การประชุมหารือกับผู้ให้บริการโรมมิ่งระหว่างประเทศและโทรศัพท์ระหว่างประเทศในการขอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อระบบต้นแบบเผยแพร่ข้อมูลอัตราค่าบริการโรมมิ่งระหว่างประเทศและโทรศัพท์ระหว่างประเทศผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่
วันที่ 18 สิงหาคม 2566 สำนักค่าธรรมเนียมและอัตราค่าบริการในกิจการโทรคมนาคม (นท.) ได้จัดการประชุมหารือกับผู้ให้บริการโรมมิ่งระหว่างประเทศและโทรศัพท์ระหว่างประเทศ ณ โรงแรม เดอะ เบอร์เคลีย์ ประตูน้ำ โดยมี นายกีรติ อาภาพันธุ์ ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ รักษาการรองเลขาธิการ กสทช. เป็นประธานเปิดการประชุม ซึ่งการประชุมหารือในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อขอความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อระบบต้นแบบเผยแพร่ข้อมูลอัตราค่าบริการโรมมิ่งระหว่างประเทศและโทรศัพท์ระหว่างประเทศผ่านอุปกรณ์โทรศัพท์เคลื่อนที่ และขอข้อมูล ความเห็น และหารือในแนวทางความร่วมมือประเด็นที่เกี่ยวกับกรณีของภูมิภาคที่มีอัตราค่าบริการโรมมิ่งระหว่างประเทศและโทรศัพท์ระหว่างประเทศสูง จากการติดตามแนวโน้มค่าบริการอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2564 โดยการประชุมครั้งนี้มีผู้ให้บริการโรมมิ่งระหว่างประเทศและโทรศัพท์ระหว่างประเทศของประเทศไทยทุกรายเข้าร่วม ได้แก่ บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน)
บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด บริษัท เอไอเอ็น โกลบอลคอม จำกัด บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด และ บริษัท โอทาโร เวิลด์ คอร์เปอเรชั่น จำกัด
สำหรับข้อสรุปการประชุมประกอบด้วยสองส่วน โดยส่วนที่หนึ่งสำหรับการทดสอบระบบที่พัฒนาขึ้น พบว่าผู้เข้าร่วมประชุมฯ มีความเห็นในประเด็นต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้งานผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้ใช้งานได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำมาปรับปรุงระบบก่อนเผยแพร่ต่อไป ในส่วนที่สองสำหรับพื้นที่ที่มีอัตราค่าบริการสูงผู้ให้บริการโรมมิ่งระหว่างประเทศและโทรศัพท์ระหว่างประเทศให้ข้อมูลว่าส่วนมากเกิดจากการเจรจากับผู้ให้บริการโทรศัพท์ผู้เป็นคู่สัญญาในต่างประเทศที่มีข้อจำกัด เนื่องจากการเจรจาดังกล่าวขึ้นอยู่กับปริมาณและความต้องการใช้งานของผู้ใช้บริการ เช่น ในกรณีของประเทศญี่ปุ่นมีการเดินทางท่องเที่ยวและความต้องการใช้งานโรมมิ่งสูงจึงทำให้ผู้ให้บริการของประเทศญี่ปุ่นสามารถต่อรองอัตราค่าบริการที่เรียกเก็บจากผู้ให้บริการของประเทศไทยได้มากกว่า อย่างไรก็ดี ผู้ให้บริการได้แจ้งว่าจะมีการเจรจาเพื่อให้สามารถนำเสนอบริการโรมมิ่งระหว่างประเทศแบบเหมาจ่ายได้ (Flat Rate) โดยจะครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ มากขึ้น ซึ่งล่าสุดก็จะมี
สาธารณรัฐมัลดีฟส์ เพิ่มขึ้นมาในบริการโรมมิ่งระหว่างประเทศแบบเหมาจ่าย (Flat Rate) นอกจากนั้น ยังมีการกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายสำหรับการใช้งานบริการโรมมิ่งต่อรอบบิล ซึ่งแต่ละรายกำหนดไว้ไม่เท่ากัน โดยจะเป็นประโยชน์ต่อการป้องกันปัญหา bill shock ได้ อีกทั้ง ยังมีบริการ Over-the-top (OTT) ทางเลือกผ่านระบบแอปพลิเคชัน และระบบ Wi-fi Calling ให้ผู้บริโภคใช้งานในต่างประเทศได้โดยมีค่าใช้จ่ายถูกหรือไม่เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมอีกด้วย
สร้างโดย - (24/8/2566 17:00:55)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 106