สำนักงาน กสทช. เข้าพบหารือกับผู้บริหารระดับสูงของหน่วยงาน Korea Communications Commission (KCC) ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี
วันที่ 29 สิงหาคม 2565 กสทช. ศาสตราจารย์ ดร. พิรงรอง รามสูต และคณะผู้แทนจากสำนักงาน กสทช. เข้าเยี่ยมคารวะ Mr. Ahn Hyoung-Hwan รองประธานคณะกรรมการหน่วยงาน KCC เพื่อเป็นการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองหน่วยงาน เนื่องในวาระเข้ารับตำแหน่งใหม่
คณะกรรมการการสื่อสารแห่งเกาหลี (KCC) ก่อตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติการจัดตั้งและการดำเนินงานของคณะกรรมการการสื่อสารแห่งเกาหลี รับผิดชอบในการควบคุมบริการกระจายเสียงและการสื่อสาร การคุ้มครองผู้บริโภค และจัดการกับเรื่องอื่น ๆ ที่จำเป็นสำหรับการรักษาความเป็นอิสระของการออกอากาศ โดยภารกิจหลัก คือ การส่งเสริมการกระจายเสียงบริการสาธารณะ และความสนใจของสาธารณชนในการออกอากาศ รวมถึงการตอบสนองอย่างแข็งขันต่อการบรรจบกันระหว่างกิจการกระจายเสียงและการสื่อสาร
ตัวอย่างประเด็นที่น่าสนใจระหว่างการหารือ เช่น แม้ประเทศสาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) จะมีประชากรถึง 51 ล้านคน แต่กิจการโทรทัศน์ที่ให้บริการระดับชาติมีเพียง 3 สถานีหลักเท่านั้น ทั้งนี้ รองประธาน KCC ยังให้ข้อมูลเพิ่มว่าการให้ใบอนุญาตช่องรายการโทรทัศน์ทุกช่องต้องผ่านการพิจารณาคุณสมบัติอย่างเข้มงวด เนื่องจากกิจการโทรทัศน์ในประเทศเกาหลีใต้ถือเป็น Public Service ที่มีอิทธิพลและสร้างผลกระทบในเชิงเศรษฐกิจค่อนข้างมาก โดยเฉพาะการผลิตหรือการคัดกรองด้านเนื้อหารายการจะต้องดำเนินการอย่างมืออาชีพและยึดหลักการรับผิดชอบต่อสังคม ซึ่งจะมีการตั้งตัวแทนของแต่ละช่องมาเพื่อช่วยตรวจสอบและกำกับดูแลกันเอง ทำให้เกิดกรณีพิพาทค่อนข้างน้อย
นอกจากนี้ การกำกับดูแลกันเองของสื่อเกาหลีใต้ ค่อนข้างเคร่งครัดกว่าการกำกับดูแลโดยภาครัฐ เพราะการผลิตรายการแต่ละรายการถือว่าเป็นความภาคภูมิใจของสื่อในการสร้างความน่าเชื่อถือให้กับประชาชน และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ
อีกทั้ง หน่วยงาน KCC ยังเน้นการคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคมด้วย โดยส่งเสริมให้มีผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน (MVNO) เพื่อเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภค ซึ่งมีผู้บริโภคมากกว่า 9 ล้ายรายที่ใช้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่จากผู้ให้บริการ MVNO
ทั้งนี้ สำนักงาน กสทช. ได้มีบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับหน่วยงาน KCC ในปี พ.ศ. 2560 และหลังจากที่ได้ว่างเว้นการจัดกิจกรรมความร่วมมือในรูปแบบทวิภาคีมาเป็นเวลานาน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา ๒๐๑๙ (COVID-19) ในครั้งนี้ถือเป็นโอกาสอันดี ที่ได้สานต่อความร่วมมือและหารือเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างไทยและเกาหลีใต้ในการร่วมผลิตรายการ (Co-Production) การกำกับดูแลกิจการ OTT (Over-the-Top) ภายในประเทศ แนวนโยบายการสนับสนุนผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์ภาคพื้นดิน (Terrestrial) ในการปรับตัวและพัฒนาศักยภาพการแข่งขันให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมและพฤติกรรมของผู้บริโภคในยุคดิจิทัล ตลอดจนแนวทางการผลิตเนื้อหารายการคุณภาพเพื่อยกระดับและพัฒนาอุตสาหกรรมโทรทัศน์ของประเทศไทย ซึ่งสำนักงาน กสทช. ได้ให้ความสำคัญและอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับการวางแนวทางการกำกับดูแลและส่งเสริมกิจการโทรทัศน์ของประเทศไทยต่อไป
สร้างโดย - (16/9/2565 14:29:25)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 116