กสทช. อัพเลเวลจัดการปัญหาแก๊งคอลเซ็นเตอร์ บอร์ดเคาะปรับไม่ต่ำกว่าวันละ 1 ล้านบาท หากผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่สามารถจัดการการลงทะเบียน SIM Card ให้ถูกต้องตามประกาศ กสทช. ภายใน 30 วัน ขณะที่คณะทำงานพหุภาคีจาก 11 หน่วยงานเสนอเพิ่มสัญลักษณ์ตรวจสอบเลขหมายโทรเข้าจากต่างประเทศ และผลักดันให้สมาคมผู้ประกอบการพัฒนาแอพพลิเคชั่นกรองเบอร์มิจฉาชีพ
เช้าวันที่ 6 ก.ค. 2565 คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. มีการประชุมร่วมกันและได้มีมติให้ทางสำนักงาน กสทช. ไปดำเนินการกวดขันให้ผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ทุกรายปฏิบัติตามประกาศ กสทช. เรื่อง การลงทะเบียนและจัดเก็บข้อมูลผู้ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ ซึ่งหากใช้บัตรประชาชนใบเดียวลงทะเบียนซิมเป็นจำนวนมากกว่า 5 เลขหมายจะต้องไปแสดงตนที่ศูนย์บริการของผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ เพื่อป้องกันไม่ให้มิจฉาชีพนำซิมไปใช้ในการหลอกลวงประชาชนให้เกิดความเดือดร้อนและก่อให้เกิดความเสียหายเสียทรัพย์ดังที่ปรากฏเป็นปัญหากว้างขวางในปัจจุบัน
มติดังกล่าวสืบเนื่องจากการที่สำนักงาน กสทช. ได้มีการจัดประชุมและมีหนังสือกำชับให้ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ปฏิบัติตามกฎระเบียบของ กสทช.. . เกี่ยวกับการลงทะเบียนซิมการ์ดเป็นระยะ ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2565 สำนักงาน กสทช ได้ลงพื้นที่ตรวจสอบการลงทะเบียนซิมการ์ดผ่านตัวแทนจำหน่าย (ลูกตู้) พบว่า ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่มิได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศ กล่าวคือ พบกรณีที่ผู้ใช้บริการ 1 รายสามารถลงทะเบียนเปิดใช้ซิมการ์ดกับตัวแทนจำหน่ายได้มากกว่า 5 เลขหมายเป็นจำนวนสูงมาก จึงได้แจ้งให้ผู้ประกอบการดำเนินการแก้ไขให้เรียบร้อยโดยเร็ว ในวันนี้ทางสำนักงาน กสทช.ได้รายงานข้อเท็จจริงนี้ให้บอร์ด กสทช.รับทราบเพื่อกำหนดมาตรการทางปกครองหากผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ภายใน 30 วันนับจากวันที่เริ่มเข้าสู่กระบวนการที่จะดำเนินการทางปกครอง
ในเบื้องต้น บอร์ด กสทช. ได้พิจารณาโมเดลการคำนวณค่าปรับทางปกครองที่จัดทำโดยสำนักงาน กสทช.ซึ่งครอบคลุมถึงกรณีความของความผิด ขนาดของปัญหา และกรณีการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหรือคำสั่งเกี่ยวกับการอนุญาตและการกำกับดูแลที่มีผลกระทบต่อประโยชน์สาธารณะและได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่าอัตราค่าปรับน่าจะอยู่ที่ประมาณไม่ต่ำกว่าวันละ 1 ล้านบาท
ในบ่ายวันเดียวกันได้มีการประชุมนัดแรกของคณะทำงานพหุภาคีเพื่อแก้ไขปัญหาแก๊งโทรศัพท์ (Call Center) และข้อความสั้น (SMS) หลอกลวง ซึ่งประกอบไปด้วย 11 หน่วยงาน ได้แก่ กสทช. ผู้แทนกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ก.ดีอีเอส) ผู้แทนคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ผู้แทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผู้แทนกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บช.สอท). ผู้แทนประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ทั้ง 4 ราย (AIS TRUE DTAC และ NT) ผู้แทนสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และผู้แทนสภาองค์กรของผู้บริโภค
ที่ประชุมโดยประธานคณะทำงาน นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา ที่ปรึกษาประธาน กสทช. ได้เสนอให้ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมแบบที่ 1 (ไม่มีโครงข่ายเป็นของตัวเอง) และแบบที่ 3 (มีโครงข่ายเป็นของตนเอง) หาวิธีการเพิ่มเครื่องหมาย + นำหน้าทุกสายที่มีโทรมาจากต่างประเทศ และเสนอให้เพิ่มช่องทาง USSD ให้ประชาชนสามารถเลือกไม่รับสายโทรเข้าจากต่างประเทศตามความสมัครใจ
ขณะเดียวกัน ทางตัวแทนจากสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยฯยังได้เสนอจะพัฒนาแอพพลิเคชั่นในการตรวจสอบและสกรีนเบอร์ที่มีแนวโน้มจะเป็นเบอร์มิจฉาชีพ ในลักษณะเดียวกับ Whoscall เพื่อป้องกันเบอร์ที่น่าสงสัยโทรเข้ามารบกวน โดยจะพัฒนาจากแอพพลิเคชั่น “กันกวน”เดิมของ กสทช. และจะเป็นการทำงานร่วมกันของผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรม
นอกจากนี้ ผู้ประกอบกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในที่ประชุม ยังเสนอให้ กสทช. เป็นหน่วยงานกลางในการรับลงทะเบียน Sender’s Name สำหรับ SMS เหมือนกับประเทศสิงคโปร์ที่มีหน่วยงานกำกับดูแลเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ จะได้ไม่มีการใช้ ชื่อผู้ส่งปลอมมาหลอกลวงผู้รับ
สำหรับการสร้างความตระหนักรู้ให้กับประชาชนเพื่อให้เกิดความระมัดระวังตัวจากกลโกงของมิจฉาชีพ ที่ประชุมเสนอให้มีสำนักงาน กสทช.จัดให้มีการแถลงข่าว หรือออกเป็นข่าวสื่อมวลชนเพื่อให้ข้อมูลกับประชาชนให้รู้เท่าทันกับกลโกงของมิจฉาชีพที่อัพเดตอยู่ตลอดเวลา และให้มีการจัดทำฐานข้อมูลเรื่องร้องเรียนที่ประชาชนแจ้งเบาะแสเข้ามา เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหา
สร้างโดย - มหิตถีห์ จักราบาตร (7/7/2565 8:59:16)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 768