กสทช. ร่วมกับ คณะแพทย์ศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ในระบบนิเวศโลกเสมือนจริง (Metaverse Ecosystem)

        วันที่ 4 ธันวาคม 2566 คณะทำงานจัดทำข้อเสนอแนะการส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ในระบบนิเวศเสมือนจริง (Metaverse Ecosystem) โดยสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่ง (สำนักงาน กสทช.) ได้จัดประชุมและแถลงข่าวการดำเนินงานของคณะทำงานฯ ณ ห้องประชุม 910 ABC ชั้น 9 อาคารเรียนและปฏิบัติการรวมด้านการแพทย์และโรงเรียนพยาบาล โรงพยาบาลรามาธิบดีโดยศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. และที่ปรึกษาคณะทำงานฯ ได้กล่าวว่า กสทช. และคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ตระหนักถึงความสำคัญ โดยเฉพาะด้านสาธารณะสุขและด้านการศึกษา ซึ่งเป็น 2 ภาคส่วนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์และมูลค่าเพิ่มจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและข้อมูล เพื่อยกระดับคุณภาพการศึกษากับสาธารณะสุข จึงมีความร่วมมือทางวิชาการเพื่อศึกษาและจัดทำข้อเสนอแนะเพื่อส่งเสริมการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีใหม่ในระบบนิเวศโลกเสมือนจริง เพื่อเป็นการเตรียมพร้อมสำหรับการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อรองรับระบบนิเวศโลกเสมือนจริง
        เมื่อพิจารณาในมิติของความพร้อมด้าน ecosystem จากกลุ่มเทคโนโลยีที่รองรับการใช้งาน Metaverse และเทคโนโลยีเสมือน Reality Technology ที่มีความพร้อมใช้งานปัจจุบัน จึงได้ร่วมกันวางเป้าหมายการศึกษาการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี Metaverse โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องเพื่อให้เห็นภาพรวมของเทคโนโลยีที่ใช้งานในปัจจุบันและมีความต้องการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ในอนาคต ของ 2 โครงการ คือ การเรียนการสอนด้านกายวิภาคศาสตร์ และการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง
        กสทช. และคณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ประสานความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมในการทดลองการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเสมือน Reality Technology ของ 2 โครงการดังกล่าวคือ โครงการ Metaverse in Clinical Anatomy โดยการทดลองใช้เทคโนโลยี XR Rendering with 5G and Cloud และโครงการ Virtual Reality for Palliative Care โดยการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ การใช้สื่อธรรมะ VR 360 สำหรับผู้ป่วยประคับประคองระยะสุดท้าย    
        การสร้างระบบนิเวศโลกเสมือนจริง ต้องอาศัยความร่วมมือของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งในภาคโทรคมนาคม และภาคส่วนที่ประยุกต์ใช้งาน รวมทั้งบริษัทเทคโนโลยีและหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมกันออกแบบและพัฒนา โดยความร่วมมือกับภาคส่วนต่างๆ จะเป็นตัวอย่างของการนำความเชี่ยวชาญของภาคส่วนเพื่อร่วมพัฒนานวัตกรรม และหวังว่าจะมีความร่วมมือกับภาคส่วนอื่นๆ ยิ่งขี้นในอนาคต
 
 

สร้างโดย  -   (4/12/2566 17:01:00)

Download

Page views: 92