สำนักงาน กสทช. จับมือ AIS และธนาคารกรุงเทพ พัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยรูปแบบ บัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ แทนบัตรประจำตัวประชาชน
สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (สำนักงาน กสทช.)
ร่วมกับ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอไอเอส) และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) เรื่อง การพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยรูปแบบบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือที่เรียกในชื่อ “แทนบัตร” ซึ่งเป็นระยะทดสอบ ณ สำนักงาน กสทช.
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า ระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยรูปแบบบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือที่เรียกในชื่อ “แทนบัตร” เป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กสทช. กับภาคอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และธนาคารพาณิชย์ ที่จะพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ให้มีความน่าเชื่อถือ สะดวก ปลอดภัย
และสอดรับกับพฤติกรรมของคนในยุคดิจิทัล
นายฐากร เปิดเผยเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือในครั้งนี้ สำนักงาน กสทช. จะลงทุนแพลตฟอร์มระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนเพื่อให้มีการใช้บัตรประจำตัวในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์มือถือ โดยเมื่อจัดทำระบบแล้วเสร็จ จะมีการสร้างแอปพลิเคชันในชื่อว่า “แทนบัตร” โดยในระยะทดสอบนี้ลูกค้าของเอไอเอสต้องมีการสมัครเพื่อขอใช้งาน และแอปพลิเคชันนี้จะออกคิวอาร์โค้ดส่วนบุคคล เพื่อใช้บัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งจะสามารถนำมายื่นให้ธนาคารกรุงเทพใช้พิสูจน์ยืนยันตัวบุคคล ก่อนการดำเนินธุรกรรมต่าง ๆ กับธนาคารกรุงเทพต่อไป โดยสำนักงาน กสทช. จะมีการหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทยเกี่ยวกับการกำหนดมาตรฐานการพิสูจน์และยืนยันตัวตนในเรื่องนี้ และเตรียมความพร้อมสำหรับการดำเนินการตาม ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งกำลังจะมีผลบังคับใช้เพื่อให้บัตรประจำตัวในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ หรือคิวอาร์โค้ดนี้ สามารถนำมาใช้แทนบัตรประจำตัวประชาชนได้ในอนาคตต่อไป
“ปัจจุบันฐานข้อมูลของผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่มีความแม่นยำสูงขึ้นจากการดำเนินนโยบายเรื่องการลงทะเบียน
ซิมด้วยระบบตรวจสอบอัตลักษณ์ ทั้งชื่อ นามสกุล ที่อยู่ปัจจุบัน และเบอร์โทรศัพท์ ซึ่งสำนักงาน กสทช. เล็งเห็นความสำคัญในการผลักดันการใช้ประโยชน์ของข้อมูลร่วมกันระหว่างสองอุตสาหกรรม โดยเฉพาะเรื่องการพิสูจน์และยืนยันตัวตน และการนำนวัตกรรมใหม่ๆ มาพัฒนาแทนการใช้บัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งระบบที่สำนักงาน กสทช. จะพัฒนาขึ้น โดยมีเอไอเอส และธนาคารกรุงเทพนำไปทดลองให้บริการประชาชนนี้ สามารถมั่นใจได้ว่าข้อมูลของประชาชนจะถูกใช้งานอย่างปลอดภัยและเป็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย” นายฐากร กล่าว
นายก่อกิจ ด่านชัยวิจิตร รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (รองเลขาธิการ กสทช.) กล่าวว่า โครงการดังกล่าวนี้ สำนักงาน กสทช. เป็นผู้ลงทุนและพัฒนาระบบเพื่อทดลองการให้บริการ รวมทั้งกำหนดมาตรฐานด้านเทคนิคในเรื่องต่างๆ โดยเอไอเอส และธนาคารกรุงเทพ จะมีการต่อเชื่อมบริการของตนเข้ากับระบบนี้ ซึ่งภายใต้ MOU จะมีการทดลองและพัฒนาบริการที่น่าสนใจออกมาเป็นระยะๆ ให้กับประชาชน ทั้งนี้ แผนการในอนาคตสำนักงาน กสทช. จะมีการหารือกับผู้ประกอบการโทรคมนาคม ธนาคาร และหน่วยงานภาครัฐอื่นที่มีความสนใจ เพื่อพัฒนาบริการให้ประชาชนได้ใช้งานอย่างทั่วถึงและมีการให้บริการที่หลากหลาย โดยเบื้องต้นคาดว่าระบบของสำนักงาน กสทช. และบริการของเอไอเอส และธนาคารกรุงเทพจะสามารถเริ่มทดสอบการใช้งานได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562
นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เป็นโอกาสที่ดีที่ธนาคารกรุงเทพได้เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบดังกล่าว เนื่องจากการให้บริการทางการเงินนั้นมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสามารถยืนยันตัวบุคคลของลูกค้าได้อย่างถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยในการทำธุรกรรม ขณะเดียวกันยังตอกย้ำความน่าเชื่อถือของสถาบันการเงิน ตั้งแต่การเริ่มต้นเปิดบัญชีก็จะต้องมีการทำความรู้จักลูกค้า (Know Your Customer) ตลอดจนการทำธุรกรรมต่างๆ แต่ละครั้งก็ต้องมีการยืนยันตัวตนก่อนทำรายการ เป็นต้น
“ทิศทางพฤติกรรมลูกค้าในปัจจุบันเป็นยุคแห่งโมบายอินเทอร์เน็ต สำหรับธนาคารกรุงเทพ ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมบริการด้านการเงินรูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมก้าวเข้าสู่ยุคการเปลี่ยนผ่านจากสังคมไร้เงินสดสู่ธุรกรรมทางการเงินอิเล็กทรอนิกส์ โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของลูกค้าผู้ใช้บริการไม่ว่าจะเป็นรายบุคคล ผู้ประกอบการภาคธุรกิจต่างๆในโครงการแทนบัตร รวมไปถึงพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งภายใต้ความร่วมมือการพัฒนาและวางรากฐานระบบ Mobile ID ครั้งนี้ ในระยะแรกธนาคารน่าจะสามารถเริ่มทดลองระบบ Mobile ID ผ่านบริการ ที่โครงการฯ คัดเลือก เช่น การผูกเบอร์โทรศัพท์ที่ลูกค้าเข้ามาเปิดบัญชีเงินฝาก ได้ประมาณกลางปีนี้ และคาดว่าจะสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมาย หลังจากนั้นทุกฝ่ายจะร่วมกันประเมินผลและวางแผนร่วมกันสำหรับการดำเนินการในระยะถัดไปต่อไป” นายจรัมพร กล่าว
นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ในฐานะผู้รับมอบอำนาจ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯมีความมุ่งมั่นในการขยายบทบาทสู่การเป็น Digital Platform เพื่อประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดให้ทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องเชื่อมต่อผ่าน Digital Platform และทำงานร่วมกันในลักษณะของ Ecosystem เพื่อก่อให้เกิดพลังในการขยายขีดความสามารถสร้างสรรค์ Innovation หรือบริการ Digital ใหม่ๆให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เช่นเดียวกับโครงการพัฒนาระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนด้วยรูปแบบบัตรประจำตัวอิเล็กทรอนิกส์บนโทรศัพท์เคลื่อนที่ (แทนบัตร) ระยะทดสอบในครั้งนี้ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงาน กสทช. และธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ที่จะร่วมกันพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในการให้บริการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์กับลูกค้าของเอไอเอส และธนาคารกรุงเทพ เพื่อสนับสนุนการทำธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ของประชาชน และหน่วยงานต่างๆ ได้อย่างสะดวก ปลอดภัย และเป็นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
โดยความร่วมมือดังกล่าวจะช่วยสร้างประสบการณ์การให้บริการในรูปแบบ Digital ใหม่ๆ ให้กับลูกค้าของเอไอเอส และธนาคารกรุงเทพในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยในช่วงระยะทดสอบจะเปิดให้บริการใน 2 รูปแบบ คือ
1. ลูกค้าเอไอเอสใช้”แทนบัตร” ซึ่งเป็นการผูกเบอร์โทรศัพท์ที่ลูกค้าเข้ามาเปิดบัญชีเงินฝากที่สาขา ซึ่งสามารถช่วยลดขั้นตอนการกรอกเอกสารได้และช่วยยืนยันความเป็นเจ้าของในเบอร์โทรศัพท์ของลูกค้า
2. ลูกค้าเอไอเอสใช้ “แทนบัตร” ในการเข้าร่วมโครงการ CSR ของธนาคารกรุงเทพ เช่นการ Booking ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว
ซึ่งบริการดังกล่าวคาดว่าจะสามารถเริ่มเปิดใช้งานช่วงระยะทดสอบได้ภายในไตรมาสที่ 2 ของปี 2562 โดยความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็นการส่งเสริมนโยบายรัฐบาลในการสนับสนุนให้ใช้ดิจิทัลไอดีในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางดิจิทัลของประเทศอีกด้วย
Download
Press-Release-140262-(1).pdf
สร้างโดย - กัญยาณี กล้วยเลี้ยง (14/2/2562 16:01:44)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 946