สำนักงาน กสทช. เข้าพบหารือกับผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงาน Korea Communications Standards Commission (KCSC) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี
วันที่ 29 สิงหาคม 2565 กสทช. ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง รามสูต พร้อมด้วยผู้แทนสำนักงาน กสทช. เข้าเยี่ยมคารวะ Mr. Hwang Seong-Wook, Standing Commissioner หน่วยงาน Korea Communications Standards Commission (KCSC) เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลด้านเนื้อหาของสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) หน่วยงาน KCSC เป็นหน่วยงานที่ดูแลควบคุมการสื่อสาร โดยเป็นหน่วยงานที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งและการดำเนินงานของคณะกรรมการการสื่อสารแห่งเกาหลี ซึ่งดำเนินการโดยอิสระ ทำหน้าที่ในการตรวจสอบเนื้อหาสาธารณะและความเป็นธรรมของเนื้อหาออกอากาศ ส่งเสริมวัฒนธรรมที่ดีในข้อมูลและการสื่อสาร และสร้างสภาพแวดล้อมสำหรับการใช้ข้อมูลที่ถูกต้อง มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลเนื้อหาทั้งในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (Broadcast Review) เนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต (Internet Review) ในระหว่างการประชุมผู้แทนหน่วยงาน KCSC ได้บรรยายข้อมูลเกี่ยวกับสภาพตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภคสื่อผ่านช่องทางออนไลน์ของสาธารณรัฐเกาหลี รวมทั้งยกกรณีตัวอย่างเกี่ยวกับการกำกับดูแลและการจัดการเนื้อหาที่มีการกระทำความผิดตามกฎหมาย ตัวอย่างข้อมูลที่น่าสนใจ เช่น ในส่วนการกำกับดูแลเนื้อหาในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (Broadcast Review) KCSC ได้อธิบายถึงวิธีการในการตรวจสอบเนื้อหาก่อนการออกอากาศ โดยเนื้อหาที่จะเตรียมออกอากาศในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์นั้น ผู้ประกอบการจะทำการตรวจสอบและชี้แจงความเหมาะสมของเนื้อหาก่อน แล้วดำเนินการแจ้งกับหน่วยงาน KCSC หลังจากที่เนื้อหาได้มีการออกอากาศไปแล้ว KCSC จะทำการตรวจสอบว่าเนื้อหาที่เผยแพร่นั้น มีความเหมาะสมและเป็นไปตามที่ผู้ประกอบการแจ้งหรือไม่ หากไม่เป็นตามที่แจ้งหรือมีความไม่เหมาะสม KCSC มีอำนาจในการระงับการออกอากาศได้ในทันที เช่นเดียวกันกับเนื้อหาที่เผยแพร่บนช่องทางอินเทอร์เน็ต (Internet Review) หากพบเนื้อหาที่ผิดกฎหมายหรือเป็นอันตรายต่อผู้บริโภค เช่น การเผยแพร่ภาพโป๊ การเผยแพร่ Fake News การนำภาพยนตร์ที่ผิดกฎหมายหรือไม่ได้รับความยินยอมมาออกอากาศ เป็นต้น หน่วยงาน KCSC สามารถที่จะปิดเว็บไซต์ที่เผยแพร่ได้ทันที
ทั้งนี้ KCSC มีอำนาจเต็มในการดำเนินการต่อผู้ให้บริการที่กระทำผิดทั้งผู้ให้บริการในประเทศ และผู้ให้บริการจากต่างประเทศ ซึ่ง KCSC ยอมรับว่าการกำกับดูแลผู้ให้บริการจากต่างประเทศนั้นทำได้ยากมาก จะเห็นได้ว่า KCSC มีอำนาจแตกต่างจาก กสทช. ซึ่งแม้ว่า กสทช. จะมีอำนาจระงับการออกอากาศรายการโทรทัศน์ที่ผิดกฎหมาย ตาม มาตรา 37 ของ พ.ร.บ.ประกอบกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 แต่ไม่ได้มีอำนาจในการบล็อคหรือปิดเว็บไซต์ ซึ่งอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 กระบวนการปิดเว็บไซต์อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม และต้องขออำนาจจากศาล ในส่วนของการกำกับดูแลเนื้อหาที่เผยแพร่บนบริการ OTT ผู้แทนหน่วยงาน KCSC กล่าวว่า เนื้อหาที่เผยแพร่บน OTT เป็นเนื้อหาที่คาบเกี่ยวกันระหว่างการเผยแพร่เนื้อหาอยู่บนโครงข่ายอินเทอร์เน็ต และโครงข่ายโทรทัศน์ จึงยังคงเป็นประเด็นที่อยู่ระหว่างการพิจารณาและหาแนวทางที่เหมาะสม ทั้งนี้ การกำกับดูแลกิจการ OTT เกี่ยวข้องกับหน่วยงานรัฐบาลหลายหน่วยงาน ทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคม กิจการด้านการกำกับดูแลเนื้อหา และการส่งเสริมทางด้านวัฒนธรรม โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลักๆ นั้น จะมี 3 หน่วยงาน ได้แก่ 1) Korea Communications Commission (KCC) 2) Korea Communications Standards Commission (KCSC) และ 3) Ministry of Science and ICT (MSIT) นอกจากนี้ ยังมีส่วนเกี่ยวข้องกับกระทรวงวัฒนธรรม กีฬา และการท่องเที่ยว หรือ Ministry of Culture, Sports and Tourism (MCST) ในส่วนของการส่งเสริมวัฒนธรรมเช่นกัน ข้อเท็จจริงดังกล่าวจึงทำให้การกำกับดูแลเนื้อหาบนช่องทาง OTT ในประเทศเกาหลีใต้ยังคงเป็นสิ่งที่ท้าทายและยังไม่สามารถหาข้อสรุปได้ในปัจจุบัน ซึ่งแนวทางการกำกับดูแลด้านเนื้อหาของประเทศเกาหลีใต้เป็นแบบ Single Regulation สำหรับทุก Platform และเน้นการกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น เนื่องจาก Content ที่ผลิตขึ้น ถือเป็นทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual property) กล่าวคือ มอง Content เป็นทรัพย์สินที่สามารถสร้างมูลค่าได้
อนึ่ง สำนักงาน กสทช. และหน่วยงาน KCSC ได้มีบันทึกความเข้าใจ MOU ร่วมกันในปี 2558 โดยการเข้าพบและหารือระหว่างสำนักงาน กสทช. และหน่วยงาน KCSC ในครั้งนี้ นับเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองหน่วยงานเป็นครั้งแรกหลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ซึ่งทั้งสองหน่วยงานพร้อมสานต่อความร่วมมือภายใต้กรอบ MOU ในอนาคตต่อไป
สร้างโดย - (16/9/2565 14:26:37)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 133