สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เปิดตัวระบบวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์ม ที่แรกในอาเซียน
ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง รามสูต กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (11 สิงหาคม 2565) สำนักงาน กสทช. ร่วมกับ สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เปิดตัวระบบวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์ม (Cross-Platform Ratings) ที่แรกในอาเซียน และจะเปิดให้ใช้ระบบการวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์มแบบเต็มรูปแบบในไตรมาสที่ 1 ปี พ.ศ. 2566 เพื่อให้มีมาตรวัดผู้ชมทั้งที่รับชมรายการผ่านหน้าจอโทรทัศน์และผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล เพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคปัจจุบัน
สืบเนื่องจากสำนักงาน กสทช. ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของความอยู่รอดทางธุรกิจ รวมถึงการยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรทัศน์ของประเทศไทย และเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคยุคดิจิทัล ทางสำนักงาน กสทช.จึงได้สนับสนุนงบประมาณเพื่อดำเนินการสำรวจความนิยมช่องรายการโทรทัศน์แก่สมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) เพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการการวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์ม โดยทางสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) ได้เลือกบริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด เป็นผู้จัดทำการสำรวจแบบข้ามแพลตฟอร์ม (Cross-Platform Ratings) เพื่อให้ได้ข้อมูลเรตติ้งทั้งจากการรับชมแบบเดิมผ่านหน้าจอทีวีและการรับชมแบบดิจิทัล ในกรอบระยะเวลา 4 ปี
ข้อมูลเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์มที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้จะสามารถตัดตัวเลขผู้ชมซ้ำทั้งการดูรายการสดและดิจิทัลสตรีมมิ่ง โดยไม่จำกัดว่าจะใช้แพลตฟอร์มหรืออุปกรณ์ใด ทำให้สถานีโทรทัศน์สามารถวางแผนกลยุทธ์ในการดึงดูดและเพิ่มการมีส่วนร่วมกับผู้ชมได้อย่างแม่นยำมากขึ้น นอกจากนี้จะทำให้นักการตลาดมีความเข้าใจพฤติกรรมผู้ชมในทุกแพลตฟอร์มและวางแผนการตลาดได้อย่างเหมาะสม ตรงเป้าหมายกลุ่มลูกค้าอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
"ในปัจจุบันผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ได้นำเสนอเนื้อหาผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลที่หลากหลาย โดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ ไม่ใช่เพียงการออกอากาศในภาคพื้นดินเท่านั้นอีกต่อไป และผู้ชมก็มีความนิยมรับชมผ่านทางช่องทางดิจิทัลมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น การสำรวจความนิยมรายการที่จะต้องมีความถูกต้อง น่าเชื่อถือ จึงควรจะครอบคลุมช่องทางในการรับชมที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการรับชมของผู้บริโภคด้วย" ศ.ดร.พิรงรอง กล่าว
ทั้งนี้ บริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด จะส่งมอบข้อมูลเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์มให้กับสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) สำนักงาน กสทช. และอุตสาหกรรมตามช่วงเวลา ดังนี้
1.ชุดข้อมูลแยกเป็นข้อมูลจากการรับชมผ่านทีวี (รายการสดผ่านทีวีทั่วไปและสตรีมมิ่ง) และการรับชมผ่านดิจิทัล (คอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต, สมาร์ทโฟน) ส่งมอบ สิงหาคม 2565
2. ชุดข้อมูลข้ามสื่อจากการรับชมผ่านทีวี + ดิจิทัล (คอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต, สมาร์ทโฟน) เป็นรายการสด ผ่านทีวีทั่วไปและสตรีมมิ่ง ส่งมอบ กันยายน 2565
3. ชุดข้อมูลข้ามสื่อจากการรับชมผ่านทีวี + ดิจิทัล (คอมพิวเตอร์, แท็บเล็ต, สมาร์ทโฟน) การรับชมรายการโทรทัศน์ย้อนหลัง ส่งมอบ ไตรมาสที่ 4 ของปี 2565
และ 4. ข้อมูลแบบเต็มรูปแบบ (Cross-Platform Ratings) ส่งมอบ กุมภาพันธ์ 2566
"กสทช. และ สำนักงาน กสทช. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าระบบที่ได้รับการพัฒนาขึ้นมาใหม่นี้จะทำให้ได้ข้อมูล
ที่มีความถูกต้อง เป็นกลาง สะท้อนความนิยมของผู้ชมรายการ และได้รับความเชื่อถือจากผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์และมีเดียเอเจนซี่ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงจะเป็นประโยชน์ต่อหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการวิจัยและพัฒนาองค์ความรู้ด้านโสตทัศน์ของประเทศต่อไปในอนาคต อันจะช่วยยกระดับมาตรฐานอุตสาหกรรมโทรทัศน์ อีกทั้งรองรับสนับสนุนความสามารถในการแข่งขันของสื่อดิจิทัลของไทยให้ได้รับความนิยมมากยิ่งขึ้นทั้งในและต่างประเทศ" ศ.ดร.พิรงรอง กล่าว
นายสุภาพ คลี่ขจาย นายกสมาคมโทรทัศน์ระบบดิจิตอล (ประเทศไทย) กล่าวว่า “การวัดเรตติ้ง
ข้ามแพลตฟอร์มเป็นโครงการที่สมาคมฯ ผลักดันมายาวนาน และตอนนี้กำลังได้จะเห็นการใช้งานแบบเต็มรูปแบบ เรารู้สึกตื่นเต้นที่ได้ร่วมงานกับนีลเส็น เพื่อส่งมอบการวัดที่มีมาตรฐาน ระบบการวัดเรตติ้งข้ามแพลตฟอร์มจะครอบคลุมการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคดิจิทัลเพื่อยกระดับคุณภาพของอุตสาหกรรม”
นายอารอน ริกบี้ (Mr. Aaron Rigby) กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอจีบี นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภาพรวมของสื่อกำลังพัฒนาขึ้น และเราตื่นเต้นที่ได้เป็นหัวใจสำคัญในการวัดผลผู้ชมข้ามแพลตฟอร์มที่มีประสิทธิภาพแก่อุตสาหกรรม เพื่อนำข้อมูลใปใช้ทำการตัดสินใจและวางกลยุทธ์ด้านเนื้อหาและโฆษณาได้ดีขึ้นเป็นโอกาสสำหรับนักการตลาดในการใช้ประโยชน์จากวิธีการใหม่ๆ ในการมีส่วนร่วมกับผู้ชม
สร้างโดย - (11/8/2565 14:09:07)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 203