ถอดรหัสความสำเร็จสื่อเกาหลี มองสื่อไทย สร้างโอกาสในการร่วมผลิตเนื้อหาไทย-เกาหลีสู่สากล
จากงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการในหัวข้อ “Korean Media Landscape and the Opportunities for Thai-Korean Co-production : ภูมิทัศน์สื่อเกาหลี และโอกาสในการร่วมผลิตเนื้อหาไทย-เกาหลี” เมื่อวันอังคารที่ 17 มกราคม 2566 ที่สำนักงาน กสทช. ได้จัดขึ้นและได้รับเกียรติจากวิทยากรทั้งชาวไทยและชาวเกาหลีมาบรรยายและร่วมอภิปรายนั้น มีประเด็นที่น่าสนใจโดยสรุป ดังนี้
ศาสตราจารย์ ซองชอล คิม (Professor Seongcheol Kim, Ph.D.) ศาสตราจารย์ด้านธุรกิจสื่อและสื่อใหม่ Korea University กล่าวว่า ความคิดสร้างสรรค์และเทคโนโลยีเสมือนจริง virtual เป็นกุญแจสำคัญสู่ความสำเร็จระดับโลกของ K-Content หรือเนื้อหาสื่อของเกาหลี ในขณะที่สิ่งที่จะสร้างมูลค่าหรือทำเงินให้นั้นคือการถือครองทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property-IP) ตัวอย่าง เช่น Squid Game ซึ่งเป็นเนื้อหาสื่อเกาหลีโด่งดังไปทั่วโลก แต่ผู้ที่ได้ประโยชน์มากที่สุดกลับเป็นเจ้าของแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง Netflix ซึ่งถือครองลิขสิทธิ์ ไม่ใช่ผู้ผลิตเนื้อหา
ดังนั้น อุตสาหกรรมสื่อของเกาหลีจึงควรให้ความสำคัญกับการสร้างและเป็นเจ้าของ IP ให้มากขึ้น รวมถึงการใช้ประโยชน์ให้ได้สูงสุดด้วย IP แบบ One Source, Multi Use (OSMU) หรือกลยุทธ์ข้ามสื่อ
อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน ผู้ประกอบการในเกาหลีพยายามลงทุนในแพลตฟอร์ม เช่น OTT ของเกาหลีเอง แต่ยังไม่สามารถสู้กับแพลตฟอร์มระดับโลกได้ ส่วนหนึ่งเพราะตลาดยังมีขนาดเล็กกว่ามากประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นตลาดเล็กควรร่วมมือกัน เช่นไทยเองซึ่งก็มีศักยภาพสูงในการผลิตเนื้อหาเช่นกันควรร่วมมือกับผู้ประกอบการในเกาหลีเพื่อสู้กับแพลตฟอร์มระดับโลก
คุณฮีจู ลี (Mr. Hee-joo Lee) Head of Policy Planning Office, Content Wavve Corp มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยกล่าวว่า OTT เติบโตอย่างรวดเร็วในฐานะสื่อยุคใหม่ จึงดูเหมือนว่าผู้ประกอบการสื่อดั้งเดิมต้องเผชิญศึก 2 ด้าน คือการแข่งขันกับสื่อใหม่ภายในประเทศ และการต่อสู้กับ OTT ต่างชาติ โดยเฉพาะเจ้าใหญ่อย่าง Netflix และ YouTube ด้วย
สิ่งที่เกิดขึ้นในระดับโลก มีผู้ประกอบการในสหรัฐฯ เป็นผู้เล่นรายใหญ่ จะเห็นการร่วมมือกันเพื่อสู้กับ OTT เจ้าตลาด เช่น Warner จับมือกับ Discovery เพราะมองว่าไม่มีเวลาที่จะวิ่งตามผู้นำด้วยตัวเอง ดังนั้น มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ผลิตเนื้อหาสื่อทั้งในเกาหลีและไทย รวมถึงประเทศอื่นๆ จะจับมือกันเพื่อแข่งขันกับแพลตฟอร์มระดับโลกให้ได้ อย่ามัวแต่แข่งกันเอง เช่น ตัดราคากันในการผลิตเพื่อให้ออกเผยแพร่ทาง Netflix เพราะจะเกิดภาวะถูก "แบ่งแยกแล้วปกครอง"
คุณฮีจู ลี กล่าวว่าทุนและงบประมาณ ถือเป็นส่วนสำคัญในการขยายตลาดเนื้อหารายการนานาชาติให้เพิ่มขึ้น อีกทั้งทางรัฐบาลเกาหลีก็ให้ความช่วยเหลือทั้งด้านการเรียนรู้และพัฒนาเนื้อหา ในขณะเดียวกันก็สนับสนุนทั้งผู้ประกอบกิจการโทรทัศน์แบบดั้งเดิมและ OTT รวมถึงเคารพกลไกตลาดด้วย ส่วนผู้ชมของเกาหลีก็ถือว่ามีบทบาทมากในการควบคุมคุณภาพของเนื้อหา เพราะพร้อมที่จะออกมาแสดงความคิดเห็นหากเนื้อหามีความผิดพลาดคลาดเคลื่อนหรือด้อยคุณภาพ
คุณไมเคิล ชอง (Mr. Michael Jung) Co-CEO, True CJ Creations (Thailand) / Managing Director, CJ ENM Hong Kong กล่าวว่า อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีได้รับการสนับสนุนอย่างยิ่งจากรัฐบาลเกาหลี ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง สังคมและวัฒนธรรมในยุคทศวรรษ 1990 มีการกำหนดสัดส่วนเนื้อหาสื่อเกาหลีทั้งสำหรับโทรทัศน์และการฉายภาพยนตร์ในโรง มีหน่วยงานสนับสนุน เช่น Kocca (Korean Creative Content Agency) และKOFIC (Korean Film Council) และการลดการควบคุมหรือเซ็นเซอร์ให้เหลือน้อยที่สุด ทำให้ผู้ผลิตสามารถสร้างสรรค์ผลงานได้อย่างเต็มที่
ในช่วงทศวรรษ 2000 ละครเรื่อง Winter Sonata ได้รับความนิยมมากในญี่ปุ่น ต่อด้วยแดจังกึมและ Full House ที่ได้รับความนิยมในหลายประเทศในเอเชีย ผู้ผลิตเนื้อหารวมถึงสถานีโทรทัศน์ KBS MBC และ SBS ได้ตัดสินใจที่จะทุ่มทุนให้กับการสร้างละครโดยมีเป้าหมายส่งออกไปยังต่างประเทศ
ต่อมา ด้วยการรุกคืบและกระแสความนิยม OTT เนื้อหาสื่อเกาหลีอย่าง Squid Game และ Parasite ได้ปรากฏต่อสายตาชาวโลกและเป็นที่นิยมมากขึ้น ผู้ผลิตเนื้อหาของเกาหลีจึงมีโอกาสและมีความมั่นใจมากขึ้นที่จะขยายตลาดและนำความสามารถและประสบการณ์ที่สั่งสมมาไปเผยแพร่ พร้อมๆ กับพัฒนา IP ทั้งนี้ CJ ENM ได้เตรียมที่จะขยายไปสู่ตลาดและความร่วมมือในประเทศต่างๆ มากขึ้น รวมถึงสหรัฐอเมริกาด้วย
ในตอนหนึ่ง คุณไมเคิล ชอง ซึ่งมีโอกาสได้ทำงานกับคนไทยกล่าวถึงจุดแข็งประการหนึ่งของอุตสาหกรรมบันเทิงไทยว่า นักแสดงไทยหน้าตาดี อย่างไรก็ตาม เมื่อมองกลับไปที่นักแสดงเกาหลีจะพบว่ามีการพัฒนา standard of actors and actresses จะต้องมีการฝึกฝนและฝึกซ้อมอย่างหนัก และพยายามพัฒนาตนเอง มีการเปรียบเทียบนักแสดงด้วยกันทั้งในต่างประเทศและในประเทศเพื่อให้พัฒนาอยู่ตลอดเวลา แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือ ด้วยความมุ่งมั่นของนักแสดง มาตรฐานการผลิต และบทละครที่ลึกซึ้งก็ยิ่งทำให้นักแสดงเข้าถึงบทบาทมากขึ้น
สำหรับความท้าทายในการพัฒนาอุตสาหกรรมเนื้อหาสื่อของไทยนั้น จากประสบการณ์พบว่าผู้ประกอบการของไทยนั้นแข่งกันเองมากเกินไป ไม่ยอมร่วมมือกันเพื่อต่อสู้กับผู้เล่นในระดับโลก จึงอาจทำให้เสียโอกาสไป
ทางด้านผู้ประกอบการของไทย คุณอภิชาติ์ หงษ์หิรัญเรือง กรรมการผู้บริหาร สายธุรกิจสตูดิโอ บริษัทบีอีซีเวิร์ล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ปัจจุบันตลาดเนื้อหารายการในไทย มีความท้าทายอย่างมากในด้านของการผลิตเนื้อหารายการ โดยปัจจัยหลักคือ การที่ประเทศไทยมีสิ่งอำนวยความสะดวกไม่เพียงพอสำหรับการผลิตเนื้อหารายการ ทั้งด้านบุคลากร ด้านการผลิตเนื้อหารายการที่ไม่มีสตูดิโอเป็นของตนเองทำให้ไม่สามารถดำเนินการผลิตได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งด้านทุนการผลิตที่ไม่เอื้ออำนวยทำให้การเขียนบท การพัฒนานักแสดง และ production ยังไม่ดีพอทัดเทียมต่างชาติ
ส่วนคุณพีรธน เกษมศรี ณ อยุธยา หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านคอนเทนต์และมีเดีย บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า การเป็นหุ้นส่วนหรือรวมตัวกันผลิตเนื้อหารายการของผู้ประกอบกิจการกันเองจะสามารถช่วยให้ เนื้อหารายการในประเทศมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ที่สำคัญ นโยบายของรัฐบาลถือเป็นแรงสนับสนุนสำคัญที่จะช่วยให้การผลิตเนื้อหารายการของไทยก้าวไกลได้ ต้องร่วมมือกัน และให้ผู้ประกอบการได้ร่วมทุนและผลิตรายการร่วมกันอย่างเสรี จากนั้น นำ OTT มาเป็นช่องทางในการสื่อสารและขยายตลาด Content ไทยสู่ตลาดโลก ต้องมีการเพิ่มปริมาณ (volume) ในการผลิตเนื้อหารายการ ต้องรวมตัวกันเพื่อสร้างแบรนด์ของเนื้อหาไทยสู่สากล รวมถึงการระดมทุนในการสร้างภาพลักษณ์และคุณค่าของเนื้อหารายการไทย
ทั้งนี้ กสทช. ศาสตราจารย์ ดร.พิรงรอง รามสูต กล่าวว่า ความสำเร็จของเนื้อหาสื่อเกาหลีอันเป็นที่ประจักษ์ในระดับโลก เช่น เวทีออสการ์และรางวัลอื่นๆ อีกมากมาย รวมถึงกระแสคลื่นวัฒนธรรมเกาหลี หรือ Hallyu ที่เริ่มมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 20 ปีที่แล้วและได้แทรกซึมไปทั่วโลกแล้วนั้น เป็นผลสะท้อนจากการที่รัฐบาลเกาหลีมีนโยบายส่งเสริมการเผยแพร่เนื้อหาทางวัฒนธรรมอย่างชัดเจน และจากความร่วมมือของทั้งภาคอุตสาหกรรม ภาครัฐ และภาคการศึกษา
จากบทเรียนสำคัญดังกล่าว กสทช. ในฐานะองค์กรกำกับดูแลด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ซึ่งมีพันธกิจโดยตรงในการสร้างความยั่งยืนให้แก่อุตสาหกรรมโทรทัศน์
สำนักงาน กสทช. ถือว่าการส่งเสริมศักยภาพผู้ประกอบการกิจการโทรทัศน์เป็นภารกิจที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดประการหนึ่ง ได้แก่ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 52 ที่กำหนดให้ในกรณีที่คณะกรรมการเห็นว่ารายการใดเป็นประโยชน์ต่อสังคม หรือสมควรส่งเสริมให้มีการผลิตรายการ หรือผู้ประกอบการรายใดปฏิบัติตามมาตรการในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิของคนพิการและคนด้อยโอกาสตามมาตรา 36 คณะกรรมการอาจพิจารณาให้การสนับสนุนค่าใช้จ่ายจากกองทุนได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการประกาศกำหนด ซึ่งสำนักงาน กสทช.กำลังอยู่ระหว่างการร่างประกาศ ตาม พ.ร.บ. ดังกล่าว และหนึ่งในเนื้อหาที่เห็นสมควรให้ส่งเสริมก็คือรายการที่มีศักยภาพในการผลิตร่วมกับต่างประเทศ
การจัดงานสัมมนาเชิงปฏิบัติการในวันนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และเปิดพื้นที่ให้มีการเชื่อมโยงระหว่างผู้ประกอบการของไทยและเกาหลี โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิ และมากด้วยประสบการณ์ตรงจากประเทศเกาหลี มาถ่ายทอดความรู้และร่วมอภิปรายกับผู้ประกอบการของไทย
หวังเป็นอย่างยิ่งว่าการสัมมนาครั้งนี้จะเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนการพัฒนาอุตสาหกรรมกิจการโทรทัศน์ของไทยให้มีมาตรฐานระดับสากล และเปลี่ยนผ่านสู่ระบบนิเวศทางการสื่อสารที่ยั่งยืน
------------------
สร้างโดย - มหิตถีห์ จักราบาตร (21/1/2566 12:03:39)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 367