กสทช. ให้การต้อนรับผู้แทนหน่วยงาน Korea Communications Standards Commission (KCSC) สาธารณรัฐเกาหลี และหารือในประเด็นการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ บริการ OTT (over-the-top) และนโยบายการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากเนื้อหาที่เป็นภัย
วันที่ 21 พฤศจิกายน 2566 ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กรรมการ กสทช. ด้านกิจการโทรทัศน์ พร้อมด้วย สำนักนโยบายและวิชาการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (วส.) สำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (บส.) และสำนักการต่างประเทศ (ตย.) ให้การต้อนรับคณะผู้แทนจากหน่วยงาน Korea Communications Standards Commission (KCSC) สาธารณรัฐเกาหลี และหารือในประเด็นการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์ของประเทศไทย บริการ OTT (over-the-top) การตรวจสอบเนื้อหารายการ และนโยบายการคุ้มครองเด็กและเยาวชนจากเนื้อหาที่เป็นภัย
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรองฯ กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของกิจการโทรทัศน์ในประเทศไทย ซึ่งผู้บริโภคจำนวนมากเปลี่ยนพฤติกรรมในการรับชมโทรทัศน์จากแบบดั้งเดิมไปเป็นบนบริการ OTT (over-the-top) โดยจำนวนผู้ใช้งาน บริการ OTT เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และผู้รับชมโทรทัศน์แบบดั้งเดิมส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้สูงอายุ ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการในกิจการโทรทัศน์ต้องปรับตัว มุ่งเน้นการสร้างสรรค์เนื้อหา (Content) ให้มีคุณภาพเพื่อให้สามารถพัฒนาเป็นลิขสิทธิ์ทรัพย์สินทางปัญญา (IP) ได้ ตลอดจนพัฒนารูปแบบของการให้บริการด้านเนื้อหาและการรับชมผ่านช่องทางต่างๆ
นอกจากนี้ ประเด็นด้านความท้าทายของกิจการโทรทัศน์ในประเทศไทย อันได้แก่ พฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปรับชมเนื้อหาบนแพลตฟอร์มออนไลน์ เป็นความท้าทายอย่างมากต่อผู้ให้บริการโทรทัศน์แบบดั้งเดิม และจากสภาพการแข่งขันที่มุ่งแย่งชิงรายได้จากการโฆษณากระทบต่อคุณภาพของเนื้อหา ทั้งนี้ กสทช. ได้มีบทบาทในการส่งเสริมอุตสาหกรรม รวมถึงมีแนวทางส่งเสริมการผลิตเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น เนื้อหารายการสำหรับเด็กและเยาวชน เนื้อหารายการที่ส่งเสริมความหลากหลาย และรายการที่มีศักยภาพในการผลิตร่วมกับผู้ผลิตในต่างประเทศ
สำหรับการกำกับดูแลเนื้อหาที่เผยแพร่บนบริการ OTT นั้น สำนักงาน กสทช. ยังอยู่ในขั้นตอนการออกประกาศหลักเกณฑ์การกำกับดูแลการให้บริการแพร่เสียงแพร่ภาพในรูปแบบ OTT โดยมีแนวทางพิจารณาการกำกับดูแลเท่าที่จำเป็น (Light-touch) ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศใช้ในปัจจุบัน
อย่างไรก็ตาม การกำกับดูแลต้องอยู่บนหลักการเพื่อสร้างหลักเกณฑ์ที่ประกันความโปร่งใส เป็นธรรม มีมาตรฐาน และให้ผู้บริโภคได้รับความคุ้มครอง ส่วนในด้านการคุ้มครองเด็กและเยาวชนนั้น ปัจจุบัน สำนักงาน กสทช. กำกับดูแลให้มีการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 และได้จัดให้กิจการโทรทัศน์มีการจำแนกเนื้อหาในการออกอากาศและจัดเป็นหมวดหมู่ให้เหมาะสำหรับผู้ชมที่มีอายุต่างกัน ซึ่งรวมถึงการจำแนกเนื้อหาที่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน
ผู้แทนจากหน่วยงาน KCSC คือ Ms. Sun - Yeong Lee ผู้อำนวยการส่วนงานโฆษณาโทรทัศน์ (Broadcast Advertising Division) พร้อมด้วยผู้แทนจาก ส่วนงานคุ้มครองเด็กและเยาวชน (Youth Protection Division) ให้ข้อมูลว่า กิจการโทรทัศน์ของสาธารณรัฐเกาหลี เหมือนกับประเทศไทยคือ ผู้บริโภคเปลี่ยนไปรับชมเนื้อหาผ่านบริการ OTT มากกว่ารับชมผ่านโทรทัศน์ภาคพื้นดิน โดยมีจำนวนผู้ใช้บริการ OTT ในปีนี้ถึงร้อยละ 73 ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างมากจากปีก่อน ปัจจุบันเนื้อหาที่เผยแพร่ลงบนช่องทาง OTT มีความหลากหลายมาก และมีเนื้อหาที่มีความรุนแรงและเกี่ยวกับเรื่องเพศ โดยผู้รับชมเนื้อหาผ่านบริการดังกล่าวจะเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน ดังนั้น หน่วยงาน KCSC จึงดำเนินการอย่างแข็งขันในการตรวจสอบเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อเด็กและเยาวชน ในส่วนของการกำกับดูแลเนื้อหาที่เผยแพร่บนบริการ OTT ยังคงดำเนินการแบบ Light-touch เช่นเดียวกับประเทศไทย
ทั้งนี้ หน่วยงาน KCSC เป็นหน่วยงานกำกับดูแลควบคุมเนื้อหาการสื่อสาร มีอำนาจหน้าที่ในการกำกับดูแลเนื้อหา ทั้งในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (Broadcast Review) และเนื้อหาที่เผยแพร่ผ่านช่องทางอินเทอร์เน็ต (Internet Review) โดย สำนักงาน กสทช. ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ (MoU) กับ หน่วยงาน KCSC ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 ภายใต้กรอบความร่วมมือด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการการสื่อสาร และได้มีการสานต่อความร่วมมือกับหน่วยงาน KCSC อย่างต่อเนื่องผ่านการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์การกำกับดูแลเนื้อหาในกิจการโทรทัศน์ ซึ่งการประชุมในครั้งนี้ หน่วยงาน KCSC ได้ประสานงานผ่านสำนักการต่างประเทศ เพื่อเป็นการสานต่อความสัมพันธ์ระหว่างสองหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง
สร้างโดย - (23/11/2566 16:37:09)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 88