งาน กสทช. เสริมสร้างความรู้ ส่งทุนสร้างสิ่งดีดี

     วันที่ 16 พฤศจิกายน 2566 – ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เป็นประธานเปิดงาน “กสทช. เสริมสร้างความรู้ ส่งทุนสร้างสิ่งดีดี" ณ อาคารเพิร์ล แบงก์ค็อก จัดโดยสำนักกองทุนวิจัยและพัฒนา ร่วมกับสถาบันวิทยาการ โดยมีวัตถุประสงค์การจัดงานเพื่อเผยแพร่ผลงานโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก กทปส. และเวทีเสวนาเสริมสร้างความรู้ด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม ในครั้งนี้ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ร่วมขึ้นเวทีเสวนาในหัวข้อ กทปส. สู่จักรวาลนฤมิตร (Metaverse) นายต่อพงศ์ เสลานนท์ กสทช. (ด้านการส่งเสริมสิทธิเสรีภาพของประชาชน) เสวนาในหัวข้อ การออกแบบสำหรับทุกคนด้วยแนวคิด “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” เพื่อสร้างสังคมที่เข้าถึงได้ทุกคน ผศ. ดร.ภัททิรา กลิ่นเลขา เสวนาในหัวข้อ ความต้องการของผู้พิการทางสายตาที่มีต่อระบบเสียงบรรยายภาพประกอบรายการโทรทัศน์ ร.ศ.ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และดร.ชัย วุฒิวิวัฒน์ชัย เสวนาร่วมกันในหัวข้อ การจัดการปัญหาเมือง ด้วยแพลตฟอร์ม Traffy Fondue
     ส่วนในการจัดแสดงผลงานโครงการที่ได้รับทุนสนับสนุนจาก กทปส. มีโครงการร่วมจัดแสดงจำนวน 11 โครงการ ได้แก่ โครงการสารคดีชุด “SOME ONE หนึ่งในหลาย” พัฒนาโดยบริษัท สื่อดลใจ จำกัด โครงการขยายผลศูนย์บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคมด้อยโอกาสในกลุ่มบ้านสาขาบนพื้นที่สูง พัฒนาโดยมูลนิธิวิสาหกิจพลังงานชุมชน โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มไอโอทีสำหรับการเฝ้าระวังไฟป่าและมลพิษทางอากาศด้วยเทคโนโลยีโลล่า พัฒนาโดยสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย โครงการการศึกษาและพัฒนาหอฟอกอากาศอัจฉริยะโดยใช้พลังงานแสงอาทิตย์และระบบควบคุมดูแลผ่านเทคโนโลยีไอโอที เพื่อการลดฝุ่นละอองขนาดเล็ก (PM 2.5) ในพื้นที่สาธารณะ พัฒนาโดยบริษัท ไทยโซลาร์เวย์ จำกัด โครงการพัฒนาระบบแจ้งเตือนล่วงหน้าและระบุตำแหน่งการเผาในที่โล่ง โดยใช้โครงข่ายสื่อสาร อุปกรณ์เซ็นเซอร์ และอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน พัฒนาโดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) โครงการการยกระดับการตรวจพิสูจน์ทางนิติวิทยาศาสตร์คดีความผิดทางเพศ ด้วยระบบปัญญาประดิษฐ์ หน่วยงาน พัฒนาโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล โครงการระบบบริหารข้อมูลนำชมพิพิธภัณฑ์แบบพกพาเพื่อรองรับการใช้งานในพื้นที่จัดแสดงซึ่งมีข้อจำกัดด้านสัญญาณอินเตอร์เน็ต  พัฒนาโดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โครงการรายการ กระต่ายตื่นรู้ พัฒนาโดยบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) โครงการฝึกอบรม The Metaverse โลกเสมือนจริง ที่กลายเป็นโลกสมจริง พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ โครงการยกระดับและปรับปรุงห้องปฏิบัติการเพื่อพัฒนาบุคลากรให้พร้อมเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัล พัฒนาโดยวิทยาลัยอุตสาหกรรมการบินนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง และท้ายสุดโครงการขยายผลระบบติดตามและอุปกรณ์ช่วยเหลือผู้สูงอายุหรือผู้ป่วยในการทำกายภาพบำบัดผ่านเครือข่ายสื่อสาร สำหรับประโยชน์สาธารณะ พัฒนาโดยมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ซึ่งโครงการนี้เองสร้างชื่อเสียงให้กับประเทศไทยโดยได้รับรางวัลระดับโลก
 

สร้างโดย  - มหิตถีห์  จักราบาตร (20/11/2566 14:54:04)

Download

Page views: 93