอบแนวทางการแจกคูปองดิจิตอลทีวีให้กับครัวเรือนที่มีทะเบียนบ้านชั่วคราวและมีผู้อยู่อาศัย ซึ่งได้แก่ ครัวเรือนที่ปลูกสร้างบ้านอยู่บนที่สาธารณะ และกรมการปกครองได้ออกทะเบียนบ้านชั่วคราวให้เป็นหลักฐานจำนวน 7-8 หมื่นครัวเรือน พร้อมกันนี้บอร์ด กสทช.ยังได้เห็นชอบในหลักการ เพื่อแจกคูปองให้กับกลุ่มครัวเรือนที่มีทะเบียนบ้านซึ่งไม่มีเจ้าบ้าน แต่มีผู้อยู่อาศัย  จำนวน 2.4 ล้านครัวเรือน แต่จะต้องขอความเห็นชอบจาก คสช. ก่อน นอกจากนี้ที่ประชุมบอร์ด กสทช. มีมติเห็นชอบในหลักการของการอนุญาตให้ผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลในกลุ่มช่องธุรกิจทั้ง 24 ช่อง สามารถเลื่อนส่งเงินประมูลทีวีดิจิตอลในงวดที่ 2 ออกไปได้อีก 1 ปี  โดยมอบหมายให้สำนักงาน กสทช.มีหนังสือสอบถามไปยังกระทรวงการคลัง ว่า การเลื่อนส่งเงินค่าประมูลทีวีดิจิตอลให้เป็นรายได้แผ่นดินนั้น สามารถทำได้หรือไม่ อย่างไร
  วันที่ 20 พฤศจิกายน 2557    สำนักงาน กสทช.  ร่วมหารือกับผู้ประกอบการทีวีดิจิตอล 24 ช่อง และผู้ให้บริการโครงข่ายทีวีดิจิตอล (MUX) ถึงแนวทางแก้ไขผลกระทบจากการขยายโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิตอล โดยที่ประชุมมีข้อสรุปร่วมกันว่า ให้สำนักงาน กสทช. ตั้งคณะทำงานเพื่อตรวจสอบคุณภาพของโครงข่ายทั้งด้านความครอบคลุมของสัญญาณและคุณภาพ ซึ่งคณะทำงานชุดนี้จะประกอบไปด้วย ตัวแทนช่องทีวีดิจิตอล ที่เป็นผู้จ้างโครงข่าย ตัวแทนโครงข่ายทีวีดิจิตอล  นักวิชาการด้านวิศวกรรม  และตัวแทนจากสำนักงาน กสทช.
  • สรุปสภาพปัญหา – อุปสรรค -  แนวทางแก้ไขในการแจกคูปองดิจิตอลทีวีล็อตแรก
              จากการที่สำนักงาน กสทช. ดำเนินโครงการการแจกคูปองดิจิตอลทีวี เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านการรับชมโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกทีวีไปสู่ระบบดิจิตอลทีวี โดยแบ่งการแจกคูปองดิจิตอลทีวีออกเป็นล็อตๆ ซึ่งในล็อตแรกแจกเฉพาะครัวเรือนที่มีเจ้าบ้านในทะเบียนบ้านจำนวนทั้งสิ้น 4,645,175 ครัวเรือน ระหว่างวันที่ 10 ตุลาคม -27 พฤศจิกายน 2557 ในพื้นที่ 21 จังหวัด  โดยสำนักงาน กสทช. ได้เปิดช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนไว้ในหลายช่องทางเพื่อตอบข้อสงสัยของประชาชนในการใช้สิทธิ์คูปองดิจิตอล ตามที่สำนักงาน กสทช.แจกออกไปยังบ้านเรือนของประชาชน  และพบว่า มีประชาชนสนใจติดต่อสอบถามมายัง สำนักงาน  กสทช. เป็นจำนวน 142,604 เรื่อง โดยประชาชนติดต่อเข้ามายัง Call Center ผ่านระบบตรวจสอบสิทธิอัตโนมัติหมายเลข 1200 กด 8 เพื่อกดรหัสเลขบ้านในการตรวจสอบสิทธิ์ คิดเป็นร้อยละ 66.74 สำหรับเรื่องสอบถามคิดเป็นร้อยละ 33.25 ส่วนประเด็นในการสอบถามนั้นสามารถแบ่งออกเป็นประเด็นหลักๆ 7 ประเด็นคือ 1.การขอตรวจสอบสิทธิ์  พบว่า เป็นการสอบถามผ่านระบบตรวจสอบสิทธิ์อัตโนมัติจำนวน 95,178 เรื่อง และเป็นการติดต่อขอตรวจสอบสิทธิ์ผ่านทางการพูดคุยสายกับ Call Center จำนวน 18,065 เรื่อง และกรณีที่เป็นเจ้าบ้านแต่ไม่ได้รับสิทธิ์จำนวน 5,278 เรื่อง ส่วนเรื่องอื่นๆที่สอบถามนอกจากนี้ ได้แก่ กระบวนการแจก การรับ และขั้นตอนการแลกคูปอง การบริการหลังการขาย วิธีการรับชมและเชื่อมต่ออุปกรณ์ และการขยายโครงข่ายระบบดิจิตอลทีวี
 อย่างไรก็ตามสภาพของปัญหาและอุปสรรคในการแจกคูปองดิจิตอลทีวีในล็อตแรก ก็คือ ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความจำเป็นที่จะต้องเปลี่ยนผ่านการชมโทรทัศน์จากระบบอนาล็อกไปสู่ระบบดิจิตอลทีวี โดยเฉพาะในเรื่องของการใช้สิทธิ์คูปองดิจิตอล ซึ่งเห็นได้ชัดจากการสอบถามสิทธิ์เข้ามาเป็นจำนวนมาก  ดังนั้นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการแจกคูปองดิจิตอล ใน  ล็อตแรก ก็คือ เน้นการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ๆที่มีการแจกคูปองดิจิตอลทีวี
              นอกจากนี้ยังพบปัญหาที่ กสทช. ต้องเร่งแก้ไขเป็นการด่วนในการแจกคูปองดิจิตอล ก็คือ ปัญหาของโครงข่ายสัญญาณดิจิตอลทีวี ที่มีการติดตั้งล่าช้า ส่งผลทำให้ในหลายพื้นที่ไม่สามารถรับชมรายการจากระบบดิจิตอลทีวีได้  ดังนั้นแนวทางที่ต้องเร่งแก้ไขในเรื่องนี้ ก็คือ ต้องเร่งให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตในการสร้างโครงข่ายดิจิตอลทีวีดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานที่ กสทช. กำหนดไว้  และหากผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนงานก็จำเป็นต้องใช้มาตรการลงโทษทางปกครองต่อไป
  • กสทช.ดีเดย์ 28 พ.ย.57 แจกคูปองดิจิตอลทีวี (ล็อต 2) 1.7 ล้านครัวเรือน ใน  20 จังหวัด
             วันที่ 27 พฤศจิกายน 2557 นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ (เลขาธิการสำนักงาน กสทช.) และพนักงาน กสทช. ลงพื้นที่ในจังหวัดเชียงใหม่ เพื่อร่วมประชุมชี้แจงกับผู้ว่าราชการและผู้บริหารส่วนราชการ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อทำความเข้าเกี่ยวกับแนวทางการแจกคูปองล็อตที่ 2 ในวันที่ 28 พ.ย. 2557 โดยจะแจกเฉพาะอำเภอที่มีสัญญาณดิจิตอลครอบคลุมเกินกว่า 80% จำนวน 100 อำเภอ 1,777,495 ครัวเรือน  ส่วนอำเภอที่เหลืออีก 196 อำเภอ จะทยอยแจกเมื่อมีสัญญาณดิจิตอลทีวีครอบคลุมเกินกว่า 80% แล้ว
 วันที่ 28 พฤศจิกายน 2557 ถือเป็นวันดีเดย์แจกคูปองดิจิตอลล็อต 2  โดยพลอากาศเอกธเรศ ปุณศรี (ประธาน กสทช.)  และนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. ร่วมแถลงข่าวต่อสื่อมวลชน กรณีแจกคูปองดิจิตอลล็อตที่ 2 จำนวน 1,777,495 ฉบับ ให้กับ 1,777,495 ครัวเรือน ใน 100 อำเภอของ 20 จังหวัด ที่มีสัญญาณดิจิตอลครอบคลุมเกินกว่า 80% โดยอีก 196 อำเภอที่ยังไม่ได้รับแจกในล็อตที่ 2 จะทยอยแจกหลังจากที่มีการขยายสัญญาณครอบคลุมในอำเภอนั้นเกินกว่า 80%  สำหรับ 20 จังหวัดที่แจกคูปองในล็อต 2 ประกอบด้วย จังหวัดอุบลราชธานี ลำพูน สุราษฎร์ธานี  อำนาจเจริญ  ชลบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น  ลพบุรี  มหาสารคาม เชียงใหม่ จันทบุรี สระบุรี เพชรบุรี ปัตตานี พิจิตร  กาญจนบุรี กำแพงเพชร กาฬสินธุ์ และปราจีนบุรี
  วันที่ 1 ธันวาคม 2557  ที่ประชุมบอร์ดกสท. ครั้งที่ 52/2557  มีมติเห็นชอบร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ ภายหลังการทำประชาพิจารณ์ พร้อมส่งให้บอร์ด กสทช.พิจารณา
 วันที่ 8 ธันวาคม 2557  ที่ประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) มีมติเห็นสมควรใช้มาตรการทางปกครองกับ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และกรมประชาสัมพันธ์        เนื่องจากทั้ง 2 บริษัท ไม่ดำเนินการตามเงื่อนไขแนบท้ายใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ เพื่อให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ที่ใช้คลื่นความถี่ภาคพื้นดินในระบบดิจิตอล ระดับชาติ โดยมีคำสั่งให้ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) และกรมประชาสัมพันธ์ ดำเนินการตามเงื่อนไขฯ ดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ กสท. มีมติ ซึ่งหากยังไม่ดำเนินการให้เป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าว กสท. จะใช้มาตรการปรับทางปกครอง ในอัตราวันละ 20,000 บาท ทั้งนี้ กสท. อาจพิจารณาใช้มาตรการลงโทษทางปกครองที่สูงขึ้น และให้ผู้ประกอบการทั้ง  2 ราย จัดทำมาตรการเยียวยาแก่ผู้ประกอบกิจการบริการโทรทัศน์ที่ใช้บริการโครงข่ายของตนเอง พร้อมความเห็นของผู้ใช้บริการโครงข่ายมายัง กสท. เพื่อทราบ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ กสท. มีมติ  
            วันที่ 17 ธันวาคม 2557 ที่ประชุมบอร์ด กสทช. มีมติส่งกลับร่างประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การจัดลำดับบริการโทรทัศน์ พ.ศ....(ฉบับใหม่) ที่กำหนดให้จัดเรียงเลขช่องทีวีดิจิตอล ที่หมายเลข 1-36 เหมือนกันทุกแพลตฟอร์ม โดยให้บอร์ด กสท.พิจารณาข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากบริษัททรูวิชั่น กรุ๊ป จำกัด ทำหนังสือยื่นอุทธรณ์ไม่เห็นด้วยกับการเรียงช่องตามประกาศดังกล่าว ทั้งนี้ให้นำร่างประกาศฯกลับเข้าพิจารณาใหม่ในบอร์ด กสทช. ช่วงต้นเดือนมกราคม 2558
  • แจกคูปองดิจิตอลทีวี“ล็อตสอง” ปัญหา – อุปสรรค ลดลง
             ในล็อตที่สองของการแจกคูปองดิจิตอลทีวีเฉพาะอำเภอที่มีสัญญาณดิจิตอลครอบคลุมเกินกว่า 80% จำนวน 100 อำเภอ ในพื้นที่ 20 จังหวัด พบว่าในระหว่างวันที่ 28 พ.ย.-10 ธ.ค. 2557 มีประชาชนติดต่อสอบถามเข้ามายังสำนักงาน กสทช. ทั้งสิ้น 26,281 เรื่อง โดยติดต่อผ่านระบบตรวจสอบสิทธิ์คิดเป็นร้อยละ 54.4 และเรื่องสอบถามคิดเป็นร้อยละ 45.6   โดยภาพรวมของปัญหาและอุปสรรคในการแจกคูปองดิจิตอลทีวีในล็อตสอง ก็คือ ประชาชนยังขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้สิทธิ์คูปองดิจิตอลทีวี ดังนั้นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการแจกคูปองดิจิตอลในล็อตสอง ก็คือ เน้นการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ความรู้แก่ประชาชนในพื้นที่ ที่มีการแจกคูปองดิจิตอลทีวี เพื่อให้เข้าใจถึงวิธีการติดตั้ง ตลอดจนการใช้งานกล่องดิจิตอลทีวี อย่างไรก็ดีตั้งแต่วันที่ 10 ตุลาคม- 24 ธันวาคม 2557  ตามที่สำนักงาน กสทช. ได้แจกคูปองดิจิตอลทีวีออกไปประมาณ 6 ล้านใบ พบว่ามีประชาชนนำคูปองดิจิตอลทีวีไปใช้สิทธิ์แล้ว 2.14 ล้านใบ
              นอกจากนี้ยังพบปัญหาที่ กสทช. ต้องเร่งแก้ไขเป็นการด่วนในการแจกคูปองดิจิตอลทีวีในล็อตที่สอง ก็คือ บริษัทเอกชนที่เข้าร่วมโครงการแจกคูปองดิจิตอลทีวีส่วนใหญ่ ยังไม่สามารถเบิกเงินจากการรับแลกคูปองดิจิตอลทีวีได้  เนื่องจากสำนักงาน กสทช. ต้องดำเนินการตามขั้นตอนทางเอกสารที่สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) กำหนดไว้  ดังนั้นแนวทางการแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้จึงต้องหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อให้ขั้นตอนการเบิกจ่ายเงินดังกล่าวมีความคล่องตัว แต่ต้องโปร่งใสและสามารถตรวจสอบได้
อีกปัญหาหนึ่งที่พบก็คือ โครงข่ายสัญญาณดิจิตอลทีวี ยังติดตั้งล่าช้าและไม่ครอบคลุมพื้นที่ ส่งผลทำให้ในหลายพื้นที่ไม่สามารถรับชมรายการจากระบบดิจิตอลทีวีได้  ดังนั้นแนวทางที่ต้องเร่งแก้ไขในเรื่องนี้  ก็คือ ต้องเร่งให้ผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตในการสร้างโครงข่ายดิจิตอลทีวีดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้ และหากผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนงานก็จำเป็นต้องใช้มาตรการลงโทษทางปกครองอย่างเคร่งครัดต่อไป
  • กสทช.ดีเดย์ 24 ธ.ค.2557 แจกคูปองดิจิตอลทีวี “ล็อตสาม”
             วันที่ 24 ธันวาคม 2557  สำนักงาน กสทช.  แจกคูปองดิจิตอลทีวีล็อตที่ 3 อีก 623,401 ฉบับ ให้กับประชาชนจำนวน 623,401 ครัวเรือน ในพื้นที่ 41 อำเภอ ที่มีสัญญาณครอบคลุมตั้งแต่ 80% ขึ้นไปในพื้นที่ 4จังหวัดได้แก่ สระแก้ว ร้อยเอ็ด  เชียงราย นครสวรรค์
  • สรุปปัญหา-อุปสรรค แจกคูปอง “ล็อตสาม”              
              สำหรับปัญหาและอุปสรรค ที่ต้องเร่งแก้ไขในการแจกคูปองดิจิตอลล็อตสาม ก็คือ ปัญหาเรื่องโครงข่ายสัญญาณดิจิตอลทีวีที่มีการติดตั้งล่าช้าและไม่ครอบคลุมพื้นที่ ส่งผลทำให้ในหลายพื้นที่ไม่สามารถรับชมรายการจากระบบดิจิตอลทีวีได้  ดังนั้นแนวทางที่ต้องเร่งแก้ไขในเรื่องนี้  ก็คือ ติดตามผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตในการสร้างโครงข่ายดิจิตอลทีวีเร่งดำเนินการให้เป็นไปตามแผนงานที่กำหนดไว้  และหากผู้ประกอบการไม่สามารถดำเนินการได้ตามแผนงานก็จำเป็นต้องใช้มาตรการลงโทษทางปกครองอย่างเคร่งครัดต่อไป
  โดยสรุปแล้ว การแจกคูปองดิจิตอลทำให้เกิดผลประโยชน์ทางบวกต่อเศรษฐกิจไทย ทั้งทางตรงและทางอ้อม คิดเป็นมูลค่าเพิ่มทั้งสิ้นประมาณ 6.3 หมื่นล้านบาท เกิดขึ้นโดยตรงในภาคธุรกิจการค้าการลงทุนอุตสาหกรรมผู้ผลิตและจำหน่าย STB 3 หมื่นล้านบาท และทางอ้อมประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาทต่อปีจากมูลค่าเพิ่มรายได้โฆษณา คิดเป็นประมาณร้อยละ 0.3 ของรายได้ประชาชาติ  จะเห็นว่ามีความคุ้มค่าและส่งผลในทางบวกอย่างทวีคูณเมื่อเทียบกับเงินสนับสนุนเริ่มต้นประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาท ตามกรอบวงเงินที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เห็นชอบให้ สำนักงาน กสทช. ดำเนินการแจกคูปองดิจิตอลทีวีเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านการชมทีวี จาก“ระบบอนาล็อก” สู่ “ระบบดิจิตอลทีวี”
  ดังนั้นการแจกคูปองดิจิตอลทีวีทั้ง 3 ล็อต ภายใต้การดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. จึงเป็นการคืนความสุขให้กับประชาชนคนไทยในช่วงส่งท้ายปี2557 (ปีม้า) อย่างแท้จริง และพบกันใหม่กับการแจกคูปองดิจิตอล ในปี2558 (ปีแพะ)....โปรดติดตาม...!

สร้างโดย  -   (8/3/2560 15:14:29)

Download

Page views: 273