Think Tank Forum #2 เรื่อง มุมมองท้องถิ่น: การสร้างคุณค่าและมูลค่าในการสื่อสารของท้องถิ่น
วันที่ 25 พฤศจิกายน 2566 สำนักงาน กสทช. โดยสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ (บส.) ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหาสารคาม จังหวัดมหาสารคาม จัดกิจกรรม Think Tank Forum ณ โรงแรมอวานี ขอนแก่น
ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.พิรงรอง รามสูต กล่าวเปิดประชุม Think Tank Forum เรื่อง มุมมองท้องถิ่น : การสร้างคุณค่าและมูลค่าในการสื่อสารของท้องถิ่น โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.พลเดช เชาวรัตน์ รองอธิการบดีฝ่ายประชาสัมพันธ์และพันธกิจสากล มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และอาจารย์อังคณา พรมรักษา ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายพัฒนานิสิตและสื่อสารองค์กร มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ให้การต้อนรับ นายตรี บุญเจือ ผู้อำนวยการสำนักรับเรื่องร้องเรียนและคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการกระจายเสียงและโทรทัศน์ สำนักงาน กสทช. ชี้แจงวัตถุประสงค์ในการประชุมว่าเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนเรียนรู้สถานการณ์สื่อท้องถิ่น สื่อภาคประชาชนและสื่อชุมชนในปัจจุบัน ตลอดจนการใช้งานสื่อออนไลน์เพื่อสร้างคุณค่าหรือมูลค่าให้แก่ท้องถิ่น รวมถึงความพร้อมของผู้ผลิตอิสระและบทบาทของสถาบันการศึกษาในการพัฒนาสื่อท้องถิ่น
ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วยนักวิชาการด้านการสื่อสารมวลชนและนิเทศศาสตร์จากสถาบันการศึกษาในภาคอีสาน 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มหาวิทยาลัยราชภัฏสกลนคร และผู้ผลิตสื่อในระดับท้องถิ่นทั้งจากเคเบิลทีวี วิทยุชุมชน วิทยุสาธารณะ วิทยุธุรกิจ และสื่อออนไลน์ ที่ประชุมได้แลกเปลี่ยนมุมมองเรื่องนโยบายและแนวทางการกำกับกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ตลอดจนแนวทางการสนับสนุนจาก กสทช. รวมถึงประเด็นความร่วมมือในการสื่อสารระหว่างผู้ผลิตสื่อและผู้บริโภคสื่อเพื่อผลักดันให้เกิดสื่อท้องถิ่นหรือสื่อชุมชนที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ ตัวอย่างเช่น การนำเสนอข่าวให้ทันสถานการณ์ในช่วงภัยพิบัติ การนำเสนอในเชิงประเด็นที่เป็นสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้นในท้องถิ่นที่เชื่อมโยงกับนโยบายระดับชาติ โดยเห็นว่าการพัฒนาสื่อท้องถิ่นให้มีคุณภาพเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้บริโภคและประชาชนนั้นควรคำนึงถึงมิติต่าง ๆ ในการสนับสนุน
มุมมองของนักวิชาการที่เข้าร่วมเห็นว่า การส่งเสริมสื่อท้องถิ่นให้มีคุณภาพ ควรคำนึงถึงการเสริมศักยภาพสื่อแต่ละประเภทอย่างจำแนกแยกแยะ เช่น สื่อชุมชนและสื่อธุรกิจ ซึ่งสื่อแต่ละประเภทอาจมีความต้องการเสริมศักยภาพในแต่ละด้านที่มีความแตกต่างกัน เช่น การบริหารจัดการด้านธุรกิจ ความรู้ทางเทคโนโลยี ความรู้หรือทักษะด้านการผลิตสื่อ การสนับสนุนเรื่องข้อมูล เป็นต้น นอกจากนี้ควรมีการสนับสนุนให้เกิดการทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนของสื่อท้องถิ่นที่มีคุณภาพในแต่ละประเภท การผลักดันส่งเสริมในเรื่องการกำกับดูแลกันเองของสื่อและมิติด้านจริยธรรมในความหมายกว้างครอบคลุมเรื่องเรื่องสิทธิมนุษยชน เป็นต้น สำหรับมุมมองของผู้ผลิตสื่อวิทยุ เห็นว่า วิทยุชุมชนควรได้รับการสนับสนุนให้ครอบคลุมในทุกมิติ ทั้งเรื่องงบประมาณ เรื่องทักษะในการผลิตเนื้อหา การปรับปรุงกฎระเบียบของ กสทช. ที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เกิดความยืดหยุ่นในทางปฏิบัติ เรื่องการได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงทดแทนใบอนุญาตทดลองออกอากาศวิทยุกระจายเสียงในระบบเอฟเอ็มที่ถือครองมาเนิ่นนานแล้ว ความเป็นไปได้ในการผลักดันเครือข่ายสภาผู้ฟังในระดับชุมชนถึงระดับภูมิภาคเพื่อร่วมกันเฝ้าระวังให้การผลิตสื่อชุมชนไม่ถูกนำไปแสวงหาผลกำไรทางธุรกิจ รวมทั้งหาก กสทช. มีนโยบายเปลี่ยนผ่านระบบวิทยุจากแอนะล็อกไปสู่ระบบดิจิทัลควรเปิดโอกาสให้ประชาชนได้รับทราบข้อมูลและร่วมแลกเปลี่ยนแสดงความคิดเห็นด้วย สำหรับมุมมองของผู้ผลิตสื่อเห็นว่า สิ่งสำคัญคือเรื่องการจัดการความรู้ (knowledge management) ที่เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดชุดความรู้ใหม่ ๆ รวมถึงการทำให้เกิดการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนความรู้ (pool content) เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำมาใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ เช่น ความรู้จากงานวิจัย งานวิชาการ สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ทั้งที่เป็นวิทยุและสื่อออนไลน์ หรือการริเริ่มแนวคิดในการสร้างนวัตกรรม People Cloud เพื่อให้ผู้ผลิตสื่อสามารถร่วมกันสร้างคอนเท้นต์และนำมาใช้ประโยชน์จากคอนเท้นต์ต่าง ๆ เพื่อไปสื่อสารหรือต่อยอดในประเด็นที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ นอกจากนี้ยังเห็นว่าแนวทางการสนับสนุนในมิติต่าง ๆ ควรคำนึงถึงความต่อเนื่องและเป้าหมายในเชิงยุทธศาสตร์ระยะยาวมากกว่าเป็นการสนับสนุนในลักษณะเฉพาะหน้าเป็นช่วงสั้น ๆ เท่านั้น
การจัด Think Tank Forum ครั้งนี้ นับเป็นครั้งที่สอง โดยครั้งแรก สำนักงาน กสทช. ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฏอุตรดิตถ์ จังหวัดอุตรดิตถ์ และในครั้งต่อไปมีแผนในการจัดประชุมร่วมกับนักวิชาการและภาคประชาสังคมในภาคใต้ เพื่อเปิดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง โดยข้อเสนอแนะจากเวทีต่าง ๆ จะถูกนำไปใช้เป็นข้อมูลประกอบการกำหนดทิศทางและนโยบายที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ที่เกี่ยวข้องต่อไป
สร้างโดย - (28/11/2566 15:11:23)
Download
เอกสารแนบ
Page views: 85